http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-23

"นิ่ง", อะไรๆ ก็เสื้อแดง, วิญญาณฝ่ายค้าน โดย ปราปต์, สุริวงค์, เหล็กใน

.

" นิ่ง "
โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


การเมืองไทยปลอดโปร่งไปอีกเปลาะหนึ่ง

ภายหลัง กกต. มีมติรับรอง ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 12 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยใน 12 คนนั้น ก็มีรายชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย

หลังจากนี้ คงต้องจับตามองต่อไปว่า กกต.จะรับรอง ส.ส.ได้ถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คน

เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร/รัฐสภา และเลือกนายกรัฐมนตรี ได้เมื่อไร?

และ 12 แกนนำ นปช. หรือนักการเมืองระดับนำรายอื่นๆ จะได้รับการรับรองให้เป็น ส.ส. ด้วยหรือไม่? ถ้าไม่ จะส่งผลอย่างไรต่อสภาพการเมืองไทยโดยรวม?

แต่อย่างน้อย ดูเหมือนการเมืองไทยกำลังมีเค้าลางว่าจะดำเนินไปอย่างเข้าที่เข้าทางตามระบบระบอบมากยิ่งขึ้น

ส่งผลให้ผู้คนในสังคมมีอาการวิตกกังวลน้อยลง เกี่ยวกับ "อำนาจนอกระบบ" หรือ "มือที่มองไม่เห็น"

ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางกระบวนการประกาศรับรอง ส.ส. ที่ยังไม่เสร็จสิ้น

ผสานกับบรรยากาศฝุ่นตลบของการกะเก็งรายชื่อ ครม. ชุดใหม่, การตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติของว่าที่รัฐบาล และการลุ้นว่าจะเกิด "อุบัติเหตุทางการเมือง" ขึ้นอีกหรือไม่

มีหลายคนเป็นห่วงเรื่อง "ความไม่นิ่ง" ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งบางฝ่ายเห็นว่า ดีไม่ดีอาจเป็นแรงกระหน่ำซ้ำเติมให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องผจญปัญหาหนักหนาสาหัสมากขึ้น

ทว่า หากมองในทางกลับกัน พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นนักการเมืองธรรมดาทั่วๆ ไปคนหนึ่ง

ซึ่งไม่เคยมีอาการ "นิ่ง" มาแต่ไหนแต่ไร แต่มักหลุดอาการต่างๆ นานา หรือคิดอะไรก็เผลอพูดออกมา แบบไม่ค่อยอ้อมค้อมอยู่เสมอ

เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่อาจสลัดพ้น "เงาทักษิณ" อดีตนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเหมือน "ค่าเสื่อมราคา" ของรัฐบาลชุดใหม่โดยปริยาย

ไม่ใช่ปัจจัยเร่งให้รัฐบาลเพื่อไทยพังเร็วขึ้นแต่อย่างใด

กลุ่มคนที่เล่นการเมืองแบบ "นิ่งๆ " "เงียบเชียบ " และ "ไม่เปิดหน้า " ต่างหาก ที่เป็นปัจจัยคุกคามอันน่ากลัวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ มากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ


อย่างไรก็ตาม สัญญาณจาก กกต.อาจแสดงให้เห็นว่า การเมืองไทยน่าจะเดินหน้าไปสู่ความมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้นบ้าง

และคงถึงเวลาที่กลุ่มการเมืองซึ่งมักเล่นการเมืองแบบ "นิ่งๆ" ควรจะกลับเข้าที่ทางอย่าง "สงบนิ่ง" จริงๆ เสียที

เพื่อหลีกทางให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน มีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล

เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินชะตากรรมของรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่ของพวกเขาเลือกเข้ามาด้วยตัวเอง



++

อะไรๆ ก็เสื้อแดง
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:15:00 น.


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ให้สัมภาษณ์เมื่อหลายวันก่อนว่า เตรียมจะลดบทบาทตัวเองจากเสื้อแดงเพื่อหันกลับไปทำงานด้านเอ็นจีโอดังเดิม

ใครไม่รู้จักตัวตนของ บ.ก.ลายจุดอาจงุนงง สงสัยว่าขัดแย้งแตกแยกอะไรกันหรือ

แต่คนที่รู้จักความเป็นมาของ บ.ก.ลายจุดดี จะเข้าใจได้ไม่ยาก

เพราะแก่นแท้ไม่ใช่ นปช. ไม่ใช่แกนนำเสื้อแดงขนานแท้และดั้งเดิม แบบ วีระ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ อะไรเหล่านั้น

บ.ก.ลายจุดโดดเข้ามาร่วมกับเสื้อแดง ด้วยการตั้งกลุ่มเฉพาะกิจ

เป็นกลุ่มที่ก่อเกิดขึ้นในจังหวะสถานการณ์ที่แกนนำเสื้อแดงตัวจริงอยู่ในคุกหรือลี้ภัย

เข้ามาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวให้กับชาวเสื้อแดงเป็นการชั่วคราว

ความที่พื้นฐานคือเอ็นจีโอด้านศิลปการละคร เลยเกิดการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ขึ้นที่แยกราชประสงค์ และตามจุดต่างๆ ที่มีคนตาย มีคนถูกฆ่า

การประท้วง ทวงถามความเป็นธรรมให้กับ 91 ศพ โดยไม่ต้องถือไมค์ไฮด์ปาร์ก แต่ใช้รูปแบบศิลปะ ผูกผ้าแดง แพลงกิ้งนอนตาย

จึงพอดิบพอดีกับช่วงที่ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจ ศอฉ.ยังครองเมือง

อำนาจรัฐซึ่งกำลังหน้ามืดตามัวเพิ่งผ่านการละเลงเลือดมาหมาดๆ จึงได้แต่มองอย่างสับสน คิดตามไม่ทัน และไม่รู้จะหยุดยั้งได้อย่างไร

ชาวเสื้อแดงที่ไม่ถูกฆ่าตาย ไม่ถูกจับกุม จึงมีทางออก มีพื้นที่ได้ระบายในทุกๆ สัปดาห์


จนเมื่อการต่อสู้ของคนเสื้อแดงดำเนินไปอย่างสงบสันติ จนได้รับชัยชนะในขั้นแรกผ่านการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมแล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจที่ บ.ก.ลายจุดจะเตรียมตัวถอยกลับไปสู่ชีวิตเอ็นจีโอ เพราะคงจบภารกิจชั่วคราวนั้นแล้ว

ทั้งยังเป็นคำอธิบายว่า การโดดเข้ามาร่วมกับคนเสื้อแดงนั้น มาจากการทนเห็นรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้

ไม่ต่างจากผู้รักความเป็นธรรมหลายๆ คน ที่เข้ามาร่วมกับเสื้อแดงหลังเหตุการณ์ 91 ศพ เพราะรับไม่ได้กับคนที่สั่งทหารเข้ามาจัดการม็อบ

อย่างเช่น นที สรวารี "ไอ แอม คัมอะโลน"

แม้แต่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการที่ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐผิดๆ มาตั้งแต่ยุคทักษิณ เมื่ออภิสิทธิ์ก็ใช้อำนาจไม่แพ้ทักษิณเลย อาจารย์สุธาชัยก็ต้องลงสนาม

ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่ต้องเข้ามา เพราะเห็นคุณค่าชีวิตคนตาย มากกว่าเสียดายตึกถูกเผา

เสื้อแดงเลยเป็นขบวนใหญ่โตขึ้นมา ด้วยฝีมือของรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ซึ่งไร้ความชาญฉลาดนั่นเอง


ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีอำนาจก็ตั้งเป้าเป็นศัตรูกับเสื้อแดง เลยตีกันมาตลอด จนสุดท้ายมีคนตายหมู่กลางเมือง

แม้แต่สื่อมวลชนที่กล้านำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 91 ศพ ก็ถูกรัฐบาลจัดเป็นพวกเสื้อแดง

กวาดต้อนคนทุกฝ่ายไปยืนอยู่ตรงข้ามกับตัวเอง

กว่า 15 ล้านเสียง เมื่อ 3 กรกฎาคมนั้น ไม่ใช่เสื้อแดงทั้งหมดหรอก

แต่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับกลุ่มอำนาจโง่ๆ



++

วิญญาณฝ่ายค้าน
โดย เหล็กใน คอลัมน์ มันฯ มือเสือ
ในข่าวสดรายวัน หน้า 6 วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7541


ในแวดวงการเมืองไทยมีเรื่องเล่าขานว่า

มีพรรคการเมืองหนึ่งเหมาะสมเป็นฝ่ายค้านมากที่สุด เรียกว่าถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์

ไม่ต้องไปเปิดประวัติสืบค้นใดๆ

แค่ดูอย่างตอนนี้ที่การเลือกตั้งเพิ่งจบไปหมาดๆ กกต.ยังรับรองส.ส.ไม่ครบตามเกณฑ์ที่จะเปิดสภาได้ด้วยซ้ำ ใบเหลือง-ใบแดงก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ

นายกรัฐมนตรีคนใหม่มีแต่ 'ว่าที่'

ส่วนใครเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ก็เป็นแค่ ข่าวกะเก็งกันทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็เปลี่ยนไปมาทุกวัน

นโยบายต่างๆ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

การขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท การเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การแจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน ฯลฯ

ทั้งหมดเป็นเพียงหัวข้อหยาบๆ ที่ยังขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติ

แต่ปรากฏท่ามกลางความไม่ชัดเจนแน่นอนเหล่านี้

'วิญญาณฝ่ายค้าน'ได้เข้าสิงร่างสมาชิกประชาธิปัตย์อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเคาะสนิม


อย่างการจัดตั้งครม.'ยิ่งลักษณ์ 1' ที่พรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าการที่ใครจะได้ตำแหน่งใดนั้น ต้องรอฟังบัญชาจาก'มือที่อยู่ต่างประเทศ'

เหมือนแกล้งลืมไปว่าช่วงการเมืองพลิกขั้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร โดยมี 'พลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 'ยุ่มย่ามชักใยอยู่เบื้องหลัง


กรณีค่าแรง 300 บาท ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ในประชาธิปัตย์ก็ออกมาเร่งความชัดเจน ด้วยเชื่อว่านโยบายนี้จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน และทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

ซึ่งเป็นการพูดโดยไม่ยั้งคิดว่าต่อให้ไม่ปรับขึ้นค่าแรง ราคาสินค้าก็ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ดี และความจริงก็คือราคาสินค้าได้ปรับสูงขึ้นมานานแล้ว

แล้วก็เป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่อยู่มา 2 ปีกว่า แต่สุดปัญญาจะแก้ไข ดูได้จากกรณี 'สวาปาล์ม ' และการ'ชั่งไข่ขาย ' เป็นต้น

พรรคประชาธิปัตย์นั้นมีชื่อเสียงลือลั่นว่าเป็นพรรคชอบพูด พูดเก่ง พูดเป็นต่อยหอย

แต่ปัญหาคือเวลาข้ามฝั่งจากฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล หรือจากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน มักพูดไม่เหมือนกันในเรื่องเดียวกันแต่คนละเวลา

หลายครั้งสิ่งที่ 'พ่น 'ไว้ในอดีต

จึงกลายเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองในเวลาต่อมา


.