http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-26

'เผด็จการทางรัฐสภา', ชาติพันธุ์กับสังคมพหุลักษณ์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

เผด็จการทางรัฐสภา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


คําว่า "เผด็จการทางรัฐสภา" คงเกิดขึ้นจากนักวิชาการที่สนับสนุน รสช. เพราะคณะรัฐประหารชุดนี้ใช้คำนี้โฆษณาให้ความชอบธรรมแก่การยึดอำนาจจากรัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอ้างว่ารัฐบาลนั้นมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ฉะนั้นจะดำเนินนโยบายอย่างไร ก็ไม่มีทางที่ใครจะขัดขวางได้ แม้แต่จะโกงกินกันอย่างเปิดเผย ก็ต้องปล่อยให้ทำไปตามกฎหมาย

ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นเผด็จการ เพียงแต่เป็น "เผด็จการทางรัฐสภา" เท่านั้น

เราจะพูดอย่างนี้กับรัฐบาลในระบอบรัฐสภาได้ทุกแห่งหรือไม่? ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก รสช. แต่ดูเหมือนมีนัยยะว่า หากรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากไม่ได้โกงไม่ได้กิน ก็ไม่ถือว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ฟังดูดีนะครับ

แต่ใครจะเป็นคนชี้ว่านโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่นั้น คือเจตนาที่จะเปิดโอกาสให้โกงกิน ใครโกงกิน และโกงกินอย่างไร หากสามารถพิสูจน์ได้อย่างน่าเชื่อถือด้วยพยานหลักฐาน เหตุใดจึงไม่มีกลไกอื่นใดที่จะยับยั้งหรือจับคนผิดมาลงโทษได้ (นอกจากทำรัฐประหาร)

แสดงให้เห็นว่า "เผด็จการทางรัฐสภา" นั้น หากมีจริง ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐสภาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความล้มเหลวของกลไกทางการเมือง ทางกระบวนการยุติธรรม และทางสังคม ที่จะถ่วงดุลอำนาจที่มาจากตัวเลขในรัฐสภาด้วย

ในสังคมอย่างนั้น จะมีการปกครองอย่างอื่นเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากเผด็จการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง



น่าประหลาดที่แนวคิดกลวงๆ อันนี้ ไม่ได้ตายไปกับ รสช. แต่ยังอ้อยอิ่งอยู่ในความคิดของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง (ทั้งอย่างจริงใจ และเพื่อประโยชน์ส่วนตน) สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันที่จริงแล้ว ผมคิดว่ามันแฝงอยู่ลึกๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ซึ่งเป็นแม่แบบส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย

(เพื่อความเป็นธรรม ผมควรกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการจะสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่เพราะกลัวเผด็จการทางรัฐสภา จึงสร้างกลไกถ่วงดุลเสียงข้างมากไว้หลายอย่าง อันเป็นกลไกที่เชื่อมโยงมาถึงประชาชน ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็ง นอกจากวางข้อกำหนดที่ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งได้ยากแล้ว ยังรักษากลไกถ่วงดุลเสียงข้างมากในรัฐสภาไว้เหมือนหรือยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 แต่ล้วนเป็นกลไกที่ไม่เชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน เพราะตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2540 . .ประชาชนนั่นแหละคือตัวอันตรายที่สุดในทรรศนะของรัฐธรรมนูญ 2550 )

และในปัจจุบัน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ แนวคิดเรื่อง "เผด็จการทางรัฐสภา" ก็ไม่ได้อ้อยอิ่งในความคิดเท่านั้น แต่เริ่มมีเสียงดังขึ้นมาอีก ปูทางไว้สำหรับการล้มรัฐบาลนอกรัฐสภา โดยวิธีใดวิธีหนึ่งในอนาคต

"เผด็จการทางรัฐสภา" นั้น ในทรรศนะของผมมีจริง แต่ไม่ใช่ในความหมายที่ตื้นเขินอย่างที่กล่าวกัน คือแค่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา ก็กลายเป็นเผด็จการทางรัฐสภาไปแล้ว ความเข้าใจที่ตื้นเขินเช่นนี้ นำไปสู่ข้อสรุปอย่างมักง่ายว่า ต้องทำให้เสียงข้างมากในสภาไม่เด็ดขาดนัก นั่นคืออย่าได้มีรัฐบาลพรรคเดียว แต่ต้องเป็นรัฐบาลผสม ยิ่งผสมโดยพรรคที่เข้าร่วมมีอำนาจต่อรองค่อนข้างมาก โอกาสที่จะเกิดเผด็จการทางรัฐสภาก็ยิ่งยากขึ้น

แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เพิ่งผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพรรคแกนนำและพรรคร่วมอาจเกี้ยเซี้ยแบ่งผลประโยชน์กัน โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชนเลยก็ได้

การจัดสรร "โควตา" รัฐมนตรีตอนจัดตั้งรัฐบาลผสมต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า เป็นการเตรียมตัวไปยึดเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา เพื่อดำเนินนโยบายอย่างไรก็ได้ โดยไม่มีกลไกที่จะสามารถกลั่นกรองถ่วงดุล ถ้า "เผด็จการทางรัฐสภา" มีความหมายเพียงแค่นี้ อย่างไรเสียเราก็หลีกหนีจากเผด็จการประเภทนี้ในระบอบรัฐสภาไม่ได้

และนี่อาจเป็นเหตุให้คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ท้อใจ จนพร้อมจะหันไปหาเผด็จการรูปแบบอื่นๆ เช่น รัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ระบอบทหาร ฯลฯ


รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแน่ เพราะเป็นสถาบันสำคัญที่เปิดให้แก่การควบคุมตรวจสอบของประชาชน (ผ่านทั้งการเลือกตั้ง และพื้นที่สาธารณะชนิดอื่นๆ เช่น สื่อ หรือการจัดองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง)

แต่รัฐสภาและการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในระบอบรัฐสภา ซึ่งถึงอย่างไรฝ่ายบริหารก็ต้องคุมเสียงข้างมากได้เสมอ ปราศจากกลไกทางสังคมที่เข้มแข็งพอจะกำกับควบคุมรัฐสภา อย่างไรเสียก็ย่อมเกิด "เผด็จการทางรัฐสภา" ขึ้นจนได้

จะมาฟูมฟายกับพฤติกรรมของนักการเมืองก็ไร้ประโยชน์ ซ้ำยังชวนให้ไปเพ้อฝันถึงระบอบเผด็จการรูปอื่นๆ ด้วย ดังคำพูดของท่านผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า

"ระบบรัฐสภาในประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นเผด็จการ เพราะในระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยจริง ส.ส.ต้องเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มอำนาจใดๆ แต่เนื่องจากรัฐสภาไทยตกอยู่ใต้การบัญชาของบุคคลคนหนึ่ง (ท่านคงหมายถึงคุณทักษิณ ชินวัตร) ระบบรัฐสภาจึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา" (แปลจากภาษาอังกฤษ อาจไม่ตรงกับคำพูดของท่านทุกคำ)

แต่มี ส.ส.ที่ไหนในโลกนอกจินตนาการเชิงอุดมคติล่ะครับ ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง อย่างน้อยเขาก็ต้องจำนนต่ออคติของผู้เลือกตั้งเขามา วุฒิสมาชิกหัวก้าวหน้าบางคนของสภาสูงสหรัฐ ไม่เคยลงคะแนนเสียงให้แก่กฎหมายใดที่มุ่งจะให้สิทธิเสมอภาคแก่คนดำเลย

เหตุผลก็เพราะเขาเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐทางใต้ที่รังเกียจผิวอย่างรุนแรง แต่เมื่อกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมอเมริกัน สนับสนุนความเสมอภาคของคนสีผิว นักการเมืองเหล่านี้ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือต้องเปลี่ยนแนวทางทางการเมืองในเรื่องสีผิวไป


การที่มีบุคคลบางคนสามารถบัญชา ส.ส.ได้เกือบทั้งสภา จึงไม่ใช่ความบกพร่องของระบบรัฐสภา แต่เป็นความบกพร่องที่ใช้ระบบรัฐสภาในสังคมที่ภาคประชาชนไม่เข้มแข็งพอจะกำกับควบคุมรัฐสภาได้ มีแต่การเลือกตั้ง 4 ปีครั้งเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องมือ

"เผด็จการรัฐสภา" จึงเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร รอนอำนาจประชาชนลงด้วยการมีวุฒิสภา (หรือสภาผู้แทนฯ) ที่มาจากการแต่งตั้ง หรือใช้ฝูงชนยึดทำเนียบรัฐบาล แต่อาจป้องกันได้ด้วยการสร้างเงื่อนไขทางกฎหมาย ทางการบริหาร ทางเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้โดยสะดวก

ในขณะเดียวกันก็อาจออกแบบรัฐธรรมนูญให้รองรับการเมืองภาคสังคม เช่น ลดอำนาจควบคุม ส.ส.ของพรรคการเมืองลง เปิดให้มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรค ให้สิทธิการ "เรียกคืน" ส.ส.แก่ประชาชนภายใต้เงื่อนไขอันหนึ่ง มีการลงประชามติในเรื่องแนวนโยบายสำคัญๆ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป การบริหารในรูปกรรมการต้องมีภาคสังคมร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่มีความหมาย

รัฐสภาก็ไม่อาจลอยอยู่โดดเดี่ยวได้ แต่ต้องคอยฟังเสียงและการเคลื่อนไหวของภาคสังคม (ทุกภาคส่วน) อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งอำนาจของรัฐสภาเองก็ถูกจำกัดลงด้วยเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวแล้ว "เผด็จการทางรัฐสภา" จึงเกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าอาจมีนักการเมืองบางคนสั่งสมบารมีมาก ก็ไม่สามารถครอบงำรัฐสภาได้เด็ดขาดนัก



น่าเสียดายที่ความเข้าใจอันตื้นเขินเกี่ยวกับ "เผด็จการทางรัฐสภา" ในเมืองไทย แพร่หลายมากเสียจนกระทั่ง แทนที่จะช่วยกันคิดหาทางป้องกัน กลับเป็นการชวนกันหันไปหาเผด็จการรูปแบบอื่น

ยิ่งกว่านี้ ในสองปีที่ผ่านมายังมีความพยายามที่จะทำให้การเมืองของภาคสังคมอ่อนแอลง มีการปิดเว็บไซต์และสื่อ ซึ่งเป็นอริกับรัฐบาลหลายพันแห่ง มีการจับกุมคุมขังผู้คนจำนวนมากด้วยข้อกล่าวหาที่คลุมเครือต่างๆ เช่น มาตรา 112 ในกฎหมายอาญา (คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซ้ำยังมีความพยายามแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ที่ยิ่งทำลายพลังของการเมืองภาคสังคมลง เช่น พยายามแก้กฎหมายคอมพิวเตอร์ซึ่งเลวร้ายอยู่แล้วให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ซึ่งคือการยึดพื้นที่สาธารณะไปจากประชาชนนั่นเอง ให้อำนาจ กกต.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งไว้อย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งการตัดสินใจของประชาชนไม่มีน้ำหนักเหลืออยู่อีกเลย

เมื่อดูแนวโน้มทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า "เผด็จการรัฐสภา" ย่อมจะยังเป็นลักษณะเด่นในการเมืองไทยต่อไป ทำให้การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ โน้มเอียงไปทางความรุนแรง เพราะฝ่ายที่ได้ชัยชนะจะได้หมด ในขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งไร้อำนาจต่อรอง ย่อมหันไปพึ่งอำนาจนอกระบบ ทำความเสื่อมเสียแก่อำนาจนอกระบบทั้งหลาย ที่ไม่ต้องการเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก



++

ชาติพันธุ์กับสังคมพหุลักษณ์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 28


เพื่อจะเป็นรัฐที่ใหญ่กว่าหมู่บ้าน รัฐไหนๆ ก็ย่อมประกอบขึ้นด้วยประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งสิ้น มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถรวบรวมกำลังทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างที่รัฐควรมีได้

นักวิชาการฝรั่งท่านหนึ่งซึ่งศึกษาไทดำเสนอว่า ตอนที่รัฐเล็กๆ ของพวกที่พูดภาษาไทย กำลังขยายจากรัฐเล็กๆ ใน "นาน้อยอ้อยหนู" ไปเป็นราชอาณาจักร เช่น เมืองเซ่าหรือหลวงพระบาง รัฐก็เลิกให้อภิสิทธิ์แก่ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต แต่มาจัดลำดับขั้นแห่งสิทธิ ตามแต่การพระราชทานของกษัตริย์

แปลว่า จะมีหรืออยู่ในชาติพันธุ์อะไรก็ไม่สำคัญ หากการดำรงสถานภาพสูงหรือต่ำในสังคม ขึ้นอยู่กับว่ากษัตริย์จะเป็นผู้กำหนดให้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่แต่สังคมไทยเท่านั้นที่เป็นพหุลักษณ์ รัฐเองก็กลายเป็นรัฐพหุลักษณ์ด้วย เลิกเป็นรัฐชาติพันธุ์ไปเด็ดขาด

ราชอาณาจักรที่เคยเกิดในดินแดนอันเป็นประเทศไทยปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นรัฐพหุลักษณ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ นอกจากจะมีคนหลายชาติพันธุ์อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว รัฐยังไม่ได้แบ่งแยกให้ชาติพันธุ์ใดได้สิทธิพิเศษเหนือชาติพันธุ์อื่น ทุกชาติพันธุ์ต่างเป็นข้าไพร่ของกษัตริย์เสมอเหมือนกัน

สมอเหมือนนะครับ ไม่ใช่เสมอภาค เพราะในท่ามกลางความเสมอเหมือนทางชาติพันธุ์นั้น มีบางคนบางกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์ ยกย่องหัวหน้าขึ้นเป็นขุนนาง มีอำนาจราชศักดิ์และสิทธิเหนือคนอื่นๆ

พระเจ้าแผ่นดินของรัฐต่างๆ ในแถบนี้ ต่างแสดงพระเกียรติด้วยการเป็นเจ้าเหนือชนหลากหลายชาติพันธุ์ บ้าน-เมืองใดที่มีเดชานุภาพและรุ่งเรือง ย่อมมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน ซ้ำยังรักษาความเป็นชาติพันธุ์ (ภาษา-วัฒนธรรม) ของตนให้ต่างจากกลุ่มอื่นด้วย ในวรรณคดีไทย แสดงเดชานุภาพของนครเช่นนี้ด้วยการ "ออกสิบสองภาษา" (และเทียบได้กับวรรณคดีของสังคมอุษาคเนย์อื่นๆ เหมือนกัน)



สังคมที่มีคนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน และดูเหมือนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนพอสมควรนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

นักวิชาการแต่ก่อนท่านอธิบายปัจจัยสำคัญไว้สองประการ คือศาสนาและระบบปกครองหรือกษัตริย์ ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่อาจขยายความสองปัจจัยนี้ไม่ตรงกับท่านแต่ก่อนนัก

ศาสนาที่สามารถเชื่อมประสานคนต่างชาติพันธุ์ให้อยู่กันได้อย่างกลมกลืนนี้ ต้องเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนในเรื่องวัตรปฏิบัติและหลักธรรม ฝรั่งเรียกว่าเป็นศาสนาที่ไม่มี "พรมแดน" (boundary) และด้วยเหตุดังนั้น คนต่างศาสนาหรือแม้แต่คนในศาสนาเดียวกัน จึงอาจข้ามไปข้ามมาได้โดยสะดวก ไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือคณะนักบวชที่มาคอยชี้นิ้วว่าอันนั้นผิดอันนี้ถูก

ไม่มีใครรู้สึกว่ามีความต่างระหว่างพุทธและผี ต้นพระศรีมหาโพธิต้นเดียวกัน คนหนึ่งอาจไปกราบไหว้ในงานเทศกาลด้วยสำนึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกคนอาจไปกราบไหว้ด้วยสำนึกว่าถึงเทศกาลไหว้ผีใหญ่ประจำถิ่น ก็ต้องไปกระทำบูชาเพื่อขอความคุ้มครอง และอีกหลายคนมีสำนึกปนๆ กันไปทั้งสองอย่าง

ชาวป่าชาวดอยก็อาจเข้าไปร่วมในเทศกาลไหว้พระศรีมหาโพธิด้วย อย่างน้อยก็เพราะสนุกดี และเมื่อพระศรีมหาโพธิเป็นผีดี การไหว้ผีดีก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย

เช่นเดียวกับวัตรปฏิบัติด้านอื่นๆ ของ "ชาวพุทธ" ไม่มีระเบียบชัดเจนแน่นอนนัก หรือถึงมีจะแถมอย่างอื่นเข้าไปด้วยก็ได้ เช่น นอกจากถือศีล 5 แล้ว อาจกินมังสวิรัติด้วย โดยไม่ต้องเอาคุยโตโอ้อวด ไม่ต่างจากอีกหลายคนอาจไม่ไปงานศพใครเลย เพราะครูหรือผีที่ตนได้รับการครอบแล้วสั่งห้ามมิให้กราบไหว้ "ผี" อื่นใด

คนต่างศาสนานอกจากศาสนาผีแล้ว ก็อาจข้ามเข้ามาในพุทธศาสนาแบบไม่มีพรมแดนได้เสมอ เช่น เข้ามาร่วมงานบุญเดือนสิบ โดยไม่มีใครรู้สึกอะไร และในทางตรงข้าม ชาวพุทธก็อาจข้ามไปยังศาสนาอื่นได้เหมือนกัน เช่น สนุกสนานในเทศกาลหะรีรายอ เป็นต้น

ผมคิดว่า เรื่องนี้สำคัญ ถ้าเราเข้าใจว่าศาสนาเป็นพลังกลมกลืนคนต่างชาติพันธุ์ในสังคมอุษาคเนย์โบราณ ก็ต้องเป็นศาสนาแบบนี้ ไม่ใช่ศาสนาอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันซึ่งกลายเป็นศาสนาที่มีพรมแดนชัดเจนขึ้นทุกที



ปัจจัยด้านที่เป็นระบบปกครองหรือกษัตริย์ ก็อาจมีส่วนในการทำให้ความต่างชาติพันธุ์ไม่เกิดปัญหากับรัฐได้ - และผมขอย้ำนะครับว่า ปัญหากับรัฐ ไม่ใช่กับคนอื่นร่วมสังคม - เพราะรัฐปฏิบัติต่อแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน

ผมนึกถึงกรณีที่เจ้านายในราชวงศ์มักกะสันซึ่งลี้ภัยมาอยู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ แล้วในภายหลังก่อกบฏขึ้น มีการรบกันใหญ่ สูญเสียชีวิตมากมาย สาเหตุก็ไม่ได้เกิดจากศาสนา และไม่ได้เกิดจากความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างออกไป แต่สาเหตุเป็นเรื่องการเมืองภายในของกรุงศรีฯ เอง ซ้ำในการกบฏก็พวกมักกะสันก็ไม่ได้ดึงเอากลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียง เช่น ชวา-มลายูมาร่วมด้วย รวมทั้งไม่ได้ปลุกปั่นให้มุสลิมอื่นเข้าร่วมด้วย และก็ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนาอื่นใดเข้าร่วมกับฝ่ายมักกะสัน

ปัญหาที่เกิดกับรัฐจึงไม่ได้มาจากชาติพันธุ์ แต่เป็นปัญหาของกลุ่มคนที่มีกำลังของตนเองระดับหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของอยุธยาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ญี่ปุ่น, เติร์ก, อิหร่าน, จีน, หรือไทย เป็นปัญหาของการจัดองค์กรเพื่อคุมกำลังคนของอยุธยาเอง ไม่ใช่ชาติพันธุ์

โดยสรุปก็คือ พระเจ้าแผ่นดินดึงเอาชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาอยู่ภายใต้ระบบช่วงชั้นทางสังคมอันเดียวกัน ระเบียบแห่งช่วงชั้น (hierachical order) ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่สูงสุดนี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดความกลมกลืนทางการเมืองระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ได้



ยังมีปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนได้ ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง นั่นก็คือ ส่วนใหญ่ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคมไทย ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมา "พึ่งพระบรมโพธิสมภาร" แต่เกิดขึ้นจากคนซึ่งอยู่ติดพื้นที่มาก่อนจะสถาปนาราชอาณาจักร (เช่น ชาวลัวะและเม็งในภาคเหนือ, ชาวมลายูในภาคใต้, ฯลฯ) หรือคนที่อพยพเข้ามาเองโดยไม่ผ่านการจัดตั้งของรัฐ (เช่น ชาวเขาทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ของชาวลาวในอิสาน)

คนเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน หากมีขนาดใหญ่ ก็อาจดำรงรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไปได้ หากมีขนาดเล็กก็อาจถูกผสมกลมกลืนโดยคนรอบข้าง ไม่ควรลืมด้วยว่า ในสังคมโบราณ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมระหว่างชุมชนต่างๆ มีไม่มากนักหรือไม่เข้มข้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้บ่อยนัก ต่างพึ่งพากันก็จริง แต่พึ่งพาอย่างห่างๆ

ผมจำได้ว่า เมื่อปีแรกที่ผมไปเรียนที่สหรัฐ ซึ่งก็ 40 ปีมาแล้ว มีฝรั่งคนหนึ่งเสนอรายงานการวิจัยชุมชนมอญแถบปทุมธานี เขาเล่าว่าส่วนใหญ่ของคนแก่ผู้หญิง (อายุเกิน 50) พูดภาษาไทยไม่ได้หรือไม่คล่อง ทั้งๆ ที่สามีของคนเหล่านี้นำโอ่งไหดินเผาลงเรือมาขายถึงกรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ

ดูจะสะท้อนความห่างเหินของชุมชนต่างชาติพันธุ์อย่างมาก ดังนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ชุมชนต่างชาติพันธุ์อยู่กันได้อย่างกลมกลืน ก็เพราะไม่ได้มีโอกาสกลืนกลมกันนั่นเอง

แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความกลมกลืนในสังคมพหุลักษณ์ของอุษาคเนย์โบราณได้หายไปหมดแล้ว และหลายรัฐก็ไม่ใช่รัฐพหุลักษณ์อีกแล้วด้วย เช่น มาเลเซียและพม่า เป็นต้น ยังไม่นับรัฐที่ไม่ยอมพหุลักษณ์แต่ซ่อนเงื่อนเอาไว้อีกมาก เช่น กัมพูชา, ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ว่าเฉพาะสังคมไทย ชุมชนต่างๆ เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคม-วัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก ศาสนาทุกศาสนาถูกสร้างพรมแดนขึ้นจนชัดเจน จะข้ามไปข้ามมาไม่สะดวกเหมือนเคย แม้แต่จะ "แก้กรรม" ด้วยพิธีกรรมอันเป็นเรื่องปรกติในศาสนาผีที่ปนกับพุทธไทยอย่างแนบแน่นมาแต่โบราณ ก็ถูกสำนักพุทธศาสนาขมวดคิ้วนิ่วหน้าใส่

ทางด้านระบบปกครอง เราก็ยกเลิก "ระเบียบของช่วงชั้น" ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นสุดยอดไปในทางกฎหมายแล้ว แม้ในทางปฏิบัติยังดำรงอยู่ก็ตาม แต่ก่อนนี้ คนไทยยอมรับระเบียบแห่งช่วงชั้นในทางปฏิบัติ แต่มาตอนนี้คนไทยจำนวนมากขึ้นทุกทีที่เริ่มไม่ยอมรับ และยืนยันในสิทธิเสมอภาคตามที่ตราไว้ในกฎหมาย

จึงเป็นธรรมดาที่เราจะเห็นความปั่นป่วนวุ่นวายในทุกด้านของสังคม เพราะสังคมไทยไม่ได้เตรียมตัวจะอยู่ร่วมกันภายใต้หลักการแห่งความเสมอภาค เราเคยชินและแสวงหาความปลอดภัยจาก "ระเบียบแห่งช่วงชั้น" มานาน



สังคมได้เปลี่ยนมาถึงจุดที่ "ระเบียบแห่งช่วงชั้น" ไม่อาจทำงานได้แล้ว ทัศนะแบบผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งที่เห็นว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มหรือคนใช้ในบ้านได้เท่านั้น เป็นทัศนะที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้ในประเทศไทยปัจจุบัน เพราะคนอิสานไม่ได้คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

ความหวังที่จะฟื้นฟู "ระเบียบแห่งช่วงชั้น" กลับคืนมา ไม่ว่าในรูปใด รังแต่จะทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมยิ่งขึ้น เพราะสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนคืนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก หนทางเดียวคือการหันมาช่วยกันคิดถึงการจัดการทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ที่เสมอภาค

หากไทยทำได้สำเร็จ เราอาจเป็นสังคมพหุลักษณ์แรกของอุษาคเนย์ ที่สามารถสร้างความกลมกลืนในสังคมพหุลักษณ์ของยุคสมัยปัจจุบันได้


.