.
เปลี่ยนประเทศไทย! โลกเปลี่ยน ไทยต้องเปลี่ยน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1613 หน้า 36
"ที่ใดไม่มีวิสัยทัศน์ ที่นั้นประชาชนตาย "
สุภาษิตตะวันตก
หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมายุติลงด้วยการปิดหีบบัตรเลือกตั้งในเวลา 15:00 น. ของวันดังกล่าว ได้มีการนำเอาผลของการทำแบบสอบถามในวันเลือกตั้ง (หรือที่รู้จักกันว่า "เอ็กซิตโพล") ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ
ผลดังกล่าวสร้างความตกตะลึงอย่างมากกับบรรดาชนชั้นนำและปีกอนุรักษนิยมเป็นอย่างยิ่ง เพราะพรรคเพื่อไทยซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" หรือแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไปโดยปริยาย ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นถล่มทลาย หรือ "ชนะแบบแลนด์สไลด์"
วันนี้ผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวเลขปรากฏออกมาแล้ว ประเด็นอาจจะไม่ใช่โพลดังกล่าว ทำไมจึงเกิดความผิดพลาดอย่างมาก (คณะผู้จัดทำกำหนดความผิดพลาดไว้เพียงร้อยละ 3)
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ โพลสอบถามในวันเลือกตั้งได้สะท้อนให้เห็นอย่างมากว่า ถ้าผลเป็นไปตามนั้นจริงแล้ว บรรดาชนชั้นนำและการเมืองปีกอนุรักษนิยมของไทยจะทำอย่างไร
แน่นอนว่า ตัวเลขของโพลนี้สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชนชั้นนำและมวลชนอนุรักษนิยมของพวกเขาอย่างมาก
เพราะเท่ากับว่าในระยะหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการใช้อำนาจของกองทัพในการแทรกแซงการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเพื่อเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ตลอดรวมถึงการใช้มาตรการทุกรูปแบบเข้าจัดการกับการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง จนถึงขั้นมีการใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าปราบปราม และจับกุมคุมขังแกนนำของการชุมนุม รวมถึงการใช้วิธีการต่างๆ ดำเนินการกับพรรคเพื่อไทย โดยเชื่อว่าการกระทำดังกล่าว จะทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. หมดขีดความสามารถทางการเมืองลง ไม่ว่าจะเป็นการหมดศักยภาพในการเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมือง ขาดการสนับสนุนจากมวลชน และค่อยๆ หมดบทบาทและพ่ายแพ้ทางการเมืองไปเอง
ผลกลับเป็นตรงกันข้าม การดำเนินการของชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมกลับกลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ " ให้แก่การเติบโตของกลุ่ม นปช. และกลายเป็นการขยายฐานเสียงให้แก่พรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย
จนอดคิดถึงคำเตือนถึงการปราบปรามในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ไม่ได้ วลี "ยิ่งตี ยิ่งโต" ดูจะใช้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี
ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ทิศทางการปราบปรามของปีกอนุรักษนิยมในกองทัพไทยถูกท้าทายอย่างมาก เพราะความเชื่อแต่เดิมว่า หากกองทัพทุ่มเทการปราบปรามอย่างเต็มที่หลังจากเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกในเดือนสิงหาคม 2507 แล้ว กองทัพอาจจะใช้เวลาเพียง 6 เดือนก็จะสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้
แต่กองทัพสามารถเอาชนะ พคท. ได้จริงในช่วงประมาณปี 2525-2526 และที่รัฐไทยชนะได้ ก็ไม่ใช่เพราะความสำเร็จของการใช้กำลังเข้าปราบปรามจนกองกำลังของ พคท. ถูกบดขยี้และแตกพ่ายไป
ตรงกันข้าม ถ้าเรายอมรับความจริงจะพบว่า รัฐไทยชนะ พคท. เพราะไม่ปราบ !
ถ้ารัฐไทยดำเนินการสงครามด้วยการทุ่มกำลังปราบปรามอย่างหนักเหมือนเช่นที่สหรัฐอเมริการบในเวียดนามใต้แล้ว สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็อาจจะปิดฉากลงด้วยบทจบเช่นในเวียดนาม
หากเพราะบรรดาชนชั้นนำและผู้นำทหารในยุคนั้น ยอมรับข้อสรุปทางยุทธศาสตร์ที่ว่า ชัยชนะในสงคราม พคท. ต้องเป็นชัยชนะทางการเมือง และไม่อาจเอาชนะได้ด้วยแนวคิดของสงครามตามแบบด้วยการทุ่มกำลังขนาดใหญ่เข้าปราบปราม
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขายอมรับในข้อสรุปของแนวทางการปฏิบัติว่า "ยิ่งตี ยิ่งโต"
เมื่อยอมรับว่าแนวทางการปฏิบัติเก่าผิดพลาด พวกเขาจึงสามารถสร้างแนวคิดใหม่ แต่ก็จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของชนชั้นนำและผู้นำทหารในหลายๆ ส่วนนั้นใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะการปรับตัวอย่างเป็นจริงเริ่มขึ้นในปี 2523 ภายใต้ทิศทางใหม่ที่ถูกสะท้อนผ่านแนวคิดของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523
แต่เมื่อปรับวิธีคิดหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อกระบวนการปรับตัวทางยุทธศาสตร์เริ่มขึ้นในปี 2523 เพียงต่อมาอีกไม่กี่ปี และประกอบกับปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค รัฐไทยก็สามารถเอาชนะสงคราม พคท. ได้ในปี 2525-2526
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เทียบไม่ได้เลยกับระยะเวลาและชีวิตที่สูญเสียไปกับการปราบปรามก่อนหน้านั้น
สถานการณ์วันนี้ดูจะไม่แตกต่างกัน ชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยมที่ยึดกุมอำนาจรัฐไทย ต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเสมือนการทำสงครามในยุคต่อสู้กับ พคท.
พวกเขาใช้ปฏิบัติการต่างๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นชัยชนะในระยะยาว แน่นอนว่าพวกเขาชนะในระยะสั้น เพราะอยู่ในฐานะที่กุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อของรัฐในการโจมตีใส่ร้ายป้ายสีในหลายรูปแบบ
และที่สำคัญก็คือ การสร้างภาพของศัตรูผ่านวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังด้วยการผูกโยงกับสถาบันสำคัญของชาติ
ผลที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจากยุคสงคราม พคท. ก็คือ ชนชั้นกลางและคนในเมืองจะถูกสร้างให้เกิดทั้งความกลัวและความเกลียดคอมมิวนิสต์ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ จนพวกเขาคิดอย่างเดียวในสถานการณ์อินโดจีนแตกในปี 2518 ก็คือ ถ้าประเทศไทยแตก พวกเขาจะเป็น "มนุษย์เรือ" เหมือนกับคนในประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
แต่ถ้าจะไม่ให้เป็นเช่นนั้นก็จะต้องสนับสนุนการ "ล้อมปราบ" ขบวนการนิสิตนักศึกษาและผู้สนับสนุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกันนั้น พวกเขาเชื่อว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็คือ "ระบอบอำนาจนิยม"
แต่เมื่อเกิดระบอบอำนาจนิยมของชนชั้นนำขึ้นจริงๆ ในปี 2519 สถานการณ์ภายในประเทศกลับส่งสัญญาณถึงความพ่ายแพ้
ปรากฏการณ์ "ยิ่งตี ยิ่งโต" บ่งบอกว่าถ้าพวกเขาจะชนะได้ พวกเขาจะต้องปรับยุทธศาสตร์ แต่หากยังคงต่อสู้ด้วยยุทธศาสตร์และวิธีคิดเก่าแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงประมาณปี 2520 กว่าๆ
และเป็น "โดมิโนตัวที่ 4" ที่ล้มตามกันหลังจากโดมิโนทั้งสามตัวล้มในอินโดจีน !
บทเรียนจากอดีตมีอีกหลายเรื่อง ที่บ่งบอกว่ารัฐไทยสามารถนำพาตนเองผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ด้วยการปรับตัว หากคิดในบริบทของประวัติศาสตร์สงครามก็ไม่แตกต่างกัน กองทัพที่ไม่ปรับตัว ไม่เคยรบชนะได้ในสงครามครั้งใหม่...
วิธีคิดเก่าและยุทธศาสตร์เก่ารบชนะได้ในสงครามครั้งก่อนเท่านั้น
สถานการณ์การเมืองปัจจุบันเป็นผลพวงของอาการ "สวิงขวาสุด" ของบรรดาชนชั้นนำและผู้กุมอำนาจทางการเมืองคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาอยู่ใน "โลกเก่า" ที่มีแต่ถูกท้าทายมากขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เพียงความเปลี่ยนแปลงของระบบสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ก็สร้างผลกระเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อวิธีคิดของคนไทย
ตัวแบบของระบบสารสนเทศสมัยใหม่ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการนำพาความคิดใหม่ๆ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้คือตัวแบบของความเป็นเสรีนิยม และถูกขยายผลจากการขับเคลื่อนของโลกาภิวัตน์
ดังจะเห็นได้ว่าขีดความสามารถในการปิดการรับรู้ของคนผ่านกลไกแบบเก่าๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างน้อยตัวแบบจากกรณีข้อมูลที่ปรากฏใน "วิกิลีกส์" ก็คือภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลก
ระบบสารสนเทศสมัยใหม่ยังกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นถึงบทบาทสำคัญในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเครื่องแฟกซ์กับการปิดล้อมที่จัตุรัส เทียน อัน เหมิน โทรศัพท์มือถือกับการล้อมปราบที่ราชดำเนินในปี 2535 เครือข่ายสังคมออนไลน์กับการปฏิวัติประชาธิปไตยในตะวันออกกลางในยุคปัจจุบัน
คำอธิบายอย่างสังเขปเช่นนี้ให้คำตอบว่า โลกมีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ไม่ใช่เพียงการยุติของภัยคุกคามแบบเดิมหลังจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็น หรือการปรากฏตัวของภัยคุกคามใหม่ในรูปแบบต่างๆ ตลอดรวมถึงการก่อการร้ายขนาดใหญ่เช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2544 เท่านั้น
หากแต่การขยายตัวของความเป็นเสรีนิยมที่มีมากขึ้นในบริบททางสังคมคู่ขนานกับการขยายตัวของแนวคิดในเรื่องของประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจเสรี และเรื่องราวเหล่านี้ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์
น่าสนใจว่าในขณะที่กระแสโลกเป็นเสรีนิยมนั้น กระแสในการเมืองไทยกลับมีอาการถอยหลังกลับไปสู่ความเป็นจารีตนิยม และยังทวีความเข้มข้นมากขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย ในกรณีเช่นนี้ รัฐประหาร 2549 จึงไม่ใช่อะไร มากไปกว่าความพยายามถอยหลังสู่ระบอบการปกครองแบบเก่าที่แอบอิงอยู่กับความเป็นจารีตนิยม
ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการสวิงกลับของการเมืองไทยจากรัฐประหาร 2490 ในอดีต
การเติบใหญ่ของ "พลังใหม่" ที่มีลักษณะของความเป็นเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์นั้น แน่นอนว่ากลายเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อ "พลังเก่า"
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พลังใหม่จะชื่นชอบกับการเมืองแบบการเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยผู้คนในระบบนี้ก็ยังคงมี "สิทธิทางการเมือง" หลงเหลืออยู่พอที่จะตัดสินความเป็นไปทางการเมืองด้วยการใช้บัตรลงเสียง
ในขณะที่พลังเก่าดูจะชื่นชอบอยู่กับแนวคิดทางการเมืองแบบจารีตนิยม สำหรับพวกเขาแล้ว การเลือกตั้งเป็นความน่ารังเกียจและเป็นภัยคุกคามต่อสถานะของพวกเขาโดยตรง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดประตูให้บรรดาชนชั้นล่างและนักเสรีนิยมก้าวเข้าสู่การเป็นพลังทางการเมือง
วาทกรรมแบบ "ต่อต้านการเมือง" (Antipolitics) ด้วยการมองเห็นแต่ภาพลบของระบบการเลือกตั้งและนักการเมือง จึงถูกผลักดันผ่านสื่อกระแสหลัก
และขณะเดียวกัน ก็ก่อกระแสเรียกร้องให้สังคมไทยกลับเข้าสู่ความเป็นจารีตนิยม
ในขณะเดียวกัน พลังเก่า อันประกอบด้วยชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองปีกขวา อยู่ในฐานะของผู้คุมอำนาจทางการเมืองมองเห็นการขยายตัวของการเมืองแบบเสรีนิยมด้วยความหวาดกลัว และความกลัวเช่นนี้ก็มักจะลงเอยด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม เพราะเป็นวิธีการอย่างง่ายๆ ที่ใช้หยุดยั้งการเติบโตและการขยายตัวของนักเสรีนิยมและบรรดาชนชั้นล่าง
จะเห็นได้ว่า การขยายตัวของการประกาศเป็น "หมู่บ้านแดง" ในชนบทเท่ากับบ่งบอกถึงการปฏิเสธแนวคิดแบบเก่า
ทฤษฎีพื้นฐานของกลุ่มอำนาจเก่าที่เชื่อว่า การใช้กำลังเข้าปราบปรามพร้อมการโหมโฆษณาทางการเมืองผ่านสื่อกระแสหลัก จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งอำนาจและสถานะเดิมดูจะเป็นอะไรที่ถูกท้าทายมากขึ้น
อันจะเห็นได้ว่า ผลจากการล้อมปราบในปี 2552 และ 2553 กลับส่งผลให้เกิด "กระแสตีกลับ" ในด้านหนึ่งการใช้วิธีการล้อมปราบอาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า พลังอำนาจของชนชั้นนำและกลุ่มปีกขวาในสังคมไทยนั้นยังคงแข็งแรง และสามารถใช้ยันความท้าทายที่เกิดขึ้นได้
แต่ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จะเห็นได้ว่า การใช้พลังในรูปแบบเช่นนี้เป็นเพียง "ชัยชนะทางยุทธวิธี " เพราะผลจากการปราบปรามและจับกุมคุมขังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้บ่งบอกถึง "ชัยชนะทางยุทธศาสตร์" ของพวกเขาแต่อย่างใด
กลับเกิดปรากฏการณ์ "ยิ่งตี ยิ่งโต" ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยการเลือกตั้งหลังจากธันวาคม 2550 แล้ว ล้วนบ่งบอกว่า พวกเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน พวกเขาก็พ่ายแพ้อีก!
จนถึงอย่างนี้แล้ว พวกเขาจะยอมรับหรือไม่ว่า โลกเปลี่ยนแล้ว และสังคมก็กำลังเปลี่ยนเช่นกัน จะยอมรับได้หรือไม่ว่า พลังอนุรักษนิยมหรือจารีตนิยมล้วนอยู่ในอาการถดถอย และต้องบอกว่าเป็นการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
ความแข็งขืนบนความเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเป็น "คำตอบสุดท้าย" ที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่าอย่างแน่นอน !
++
แด่น้องปู... ด้วยรักจากพี่มาร์คและพี่วิทย์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 36
"สิ่งเลวร้ายที่สุด ไม่ใช่การต้องต่อสู้ร่วมกับชาติพันธมิตร
แต่เป็นการต่อสู้โดยปราศจากชาติพันธมิตรต่างหาก "
เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล
คำกล่าวในปี พ.ศ.2483
บทความนี้เขียนขึ้นในวันที่ทุกคนกำลังติดตามชมข่าวการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ข่าวด่วนที่แทรกเข้ามาและเป็น "ข่าวใหญ่ " ทันทีก็คือ การประกาศการถอนตัวของประเทศไทยออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก !
นายสุวิทย์ คุณกิตติ ผู้แทนไทยแถลงว่ายอมรับไม่ได้กับถ้อยคำบางคำและตัดสินใจถอนตัวออกมา โดยกล่าวว่าการยอมรับการประชุมดังกล่าวจะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนและสูญเสียอธิปไตยของเขตแดนไทย
การทำเช่นนี้จึงเป็นเสมือน "ระเบิดพลีชีพ" ต่อเป้าหมายความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาโดยตรง และอาจจะเป็น "ระเบิดเวลา" รอรับรัฐบาลใหม่อีกด้วย!
ถ้าถามว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นอะไรที่ประหลาดใจไหม
ก็คงต้องตอบว่า ไม่ได้แปลกประหลาดจากความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะหากติดตามสถานการณ์ไทยและกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มขวาในการเมืองไทยมีข้อเรียกร้องให้ไทยถอนตัวออกจากการเป็นภาคีในอนุสัญญามรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ประหลาดใจก็คือ การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในภาวะที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งย่อมจะถูกตีความได้ว่า การตัดสินใจนี้เป็นการหวังผลต่อการเลือกตั้งในทางใดทางหนึ่ง
เพราะถ้าถือว่าการตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องเชิงนโยบาย รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีฐานะเป็น "คณะรัฐมนตรีรักษาการ" ก็ไม่น่าจะอยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้ตัดสินใจได้ และควรจะรอจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งแล้ว
แต่ถ้าจะอธิบายว่า การตัดสินใจของนายสุวิทย์เป็นไปตาม "กรอบของมติคณะรัฐมนตรี" ดังคำอธิบายที่เกิดขึ้นจากผู้นำรัฐบาล ก็มีข้อสงสัยว่ามติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้คืออะไร และได้ให้อำนาจในการตัดสินใจกับนายสุวิทย์เพียงใด และในกรณีนี้คณะรัฐมนตรีต้องออกมติใหม่รองรับต่อการตัดสินใจของนายสุวิทย์หรือไม่
หรือจะถือเอาเองว่า คณะรัฐมนตรีนี้สามารถตัดสินใจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึง "มารยาททางการเมือง" ที่จะไม่เอาเรื่องที่เป็นปัญหาเชิงนโยบายเข้าสู่การประชุมของรัฐบาลรักษาการ
คําถามที่ตามมาก็คือ การตัดสินใจลาออกเช่นนี้ถือเป็นการทำหนังสือสัญญาหรือไม่ เพราะเมื่อตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิกของภาคีมรดกโลกของไทยนั้น ก็ได้มีกระบวนการทางเอกสาร และถ้าต้องลาออกก็คงต้องมีการทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็น่าจะต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาตามมาตรา 190 ด้วย
การตัดสินใจเช่นนี้ไม่น่าจะกระทำได้โดยพลการ ซึ่งจะถือเอาว่าเป็นเอกสิทธิ์การตัดสินใจของฝ่ายบริหารไม่ได้ (ยกเว้นแต่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มาตรา 190 หมดสภาวะบังคับ แต่ตราบที่ยังคงมีมาตรานี้บังคับใช้อยู่ ก็น่าจะต้องนำเอาการตัดสินใจดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา)
แต่ทั้งหลายทั้งปวง เรื่องราวของการตัดสินใจลาออกจากภาคีมรดกโลกน่าจะเป็นผลโดยตรงจากปัญหาในการเมืองไทย เพราะการต่อสู้ในเวทีการเมืองไทยทวีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามา หากผลของการออกข้อมติหรือการมีความเห็นใดๆ ของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ย่อมจะมีผลต่อรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยตรง โดยเฉพาะหากเป็นผลเชิงลบแล้ว
รัฐบาลอาจจะเสียคะแนนอย่างมากก่อนวันเลือกตั้งได้
แต่ที่เป็นปัญหาโดยตรงมากกว่านั้นก็คือ ผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นกับตัวนายสุวิทย์เอง ในฐานะผู้แทนของไทยในการประชุมมรดกโลกในครั้งนี้ เพราะหากพิจารณาผลสำรวจจากผลของประชามติ (โพล) ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า พรรคกิจสังคมของนายสุวิทย์นั้น แทบไม่มีฐานเสียงของตัวเองแต่อย่างใด ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนายสุวิทย์ก็แพ้การเลือกตั้ง (สอบตก!)
การผลักดันการตัดสินใจในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นความหวังว่าอาจจะมีส่วนช่วยนายสุวิทย์โดยตรงต่อการได้มาซึ่งคะแนนเสียง หรืออย่างน้อยก็พอจะหวังได้ว่า บรรดา "เสื้อเหลือง" ที่สนับสนุนการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามาโดยตลอด อาจจะออกมาช่วยให้เสียงแก่พรรคของเขาได้บ้าง
ซึ่งพ้นจากนี้แล้ว ก็แทบไม่มีเหตุผลทางการเมืองอื่นใดเหลืออยู่ เพราะการตัดสินใจดังกล่าวหากพิจารณาด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแล้ว
การถอนตัวในครั้งนี้น่าจะเป็นผลลบต่อประเทศไทยมากกว่าผลเชิงบวก
การเดิน "แต้มคูทางการเมืองระหว่างประเทศ" ในลักษณะเช่นนี้ยังเป็น "ความสุ่มเสี่ยง" อย่างมาก เพราะเท่ากับเอาสถานะของประเทศไทยไปแลก โดยความเชื่อว่า การกระทำในลักษณะเช่นนี้อาจจะทำให้บรรดาประเทศมหาอำนาจที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก อาจจะหันมา "เอาใจ" ประเทศไทย ด้วยการผลักดันทิศทางของการประชุมให้เป็นไปตามความปรารถนาของรัฐบาลไทย
แต่สิ่งที่จะต้องคิดอย่างมากก็คือ การที่เขมรสามารถผลักดันให้กรณีการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่ผ่านมา (แนวรบด้านจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์) เข้าสู่เวทีของสหประชาชาติได้นั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่น่าจะมีรัฐมหาอำนาจยืนอยู่กับรัฐบาลไทยเท่าใดนัก
และถ้าเราไม่โกหกตัวเอง ภาพลักษณ์ของไทยที่ปรากฏในสื่อระหว่างประเทศส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่ภาพบวกแต่อย่างใด ความเห็นออกจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากฝ่ายไทย โดยเฉพาะเกิดจากเงื่อนไขการเมืองภายในของไทยเอง
และยิ่งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกไม่เป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลไทยต้องการ ก็เป็นเพียงการตอกย้ำว่าท่าทีของรัฐบาลมหาอำนาจในที่ประชุมดังกล่าวไม่ยืนกับไทย
วันนี้ถ้าเราซื่อสัตย์กับตนเอง เราคงจะต้องยอมรับว่า เราดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความ "สะเปะสะปะ" เป็นอย่างยิ่ง และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศในเวทีสากลอย่างมาก...
ถ้าคิดว่า การเดินออก (walk out) จากเวทีการประชุมระหว่างประเทศเป็น "ความสะใจ" และหวังว่าจะเกิดผลบวกแก่ตน (และพรรค) ในเวทีการเมืองภายในประเทศแล้ว ก็อาจจะต้องทบทวนด้วยความมีสติเป็นอย่างยิ่งว่า แล้วประชาคมระหว่างประเทศเขามองไทยอย่างไร
และในอีกด้านหนึ่ง ไทยได้อะไรจากกรณีนี้
ลักษณะสุดโต่งที่มีมากขึ้นในนโยบายต่างประเทศของไทย กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับคุณลักษณะแบบดั้งเดิมที่ไทยมักจะดำเนินนโยบายด้วยความผ่อนปรนเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะหลังจากความสำเร็จของการล้มรัฐบาลสมัครและการยกเลิกแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา-ยูเนสโกแล้ว (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแถลงการณ์นพดล) ความสุดโต่งได้กลายเป็นทิศทางหลักในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศของไทย
ดังจะเห็นได้ว่าโอกาสของการประนีประนอมระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรณีของปัญหาพระวิหารนั้น ได้ผ่านเลยไปหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดความขัดแย้งขยายตัวกลายเป็นข้อพิพาทด้วยการใช้กำลัง ซึ่งก็ส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของไทย "ติดหล่มสงคราม" อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และทั้งยังเปิดโอกาสให้ "สายเหยี่ยว" หรือบรรดาผู้ชื่นชอบนโยบายต่างประเทศแบบแข็งกร้าวและนิยมการใช้กำลังในการดำเนินนโยบาย สามารถขยายอิทธิพลครอบงำนโยบายต่างประเทศจนกลายเป็นข้อจำกัดในตัวเอง
การถอนตัวออกจากความเป็นสมาชิกภาพของมรดกโลกจึงเป็นความสอดคล้องกับทัศนะของบรรดา "สายเหยี่ยว" ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในรัฐบาล ในกองทัพ ในกระทรวงการต่างประเทศ หรือชุมนุมอยู่บนท้องถนนก็ตาม
เพราะหากเป็นไปตามที่หวังว่า การถอนตัวดังกล่าวย่อมทำให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเกิดความตึงเครียดขึ้นโดยปริยาย และหากเป็นไปได้ก็อาจจะทำให้เกิดสงครามเหมือนเช่นที่เคยเกิดมาแล้วถึง 2 ครั้งในช่วงต้นปี ซึ่งก็จะทำให้ไทยมีโอกาสใช้อำนาจกำลังรบ "จัดการ" กับกัมพูชาได้
เพราะบรรดา "เหยี่ยวไทย " มักจะเชื่อเสมอว่า พลังอำนาจทางทหารของไทยสามารถดำเนินการกับกัมพูชาให้เป็นไปตามที่ไทยต้องการได้
แต่หากทำเช่นนั้น ไทยก็คงต้องเผชิญกับแรงกดดันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบทเรียนจากสงครามในช่วงต้นปี 2554 ก็คือ ในที่สุดแล้วไทยไม่สามารถใช้พลังอำนาจทางทหารของตนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
กล่าวคือ ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไทยไม่ได้มีเสรีในการใช้กำลังตามใจตนเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การตัดสินใจใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่ไทยแต่อย่างใด
เพราะหากกระทำการเช่นนั้น ประเทศไทยอาจจะถูกกดดันให้ต้องยอมรับกับเงื่อนไขระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้าควบคุมพื้นที่โดยผู้สังเกตการณ์และ/หรือผู้ควบคุมการหยุดยิงจากภายนอก
อย่างไรก็ตาม ถ้าคาดหวังว่าการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลก จะทำให้การยอมรับแผนที่ปักปันเขตแดน (แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000) ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ซึ่งก็ไม่จริง การออกครั้งนี้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการใช้แผนที่ดังกล่าว
หรือจะคิดว่าการถอนตัวของไทย จะส่งผลให้การเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารต้องประสบปัญหา หรือจะทำให้การยกฐานะดังกล่าวถูกยกเลิกไป ก็ไม่จริงอีก และต้องทำความเข้าใจว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2551
หรือจะเข้าใจว่าการกระทำเช่นนี้ จะทำให้เขมรไม่สามารถดำเนินการทำแผนพัฒนาพื้นที่ได้ ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะแผนบริหารจัดการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่หลังจากการประกาศให้พระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว และไม่เป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้พระวิหารถูกยกเลิกการเป็นมรดกโลกไปด้วยแต่อย่างใด และแผนนี้เป็นเรื่องโดยตรงระหว่างคณะกรรมการมรดกโลกกับรัฐบาลกัมพูชา
หรือถ้าจะโหมโฆษณาว่า การบริหารจัดการพื้นที่ในการเป็นมรดกโลกของพระวิหารได้ล่วงล้ำหรือกินเข้ามาในดินแดนไทย ก็ไม่เป็นข้อมูลที่ชัดเจนเท่าใดนัก เพราะรัฐบาลไทยเองก็ไม่เคยแสดงให้เห็นด้วยแผนที่ว่า พื้นที่ตามแผนบริหารจัดการของกัมพูชาล้ำเข้ามาในดินแดนส่วนใดบ้าง
และถ้าหวังว่าที่ประชุมมรดกโลกจะรับฟังไทยในประเด็นนี้ ก็อาจเป็นความหวังที่ไม่เป็นจริง เพราะคณะกรรมการมรดกโลกไม่เคยพูดเรื่องเส้นเขตแดน และการเป็นมรดกโลกก็ไม่ได้ทำให้รัฐเสียสิทธิในเรื่องเส้นเขตแดนของตนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คำโฆษณาของกลุ่มปีกขวาที่กล่าวเสมอว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารจะทำให้ไทยเสียสิทธิในดินแดนที่เป็นข้อพิพาท (หรือที่ฝ่ายไทยเรียกว่า "พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร) ก็ไม่ชัดเจนในเวทีสากล เพราะรัฐบาลกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนตัวพระวิหารและพื้นที่ที่ถูกตีกรอบจากมติคณะรัฐมนตรีไทยเองในปี 2505
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะหวังให้ผู้แทนไทยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้อย่างไร
เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเสมือน "ระเบิดพลีชีพ" ซึ่งหวังว่าจะระเบิดก่อนการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้
แต่ถ้าหยุดยั้งไม่ได้ ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งขึ้น ก็หวังว่า "ระเบิดเวลา" นี้จะระเบิดใส่รัฐบาลใหม่ที่ต้องเข้ามารับภาระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศหลังการเลือกตั้ง
แต่ไม่ว่าระเบิดลูกนี้ระเบิดหรือไม่ก็ตามในอนาคต ระเบิดนี้ระเบิดใส่ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจนพังพินาศไปหมดแล้ว...
และหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง นี่คือของขวัญชิ้นสำคัญจากรัฐบาลเก่า !
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย