http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-29

300 วันอันตรายฯ และ ความขัดแย้งหยุดไม่ได้ฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

300 วันอันตราย วันละ 300 บาท ทำให้ได้ เพื่อคืนความเป็นมนุษย์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 20


ตั้งรัฐบาลได้แน่นอน
แต่ต้องผ่าน 300 วันให้ได้

ไม่อยากให้กังวลเรื่องการเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ เชื่อว่าคงไม่มีอะไรขวางได้

ปี 2551 หลังชนะเลือกตั้งไม่มีกำลังอะไรมาต่อรอง กลุ่มอำนาจเก่าจึงใช้มวลชนกดดัน และใช้ตุลาการภิวัตน์ ยึดอำนาจไปจากพรรคพลังประชาชนหลังตั้งรัฐบาล 2 ครั้งซ้อน ในช่วงเวลาประมาณ 300 วัน

แม้รู้ว่าถูกปล้น แต่ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้เพราะถูกปืนกดหัวไว้ แต่พวกเขาจำได้ว่าใครวางแผนร่วมกับโจร และในที่สุด พวกเขาก็ลุกขึ้นสู้จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เรื่องการต่อสู้ของโจรและนักสู้กลุ่มนี้จะถูกเล่าขานต่อไปอีกนาน

แต่สถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างจากปี 2551 เพราะมีคนหนุนผู้ชนะเลือกตั้งมากมาย ประชาชนมีบทเรียนและพร้อมจะสู้ทุกรูปแบบ ถ้าอีกฝ่ายดำเนินการยึดอำนาจแบบเก่า พวกเขาไม่สนใจว่ามันจะใช้กฎหมายหรือปืน ยังไงก็พร้อมจะต่อต้านทันที ไม่สนใจว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ แม้สงครามยืดเยื้อ พวกเขาก็อยู่ได้ แต่อีกฝ่ายอาจไม่มีแม้ข้าวจะกิน สิ่งที่จะสูญเสียสำหรับพวกเขามีน้อยมาก พวกเขาเชื่อมั่นว่า ถึงอย่างไรก็ต้องชนะ

แต่ประเทศไทยไม่ใช่อียิปต์ ถ้ามีปัญหาอาจจะยืดเยื้อแบบลิเบีย ธุรกิจต่างๆ คงพังพินาศ

ดังนั้น ถ้ามีเส้นทางราบเรียบให้เดินถึงเป้าหมาย ก็ควรเดินก่อน

การเปลี่ยนแปลงคงจะมาถึงอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา 3 ปีกับ 300 วัน โอกาสที่ประชาธิปไตยกับความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้มีแน่

300 วันยาวนานพอสำหรับการทำลายระบบประชาธิปไตยที่มีคนบางกลุ่มทำมาแล้ว แต่สั้นเกินไปสำหรับการสร้าง ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งความคิดและการปฏิบัติ 300 วันทำได้แค่เตรียมตัว แต่ถ้ามีเวลาอีก 3 ปี ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมบนเส้นทางประชาธิปไตยได้มากมาย ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลงมาก

วันนี้ไม่มีใครยอมรับการปล้นอำนาจแบบโจรหรือพวกฉ้อโกงอีกแล้ว อย่าไปกังวลให้มากเลย เตรียมตัวได้แต่ต้องใจเย็น มีคนสนับสนุนเยอะทั้งในและนอกประเทศ



ต่างประเทศยอมรับมติของประชาชน
ก่อนองค์กรในประเทศ
คือ แรงบีบจากประชาคมโลก

ต่างประเทศแสดงการตอบรับโดยไม่รอให้ กกต. รับรอง ทูตของประเทศมหาอำนาจ, ประเทศใหญ่, ประเทศเล็ก เดินทางเข้าพบว่าที่นายกฯ หญิงแทบทุกวัน เพื่อเป็นการบอกกับโลกและบอกกับประชาชนไทยว่าพวกเขาสนับสนุนมติของประชาชน ถ้ามีใครทำอะไรที่ไม่ถูกหลักประชาธิปไตย พวกเขาก็จะยังสนับสนุนคนที่ประชาชนเลือกอยู่ดี

วันนี้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ในเอเชียอาคเนย์ เป็นแหล่งผลประโยชน์ของคนไทยและคนต่างชาติ เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาค และยังเป็นแหล่งส่งออกทรัพยากรที่จำเป็นของโลกคือ ข้าวและยางพารา

ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในประเทศไทย ก็จะสะเทือนถึงคนทั้งโลกเช่นกัน

ประเทศต่างๆ จึงอยากให้ไทยมีหนทางเดินตามระบอบประชาธิปไตยที่สงบเรียบร้อย

พวกเขาไม่ปรารถนาให้เกิดสงคราม และถ้าเกิดสงครามก็จะต้องมีการแทรกแซงอย่างแน่นอน

ถ้าใครไม่รู้จักปรับตัวตามกระแสโลก หลังอำนาจเปลี่ยนแปลงเขาจะสูญเสียทุกอย่าง ไม่เพียงยศ ตำแหน่ง แม้ชีวิตก็ยังยากจะรักษา เป็นอย่างนี้ทั่วทั้งโลก


แต่ไม่มีเวลาฮันนีมูนสำหรับรัฐบาลใหม่ เพราะเวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กำลังเมาหมัดคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายค้านเริ่มค้านพรรคเพื่อไทยแล้ว เพื่อไทยควรตามใจ ปชป. หน่อย อย่าไปค้านกลับเดี๋ยวจะงงกันใหญ่

แม้จะรู้ว่าเป็น 300 วันที่อันตราย แต่รัฐบาลใหม่ต้อง ใช้เวลา 300 วันนี้เป็นบันไดก้าวสู่ความสำเร็จขั้นต้น

3 วันต้องยืนได้ 30 วันงานต้องเดิน 300 วันต้องมีผลงาน

วันนี้สิ่งที่ผู้คนสนใจมากก็คือนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่จริง ควรเขียนเรื่องนี้ตอนตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว แต่มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกันมาก จึงอยากเสนอข้อมูลที่ว่า ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น



ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ
ต้องทำ ก่อนคนงานจะแห้งตาย

คําสัญญาในการหาเสียง เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท กลายเป็นประเด็นถกเถียง ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. แถลงค้านทันทีว่าปรับ 300 บาทไม่ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ส่งออกจะขาดทุนระนาวเพราะราคาสูงขึ้นส่งออกไม่ได้ ค่าแรงสูงกว่าประเทศอื่น ต่างชาติก็หนีไปลงทุนประเทศอื่นเสียโอกาสอีก อาจทำให้ SME ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ ต้องปิดกิจการลงไปกว่าครึ่ง

และเสนอว่าถ้าการฝ่ายเมืองยืนยันจะใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ก็ให้ภาครัฐช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยการออกคูปองชดเชยให้ผู้ประกอบการ ในสัดส่วน 70-80% ของค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำคูปองนี้ไปใช้จ่ายค่าสาธาณูปโภคต่างๆ หรือเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม หากไม่มีมาตรการใดรองรับ

และเห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 220-240 บาท ต่อวัน

นี่เป็นความเห็นต่างของเจ้าของกิจการ



ความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

มีทฤษฎีของนายทุนตะวันตกที่ย้ายฐานการผลิตมาแถบประเทศด้อยพัฒนา เมื่อ 20-30 ปีก่อนว่าพวกเขาจะสามารถทำกำไรได้สูงสุด ถ้าโรงงานอยู่ในเขตที่อาหารการกิน และพืชเกษตรมีราคาต่ำเพราะจ่ายค่าแรงนิดเดียวคนงานก็มีชีวิตอยู่ได้แล้ว การกดค่าแรงและราคาพืชเกษตร ราคาสินค้าที่เป็นอาหาร จึงมีมานานแล้ว

ไม่กี่ปีมานี้หลายคนอาจได้ยิน ทฤษฎี สองสูง คือปล่อยค่าแรงและราคาสินค้าเกษตรให้สูง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เชียร์ทฤษฎีนี้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโต และชาวบ้านจะลืมตาอ้าปากได้ มีกำลังซื้อ

แต่การขึ้นค่าแรงของบ้านเราอยู่ที่การตัดสินใจของไตรภาคีมานานนมแล้ว 10 ปีหลังนี้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 2.57% 10 ปีคือ 25.7% แต่อัตราเงินเฟ้อโตขึ้นปีละ 2.76% 10 ปีคือ 27.6%

กลายเป็นว่า 10 ปีมานี้ลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำได้เงินน้อยลงเมื่อเทียบกับของที่แพงขึ้น

จิตรา คชเดช อดีตผู้นำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ให้ความเห็นเรื่องค่าแรงที่เหมาะสมไว้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำ ต่ำยังไงก็ต้องให้ผู้ใช้แรงงานอยู่ได้ เมื่อทำงานตามปกติ 8 ชั่วโมง แต่สภาพความเป็นจริงวันนี้ คือไม่พอกิน ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดจากวันละ 206 บาทมาเป็น 215 บาท นายจ้างจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันทำงานเท่ากับ 26 วันต่อเดือนเท่ากับคนงานมีรายได้ต่อเดือน 5,590 หรือเฉลี่ยวันละ 186 บาทเท่านั้น แต่ค่าอุปโภคบริโภคก็ปรับขึ้นด้วยทำให้ค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าจ้างที่ได้รับ


ตัวอย่างค่าใช้จ่ายของคนงาน 1 คน ต่อเดือน

ค่าอาหาร . . 3,000 บาท ค่าอุปโภค . . 500 บาท

ค่าที่อยู่อาศัย . . 1,800 บาท ค่าพาหนะ . . 1,000 บาท

ค่าน้ำประปา+ค่าไฟฟ้า . . 500 บาท ค่าโทรศัพท์ . . 300 บาท

รวม . . 7,100 บาท

จะเห็นว่าคนทำงาน 1 คนยังไม่สามารถได้ค่าตอบแทนไปเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอเพียง พวกเขาต้องหาเงินหรือเป็นหนี้เพิ่ม 1,500 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายที่บอกมายังไม่รวมเครื่องนุ่งห่ม บันเทิง หรือผ่อนทีวี ตู้เย็นและภาษีสังคม เช่น ซองผ้าป่า กฐิน งานศพ งานแต่ง

ที่จริง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ได้ให้ความหมายไว้ว่า "เป็นค่าจ้างที่แรงงานและสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คนมีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่าย ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม"

แต่อีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลก็ได้เปลี่ยนความหมายของค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ว่า หมายถึงอัตราจ้างตามความจำเป็นที่ลูกจ้างคนเดียว (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ถ้าตีความตามคำจำกัดความใหม่ซึ่งใช้กันอยู่ ลูกจ้างจะไม่ใช่มนุษย์ คือให้ค่าตอบแทนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ จะได้ใช้งานต่อได้


แต่มนุษย์ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ โดยเฉพาะสังคมไทย ซึ่งผูกพันกับครอบครัวใหญ่ วัฒนธรรมดั้งเดิมจะถูกทำลายเพราะแรงกดดันทางด้านการเงิน พวกเรามีพ่อแม่ มีครอบครัวต้องเลี้ยงดู หลายคนยังต้องส่งเงินกลับไปบ้านนอก ให้พ่อแม่เดือนละ 1,000 บาท ถ้ามีเด็กเล็กก็ต้องเดือนละ 5,000 บาท ลูกโต ขั้นต่ำ 3,000 บาท/เดือน แม้จะอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่ค่าจ้างเงินก็จะหมดไปกับค่าอาหารและที่อยู่อาศัย

จิตราบอกว่าเมื่อคนงานส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ มีทางออกคือทำงานล่วงเวลา (ถ้ามีให้ทำ) หรือต้องกู้เงินนอกระบบ และส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะเป็นหนี้สะสมมาอย่างยาวนาน เช่น หนี้ ธ.ก.ส. ถ้าไม่มีงานล่วงเวลาก็ต้องหาอาชีพอื่นเสริม เช่น ธุรกิจขายตรง ขายประกัน เสิร์ฟอาหาร หรือขับวินมอเตอร์ไซค์ ขับแท็กซี่ เพื่อหาเงินให้พอใช้ จึงเกิดธุรกิจรายย่อย เช่น การปล่อยเงินกู้ดอกแพง หรือการตั้งตัวเป็นคนรับหวยเถื่อนเพื่อกินเปอร์เซ็นต์ และส่งต่อเจ้าใหญ่ เพราะทางออกอีกอย่างของคนที่รายได้ไม่พอ คือการเสี่ยงโชค สภาพของแรงงานส่วนใหญ่ จึงมีแต่ความเครียด

แม้ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท คนงานก็ยังไม่พอกินอยู่ดี การปรับค่าจ้างต้องควบคู่ไปกับการควบคุมราคาสินค้า จัดสวัสดิการให้ด้วย เช่น เรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี ค่ารถโรงเรียนฟรี อุปกรณ์และเครื่องแบบ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ค่าที่อยู่อาศัยราคาถูก ค่าน้ำค่าไฟ รัฐต้องควบคุมราคาที่เหมาะสมกับพื้นที่และค่าจ้าง

ผู้ใช้แรงงานสนับสนุนการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ได้ค่าจ้างเพิ่ม แต่ได้แสดงว่า รัฐบาลเห็นคุณค่าของแรงงาน เราเชื่อว่าจะต้องมีการคัดค้าน และนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่คนงานกับรัฐบาลยืนอยู่ข้างเดียวกันในเรื่องค่าแรง



ขึ้นค่าแรง 300 บาท จะดำเนินการอย่างไร?

เรื่องความจำเป็นและเหมาะสมคงไม่ต้องอธิบายเพิ่ม เชื่อว่าคนที่ค้านเรื่องนี้ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินวันละ 215-240 บาท แต่เมื่อค่าแรงถูกกดไว้นานมาก พอจะปรับแบบก้าวใหญ่ ก็เกิดการไม่เคยชิน และมีผลกระทบต่อเจ้าของกิจการ

แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาใดขวางอยู่ ทุกคนก็ถูกบังคับให้ช่วยกันแก้ไข เพราะถ้าไม่ปรับค่าแรงขึ้นไป คนส่วนใหญ่ของสังคมก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ได้ นั่นหมายถึงความขัดแย้งจะขยายถึงขั้นเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม

การทำงานแต่ได้ค่าจ้างไม่พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ของคนส่วนใหญ่เปรียบเหมือนต้นเหตุของโรคร้ายที่จะขยายไปสร้างปัญหาสังคมด้านต่างๆ เช่น อาชญากรรม รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหานี้

มีผู้เสนอวิธีการขึ้นค่าแรงหลายแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและทำได้จริง แต่พวกเราซึ่งมีทั้งเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง นักวิชาการได้คุยกันมาแล้ว เห็นว่าทำได้แน่นอน และมีข้อเสนอดังนี้

1. รัฐบาลต้องยืนยันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เพราะปัจจุบัน ค่าครองชีพในต่างจังหวัดก็มิได้ถูกกว่าในกรุงเทพฯ มากนัก สินค้าบางอย่างแพงกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาแรงงานย้ายถิ่น และทำให้เกิดการกระจายรายได้ แต่ควรมีผลประโยชน์ตอบแทนผู้ลงทุนในเขตต่างจังหวัดไกลๆ

2. ให้สำรวจผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้บางบริษัทหรือบางประเภทธุรกิจที่มีปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ซึ่งรัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือ

วิธีการคือ ให้เจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบ แจ้งขอความช่วยเหลือเข้ามา และไปสำรวจการดำเนินการ ณ สถานที่จริง การให้ความช่วยเหลือ รัฐต้องตรวจสอบกิจการที่แจ้งขอความช่วยเหลือย้อนหลัง 5 ปี โดยเทียบข้อมูลซึ่งเจ้าของกิจการแจ้งมากับฐานข้อมูลทางภาษีจากสรรพากร ฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงาน และฐานข้อมูลต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ก็จะรู้ตัวเลขเฉลี่ยว่ากิจการเหล่านั้นมีผลกระทบมากน้อยเท่าไหร่ ต้องช่วยอย่างไร

เชื่อว่าผู้ประสบปัญหาคงมีจริง แต่ไม่มากมายอย่างที่อ้างกัน

3. การช่วยเหลือควรให้เป็นคูปองชดเชยเพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อหนึ่ง และควรกำหนดกรอบเวลาว่านานเท่าไร

รัฐบาลอย่าลืมว่าได้ลดอัตราภาษีรายได้ของกิจการต่างๆ จาก 30% เหลือ 23% และเหลือ 20% ในปีถัดไป แต่ฝ่ายเจ้าของกิจการน่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลดภาษี ก็ต้องเป็นเดือนพฤษภาคม 2555

4. ควรมีมาตรฐานของงานที่กำหนดต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อจะได้กำหนดความแตกต่างของค่าแรง เช่น คนที่เพิ่งเข้ามาทำงานยังทำอะไรไม่เป็นเลย ควรได้ค่าแรงเท่าไรในขั้นทดลองงาน เมื่อเป็นแล้วควรได้เท่าไร ถ้ามีความชำนาญหรือผ่านไป 3 ปีแล้ว ควรได้เท่าไร ค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรนำมาใช้กับทุกๆ คนเท่ากัน ทั้งเพิ่งจะมาทำงานหรือทำงานมาแล้ว 5 ปี เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือในการกดค่าแรงคนเก่า

5. ส่วนกิจการที่คิดจะมาขูดรีดแรงงานราคาถูกและอยากจะย้ายการผลิตไปที่อื่น ไม่ควรดึงไว้ เก็บทรัพยากรไว้ส่งเสริมให้คนไทยทำดีกว่า



รัฐบาล คือตัวแทนคน 20 ล้าน
ที่ต้องทำงานให้ไทยทั้งประเทศ

วันนี้การตั้งรัฐบาลบนฐานเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ประมาณ 300 คนคือเสียงสนับสนุนเกือบ 20 ล้านคน รัฐบาลใหม่ได้รับการคาดหวังจากคนหลายกลุ่ม อยากให้แก้หลายปัญหา แต่ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่แก้กันง่ายๆ ที่สำคัญ ยังมีปฏิปักษ์ทางการเมืองคอยค้านและปัดแข้งปัดขาตลอดเวลา คนพวกนี้ จะกดดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างรวดเร็วเพื่อให้พลาด และจะขัดขวางสิ่งที่พอทำได้ให้เกิดปัญหา

ดังนั้น 300 วันแรก รัฐบาลใหม่จะต้องเลือกทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ต้องกล้ายืนหยัดความถูกต้องให้ ส.ส. 300 คน ในสภาหนุนหลังให้คน 35 ล้านคนที่มาลงคะแนนเห็นความสามารถและทำให้คน 65 ล้านได้รับประโยชน์ให้พวกเขารู้ว่าประชาธิปไตยมีผลต่อชีวิตของพวกเขาจริงๆ

ถ้าทำเรื่องค่าแรง 300 บาทสำเร็จ จะมีผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานหลายล้านคนทันที และมีผลโดยอ้อมต่อการยกระดับค่าแรงงานทั้งประเทศ ผลในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม คงมีผู้เชี่ยวชาญเก็บข้อมูลเพื่อประเมินกันต่อไป ส่วนผลทางการเมืองคงมีเยอะพอสมควร แต่เทียบไม่ได้กับการได้ช่วยคนทุกข์คนยาก

ถ้าราคาข้าวขึ้นสูง อีกไม่นานเราจะได้เห็นผลของทฤษฎี สองสูง ซึ่ง เจ้าสัวธนินท์คิด ยิ่งลักษณ์ ทำ

ความเห็นของพวกเรา...นโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ไม่ใช่เรื่องประชานิยม แต่เป็นการคืนความยุติธรรมบางส่วนให้แก่ผู้สร้างสังคมมนุษย์ตัวจริง พรรคการเมืองที่มีจุดยืนอย่างนี้ ถูกยุบก็จะไม่สูญหาย ผู้นำตายพรรคก็อยู่ อย่าว่าแต่ 300 วันเลย 300 เดือนก็อยู่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนจุดยืน



++

ความขัดแย้งหยุดไม่ได้ จากการเมือง...เพิ่มเรื่องปากท้อง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 20


การระเบิดและสังหารหมู่ในนอร์เวย์ทำให้คนช็อกไปทั้งโลก เหมือนปีก่อนที่มี เหตุการณ์สลายการชุมนุมในประเทศไทยเป็นข่าวและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก ไม่เพียงมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยรายเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ในประเทศไทยยังมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ไปทั่วโลก คนทั้งโลกเลยได้เป็นพยานและติดตามถามข่าวจนรู้เรื่องราวสาเหตุในประเทศไทย

ต้องขอแสดงความเสียใจให้กับการเสียชีวิตทั้งผู้ใหญ่และเด็กชาวนอร์เวย์ ซึ่งเหตุที่เกิดโหดร้ายเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรับได้

ชาวนอร์เวย์คงไม่รู้จักการทำบุญสะเดาะเคราะห์ ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องทำบุญกันครั้งใหญ่

แต่วันนี้ที่เมืองไทย กองทัพบกควรทำบุญเพราะการที่เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำซ้อน 3 รุ่น 3 ยี่ห้อ สูญเสียกำลังพลไปถึง 17 นาย ซึ่งรวมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แม้จะคิดว่าเป็นเรื่องของอากาศและเครื่องยนต์ แต่ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรน่าจะเป็นเรื่องดี และถ้าได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อลดความรุนแรงในชาติก็จะเป็นกุศลมหาศาล



ความขัดแย้งใหม่...ความขัดแย้งพื้นฐาน

ปี 2554 เรามี "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 วัฏจักร โง่ จน เจ็บ" ของชนชั้นผู้ยากไร้แม้ยังคงมีอยู่แต่ชาวบ้านก็รู้สึกดีขึ้น เมื่อมี 30 บาทมารักษาโรคภัย ความรู้ที่ได้รับก็ทำให้หายโง่ เหลือเพียงแต่ความยากจน ซึ่งที่จริง ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ชูนโยบายแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ

ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยใช้ยาแรง ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ หวังให้คนชั้นล่าง ลืมตา อ้าปากได้ แต่กลุ่มทุนก็คัดค้าน

ปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์จึงปรากฏเด่นชัดขึ้น

นี่คือความขัดแย้งใหม่ ณ ช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งพื้นฐานของมนุษย์

ที่จริง นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทเป็นนโยบายปฏิรูปทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ยังถูกต่อต้านเพราะกลุ่มทุนมองผลประโยชน์เฉพาะหน้า

แน่นอนว่าในทางการเมือง กลุ่มอำนาจเก่าก็คงต่อต้านด้วย เพราะได้ประโยชน์ทั้งเรื่องการเมืองและยังเป็นเจ้าของทุนขนาดใหญ่อยู่ด้วย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็น 2 กลุ่มแรกที่ออกมาคัดค้านนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต่อมาก็มีสมาคมธนาคารไทย ออกมาร่วมคัดค้านด้วย 3 กลุ่มนี้มีทรัพย์สินรวมกันมากมายมหาศาล มีอิทธิพลยิ่งใหญ่คับประเทศ

แต่คนที่เป็นลูกจ้างก็มีจำนวนมากมายมหาศาลเช่นกัน

ความขัดแย้งนี้จึงหยุดไม่ได้ แต่จะต่อสู้และพัฒนาความสัมพันธ์อันใหม่ขึ้นมาให้เหมาะสมและยอมรับกันได้ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่การพัฒนาสังคม



ความสัมพันธ์ของผู้ผลิต, ผู้ค้า, ธนาคาร และลูกจ้าง

มีผู้ผลิตสินค้าที่ไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมไม่มากนัก ประมาณ 7,000-8,000 แห่ง แต่กิจการขนาดเล็กที่ทำการผลิตสินค้าอยู่ทั่วประเทศ มีมากมายหลายหมื่นแห่ง ก็ต้องถือว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก็เช่นกัน ถือว่าเป็นตัวแทนของคนทำมาค้าขาย ชีวิตคนในโลกปัจจุบัน ดำเนินอยู่ได้เพราะมีผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ เจ้าของทุนและลูกจ้างแรงงานทุกระดับเป็นกลไก

แต่คนที่ร่ำรวยพอที่จะทำได้ทุกอย่างคือเป็นทั้งเจ้าของทุน เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ค้าส่ง มีอยู่ไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ผลิตสุรา กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มซิเมนต์ไทย แต่ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการต้องพึ่งทุนจากธนาคาร และผู้ผลิตกับผู้ค้าก็จะเป็นคนละคนกัน แต่ในทุกระบบต้องมีลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนงานทั้งหมด ซึ่งคนเหล่านี้คือผู้ผลิตและผู้ซื้อตัวจริงที่ไม่มีโอกาสกำหนดราคาสินค้าและค่าแรงของตัวเอง ผู้ที่เป็นลูกจ้างจึงไม่รู้จักคำว่ากำไร แต่จะทำงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างเลี้ยงชีวิตครอบครัวไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

เมื่อดูความสัมพันธ์แล้ว ทุกกลุ่มพึ่งพากันยิ่งกว่าครอบครัวโดยมีผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะเป็นปัญหา ธนาคารได้ดอกเบี้ยและค่าบริการทางการเงินจากทุกกลุ่ม ผู้ผลิตได้กำไรจากผลผลิต ผู้ค้าได้กำไรจากส่วนต่างของราคา ลูกจ้างได้ค่าตอบแทนจากแรงงานและความสามารถอื่นๆ ทั้ง 4 กลุ่มมีคนรวยมาก รวยน้อย ปานกลาง และยากจน

ในกลุ่มธนาคารมีแต่คนรวย ในกลุ่มผู้ผลิตมีคนรวยกับปานกลาง ในกลุ่มผู้ค้าก็มีทั้งคนรวยและปานกลาง

แต่ในกลุ่มลูกจ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นคนจนถึง 90% จะมีฐานะปานกลางไม่ถึง 10% ลูกจ้างที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นผู้บริหาร มีน้อยนับเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

วันนี้กลุ่มลูกจ้างซึ่งทำงานหนัก ร้องขอว่าไม่พอกินอยากได้เงินมากขึ้น ถ้าไม่ได้ก็คงจะอดตายแน่ รัฐบาลเห็นปัญหานี้และสนับสนุน แต่สามกลุ่มผู้ร่ำรวยคัดค้าน บอกว่าจะสร้างปัญหาให้กับระบบผลิตและการค้า ถ้ารัฐบาลเดินหน้าเรื่องค่าแรง 300 บาท และกลุ่มลูกจ้างสนับสนุน ก็คงมีการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ถึงที่สุด คาดว่าทุกกลุ่มก็จะอยู่ได้


กลุ่มที่อยู่ได้แน่นอนไม่มีปัญหากระทบจากการขึ้นค่าแรงเลยคือกลุ่มธนาคาร

สมาคมธนาคารไทย มีสมาชิกอยู่เพียง 16 ธนาคาร แต่กำไรปีละเป็นแสนล้าน ปีที่แล้วได้กำไรประมาณ 123,000 ล้านบาท ที่จริง กำไรส่วนใหญ่อยู่ที่ 4 ธนาคารขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างครึ่งปีแรกของปีนี้ (2554)

ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไร . . 21,183 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ . . 13,874 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย . . 13,432 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย . . 10,730 ล้านบาท

รวม 4 ธนาคารใหญ่ ทำกำไรเกือบ 6 หมื่นล้านบาทเพียงครึ่งปีเท่านั้น ถ้ารวมทั้งระบบ ทั้งปี ต้องทำกำไรได้ไม่น้อยกว่า 1.4-1.5 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน


ถ้ารัฐบาลลดภาษีให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกำไรสุทธิเพิ่ม ประมาณ 1.4 หมื่นล้าน ก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะเอาเงินก้อนนี้มาจ่ายพนักงานเพิ่มหรือไม่

ถ้าสมาคมธนาคารอยากช่วยสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ก็เพียงลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงบ้าง ผู้ประกอบการก็จะได้ลดต้นทุนลง ทุกวันนี้ผู้ฝากเงิน ได้รับดอกเบี้ย .75-2.5% แต่ธนาคารได้ดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 7.125% กำไรของธนาคารจึงเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าปีนี้ จะทำกำไรมากกว่าปีที่แล้ว 40-50%

สมาคมธนาคารไทยที่มีเงินกำไรเป็นแสนล้าน จะมารู้ชีวิตทุกเข็ญของคนยากไร้ที่มีเงินไม่พอกินในแต่ละวันได้อย่างไร

และถ้าไม่รู้จริง แต่อยากจะเลือกข้าง ก็ขอให้คิดให้หนักว่า เงินกำไรของธนาคารทุกวันนี้มาจากไหน มาจากทางตรงของคนจน ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตปีละเท่าไหร่

มาจากทางอ้อม ผ่านเหงื่อของคนจนที่ทำงานในกิจการต่างๆ อีกเท่าไร

และวันนี้ทั้งสังคมก็มีความเห็นเหมือนกันว่ากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยมากเกินไป

รัฐบาลสมควรเข้าไปดูแลเรื่องนี้ได้แล้ว เพื่อลดต้นทุนของทุกกิจการ



ประเทศไทยมีคนอยากมาลงทุนมากมาย
แต่คนไทยควรได้ประโยชน์ด้วย

ความคิดที่คิดว่าคนต่างชาติจะไม่เข้ามาลงทุน เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของยุคสมัย ถ้ามีคนย้ายทุนออกไป ก็มีคนจ้องเข้ามาลงทุนอีกเยอะแยะเพราะประเทศไทยยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร มีวัตถุดิบ มีแรงงานที่มีความรู้ มีช่างที่ชำนาญด้านอุตสาหกรรมซึ่งมีประสบการณ์ระดับเกินกว่า 10 ปีหลายสาขา

ไม่มีความเสี่ยงจากภูเขาไฟและแผ่นดินไหว สภาพอากาศสามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี

ช่วงเวลานี้ ญี่ปุ่นและประเทศตะวันตกก็ยังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ ถ้าเพิ่มค่าแรงแล้วธุรกิจในประเทศจะเจ๊ง เราคงเห็นไต้หวันและเกาหลีใต้เจ๊งไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

รายงานล่าสุด พบว่าในครึ่งปีแรกนี้อุตสาหกรรมต่างๆ ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 65% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด สามารถส่งออกได้มี มูลค่าเกือบ 3.5 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นเกือบ 15%

ถ้าคาดคะเนกำไรคงได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท ถ้ารวมทั้งปีเครื่องคิดเลขธรรมดาคำนวณไม่ได้ก็แล้วกัน แสดงให้เห็นว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยยังสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล แบ่งเงินตรงนี้มาให้คนงานบ้างนิดหน่อยจะเป็นไรไป

(ขณะที่เขียนถึงตรงนี้ก็มีโทรศัพท์มาจากต่างประเทศให้ช่วยหาคนไปบรรยายให้กลุ่มผู้ลงทุนจากเมืองฝรั่งฟังหน่อย เอาแบบเรื่องจริงห้ามโกหก พวกเขาคงอยากจะรู้ว่าการเมืองเรากำลังจะปรับเปลี่ยนอย่างไร)


วันนี้ ต้องปรับแนวทางนโยบายสำหรับการส่งเสริมการลงทุนกันใหม่เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า นานมาแล้วที่ได้ยินแต่คำพูดว่ามีเงินเข้ามาลงทุนกี่แสนล้าน แต่อยากรู้ว่าลงทุนแล้วคนไทยส่วนใหญ่ได้อะไร ที่ผ่านมา เห็นแต่ต่างชาติได้ไปเกือบทั้งหมด มีคนไทย 3-4 คนที่ได้แบ่งมาบ้างเล็กน้อย และอย่าคิดว่า จะเก็บภาษีพวกนี้ได้ เพราะได้รับยกเว้นถึง 8 ปี (สำหรับบริษัทคนไทยธรรมดาจะไม่มีใครมาโอบอุ้ม มีกำไรเมื่อไรต้องเสียภาษี 30% ถ้ามีจ่ายไม่พอต้องเสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน)

นโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบ เพื่อนายทุนต่างชาติที่มีคนไทยไม่กี่คน ไม่กี่ตระกูลได้ประโยชน์แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก สมควรจะเลิกได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่มีนายทุนต่างชาติมาใช้ที่ดิน น้ำ ไฟฟ้า ก๊าซ ทรัพยากร แรงงานราคาถูก ของประเทศเรา แล้วหอบกำไรกลับไปเมืองนอก ทิ้งขยะไว้ให้อีกต่างหาก

ส่งเสริมกันมากี่ปีกี่ชาติแล้ว ยังเป็นขี้ข้าเขาอยู่ถึงทุกวันนี้ ในขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวัน พัฒนาไปไกลลิบ



ความขัดแย้งจากเรื่องค่าแรง 300 บาท
มีทั้งที่ต้องยืดหยุ่นและต้องยืนหยัด

สําหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ รัฐบาลต้องยืนหยัดสู้ ถ้าธุรกิจใดได้รับความเดือดร้อนจริง รัฐก็ต้องช่วย เอาตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีมาตรวจสอบก็จะพบความจริง

แต่อยากให้ทุกกิจการที่ได้รับผลกำไรทั้งแบบเปิดเผยและแบบใต้ดิน ช่วยเห็นใจคนทำงานบ้าง ถ้าคนเสียภาษีเยอะๆ จะรู้ว่าการได้ลดภาษี 7-10 เปอร์เซ็นต์ นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว อยากรู้เหมือนกันว่าจะมีกี่แห่งที่เข้ามาให้ตรวจสอบย้อนหลังเพื่อแจ้งว่ากิจการได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงจนอยู่ไม่ได้

ส่วนภาครัฐควรทบทวนเรื่องสวัสดิการซึ่งฝ่ายนายจ้างให้กับลูกจ้าง เช่น การกินการอยู่ ว่าจะสามารถนำมาหักชดเชยได้อย่างไรบ้าง เพราะถ้านายจ้างตัดส่วนนี้ทิ้งไป อาจทำให้ลูกจ้างลำบากมากขึ้นและก็อาจไม่สะดวกกับการทำงาน

เรื่องคนจบปริญญาตรีได้เงินเดือนหมื่นห้า ต้องกำหนดรายละเอียดให้ดี เพื่อหาทางออกให้ผู้ที่เรียนจบไม่ตรงสายงานแต่อยากทำงาน เพราะจะไม่มีนายจ้างรับคนงานเหล่านี้เข้าทำงานในอัตราเงินเดือน 15,000 ถ้าจัดการไม่ดี คนเหล่านี้จะตกงานกันหมด

การต่อสู้เรื่องค่าแรง 300 บาทจะสร้างแนวร่วมและคู่ขัดแย้งให้กับรัฐบาลมากพอสมควร และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็จะถูกเร่งให้เร็วขึ้น ถ้าไม่มีการเล่นนอกกติกา การปฏิรูปก็จะเป็นไปอย่างสันติ แต่ฝ่ายที่เร่งการเปลี่ยนแปลง กลับเป็นฝ่ายต่อต้านเนื่องจากตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน



สรุปสถานการณ์ปัจจุบัน

ความขัดแย้งทางการเมืองดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ ยังเป็นความขัดแย้งหลัก เรื่องนโยบายต่างๆ จะขยายความขัดแย้งใหม่ให้กระจายออกไปยังกลุ่มผลประโยชน์ เปิดเวทีให้ต่อสู้กันทางการเมือง และในการต่อสู้ก็จะถูกแทรก ถูกหนุนโดยคู่ขัดแย้งเจ้าเก่าดั้งเดิมทั้งสองฝ่าย เพราะกลุ่มอำนาจเก่า มิได้ยอมรับความพ่ายแพ้ไปตามผลการเลือกตั้ง

สังเกตได้จากการรับรอง ส.ส. ของ กกต. ซึ่งมีการดองคนสำคัญบางคนไว้ คาดว่าคงได้รับแรงกดดันจากพลังลึกลับพอสมควร

แต่พลัง 16 ล้านเป็นกำแพงใหญ่ที่ไม่อาจฝ่าได้ง่าย คงต้องใช้เวลาเป็นตัวช่วยให้ตัวเองรอดจากแรงบีบทั้งสองด้าน

บทเรียนของกรรมการสิทธิฯ ในการสรุปรายงานการต่อสู้ในปี 2553 ทำให้ทุกฝ่ายต้องระวังตัวมากขึ้น จะไปทำอะไรตามใจผู้มีอำนาจต่างๆ คงไม่ง่ายอย่างเดิมแล้ว หลังจากนี้ ถ้าใครไม่รู้จักปรับตัวให้เข้าสู่มาตรฐานความยุติธรรม โอกาสจะถูกคิดบัญชีย้อนหลังก็จะมีสูงขึ้น

ผู้สันทัดกรณีบอกว่า อย่าไปตื่นเต้นกับความขัดแย้งและอุปสรรค ร่างกายที่แข็งแรงจะสามารถสร้างภูมิต้านทานเพื่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้เสมอ เช่นเดียวกับความขัดแย้งจะช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป


.