http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-31

แพ้ และ ฉันเสียสติ โดย คำ ผกา

.

บทความสั้นๆก่อนบทความหลัก

"ชาญวิทย์-คำ ผกา" ตั้งคำถามกับข่าว "ตัวเงินตัวทอง" บุกสภา ดิสเครดิต "นักการเมืองในระบบ" แล้วไง?
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 23:00:00 น.


หลังจากที่สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวและภาพตัวเงินตัวทอง 2 ตัว นอนประกบในลักษณะผสมพันธุ์กันอยู่บริเวณถนนทางเข้าสู่รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อข่าวและภาพดังกล่าวจากสองนักคิดนักวิชาการต่างรุ่น คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคำ ผกา คอลัมนิสต์นักคิดนักเขียนชื่อดัง

โดยชาญวิทย์ได้เขียนบทความขนาดสั้นชื่อ " ตัวเงินตัวทองร่วมรัก เกมเก่าของผู้ดี-คนชั้นสูง-ชั้นกลาง-ชาวกรุง " ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า

ข่าวที่คุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย สถาบันปรีดีฯ นำมาโพสต์ เรื่อง "ตัวเงินตัวทอง" ร่วมรักกันที่รัฐสภาฯ นั้น เป็นเกมเก่า ที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ( ด้วยการทรมานสัตว์ จับมาปล่อยให้ถูกจังหวะ/เป็นข่าว ) เพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย ที่ "ปกติ" ต้องมีการเลือกตั้ง และ "ปกติ" ต้องมีนักการเมือง

นี่เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ดี-คนชั้นสูง-และชั้นกลาง "ชาวกรุง" ที่พอใจโหยหา "อปกติ" คือ นักการเมืองในเครื่องแบบ (ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ข้าราชการศาล/อัยการ) และไม่ต้องลงเลือกตั้ง ครับ

สิ่งที่ควรกลับไปสำรวจทางประวัติศาสตร์การเมือง (ตั้งแต่สมัยท่านปรีดี เรื่อยมา) คือ นักการเมืองสวมเครื่องแบบ ที่รังเกียจเลือกตั้ง เช่น ผิน เผ่า สฤษดิ์ ถนอม ธานินทร์ สุจินดา สุรยุทธ ได้ทำอะไร หรือไม่ได้ทำอะไรให้กับ "ประเทศชาติ และประชาชน" บ้าง


Good luck on your wishful non-elcetoral democracy (มติชนออนไลน์ - ขอให้โชคดีกับประชาธิปไตยแบบไม่มีการเลือกตั้งที่พวกคุณปรารถนาถึง )


ขณะที่คำ ผกา ก็ได้โพสต์ข้อความลงในช่องแสดงสถานะของเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังข่าวและภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนว่า

"เหี้ยมีทุกหนทุกแห่งที่มีสภาวะแวดล้อม ความชื้น อากาศที่เหมาะสม การเฝ้าทำข่าวเหี้ยในสภาสะท้อนความอ่อนล้าทางปัญญาในสื่อ และตอกย้ำวาทกรรมนักการเมืองเลว โดยไม่ถามว่ามีวงการไหนที่ไม่มีคนเลว ??????? "


. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .


แพ้
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 89


" เขาทำมากี่ปี เขาอยากเป็นอำมาตย์ไม่ใช่หรือ เขามีแก้ว 3 ดวงคือ พรรค เสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ แล้วสื่อก็ช่วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อช่วยเขา โหมกันใหญ่ ก็คอยดู พวกคุณต้องรับผิดชอบด้วยที่ไปเชียร์เขาเป็นบ้าเป็นหลัง โดยกฎหมายคุณไม่ผิด แต่โดยความรู้สึก อย่าปฏิเสธเลย เพราะมันเห็นอยู่กับตา ก็ไม่เป็นไร เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ เราก็ยอมรับ และย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไม ก็ต้องค้นหาความจริง ว่าเราทำแล้ว ทุกคนก็ฮือฮาว่านโยบายนี้ดี แต่เสร็จแล้วเขาให้เงิน ก็ไปเลือกเขา มันเป็นธุรกิจการเมืองขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าเสียดาย "
กัลยา โสภณพนิช ส่งคำถามถึงรากหญ้า ทำไมเขาไม่คิดถึงเรา
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1311562781&grpid=&catid=80&subcatid=8001


มีเรื่องจะเล่าสู่กันฟัง ฉันมีโอกาสไปนั่งฟังเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง "54" ซึ่งนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ในวันนั้นมีข้อสรุปที่ค่อนข้างตรงกันคือ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนไทยโดยทั่วไปมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความสืบเนื่องกันมากกว่าจะพลิกผันผิดความคาดหมาย

เช่น ความกระตือรือร้นในการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาครั้งนี้ที่สูงที่สุด อันเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนไทยเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ เสียงของตนเองคือสิ่งที่กำหนดทิศทางของประเทศ

คงมีนักวิชาการและปัญญาชนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่กลับไม่มีความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เพราะยังหลงเชื่อว่าประชาชนไร้การศึกษา และลงคะแนนเสียงจากแรงจูงใจที่ไร้คุณภาพ เช่น ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือแรงจูงใจจากการซื้อเสียง

ความสืบเนื่องอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ เป็นเวลาอย่างน้อย 19 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง สำหรับตัวฉันแอบเสริมในใจว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็ขึ้นอยู่กับว่า พรรคจะประเมินความพ่ายแพ้ของตนเองอย่างซื่อสัตย์แค่ไหน

หากยังประเมินความพ่ายแพ้อย่างบิดเบี้ยว คิดเข้าข้างตนเอง และกระโดดงับวาทกรรมของปัญญาชนที่ยังจมปลักอยู่กับทฤษฎีชาวบ้านโง่และซื้อได้ด้วยเงิน ก็ขอทำนายว่า ประชาธิปัตย์จะยังคงเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้อยู่อย่างนี้ร่ำไป

อาจารย์อีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเพราะหากเปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรคแล้วจะเห็นว่ามีนโยบายที่ใกล้เคียงกัน (พักเรื่องใครลอกใครเอาไว้ก่อน)

เพราะฉะนั้น แสดงว่าประชาชนไม่ได้เลือกพรรคการเมืองจากนโยบายหรือผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่เลือกจากอุดมการณ์

ประชาชนอาจจะผิดหรือถูกในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีใครบอกได้ ณ วันนี้ แต่ที่แน่ๆ ประชาชนจิ้มไปที่พรรคเพื่อไทยด้วยสมมุติฐานที่ว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับพวกเขาในประเด็นหลักๆ เช่น ปฏิเสธการรัฐประหาร แก้ไขเรื่องสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนคนเสื้อแดงมองว่าพรรคเพื่อไทยจะยืนเคียงข้างพวกเขาในการเอาความยุติธรรมมาสู่คนเสื้อแดงที่ตาย บาดเจ็บ ถูกจับกุมคุมขัง

ภาระของพรรคเพื่อไทยในวันนี้คือ "สัญญาประชาคม" ที่ประชาชนอยู่ในสภาพ "เตรียมพร้อม" จะตรวจสอบ ทวงถาม ประเมินผลการทำงาน วิพากษ์วิจารณ์ กดดัน

หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้คือพิสูจน์ตนเองว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ยึดมั่นในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชนสำคัญเป็นลำดับแรกได้หรือไม่?



ยังไม่ทันที่ฉันจะไปตามดูว่าพรรคประชาธิปัตย์ประเมินความพ่ายแพ้ของตนเองอย่างซื่อสัตย์แค่ไหน (เหมือนเวลาเราถูกแฟนบอกเลิก นอกจากนั่งด่าว่าแฟนเราเลวอย่างไร เราต้องประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ถึงข้อบกพร่องของตนเองอย่างไม่เข้าข้างตนเอง เช่น เอ๊ะ เราอาจจะปากเหม็น, ตดดัง, ด่าไม่ยั้ง, เซ็กซ์ห่วย ฯลฯ - ซึ่งการประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ เป็นคนละอย่างกับอาการสูญเสียความภาคภูมิใจ (self esteem) และอาการสมเพชเวทนาตนเอง แต่จะนำมาซึ่งการปรับปรุงตนเองให้สดใสไฉไลมากขึ้น)

บทสัมภาษณ์ กัลยา โสภณพนิช ส่งคำถามถึงรากหญ้าทำไมเขาไม่คิดถึงเรา ก็ทำให้ฉันชักจะเป็นห่วงอนาคตของพรรคการเมืองที่มีอายุยืนที่สุดในประเทศพรรคนี้เสียแล้ว

"เราอาจพูดภาษาไม่ชาวบ้านพอ มันจะต้องติดดินหรือคลุกกับดินไปเลย แต่คนที่มีหน้าที่สื่อสารของ ปชป. อาจจะใช้ภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการเกินไป นี่เป็นการสันนิษฐาน"

โห...อยากจะบอกว่าถ้าคิดได้แค่นี้พรรคของคุณหญิงคงจะแพ้การเลือกตั้งไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ไม่นับการกล่าวหาคนเสื้อแดงเรื่องการมีกองกำลังติดอาวุธ เพราะมีพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาล มีกองทัพอยู่ในมือ มีตำรวจ มีดีเอสไอ ดูแลกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดในฐานะที่เป็นรัฐบาล มีงบประมาณ เหตุไฉนจึงไม่สามารถจับกุม "กองกำลังติดอาวุธ" ที่ว่าได้เลยแม้แต่คนเดียว


แล้วคนที่พรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นรัฐบาลจับเข้าคุกก็เป็นแกนนำเสื้อแดงที่เข้ามอบตัว จากนั้นก็เป็นชาวบ้านเสื้อแดงที่เป็นเพียงประชาชนสามัญ ปราศจากอาวุธ เป็นคนขับซาเล้ง ขายของเก่า เป็นคนทำงานลูกจ้าง เป็นคนยากไร้ที่ไม่มีศักยภาพจะเรียกร้องต่อกรกับรัฐบาล

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ถ้าหากกองกำลังติดอาวุธมีอยู่จริง นอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถติดตามจับกุมได้แล้ว รัฐบาลยัง "รังแก" ประชาชนที่ไร้หนทางต่อสู้อีกด้วย ด้วยการยัดข้อหา "ก่อการร้าย" ให้กับพวกเขา

และหากผู้ก่อการร้ายในเมืองไทยจะเป็นชายแก่วัยหกสิบมีสภาพร่างกายกะปลกกะเปลี้ยบ้าง เป็นเด็กหนุ่มที่มีอาชีพส่งพิซซ่าบ้าง ทั้งไม่ปรากฏว่ามีอาวุธร้ายแรงใดๆ ในการครอบครองบ้าง

เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องนับว่ารัฐบาลไทยเผชิญกับ "ผู้ก่อการร้าย" ที่กระจอกที่สุดในโลก


มิหนำซ้ำฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายกลับเป็นฝ่ายสูญเสียชีวิตถึง 91 ศพ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถนำความกระจ่างใดๆ มาสู่สังคมได้ว่าการฆาตกรรมหมู่กลางเมืองครั้งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรและโดยใคร?

นี่ยังไม่นับว่าในบทความ บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม ที่ตีพิมพ์ในวารสาร เสนาธิปัตย์ นั้นตอบคำถามของสังคมต่อเรื่องนี้ได้อย่างกระจ่าง ถ้าคุณหญิงกัลยา และพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้อ่านก็เชิญไปอ่านได้ที่
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308932303&grpid=01&catid&subcatid

อ่านแล้วจะได้ไม่มาพูดเรื่องแก้วสองดวง แก้วสามดวง กองกำลังติดอาวุธ ฉันฟังแล้วอดจะเห็นใจในวุฒิภาวะทางปัญญาของคนที่พูดอย่างนี้ออกมาไม่ได้


"ภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการ" น่าทึ่งมากที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ได้วิเคราะห์ความล้มเหลวของพรรคตนเองว่ามาจากการที่ "พูดดีเกินไป" แต่ก็อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียวเพราะพรรคนี้ได้รับการแปะฉลากไว้แล้วว่า "ดีแต่พูด" และไม่ทราบว่ามาตรฐานของภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการนั้นแปลว่า การพูดจาเป็นพระมะเหลเถไถ ไปไหนมาสามวาสองศอก ถากถาง เหน็บแนม บิดเบือน ป้ายสี

ยกตัวอย่างเช่น

"ท่านถือพาสปอร์ตของอังกฤษหรือเปล่า?"

"ผมไม่ได้ถือสัญชาติมอนเตเนโกร"

มันชวนให้ประหลาดใจเสียจนฉันไม่สามารถเขียนออกมาเป็นถ้อยคำได้ว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงวิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของตนเองว่า แพ้เพราะทำความดีแต่คนมองไม่เห็น หรือแพ้เพราะชาวบ้านเห็นแก่เงิน ( มิไยที่นักรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จำนวนไม่น้อย และหนึ่งในนั้นคือ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็ได้ชี้ให้เห็นจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่า "การซื้อเสียงเริ่มลดลงและไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด" prachatai.com/journal/2011/07/36106 )

หรือแพ้เพราะใช้ภาษาสูงเกินกว่าชาวบ้านจะเข้าใจ อันสะท้อนทัศนคติดูถูกชาวบ้านที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก!!!



ประหลาดใจยิ่งกว่านั้นคือการที่คุณหญิงกัลยาย้ำแล้วย่ำอีกว่าเป็นเพราะ "สื่อ" ไม่ช่วยพรรคประชาธิปัตย์แต่ไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง

พิโธ่พิถัง ถ้าหากรัฐบาลที่กุมอำนาจในสื่อของรัฐ อย่าง NBT แถมยังปล่อยให้มีรายการแบบวิทยุยานเกราะกลับชาติมาเกิดหลายต่อหลายรายการในสื่อที่รัฐควบคุมได้

ไม่นับสื่อไพร่ใจนาซีอีกหลายสื่อที่ถืออุดมการณ์ขวาจัด คลั่งชาติ คลั่งศาสนา คลั่งคุณธรรม แต่รังเกียจประชาธิปไตยที่พร้อมยืนใบอนุญาตฆ่าให้กับรัฐทุกวันด้วยวาดภาพการเรียกร้องประชาธิปไตยและการต่อต้านรัฐประหารของประชาชนให้กลายเป็นการก่อการร้าย พ่วงมาถึงพรรคพวกที่สนับสนุนท่านอันประกอบไปด้วย ครู หมอ พระ ที่สวมครุยของนักสันติวิธี แต่ดันมาเรียกร้องสันติวิธีแก่ผู้ถูกกระทำแล้วหันไปเลียไข่ผู้ดีแผล็บๆ

นี่ฉันยังไม่นับนักสตรีนิยมที่ทุรนทุรายว่า อำนาจของสตรีไม่มีผู้ปกป้อง แต่คนตายกลางถนนเกลื่อนเมืองนักสตรีนิยมผู้อ่อนไหวต่อการกดขี่สตรีเพศทั้งหลายนั่งมองศพตาปริบๆ เหมือนศพเหล่านั้นมิใช่ศพของมนุษย์ หรือจะให้ย้อนไปถึงครั้งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ที่ฉันไม่ได้ยินเสียงนักสตรีนิยมคนไหนออกมาร่วมกับขบวนการของประชาชนในการออกมาบอกว่า "เราจะไม่แก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการเรียกรถถังออกมารัฐประหาร"

พรรคประชาธิปัตย์พึงถามตนเองว่า ท่ามกลางความได้เปรียบเหล่านี้ ทำไมถึงพ่ายแพ้? มิใช่ทำตัวเป็นผู้หญิงถูกทิ้งแล้วฟูมฟายว่าผู้ชายเลวเหมือนหมา มิใช่ไม่ได้รับการเลือกตั้งแล้วก่นด่าประชาชนว่า "โง่อิบอ๋ายเลยแม่งเห็นแก่เงิน"

พรรคประชาธิปัตย์พึงเรียนรู้ว่า ลำพังการที่รัฐบาลของท่านไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตของประชาชนที่ชัดเจนว่าตายด้วยสไนเปอร์ ตายด้วยกระสุนจริงนั้นเพียงพอแล้วที่พรรคของท่านจะไม่ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์พึงเรียนรู้ว่าลำพังการป่ายปีนบันไดพิเศษขึ้นมาเป็นรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องนั้น และทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจ การเกิดขึ้นอย่างพิสดารของพรรคภูมิใจไทยและภาพของนายอภิสิทธิ์กอดกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยตัวจริงโดยปิดบังความระริกระรี้ไว้ไม่มิดก็เพียงพอแล้วที่จะให้ประชาชนจดจำว่า ใครเป็นใคร ใครทำอะไร และลักษณะของพรรคการเมืองที่ไร้อุดมการณ์นั้นเป็นเช่นไร


พรรคประชาธิปัตย์พึงเรียนรู้ว่าเหนือกว่า "เงิน" คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผลงานของท่านในฐานะรัฐบาลที่โดดเด่นอย่างยากจะหารัฐบาลใดมาเทียบเคียงได้คือความสามารถในการทำลาย ลดทอน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ท่านพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

และนี่คือบทเรียนของพรรคการเมืองทุกพรรคว่า หากพวกท่านดูถูกประชาชน หากท่านดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน เลือกตั้งกี่ครั้ง ท่านก็จะพ่ายแพ้ทุกครั้ง



++

ฉันเสียสติ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 89


ได้อ่านสัมภาษณ์ คุณฐากูร พานิชกุล จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วประทับใจในคำตอบของเขาต่อคำถามของผู้สัมภาษณ์ว่า "ความเป็นเอเชียเป็นอุปสรรคต่อการสร้างชื่อในวงการแฟชั่นโลกไหม?"

ฐากูรตอบว่า "ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นเอเชียหรือเป็นอเมริกัน เพราะนิวยอร์กเปิดกว้างมาก ให้โอกาสกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ แต่พิสูจน์กันที่ผลงานมากกว่า "
www.thairath.co.th/content/life/186862


อ่านแล้วก็ลองจินตนากาม เอ๊ย จินตนาการว่า หากวันใดวันหนึ่งในอนาคตกาลอันไกลโพ้นประเทศไทยแลนด์ของเราได้ผงาดเป็นประเทศโลกที่ 1 อันรุ่งเรืองศิวิไลซ์ ใกล้เคียงกับนิวยอร์กซิตี้ มีคนร้อยพ่อพันแม่มาอยู่กินทำงานและได้มีส่วนทำให้นิวยอร์กเป็นนิวยอร์ก เอ๊ย กรุงเทพฯ เป็นกรุงเทพฯ ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างทุกวันนี้ สมมุติแล้วสมมุติอีกว่าในอนาคตกาลนั้น มีดีไซเนอร์นางหนึ่งชื่อ มะขิ่น อพยพมาจาก เมืองละว้า (นามสมมุติ) แล้วมาโด่งดังในกรุงเทพฯ จากนั้นก็มีนักข่าวไปถามนางสาวมะขิ่นว่า "ความเป็นละว้าของคุณเป็นอุปสรรคต่อการสร้างชื่อในวงการแฟชั่นโลกไหม? (แบบว่าตอนนั้นกรุงเทพฯ ศิวิไลซ์เป็นศูนย์กลางโลกไปแล้ว) นางสาวมะขิ่นได้ตอบว่า "เดี๊ยนไม่คิดว่าความเป็นละว้าหรือความเป็นไทยจะมีผลต่อการสร้างชื่อ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เปิดกว้างมาก ให้โอกาสกับทุกคน โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ แต่พิสูจน์กันที่ผลงานมากกว่าค่ะ"

กรี๊ดๆๆๆ แค่จินตนาการเฉยๆ ยังเสียวสยิวสุดยอด ถ้ามันเป็นความจริง สงสัยฉันจะน้ำแ_กได้วันละหลายหน

ไม่ต้องไปเรียนให้จบปริญญาให้ได้ชื่อว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่และคับแคบ



คําตอบสั้นๆ ของคุณฐากูรที่ว่า "นิวยอร์กเป็นเมืองที่เปิดกว้างกับคนทุกคนไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติไหนภาษาไหน" ก็น่าจะทำให้เราได้ตระหนักว่าการ "เปิด" นั้นย่อมดีกว่าการ "ปิด" และ การ "กีดกัน" แต่ละสังคมจะผ่านประสบการณ์ ได้เรียนรู้ และเดินไปสู่ความมีวุฒิภาวะเช่นนั้นได้อย่างไร? และสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้มีสภาพเช่นไร?

อย่าลืมว่า ทั้งอเมริกาทั้งประเทศนั้นกว่าจะมีวุฒิภาวะอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ผ่านภาวะเจ็บปวดของการ "ปิด" และ "กีดกัน" มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทาส สีผิว ชนชั้น เชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อย คนท้องถิ่น (อินเดียนแดง) แรงงานอพยพ ผู้ลี้ภัย สิทธิสตรี สิทธิของคนรักร่วมเพศ ฯลฯ กว่าอเมริกาจะมีประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวสีนั้น คนผิวสีในอเมริกาต้องต่อสู้เพียงเพื่อจะให้ได้มาซึ่งที่นั่งในรถเมล์

สังคมไทยทุกวันนี้มีสภาพไม่แตกต่างจากสังคมอเมริกันในยุคที่ยังมีการเหยียดสีผิว ใช้แรงงานทาส ทว่า มันอยู่ในรูปแบบที่ซ่อนเร้น และถูกกลบเกลื่อนไว้ด้วยมายาคติว่าด้วยความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ความเป็นไทย



อัตลักษณ์ของความเป็นไทยเท่าที่จะแหวกม่านมายาคติไปดักจับมาได้มีอะไรบ้าง?

รักชาติ, เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี, มีความจงรักภักดี, นับถือคนที่ชาติกำเนิด การศึกษา ยังเชื่อในคำพังเพยที่ว่า "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล", ยึดมั่นในความสามัคคี เชื่อว่าสามัคคีคือพลัง เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยจึงปฏิเสธวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็น Grand Narrative ในทุกมิติ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ศาสนา พระสงฆ์ ไปจนถึงมิติเล็กๆ ทางวัฒนธรรม (แต่ส่งผลสะเทือนสูงทางการเมือง) เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา พิธีกรรมการรับปริญญา การรับน้อง - ทั้งนี้ เพราะสังคมไทยเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถาม ต่อ Grand Narrative จะนำมาซึ่งความแตกแยก ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ เผลอๆ ยังลามปามไปถึงขั้นใช้เรื่องความสามัคคีบวกกับประวัติศาสตร์ภาคพิสดารที่ทางการไทยเขียนเองเออเอง ปลุกกระแสชาตินิยม ทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหวังผลแพ้-ชนะ ของการเมืองภายในประเทศเสียด้วย

อีกหนึ่งในอัตลักษณ์ความเป็นไทยคือการยึดมั่นถือมั่นในประวัติศาสตร์ไทยฉบับราชการ เช่น เชื่อเรื่อง "เสียกรุง" อย่างเอาเป็นเอาตาย, เชื่อว่าพม่าคือศัตรูหมายเลขหนึ่งและเขมรคือศัตรูหมายเลขสอง ส่วนลาวเป็นลูกกระจ๊อก, มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย คืออะไรเหรอ ไม่รู้จัก ไม่สนใจ ไม่อยู่ในสายตา, เวียดนาม? อ๋อ ... อาหารเวียดนามอร่อยดีนะ ผักเยอะ, อังกฤษ และฝรั่งเศส คือภัยคุกคามจากตะวันตกที่เรารอดจากการเป็นอาณานิคมมาได้ด้วยอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษ, เชื่อว่าสุโขทัย เป็นต้นตำรับการปกครองแบบประชาธิปไตย
แบบไทย, มีความภูมิใจว่าเมืองไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เผลอๆ ก็คิดว่าคนไทยเป็นอะไรที่เจ๋งที่สุดในโลก และจะกระดี๊กระด๊าเป็นพิเศษถ้ามีฝรั่งมาชม หรือมีคนไทยไปมีชื่อเสียงในต่างแดน โดยเฉพาะในแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนที่พัฒนาแล้ว ว่าฝรั่งเหล่านี้ตาถึงเข้าใจซาบซึ้งในคุณค่าจริงแท้ของความเป็นไทย แต่ในทางกลับกัน ถ้าฝรั่งมาด่าก็จะโกรธมากเป็นพิเศษเช่นกันแล้วพร้อมจะเถียงกลับว่า เป็นฝรั่งอย่ามาสู่รู้เรื่องของคนไทยที่มีลักษณะพิเศษ จำเพาะเจาะจงที่ชาวโลกไม่มีวันจะเข้าถึง (อ้าว ทำไมมัน paradox เช่นนี้)


อาการเหยียดผิว เหยียดชาติพันธุ์ของ "คนไทย" มีให้เห็นตั้งแต่การสร้างภาพเหมารวมให้คนอีสานเป็นคนใช้ เป็นคนขับรถ เป็นตลกในหนังและละครไทย บวกกับการสร้างภาพภาคอีสานกินดิน แห้งแล้ง ยากจน กินกบ เขียด ปลาดิบ เป็นพยาธิใบไม้ในตับ สกปรก กินแมลง เต็มไปด้วยความทุกข์ทน บวกกับภาพเหมารวมจากกลุ่มศิลปินแนวเพื่อชีวิต มาร์กซิสต์รุ่นที่น่าจะเป็นคอมฯ เก่า (ต้องเอาไปซ่อม) คือภาพของคนอีสานยากไร้ถูกกดขี่ ขูดรีดจากนายทุน โง่ จนซ้ำซาก

ส่วนภาคเหนือนั้นไม่ต้องพูดถึง สาวเหนือผูกขาดภาพสาวเครือฟ้าผู้อ่อนแอ อับจน หมดหวัง ฆ่าตัวตาย พ่อแม่ขายลูกสาวกิน และผูกขาดอาชีพโสเภณีประจำชาติ ภาคใต้ไม่ต้องพูดถึงเพราะดูเหมือน "คนไทย" จำนวนหนึ่งยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าในภาคใต้มีภาษาใช้กี่ภาษา มีกี่ชาติพันธุ์ กี่ศาสนา อย่าว่าแต่จะไปรู้จักโลกทัศน์ของคนภาคใต้ที่ไม่มีอะไรสอดคล้องกับภาพเหมารวมของ "ภาคใต้" ในโลกทัศน์ของ "คนไทย"

จากนั้นก็ตามมาด้วยคำคุณศัพท์ "ลาว", "เสี่ยว", "หน้าลาว" ตามมาด้วยอาการรังเกียจความดำคล้ำของสีผิว ทั้งหมดนี้หลอมรวมเป็น "โครงการ" สร้างภาพชาวชนบทออกเป็น 2 ภาพใหญ่คือ

1. ชาวชนบทผู้แสนดี ซื่อใส น่าสงสาร มีน้ำใจ อยู่ในชนบท เป็นภาพโปสการ์ดหรือพิพิธภัณฑ์ที่มีลมหายใจเอาไว้เป็น "วัตถุ" ให้ชาวเมืองเข้าไปเยี่ยมชม ถ่ายรูป ช่วยเหลือ แจกผ้าห่มยามหนาว แจกถุงข้าวยามน้ำท่วม

2. ภาพชาวชนบทตัวดำ หน้าตาเป็นโจร สวมบุคลิกภาพแบบนักเลง พูดจาหยาบคาย มุทะลุดุดัน ก้าวร้าว ไม่เข้าใจความซับซ้อนของการเมือง จึงตกเป็นเหยื่อนักการเมือง

ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชาวชนบทถูกดิสเครดิตอยู่อย่างสม่ำเสมอว่าเป็นขบวนการที่รับเงินมาจากนักการเมือง



อาการเหยียดสีผิว เหยียดคนจน เหยียดหยามคนชนบทพุ่งสูงขึ้นเป็นพิเศษหลังการเลือกตั้งที่คนรอบข้าง และอดีตเพื่อนฝูงของฉันหลายคนต่างโทมนัสกับผลการเลือกตั้งที่บรรดา "คนจนผู้ไร้เดียงสา" ของพวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อนักการเมืองชั่วครั้งแล้วครั้งเล่า

เพื่อนบางคนถึงกับโพสต์ในเฟซบุ๊กด้วยอาการน้ำตาหลั่งรินว่า "ต่อไปนี้เราจะอยู่กันอย่างไร" (อยากตอบไปใจจะขาดว่า ก็อยู่อย่างเคารพในสติปัญญาของคนอื่นบ้าง อย่าดราม่าให้มากนัก)

ว่าแล้วก็สำนึกขึ้นได้ว่าอาการ Racist ในสังคมไทยก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทอีกนั่นแหละคือ ประเภท เหยียดหยามกันซึ่งหน้า ซึ่งเข้าใจง่ายดี คือกลุ่มที่ออกมาบอกว่า "เกลียดพวกควายแดง" หรืออะไรก็ว่ากันไป แบบเปิดหน้าชก ตรงไปตรงมา ไม่อาย ไม่ซ่อนเร้น ไม่ทำ Politically Correct

ข้อดีของคนกลุ่มนี้คือ อย่างน้อยก็จริงใจไม่ดัดจริต


อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มคนที่หลงใหลในวิถีชนบท อยู่กับ Narrative หรือ เรื่องเล่าของนักกิจกรรมรุ่นที่ใหม่กว่าพวก "คอมฯ เก่า" นิดหน่อย ที่เห็นว่าชาวบ้านแลวิถีชีวิตของชาวบ้านถูกรุกรานโดยกลุ่มทุนสามานย์ รังเกียจวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่เป็นประหนึ่งปีศาจล่อลวงซื้อเอาความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านผู้น่าสงสารเหล่านั้นไป สงสารชาวบ้านที่ต้องไปตายแทนนักการเมือง

คนกลุ่มนี้หลงใหลในแสงเดือนแสงดาว รังเกียจไฟฟ้าเพราะมันทำให้มองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าไม่ชัด ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง เพราะมันทำให้คนเห็นแก่เงิน ไม่เห็นด้วยกับการแจก Tablet เพราะมันทำลายกระบวนการเรียนการสอนแบบที่ให้ "คน" เป็นศูนย์กลาง (แต่หากพรรคการเมืองที่ตนเองชอบ "แจก" ก็จะมีเหตุผลอีกชุดหนึ่งมารองรับว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้) อาการอยากแช่แข็งชนบทให้งดงามตามจินตนาการ ฝันอยากเห็นชาวบ้านอยู่บ้านดิน ทำนา เลี้ยงควาย ใช้เงินน้อยๆ

สำหรับฉันเป็นความรุนแรงเชิงอุดมการณ์ที่คนในเมืองมีการศึกษากระทำกับชาวชนบทอย่างโหดเหี้ยม เลือดเย็น และเห็นควรต้องได้รับการชำแหละ รื้อถอน ถอดจินตนาการของพวกเขาออกมาเป็นชิ้นๆ ให้รู้ไส้รู้พุงกันไปข้างหนึ่ง



การหลุดพ้นจากพันธนาการของความเป็นไทยในภาพมายาอันเป็น "โครงการ" ที่ถูก "ปลูกถ่าย" ในจิตสำนึกของคนไทยเพื่อหล่อเลี้ยงอำนาจเก่า และเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชนชั้นกลางให้ถูกกักขังไว้ในโลกจารีต (ผลของมันคือ สังคมไทยที่มีชนชั้นกลางทางกายภาพแต่ไม่มีชนชั้นกลางทางอุดมการณ์ ชนชั้นกลางทางกายภาพเหล่านี้มีภาพของ "ชนชั้นสูง" เป็นภาพอุดมคติ พวกเขามีความสุขกับการบริโภคอาหารที่มียี่ห้อ "ผู้ดีเก่า" ต่อท้าย ชอบอ่านบทความและหนังสือเกี่ยวกับชีวิตชาววังสมัยโบราณ หลงรักนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ชอบอ่านนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล ชอบตำราอาหารของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ แสวงหาตำรายาไทยของผู้ดีเก่า เป็นต้น) จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารื้อ "อดีต" จอมปลอมที่หล่อเลี้ยงอุดมการณ์เหล่านี้ลงได้

ประวัติศาสตร์อเมริกานั้นนอกจากขบวนการต่อสู้ของคนดำ กรรมกร คนพื้นเมือง ผู้หญิงผิวสี และอื่นๆ แล้ว วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนได้รับการ "รื้อ" อย่างเอาจริงเอาจัง หนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญเล่มหนึ่งคือ Lies My Teacher Told Me โดย James Loewen ซึ่งได้เข้าไปสำรวจว่า ตำราประวัติศาสตร์อเมริกันที่ใช้สอนนักเรียนอยู่นั้นมีความเป็น Eurocentric และเป็นทั้ง Mythologized นั่นคือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนโลกทัศน์แบบการเอาเรื่องคนผิวขาว เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง และมีลักษณะของการสร้างมหากาพย์ ตำนาน มากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง

ไม่รู้ว่าอีกกี่ร้อยปีแสงที่คนไทยและสังคมไทยจะสามารถเขียนหนังสือชื่อ "เรื่องที่ครูสอนเราล้วนแต่เป็นเรื่องโกหก" ออกมาได้ อาจรวมถึง เรื่องที่ปรากฏในสารคดีโทรทัศน์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเรื่องโกหก เรื่องที่หนังสือพิมพ์เขียนทุกวันล้วนแต่เป็นเรื่องโกหก เรื่องที่นักเขียนระดับชาติพูดทุกวันล้วนแต่เป็นเรื่องโกหก ฯลฯ ที่ลงท้ายว่า "ล้วนแต่เป็นเรื่องโกหก"

เพราะมีแต่การรื้อ แยกแยะเอาข้อเท็จจริงออกจากเรื่องเล่า และตำนาน เท่านั้น ที่จะทำให้สังคมเติบโต และก้าวไปสู่ความมีวุฒิภาวะ จนกว่าจะได้กลายเป็น "นิวยอร์ก เมืองที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ" ขึ้นมาได้

เอ๊ะ นี่ฉันกำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ ????


.