http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-02

เลือก "เรา" เข้าสภา โดย คำ ผกา

.






เลือก "เรา" เข้าสภา
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 89


ฉันตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก และก็คงเหมือนกับเพื่อนอีกหลายๆ คน ที่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยว่าจะเดินหน้าหรือวิ่งถอยหลังปรู๊ดเดียวปิดประเทศ เอ๊ย ตกทะเล (เพลงปลุกใจอย่าง "สุดแผ่นดิน" ก็บอกไว้ชัดว่า "เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว")

บอกกันตามตรงๆ บ้านๆ ว่า ในฐานะกลุ่มคนที่ยังมีสำนึก "ชาตินิยม" หลงเหลืออยู่ในจิตสำนึกอย่างฉันและเพื่อนนักวิชาการ นักคิด นักเขียน หลายคน ถูกโรคภัยไข้เจ็บหลายๆ อย่างถามหา ตั้งแต่ไมเกรน โรคกระเพาะ โรคเครียด โรคซึมเศร้า หดหู่ โรคหมดอาลัยตายอยาก โรคเซ็กซ์เสื่อมโดยไม่ต้องสูบบุหรี่ ฯลฯ อันเนื่องมาจากการที่ไม่อาจทนเห็น ประเทศชาติอันเป็นที่รัก ของเราตั้งหน้าตั้งตา เดินออกจากประชาธิปไตยไปสู่ระบอบอันวิชารัฐศาสตร์ ณ วันนี้ ยังไม่อาจหาชื่อมาเรียกได้อย่างเหมาะสม

บ้างก็อนุโลมเรียก เผด็จการซ่อนรูป

บ้างก็ว่าประชาธิปไตยปลอม แต่ฉันคิดว่าน่าจะมีคำที่ตรงกว่านั้น เชื่อว่าอีกห้าสิบปีข้างหน้า กรณีศึกษาของประเทศไทยอาจกลายเป็นทฤษฎีใหม่ทางรัฐศาสตร์โลกก็เป็นได้ ( เริ่มเชื่อแล้วว่า เมืองไทยไม่เหมือนที่ไหนในโลกจริง วุ้ย )

ถามกันจริงๆ ว่า ถ้ายังมีสติอยู่กับตัวพอประมาณ ใครจะไม่เครียดกับการรัฐประหาร


ใครจะไม่เครียดกับการที่ต้องมีชีวิตอยู่กับบรรยากาศแห่งความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาปกคลุมในทุกอณูของประเทศไทยเนื่องจากมีการเชือดไก่ให้ลิงดูอยู่เนืองๆ

วันดีคืนดี Freedom House ลดระดับความเสรีของสื่อไทยให้ไปอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี"

กรี๊ดดดด

เพื่อนร่วมกลุ่มมีโซมาเลีย-งี้ พม่า-งี้ จีน-งี้ ส่วนนักชาตินิยมฝ่ายขวาก็จะสวนกลับมาเหมือนกันว่า "โอ๊ย ฝรั่งมันไม่รู้เรื่อง ถ้าบ้านเราสื่อไม่มีเสรีภาพ คิดเหรอว่าพวกแกจะมานั่งลอยหน้าลอยตาด่ารัฐบาลอยู่ได้"

ได้ยินใครแถ เอ๊ย เถียงมาอย่างนั้นก็ได้ถอนหายใจบอกว่า "โอเคๆ ไม่เถียงแล้ว เชื่อแล้วววว"

ความเครียดที่ว่า ยังไม่รวมความเครียดอันเกิดจากการได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ที่การประท้วงของประชาชนถูกสลายโดยการใช้อาวุธที่รุนแรงและนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนเกือบร้อย บาดเจ็บ และมีชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กลายเป็นแพะได้รับโทษ บ้างอยู่ในเรือนจำ

และเครียดมากกว่านั้นคือมองไม่เห็นหนทางของการออกจากความขัดแย้ง เว้นแต่ประชาชนจะยอมละทิ้งสิทธิที่มีมาโดยกำเนิดของพวกเขาทิ้งไปเสียแต่โดยดี

แต่ก็นั่นแหละถ้าอำนาจล้นฟ้าทำให้ผู้ครอบครองเสพติดได้ฉันใด เสรีภาพเพียงเล็กน้อยที่ประชาชนเคยลิ้มลอง ก็ทำให้เสพติดและไม่อาจหยุดเสพหรือยอมแพ้โดยง่ายเช่นกัน

เหล่านี้เป็นความเครียดหลักๆ ยังมีความเครียดย่อยๆ เช่น เครียดเพราะพิษเศรษฐกิจ เครียดเพราะดูข่าวจากจากทีวีบางช่อง เครียดเพราะไปอ่านเจอมาว่านักวิชาการชั้นนำบางท่านให้ความเห็นว่า "โชคดีที่เมืองไทยมี คมช." เครียดเพราะต้องท่องคาถาขันติธรรมกับตรรกะสกุล "สลิ่ม" (Salim School - มีที่เดียวในโลก อีกหน่อยอาจเปิดรับนักศึกษาจากลิเบีย อียิปต์)

เครียดเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นไม่เครียด (อันนี้แสดงภาวะใกล้วิกลจริต)



การเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและต่อลมหายใจให้โล่งได้อีกเล็กน้อยว่า "สาธุ ประเทศไทยรอดไปได้อีกเฮือก"

ฉันเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเครียดไม่แตกต่างไปฉันและเพื่อนๆ ดังนั้น เราจึงเห็นความกระตือรือร้นที่มีต่อการเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแทบจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในเมืองไทยมีตัวอ้างอิงทางอุดมการณ์ที่ชัดเจนเสียจนเราสามารถวางตำแหน่งแห่งที่ของทั้งสองพรรคไว้คนละด้าน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ พรรคเพื่อไทย แม้จะไม่เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมโดยความตั้งใจ แต่เมื่อพิจารณาฐานเสียงของประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่ต้องการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม จึงกลายเป็นพรรคการเมืองที่ (ต้อง) ชูอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของผลประโยชน์ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่ได้รับผลประโยชนจาก status quo หรือสภาพที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต่างไปจากในปัจจุบัน จึงถืออุดมการณ์อนุรักษนิยมไปโดยปริยาย

ถ้าจะตั้งชื่อพรรคการเมืองเป็นภาษาอังกฤษ พรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นพรรค Liberal Democrat และพรรคประชาธิปัตย์คือพรรค Conservative

(ทั้งนี้ อุดมการณ์การเมืองทั้งสองอุดมการณ์นี้ตามหลักการแล้วไม่ได้มีความเชิงบวกหรือลบในตัวของมันเอง ทว่า ขึ้นอยู่กับ ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งว่ามีใจโน้มเอียงไปในแนวทางใด ก็เลือกพรรคการเมืองนั้นเพื่อไปเป็นตัวแทนของตน เช่น หากตัวฉันชื่นชมนโยบายที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่าเสรีนิยม ฉันก็เลือกพรรค Conservative เท่านั้นเอง)


น่าเสียดายที่พรรคการเมืองไทยมักจะถูกตัดตอนอยู่เนืองๆ (เว้นแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอายุยาวนานที่สุด และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าทำอย่างไรจึงรักษาพรรคให้อยู่รอดมรสุมทางการเมืองมานับแต่ก่อตั้งพรรคมาจนถึงทุกวันนี้และรักษา "จุดยืน" ของพรรคเอาไว้ได้อย่างคงเส้นคงวา)

พรรคการเมืองของไทยจึงขาดโอกาสที่จะมีพัฒนาการในทางที่เป็นตัวแทนของอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอย่างชัดเจน

ดังนั้น ชื่อของพรรคการเมืองไทย จึงไม่เป็นชื่อที่บอกจุดยืนหรือบอกว่าตนเองประกาศจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ใดในสังคม เช่นในประเทศที่พัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พรรคการเมืองไทยจึงไม่มีชื่อพรรค Liberal Democrat, Labour, Communist, Republican, Social Democrat ฯลฯ อย่างในต่างประเทศ

ถึงอย่างนั้นชื่อของพรรคการเมืองไทยก็บ่งบอกลักษณะสังคมอุดมคติของสังคมไทยที่แตกต่างจากสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ อีกเช่นกัน

เช่น ชื่อพรรค "รักษ์สันติ" ที่ฟังเหมือนองค์กรเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์หาสันติภาพในท่ามกลางสงครามและความขัดแย้งมากกว่าจะเป็นชื่อพรรคการเมือง

หรือ ชื่อพรรค "เพื่อไทย", "ไทยรักไทย" หรือ "ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน" นั้นมีลักษณะที่เน้นความรักในปิตุภูมิมาตุภูมิที่ค่อนข้างจะล้าสมัย เมื่อเทียบกับชื่อพรรค "พลังประชาชน" หรือพรรค "มหาชน" ที่บ่งบอกถึงการเชิดชูหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากลมากกว่า

ส่วนชื่อพรรค "ฟ้าดิน" นั้น ฟังแล้วน่าจะเป็นชื่อกลุ่มลัทธิทางความเชื่อหรือความศรัทธา (Cult) มากกว่าจะเป็นพรรคการเมือง



อีกสีสันหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการรณรงค์ Vote No ของพรรคฟ้าดิน ที่มาพร้อมกับป้ายที่ทำให้คนที่เห็นต้องขมวดคิ้วไปตามๆ กัน ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องคอยตอบคำถามบุตรหลานและเยาวชนว่า ทำไมเขาเอารูปลิงมาใส่เสื้อผ้า บ้างก็ร้องไห้กระจองอแงรบเร้าให้พ่อแม่พาไปดูละครสัตว์ เพราะเข้าใจว่าเป็นป้ายโฆษณาการแสดงของคณะละครสัตว์ เพราะรูปสัตว์ในป้ายบางตัวก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูเสียจริง

แต่พอมานั่งพินิจให้ถี่ถ้วนพร้อมกับอ่านคำบรรยายใต้ภาพว่า "อย่าส่งสัตว์เข้าสภา" ก็มีอันให้สะดุ้งโหยง และตะโกนว่า "เฮ้ยยยยย"

นี่คือ hate speech คือการคุกคาม ประณามหยามหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่นอย่างไม่น่าให้อภัย

เพราะนี่คือการบอกว่านักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็น "สัตว์" ไม่ใช่คน และคิดต่อไปได้อีกว่านี่คือความพยายามทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนบนข้อสมมุติฐานคลาสสิกเก่าแก่แต่ยังมีประสิทธิภาพ นั่นคือข้อสมมุติฐานที่ว่า ประชาชนไม่มีวิจารณญาณในการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปบริหารบ้านเมือง

เมื่อเป็นอย่างนั้น กรุณาอย่าให้ประชาชนโง่ๆ เลือก ส.ส. เลย และในระหว่างที่เรายังไม่สามารถทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้ก็จงพากันออกไป vote no พลางๆ เพื่อประท้วงและแสดงเจตจำนงให้เห็นว่า เราไม่ต้องการการเลือกตั้งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ส.ส. พรรคฝ่ายค้านโดนด่าว่าเป็นตัวแทนทุนสามานย์ เป็นหลงจู๊การเมือง เป็นเจ้าพ่อ เป็นนักเลง เป็นทาสทักษิณ เป็นอะไรต่อมิอะไรมาสารพัด

โดนฝ่ายต้านประชาธิปไตยด่าแบบนี้ก็อาจจะปลง แต่ฉันแปลกใจว่า ส.ส. พรรคที่มีภาพพจน์เป็น "ผู้ดี" อย่างพรรคประชาธิปัตย์รับได้อย่างไรกับการดูหมิ่นและถอดถอนออกจากการเป็นมนุษย์ด้วยโปสเตอร์ "อย่าเลือกสัตว์เข้าสภา" ชิ้นนี้

อย่างไรก็ตาม ป้าย "อย่าส่งสัตว์เข้าสภา" แม้จะเป็น hate speech ที่รุนแรง ก้าวร้าว แต่เมื่อฉันได้อ่านความคิดเห็นของ "วิญญูชน" หลายต่อหลายท่าน ทั้งนักวิชาการ ทั้งด็อกเตอร์ ทั้งนักสิทธิมนุษยชน บ้างมีชื่อเป็นนักสตรีนิยม บ้างมีภาพเป็นความหวังของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ แม้จะไม่เอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่เกี่ยวกับสิงสาราสัตว์ออกมา แต่ท่านเหล่านั้นยังคงความคลางแคลงใจและแสดงออกซึ่งความรังเกียจในการเลือกตั้ง นักการเมือง และพรรคการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง

เผลอๆ ผลของมันอาจรุนแรงกว่า hate speech ที่เห็นในโปสเตอร์



ตั้งแต่การเรียกการเลือกตั้งว่า "เกมการเลือกตั้ง" เรียกนักการเมืองว่า "นักเลือกตั้ง" การขึ้นป้ายเรียกนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเป็นการ "ขายฝันระยะสั้น" คือการ "ล่อซื้อ" จากนั้นก็มาเปิด "กึ๋นนักเลือกตั้ง" "เปิดถุงเงินนักการเมือง" - ใช่ว่าฉันจะมานั่งแก้ต่างให้นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการวิจารณ์

บทวิจารณ์หลายๆ ชิ้นในนิวมันดาลา หรือบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ในนิตยสารสารคดี ล่าสุด เป็นตัวอย่างของการวิจารณ์ นักการเมือง พรรคการเมืองที่ทำให้คนอ่านได้ความรู้เพิ่ม และมองเห็นโครงสร้างทางการเมืองไทยที่พรรคการเมืองและนักการเมืองเป็น "ส่วนหนึ่ง" ในนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหา

หรือแม้กระทั่งข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศยังจะทำให้เราเข้าใจภาพรวมของการเมืองไทยได้มากกว่า บทความของ "วิญญูชน" ที่สักแต่เห็นว่านักการเมืองมันชั่ว มันโกง มันเจ้าเล่ห์เพทุบาย สุดท้ายประชาชนเป็นเหยื่อ ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข ไม่สนใจปัญหาสิทธิสตรี ไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม บลา บลา บลา

พรรคการเมืองห่วย นักการเมืองไว้ใจไม่ได้ ถูกต้อง แต่ช่วยระบุให้ชัดเจนว่า อย่างไร เช่นไร เนื่องด้วยเพราะเหตุปัจจัยใดบ้างก็จะเป็นบุญของคนอ่านได้เปิดกะโหลกกะลาเปิดสมองตรองดู จากนั้นช่วยวิจารณ์การทำงานขององค์กรอิสระ, การทำงานของ กกต., องค์กรที่จัดประเภทไม่ได้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยราชการ เป็นเอ็นจีโอ หรือเป็นอะไรกันแน่ เช่น สสส. สสค. คณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ นานา และอีกหลายสารพัดคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาดูแลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

และรบกวนไปเปิดถุงเงิน ส.ว. แต่งตั้ง และบรรดาคณะกรรมการเหล่านั้น เพราะอยู่กินกันด้วยภาษีราษฎร แต่เหตุไฉนมิเคยถูกวิญญูชนตั้งคำถาม ตรวจสอบ "เปิดกึ๋น" หรือ "เปิดถุงเงินถุงทอง" กันบ้างเลย

มีข่าวนักโทษที่อุบลฯ ถูกหามเข้าไอซียู วิญญูชนอยากถามบ้างไหมว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ทำอะไรอยู่???? ไม่อยากเขียนอะไรให้เจ็บให้ไหม้ไปมากกว่านี้ พวกท่านถามหามนุษยธรรมในใจพวกท่านเถิด ในยามที่นั่งกินข้าวเอร็ดอร่อย ในยามที่เดินช็อปปิ้ง ในยามที่ท่านอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัวมีความสุข ท่านนึกถึง "สิทธิ" ของคนที่ถูกละเมิดอย่างสาหัสอันเป็นหน้าที่ของท่านที่จะไปดูแลพวกเขาบ้างหรือไม่?

ฉันคงไม่ถามถึงความละอายใจแต่ฉันขอจะแค่ความ "สะเทือนใจ" . . พวกท่านมีหรือไม่?



คนด่านักการเมืองมีเยอะ หาไม่ยาก ด่ากันมานานหลายทศวรรษ คอลัมนิสต์กระจอกอย่างฉันก็ด่าได้ทุกวันไม่มีซ้ำ แต่การวิจารณ์องคาพยพอื่นๆ ที่มิใช่นักการเมืองนั้นเราต้องการ วิญญูชน" และ "นักวิชาการ" "นักวิจัย" ที่มี "ทุน" ทำงาน ทำโครงการ ทำวิจัย อย่างพวกท่านนี่แหละมาช่วยเปิดหูเปิดตาให้ แต่เหตุใดจึงมาหมกมุ่นอยู่กับความสามานย์ของนักการเมืองกันนักหนา

เหล่าวิญญูชนล้วนรู้มากกว่าคอลัมนิสต์กระจอกอย่างฉันและเข้าใจดีอยู่แล้วว่ากระบวนการดิสเครดิตการเลือกตั้ง นักการเมือง และระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรและหวังผลอะไร

แต่ที่น่าประหลาดใจคือพวกท่านปรีดิ์เปรมกับการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบั่นทอนความเข้มแข็งของประชาชนอย่างหน้าชื่นตาบาน


หรือลึกๆ ท่านกลัวและไม่อยากจะยอมรับความจริงที่ว่า ในวันนี้ประชาชนไปไกลกว่าพวกท่านมาก ฉลาดกว่าพวกท่านมากเสียจนท่านเกรงว่าจะไม่อาจรักษาความเหนือชั้นในฐานะ "วิญญูชน" ของสังคมเอาไว้ได้อีกต่อไป เพราะหากประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นมาจริงๆ ท่านจะกลายเป็นตัวตลกของประชาชนไปเสีย


ว่าแล้วในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้เราไปเลือก "คน" ที่เป็นตัวแทนของพวกเราเข้าสภา "คน" ที่ย่อมมีดี เลว เข้มแข็ง อ่อนแอ หวาดกลัว กล้าหาญ ตามปัจจัยและเงื่อนไข-สถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ

และนั่นคือตัวแทนแห่งความเป็นเราในฐานะมนุษย์ขี้เหม็นเฉกเช่นเดียวกัน



+ + + +

..ยัยปู..โม้ว่าจะหาเงินการค้าเข้าประเทศเป็นล้านของล้าน โม้ ! ผมหาได้แน่ๆแล้ว4หมื่น6พันล้าน อย่างไงก็ไม่คืน ..ไม่คืนๆ อันนี้เป็นเงินประชาชน จะเอาไว้ใช้หนี้ดอกเบี้ยเงินกู้   (..อปิจิทธ์)
http://www.youtube.com/watch?v=y6aoWZiFwLY


.