.
บทความโพสต์ก่อนบทความหลัก
ใครกดดัน"กกต."
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ เหล็กใน
ใน ข่าวสดรายวัน หน้า 6 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7545
หวังว่าภายในสัปดาห์นี้ กกต.คงรับรองส.ส. ได้ครบ 475 คน
เพราะเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายแล้ว หากปล่อยให้ล่วงเลยไปถึงสัปดาห์หน้าก็สุ่มเสี่ยงเกินไป
โอกาสจะรับรองส.ส.ไม่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้สูง
อย่างที่ย้ำกันมาตลอดว่า "ใคร" จะเป็นคนรับผิดชอบ
หากเปิดสภาไม่ทันตามรัฐธรรมนูญกำหนด !?
วันก่อน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นกรณีที่ กกต.แขวน นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำนปช. ที่มีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ
ระบุว่ากกต.รับรองคุณสมบัตินายจตุพรแล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งส.ส. และประชาชนก็เลือกผู้สมัครส.ส. ตามที่ กกต. รับรองมา ถ้า กกต.พิจารณาตามเนื้อผ้ากรณีนายจตุพรก็ไม่น่าจะมีปัญหา !?
คนที่เลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทยก็แปลกใจว่าทำไมถึงยังมีปัญหาอยู่
ส่วนเรื่องที่นายจตุพรถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นและโดนคุมขังในเรือนจำนั้น
ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ในภายหลัง
การทำงานของกกต.จึงเป็นที่จับจ้องของคนเสื้อแดง
เฝ้าดูว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่ ?
เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จับจ้องกกต.เช่นกัน
แต่จับจ้องในอีกด้าน กลัวรับรองอดีตแกนนำเสื้อแดงเข้าสภา
เพราะนายอภิสิทธิ์ออกมาประกาศปาวๆ แทบทุกวันว่า คนเสื้อแดงหยุด "กดดัน" กกต.ได้แล้ว
นายสุเทพก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ประกาศห้ามกกต.รับรองพวกเผาบ้านเผาเมืองเข้าสภา
ก็เลยงงๆ ว่าใครกันแน่ที่กดดันกกต.
เพราะยังไม่เห็นมีคนเสื้อแดงออกมาแสดงพลังกดดันการทำงานของกกต.เลย
ล่าสุด นายเทพไท เสนพงศ์ ก็ออกมาทั้งประณามทั้งข่มขู่กกต. หากพิจารณาปล่อยอดีตแกนนำนปช. เข้าสู่สภา
แบบนี้ไม่เรียกว่า "กดดัน" แล้วจะเรียกว่าอะไร
ความจริงทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และนายเทพไท ควรอยู่นิ่งๆ รอทำงานเป็นฝ่ายค้านในสภาจะดีกว่า
เพราะการออกมาตอกย้ำเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" ก็ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วในเบื้องต้น
ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดยืนยันได้
ประชาชน 16 ล้านคนไม่เชื่อคำพูดของนายสุเทพเลย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ปากพล่อย พลอยล่มจม LOOSE LIPS SINK SHIPS
โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17:40:16 น.
ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ นักการเมืองบางคนเก็บปากเก็บคำอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ในขณะที่บางคนก็พูดจาเปิดเผยเรื่องราวในพรรคอย่างไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน
ประเภทหลังทำให้คนพรรคเดียวกันไม่ค่อยพอใจ วิจารณ์ตรงๆ ว่ามีอะไรควรพูดกันในพรรค
ไม่น่าจะให้ "คนนอก" ได้รับรู้
"คนนอก" ที่ว่าคือประชาชน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะให้รับรู้ไส้ในของพรรค เพราะอาจจะหมดศรัทธาหรือจะทำให้การสร้างภาพยากเย็นขึ้นเปล่าๆ ปลี้ๆ
ว่ากันตรงๆ คือ หากปากพล่อย จะพลอยทำให้พรรคล่มจม
http://www.youtube.com/watch?v=t7e1AXWMGA8&feature=player_embedded
ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสำนวนของเหล่านาวีสหรัฐในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง...
Loose lips sink ships
สำนวนง่ายๆ นี้แปลง่ายๆ เหมือนกันว่า "ปากพล่อย (ทำให้) เรือจม"
เคยเล่าให้ฟังตรงนี้ว่า ในยามสงครามนั้น บ้านเมืองไหนก็ต้องขอร้องประชาชนให้สงวนปากสงวนคำกันทั้งนั้น เพราะอาจจะมีสปาย-สายลับ หรือที่คนไทยรุ่นคุณปู่คุณทวดเรียกว่า "แนวที่ห้า" บ้าง "จารบุรุษ" บ้าง พยายามทำจารกรรม หากความลับต่างๆ ไปให้ฝ่ายศัตรู
ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคไซเบอร์ ความลับกระจายได้เชื่องช้าเต็มที สปีดเร็วระดับพี่หอยทาก แค่ปากต่อปาก ไม่ใช่สองสามคลิกก็รู้กันทั้งโลกเหมือนที่เป็นอยู่
หลายคนอาจเคยผ่านตา รูปโปสเตอร์ที่พิมพ์โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีข้อความเตือนใจว่า "ระวัง...กำแพงมีหู ประตูมีช่อง จารบุรุษกำลังฟังอยู่ตลอดเวลา อย่าพูดความลับของทางราชการ"
ช่วงเดียวกัน สหรัฐเพิ่งโดนญี่ปุ่นส่งเครื่องบินไปถล่มอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเคยพยายามถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่ใช่ธุระของตน ก็เจ็บแค้นจนตัดสินใจกระโจนเข้าร่วมสงคราม และเดินหน้าสร้างอาวุธเต็มกำลัง
พร้อมๆ กัน รัฐบาลก็เตือนประชาชนว่าต้องไม่พูด-ไม่บอกต่อ ไม่เล่าสิ่งที่ตัวเห็นหรือได้ยินให้ใครฟัง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานโรงงานผลิตอาวุธ หรือทำงานในค่ายทหาร ต้องปิดปากให้สนิท ไม่ปากโป้งว่าทำอะไร ที่ไหน ผลิตอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่รู้ว่าใครรอบๆ ตัวเป็นสปายให้นาซีเยอรมันบ้าง
ขนาดบริษัทขายหมากฝรั่งยังโหนกระแสกับเขาด้วย เพราะโฆษณาว่า Don?t talk, chum. Chew gum. อย่าพูดเลย, เกลอ เคี้ยวหมากฝรั่งเหอะ
สำนวน Loose lips sink ships ที่มาจากเหตุการณ์อ่าวเพิร์ล เป็นแรงบันดาลใจให้ Duke Ellington อัครบุรุษแห่งโลกแจ๊ซใช้เป็นชื่อเพลง A Slip of the Lip (Can Sink a Ship)
การใช้เพลงเป็นเครื่องเตือนใจนี้ ดียิ่งกว่าติดโปสเตอร์เสียด้วยซ้ำ
เพลง A Slip of the Lip จึงกลายเป็นเพลงโดนใจนักฟังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไปในทันที
เสียงชู้วววว...เบาๆ ในตอนขึ้นต้นของเพลง ฟังเหมือนใครคนหนึ่งกำลังบอกให้เงียบไว้ เบาไว้ เสียงชู้วววว...ของฝรั่งมีความหมาย
แบบเดียวกันกับที่คนไทยเราทำเสียง "จุ๊ๆๆๆ" เตือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กำลังจะพูดอะไรที่ไม่สมควร
เนื้อเพลงตอนต้นบอกว่า
Don?t talk too much / Don?t know too much / Don?t be too hip / "Cause a slip of the lip can sink a ship.
อย่าพูดมากไป อย่า (ทำ) รู้มากไป อย่าซ่ามากไป ปากพล่อยจะพลอยให้เรือ (ชาติล่ม) จม
เนื้อเพลงยังบอกด้วยว่า "Walls have ears / Night has eyes / So let?s be wise? กำแพงมีหู ราตรีมีตา เราต้องสุขุมรอบคอบ...
เดาเอาว่าเราคงได้สำนวน "กำแพงมีหู" มาจากฝรั่ง แต่เติม "ประตูมีช่อง" ให้คล้องจองน่าฟังแบบไทยๆ บางครั้งก็ใช้ว่า "กำแพงมีหู ประตูมีตา" ส่วน "หน้าต่างมีหู ประตูมีตา" ก็มีคนใช้บ้างเหมือนกัน
ใน YouTube มี "ครูทูบ" http://www.krutubechannel.com/?page=video_view&vid_id=1684 ที่น่ารัก เล่าเรื่องราวของสำนวนนี้ให้ฟัง ใครสนใจก็เปิดเข้าไปดูได้
แต่คนปากโป้งหรือเก็บความลับไม่เป็น ไม่ใช่ประชาชนเสมอไป ช่วงรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ 2549 มีนายทหารใหญ่ๆ ออกมาพูดจาในเรื่องที่ไม่ควรพูดไม่น้อย
ยังจำได้ว่า มีพลเอกรายหนึ่งพลั้งปากเรื่องยุทธศาสตร์การแก้วิกฤตภาคใต้ออกมาจนหมด แล้วออกมายอมรับภายหลังว่า เรื่องที่พูดไปไม่ควรนำมาเปิดเผยผ่านสื่อ เพราะไม่ถูกต้อง แถมยังเจื้อยแจ้วต่อไปด้วยว่า ตัวเองเป็นคน "พูดตรงๆ" หลอกนักข่าวไม่เป็น เมื่อโดนซักก็หลุดปากพูดจนได้
แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องพูดตรงหรือพูดโกหก ไม่ใช่เรื่องว่าจะ "พูดอย่างไร" แต่เป็นเรื่องว่า "ต้องไม่พูด"
ทำนองเดียวกับที่พลเอก โอมาร์ แบรดลีย์ หนึ่งในผู้บัญชาการทหารอเมริกัน เคยให้ข้อคิดพวกทหารไว้ว่า
"It?s NOT HOW to say it - it?s HOW NOT to say it ! "
ตรองดูดีๆ ข้อคิดของคนพูดน้อยอย่างนายพล แบรดลีย์ ไม่ได้มีประโยชน์แก่ทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วย
แปลกแท้ๆ พูดน่ะง่าย ไม่พูดกลับยาก
ยิ่งเป็นนักการเมือง หากไม่พูด จะมีคนยกป้าย "ดีแต่ไม่พูด" ใส่ไหมนี่ ฮึ?
++
วันสุข คืนมา HAPPY DAYS ARE HERE AGAIN
โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:41:45 น.
หลายปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากทำ "วันสุข" หล่นหายคงคล้ายๆ สตางค์ที่หายไป
บางครั้งทำหล่นเอง
บางครั้งถูกล้วงหรือกรีดกระเป๋า
ความสุขที่ทำหล่นเองก็มีมาก ที่ถูกกลุ่มมิจฉาหรือมือที่มองไม่เห็นล้วงหรือกรีดเอาไปก็มากมี
พวกนักล้วงหรือนักกรีดชั้นครู เชี่ยวชาญ มากด้วยประสบการณ์ ล้วนเป็นมือที่มองไม่เห็น มือล่องหนทั้งสิ้น ยิ่งในยุคปัจจุบัน นักล้วง-นักกรีดทำงานเป็นทีม คนหนึ่งลงมือเสร็จแล้วส่งต่อ-ส่งต่อ-ส่งต่อไปเรื่อยๆ เกือบไม่มีทางที่จะจับได้
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=gqsT4xnKZPg
เมื่อร่วมๆ80 ปีมาแล้วคนในสหรัฐก็เป็นอย่างที่ว่าคือเมื่อเศรษฐกิจถล่มทลาย ทั้งเงินและความสุขหายวับไปพร้อมๆกัน
ฐานะของคนส่วนมากรูดลงเหมือนเด็กเล่นไม้ลื่น อยู่ข้างบนดีๆ ลื่นปรื๊ดลงมาโดยไม่ทันตั้งตัว หกคว่ำคะมำหงาย
คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน เด็กๆ สนุก แต่ผู้ใหญ่ไม่สนุกเลย
คนตกงานก็มาก ทำนองเดียวกันกับอเมริกายุคนี้ เพียงแต่จำนวนสูงกว่า
มีบางคนพูดซื่อๆ ว่าไม่ได้กำลัง "หา"งาน แต่กำลัง "ขอทาน" งาน อะไรก็เอาทั้งนั้น เพื่อที่ตัวเองและครอบครัวจะไม่อดตาย
คนเข้าคิวยาวเพื่อขอปันอาหาร อย่างที่อเมริกันเรียกว่า bread line มีอยู่ทั่วไปในทุกรัฐ อย่างที่เคยเขียนไว้ตอนที่เล่าให้ฟังเรื่องเพลงชื่อ Brother, Can You Spare a Dime...พี่ พี่ ปันให้สักสิบสตางค์ได้ไหม
เจ้ากรรม! ราวกับแกล้ง อีกเพลงที่ฮิตขึ้นมาในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถล่มครั้งนั้น มีชื่อว่า Happy Days Are Here Again (วันแห่งความสุขคืนมาอีกครั้ง)
คนอเมริกันชอบกันมาก ร้องกันทั้งบ้านทั้งเมือง ราวกับจะท้าทายโชคชะตา
ไม่ท้าทายก็เย้ยหยัน
ไม่อีกทีก็ปลอบใจตัวเอง
ช่วงนั้นรัฐบาลของประธานาธิบดีฮูเวอร์ ดีแต่พูดเหมือนกัน มีโครงการดีๆ มาคุยฟุ้งกับประชาชน จะลดภาษี จะสร้างงาน จะแจกนั่น ช่วยนี่ ฯลฯ แต่เอาจริงแล้วทำไม่ได้สักอย่าง
ผู้คนจนลงไปทุกที บ้านช่องถูกยึด หมดทางทำมาหากิน คนพากันเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ
สลัมปุปะเกิดขึ้นทั่วไป เพราะพวกคนจนสร้างไว้พอคุ้มหัว สลัมพวกนี้มีชื่อเรียกอย่างเสียดสีว่า Hoovervilles หรือหมู่บ้านประธานาธิบดีฮูเวอร์
คนที่เคยอยู่ฮูเวอร์วิลล์สเล่าให้นักประวัติศาสตร์ฟังว่า เป็นภาพที่บอกไม่ถูก กลุ่มคนจนนั่งล้อมกองไฟท่ามกลางอากาศหนาวสั่น แล้วร้องเพลง Happy Days Are Here Again ประสานเสียงกัน
พระเจ้ามองลงมาคงไม่รู้จะร้องไห้หรือหัวเราะ
บุหรี่ยี่ห้อ Lucky Strike นำเพลงนี้ไปนำรายการดนตรีทางวิทยุ Happy Days Are Here Again จึงยิ่งติดหูคนฟังทั่วประเทศ
รายการของบุหรี่ลักกี้สไตรก์มีเพลงไพเราะ นักร้องดังๆ ที่มาบอกคนฟังว่าสูบบุหรี่แล้วสดชื่น สมองปลอดโปร่ง แถมยังทำให้เสียงดีอีกด้วย
คุณสมบัติอันเลิศต่างๆ ของบุหรี่ ที่คนสมัยนี้ได้ยินแล้วต้องโห่ไล่ แต่คนสมัยนั้นเชื่อกันเต็มหัวใจ
อดสงสัยไม่ได้ว่า มีอะไรบ้างหนอที่เราเชื่อกันในสมัยนี้ ที่อนาคตข้างหน้าเราจะต้องประหลาดใจตัวเอง ว่าเชื่อเข้าไปได้ยังไง
ในปี ค.ศ.1932 หมดเทอมของประธานาธิบดีฮูเวอร์ พรรคฝ่ายตรงข้ามเสนอนักการเมืองขาพิการที่ชื่อ Franklin D. Roosevelt (FDR) เข้ามาให้คนอเมริกันเลือก
วันที่แฟรงก์ลิน โรสเวลต์ ประกาศตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี วงดนตรีบรรเลงเพลง Happy Days Are Here Again ต้อนรับ ราวกับจะบอกว่าหากได้คนนี้มาบริหารบ้านเมืองแทนอีตาห่วยคนเก่า ผู้คนในประเทศก็จะกลับไปเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง
Happy Days Are Here Again จึงกลายเป็นเพลงหาเสียงหรือ campaign song ของ FDR ไปโดยปริยาย
อารมณ์ของเพลง เข้ากับบุคลิกแจ่มใส เป็นมิตรของ FDR ยิ่งทำให้ประธานาธิบดีฮูเวอร์ดูจืดสนิท
ชัยชนะใสๆ จึงเป็นของ FDR ชายขาพิการที่ประชาชนจะฝากให้ปกครองดูแลประเทศอีกหลายสมัย
เพลง Happy Days Are Here Again จึงกลายเป็นเพลงประจำตัวของ FDR ไปด้วย
การแก้ไขเศรษฐกิจวินาศ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่นักการเมืองพล่อยให้เราฟัง ประธานาธิบดี FDR ใช้เวลาร่วมสิบปี กว่าวันแห่งความสุขจะกลับมาเยือนสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง
ความสำเร็จไม่ได้มาจากความสามารถของ FDR เท่านั้น แต่เป็นความสามารถ ความอดทน และความเป็นนักสู้ของประชาชนด้วย
So long sad times/Go long bad times/We are rid of you at last ?
Happy days are here again/The skies above are clear again/So let?s sing a song of cheer again/Happy days are here again
ลาก่อนช่วงเวลาเศร้าโศก-เลวร้าย จงหมดไปเสียที วันสุข-วันฟ้าใสได้กลับมาอีกครั้ง
+ + + +
ข่าวที่เกี่ยวกับการพูดจนคนไม่เชื่อถือ
"ประยุทธ์"ฉุนขาดนักวิชาการด่าทหารโกงโยง ฮ.ตก
http://www.thairath.co.th/content/pol/188996
ผบ.ทบ.ปฏิเสธใช้วิกฤตฮ.ร่วง ขอรบ.ซื้อใหม่ 30 ลำ ลั่นเป็นแผนระยะยาวจัดหาทดแทน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1311754054&grpid=00&catid=&subcatid=
'มาร์ค'ออกตัว ไม่รู้กองทัพบก ของบซื้อฮ.ใหม่
http://www.thairath.co.th/content/pol/189510
และ
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10862471/P10862471.html
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10861548/P10861548.html
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10860835/P10860835.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย