http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-21

วิเคราะห์นโยบายฯ โดย คริส และ พิษการตลาดประชานิยมฯ โดย ศัลยา

.

วิเคราะห์นโยบาย ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของ "เพื่อไทย"
โดย คริส โปตระนันทน์ น.บ.เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ.ท.
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 38


บทความนี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์นโยบายภาษีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญมากต่อประเทศ

นโยบายนี้คือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้าและเหลือ 20% ในปี พ.ศ.2556

ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะมีความเคลื่อนไหวในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ช่วงหนึ่งว่า กระทรวงการคลังเสนอให้ลดภาษีชนิดนี้ และจะยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีบีโอไอ แต่ในที่สุดดูเหมือนว่าจะมีเสียงทักท้วงถึงเรื่องการขาดรายได้ของรัฐ เรื่องจึงเงียบหายไป

ทั้งที่ตอนนั้นผู้เขียนก็แอบเอาใจช่วยรัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ออกนโยบายที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยให้สำเร็จ แต่สุดท้ายอาจจะเพราะแรงกดดันทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงใส่เกียร์ถอยในเรื่องนี้

ส่วนเพื่อไทย หลังจากที่ทะเลาะกันในพรรคอยู่พักใหญ่ๆ แต่ตอนหลังก็เปิดนโยบายนี้ออกมา

เราจึงควรพิจารณากัน



เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านที่อาจจะไม่ใช่นักกฎหมายหรือนักธุรกิจ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหมายถึง ภาษีที่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ทุกแห่งในประเทศไทยที่ในทางกฎหมายถือว่าเป็นนิติบุคคลจะต้องจ่ายให้แก่รัฐทุกปี ในอัตราคงที่ (Flat rate) 30% ของกำไรในปีนั้น

สำหรับประเด็นที่สำคัญของนโยบายนี้คือ หากมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจริง รายได้ที่จะเข้าคลังจะลดลงหรือไม่ เพียงใด

ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว รายได้ของรัฐจะลดลงจริงแต่เป็นการลดลงในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยจะจ่ายภาษีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เงินภาษีที่จัดเก็บเข้ารัฐนั้นจัดเก็บได้น้อยลง

แต่ในระยะยาว การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่น้อยลงจะทำให้มีการลงทุนมากขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนในโลกธุรกิจคือเรื่องของกำไร เมื่อรัฐตอบสนองให้ภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะได้กำไรมากขึ้นโดยการเก็บภาษีน้อยลง เรื่องนี้จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีการขยายการลงทุนที่มากขึ้นสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว

และสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเนื่องจากอัตราภาษีที่สูงเกินไปที่ผู้ประกอบการจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากต้นทุนภาษีนั้นเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ที่ไม่อาจทำการลดลงได้

เมื่อหากมีความสามารถจัดการในเชิงธุรกิจที่ดีขึ้นเหมือนเช่นพวกต้นทุน จำพวกค่าบริหารจัดการ หรือเครื่องจักร ที่บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสามารถปรับลดต้นทุนในจุดนี้ได้

เมื่อบริษัทเหล่านี้มีต้นทุนทางภาษีลดลงจากอัตราภาษีใหม่ บริษัทจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ก็จะสามารถแข่งขันในตลาดได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อบริษัทมีจำนวนมากขึ้น ทุกบริษัทแม้จะจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำลง แต่เมื่อจำนวนบริษัทมากขึ้น รายได้ภาษีโดยรวมของรัฐก็มากขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ที่อัตราภาษี 30% มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้อยู่ในตลาด 10 บริษัท ทุกบริษัท มีรายได้ 10 หน่วย ทุกบริษัทจะเสียภาษีเป็นรายได้ของรัฐ 3 หน่วย รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 30 หน่วย

ขณะที่เมื่ออัตราภาษีที่ต่ำลง เช่น ที่อัตรา 20% อาจทำให้มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดมากขึ้นเป็น 20 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทเสียภาษีลดลงเป็นบริษัทละ 2 หน่วย ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐโดยรวมเป็น 40 หน่วย

และเมื่อมีบริษัทแข่งขันกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สินค้าก็มีราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น ทำให้ขายของได้มากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย


สำหรับในเรื่องนี้ เราสามารถดูตัวอย่างได้จากประเทศหลายประเทศเช่นกัน ฮ่องกง และสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงแค่ 16.5 และ 17% มาเลเซีย 25% เวียดนาม 25% อินโดนีเซีย 25% เกาหลีใต้ 22% ขณะที่ประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 30% ซึ่งแทบจะเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลกแล้ว

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เก็บภาษีต่ำกลับมีรายได้รวมมากกว่าประเทศที่เก็บภาษีสูง

เช่น ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% แต่กลับมีรายได้เพียง 392,172 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงแค่ 4.05% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (มูลค่าจีดีพีของประเทศไทยคือ 263,856 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,002,752.48 ล้านบาท)

ขณะที่ฮ่องกงซึ่งเก็บภาษีเพียงแค่ 16.5% ซึ่งแม้ฮ่องกงจะมีขนาดจีดีพีที่เล็กกว่าประเทศไทยมาก (ฮ่องกงมีจีดีพี 215,355 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,531,717 ล้านบาท) แต่กลับมีรายได้รวมจากภาษีนิติบุคคลถึง 99,294 ล้านเหรียญดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 387,198 ล้านบาท หรือ 5.92% ของจีดีพี ซึ่งหากดูเพียงแค่รายได้สุทธิอาจดูเหมือนว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้น้อยกว่าเรา

แต่เมื่อเราเทียบภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีซึ่งก็คือมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ต้องถือว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้มากกว่าประเทศไทยถึงเกือบ 2% ของจีดีพีของประเทศตน


นอกจากนี้ หากมีการปรับลดอัตราภาษีลง เงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น เนื่องจากเมื่อบริษัทข้ามชาติจะเลือกประเทศที่จะลงทุน มักต้องมีการคำนวณว่า บริษัทจะลงทุนที่ประเทศใด บริษัทถึงจะได้กำไรสูงที่สุด

แม้การที่บริษัทแต่ละบริษัทจะลงทุนที่ใดอาจมีปัจจัยหลายปัจจัย ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลักษณะพื้นฐานของแต่ละประเทศ แต่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมักจะเป็นปัจจัยหลักๆ ที่บริษัทเหล่านี้คำนึง

ซึ่งหากเราปรับลดอัตราภาษีลง จะทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

บริษัทที่มีจำนวนมากขึ้น และขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นจะต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ของแรงงานสูงขึ้น ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเองโดยกลไกตลาด โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกำหนดเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน หากเราไม่ทำการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ เงินลงทุนที่บริษัทหลายบริษัทที่อยากจะลงทุนในประเทศไทยอาจจะไหลไปยังประเทศที่มีสภาวะการลงทุนเหมาะแก่การลงทุนเหมือนเช่นประเทศไทยแต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า อย่างเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม

ซึ่งจะทำให้เราเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดาย



หากมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจริง สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะทำไปควบคู่กับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ การยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ซึ่งโดยหลักแล้ว จัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำมากหรือไม่เสียเลยสำหรับประเภทธุรกิจและเข้าหลักเกณฑ์ที่บีโอไอต้องการจะส่งเสริม

โดยบ่อยครั้งธุรกิจที่บีโอไอเลือกที่จะส่งเสริมนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีผลกำไรเหมาะกับประเทศไทย

และหลักเกณฑ์ที่บีโอไอกำหนดก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในทางธุรกิจ เช่น ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาทขึ้นไป มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ขึ้นไป พื้นที่ที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ในเงื่อนไข หรือใช้เทคโนโลยีที่บีโอไอกำหนด และ เป็นประเภทธุรกิจที่บีโอไอมีความเห็นว่าสำคัญต่อประเทศไทย ถ้าประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเหล่านี้ประเทศไทยจะเจริญ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นมักจะเป็นความคิดที่ผิดพลาด


ตลาดเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุด ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าลูกค้าต้องการสินค้าประเภทใด และจะต้องผลิตเท่าไร เช่นไร ใช้เงินลงทุนเท่าไร ไม่ใช่บุคคลากรของรัฐไม่กี่คนที่เป็นบอร์ดบีโอไอที่จะมากำหนดว่าประเทศเราควรผลิตอะไร ซึ่งสิทธิพิเศษเหล่านี้ แทนที่จะเป็นการส่งเสริมการลงทุนกลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจส่วนน้อยที่บอร์ดบีโอไอมีความเห็นว่าควรสนับสนุนเท่านั้นและเข้าหลักเกณฑ์ และเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนจากอัตราภาษีที่สูงกว่า

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการส่งเสริมการลงทุนประเภทธุรกิจที่บีโอไอส่งเสริม ก็คือกีดกันการลงทุนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบีโอไอนั่นเอง ซึ่งหากมีการลดภาษีนิติบุคคลลง สิทธิพิเศษทางภาษีก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป


เมื่อภาษีต่ำลง ทุกบริษัทได้ประโยชน์ทั้งหมด เป็นการส่งเสริมการลงทุนทุกบริษัทอยู่แล้ว บริษัททุกบริษัทจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน การแข่งขันระหว่างธุรกิจจึงจะเป็นการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้มีบริษัทแข่งขันกันในตลาดมากขึ้น และส่งผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างที่กล่าวในข้างต้น



++

พิษการตลาดประชานิยม ธุรกิจ-พ่อค้า"มึน" รัฐบาล"ปู 1" ค่าแรง 300 เงินเดือน 15,000
โดย ศัลยา ประชาชาติ คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 12


หลังประกาศรัฐบาล 6 พรรค 300 เสียง พร้อมโควต้า 35 รัฐมนตรี กับ 3 ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 14 อลหม่าน วันละไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง

ทั้งข้าราชการ ปลัดกระทรวง นักธุรกิจ นักการทูต นักกฎหมาย ว่าที่ ส.ส.265 คน สลับห้องประชุม เข้าหารือกับว่าที่นายกรัฐมนตรี "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ไม่นับรวมกลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 อดีตกรรมการบริหารพลังประชาชน 39 คน และ ส.ส.ที่สอบตกทั้งมวล ที่พยายามเข้าถึง เจรจาต่อรองตำแหน่งกับ "น.ส.ยิ่งลักษณ์"

เสียงจากภายในพรรคยังอลหม่าน-สับสน ทั้งเรื่องตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการนำนโยบายประชานิยม ที่มีทั้งโหมด แจก-จ่าย-ลด และเลิก ลงไปสู่การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน

เสียงคำสั่งของ ว่าที่นายกรัฐมนตรี จึงดังเด็ดขาด สั่งการให้ทีมว่าที่รัฐมนตรีทุกคน หยุดส่งสัญญาณผิดพลาด-อ่อนไหว จนกว่าจะมีข้อยุติเป็นพิมพ์เขียว-ร่างนโยบายรัฐบาล ชัดเจน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศว่า "หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การจัดคณะรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้น จากนั้นจะประกาศนโยบายเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสน"

ยังไม่ทันสิ้นคำ "ยิ่งลักษณ์" เสียงสวนจากนักธุรกิจก็ดังก้อง



นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนนักธุรกิจทั้งกระดาน บอกตามตรงว่า "ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท" และ "ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย" เพื่อความเหมาะสม

เหตุผลของสภาอุตสาหกรรมฯ คือ การขึ้นค่าแรงตามนโยบายเพื่อไทย จะกระทบผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจส่วนรวม

ข้อเสนอจากนักธุรกิจคือ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจากการประเมิน คาดว่าต้องใช้เวลา 3-4 ปี ค่าแรงถึงจะขึ้นที่ระดับ 300 บาท/วัน

ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ ให้คณะกรรมการไตรภาคี กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม โดยปราศจากการแทรกแซงหรือกดดันจากภาครัฐ

ข้อต่อรองที่เอกชนยื่นให้ "ยิ่งลักษณ์" กลางอากาศ คือ "หากรัฐบาลชุดใหม่ยืนยันที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน รัฐต้องหาแนวทางมาชดเชยส่วนต่างให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และสภาอุตสาหกรรมพร้อมจะหารือกับรัฐบาลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และหาแนวทางชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น"

นักธุรกิจ-พ่อค้า-นายธนาคาร ในนามสภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกาศจะผนึกร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนกับ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องมาพร้อมกับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการก็เผชิญแรงกดดันจากการแข่งขัน หากต้องขึ้นค่าแรงทันทีจะทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวยากยิ่งขึ้นก็ต้องให้เวลา

นายโฆษิต-อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล "พล.อ.สุรยทธ์ จุลานนท์" มอนิเตอร์ตัวเลขฐานะการคลังของประเทศไทย ว่า แม้จะอยู่ในระดับแข็งแกร่ง แต่ 8 เดือนที่ผ่านมา รายจ่ายประจำได้สูงขึ้นมาก หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะจะเหมือนกับกรีซ โปรตุเกส ที่จุดเริ่มต้นของวิกฤตก็มาจากภาครัฐมีหนี้มากกว่ารายได้

เช่นเดียวกับนายธนาคารฝีปากกล้า "นายบัณฑูร ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งโจทย์ให้กับรัฐบาลใหม่ 3 ข้อใหญ่ คือ 1.ทำอย่างไรให้คนไทยมีอาชีพที่ยั่งยืน ทั้งภาคเกษตร-อุตสาหกรรม และบริการ 2.สร้างเสถียรภาพทางรายได้ ให้แรงงานอยู่ในระบบ มากที่สุด ภาวะการตกงานน้อยที่สุด และ 3.ต้องไม่มีปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงเกินไป



แนวต้านเรื่อง "ค่าแรง" เสียงดัง-ฟังชัด จากปากเจ้าพ่อวงการสินค้าบริโภค ค่าย "สหพัฒน์"

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ฟันธงว่า "การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย รัฐไม่ควรดำเนินนโยบายเช่นนี้ หากทำจริงจะเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ระบบจะพัง นักลงทุนจะหนีหายหมด เหมือนกรณีที่นักลงทุนจีนหนีมาลงทุนในไทย เพราะประเทศจีนมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะเดียวกันสินค้าก็จะแพงขึ้น "

ค่ายใหญ่-ยักษ์สินค้าเกษตร อย่าง "ซี.พี." ก็เปิดหน้าเรื่อง "ค่าจ้าง" และ "ราคาสินค้า"

ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) แจ้งตัวเลขอย่างเป็นทางการ ว่า เครือ ซี.พี.จ้างงานกว่า 1 แสนคน และได้ศึกษาโครงสร้างการปรับขึ้นค่าจ้างมาตลอด นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนมากนัก เรื่องราคาสินค้ารัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่ควรจะมาควบคุมอยู่อย่างทุกวันนี้

แม้กระทั่งเจ้าแม่ห้างสรรพสินค้า ตระกูล "จิราธิวัฒน์" ที่เข้าพบ "ยิ่งลักษณ์" เป็นการส่วนตัวมาแล้ว ยังแสดงท่าทีกังวล

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย บอกว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่ทบทวนกรอบเวลา การปฏิบัติตามนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท เพราะหลายฝ่ายค่อนข้างเป็นห่วงและกังวล



ไม่เฉพาะองคาพยพนักธุรกิจเท่านั้นที่ปั่น-ป่วน บรรดาข้าราชการ-เทคโนแครต ทั้งค่ายสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ต่างกุมขมับ ในการสนองนโยบายรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

นักวิชาการจากกระทรวงการคลัง และนักร่างนโยบายมืออาชีพ ต้องนำโครงการขนาดใหญ่ที่เพื่อไทย และ "ทักษิณ" หาเสียงไว้ มาใส่ไว้ใน "ร่างนโยบาย"

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ต้องปรับ-รื้อ สอดแทรก โครงการถมทะเล, โครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด บรรจุไว้ในแผนชาติ เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิต หนีภัยสึนามิมาจากญี่ปุ่น

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค รับข้อเสนอจากเพื่อไทย แล้วกางตัวเลขงบประมาณรายจ่ายปี 2555 แล้วต้องกันตัวเลขไว้ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้าน เพื่อจัดทำนโยบายเร่งด่วนในปีแรกของรัฐบาล

นักคิดจากกระทรวงการคลัง บอกว่าหากมองผลกระทบในแง่ร้าย จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ที่รัฐบาลปูพรมทุกนโยบายพร้อมกัน

ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555 จะเกิดปัญหาฐานะเงินสดลดลง ฐานะการคลังลดลง และปัญหาการเบิกจ่ายงบฯ รัฐบาลที่อาจล่าช้า

ไม่เฉพาะสภาพคล่องของธุรกิจเอกชนที่อาจมีปัญหา สภาพคล่องของรัฐบาลก็อาจประสบปัญหา ในช่วงครึ่งปีแรกของงบประมาณ 2555



ข้อกังวลของนักธุรกิจอาจน้อยลง หากพบว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" จะมีวิธีการบริหาร เงิน 3 รูปแบบ คือ

1. โครงการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ใช้ "ระบบสินเชื่อ" เช่น บัตรเครดิตชาวนา บัตรเครดิตพลังงาน

2. โครงการลงทุนที่ต้องใช้งบฯ เร่งด่วนมีโครงการเดียว คือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่เหลือเป็นการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน

3. โครงการที่สามารถใช้งบประมาณที่ค้างจากงบประมาณไทยเข้มแข็ง

รายจ่ายสำหรับเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ก็สามารถประวิงเวลาในการจ่าย ด้วย 2 ขั้นตอน คือ

1. จ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษ ไม่ผูกพันเป็นเงินเดือน ไม่ได้จ่ายให้ข้าราชการทั้ง 1.795 ล้านคน

2. ขั้นตอนในการจ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้าราชการ ขั้นตอนแรกต้องมีการอบรม จากนั้นต้องมีการสอบ แล้วจึงมีการเลื่อนขั้น จึงจะได้ 15,000 บาท/เดือน

ดังนั้น หากใครสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้ตามนโยบาย



วิธีการหาเงินที่เพื่อไทยถนัด ว่าที่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ วางแผนไว้ว่า รายได้ที่รัฐบาลจะหามาเพื่อดำเนินนโยบายมี 2 ทาง

คือ การปรับโครงสร้างการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ ผ่านสำนักงานส่งเสริมการลงทุน โดยจะยกเลิกสิทธิบางรายการ ทำให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนจ่ายภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น และ จะมีการขยายฐานภาษีอย่างจริงจัง

บรรดาว่าที่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แม้ถูกปิดปากเงียบ แต่หัวใจเต้นแรงกับการคัดเลือกเข้าประจำการ ด่านหน้า ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าสินค้าแพง และปัญหาปากท้อง

เพราะ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ส่งสัญญาณไว้แล้วว่า การจัดรัฐมนตรีทุกตำแหน่ง ต้อง Put the right man in the right job พร้อมกับจัดทำตัวชี้วัดผลงาน หรือ KPI จากแผนปฏิบัติการด่วนของพรรค

หากรัฐมนตรีคนได้ตำแหน่งทำผลงานไม่ได้ตามตัวชี้วัด ก็อาจต้องพ้นจาก "ว่าที่รัฐมนตรี" ตั้งแต่วันที่ยังไม่ทันได้โปรดเกล้าฯ เข้าประจำการที่กระทรวงที่จองไว้

จากนี้ไป ทุกสายตาของพ่อค้า-นายธนาคาร และนักธุรกิจ ไม่อาจกะพริบ ละสายตาจาก "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"

พิษการตลาดประชานิยมกำลังออกฤทธิ์



+ + + +

บทความน่าอ่านประกอบ

ทุนไทยกับประชาธิปไตย . . . โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/06/blog-post_09.html


.