http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-19

300 บาท และ ความเหลื่อมล้ำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

300 บาท
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เสียงคัดค้านต่อต้านนโยบายค่าแรง 300 บาทของพรรค พท.ดังระงมไปทั่ว เมื่อเห็นได้ชัดแล้วว่า พรรค พท.จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่ โดยยังไม่มีใครสร้าง "อุบัติเหตุทางการเมือง" ขึ้นในตอนนี้ ทุกคนรู้ว่านี่เป็นก้าวที่ถอยไม่ได้ เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อจาก พท. โดยผ่านการเลือกตั้งหรือยึดบ้านยึดเมือง ก็ไม่สามารถลดราคาลงจากนี้ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ย่างก้าวแรกนี้ดีกว่า

ผมไม่ทราบว่า แล้วมีใครที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทหรือไม่ เพราะสื่อไม่ขยันพอจะไปเที่ยวหาคนที่ไม่ใช่นักการเมืองของ พท.ที่เห็นด้วย เพื่อเอาความเห็นของเขามาเสนอบ้าง ( นักหนังสือพิมพ์ไทยชอบอ้างว่าข่าวต้องมีดุลยภาพ แต่ผมไม่เคยเห็นดุลยภาพที่ว่าในข่าวสำคัญๆ เลย มีแต่เมื่อคนด่ากันผ่านสื่อนั่นแหละ ที่สื่อจะเปิดพื้นที่ของตนให้เป็นเวทีมวย ) ดังนั้นในไม่ช้าสังคมไทยก็จะคล้อยตามฝ่ายทุนว่า หากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืน (ทั้งๆ ที่อาจพังเพราะสหรัฐกำลังจะล้มละลายก็ได้)

ผมติดตามกระแสคัดค้านต่อต้านแล้วก็ออกจะเศร้าใจนะครับ เพราะทางเลือกที่ผมได้จากการต่อต้านคัดค้าน มีอยู่เพียงสองทางเท่านั้น คือขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เช่นไม่ขึ้นแต่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือขึ้นแต่ต้องขึ้นด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทย ทางเลือกถูกเสนอให้จำกัดเพียงสองเสมอ ทำไมชีวิตผมจึงเหลือให้เลือกได้แต่ทักษิณกับอภิสิทธิ์เท่านั้น


ในส่วนข้อคัดค้านของฝ่ายทุน เช่นสภาอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังฟังไม่ขึ้น แต่ก็เข้าใจได้ คือเป็นความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง พูดอะไรก็ถูกทุกที แม้ไม่ต้องแสดงอะไรให้เห็นมากไปกว่า "กูพังแน่" ก็ตาม

ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ ความเห็นของคนที่ไม่ใช่ทั้งแรงงาน (ภาคอุตสาหกรรม) และไม่ใช่ทั้งนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อาจสรุปได้ว่า ยังไม่จำเป็นในขณะนี้ และฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการไตรภาคีว่าจะสามารถชะลอการขึ้นค่าแรงอย่างฮวบฮาบนี้ได้

ผมถามตัวเองว่า 300 บาทนี้มีเหตุผลหรือไม่ ผมตอบตัวเองไม่ได้ แต่มีนักวิชาการด้านแรงงานท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคำนวณรายจ่ายของแรงงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่พอจะทำให้เขามีชีวิตปกติสุขได้แล้ว เขาควรมีรายได้วันละ 298-299 บาท ก็คือ 300 บาทนั่นเอง (300 คูณ 26 = 7,800 บาทต่อเดือน)

อ้าว ถ้าอย่างนั้น ตัวเลข 300 ก็ไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ ที่มาจากการหาเสียงล่ะสิครับ มีเหตุผลของ "ชีวิต" แรงงานในฐานะมนุษย์รองรับอยู่ เว้นแต่จะเห็นว่า "ชีวิต" ของแรงงานไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น ที่จะคิดได้ว่า 300 บาทเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป

แม้ตัวเลข 300 จะมีเหตุผลรองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำได้ทันทีโดยไม่มีผลกระทบที่เราไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เราก็น่าจะยอมรับได้ว่าตัวเลข 300 เป็นเป้าหมายหรืออุดมคติ ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ในเร็ววัน ในสังคมสร้างสรรค์ (อันเป็นเป้าหมายของหน่วยงานที่เอาภาษีบุหรี่ของผมไปทำงาน) ข้อถกเถียงก็น่าจะอยู่ตรงที่มาตรการอันจะนำไปสู่อุดมคติว่า ควรทำอะไรและอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถบรรลุอุดมคติดังกล่าวได้เร็ววัน แต่ผมไม่ได้ยินใครเถียงกันเรื่องนี้เลย


หากแรงงานได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทแล้ว จะทำให้สินค้าไทยราคาแพงขึ้นจนกระทั่งไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกและตลาดภายใน ใช่หรือไม่ ?

ค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตแน่ แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งเตือนว่า เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น 40 บาทต่อวัน มิได้หมายความว่าสินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 40 บาทไม่ เพราะในกลไกการผลิตย่อมมีการดูดซับต้นทุนระหว่างกัน จนกระทั่งราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มค่าแรง อาจไม่มากนัก แต่เพิ่มแน่

ดังนั้น รัฐย่อมสามารถช่วยให้สินค้าไม่เพิ่มราคาขึ้นมากนักได้ ด้วยการเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่นลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ หรือตามข้อเสนอของพรรค พท.เอง คือการลดภาษีรายได้บริษัทลงเหลือ 27% เป็นต้น ข้อถกเถียงในสังคมสร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นเรื่องบทบาทของรัฐว่า จะเข้าไปหนุนช่วยในด้านใดและอย่างไร

ยิ่งกว่านี้ การหนุนช่วยของรัฐต้องมีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าราคาสินค้าเฉพาะหน้า แต่ควรเป็นการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น

ผมคิดว่า ถ้าเราช่วยกันคิด, เสนอ และถกเถียงเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ก็จะสามารถกลบเสียงของสภาอุตสาหกรรมที่ขอให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าแรง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย (ซ้ำอาจถูกมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลกด้วย) นอกจากทำให้อุตสาหกรรมไทยย่ำเท้าอยู่กับที่ โดยไม่ยอมขยับหนีเวียดนาม, จีน, อินโดนีเซีย และกัมพูชา ต้องตกอยู่ใน "กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง" ชั่วกัลปาวสาน

ยิ่งกว่านี้ ข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมยังฟังดูเหมือนว่า รัฐต้องจ้างอุตสาหกรรมมิให้กดขี่แรงงาน ตรรกะเดียวกันนี้นำเราไปสู่การจ้างโจรไม่ให้ปล้นด้วย


ผมยอมรับนะครับว่า รัฐบาลไทยได้เอาเงินไปจ้างโรงสีไม่ให้กดขี่ชาวนา จ้างโรงบ่มมิให้กดขี่ชาวสวนลำไย ฯลฯ มาแล้ว แต่นั่นคือวิธีการที่ตัวเกษตรกรไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยตรง และน่าจะยกเลิกเพื่อหามาตรการใหม่ที่จะทำให้เกษตรกรได้รายได้ที่มั่นคง ไม่ใช่มาตรการที่อุตสาหกรรมจะมาเอาเป็นแบบอย่างได้ ในขณะที่รัฐสามารถช่วยแรงงานโดยตรงได้อีกหลายอย่าง เช่นสนับสนุนให้โรงงานสร้างที่พักอาศัยในบริเวณโรงงาน หรือจัดให้เกิดที่พักในราคาถูกใกล้แหล่งโรงงาน สร้างโรงเรียนที่ฟรีจริงให้บุตรหลาน สร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน ฯลฯ

300 บาทจะนำไปสู่ของแพงขึ้นหรือไม่? ก็คงมีผลให้ของแพงขึ้นในระยะหนึ่ง เพราะเมื่อครอบครัวแรงงานสามารถกินไข่ได้ทุกวัน ก็เป็นธรรมดาที่ไข่ย่อมแพงขึ้นในระยะหนึ่ง จนกว่าผู้ผลิตไข่ซึ่งขายดิบขายดีจะเร่งผลิตไข่ออกมาได้มากกว่าเดิม แต่ผมไม่แน่ใจว่า เมื่อลูกแรงงานจะซื้อรองเท้านักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นหลายๆ ครอบครัว รองเท้าจะต้องแพงขึ้นเสมอไป เพราะโรงงานรองเท้าย่อมหันมาผลิตรองเท้าเพื่อตลาดภายในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่วางรองเท้าในตลาดปุ๊บ ก็ขายได้ปั๊บ ย่อมเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายแล้ว เพราะลดต้นทุนด้านสต๊อคลงไปมาก

ในฐานะของคนที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เลย ผมออกจะสงสัยทฤษฎีว่า การเพิ่มรายได้ทำให้ของแพงจังเลย ก็เมื่อสินค้าใดเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำไมจึงไม่แย่งกันผลิตเพื่อโซ้ยกำไรล่ะครับ และเมื่อแย่งกันผลิต ราคาสินค้านั้นก็น่าจะลดลงมาสู่ราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่หรือครับ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่ากลไกตลาดของเราเองต้องมีอะไรบางอย่างบิดเบี้ยว ทำให้ไม่มีใครแย่งกันผลิต พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมนั้น ไม่มีจริงในตลาดไทย เราก็น่าจะไปจัดการกับ "อำนาจเหนือตลาด" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งครอบงำตลาดไทยอยู่ และที่จริงก็มีมากเสียด้วย การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาทจึงต้องมาพร้อมกับมาตรการที่จะทำลาย "อำนาจเหนือตลาด" ในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้จ่าย 300 บาท ไม่อย่างนั้นไม่ควรมีใครในโลกได้รายได้เพิ่มขึ้นสักคน รวมทั้งนักวิชาการด้วย



อันที่จริงนโยบาย 300 บาทนี้ก็เดินตามนโยบายของรัฐบาลของพี่ชายว่าที่นายกฯ เป็นการฟื้นเศรษฐกิจวิธีหนึ่ง (แทนการแจกเงินเฉยๆ แก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) คือทำให้เกิดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในตลาดให้มากขึ้น อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งเน้นแต่ตลาดต่างประเทศอย่างที่สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ แต่เพิ่มกำลังซื้อภายให้สูงขึ้น

อย่าลืมด้วยว่าตลาดภายในนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางภาวะใกล้ล้มละลายของตลาดยุโรปและอเมริกา ประเด็นที่ผมอยากชี้ในเรื่องนี้ก็คือ 300 บาทเป็นนโยบายที่มีข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่เหลวไหลเพราะการหาเสียงอย่างที่สมาคมนายจ้างพยายามสร้างภาพ


บางท่านให้ความเห็นต่อ 300 บาทที่ตลกดีในทรรศนะของผม นั่นคือ แรงงานได้แค่วันละ 150 ก็อยู่ได้แล้ว ถ้ามีที่พักในโรงงาน มีเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรที่สามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูก ฯลฯ จริงเลยครับ ถ้ามีที่พักฟรี, กินอาหารฟรีทั้งตนเองและครอบครัว, มีโรงเรียนฟรีสำหรับบุตรหลาน, มีโรงพยาบาลฟรีสำหรับครอบครัว, มีเสื้อกางเกงให้ใช้ฟรี, มีฟิตเนสและโรงหนังฟรีใกล้ๆ, แถมกล้วยแขกหรือฝรั่งดองให้อีกหนึ่งถุงหลังอาหารกลางวัน ฯลฯ จ่ายแค่ 50 บาทเป็นเงินติดกระเป๋าก็พอแล้ว..

จริงที่ว่า "รายได้" ไม่ได้มีความหมายเพียงเงินค่าจ้าง แต่สวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ก็เป็น "รายได้" ส่วนหนึ่ง และเราควรหันมาสร้าง "รายได้" ให้แรงงานในรูปสวัสดิการให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะใช้เวลาเท่าไรล่ะครับ แม้แต่สมมุติว่ารัฐให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ก็ต้องใช้เวลา 5 ปี, 10 ปี หรือชั่วอายุคน แล้วระหว่างนี้ล่ะครับ จะให้แรงงานอยู่อย่างไร ในเมื่อเพื่อจะอยู่ได้ เขาต้องมีรายได้ถึงวันละ 298 บาทต่อวัน อยู่กับเงินกู้นอกระบบหรือครับ เงินกู้นอกระบบนั้นกินรายได้ของแรงงานไปจนกระทั่งดูเหมือน 300 บาทก็จะไม่สามารถปลดเขาจากพันธะนั้นได้เสียแล้ว

แน่นอนว่า 300 บาทไม่ได้เข้ามาแทนที่สวัสดิการอันจำเป็น แต่ 300 บาททำให้เขาอยู่ได้ก่อน การพัฒนาฝีมือแรงงานและสวัสดิการควรเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐจะต้องผลักดันอย่างเต็มที่ เป็นก้าวต่อไปที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอันขาด


บางคนแสดงความห่วงใยว่า 300 บาทจะดึงเอาพม่า, ลาว, กัมพูชา, หลั่งไหลเข้ามาอีกมากมาย ก็คงจะดึงจริงแน่ และถึงจะมีหรือไม่มี 300 บาท อีก 5 ปีข้างหน้าในเงื่อนไขของเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ปัญหาอยู่ที่ว่าเหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงงานไทยขาดแคลน การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาก็ดีแล้วไม่ใช่หรือครับ แต่สาเหตุส่วนนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า แรงงานต่างชาติรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทยไม่ได้ยกเว้นแรงงานต่างชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดเลย

หากเราสามารถบังคับใช้กฎหมายจริง แรงงานต่างชาติจะได้ค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย ผมไม่เชื่อว่านายจ้างไทยยังอยากจ้างแรงงานต่างชาติอยู่อีก แม้บางคนจะบอกว่าพม่า, เขมร, ลาว หัวอ่อนกว่าแรงงานไทย แต่อย่าลืมนะครับว่า คนที่มีบ้านอยู่ต่างประเทศให้กลับ ข้อพิพาทแรงงานอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายกว่าแรงงานไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ เผาโรงงานแล้วหนีกลับบ้านไม่ง่ายกว่าหรอกหรือครับ ที่ยังนิยมจ้างกันอยู่ในเวลานี้ ก็เพราะเอาเปรียบเขาได้ง่ายไม่ใช่หรือ

ยิ่งหากอุตสาหกรรมไทยสามารถขยับคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น แรงงานข้ามชาติ (กลุ่มเดิม) ยิ่งไม่เหมาะกับอุตสาหกรรมไทย

300 บาทนั้น ให้คำตอบที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปราศจากปัญหาเสียเลย ก็มาช่วยกันคิดแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นไม่ดีกว่าหรือครับ


+ + + +

บทความน่าอ่านประกอบ " กับดักรายได้ปานกลาง (Middle - income trap) "

เศรษฐกิจไทยจะตกขบวนรถไฟเทคโนโลยีหรือไม่ ? โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/04/blog-post_08.html

นับถอยหลัง...ประชาคมอาเซียน โดย บัณฑิต หลิมสกุล
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/04/blog-post_07.html


++

ความเหลื่อมล้ำ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1567 หน้า 21


หลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมอย่างนองเลือดในเดือนพฤษภาคม ก็มีผู้พูดถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยปัจจุบัน

แต่จะด้วยเหตุใดผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน "ความเหลื่อมล้ำ" ที่ใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจความขัดแย้ง จึงถูกจำกัดความให้เหลือเพียงความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

กลายเป็นว่า คนจนมาชุมนุมกันทางการเมืองภายใต้เสื้อแดง ดูเหมือนเป็นภาพที่สรุปกันไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า ผู้ชุมนุมไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอจะมาชุมนุมได้เอง ต้องอาศัยเงินของคนมีเงินอุดหนุนอยู่ลับๆ ให้มาร่วมชุมนุม ตรงกับที่ ศอฉ. ตรวจสอบและแช่แข็งธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลายคน

แต่ผู้ชุมนุมกลับยืนยันว่า เขามาเอง ไม่มีใครจ้าง อาจมีคนช่วยเหลือให้ข้าวให้น้ำให้น้ำมันรถ ฯลฯ เพื่อเดินทางมาบ้าง แต่ต้นทุนหลักของการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเวลาที่เสียไปในการทำมาหากิน มาจากตัวเขาเองทั้งนั้น

คงจะเป็นเพราะรับข้อสรุปฝ่ายรัฐอย่างไม่รีรอเช่นนี้ จึงทำให้ "ความเหลื่อมล้ำ" มีความหมายแคบลงเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

ซึ่งก็มีส่วนจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เป็นเพียงส่วนเดียวของความจริง จึงทำให้อธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองไทยเวลานี้ได้ไม่ทั่วถึง ทิ้งความกังขาไว้มากมาย

ในบรรดาความกังขาที่มีผู้แสดงออกนั้น ผมรวบรวมมาได้เป็นสองประเด็นด้วยกันคือ

1. "ความเหลื่อมล้ำ"ไม่ได้เพิ่งเกิดในเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 แต่มีมาในเมืองไทยนมนานกาเลแล้ว ที่ไหนๆ ในโลกก็มีคนรวยคนจนเหมือนกันทั้งนั้น หาก "ความเหลื่อมล้ำ" เป็นเหตุจริง ก็น่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดในตอนนี้ สาเหตุทั้งหมดมาจากทักษิณต่างหาก อีตาคนนี้แหละที่ใช้เงินที่ตัวมีมหาศาล ปลุกปั่นยุยงให้คนมาก่อการจลาจลในกรุงเทพฯ

ฉะนั้น ความขัดแย้งถึงกับวุ่นวายในกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ ไม่ใช่ "ความเหลื่อมล้ำ" หรือเหลื่อมล้นอะไรทั้งสิ้น


2.ข้อกังขาอย่างที่สองไม่เกี่ยวกับทักษิณ แต่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง นั่นคือส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่คนจน ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นหลักของการเรียกร้อง (เอาเลยด้วยซ้ำ) ฉะนั้น มูลฐานของความขัดแย้งจึงไม่ใช่ "ความเหลื่อมล้ำ" แต่จะเป็นเพราะอะไร ก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งนัก

อันที่จริง ใครคือคนจนนั้นอธิบายได้ยากมาก คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ฯ แม้จะแจงตามรายจังหวัดเพื่อสะท้อนค่าครองชีพที่เป็นจริงแล้ว ก็อาจไม่ได้จนไปทุกคน เพราะบางคนอาจอยู่ในอุปถัมภ์ของญาติมิตรลูกหลานบางส่วน (เช่นได้กินฟรีทุกมื้อหรือบางมื้อ) ก็ไม่ได้จนจริง หรือในทางตรงกันข้าม คนที่มีรายได้เหนือเส้นความยากจน แต่ต้องแบ่งเงินไปอุปถัมภ์ญาติผู้ใหญ่ ก็อาจจะจนกว่าคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนบางคนเสียอีก

ถ้า "คนจน" หมายถึงคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนดังกล่าว ผมก็เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ร่วมชุมนุมทางการเมือง และเอาเข้าจริงคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ (มีจำนวนประมาณ 5 ล้านกว่าคน) กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ จึงไม่เป็นพลังทางการเมืองให้แก่ใครได้จริงจัง

ผมเชื่อยิ่งไปกว่านั้นด้วยซ้ำว่า การชุมนุมทั้งหลายในเมืองไทยนั้น คนกลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจนนี้ ไม่เคยเข้าร่วมเลย แม้แต่จะจ้างให้ชุมนุม ก็มักเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้พอจะตกลงว่าจ้างกันได้ด้วยซ้ำ


แม้กระนั้น ผมก็เห็นด้วยกับข้อกังขาทั้งสองข้อ กล่าวคือ ความยากจนในเมืองไทยนั้นเป็นปัญหาแน่ แต่ความยากจนอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายสถานการณ์ความขัดเแย้งอย่างรุนแรง ที่เราประสบอยู่ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้วได้

ยิ่งไปกว่านี้ หากมองแต่เรื่องของความยากจนเพียงอย่างเดียว เราก็ไม่สามารถอธิบายความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง หรือหลากสี คนกลุ่มนี้ไม่มีทีท่า และไม่อ้างความยากจนเลย จนกระทั่งไม่มีใครคิดว่าพวกเขาคือคนจน

แต่คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนนะครับ ต่อเนื่องยาวนานเป็นปีๆ จึงไม่ใช่ความเคลื่อนไหวแบบ "อารมณ์ชั่วแล่น" (spontaneous) อย่างพฤษภามหาโหด 2535 และพร้อมจะเข้าร่วมในการกระทำแบบสุดโต่งเช่นยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินนานาชาติ

ความยากจนอธิบายการกระทำของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ ผมเชื่อว่าความเกลียดชังทักษิณเพียงอย่างเดียวก็อธิบายไม่ได้เหมือนกัน เพราะคงมีปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อนอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็นคนเสื้อเหลืองไป

แต่จะใช้ "ความเหลื่อมล้ำ" เพียงอย่างเดียว เพื่ออธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดในเมืองไทยก็ได้ หากทว่าต้องไม่ใช่ "ความเหลื่อมล้ำ" ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว



แท้จริงแล้ว "ความเหลื่อมล้ำ" อาจเกิดขึ้นได้สี่ด้านด้วยกัน คือเหลื่อมล้ำทางสิทธิ-โอกาส-อำนาจ-ศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นว่าความเหลื่อมล้ำทั้งสี่ด้านนี้ต้องเกิดขึ้นจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแนวทางการปฏิบัติหรือพูดให้กว้างกว่านั้นคือเกิดในทาง "วัฒนธรรม" มากกว่า

เช่นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ย่อมเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าธนาคารต้องให้กู้ได้เฉพาะผู้มีหลักทรัพย์ แต่ธนาคารกลัวเจ๊ง จึงเป็นธรรมดาที่ต้องเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ในขณะเดียวกัน ธนาคารไทยไม่เห็นความจำเป็นจะทำไมโครเครดิตกับคนจน เพราะแค่นี้ก็กำไรพอแล้ว จึงไม่มีทั้งประสบการณ์และทักษะที่จะทำ แม้รู้ว่าจะมีลูกค้าจำนวนมหึมารออยู่ก็ตาม

นี่คือโลกทรรศน์ทางธุรกิจของนายธนาคารไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรม"

"ความเหลื่อมล้ำ" ทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่จริง และจริงจนน่าวิตกด้วย เพราะมันถ่างกว้างขึ้นอย่างน่าตกใจตลอดมา แต่เป็นหนึ่งใน "ความเหลื่อมล้ำ" ด้านโอกาส, ด้านอำนาจ, ด้านสิทธิ จนทำให้คนส่วนใหญ่ด้อยศักดิ์ศรี ไม่ใช่เรื่องจน-รวยเพียงด้านเดียว

หรือในทางกลับกัน เพราะมีอำนาจน้อย จึงถูกคนอื่นแย่งเอาทรัพยากรที่ตัวใช้อยู่ไปใช้ หรือต้องคำพิพากษาว่าทำให้โลกร้อน ต้องเสียค่าปรับเป็นล้าน ทำมาหากินด้วยทักษะที่ตัวมีต่อไปไม่ได้ จึงหมดปัญญาส่งลูกเรียนหนังสือ ในที่สุดก็จนลงทั้งโคตร สิทธิก็ยิ่งน้อยลง, โอกาสก็ยิ่งน้อยลง, อำนาจก็ยิ่งน้อยลง, และศักดิ์ศรีก็ไม่มีใครนับขึ้นไปอีก

ต้องเข้าใจ "ความเหลื่อมล้ำ" ในความหมายกว้างอย่างนี้ จึงจะสามารถอธิบายสถานการณ์ขัดแย้งได้


อีกด้านหนึ่งที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาดทีเดียวก็คือ "ความเหลื่อมล้ำ" เป็นความรู้สึกนะครับ ไม่ใช่ไปดูว่าแต่เดิมเอ็งเคยได้เงินแค่วันละ 50 เดี๋ยวนี้เอ็งได้ถึง 200 แล้วยังจะมาเหลื่อมล้ำอะไรอีก

ก็ตอนได้ 50 มันไม่รู้สึกอะไรนี่ครับ ยังคิดอยู่ว่าชาติก่อนทำบุญมาน้อย ชาตินี้จึงต้องพอเพียงแค่ 50 คิดแล้วก็สบายใจ แต่เดี๋ยวนี้ความคิดอย่างนั้นหายไปหรืออ่อนกำลังลงเสียแล้ว จะด้วยเหตุใดก็ตามทีเถิด ได้วันละ 200 แต่ได้เห็นใครต่อใครเขามั่งมีศรีสุขกันเต็มไปหมด แม้แต่มือถือมือสองมือสามเครื่องละไม่กี่ร้อย จะซื้อให้ลูกยังต้องผัดวันประกันพรุ่ง จะให้ไม่รู้สึกเหลื่อมล้ำเลยได้อย่างไร

มีเหตุผลร้อยแปดที่ทำให้ความพอใจในตนเอง (self contentment) ของแต่ละคนหายไป จะดูแต่รายได้ที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว ก็ไม่มีวันเข้าใจ เพราะความพอใจในตนเองนั้นมีเงื่อนไขทางสังคม-วัฒนธรรมกำกับอยู่ด้วยเสมอ ยกเว้นแต่พระอริยบุคคลเท่านั้นที่อยู่ในโลกแต่เหนือโลก ผมเป็นแค่กรรมกรโรงงานเท่านั้นครับ

เราจึงมาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า "ความเหลื่อมล้ำ" นั่นคือความเปลี่ยนแปลงครับ



ผมเคยพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมไว้นานแล้ว อันเป็นเหตุให้คนไทยในทุกระดับชั้นต้องเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ มีส่วนร่วมทางการเมืองนั่นเอง แต่นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมแล้ว ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกหลายมิติที่เกิดในสังคมไทยมาเป็นหลายทศวรรษต่อเนื่องกันมา

เพียงแค่ทุกบ้านมีทีวีดู (เกิดในช่วงทศวรรษ 2530) แค่ทุกคนได้เดินทางออกไปจากหมู่บ้านของตัว (เกิดมาหลายทศวรรษแล้ว) แค่เด็กจำนวนมากได้เรียนหนังสือสูงไปกว่าที่เคยเป็นมา (เห็นได้ชัดในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา) แค่ทุกคนได้เห็นข่าวสมัชชาคนจน, บ้านกรูด-บ่อนอก, เหมืองโปแตช, แก่งเสือเต้น ฯลฯ, แค่ทุกคนได้กินอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น, แค่...ก็ทำให้ผู้คนมองโลกและชีวิตแตกต่างออกไปแล้ว

ฉะนั้น เมื่อพูดถึง "ความเหลื่อมล้ำ" จึงหมายถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ "ความเหลื่อมล้ำ" ที่แข็งโป๊กและหยุดนิ่งกับที่

เราไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงได้ บางอย่างเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากได้ด้วยซ้ำ ฉะนั้น จึงต้องหันมาจัดการกับอะไรอื่นๆ ที่ทำให้ความรู้สึกนี้บรรเทาลง

วิธีจัดการนั้น หากแบ่งอย่างหยาบๆ แล้วมีสองอย่างคือ

1. ทำให้ผู้คนหันมาพอใจกับความไม่เท่าเทียม จะโดยการตีความให้สันโดษมีความหมายผิดๆ หรือทำให้คนกลับมาเชื่อว่าวัฏจักรแห่งกรรมทำให้เราต้องอดทน เพื่อรอชาติหน้า หรือวิธีอื่นๆ ตามแต่จะคิดกันไปได้อีกหลายอย่าง

แต่วิธีนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จในความเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกสมัยใหม่ที่ไหนสักแห่ง


2. ทำให้เกิดความหวัง มนุษย์เราทนกับความยากลำบากหรือความไม่พอใจในวันนี้ได้ ก็เพราะหวังว่าพรุ่งนี้จะดีกว่านี้

ผู้คนต้องมองเห็นทางงอกงามของชีวิต (ทางเศรษฐกิจและทางอื่นๆ ด้วย) ในอนาคต "ความเหลื่อมล้ำ" ก็ไม่อาจทำร้ายเขาได้

แต่เราอาจสร้างความหวังลวงๆ หรือความหวังจริงๆ ก็ได้ทั้งสองอย่าง ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า ความหวังลวงๆ นั้น ถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่มีความหวังเสียเลย แต่ไม่ยืนนาน แล้วผู้คนก็มักจะสำนึกได้ไม่นานนักว่า ความหวังที่ตัวมีนั้นเป็นความหวังลวง ซึ่งจะไม่นำไปสู่อะไรที่ดีขึ้นเลย ยิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้านข่าวสารข้อมูล เวลาที่ใช้เพื่อสำนึกได้ จะยิ่งสั้นลง

ฉะนั้น ต้องทำให้ผู้คนในสังคมมีความหวังจริง และมีคนบรรลุถึงความหวังนั้นให้เห็นเป็นตัวเป็นตนมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ

เราจำเป็นต้องมอง "ความเหลื่อมล้ำ" ให้กว้างกว่าจน-รวย จึงจะเข้าใจความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดในสังคมไทยขณะนี้ได้


.