http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-13

ผู้หญิงกับนายกฯหญิง และ Walter Bagehot โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ผู้หญิงกับนายกฯหญิง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ไม่ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ เพราะประเด็นผู้หญิงแต่อย่างใด ดังนั้นเธอจึงไม่มีพันธะต่อเรื่องสิทธิสตรี มากไปกว่านายกฯที่เป็นผู้ชาย แต่เพราะเธอบังเอิญเป็นผู้หญิง เธอจึงถูกคาดหวังให้ใส่ใจประเด็นนี้ยิ่งกว่านายกฯที่เป็นผู้ชาย

ซวยล่ะสิครับ เพราะเท่าที่ได้สังเกตเห็น รู้สึกว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรีแบบ "ขอไปที" ทุกครั้ง คือเห็นด้วยกับผู้ถาม (ซึ่งมักเป็นนักสตรีนิยม) แต่คุณยิ่งลักษณ์ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถามจากมุมมองของเธอเอง และแน่นอนคือไม่มีคำตอบว่า แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป


แสดงว่าคุณยิ่งลักษณ์และกุนซือไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน ไม่ได้ต่างจากนายกฯ ก่อนหน้าคุณยิ่งลักษณ์ทุกคน เพียงแต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่ต้องแบกภาระการเป็นผู้หญิง ซ้ำเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นนายกฯเสียด้วย

ถามว่านี่เป็นจุดอ่อนทางการเมืองหรือไม่?

ผมคิดว่ายังไม่เป็นในนาทีนี้ แต่จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะในฐานะนายกฯ เธอจะถูกบีบให้ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสิทธิสตรีให้ชัดเจนกว่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากเธอแสดงได้เหมาะกับเงื่อนไขต่างๆ ในสังคมไทย (คือไม่สุดโต่ง แต่ก็ไม่สมยอมกับทรรศนะกดขี่ทางเพศ) เธอจะได้ผู้หญิงเป็นพวกอีกมาก ทั้งๆ ที่หลายคนในบรรดาผู้หญิงเหล่านั้น อาจไม่ได้เลือกเธอหรือพรรคของเธอมาก่อนก็ตาม

ฉะนั้น ในบรรดาที่ปรึกษาซึ่งเธอจะตั้งขึ้นนั้น ควรมีคนหรือสองคนที่เข้าใจเรื่องของสิทธิสตรีในโลกสมัยใหม่ แต่ก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจการเมืองไทยด้วย (เช่น ไม่เสนอให้เธอโจมตีฮิญาบ หรือการคลุมศีรษะของมุสลิม) คุณยิ่งลักษณ์ต้องระวังตัว ไม่พลั้งแสดงปฏิกิริยาต่ออุบัติการณ์ในข่าว ที่อาจกระทบถึงเรื่องสิทธิสตรี โดยไม่ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาเสียก่อน คุณยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องเชื่อคำปรึกษาของพวกเขา แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องซึมซับจุดยืนของฝ่ายนักสตรีนิยมต่อประเด็นให้ดีเสียก่อน

แล้วคุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจเอาเองว่า จะแสดงปฏิกิริยาเหล่านั้นอย่างไรต่อคำถามของนักข่าว

นี่เป็นการระวังในแง่ลบ คือไม่เปิดให้ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิสตรี ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น ในระยะยาวใช้ไม่ได้ เพราะจุดยืนไม่ผิด แต่ก็ไม่เคยทำอะไรให้ถูกเลยสักอย่าง ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกวิจารณ์อยู่นั่นเอง ดังที่คุณยิ่งลักษณ์คงทราบแล้วว่า เป็นนายกฯที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลยนั้นไม่พอ ต้องทำอะไรที่ถูกบ้าง

และเพื่อจะทำอะไรให้ถูก หรือเป็นฝ่ายริเริ่มทางการเมืองในเรื่องสิทธิสตรีนั้น ไม่ง่ายครับ


ความไม่ง่ายนั้นมีอยู่สองอย่างที่ควรตระหนักให้ดี

1.โดยพื้นฐานทางวัฒนธรรมแล้ว ผู้หญิงไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมสูง เมื่อเทียบกับอีกหลายวัฒนธรรมในโลก รวมทั้งในโลกตะวันตกด้วย แต่ในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผู้นำไทยไปรับเอาวัฒนธรรมทางเพศสภาพ (Gender) มาจากฝรั่ง แล้วก็ใช้เป็นมาตรฐานสอนกุลบุตรกุลธิดาให้ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นมาตรฐานอุดมคติของเพศสภาพและความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพของชนชั้นนำไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แท้จริงแล้ว คนไทยทั่วไปไม่ได้ยึดถือมาตรฐานนี้จริงจังนัก แต่ก็ถูกคนที่อยู่ในวัฒนธรรมชนชั้นนำตำหนิติเตียน จนบางครั้งก็ใช้อำนาจรัฐที่ตัวถือครองอยู่เป็นส่วนข้างมาก เข้ามาบีบบังคับจนถึงลงโทษคนที่ไม่ยึดถือมาตรฐานทางเพศสภาพแบบฝรั่ง (โบราณ) และอย่างที่คุณยิ่งลักษณ์น่าจะซาบซึ้งอยู่แก่ใจดีว่าพวก "อำมาตย์" เหล่านี้มีอำนาจในสังคมไทยมากแค่ไหน ฉะนั้น จะทำอะไรในเชิงบวกเกี่ยวกับสิทธิสตรี ก็ต้องเข้าใจว่า อาจเผชิญกับป้อมปราการอันใหญ่ของวัฒนธรรม "อำมาตย์"

ไม่ได้แนะให้ถอยหดหัวกลับมาอยู่อย่างเดิมนะครับ แต่ต้องรู้ว่าจะตีป้อมอันใหญ่มหึมาและแข็งแกร่งได้ ต้องวางแผนให้รัดกุม และเข้าตีอย่างแนบเนียน เช่น สิทธิการทำแท้งอย่างปลอดภัยของผู้หญิงซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทยปัจจุบัน อันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการโฆษณาศีลธรรมเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ควรเสนอในรูปของ "สิทธิ" แต่เสนอในรูปของการจัดการให้เกิดการ "เข้าถึง" บริการดังกล่าวได้สะดวกขึ้นแทน

2.สืบเนื่องกับที่กล่าวข้างต้นว่า พื้นฐานทางวัฒนธรรมไทยแต่เดิมในเรื่องเพศสภาพ แตกต่างจากฝรั่งมาก การกดขี่ทางเพศของไทยจึงไม่เหมือนกับฝรั่งเลย ดังนั้น อย่าได้ผลักดันสิทธิสตรีตามแบบตะวันตกเฉยๆ แต่ควรมีความเข้าใจว่าในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของเขาในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิสตรีนั้น ไปถึงไหนอย่างไรแล้ว ไม่ใช่เพื่อลอกเลียนมาทำบ้าง แต่เพื่อความเข้าใจประเด็นให้ชัด



มีอะไรด้านบวกที่พอจะทำได้ในเมืองไทยบ้าง โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนักเกินไปทางการเมือง คุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจเอง แต่ต้องตัดสินใจด้วยความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องของสิทธิสตรี และความเป็นไปได้ในทางการเมือง

ดังที่นักวิชาการชาวออสเตรเลียผู้หนึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่า ในด้านบทบาทของผู้หญิงไทยในพื้นที่สาธารณะนั้น จะว่าไปก็อาจก้าวหน้ากว่าเกือบทุกประเทศในโลกนี้ โดยเฉพาะด้านธุรกิจ สัดส่วนของผู้บริหารหญิงระดับสูงในองค์กรภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยคือ 45% ในขณะที่อัตราของโลกอยู่ที่ไม่เกิน 25% เท่านั้น แต่ในพื้นที่ด้านการเมืองการปกครองยังค่อนข้างต่ำ คุณยิ่งลักษณ์อาจส่งเสริมใน ครม.ให้เพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารหญิงในแต่ละกระทรวงเพิ่มขึ้นได้ เช่น สมมุติว่าจากเดิมมีเพียง 10% ก็เพิ่มเป็น 15% ในเวลากี่ปีๆ ก็ว่าไป

เด็กผู้หญิงไทยไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าเด็กผู้ชาย จากการสำรวจหลายครั้งก็พบตรงกันว่า ในด้านการลงทุนเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ครอบครัวไทยไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเพศใดเพศหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะทางการศึกษาในระบบของไทยยังสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเพศสภาพหญิงมากกว่าชาย ฉะนั้น ผู้หญิงจึงได้รับการศึกษาสูงกว่าชายโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา แต่การที่ผู้หญิงกลับก้าวไม่ถึงระดับบริหารเท่าผู้ชายในกิจการสาธารณะด้านการเมืองการปกครอง ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่ต้องปรับแก้อย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่เรื่องนี้ยังกระทบผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มากนัก ที่กระทบมากกว่าคือการใช้ความรุนแรงในหลายรูปแบบกับผู้หญิง ซึ่งอาจแบ่งออกกว้างๆ ได้ว่ามีสองบริบท คือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของรัฐ

ในด้านแรก รัฐคงยื่นมือเข้าไปแทรกในครอบครัวโดยตรงได้ยาก แต่สามารถแทรกเข้าไปได้ผ่านการศึกษา ทั้งนี้ ต้องเข้าใจการศึกษาให้กว้างกว่าโรงเรียน หากต้องรวมไปถึงสื่อ และการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งผู้คนได้รับอยู่ตลอดเวลา รัฐอาจให้ทุนอุดหนุนแก่องค์กรที่เฝ้าระวังสื่อ ให้เน้นประเด็นนี้เป็นพิเศษ สนับสนุนให้สื่อร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ยกให้ความต้องการของผู้ชายต้องเป็นใหญ่เสมอในทุกกรณี

ในโรงเรียน รัฐอาจสนับสนุนให้จัดเพศศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น แต่เพศศึกษาต้องไม่มีความหมายเพียงหน้าที่ของร่างกายในการให้กำเนิดบุตรเท่านั้น เพศศึกษาต้องรวมถึงการทำความเข้าใจกับเพศสภาพและความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพในวัฒนธรรมไทย รวมถึงการร่วมกันสร้างอุดมคติของ "ลูกผู้ชาย" ขึ้นมาใหม่ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย อาจมีได้หลากหลายมิติกว่าเพศสัมพันธ์ และการเอาเปรียบทางเพศแก่ผู้หญิงในทุกรูปแบบ ไม่ถูกถือว่าเป็น "ลูกผู้ชาย" อีกต่อไป



ในด้านที่สองนั้น ที่จริงแล้วสัมพันธ์สืบเนื่องกับด้านแรกอย่างมาก แต่เป็นด้านที่รัฐสามารถกำกับควบคุมได้โดยตรง เช่น การปฏิบัติต่อนักโทษหญิงในเรือนจำ ทั้งกฎระเบียบและผู้บังคับใช้กฎระเบียบก็อยู่ในความควบคุมของผู้ชาย จึงอาจมีหลายอย่างที่ไม่สะดวกแก่นักโทษหญิง (เช่น การตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูลูกอ่อน) ส่วนนี้รัฐสามารถปรับแก้ได้ โดยมิได้ให้สิทธิพิเศษแก่หญิงเหนือชาย

อันที่จริงสภาพการจำขังในคุกของไทยออกจะมีลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมไปสักหน่อย การปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้น ก็จะมีผลแก่นักโทษทั้งหญิงและชาย

ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ มักได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ นับตั้งแต่ระดับตำรวจขึ้นมา เหมือนถูกกระทำซ้ำเติม รากเหง้าคงมาจากทัศนคติของผู้ชายในวัฒนธรรมไทย ข้อนี้ดูเหมือนแก้ง่ายด้วยการสั่งการให้เลิกปฏิบัติอย่างนั้นเสีย แต่ในความจริงแก้ไม่ได้ง่าย เพราะฝังรากลึกอยู่ในทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากการอบรมให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาลงไปแล้ว ควรมีมาตรการที่จะช่วยประกันสิทธิของผู้หญิงด้วย เช่น ส่งเสริมให้ใช้นายตำรวจหญิงในการสอบสวน หรืออย่างน้อยก็มีตำรวจหญิงเข้าร่วมในการสอบสวน

ในส่วนการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยราชการ หากมีกรณีเกิดขึ้น นายกฯหญิงต้องเอาใจใส่ให้สอบสวนอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และส่งสัญญาณให้ทราบว่า นายกฯจะไม่ปกป้องฝ่ายล่วงละเมิด ไม่ว่าเหยื่อจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างไรก็ตาม เป็นต้น

ทำได้เพียงเท่านี้ ผมก็เชื่อว่า คุณยิ่งลักษณ์จะสามารถปลดภาระความคาดหวังของผู้หญิงต่อนายกฯหญิงไปได้มากแล้ว และน่าจะได้รับความชื่นชมจากผู้หญิงมากขึ้นด้วย



++

Walter Bagehot
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 30


ผมไม่ทราบว่าหนังสือ The English Constitution ของ Walter Bagehot ยังมีใครอ่านกันในอังกฤษอยู่หรือไม่ และไม่ทราบว่ายังเป็นหนังสือบังคับสำหรับนักเรียนมหาวิทยาลัยหลายสาขาวิชาอยู่หรือไม่

แต่หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลในประเทศไทยอย่างมากและอย่างยาวนานจนแทบไม่น่าเชื่อ ใครๆ ก็อ้างหนังสือเล่มนี้ทั้งในข้อเขียนและคำพูดกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะนักกฎหมายและศิษย์เก่าสำนักอังกฤษ

แต่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในสมัยที่พระนางเจ้าวิกตอเรียยังเป็นพระบรมราชินีนาถ เพราะฉะนั้น นักเรียนอังกฤษตั้งแต่รุ่นพระราชโอรสของ ร.5 สืบมาจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คงเคยอ่านหรือถูกบังคับให้อ่านหนังสือเล่มนี้

และได้รับความนับถืออย่างสูงจากนักเรียนเก่าอังกฤษสืบมา (อย่างน่าตกใจ) จนได้พบการอ้างอิงในงานวิชาการในทุกวันนี้ แต่ผมคิดว่าอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานวิชาการ หากแผ่ไปถึงจินตนาการเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยของปัญญาชนไทยด้วย ทำไมอังกฤษจึงถูกยกให้เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในเมืองไทย

ทำไมนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์จึงชอบอ้างอังกฤษเป็นแบบอย่างเสมอ จนประหนึ่งว่าไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขที่ไหนเหลือให้ดูแบบอย่างได้



ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก เป็นฉบับพิมพ์ที่แก้ไขปรับปรุง (edition) ครั้งที่สอง ออกจะรู้สึกแปลกใจอย่างมาก เพราะด้วยความรู้กะพร่องกะแพร่งของผม หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือโฆษณาชวนเชื่อแท้ๆ เลย

ผมพูดอย่างนี้อาจทำให้ไขว้เขวได้ ผมไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเจตนาจะกล่าวสิ่งที่ท่านเองก็ทราบอยู่ว่าเป็นเท็จ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผู้เขียนเป็นคนที่มีความรู้ดีและกว้างขวาง โดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์ยุโรป (และแน่นอนอังกฤษด้วย) แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ตีความจากแง่มุมของกฎหมาย

ฉะนั้น จึงเสนอข้อถกเถียงของตนอย่างละเอียด เปรียบเทียบองค์ประกอบและกลไกของรัฐอังกฤษ (หรือที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญ) กับของประเทศอื่นในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่างจะแจ้งทุกแง่ทุกมุม และแน่นอนของอังกฤษย่อมเหนือกว่า

( ผมควรเตือนด้วยว่า ส่วนใหญ่ของรัชสมัยวิกตอเรีย ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งในช่วงนั้นยังเป็นระบบปกครองที่คนยุโรปยังรู้สึกทะแม่งๆ อยู่ ในขณะที่ในปัจจุบันระบอบราชาธิปไตยในทุกรูปแบบ--ทั้งจำกัดอำนาจและไม่จำกัดอำนาจ-เหลืออยู่เพียง 30 กว่าประเทศทั่วโลก )

ที่ผมเห็นว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อก็ตรงนี้แหละครับ คือความเหนือกว่าของระบบอังกฤษ เพราะเหตุผลที่ผู้เขียนให้ไว้ ดูจะสะท้อนความไม่เข้าใจระบบการเมืองแบบอื่นเอาเลย

ผมขอยกตัวอย่างการอธิบายความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ต่อการเมืองการปกครองของอังกฤษในหนังสือเล่มนี้


คุณค่าของสถาบันกษัตริย์ในทัศนะของเขาก็คือ สถาบันทำให้รัฐบาลเข้มแข็งกว่าระบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นระบอบที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ แตกต่างจากกฎหมาย, การเลือกตั้ง, กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เฉยๆ ที่กระทำนอกเหนือ "พระปรมาภิไธย" ทั้งนี้เพราะมนุษย์เราย่อมทำมาหากินไปวันๆ โดยไม่ได้ใส่ใจในเรื่องกระบวนการทางอำนาจที่สลับซับซ้อนอย่างนั้น แต่คำสั่งของผู้ปกครองสูงสุดหรือกษัตริย์ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ง่าย (และเชื่อฟังได้ง่าย) กว่า

ตัวอย่างที่ผู้เขียนแสดงเพื่อสนับสนุนข้อถกเถียงนี้ก็คือ มนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลหรือใช้เหตุผลกันมากนัก ฉะนั้น เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองของรัฐโดยตรงจึงถูกตัดออกไปจากระบบการเมือง ทำให้รัฐอยู่ไกลจากประชาชน แต่พระราชพิธี และพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ต่างหาก ที่ทำให้ประชาชนซึ่งไม่ได้สนใจรัฐ ได้รู้สึกว่าตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ดังนั้น พระราชพิธีเสกสมรส, พระราชสาส์นส่วนพระองค์ที่มีไปถึงบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ, ฯลฯ จึงเป็นที่ประทับใจของประชาชนมาก

เขาใช้คำว่า "พระราชวงศ์ ย่อมให้ความหอมหวานแก่การเมือง ด้วยการเหยาะเหตุการณ์ที่สวยสดงดงามลงไปเป็นระยะ พระราชวงศ์ย่อมเติมข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวเข้าไปในกิจการของรัฐ แต่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งพูดกับ "หัวอกของมนุษย์"..."

ตรงกันข้ามกับระบอบสาธารณรัฐ ความใส่ใจของประชาชนถูก "แย่งซีน" กันโดยนักการเมืองต่างๆ ตลอด ทั้งๆ ที่ "ซีน" ที่แย่งกันนั้นก็ไม่ได้เป็นที่น่าสนใจนัก ฉะนั้น ตราบเท่าที่หัวใจมนุษย์ยังแข็งแกร่ง ในขณะที่การใช้เหตุผลยังอ่อนแอเช่นนี้ สถาบันกษัตริย์ย่อมเข้มแข็งเพราะตอบสนองต่อความรู้สึก และสาธารณรัฐย่อมอ่อนแอ เพราะตอบสนองต่อความเข้าใจอันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผล



เหตุผลเหล่านี้ "ฟังขึ้น" ทั้งนั้นนะครับ ตราบเท่าที่เราคิดว่าเหตุผลกับอารมณ์ความรู้สึกสามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาด (รวมทั้งแยกระหว่างคนด้วย คือมีคนที่ใช้ชีวิตด้วยเหตุผล กับคนที่ใช้ชีวิตด้วยอารมณ์ความรู้สึก) แต่สองอย่างนี้แยกจากกันเด็ดขาดอย่างนั้นไม่ได้นี่ครับ ในเหตุผลมีอารมณ์ความรู้สึกแฝงอยู่ และในอารมณ์ความรู้สึกก็มีเหตุผลแฝงอยู่เหมือนกัน ผมคิดว่านักจิตวิทยาในสมัยนี้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี

แต่ในสมัยที่นาย Bagehot เขียนหนังสือเล่มนั้น จะว่าไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้ระหว่างเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกเลยก็ไม่ใช่ อย่างน้อยยุโรปก็ได้ผ่านยุคสมัยกระแสความคิดที่เรียกว่า Romanticism ไปแล้ว เขาเองก็เคยอ่านงานของรุสโซมาก่อน (เพราะอ้างถึง)

ที่ผมเห็นว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการเลือกหัวหน้าคณะผู้บริหารในระบบประธานาธิบดี และระบบที่มีกษัตริย์ เขาบอกว่า ในระบบประธานาธิบดี พรรคย่อมเลือกผู้สมัครที่มีโอกาสชนะมากที่สุด ไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถในการบริหารที่สุด ครั้นหมอนั่นได้กลายเป็นประธานาธิบดีแล้ว ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ไปอีก 4 ปี ในขณะที่พรรคภายใต้ระบบกษัตริย์ ย่อมเลือกหัวหน้าพรรคจากคนที่บริหารได้ดีอยู่แล้ว ซ้ำเมื่อเป็นนายกฯ แล้วไม่ได้เรื่อง พรรคก็ยังอาจเปลี่ยนหัวหน้า (หรือนายกฯ) กลางคันได้อีก

การเมืองทั้งสองระบบที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ว่าข้อสรุปของเขาออกจะสุกเอาเผากินไปหน่อย เพราะที่จริง ทั้งสองระบบมีการถ่วงดุลอำนาจที่สลับซับซ้อนมาก ไม่เฉพาะแต่องค์กรในระบบการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงสื่อและภาคประชาสังคมต่างๆ ด้วย และแม้ในสมัยที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ หากดูให้ละเอียดก็อาจเห็นได้ว่า การเมืองแบบประธานาธิบดี ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวประธานาธิบดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ข้อนี้ผมคิดว่าผู้เขียนหนังสือก็รู้ เพราะในตอนต่อมาเขาอภิปรายการเมืองฝรั่งเศสไว้ยืดยาว ก็ปรากฏในเนื้อความนั้นเองว่า ความล้มเหลวของประธานาธิบดี (สมัยของ Francois Guizot) ไม่ได้มาจากตัวประธานาธิบดีคนเดียว แต่เกิดจากปัจจัยที่สลับซับซ้อนกว่านั้นมากนัก

และยังมีอะไรที่ทะแม่งๆ ในทัศนะของผมอีกแยะ แม้กระนั้น ผมก็ต้องยอมรับว่า ผู้เขียนเป็นคนเก่งและรอบรู้อย่างยิ่ง สมกับที่จะถูกยึดถือเป็นคัมภีร์ด้านหลักการขององค์ประกอบแห่งรัฐ (constitution) ของฝ่ายอนุรักษนิยมได้


อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ที่มีต่อนักเรียนอังกฤษของไทยสมัยที่ยังอ่านหรือต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงมีสูง และส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ก็กลับมาเป็นแกนหลักของฝ่ายอนุรักษ์ในเมืองไทย ผมคิดว่าจะเข้าใจความคิดของฝ่ายอนุรักษ์ไทยหลัง 2475 (หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วย) โดยไม่อ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตอยู่สองประการเกี่ยวกับฝ่ายอนุรักษ์ไทยและหนังสือเล่มนี้

1. แกนหลักฝ่ายอนุรักษ์ที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ล้มหายตายจากไปมาก ในขณะที่คนซึ่งเคลื่อนเข้ามาเป็นแกนหลักรุ่นหลัง ไม่เคยอ่าน

การแสดงคุณค่าของระบบการเมืองที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จึงเปลี่ยนหรือย้ายมาเน้นที่พระราชพงศาวดารไทยแทน แต่ฐานคิดของพระราชพงศาวดารไทยไม่อาจนำมาใช้ในระบอบประชาธิปไตยได้ ดังนั้น คำอธิบายบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝ่ายอนุรักษ์ในรุ่นหลัง จึงห่างไกลจากระบอบประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ

ผมอยากให้เปรียบเทียบงานตีความประวัติศาสตร์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งต้องเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แน่นอน แตกต่างจากแกนหลักฝ่ายอนุรักษ์สมัยหลัง คุณชายเสนีย์ประกาศว่าจารึกพ่อขุนรามเป็น Magna Carta ของไทย และการปกครองสมัยอยุธยาซึ่งแม้จะเด็ดขาด แต่ก็เป็นประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นความพยายาม (ซึ่งไม่ได้เรื่องนักในทัศนะของผม) ที่จะอธิบายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ใช้ฐานคิดของพระราชพงศาวดาร... แต่ก็ดังที่ทราบกัน ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว

2. อันที่จริง อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ต่อฝ่ายอนุรักษ์ไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่บทเดียว คือบทที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

อิทธิพลบทเดียวนี้มีปัญหานะครับ เพราะนาย Bagehot เขียนอธิบายองค์ประกอบแห่งรัฐของอังกฤษที่เป็นประชาธิปไตย กษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งและมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษดำเนินไปได้ด้วยดี

ฉะนั้น การยกเอาบทกษัตริย์ออกมาจากหนังสือทั้งเล่ม แล้วมาใช้ในการอธิบายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย จึงไม่เป็นฐานสำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งเป็นราชอาณาจักรแต่อย่างไร

(นอกจากเป็นสร้อยตามหลังคำว่าประชาธิปไตย "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข")



ผมแปลกใจที่หนังสืออันมีอิทธิพลในประเทศไทยเป็นศตวรรษ ไม่ก่อให้เกิดการศึกษาและการแสวงหาในทิศทางเดียวกันสืบมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้อุดมการณ์ของฝ่ายอนุรักษ์ไทยออกจะตื้นเขินตลอดมา

ในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา ผมได้ยินคนพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์กันอยู่บ่อยๆ ผมคิดว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการ ซึ่งรวมความคิดและการกระทำของคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในสถาบันเพียงฝ่ายเดียว ในส่วนภาควิชาการ ผมคิดว่าต้องมีงานวิชาการที่มีคุณภาพเพื่ออธิบายคุณค่าและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย ไม่ใช่คุณค่าและบทบาทที่มีต่อสังคมไทยเฉยๆ นะครับ

โดยสรุปก็คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีฐานหลายฐาน ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ฯลฯ แล้ว ยังต้องมีฐานทางวิชาการอีกด้วย



.