.
นับหนึ่ง กับ "ยิ่งลักษณ์ 1"
คอลัมน์ เทศมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 102
ยังไม่ทันรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็มีสารพัด "คอมเมนต์" จากสื่อในต่างประเทศต้อนรับขับสู้ ว่าที่ "นายกรัฐมนตรีหญิง" คนแรกของประเทศกันคึกคักมากมาย ในทันทีที่หาย "เซอร์ไพรส์" กับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา
มีความเห็นหลายๆ ประการน่าสนใจทีเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วนักวิเคราะห์หรือผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์เห็นคล้ายๆ กันว่า ชัยชนะที่เด็ดขาดของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ช่วย "ลด" อุณหภูมิทางการเมืองของไทยลง
นั่นหมายความว่า ยังคงมี "โอกาส" และ "เวลา" สำหรับทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่มี "ความหมาย" อย่างแท้จริงเพื่อฟื้นฟูความคาดหวัง ที่ริบหรี่และเรียวลงตามลำดับในหลายๆ ปีที่ผ่านมากลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ความหวังที่ว่า ไทยจะกลับมามีเสถียรภาพทางการเมืองกับเขาอีกครั้ง
เจมส์ ฮุกเวย์ แห่งวอลสตรีต เจอร์นัล ชี้เอาไว้ในข้อเขียนล่าสุดของเขาเมื่อ 5 กรกฎาคมว่า อาจบางทีเรื่องนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากแต่ขึ้นอยู่กับคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีต่างหาก
เขาอ้างว่ามี "คนที่รู้เรื่องดี" บอกเอาไว้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทสำคัญอยู่ "หลังฉาก" จัดการส่ง "ทูต" จากพรรคเพื่อไทยไป "หารือ" กับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และ "ผู้จัดการรัฐบาล" ผู้ทรงอิทธิพลอีกจำนวนหนึ่งเพื่อจัดการการ "ถ่ายโอนอำนาจ" ให้กับรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1" ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้
ฮุกเวย์ได้รับคำบอกด้วยว่า ถึงตอนนี้ ผู้นำในกองทัพตระหนักว่า พวกเขาไม่สามารถก่อรัฐประหารในทำนองเดียวกันกับที่เคยทำเมื่อปี 2006 เพราะเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทางการเมืองสูงมาก
นั่นคือ "ระยะสั้น" คำถามที่ตามมาก็คือ "ในระยะยาว" เล่า?
ไมเคิล มอนเทสซาโน นักวิชาการจากสถาบันศึกษาอุษาคเนย์แห่งสิงคโปร์ วิเคราะห์เอาไว้ว่า นั่นขึ้นอยู่กับหลายอย่างมาก
แรกสุด ขึ้นอยู่กับว่า พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรกับ "ขบวนการเสื้อแดง" ในความหมายกว้าง นั่นคือกลุ่มเสื้อแดงที่อยู่นอกเหนือ "วงใน" ทางการเมืองในเวลานี้
ถัดมา ยิ่งลักษณ์จะจัดแจงกับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพี่ชายอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร? นั่นน่าจะหมายความรวมถึงหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการ "นำทักษิณกลับบ้าน" ด้วย
สุดท้าย ยิ่งลักษณ์จะบริหารจัดการกับ "นักการเมืองหัวเก่า" ในพรรคเพื่อไทย อย่างไร?
เพื่อการทั้งหมดนั้น มอนเทสซาโนบอกว่า ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องเป็นคนการเมืองที่ "หลักแหลม ชาญฉลาดเปี่ยมไหวพริบปฏิภาณ และจัดจ้านเหลี่ยมคู" อย่างยิ่งยวด
บริดเจ็ต เวลช์ ศาสตราจารย์ด้านบริหารจากมหาวิทยาลัยเพื่อการบริหารจัดการแห่งสิงคโปร์ เชื่อว่า เพื่อให้ประสบความสำเร็จในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องสร้าง "พื้นที่ส่วนตัว" ของเธอเองขึ้นมาให้ได้
เวลช์มองว่า การมีพี่ชายอย่างทักษิณ ชินวัตร เป็นทั้ง "จุดแข็ง" และ "จุดอ่อน" ของนายกรัฐมนตรีใหม่เอี่ยมรายนี้
"คุณทักษิณ ทำให้เธอได้รับเลือกตั้ง แต่ตอนนี้เธอกลับถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของเขา เธอจำเป็นต้องสร้าง ช่วงห่างระหว่างเธอกับเขาขึ้นมาอยู่บ้าง"
มุมมองถึงความยืดยาวของ "ฮันนีมูน พีเรียด" ในการเมืองไทย ที่ปรากฏอยู่ในรายงานของ แดเนียล เทน เคต แห่ง บลูมเบิร์ก นิวส์ ไม่สลับซับซ้อนเท่า แต่นัยกลับคล้ายคลึงกัน
แอนดรูว์ สโท้ตซ์ แห่ง กิมเอ็ง ซีเคียวริตี้ บอกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า "เขา-ผู้ชาย" ที่หมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จะเคลื่อนไหว "เร็ว" และ "ก้าวร้าว" แค่ไหน ถ้าเร็วมากและแข็งกร้าวมากเพราะถือ "ฉันทามติ" ที่ได้รับมาเป็นเครื่องมือ "การก่อหวอดประท้วงก็จะเริ่มต้น"
คล้ายๆ กับความเห็นของ ทากาฮิร่า โอกาวะ แห่ง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ที่บอกว่า "สมานฉันท์" ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆในเร็ววัน "ถ้ามองจากความลึกซึ้งของความแตกแยกทางการเมืองก่อนหน้านี้ "
ในขณะที่ เควิน เฮวิสัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเหนือ ฟันธงตรงไปตรงมาว่า ความสงบจะยาวนานได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่ หรือมีความพยายามนิรโทษกรรมเขาเมื่อใด
เหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมาของเขาก็คือ คนรักทักษิณมาก คนเกลียดก็ไม่น้อย
"ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เกิดความเคลื่อนไหวในท่าทางที่มองแล้วดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังจะกลับมา หรือถ้าหากมีอะไรสักอย่างสองอย่างที่ตีความได้ว่าเป็นความพยายามล้างคราบสกปรกให้เขาแล้วละก็ คนเหล่านี้จะลุกขึ้นมาท้าตีท้าต่อยอีกครั้ง"
นานหรือไม่ แค่ไหน จึงอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "ยิ่งลักษณ์"
หากแต่ขึ้นอยู่กับ "ทักษิณ" มากกว่าอื่นใดครับ
++
สังคมอเมริกัน ยิ่งขาว-ยิ่งดำ ภายใต้ "โอบามา" ?
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 102
เมื่อครั้งที่ บารัค โอบามา ก้าวขึ้นไปยืนหลังโพเดี้ยม สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2008 นั้น ผู้รู้ระดับ "กูรู" ในแวดวงการเมืองอเมริกันหลายคน รวมทั้ง โธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ชื่อดังของ นิวยอร์ก ไทม์ส / อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทริบูน สรุปความคาดหวังในสังคมอเมริกันเอาไว้ใกล้เคียงกับสภาวะ "ยูโธเปีย" สังคมในอุดมคติมากอย่างยิ่ง
ฟรีดแมน ถึงกับบอกเอาไว้ว่า "สงครามกลางเมืองอเมริกันสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อคนผิวดำ...กลายเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา" ในขณะที่ อี.เจ. ไดออน ถึงกับระบุว่า "ถึงเวลาแห่งความหวังอีกครั้งหนึ่งแล้ว เวลาแห่งความหวังว่ายุคแห่งการแบ่งแยกสีผิว และยุคแห่งการเมืองแบบยุให้รำตำให้รั่ว ตอกลิ่มสร้างความแตกแยกจะสิ้นสุดลงเสียที"
น่าสนใจอย่างมากที่ 2 ปีผ่านไป ทาวิส สมายลีย์ แห่ง พีบีเอส สถานีโทรทัศน์สาธารณะของสหรัฐอเมริกา กลับสรุปภาพรวมการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ที่กำลังจะมาถึงในปี 2012 นี้ เอาไว้ว่า การเลือกตั้งดังกล่าวนี้
"จะเป็นการเลือกตั้งที่อัปลักษณ์ที่สุด น่าสะอิดสะเอียน แบ่งขั้วแตกแยก และเหยียดผิวเลือกสีกันมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา" ในขณะที่ทัศนะของ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ที่เคยแสดงทัศนะเอาไว้ในปี 2008 ว่า "การแยกขั้วในสังคมอเมริกันอันเป็นผลมาจากสีผิว เคยเป็นพลังครอบงำการเมืองสหรัฐอเมริกามานาน แต่บัดนี้เรากลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่แตกต่างออกไปในทางที่ดีกว่าเดิมแล้ว" กลับถูกกลบด้วยการปรากฏขึ้นของขบวนการ ที ปาร์ตี้ ต่อต้านโอบามา ที่ครุกแมนเปรียบเปรยเอาไว้ว่า เป็นขบวนการในทำนองเดียวกันกับขบวนการผิวขาวต่อต้านผิวสีในยุคทศวรรษ 1960 ที่เลื่องลือไปทั่วโลกในชื่อ "คู คลักซ์ แคลน"
ถ้าหากนั่นยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ลองดูตัวเลขจากการสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพลของสำนักโพลรามุสเซ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2010 ดูเป็นข้อมูลประกอบอีกประการ
รามุสเซ่น ระบุว่า ผลจากการสำรวจพบว่ามีประชากรอเมริกันเพียงแค่ 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่แสดงความคิดเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว "ดีขึ้น" ในช่วงที่ผ่านมา ลดลงอย่างฮวบฮาบจากการสำรวจเมื่อครั้งก่อนราว 1 ปีก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฎาคม 2009 ที่ตอนนั้นมีผู้ให้ความเห็นว่าสัมพันธภาพระหว่างคนขาวและคนดำในสหรัฐอเมริกาดีขึ้นกว่าเดิมถึง 62 เปอร์เซ็นต์
ทำไม?
บรรดา "กูรู" เหล่านั้นอาจผิดพลาดในการแสดงความคิดเห็น เพราะถูกบดบังด้วยนัยสำคัญที่มีอยู่จริงของชัยชนะในการเลือกตั้งของ บารัค โอบามา หลายคนในบรรดาเกจิทางการเมืองเหล่านั้นถึงกับสนับสนุนเรื่อยไปจนกระทั่งถึง "ลุ้น" ช่วยให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของการเมืองอเมริกันครั้งนี้ด้วยซ้ำไป
กระนั้น ภายใต้ความผิดพลาดของความคิดเห็นดังกล่าว สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะย่ำแย่มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา หากคำนึงถึงว่า ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช สังคมอเมริกันถูกเหวี่ยงไปในอีกด้านหนึ่งอย่างรุนแรง และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมสั่นคลอนอย่างร้ายกาจยิ่ง
เซธ ฟอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์-สังคมวิทยา ที่สอนวิชาว่าด้วยนโยบายสาธารณะและรัฐบาลอเมริกัน อยู่ที่ สโตนี ยูนิเวอร์ซิตี้ ในรัฐลองไอส์แลนด์ ให้ความสนใจในความเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกันมากถึงขนาดนำผลการศึกษาวิจัยเขียนออกมา
เป็นหนังสือเล่มเขื่อง ชื่อ "อเมริกัน ออบเซสชั่น : เรซ แอนด์ คอนฟลิกต์ อิน ดิ เอจ ออฟ โอบามา"
มีคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันในเวลานี้อยู่หลายประการในหนังสือเล่มนั้น
แต่จะเป็นคำตอบที่ "ถึงที่สุด" หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
น่าสนใจที่ว่า ในข้อสรุปของ ฟอร์แมน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แทนที่จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น กลับเป็นเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รอยปริแยกในสังคมอเมริกันเลวร้ายลง เกิดการแตกแยก แบ่งฝักฝ่ายกันมากขึ้น เกิดการปะทะในเชิงสังคมมากขึ้น และ แยกขั้วกันชัดเจนมากยิ่งขึ้นในทางการเมือง อิงตามแนว "ชาติพันธุ์" และ "สีผิว" เป็นหลัก
ในทางหนึ่งนั้น แน่นอนที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอเมริกันโดยรวมไม่มากก็น้อย แต่ฟอร์แมนชี้ว่า นโยบายต่างๆ ที่โอบามานำมาใช้ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ทำให้สถานการณ์แตกแยกทวีความแหลมคมยิ่งขึ้น
ผลสำรวจของ พิว แชริเทเบิล ทรัสต์ ชี้ว่า ในเวลานี้กลุ่มที่แยกตัวออกมาโดดเดี่ยวในทางการเมือง แยกต่างหากจากแนวคิดของรัฐบาลมากที่สุด ไม่ใช่กลุ่มผิวดำอีกต่อไป หากแต่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวผิวขาวที่ไม่ผ่านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลการสำรวจแสดง
ให้เห็นว่า 44 เปอร์เซ็นต์ ของคนกลุ่มนี้เท่านั้น ที่เห็นว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เทียบกับสัดส่วนที่สูงมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ในหมู่ชนกลุ่มน้อย และ 55 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มคนขาวที่ได้รับการศึกษา
โรนัลด์ บราวน์สตีน แห่ง เนชั่นแนล เจอร์นัล เชื่อว่า คนกลุ่มนี้ที่ถูกเรียกว่า "ชนชั้นแรงงานผิวขาว" ไม่เพียงกังวลว่าจะสูญเสียสถานะในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น ยังเจือปนด้วยความรู้สึกสูญเสียสถานะในทางสังคม เพราะถูกบดบังด้วยคนผิวดำพร้อมกันไปด้วย
นโยบายของโอบามา ที่ในทางหนึ่งพุ่งเป้าโจมตี "นักธุรกิจ นักการเงิน" ผู้ละโมบ ว่าเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศเผชิญ ขณะเดียวกันกับที่ในอีกทางหนึ่งผลักดันนโยบายในเชิง "รัฐสวัสดิการ" และการ "จ้างงาน" จากภาครัฐ ออกมาเป็นหลักในช่วงการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา ถูกบ่งชี้ว่าเป็นเหมือนการโจมตีคนผิวขาว และให้ความช่วยเหลือคนผิวดำไปพร้อมๆ กัน
นั่นเนื่องเพราะ เป็นคนผิวขาวที่ครอบงำธุรกิจส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เป็นคนผิวขาวที่ก่อร่างสร้างตัว ผลักดันใช้ธุรกิจเป็นบันไดเพื่อไต่เต้ายกระดับทางสังคมของตนเองด้วยตัวเอง ในขณะที่คนผิวดำส่วนใหญ่อิงอยู่กับระบบราชการของรัฐ และได้รับผลพวงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงสังคมนิยมของพรรคเดโมแครตมากกว่า
เฉพาะในปี 2009 เพียงปีเดียว งบประมาณสำหรับการจ้างงานจากภาครัฐเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 43 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเดียวกันนั้น สามารถรักษาตำแหน่งงานราว 900,000 ตำแหน่ง ในหน่วยงานของรัฐต่างๆ และลูกจ้างของทางการท้องถิ่น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาคเอกชนสูญเสียตำแหน่งงานมากถึง 5.7 ล้านตำแหน่ง
ฟอร์แมนชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ลงคะแนนที่แน่วแน่มั่นคงที่สุด 90 เปอร์เซ็นต์ ของคนผิวดำเลือกพรรคเดโมแครต ในขณะที่คนผิวขาวสัดส่วนดังกล่าวจะกระจายกันออกไปใน 2 พรรคการเมืองใหญ่ และมีส่วนหนึ่งที่กลายเป็นคะแนนเสียง "อิสระ" หรือ "สวิง" โหวต
ที่ทำให้การเมืองอเมริกันไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง
แต่นโยบายของผู้นำอเมริกันคนปัจจุบันที่พยายามเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างสำคัญในชีวิตอเมริกัน" ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "ผละหนี" ของคนผิวขาวจากพรรคเดโมแครต เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งกลางเทอม ที่พรรครีพับลิกันได้คะแนนเสียงจากคนผิวขาวมากกว่าเดโมแครตถึง 23 เปอร์เซ็นต์ (60 : 37 เปอร์เซ็นต์) แย่ที่สุดในบรรดาการเลือกตั้งกลางเทอมทั้งหมดในประวัติศาสตร์ของพรรค นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
และในขณะที่สัดส่วนการยอมรับในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของโอบามา ตกลงต่ำสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมานั้น น่าสนใจที่คนผิวดำยังคงให้การยอมรับโอบามาอยู่สูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่สัดส่วนการยอมรับในกลุ่มคนผิวขาวลดลงเหลือเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ฟอร์แมนสรุปเอาไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว การเมืองเรื่องสีผิวไม่เพียงเป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคมอเมริกัน ชนิดยังไม่อาจก้าวข้ามได้เท่านั้น แม้แต่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวดำเองก็ยังข้ามไม่พ้น เพราะยังอาศัยประโยชน์จากการนี้อยู่ตลอดเวลา
และนั่น ทำให้ยิ่งนานวันเข้า สังคมอเมริกันยิ่งแตกแยกเป็นขาวและดำชัดเจนมากยิ่งขึ้นทุกที!
++
ไต่สวน 4 อดีตผู้นำเขมรแดง ร่องรอยที่ยากลืม-ไม่อยากจำ
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 103
ขณะที่บรรดาผู้นำเขมรแดงหลายต่อหลายคน รวมทั้ง นายพล พต ผู้นำสูงสุดของกลุ่มเขมรแดง ได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะถูกดำเนินคดีข้อหาล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรในยุคที่เขมรแดงปกครองกัมพูชา
ยังมีอดีตผู้นำเขมรแดงอีก 4 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน และถูกนำตัวมาขึ้นศาลอาญาพิเศษระหว่างประเทศเพื่อการพิจารณาคดีเขมรแดง ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา คือ
นายนวน เจีย วัย 84 ปี อดีตผู้นำเขมรแดงหมายเลข 2
นายเขียว สัมพัน วัย 79 ปี อดีตประมุขของรัฐ
นายเอียง สารี วัย 85 ปี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มเขมรแดง
และ นางเอียง ธิริท ภรรยาของ นายเอียง สารี วัย 79 ปี ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการสังคมของเขมรแดง
การพิจารณาคดีของทั้ง 4 คน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มี นายนิล นนท์ หัวหน้าคณะผู้พิพากษาประจำศาล เปิดการไต่สวนคดีพิเศษที่คณะอัยการร่วมกันยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 4 ใน 3 ข้อหาหนัก คือ เป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำที่ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ซึ่งเน้นหนักไปที่การสังหารหมู่ชาวเขมรเชื้อสายเวียดนามและชาวเวียดนามอพยพ, ต่อด้วยข้อหามีพฤติกรรมอันเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และสุดท้ายคือ มีพฤติกรรมเป็นอาชญากรสงคราม
คาดกันว่า ในช่วงแรกของการไต่สวนน่าจะเป็นการเริ่มพิจารณารับหรือคัดค้านพยานบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและรายชื่อพยานของทั้งสองฝ่าย ต่อด้วยการพิจารณาการคัดค้านในประเด็นที่เป็นข้อกฎหมายแห่งคดี ซึ่งกว่าจะมีการเบิกความจำเลยขึ้นให้ปากคำก็น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยการไต่สวนครั้งนี้มีชาวเขมรราว 500 คน เข้าร่วมรับฟังด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติพี่น้องของเหยื่อ
ซึ่งบางคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้จำคุก 4 อดีตผู้นำเขมรแดงตลอดชีวิต
อดีตผู้นำเขมรแดงทั้ง 4 คน ถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในการสังหารชาวกัมพูชาราว 1.7 ล้านคน ในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจในช่วงทศวรรษ 1970
ก่อนหน้านี้ ศาลแห่งนี้ได้มีการพิจารณาคดี นายเคง เก็ก เอียบ หรือสหายดุช อดีตผู้คุมเรือนจำตูลเสล็ง สถานที่กักขังและทรมานชาวกัมพูชาในสมัยนั้น
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา สหายดุช ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 35 ปี ข้อหาอาชญากรสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและทรมานฆาตกรรมผู้คนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ได้ลดโทษมาจากการถูกจำคุกมาแล้วและจากสาเหตุทางเทคนิคกฎหมายอื่นๆ เหลือโทษเพียง 19 ปี
ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวกัมพูชาบางส่วน เนื่องจากเหตุว่า อดีตผู้คุมเรือนจำตูลเสล็งนั้น ควรจะได้รับโทษมากกว่านี้ เพราะเขาเป็นผู้นำให้ชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก บางครอบครัวก็ตายไปเกือบหมด
ซึ่งสหายดุชนั้น มีความสำนึกเสียใจต่อสิ่งที่กระทำลงไป เก็บบันทึกการสังหารและบัญชีรายชื่อของผู้ที่ถูกขังอยู่ที่ตูลเสล็งส่วนใหญ่เอาไว้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับอดีตผู้นำเขมรแดงทั้ง 4 คนที่ถูกพิจารณาโทษครั้งนี้ กลับปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ และเอกสารก็ยังอ่อน ไม่ชัดเจนเหมือนกับกรณีของสหายดุช เชื่อว่า ทั้ง 4 จะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
เป็นที่รู้กันดีว่า คดีนี้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่อการเยียวยาบาดแผลในสังคมกัมพูชาเป็นอย่างมาก และยังถูกจับตามองจากชาวกัมพูชาทั่วประเทศ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญเสียทั้งหลาย
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เชื่อว่า คดีนี้อาจจะเป็นคดีสุดท้ายของศาลพิเศษแห่งนี้ เพราะปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณสนับสนุน หรือเรื่องของการเมืองที่เข้าไปแทรกแซง
เพราะ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งในอดีตเคยเป็นเขมรแดงมาก่อน หวั่นเกรงว่าผู้สนับสนุนตนที่ร่วมเป็นเขมรแดงมาด้วยกัน อาจจะถูกเปิดโปงและทำให้เกิดปัญหากับตัวเองได้ จึงประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีคดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขมรแดงต่อจากนี้อีกต่อไป
และแม้ว่าการสังหารหมู่ชาวกัมพูชาในยุคของเขมรแดง ดูเหมือนจะร้ายแรงในสายตาชาวโลก และชาวกัมพูชาบางคน แต่ด้วยกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว คนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับโลกใหม่ๆ โดยจากตัวเลขของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐ ระบุว่า ประชากรกัมพูชาที่มีอยู่ทั้งหมด 14.7 ล้านคน มีอยู่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี
นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้อยู่ร่วมยุคในสมัยเขมรแดง และคนในยุคที่ถูกเขมรแดงเข่นฆ่ากำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
และตอนนี้ ชาวกัมพูชาหลายคนไม่อยากคิดถึงเรื่องเก่าๆ อยากจะทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง ไม่ค่อยมีใครยอยากจะคิดถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง ที่ประชาชนชาติเดียวกันลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันเองอย่างไม่ปรานี
สิ่งที่กัมพูชาพยายามทำในตอนนี้คือ การให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพราะการพิจารณาคดีจะไม่มีความหมายอะไรเลย จนกว่าประชาชนจะเข้าใจถึงกระบวนการ และผลที่จะตามมา
แม้ว่าผลการตัดสินอาจจะไม่ได้สร้างความพอใจใหักับทุกคน แต่ก็น่าจะช่วยคลายปมอดีตลงได้บ้าง ด้วยความยุติธรรมที่ยังพอมีอยู่บนโลกใบนี้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย