http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-12

รู้จัก "เทพีเสรีภาพ"..ในมาเลเซีย และ ผู้นำหญิงบนเส้นทางการเมืองฯ โดย สุภัตรา ภูมิประภาส

.
รู้จัก "เทพีเสรีภาพ" ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุทางการเมืองในมาเลเซีย
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:05:00 น.
เรียบเรียงจากรายงานข่าว "Malaysia’s Lady Liberty" โดย เกร็ก โลเปซ เผยแพร่ที่เว็บบล็อก "นิว มันดาลา" (นวมณฑล)


"แอน อุ้ย" วัย 65 ปี นั่งรถบัสโดยสารจากเซตาปักมาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เพียงลำพัง เพื่อมาร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้มีความยุติธรรมและโปร่งใสกว่าที่เป็นอยู่

ระหว่างทาง เธอถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขอตรวจสอบบัตรประชาชน และตั้งคำถามว่าทำไมเธอจึงใส่ "เสื้อสีเหลือง" ถึง 4 ครั้ง

"ทำไมฉันจะใส่เสื้อเหลืองไม่ได้ ? " ป้าแอนให้คำตอบต่อคำถามเหล่านั้น


สตรีวัยล่วง 6 ทศวรรษผู้นี้ ไม่รู้ว่าการชุมนุมประท้วงจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ จะตั้งขบวนกันที่ไหน เธอไม่รู้จักผู้ชุมนุมรายอื่นๆ สิ่งเดียวที่ป้าแอนรู้ก็คือ การมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง (กัวลาลัมเปอร์) เพื่อแสดงจุดยืนที่ตรงกับความเชื่อของตนเอง

หญิงชราผู้นี้เคยทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งมาร่วม 35 ปี แต่สิ่งที่เธอหลงใหลอย่างแท้จริงกลับเป็นการร้องเพลงและเต้นรำ

และสิ่งที่มีค่าสูงสุดสำหรับชีวิตในปัจจุบันของป้าแอน ก็ได้แก่ "เสรีภาพ"


ป้าแอนเคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงในปฏิบัติการที่เรียกว่า "เบอร์ซิห์ 2007" เมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งนั้น เธอรู้สึกผิดหวังว่า ทำไมจึงไม่มีใครใส่เสื้อเหลืองมาร่วมประท้วง

การชุมนุมดังกล่าวถูกยุติลงโดยการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่ผู้ประท้วงจะมีโอกาสยาตราเข้ามาในกรุงกัวลาลัมเปอร์เสียด้วยซ้ำไป

สำหรับหญิงวัย 65 นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าเศร้าที่ตำรวจปฏิบัติกับประชาชนเช่นนั้น


กลับมาที่การชุมนุมคราวนี้ ป้าแอนกล่าวว่าเมื่อได้ร่วมเดินขบวนกับเหล่าผู้ประท้วงมากหน้าหลายตา เธอรู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณแห่งเอกภาพ

เธอไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมทุกคนจึงมารวมตัวกันเป็น "อันหนึ่งอันเดียว" เพื่อการนี้ "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว" ที่เธอไม่มีโอกาสพบเห็นแม้กระทั่งในโบสถ์!

ป้าแอนตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้กับกลุ่มผู้จัดการชุมนุมว่า "ทำไมเราจึงต้องรู้สึกถึงความหวาดกลัวและการถูกคุกคามในบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง ด้วยน้ำมือของเพื่อนร่วมชาติของเราเอง ? "



++

ผู้นำหญิงบนเส้นทางการเมือง: สีสัน, อำนาจ และคราบน้ำตา
โดย สุภัตรา ภูมิประภาส
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 23:15:00 น.


(หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 1-7 ก.ค. 2554 บทความชิ้นที่ตีพิมพ์ในมติชนออนไลน์ มีรายละเอียดเรื่องนางออง ซาน ซูจี เพิ่มเติมเข้ามา)

การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการเสนอชื่อผู้หญิงเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชวนให้เปรียบเทียบกับการเมืองในหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ที่มี หรือเคยมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารสูงสุดของประเทศ

เฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีผู้นำหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันในเวทีการเมืองยุคใหม่ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่ 4 คน คือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี (อินโดนีเซีย) นางกลอเรีย อาร์โรโย่ (ฟิลิปปินส์) นางคอราซอน อาคีโน (ฟิลิปปินส์) และนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า

ถัดออกไปอีกนิด ประเทศในเอเซียใต้ มี นางสิริมาโว บันดารานัยเก (Sirimavo Bandaranaike) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศศรีลังกาอยู่ถึงสามสมัย และบุตรสาวของเธอ คือนางจันทริกา กุมาราตุหงา (Chandrika Kumaratunga) เดินตามรอยบนถนนการเมืองจนได้เป็นประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา, ที่ประเทศอินเดีย มี นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย และนางประติภา เทวีสิงห์ ปาฏีล (President Pratibha Patil) ประธานาธิบดีอินเดียคนปัจจุบัน, ที่ประเทศบังคลาเทศ มี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงสองคน คือ นางคาลิดา เซีย (Khaleda Zia) และนางชีค ฮาซินา วาเจ็ด (Sheikh Hasina Wajed) และที่ปากีสถาน มี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง คือ นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto)


น่าสนใจที่ปฐมบทแห่งการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองของผู้นำหญิงเหล่านี้มีที่มาแทบไม่แตกต่างกัน แม้ว่าพวกเธอส่วนใหญ่มาจากครอบครัวของอดีตนักการเมืองคนสำคัญของประเทศ แต่แทบไม่มีใครสักคนที่เตรียมชีวิตมาสู่เส้นทางสายเดียวกันนี้ หากล้วนแล้วแต่เป็นอุบัติเหตุทางการเมือง และเคราะห์กรรมของชายอันเป็นที่รักที่นำพาพวกเธอเข้ามาต่อสู้โรมรันอยู่บนถนนการเมือง

ผู้นำหญิงเหล่านี้ นำสีสัน ความเปลี่ยนแปลง และความหวังมาสู่การเมืองในประเทศของเธอ หลายคนก้าวลงจากเวทีการเมืองอย่างสง่างาม ขณะที่บางคนก้าวลงจากตำแหน่งไปพร้อมกับเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ของประชาชน

ต่อไปนี้คือเรื่องราว ภูมิหลังฉบับย่อของผู้นำหญิงบางคนบนถนนสายการเมืองที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองในภูมิภาคและประวัติศาสตร์การเมืองโลก



นางสิริมาโว บันดารานัยเก : นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก
"หญิงม่ายเจ้าน้ำตา"

ภริยาม่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีโซโลมอน บันดารานัยเก ( Solomon Bandaranaike) แห่งซีลอนที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ.2502

เธอมาจากตระกูลขุนนางที่มั่งคั่งและเป็นเจ้าที่ดินจำนวนมากของประเทศซีลอน ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนคอนแวนต์ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศ สิริมาโวเริ่มมีชีวิตเกี่ยวข้องบนถนนการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เมื่อแต่งงานกับนายโซโลมอน นักกฎหมายหนุ่มผู้ก่อตั้งพรรค Sri Lankan Freedom Party เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2499

ภายหลังที่สามีถูกลอบสังหาร นางสิริมาโว ภริยาม่ายวัย 44 ปี หลั่งน้ำตาประกาศตัวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสามีในการขับเคลื่อนนโยบายสังคมนิยม เธอขึ้นสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากสามี บ่อยครั้งที่เธอหลั่งน้ำตาหาเสียงจนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งฉายาให้เธอว่า "หญิงม่ายเจ้าน้ำตา" เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2503 ชื่อของนางสิริมาโวถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองโลกในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก

แต่เพียงไม่ถึงปีหลังชนะการเลือกตั้งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ นางสิริมาโวประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการประท้วงของชนชาติกลุ่มน้อยชาวทมิฬที่ใช้อารยะขัดขืนต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ประกาศให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการแทนภาษาสิงหล

ปี พ.ศ. 2507 นายกรัฐมนตรีสิริมาโวพ่ายแพ้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และในการเลือกตั้งหลังจากนั้น


แต่ในการเลือกตั้งสมัยต่อมา ปี พ.ศ. 2513 นางสิริมาโวสามารถกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรกับเธอและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น

ปี พ.ศ. 2515 นายกรัฐมนตรีสิริมาโวประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศซีลอนเป็นสาธารณรัฐศรีลังกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านางสิริมาโวจะได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ แต่ในประเทศนั้นความนิยมในตัวของเธอเริ่มลดลงเพราะปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงักรวมทั้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น


ปี พ.ศ. 2523 เธอถูกรัฐสภาขับจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยฉ้อฉล และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้รับตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาเจ็ดปี

นางสิริมาโวกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2537 เมื่อบุตรสาวของเธอ คือ นางจันทริกา กุมาราตุหงา ชนะเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ประธานาธิบดีจันทริกาลงนามแต่งตั้งมารดาเป็นนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาเป็นสมัยที่สาม

นางสิริมาโวตัดสินใจละจากเวทีการเมืองในเดือนสิงหาคม 2543 เมื่ออายุได้ 84 ปี ปิดตำนานสี่ทศวรรษบนเส้นทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก

นั่นคือสีสันของการเมืองศรีลังกาภายใต้ยุคของผู้นำหญิงจากตระกูลบันดารานัยเกที่สืบทอดครอบครองการเมืองของประเทศมาเกือบครึ่งศตวรรษ



นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี : ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย
"ลูกไม้ที่หล่นไกลต้น"

นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี วัย 54 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศอินโดนีเซียในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุไปด้วยปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มศาสนา การทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

นางเมกาวาตี ธิดาของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน วีรบุรุษในดวงใจของชาวอินโดนีเซีย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 ในขณะที่บิดาอยู่ในอำนาจแล้ว เธอจึงถูกเลี้ยงดูในสังคมหรูหราเช่นเดียวกับบุตรธิดาของครอบครัวผู้นำประเทศทั่วๆไป แต่เธอไม่ได้สนใจการเมืองเลย เมกาวาตีรักธรรมชาติ ชอบการทำสวน เธอจึงเลือกเรียนคณะเกษตรศาสตร์ แต่ต้องออกกลางคันเมื่อบิดาถูกยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2510 เมกาวาตีกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัยอีกครั้งหลังจากบิดาถึงแก่อสัญกรรมในอีกสองปีต่อมา ครั้งนี้เธอเลือกเรียนสาขาจิตวิทยา แต่ก็ลาออกกลางคันอีก

ด้านชีวิตครอบครัว สามีคนแรกของเธอประสบอุบัติเหตุเครื่อบินตกเสียชีวิต เธอแต่งงานครั้งที่สองกับนักการทูตชาวอียิปต์ แต่การแต่งงานครั้งนี้ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ เมกาวาตีแต่งงานครั้งที่สามในปี พ.ศ.2516 มีบุตรธิดารวม 3 คน

นางเมกาวาตีก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในปี พ.ศ.2530 ด้วยแรงผลักดันจากกลุ่มการเมืองต่างๆที่ต้องการให้เธอเข้ามาเป็นสัญญลักษณ์ในการต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในฐานะของบุตรสาวของวีรบุรุษแห่งชาติ เมกาวาตีกลายเป็นศูนย์รวมความหวังของชาวอินโดนีเซีย


ประธานาธิบดีซูฮาร์โตพยายามที่จะกำจัดเธอให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDIP) แต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของบิดาคือกำแพงอันแข็งแกร่งที่คุ้มกันเธอไว้ และเมื่อพรรค PDIP ของเธอถูกผู้สนับสนุนประธานาธิบดีซูฮาร์โตลอบโจมตีจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ นางเมกาวาตียิ่งได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวอินโดนีเซีย

พรรคของนางเมกาวาตีชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2542 แต่เธอกลับต้องเผชิญกับขวากหนามบนเส้นทางการเมืองเรื่องเพศสภาพ เมื่อสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนโหวตให้ อับดุลรามาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) ผู้นำศาสนาและเป็นหัวหน้าพรรค National Awakening Party (PKB) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับรอง เป็นประธานาธิบดี โดยผู้ชนะเลือกตั้งอย่างนางเมกาวาตี ต้องไปรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน จนกระทั่งนายวาฮิดถูกปลดจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ การไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และข้อกล่าวหาคอรัปชั่น นางเมกาวาตีในฐานะรองประธานาธิบดีจึงได้ขึ้นแทนที่ตำแน่งประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม บทบาททางการเมืองของนางเมกาวาตีในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นอกจากเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว บทบาทด้านอื่นๆของเธอทั้งเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการทุจริตคอรัปชั่น และการจัดการกับความขัดแย้งทางศาสนา ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับประชาชนตามที่คาดหวังไว้


จากก้าวแรกบนเส้นทางการเมืองที่ประชาชนอ้าแขนโอบอุ้มพร้อมกับความคาดหวัง นางเมกาวาตีก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปพร้อมกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอเป็น "ลูกไม้ที่หล่นไกลต้น" ของประธานาธิบดีซูการ์โน วีรบุรุษแห่งชาติของอินโดนีเซีย

ปี 2547 นางเมกาวาตีลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเป็นวาระที่สอง แต่พ่ายแพ้ให้กับนายซูซิโล บัมบัง ยุทธโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย



นางคอราซอน อาคีโน : ประธานาธิบดีหญิงคนแรกแห่งประเทศฟิลิปินส์
"แม่บ้านธรรมดา"

นางมาเรีย คอราซอน อาคีโน วัย 53 ปี สาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 11 แห่งประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529

ผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า "แม่บ้านธรรมดา" ตัดสินใจเดินสู่เส้นทางการเมืองด้วยเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่สนับสนุนสามีของเธอ คือ วุฒิสมาชิกเบนิโญ อาคีโน (Benigno Aquino, Jr.) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส เขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526

คอราซอน อาคีโน หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกกันสั้นๆว่า "คอรี่" ไม่ได้มีภูมิหลังทางครอบครัวดั้งเดิมในฐานะที่เป็นทายาทของอดีตผู้นำทางการเมือง แต่เธอเกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี ได้รับการศึกษาจาก Saint Scholastica?s College ในกรุงมะนิลา เธอชอบเรียนคณิตศาสตร์และทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมในวิชานี้ บิดาของเธอส่งเธอไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาในช่วงที่ประเทศฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับภาวะยุ่งยากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


ชีวิตของคอรี่ถูกนำเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมืองเมื่อเธอพบรักและแต่งงานกับ Benigno Aquino, Jr. หรือที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมเรียกสั้นๆว่า "นีนอย" (Ninoy) ผู้เป็นนักการเมืองดาวเด่นแห่งฟิลิปินส์ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม นอกจากทำหน้าที่รับรองแขกตามความจำเป็นในฐานะภรรยานักการเมืองแล้ว คอรี่ไม่เคยกระตือรือร้นหรือสนใจที่จะช่วยสามีทำงานทางการเมืองเลย เธอเลือกที่จะทำหน้าที่แม่บ้านดูแลสามี และเลี้ยงดูบุตรธิดา เมื่อนีนอยต้องเผชิญเคราะห์กรรมทางการเมือง ถูกจับกุมคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกของประธานาธิบดีมาร์กอส คอรี่ก็ยังเลือกที่ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย และเก็บตัวอยู่อย่างเงียบๆอยู่กับลูกๆของเธอ

ปี 2523 จากการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ทำให้ประธานาธิบดีมาร์กอสต้องยอมปล่อยตัววุฒิสมาชิกนีนอย และยอมให้ครอบครัวอาคีโนเดินทางออกนอกประเทศ คอรีและครอบครัวไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่บอสตัน ซึ่งคอรี่บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุขมากที่สุด

เดือนสิงหาคม 2526 นีนอยตัดสินใจเดินทางกลับฟิลิปปินส์โดยลำพัง เขาถูกลอบสังหารขณะลงจากเครื่องบินที่สนามบินกรุงมะนิลา

คอรี่เดินทางกลับมาจัดพิธีศพสามีซึ่งมีประชาชนฟิลิปปินส์มาร่วมไว้อาลัยกว่าสองล้านคน หลังพิธีศพของสามี ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้นางคอราซอน อาคีโน เข้าสู่การเมือง


ชัยชนะอย่างถล่มทลายของคอราซอน อาคีโน มาพร้อมกับจุดจบทางการเมืองของประธานาธิบดีมาร์กอส และการสิ้นสุดของกฎอัยการศึกที่มีการประกาศใช้ในประเทศมานานถึงสองทศวรรษ

คอราซอน อาคีโน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 และอยู่ในวาระจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้นำหญิง 100 คนที่ถูกอ้างถึงในหนังสือ "100 Women Who Shaped World History" เขียนโดย Gail Meyer Rolka และยังได้รับเลือกโดยนิตยสารไทม์ ให้เป็นหนึ่งใน 20 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเซีย ศตวรรษที่ 20



นางเบนาซีร์ บุตโต: นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถาน
"นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุด"

นางเบนาซีร์ บุตโต สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งปากีสถานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ขณะที่มีอายุเพียง 35 ปี

เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นบุตรสาวของ Mr. Zulfikar Ali Bhutto อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งปากีสถาน และหัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party -PPP)

เบนาซีร์ บุตโตเติบโตมาในสังคมชนชั้นสูงของประเทศ ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนคอนแวนต์ในเมืองหลวงการาจี และถูกส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯตั้งแต่อายุ 16 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Radcliffe College, Harvard University จากนั้นได้ย้ายไปศึกษาต่อในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่ Lady Margaret Hall, Oxford


ปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลภายใต้การบริหารของบิดาถูกรัฐประหารยึดอำนาจ และต่อมาบิดาของเธอถูกผู้นำคณะรัฐประหารสั่งสังหารด้วยการแขวนคอในปี พ.ศ. 2522 เบนาซีร์ บุตโต และมารดาถูกจับกุมคุมขังซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมเวลาทั้งหมดที่ถูกจองจำรวมทั้งถูกกักบริเวณนานถึง 7 ปี หลังถูกปล่อยตัว เธอต้องไปใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และถูกขอร้องให้รับตำแหน่งผู้นำพรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) ต่อจากมารดาของเธอ

ท่ามกลางกระแสกดดันของประชาคมนานาชาติ ทำให้ในที่สุด รัฐบาลคณะรัฐประหารแห่งปากีสถานจำต้องประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในประเทศ เบนาซีร์ บุตโต ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน ซึ่งลี้ภัยอยู่ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงตำแหน่งเดียวกับที่บิดาของเธอเคยชนะการเลือกตั้ง และพรรคประชาชนปากีสถาน ชนะการเลือกตั้ง แม้ไม่ได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพอจะตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยวได้ แต่ก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม

แต่ชีวิตบนเส้นทางการเมืองของเบนาซีร์ บุตโต ไม่ได้หมดจดงดงาม เธอถูกกล่าวหาว่าทุจริต คอรัปชั่น จนเป็นเหตุให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่งในปี 2533 ซึ่งเธอได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เบนาซีร์ บุตโตได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ในระหว่างปี 2536-2539 รัฐบาลของเธอถูกโค่นล้มอีกเป็นครั้งที่สอง และเธอต้องหนีไปใช้ชีวิตลี้ภัยในเมืองดูไบและกรุงลอนดอน


ระหว่างปี 2542-2551 รัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ได้ฟ้องร้องเธอด้วยข้อหาทุจริต คอรัปชั่น หลายคดี แต่ไม่เคยมีการพิจารณาคดีเกิดขึ้น จนกระทั่งมีการถอนฟ้องในปี 2551 เมื่อพรรคประชาชนปากีสถานขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง

เบนาซีร์ บุตโตใช้ชีวิตลี้ภัยในเมืองดูไบ และกรุงลอนดอน อยู่นานถึงแปดปี ก่อนที่ตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดในวันที่ 18 ตุลาคม 2007 เพื่อร่วมรณงค์หาเสียงเลือกตั้งกับพรรคประชาชนปากีสถาน

เธอถูกลอบสังหารเมือวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ( 2007 )




นางออง ซาน ซูจี: ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแห่งพม่า
"สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย"

ปีเดียวกับที่เบนาซีร์ บุตโต สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งปากีสถาน นางออง ซาน ซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่พม่าเพื่อมาพยาบาลมารดาที่กำลังป่วยหนัก

ออง ซาน ซูจี เป็นบุตรสาวของนายพล ออง ซาน ผู้นำที่ต่อสู้เพื่อเอกราชและเอกภาพแห่งสหภาพพม่า ซูจีจึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาในแบบฉบับของชนชั้นสูงของประเทศเช่นเดียวกับ เบนาซีร์ บุตโต

ภายหลังที่บิดาถูกลอบสังหาร มารดาของซูจีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ซูจีถูกส่งเข้ารับการศึกษาที่ Lady Shri Ram College ในกรุงนิวเดลลี ก่อนที่จะถูกส่งไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ St. Hugh’s College, Oxford University

หลังจบการศึกษา เธอสมัครเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติในกรุงนิวยอร์ค หลังแต่งงาน เธอติดตามสามีไปทำงานที่ภูฐาน และย้ายกลับมาพำนักที่ลอนดอนเมื่อสามีได้งานสอนที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด


ก่อนที่ซูจีจะเดินทางกลับพม่าเพื่อมาพยาบาลมารดานั้น เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า ที่ London School of Oriental and African Studies

ในการให้สัมภาษณ์นิตยาสาร Varity Fair ฉบับเดือนตุลาคม 2538 ซูจีสารภาพว่า "ตอนที่ดิฉันเดินทางกลับมาพม่าเมื่อ พ.ศ.2531 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ดิฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่มทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อด้วย เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของดิฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ (นายพล ออง ซาน) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉันต้องเข้าร่วมด้วย"


ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารปล้นชัยชนะไปต่อหน้าสายตาประชาคมโลก ทั้งยังกลั่นแกล้ง จำกัดอิสรภาพ และกีดกันเธอเข้าสู่เส้นทางการเมืองมาโดยตลอด หากยิ่งถูกกลั่นแกลง เธอก็ยิ่งกลายเป็นศูนย์รวมความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประชาชนชาวพม่า

ถึงวันนี้ ออง ซาน ซูจี มิได้เป็นเพียงสัญญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า แต่นามของเธอถูกกล่าวถึงในฐานะสัญญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่โดดเด่นในภูมิภาคนี้



.