http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-04

นิธิ: น้ำหนักของเสียงสวรรค์, การเมืองแห่งความโกรธ

.

น้ำหนักของเสียงสวรรค์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน มติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


กว่าท่านผู้อ่านจะได้อ่านบทความนี้ ก็คงรู้อยู่แล้วว่าพรรคใดชนะการเลือกตั้ง ด้วยจำนวนที่นั่งในสภาที่ต่างกันอย่างไร และป่านนี้ปัญหาที่ผู้อ่านสนใจก็น่าจะเป็นว่า แล้วใครจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล

แต่ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมไม่สามารถมีความรู้เท่าผู้อ่านได้ ถ้า ปชป.แพ้ พท.ไม่มากนัก โอกาสที่ ปชป.จะได้กลับมาเป็นแกนกลางอีกครั้งก็มีสูง เพราะสูตรคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่า ปชป.บวกภูมิใจไทย ก็น่าจะมากกว่า พท.แล้ว ทำให้มีอำนาจต่อรองกับพรรคเล็กอื่นๆ ได้ดีกว่า (โดยอำนาจนอกระบบยังไม่ต้องล็อกคอใครเข้าไปคุยกันในค่ายทหาร) แต่ถ้า พท.สามารถทำคะแนนทิ้งห่าง ปชป.ได้ไกลๆ คำถามว่าใครจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลจึงน่าจับตาดูมากกว่า

และโดยขาดความรู้ดังกล่าว ผมอยากจะเดาว่า มีความเป็นไปได้สูงพอสมควรที่ พท.จะ "ได้รับอนุญาต" จากชนชั้นนำให้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง เพื่อดูท่าทีต่อไป (นั่นคือไม่ถูกยุบพรรค, นายกฯไม่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง หรือถอนสิทธิการเป็นนายกฯ และไม่เกิดรัฐประหาร - ทั้งเงียบและดัง --)

ทั้งนี้ เพราะมีสัญญาณอะไรบางอย่างตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ที่อาจจะ "อ่าน" ไปอย่างนั้นได้

ประการแรก แม้ว่ามีความพยายามจาก "อำนาจนอกระบบ" บางกลุ่มที่จะสกัด พท. เช่นกองทัพส่งทหารไป "ปราบยาเสพติด" ตามหมู่บ้าน ไม่ใช่ชายแดน หรือสร้างความสับสนในการจัดตั้งหมู่บ้านแดงของประชาชน แต่น่าสังเกตว่าความพยายามเหล่านี้ ไม่ใช่ความพยายามที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว (concerted effort) กลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งกลับออกมาประกาศว่าให้เคารพผลการเลือกตั้ง

แสดงว่าความพยายามจะสกัดกั้นพรรค พท.นั้น เป็นนโยบายของบางกลุ่มใน "อำนาจนอกระบบ" เท่านั้น

ความแตกแยกซึ่งพูดถึงกันบ่อยๆ นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะประชาชนชั้นกลางซึ่งสวมเสื้อสีต่างกันเท่านั้น แต่รวมถึงชนชั้นนำตามประเพณีทั้งกลุ่ม ซึ่งขาดหางเสือหรือเปลี่ยนหางเสือไประยะหนึ่ง ก็ดูจะขาดความเป็นเอกภาพลงไปอย่างมากด้วย ฉะนั้นคงไม่มีทางเลือกอื่นในช่วงนี้ นอกจากปล่อยให้การณ์เป็นไปอย่างที่คนจำนวนมากคาดหวัง ไม่ใช่จังหวะและโอกาสที่จะฝืนกระแส

ประการที่สอง กระแสที่ว่านั้น อาจประเมินได้อย่างชัดเจนจากความ "แป้ก" ในการชุมนุมของ พธม. แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า พธม.ยังเป็น "ม็อบมีเส้น" อยู่ก็ตาม หากรัฐบาลของ พท.ไม่ลำพองจนเกินไป พธม.หมดศักยภาพที่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเพื่อเป็นเหตุให้ยึดอำนาจ หรือใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญใดๆ ล้มรัฐบาลได้อีก คำพิพากษาใดๆ (สิ้นสุดความเป็นนายกฯ หรือยุบพรรค) จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง

ประการที่สาม รัฐบาลของ พท.จะลำพองหรือไม่ หากดูจากการแสดงจุดยืนของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของ พท.แล้ว ก็ไม่น่าจะลำพอง เพราะคุณยิ่งลักษณ์เลือกที่จะแสดงท่าทีประนีประนอม พรรค พท.ประกาศชัดเจนแล้วว่า นิรโทษกรรมไม่ใช่นโยบายของพรรค ซึ่งก็หมายความว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ยังกลับเมืองไทยไม่ได้ (นอกจากยอมถูกจำคุก และสู้คดีอื่นๆ ในศาลอีกหลายคดี) อย่างน้อยก็ยังกลับไม่ได้ในปีนี้

ประการที่สี่ นโยบายนำทักษิณกลับมาให้ได้โดยเร็ว เป็นนโยบายที่ประธาน ส.ส.หรือคุณเฉลิม อยู่บำรุง ผลักดันมาก่อน เพราะคุณเฉลิมเชื่อว่านโยบายนี้จะสร้างคะแนนเสียงให้แก่พรรคได้อย่างท่วมท้น แต่ในที่สุดคุณเฉลิมก็ลาออกจากความเป็นประธาน ส.ส. (อาจอ้างเหตุผลได้ว่า ขณะนี้ไม่มี ส.ส.อยู่แล้ว จะเป็นประธานได้อย่างไร) สอดคล้องกับการประกาศของพรรคว่านิรโทษกรรมไม่ใช่นโยบายของพรรค เป็นนโยบายของบุคคลบางคนเท่านั้น

การลงเอยของความขัดแย้งในพรรคเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการนำของคุณยิ่งลักษณ์ในพรรคสูงเด่นขึ้น (จะเพราะเหตุผลที่มีพี่ชายอยู่ข้างหลัง หรือเหตุอื่นใดก็ตาม แต่สูงขึ้นแน่) ทำให้พอเป็นที่วางใจของศัตรูคุณทักษิณ - ทั้งที่เป็นชนชั้นสูง และคนชั้นกลางทั่วไป -- ได้ว่า พรรค พท.ภายใต้การนำของคุณยิ่งลักษณ์พร้อมจะต่อรอง หากวันใดที่คุณทักษิณจะได้โอกาสกลับเข้ามา ก็จะกลับเข้ามาพร้อมเงื่อนไขบางอย่างซึ่งพอเป็นที่วางใจ

ประการที่ห้า คุณทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศมาสองครั้ง ยอมรับความผิดพลาดของตนเองในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล รับว่าผิดพลาดสองอย่าง คือหนึ่งไม่ได้เหลียวหลังไปดูหนทางที่ตนได้เดินเหยียบย่ำผ่านไปแล้ว คิดจะลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว และสองคือจากการอบรมให้เป็นตำรวจ จึงใช้ "ถุงมือเหล็ก" (ในการพูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรก) หรือ "หมัดเหล็ก" (ในการสัมภาษณ์ครั้งที่สอง) ในการบริหารงาน

แม้ว่าคำสัมภาษณ์ของคุณทักษิณยังเปิดช่องให้แก่การกลับเข้าสู่วงการเมืองไว้ตามเดิม เพราะการไม่หันหลังกลับไปดูก็อาจแก้ได้ด้วยการหันกลับไปดู หรือ "ถุงมือ" เหล็ก ไม่ใช่อวัยวะ รู้ว่าไม่เหมาะกับการบริหารงาน ก็ถอดออกเสียได้ แต่การยอมรับว่าตนเองก็มีส่วนผิดพลาด คือการเปิดประตูสำหรับการเจรจาต่อรอง ตรงกับท่าทีประนีประนอมของคุณยิ่งลักษณ์

การเจรจาต่อรองยังตรงกับข่าวลือในสื่อต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยว่า มีการพบปะเจรจากันระหว่างหนึ่งใน "บูรพาพยัคฆ์" กับคุณทักษิณในต่างประเทศ และหากคิดต่อไปว่า "บูรพาพยัคฆ์" เชื่อมโยงกับชนชั้นนำกลุ่มไหน ก็อาจเข้าใจได้ว่าหากการพบปะเจรจาเกิดขึ้นจริง นายทหารผู้นั้นคงไม่ได้ทำเองคนเดียว แต่ต้องได้รับอนุมัติจาก "ผู้ใหญ่" ในสายของตนแล้ว หรือแม้แต่เป็นการริเริ่มของ "ผู้ใหญ่" เองด้วยซ้ำ

ประการที่หก หากพรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นสักหน่อย โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ดูจะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ไม่มีความพยายามจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบธรรม (ด้วยเหตุผลต่างๆ) เพื่อเป็นฐานให้แก่การทำให้เป็นโมฆะในภายหน้า


กลุ่มเหล่านี้อาจเป็นองค์กรไม่กลาง, หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐบางหน่วย แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าชนชั้นนำเองก็หาได้มีเอกภาพนักไม่ อีกทั้งสายการบังคับบัญชาก็ชิงไหวชิงพริบกันตลอดมา จึงขาดเอกภาพ

ประการสุดท้าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับหกประการข้างต้นก็คือ สัญญาณเหล่านี้ (หากเป็นจริง) บอกให้เรารู้ว่า ทางเลือกที่ในที่สุดชนชั้นนำไทยเลือก เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองคือการ "เกี้ยเซี้ย" อย่างที่ได้ทำตลอดมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะการเมืองกระแสหลักของไทยคือ การเมืองของชนชั้นนำ (ต่อสู้และตกลงกันให้ได้ว่า ใครจะได้ทรัพยากรส่วนไหน ในเงื่อนไขอะไร โดยไม่ทำความเสียหายแก่ทรัพยากรที่ยังต่อสู้และตกลงกันไม่ได้จนเกินไป)


ปัญหาจึงมาอยู่ที่ว่า การเมือง "เกี้ยเซี้ย" ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเมืองชนชั้นนำไทยนั้น จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยได้หรือไม่ (ไม่ว่าใครจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล)

หากไม่ได้ ประชาชนคนธรรมดาก็จะต่อสู้และตกลงกัน อย่างไม่กลัวว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไรแก่ทรัพยากรส่วนที่เหลือต่อไป

บางกลุ่มในหมู่ชนชั้นนำ เคยสามารถใช้พลังมวลชนเป็นฐานสำหรับการต่อรองได้สูง จนทำให้เกิดความ "สงบเรียบร้อย" ในหมู่ประชาชน ยอมปล่อยให้การเมืองเกี้ยเซี้ยกระแสหลักดำเนินต่อไป โดยไม่เข้าไปแทรกแซง แต่บัดนี้ดูเหมือนไม่มีกลุ่มใดในชนชั้นนำ ที่จะสามารถรวมใจประชาชนให้เป็นฐานของตนแต่ฝ่ายเดียวได้อีกแล้ว


การเมืองไทยกำลังเริ่มเปลี่ยนไปสู่การแย่งฐานมวลชน การเมืองลักษณะนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้แก่การรัฐประหาร หรือตุลาการภิวัตน์มากนัก

ที่น่าตระหนกกว่านั้นก็คือ การเกี้ยเซี้ยในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองก็ไม่มีพื้นที่มากนักเหมือนกัน

การเมืองกระแสหลักของไทย และชนชั้นนำไทย มีความสามารถปรับตัวได้มากไปกว่าการเกี้ยเซี้ยหรือไม่



++

การเมืองแห่งความโกรธ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 28


ไม่ว่าในสังคมใด นานๆ จึงจะเกิดการเลือกตั้งแบบนี้เสียที

การเลือกตั้งแบบไหนหรือครับ ก็การเลือกตั้งด้วยความโกรธไงครับ หลายคนคงนึกถึง คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งแยกเขี้ยวยิงฟันอยู่ตามสี่แยกทั่วประเทศ

ไม่ใช่ผู้สมัครโกรธนะครับ ผู้เลือกตั้งต่างหากที่โกรธ และต่างจะไประบายความโกรธของตนในคูหาเลือกตั้งครั้งนี้กันเป็นส่วนใหญ่

เพราะผู้สมัครรู้ว่า ผู้เลือกตั้งโกรธ เขาจึงเสนอตนเองเป็นถังขยะไว้ระบายความโกรธ ไม่ใช่แต่คุณชูวิทย์คนเดียวนะครับ แต่รวมทั้งบุคคลและพรรคเกือบทั้งหมดที่สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งหมด แม้แต่พรรค (หรืออันที่จริงกลุ่มคน) ที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ยังอยากได้ "โหวตโน" จากความโกรธเลย

ป้าย "หาเสียง" (ที่ไม่ต้องการให้เป็นเสียง) ของเขา จึงใช้สำนวนไทยในการแสดงความโกรธสื่อความ นับตั้งแต่ "ตบ (กะ)โหลกนักการเมือง" ไปจนถึง "(ไอ้พวก) เสือสิงห์กะทิงแรด" และโดยเฉพาะ "(ไอ้) เหี้ย" ที่ผูกเน็กไท


เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่นักการเมืองทำความผิดหวังให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางซึ่งคาดหวังจาก "การเมือง"

ต่างจากผู้ที่เลือกนักการเมืองเหล่านั้นมา สั่งสมความโกรธนักการเมืองไว้โดยไม่รู้ตัว... หรืออันที่จริงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโกรธเรื่องอะไร บัดนี้ได้โอกาสตบกะโหลกนักการเมืองเหล่านั้นสักครั้ง จึงจะพากันไป "โหวตโน"

นี่ผมหมายเฉพาะคนทั่วไปที่ตั้งใจจะไป "โหวตโน" นะครับ ไม่ได้หมายถึงเหล่า "สาวก" ของ พธม. เพราะเหล่า "สาวก" นั้นสั่งอะไรก็ทำตามโดยไม่เคยถามอยู่แล้ว และเสียง "โหวตโน" นั้น หากจะมีเป็นชิ้นเป็นอันก็จะต้องมาจากคนทั่วไป ไม่ใช่จาก "สาวก" และนี่คือเหตุผลที่ต้องลงทุนติดป้าย "หาเสียง" ที่ไม่เป็นเสียงกันกว้างขวางขนาดนี้

ส่วนคุณชูวิทย์ก็ไม่ต่างกันนัก คุณชูวิทย์รู้ว่ามีคนจำนวนมากที่ทนการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไม่ไหวอีกต่อไป คนเหล่านี้โกรธจนมือสั่น และอยากให้มีคนมาแฉโพยหรือประณามนักการเมืองขี้ฉ้อให้ได้ยินกันชัดๆ และคนคนนั้นไม่มีใครเหมาะไปกว่าคุณชูวิทย์แน่นอน ก็คงพากันไปลงคะแนนเสียงให้คุณชูวิทย์ซึ่งโกรธยิ่งกว่า

แต่แฉโพยและประณามแล้ว นักการเมืองจะหยุดคอร์รัปชั่นไหม ไม่หรอกครับ ผู้ลงคะแนนให้คุณชูวิทย์ก็รู้ว่าไม่หรอก (ไม่อย่างนั้น ตำรวจก็เลิกเก็บส่วยจากโรงนวดไปนานแล้ว) แต่มันโกรธน่ะ โกรธจนไม่รู้จะทำยังไงต่อไป ฉะนั้นจึงต้องระบายความโกรธให้ได้ ก็คุณชูวิทย์นั่นไงครับ เป็นช่องระบายความโกรธได้ดีที่สุด



อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่สองรายนี้เท่านั้นนะครับที่จะเก็บคะแนนจากความโกรธ ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ต่างก็มุ่งหวังจะได้คะแนนจากความโกรธเหมือนกัน

พรรคเพื่อไทยเป็นที่ระบายความโกรธหลายอย่าง โดยไม่ต้องเปล่งเสียงออกมา คนที่รักคุณทักษิณ ชินวัตร และเชื่อว่าคุณทักษิณถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม - จากใครคนใดคนหนึ่ง หรือจากหลายๆ คนรวมกันก็ตาม - ย่อมต้องเลือกเพื่อไทย ซึ่งมีน้องสาวคุณทักษิณ เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง

เสื้อแดงนั้นโกรธแน่ เพราะถูกสังหารหมู่กลางเมืองเหมือนหมูเหมือนหมา ย่อมต้องการทำให้ประชาธิปัตย์หมดอำนาจ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเลือกพรรคเพื่อไทยไปให้ท่วมท้นสภา ทั้งๆ ที่อาจไม่ได้ศรัทธาพรรคเพื่อไทยหรือคุณทักษิณเลยก็ได้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมคนที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่ทนเห็นความรุนแรงที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำต่อประชาชนไม่ได้ และโกรธที่ต้องเห็น ก็พร้อมจะเลือกเพื่อไทย เพื่อสั่งสอนประชาธิปัตย์

เพื่อไทยรวบรวมคนโกรธนานาชนิดไว้มากเสียจนไม่ต้องใช้ความโกรธหาเสียง จึงสามารถพูดถึงนโยบายเลอะๆ เทอะๆ ได้โดยไม่อายปาก เพราะรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเสียคนจำนวนมากจะเข้าคูหาเพื่อระบายความโกรธ


ส่วนประชาธิปัตย์นั้น ในตอนแรกก็ไม่อยากเล่นกับความโกรธ เพราะความโกรธนั้นมีอันตราย สะท้อนกลับไปในทางตรงข้ามกับที่ปลุกปั่นก็ได้ ประชาธิปัตย์หวังจะเก็บคะแนนจากกลุ่มคนที่สำนักโพลต่างๆ บอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ จึงเล่นกับนโยบายลดแลกแจกแถมแบบที่ตัวได้ทำมา

แต่เสียงก็ไม่ตีตื้นขึ้นสักที ในที่สุดก็ต้องหันไปเล่นกับความโกรธบ้าง จึงเปลี่ยนการรณรงค์หาเสียงไปสู่เรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง"

แต่เรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" นั้น สร้างความโกรธที่ย้อนกลับมาหาประชาธิปัตย์เองก็ได้ จึงต้องร้องไห้ไงครับ ร้องเพื่อป้องกันไม่ให้ความโกรธย้อนกลับเข้าหาตัว

แม้กระนั้น ก็ยังเป็นเรื่องของความคาดหวังคะแนนเสียงจากความโกรธ และส่วนหนึ่งของคะแนนเสียงที่ประชาธิปัตย์จะได้ครั้งนี้ (อันอาจเป็นคะแนนเสียงที่ทำให้ประชาธิปัตย์ชนะหรือสูสีกับเพื่อไทยได้) ก็เป็นคะแนนเสียงแห่งความโกรธของเหล่าคนที่สำนักโพลบอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ

การแข่งขันทางการเมืองผ่านหีบบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการแข่งขันว่าใครจะโกรธมากกว่ากัน



ผมยอมรับครับว่า มีพรรคการเมืองที่ไม่ได้อาศัยความโกรธเป็นเครื่องมือเหมือนกัน ได้แก่พรรคเล็กๆ ทั้งหลายซึ่งกุมฐานเสียงในเขตเลือกตั้งต่างๆ อย่างรัดกุมมาก่อน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา, ภูมิใจไทย, มาตุภูมิ ฯลฯ พรรคเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์จะโกรธใครได้อยู่แล้ว

เพราะอยากร่วมรัฐบาลกับพรรคใดก็ได้ ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน

แต่การแข่งขันหลัก คือการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่สองพรรค ซึ่งต่างใช้ความโกรธของผู้เลือกตั้งเป็นฐานที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงทั้งคู่

การเมืองของไทยในช่วงนี้จึงเป็นการเมืองแห่งความโกรธ

การเมืองแห่งความโกรธ ไม่ใช่การเมืองที่เปิดให้เลือกระหว่างรัฏฐาภิบาล (governance) แบบไหน แต่ให้เลือกได้เพียงระหว่างรัฐบาล (government-administration) คณะไหนเท่านั้น ใครจะเข้ามาระบายความโกรธผ่านอำนาจรัฐได้

นักการเมืองและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใส่ใจที่จะบอกว่าเขาจะเป็นตัวแทน (stand for) ของอะไร เช่น ทุกพรรคต่างพร้อมจะสนับสนุนฝ่ายทุน จะต่างกันก็แต่เพียงวิธีการสนับสนุนต่างกันอย่างไร ในขณะที่กองทัพอยู่ "เหนือ" การเมือง (ตามคำประกาศของผู้นำทหารเอง) ไม่มีพรรคใดกล้าแอะถึงบทบาทอันเหมาะสมของกองทัพ ภายใต้การนำของตนเองเลย

ทำไมจึงต้องเสนอคำตอบแก่คำถามทางการเมือง ในเมื่อความโกรธอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงอย่างแน่นอนแล้ว



ขอให้สังเกตเถิดครับว่า เราอาจถามพรรคการเมืองที่หาเสียงอยู่เวลานี้ได้ทุกพรรคว่า "แล้วยังไง"

ถ้าผม "โหวตโน" ตามข้อเสนอของคุณ "แล้วยังไง" นักการเมืองถูกตบกะโหลกแล้ว เขาจะปรับตัวเองให้รับผิดชอบทางการเมืองมากขึ้นงั้นหรือ มันจะไม่ง่ายไปหน่อยหรือ ที่จริงแล้ว การ "โหวตโน" ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะบีบบังคับให้นักการเมืองและพรรคการเมืองปรับตัว

แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องมีมาตรการอื่นๆ ตามมาอีกมาก มิฉะนั้นการ "โหวตโน" ก็เป็นเพียงการระบายความโกรธเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่คุณชูวิทย์ซึ่งจะมีโอกาสระบายความโกรธในสภาและหน้าจอทีวี แล้วยังไงครับ ทุกอย่างจะดีขึ้นเองเมื่อทุกคนรับรู้ความโกรธของ ส.ส.ชูวิทย์กระนั้นหรือ

พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล แล้วยังไง รัฐบาลมีมาตรการอะไรที่จะป้องกันมิให้รัฐฆ่าหมู่ประชาชนได้อีก คนที่ได้ฆ่าหมู่ไปแล้ว จะยังลอยนวลต่อไป หรือจะถูกนำตัวมาสอบสวนและลงโทษ ไม่ใช่เพื่อแก้แค้นนะครับ แต่เพื่อเป็นหลักประกันว่า รัฐจะไม่ฆ่าหมู่ลูกหลานของเราอีกตลอดไป

พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล แล้วยังไงครับ สมมติว่าฝ่ายเสื้อแดงเป็นฝ่าย "เผาบ้านเผาเมือง" จริง เขาเผาเพราะอะไร และจะป้องกันมิให้เกิดเงื่อนไขอย่างนั้นอีกได้อย่างไร การประณามคนอื่นหรือความโกรธไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

ด้วยเหตุดังนั้น เรื่องจึงน่าเศร้าขึ้นไปอีก เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความพยายามของฝ่ายประชาชนที่พยายามจะจัดองค์กร เพื่อตั้งข้อเรียกร้องจากนักการเมือง - แทนที่จะรอรับข้อเสนอของนักการเมือง - มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเมืองของนโยบาย แต่เป็นการเมืองแห่งความโกรธ

นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงได้แต่เพียงเสนอเรื่องที่น่าโกรธ ด้วยความหวังว่าถ้าคุณโกรธเรื่องนี้ คุณก็น่าจะให้คะแนนผม แต่ถ้าคุณโกรธเรื่องโน้น คุณก็น่าจะให้คะแนนแก่พรรคคู่แข่ง


ผมควรกล่าวด้วยว่า การเมืองแห่งความโกรธไม่ใช่สิ่งผิดธรรมชาติ การเลือกตั้งที่ไหนๆ ก็มีความโกรธเจืออยู่บ้างทั้งสิ้น คนผิวดำในสหรัฐทุ่มคะแนนให้โอบามา ทั้งๆ ที่โอบามายังไม่ได้สัญญาอะไรในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนดำเผชิญอยู่ และว่าที่จริงเคยมีผู้สมัครประธานาธิบดีคนขาวที่เสนอมากกว่าโอบามาเสียอีก แต่เพราะโอบามาเป็นคนดำ จึงเหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ระบายความโกรธต่อความอยุติธรรมที่ได้รับมาตลอดหลายชั่วคน

แต่ความโกรธต้องให้ทางเลือกที่สร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่ได้ระบายเฉยๆ ผมเพิ่งได้รับคำบอกเล่าจากนักการทูตคนหนึ่งว่า ในประเทศของเขาพรรคกรีนได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวมากขึ้น จนได้ที่นั่งในวุฒิสภาเป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่เพียงเพราะคนหนุ่มสาวสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เพราะพรรคไหนๆ ในเวลานี้ก็ต้องผนวกเอานโยบายสิ่งแวดล้อมไว้เป็นนโยบายหลักของพรรคทั้งนั้น

แต่เพราะคนหนุ่มสาวรู้ว่านักการเมืองไม่ได้สนใจประเทศชาติจริง ใส่นโยบายไปตามแต่ทิศทางของคะแนนเสียง นักการเมืองไม่ได้เป็น "ตัวแทน" ของอะไรสักอย่างเดียว แต่อย่างน้อยพรรคกรีนยังเป็น "ตัวแทน "ของอะไรสักอย่างหนึ่ง

ไปเลือกพรรคกรีนด้วยความโกรธครับ แต่พรรคกรีนเป็นทางเลือก ไม่ใช่แหล่งระบายความโกรธเฉยๆ



.