http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-01

ลงคะแนน..ให้สงบร่มเย็น โดย พิศณุ และ"ไม่เลือกคนดี !"(ตรวจสอบไม่ได้) โดย พิเชฐ

.
ลงคะแนนเสียงอย่างไร ให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 96


คนไทยที่สนใจการเมืองมีความรู้สึกตรงกันว่าการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญมาก

สำหรับผมซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2518 เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่อคนไทยและประเทศไทยมากที่สุดเท่าที่ชีวิตผมเคยเห็น

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแบบมีพรรคหนึ่งพรรคใดได้ ส.ส. ทั้งหมดเกิน 250 คน

หนทางที่เมืองไทยจะสงบร่มเย็น ทำมาค้าขายกับต่างประเทศได้คล่องก็เป็นไปได้สะดวกขึ้น

ยิ่งถ้าพรรคที่ได้ ส.ส. เกิน 250 ได้คะแนนนิยมแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชาชนที่มาลงคะแนนเสียง ยิ่งถือเป็นโบนัสสำหรับคนไทย

เพราะการชนะทั้ง ส.ส.เขต และการได้คะแนนเสียงจากประชาชนแบบเลือกพรรคเกินครึ่งมันเหมือนทีมฟุตบอลที่ชนะเลิศทั้งถ้วยลีก และถ้วยเอฟเอ ในปีเดียวกัน ถือว่าเป็นยอดแชมเปี้ยนอย่างแท้จริง ไม่มีใครเถียงได้

การเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคที่ได้ ส.ส. เกิน 250 และได้คะแนนประชาชนเลือกพรรคเกินครึ่ง ผู้ที่คิดจะคัดค้าน จะประท้วงรัฐบาลไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง และต้องหาเหตุผลที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือทุกคราวที่จะออกมาชุมนุมบนท้องถนน

ยิ่งการใช้กำลังรัฐประหารยิ่งต้องคิดหนัก

ไหนจะต้องนึกถึงพลังของประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่เลือกรัฐบาลเข้ามา ซึ่งมีตั้งเกือบ 20 ล้านคน

ไหนจะต้องนึกถึงความรู้สึกและสายตาของนานาชาติที่เขาคงไม่ยืนข้างคนที่ใช้อาวุธล้มรัฐบาลที่ประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเลือกมาอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น กองเชียร์และผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับผลการตัดสินของประชาชนทั้งประเทศ

ชนะเกินครึ่งทั้งจำนวน ส.ส. และคะแนนนิยมพรรค ไม่รู้จะเอาอะไรมาเถียง

รอไว้เลือกตั้งคราวต่อไปค่อยสู้กันใหม่



เลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมผมอยากเห็นเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ชนะแบบนี้

ถ้าผลออกมาแบบนี้ ไม่ว่าใครชนะ ประเทศไทยบริหารจัดการ "ค่อนข้างง่าย"

แต่ถ้าเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุด แต่ไม่ถึง 250

หรือชนะที่ 1 แต่ไม่ถึงครึ่งทั้งจำนวน ส.ส. และคะแนนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งประเทศ (ซึ่งก็คือคะแนนนิยมพรรค)

แบบนี้บ้านเมืองจะตกอยู่ในสถานการณ์น่าทุกข์ใจเป็นที่สุด

จะเกิดกลียุค จะฆ่ากันตายบนท้องถนนอีกมากมายเท่าใดไม่อยากจะนึกถึง

นักลงทุนต่างชาติจะหอบข้าวหอบของหนีไปทำมาหากินประเทศอื่นหรือไม่ ไม่ต้องถาม

นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะลดจำนวนลงกี่ล้านคน แค่หลับตานึกก็หนาวแล้วครับ

เรื่องร้ายๆ และเรื่องน่ากลัวอีกมากมายจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ถ้าคนไทยบางกลุ่มไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

หรือไปใช้สิทธิ์แบบเอาสนุก เอามัน เอาสะใจ



ขอย้ำว่าในความเห็นของผม การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยมากที่สุดนับตั้งแต่ผมมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2518

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ นาทีสุดท้ายก่อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอยากให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงทุกท่านตัดสินใจก่อนรับบัตรจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเลยว่าวันนี้จะลงคะแนนให้พรรคใด

กาทั้งคนทั้งพรรคเบอร์เดียวกัน

อย่าเลือกเอามันเอาสนุก เลือกเอาสะใจเลือกแบบเบื่อนักการเมือง หรือเลือกแบบสงสารผู้สมัครเบอร์ใดเบอร์หนึ่ง

ในเมื่อพรรคที่ 1 กับพรรคที่ 2 ยืนอยู่คนละมุม พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งเป็นฝ่ายค้านแน่นอน

ลงคะแนนแบบเลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปเลย เราจะได้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เข้มแข็งพอฟัดพอเหวี่ยงกัน

แข็งแรงทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ

ตัดสินใจลงคะแนนแบบนี้ไม่ต้องกลัวรัฐบาลเผด็จการทางรัฐสภาเหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นสมัยไทยรักไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ได้ ส.ส. 377 คนเมื่อปี 2548

พ.ศ.นี้ คนที่เคยเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเขาสรุปบทเรียนได้ ในขณะเดียวกันบรรดาแกนนำ แกนนอน และองค์กรภาคเอกชนเขาตรวจสอบเก่ง

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงวันอาทิตย์นี้กับครั้งถัดไปผมวิงวอนให้ทุกท่านเลือกพรรคอันดับ 1 หรือพรรคอันดับ 2

พรรคอันดับ 3,4,5 หรือพรรคที่ขายความแปลก เอาไว้เลือกหลัง พ.ศ.2558

ขอเวลาให้ประเทศไทยได้พักเหนื่อยสัก 5 ปี ถึงตอนนั้นการเมืองคงจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ประชาชนจะค่อยๆ เห็นว่าการลงคะแนนเสียงให้ได้รัฐบาลพรรคเดียว ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่าการมีรัฐบาลผสมสี่ห้าหกพรรคที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารสั่งการได้ไม่ครบทุกกระทรวง

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม ขอให้ลงคะแนนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อชาติไทยของเราครับ



++

3 กรกฏา "ไม่เลือกคนดีเข้าสภา !! "
โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ เครือข่ายพลังลบ www.facebook.com/negativenetwork
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 11:00:00 น.


การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ถือว่าเป็นครั้งที่มีประชาชนตื่นตัวมากที่สุด สามารถวัดได้จากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่มากเป็นประวัติการณ์ เพราะครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

เมื่อคิดถึงการเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผมมีโอกาสไปใช้สิทธิ เรามักจะเจอกับวาทกรรมที่ค่อนข้างฟังดูดี แต่ก็แฝงไปด้วยอคติค่อนข้างมาก นั่นก็คือ "เลือกคนดีเข้าสภา" เพราะเหตุใดจึงพูดแบบนั้น

"การเลือกคนดีเข้าสภา" นั้น ฟังเผินๆ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักของ "อภิปรัชญา" (metaphysics) ที่ยิ่งพูดอีกก็ถูกอีก และสำหรับคนที่เชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวก็ไม่สามารถถกเถียงได้ เพียงแต่ลองมานั่งคิดให้ลึกกว่านั้นไหมว่า อะไรคือ "คนดี" ตามที่เขานิยามกัน ? และคนดีนั้นเป็นคนดีของใคร?

ดังนั้นในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เราจึงได้เห็นผู้ที่มีอำนาจในประเทศแห่งนี้ เข้ามาพูดทำนองว่า เราควรจะเลือกคนดี เลือกคนที่ทำให้บ้านเมืองไปต่อได้ แน่นอน! ฟังเผินๆ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องอีกเช่นกัน แต่ถ้ามันไม่ประกอบกับบริบทใน "ตำแหน่ง หน้าที่ และอำนาจ" ที่คนเหล่านั้นดำรงอยู่ การพูดในลักษณะแบบนี้ย่อมบอกเป็นนัยๆ ว่าท่านเหล่านี้ต้องการให้เราสนับสนุนใครขึ้นมาปกครอง หรือถ้าแปลแบบตรงไปตรงมาก็คือ คนที่ขึ้นมาปกครองก็น่าจะเป็นคนที่เอื้อประโยชน์ให้ท่านๆ เหล่านี้ด้วย

คนดีของคนบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่สามารถทำให้เขาสามารถปากท้องอิ่มได้ คนดีสำหรับบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่ดูน่าเชื่อถือ

คนดีของท่านผู้มีอำนาจบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่จัดสรรงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับท่านแบบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือ

คนดีบางกลุ่มอาจจะหมายถึงคนที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีอำนาจและเกาะโครงสร้างเดิมๆ ในการแสวงหาสิทธิพิเศษเหนือประชาชน


อย่าปฏิเสธกันว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของ "ผลประโยชน์" คำผสม ระหว่างคำว่า "ผล" และคำว่า "ประโยชน์" สองคำที่ฟังดูมีความหมายเชิงบวก แต่เมื่อพอมาอยู่รวมกันกลับทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกเชิงลบ จริงๆ แล้วผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ หากการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองและปฏิสัมพันธ์กันเชิงผลประโยชน์ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ารังเกียจอาจเป็นเพราะชุดความคิดที่หลายคนถูกฝังหัวมาว่า "นักการเมืองเลวเหมือนกันหมด เพราะมันคอร์รัปชั่น!!"

ซึ่งอดแปลกใจและรู้สึกสงสารนักการเมืองที่มีสภาพไม่ต่างกับถังขยะที่ไว้รองรับอารมณ์ พอเกิดเรื่องราวอะไรก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คอร์รัปชั่นเสียหมด หรืออย่างมากอาจจะพาดพิงไปยังข้าราชการประจำ แต่เราเคยลองตั้งคำถามกันไหมว่าจริงๆ คอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ณ จุดใดก่อน "คนให้" หรือ "คนรับ" ?

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องไก่กับไข่ ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ด้วยระบบอุปถัมภ์มาช้านาน เราอาจยกตัวอย่างบางกรณีให้เห็นภาพและลองตั้งคำถามเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นได้ง่ายขึ้น สมมติมีการตั้งด่านสกัดของตำรวจจราจรตามหน้าที่ ความรู้สึกแรกของพวกคนใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่คืออะไร? "แม่ง พวกหัวปิงปองทำมาหาแดกกันอีกแล้ว" แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าบางทีก็เป็นหน้าที่ของเขา การตั้งด่านสกัดจับ บางทีก็เป็นความผิดเช่น โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่คาดเข็มขัด ขาดต่อทะเบียน

แล้วเวลาเราโดนจับเรารู้สึกอย่างไร? หลายคนคิด "อะไรวะ แม่งหาเรื่องจับผิดไถตังค์กันชัดๆ" อ้าว! แทนที่เราจะหันมาต่อว่าตัวเองว่า "โอ๊ย!ฉันสะเพร่าจังเลยทำผิดกฎหมายจนได้" พอตำรวจจะเรียกเราปรับคำแรกที่เราจะพูดคืออะไร? หลายคนๆ พูดว่า "ขอโทษครับจ่า ช่วยๆ กันหน่อย" ซึ่งคำว่า "ช่วยๆ กันหน่อย" นี้หลายๆ ครั้งหมายถึงว่าผู้ที่ทำผิดก็กำลังเสนอ "ผลประโยชน์" ให้กับเจ้าหน้าที่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่รับ (เวลาเขาไม่รับเราก็มักสบถกันว่า "เหี้ยแม่งหยิ่งว่ะ" แต่พอเขารับเราก็บอกว่า "ตำรวจแม่งก็เหมือนกัน แดกกันหมด") และเวลาถูกจับได้ว่ารับส่วยส่วนใหญ่ก็โดนเฉพาะตัวเล็กตัวน้อย เพราะที่มันสูงกว่านั้น "ไม่สามารถตรวจสอบได้"


นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ สำหรับการคอร์รัปชั่นที่เกิดในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งพวกม็อบหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านคอร์รัปชั่น ผมว่าหลายๆ คนก็เคยฝากลูกเข้าโรงเรียน ติดสินบนเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งข้อครหา "ม็อบมีเส้น" ก็ไม่สามารถปัดพ้นกับระบบอุปถัมภ์อันเป็นต้นกำเนิดของการคอร์รัปชั่นได้ การมองโลกแบบคนนั้นดีไปหมด หรือคนนั้นเลวไปหมดนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลและไร้เดียงสาเกินไป

ถึงแม้หลายคนที่ออกมาแอบอ้างในนามแห่งคุณธรรม แต่ทุกคนย่อมมีแผลกันทั้งนั้นเพียงแต่ใครจะปกปิดได้เนียนกว่ากัน ซึ่งการจะแก้ปัญหาตรงนี้ประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญ ก็คือ "อำนาจในการตรวจสอบ" หากคนมีคุณธรรมที่ไม่สามารถวิพากษ์หรือตรวจสอบได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหลังฉากที่สวยงามนั้นอาจจะมีความผุพังเน่าเฟะเต็มไปหมด และอีกข้อที่อยากให้ลองกลับไปตั้งคำถามกันเองว่า แท้จริงแล้วระบบอุปถัมภ์ที่ใหญ่ที่สุดในสังคมเริ่มที่ตรงไหน? และเราจะแก้ไข ปรับปรุงหรือถอดถอนโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร? หรือว่าเราจะทนและรู้สึกเฉยๆกับระบบแบบนี้ รอวันที่จะยื่นขึ้นเป็นมรดกโลก (ไม่แน่ใจว่าUNESCO เขาจะยอมรับไหม?)


อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าคนดีของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป สิ่งที่สำคัญของประชาชนคือเราต้องรู้สึกว่า คนที่เราเลือกคือคนที่เป็น "ตัวแทน" เพื่อไปปกป้องผลประโยชน์ของเราและของสังคม หน้าที่ของเราไม่ใช่เพียงแค่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องคอยตรวจสอบและร่วมปกป้องผลประโยชน์ด้วย เหมือนกับว่าเวลาเราเกิดมาไม่มีใครเป็นคนดีโดยกำเนิด แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการ "การขัดเกลาทางสังคม" (socialize) ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งการขัดเกลาของตัวแทนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนร่วมกันตรวจสอบการทำงานและเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยจากประสบการณ์พร้อมไปด้วย


ถ้าเป็นเช่นนั้น วันที่ 3 กรกฏาคม 2554 เราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แทนที่จะ "เลือกคนดีเข้าสภา" แต่อาจจะต้องเลือกคนที่เข้าไปพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของเราและสังคม อาจจะไม่ใช่คนที่ดี 100% แต่เราสามารถตรวจสอบได้ ดีกว่าคนที่ดีมีบารมีอำนาจแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้!!


+ + + +

>>พรุ่งนี้ เจอกันที่คูหาเลือกตั้งนะครับ<<
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I10761108/I10761108.html

# 3 ก.ค. พรุ่งนี้ "ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง...." #
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10762076/P10762076.html

ต้องออกไปเลือกตั้ง เพื่อยับยั้งอำนาจที่ไม่พึงประสงค์
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ . . 19 มิถุนายน 2554 20:37 น
http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1602

๓ กรกฎาคม : อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
โดย ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล นิติราษฏร์ ฉบับ ๒๕ . . วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 18:20:12 น.
http://www.enlightened-jurists.com/blog http://www.enlightened-jurists.com/blog/38

เลือกตั้ง 2554 ปัจจัยชี้ขาดสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309496124&grpid=01&catid=&subcatid=

.