http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-25

สารถึงยิ่งลักษณ์ฯ โดย อนิรุจน์ อวดแรง และ ต้องมีจิตเสียสละ โดย "สายล่อฟ้า"

.

สารถึงยิ่งลักษณ์ จากนักปรัชญา
โดย อนิรุจน์ อวดแรง ปี 2 รัฐศาสตร์ ม.พะเยา
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:00:00 น.


ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย

ชายชราสี่คนกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ ทอดสายตามองแผนที่ประเทศไทยที่แขวนอยู่ตรงหน้า ครุ่นคิดถึงวิธีการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

พวกเขาตระหนักดีกว่า ภารกิจการเป็นที่ปรึกษาว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้นหนักอึ้งแค่ไหน

ทันใดนั้น! ก็มีเสียงเปิดประตูเข้ามา

ยิ่งลักษณ์ : สวัสดีค่ะทุกคน ขอโทษด้วยที่ทำให้รอนาน

ซิเซโร : ไม่เป็นไรครับ นั่งลงก่อนสิ

ยิ่งลักษณ์ : นักปรัชญาทุกท่านคะ...คือหนูกลัวว่าจะปกครองประเทศได้ไม่ดี จนทำให้ประชาชนผิดหวัง ทุกคนพอจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ หนูหวังว่าประสบการณ์ของพวกท่าน จะงอกเงยออกเป็นข้อสังเกตทางการเมืองที่แหลมคม จนเป็นประโยชน์กับประเทศไทยไม่มากก็น้อย


มองเตสกิเออ : ข้ามีข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะสองประการ ประการแรก ประเทศไทยของท่านปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน วันนี้ท่านสามารถเข้ามาได้ มิใช่เพียงเพราะพี่ชายของท่าน แต่ด้วยอำนาจที่ปวงชนมอบโอกาสให้ท่านทำงานเพื่อพวกเขา ดังนั้น ท่านก็ต้องพยายามดูแลประเทศให้ดี สมกับที่พวกเขาไว้วางใจ และท่านก็อย่าลืมว่า ประชาชนให้อำนาจท่านได้ พวกเขาก็เอาอำนาจคืนได้เช่นกัน มันเป็นสัจธรรมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ท่านก็ต้องให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ

ประการที่สอง เมื่อท่านเป็นฝ่ายบริหาร ท่านก็ต้องอย่าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ เพราะอำนาจทั้งสามส่วนต้องแยกออกจากกัน เพื่อมิให้อำนาจส่วนหนึ่งส่วนใดลุแก่อำนาจ


ซิเซโร : ท่านคิดว่าลำพังการปกครองแบบประชาธิปไตย มันจะยั่งยืนไปตลอดกาลหรือ ข้าคิดว่าทุกระบอบการปกครองย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา กระนั้น แม้นมันจะไม่คงทนถาวร แต่เราก็สามารถชะลอความเสื่อมได้ สำหรับกรณีประเทศไทย ข้าคิดว่าวิธีการชะลอความเสื่อมนั้นได้แก่ หนึ่ง ผู้บริหารอย่างท่านต้องมีอำนาจอย่างเพียงพอ มิใช่กลับไปสู่สภาพเช่นยุคก่อนที่พี่ชายของท่านจะเป็นนายกฯ หรือก็คือยุคประชาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีต้องแคร์กับเสียงมุ้งน้อย มุ้งใหญ่ จนมีแต่คณะรัฐมนตรีต่างตอบแทน . สอง ท่านต้องมีที่ปรึกษา ซึ่งเป็นพลเมืองผู้โดดเด่น อันมาจากทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไป โดยเสียงของเขาหรือเธอต้องมีน้ำหนักต่อท่านและกับประเทศ และสุดท้าย ท่านต้องเปิดโอกาสให้พลเมืองมีเสรีภาพดั่งที่มองเตสกิเออกล่าว แต่ก็ต้องไม่มากเกินจนประเทศขาดเสถียรภาพ

หากท่านสามารถทำให้สามข้อนี้เป็นจริงได้ ราชาธิปไตย (บทความนี้หมายถึงการปกครองโดยคนเด่นคนเดียว) จะไม่เสื่อมเป็น ทรราช ส่วน อภิชนาธิปไตย ก็ไม่เสื่อมเป็นคณาธิปไตย และประชาธิปไตยก็จะไม่มากจนก่อให้เกิดอนาธิปไตย ด้วยผู้นำ ขุนนาง และประชาชนต่างมีพื้นที่ยืนในระบอบการปกครองถัวเฉลี่ยกันไป


วอลทซ์ : นอกจากแบ่งเป็น 3 ชนชั้นที่สำคัญดังที่ซิเซโรกล่าว ข้าเห็นว่า เมืองไทยยังแบ่งเป็นหลายสี ทั้งสีเหลือง สีฟ้า สีแดง สีเขียว โดยแต่ละสีต่างมีเฉดสีหนัก-จาง และการอมสีอื่นคละเคล้ากันไป หากท่านอยากให้บ้านเมืองสงบสุข หรือท่านเองจะไม่ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกันกับพี่ชาย ท่านก็ต้องอย่าพยายามทำลายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลงเป็นอันขาด เพราะว่าหากแม้นกลุ่มนั้นจะล้ม ส่วนท่านไม่ล้ม บริวารของกลุ่มนั้นก็ยังจะพยายามล้มท่านอยู่วันยันค่ำ จนพังเอาทั้งคู่ และลามถึงประเทศไทยในที่สุด ดังนั้นท่านจงรู้จักศิลปของการดุลขั้วอำนาจ แม้หนทางอาจจะยากเย็นสำหรับ "มือใหม่โดยอุบัติเหตุ" ก็ตาม


คานธี : ไม่ยากเกินไปหรอกท่าน ข้าคิดว่า เพียงแต่ทุกคนในประเทศเปิดใจยอมรับความแตกต่าง เปิดอกคุยกัน ยึดหลักความเมตตาและอหิงสา เพื่อลดความคิด ทิฐิการเป็นศัตรูคู่ตรงข้าม ข้าเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำประเทศไปสู่ความปรองดองได้จริงๆ ซึ่งที่จริง ข้าก็เห็นแง่มุมนี้ในท่านตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้ว ทั้งจากการเลือกที่จะไม่โจมตีพรรคตรงข้าม การออกสื่อแบบไม่เผชิญหน้า หรือแม้จะถูกสัมภาษณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสและกล่าวขอบคุณคู่แข่งเสียอีก ข้าเชื่อว่าพลังเงียบเทคะแนนเสียงให้ท่านก็เพราะสิ่งที่ท่านทำเหล่านั้น ข้าขอให้ท่านเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ไปยังกลุ่มคนเสื้อแดง และแม้กระทั่งตัวพี่ชายของท่านเอง และในที่สุด หากพรรคคู่แข่งวิเคราะห์ได้ว่า สาเหตุของความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประการสำคัญนั้นเกิดจากการเลือกยุทธวิธีการสร้างศัตรู พวกเขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นคู่แข่งที่เป็นแบบเพื่อน ดั่งที่ท่านทำออกสื่อ แล้วเมื่อนั้น เมื่อความคิดเปลี่ยน ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม . . พวกเราคงมีข้อเสนอเท่านี้


ยิ่งลักษณ์ : ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ หนูจะจดจำไว้ และนำมาประยุกต์ใช้ในการปกครองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้



++

ต้องมีจิตเสียสละ
โดย "สายล่อฟ้า"
ในไทยรัฐ ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2554, 05:00 น.


การประกาศรับรอง ส.ส.ของ กกต.น่าจะเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้เพราะเหลือเวลาอีกไม่นานก็ครบกำหนด 30 วัน จึงขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากไม่สามารถพิจารณาคำร้องได้ครบ ทางออกก็คือรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลัง เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้การเลือกประธานสภาผู้แทนฯและผ่านไปถึงนายกฯจนไปถึงการตั้ง ครม. น่าจะอยู่ภายในต้นเดือน ส.ค.ทำให้ได้รัฐบาลบริหารต่อไป

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปัญหาของประเทศนี้มีอยู่หลายเรื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างรวดเร็ว

เพราะทุกอย่างมันประเดประดังผสมโรงเข้ามา นายกฯ รัฐบาลใหม่จะต้องเจองานหนักตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาทำงาน สิ่งสำคัญก็คือ อย่าเข้ามาด้วยการสร้างปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาอีก หน้าตา ครม.ชุดใหม่จึงมีส่วนสำคัญยิ่ง

นอกจากนั้น นโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ประกาศไปแล้ว และ กำลังเป็นความคาดหวังของผู้สนับสนุนจนทำให้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งจึงเป็นอีกเงื่อนไขที่จะต้องทำให้เป็นรูปธรรม แต่เนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้างจนกระทั่งมีเสียงคัดค้านว่าจะสร้างปัญหาตามมา


ที่กำลังเป็นเรื่องอยู่ในขณะนี้คือ ค่าแรง 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ด้านหนึ่งก็เป็นความพอใจที่ผู้ใช้แรงงานจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น

หากว่ากันให้ถึงที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเท่ากับเป็นการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

นอกจากนั้น หากเปรียบเทียบกับความแตกต่างระหว่างนายทุนเจ้าของกิจการกับผู้ใช้แรงงานทั่วไปแล้วมันต่างกันมาก

ถ้าคิดเพื่อกำไรสูงสุดผู้ใช้แรงงานก็หวังจะได้กำไรสูงสุดเฉก เช่นเดียวกัน นั่นคือการได้ค่าแรงที่มากขึ้นตามสภาพความเป็นจริง

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ ก็คือปัญหาค่าแรงนั้นเกิดขึ้นทุกครั้งทุกปีที่จะมีการเรียกร้อง นั่นเพราะความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแม้ว่าฝ่ายทุนจะยอมให้ขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก หรือพูดง่ายๆว่าพยายามที่กดเพดานเอาไว้ด้วยข้ออ้างต่างๆนานา

อีกทั้งภาครัฐเองจะยืนอยู่ข้างนายทุนมากกว่า

เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้เพดานค่าแรงจึงต่ำมากกว่าความเป็นจริงของสภาพความเติบโตของเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจต่างๆ

ฝ่ายทุนเองมักจะหยิบตัวเลขเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการกดราคาค่าแรงตลอดเวลา ทั้งที่ผลกำไรที่ออกมานั้นมันแตกต่างกันมาก

นอกจากนั้น ก็อ้างเหตุว่าหากขึ้น 300 บาท ตายแน่ เจ๊งแน่ ทุนนอกจะไม่เข้ามาลงทุน พูดง่ายๆว่า ท่องกันเป็นสูตรคูณเลยทีเดียว

ทำเหมือนว่าภาคธุรกิจกำลังถูกรังแก ขาดการสนับสนุน

โดยไม่ได้คิดว่าการดำเนินธุรกิจนั้นผู้ใช้แรงงานก็มีส่วนสำคัญและเป็นกลไกที่ทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จนำมาซึ่งผลกำไร

ไม่ใช่ส่วนเกิน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ไร้คุณค่า


ทัศนคติอย่างนี้แหละที่เป็นอันตรายทำให้มองผู้ใช้แรงงานเหมือนผู้ต้อยต่ำ แต่ไม่คิดอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าไม่มีพวกเขาจะเกิดอะไรขึ้น

เหนืออื่นใด หากจะขึ้นค่าแรง 300 บาทจริงมันย่อมมีผลกระทบในระยะแรกแน่ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยสุด และหาช่องทางที่จะทำให้เกิดความสมดุลให้ได้

นักธุรกิจ เจ้าของกิจการก็ต้องมีความเสียสละยอมลดผลต่างกำไรให้กับหุ้นส่วนต่างฐานะ แต่ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในกิจการนั้นๆ

เพราะทางเลือกและโอกาสของเจ้าของ หรือผู้ประกอบการย่อมมีมากกว่าอยู่แล้ว

หากรัฐบาลทำได้ก็เท่ากับเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญยิ่ง.


* * * *

บทความน่าอ่านประกอบ

นักวิชาการมธ.แนะเพิ่มรายได้แรงงานเป็น "อัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต" เตือนภาคธุรกิจอย่าผลักภาระให้ลูกจ้าง
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1311164085&grpid=01&catid=&subcatid=



.