http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-09

ควันหลงเลือกตั้งใน"เฟซบุ๊ก"ฯ และ ฯโรคซึมเศร้าหลังเลือกตั้ง โดย พิศณุ นิลกลัด

.
ควันหลงเลือกตั้งใน"เฟซบุ๊ก" เมื่อ"คนเหนือ-อีสาน"ระดมพล เสียบประจาน"คนไม่เอาตุ๊กตาบาร์บี้"
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 14


พรรคเพื่อไทยสามารถคว้าชัยชนะเหนือคู่ต่อกรสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไปได้อย่างถล่มทลาย 265-159 เสียง ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

เพื่อไทยสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างมโหฬารในภาคอีสานและเหนือ แต่ก็ล้มเหลวสิ้นเชิงในภาคใต้ ที่สำคัญ พวกเขายังพ่ายแพ้ต่อประชาธิปัตย์ในสนาม กทม. ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ที่มีนัยยะน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ผลการเลือกตั้งเหล่านี้ได้ถูกส่องสะท้อนออกมาผ่านความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิกเฟซบุ๊กชาวไทยเช่นกัน



เมื่อสมาชิกชาวไทยจำนวนมาก (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่) ในเฟซบุ๊ก คือคนชั้นกลางขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

พวกเขาจึงแสดงอาการผิดหวังรับไม่ได้กับผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อันนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นหน้าเพจจำนวนหนึ่ง อาทิ

เพจ "เราไม่เอา ตุ๊กตาบาร์บี้ ไร้สมอง มาบริหารประเทศ" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 3,577 ราย)

ซึ่งประกาศจุดยืนของตนเองว่าเป็น "คนไทยที่มีสมอง ไม่ต้องการบาร์บี้ไร้สมอง มานั่งเป็นนายกหุ่นเชิดให้ นักโทษ โกงชาติ ล้างผิด"

เพจ "มั่นใจว่าคนไทย เกิน 1 ล้านคน เซ็งกับผลการเลือกตั้ง" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 6,557 ราย)

ซึ่งอธิบายจุดยืนส่วนตัวว่า "เพจนี้สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนอาการเซ็งของคน ที่ถูกเรียกว่าเป็น "เสียงส่วนน้อย""

"ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่...ไว้อาลัยให้กับผลการเลือกตั้ง เซ็งกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ท้อแท้กับความรู้สึกที่หวนคิดถึงสิ่งที่พวกเค้าทำไว้กับประเทศไทย"

และเพจ "มั่นใจคนไทยเกิน 10 ล้านคน อยากให้คุณอภิสิทธิ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 12,766 ราย) เป็นต้น



ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนยังผลิตซ้ำวาทกรรมทำนอง "คนอีสาน/คนชนบทโง่ ด้อยการศึกษา และถูกนักการเมืองผู้โกงกินหลอก" ออกมาในสถานะของตนเอง

เช่น "น.ส.น" (นามสมมุติ) ที่ได้พิมพ์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองภายหลังการเลือกตั้งว่า "ภาคอีสานนอกจากจะเป็นภาคที่หน้าตาแย่ที่สุดแล้ว จนที่สุดแล้ว ยังโง่ที่สุดด้วย" หรือ "น.ส.ป" (นามสมมุติ) ที่พิมพ์ข้อความดูถูกคนอีสานในลักษณะคล้ายคลึงกันออกมา

นำมาสู่ปฏิกิริยาตอบโต้ของสมาชิกเฟซบุ๊กจากอีกฝั่งฟากทางความคิดและจุดยืนทางการเมือง

เมื่อเกิดเพจกลุ่ม "มั่นใจคนอีสานทั้งประเทศไม่พอใจ น.ส.น" และเพจ "คนอีสานแค่ต้องการคำขอโทษจาก น.ส.น" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 11,404 ราย และ 9,254 ราย ตามลำดับ) รวมทั้งเพจ "มั่นใจคนอีสานทั้งประเทศไม่พอใจ น.ส.ป" (มีสมาชิก 6,707 ณ วันเวลาเดียวกัน)

ซึ่งมีจุดยืนคล้ายๆ กันว่า พวกเรา ไม่ได้ต้องการจะเป็นศัตรูกับใครหรือคนภาคไหน เพราะเรารู้ว่า ทุกภาคมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป พวกเราเพียงแค่อยากเห็นพวกคุณได้สำนึกผิดในสิ่งที่ได้ทำลงไป

ต่อมา มีการถือกำเนิดขึ้นของเพจลักษณะเดียวกันตามมาอีก 2-3 กลุ่ม ได้แก่ "พวกเราคนเหนือและคนอีสานต้องการคำขอโทษจากคนภาคอื่นที่พูดจาดูถูกพวกเรา" "กลุ่มคนฮักภาคอีสาน เกลียดการดูถูกคนอื่น" และ "คนอีสานมีการศึกษา เข้าใจคำว่าประชาธิปไตย ไม่ชอบให้ใครมาดูถูก"

ที่อธิบายแนวทางของตนเองว่า "ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังต่อต้านการกระทำของผู้คนเมืองที่ดูถูกเหยียดหยาม เหยียบย่ำหัวใจคนอีสาน และขอเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะขอเรียกร้องให้คนเหล่านี้ ออกมากราบขอโทษพ่อแม่พี่น้องชาวอีสาน อันเป็นกระดูกสันหลังของชาติค่ะ"

หรือ "เราจะรวมตัวกันเพื่อต่อต้านพวกที่เรียกว่า "การศึกษาสูง" แต่ชอบทำตัว "ดูถูก" คนอื่น ซึ่งไม่เข้าใจว่าคนที่มีการศึกษาเค้าทำกันแบบนี้เหรอ? สำหรับคนที่จะเข้าร่วมแฟนเพจ ต้องเข้าใจคำว่า 1.ประชาธิปไตย 2.เสียงส่วนใหญ่ 3.กติกา"


หลายคนเห็นว่าการเกิดขึ้นของเพจกลุ่มหลัง ถือเป็นการโต้ตอบทัศนะทางการเมืองของกลุ่มคนที่บางฝ่ายนิยามเอาไว้ว่าเป็น "พวกสลิ่ม" (เห็นได้จากการถือกำเนิดของอีกหนึ่งเพจที่น่าสนใจ ซึ่งมีชื่อว่า "รวมวาทกรรมสลิ่มอกหัก" ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อความแสดงอาการเกลียดชังเพื่อนร่วมชาติของเหล่าคนชั้นกลางภายหลังวันที่ 3 กรกฎาคม)

หลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า นี่เป็นอีกปรากฏการณ์ล่าแม่มดด้านกลับในโลกออนไลน์ จากที่คนเสื้อแดงหรือผู้มีจุดยืนเคียงข้างเสื้อแดงเคยถูกไล่ล่าอย่างหนักในช่วงปี 2553 ด้วยข้อหาเผาบ้านเผาเมือง-ไม่จงรักภักดี

มาเป็นการที่คนอีสาน-คนเหนือ กระทำการเสียบประจานคนกรุงมีการศึกษา ด้วยข้อหาดูถูกดูแคลน และไม่ยอมรับคะแนนเสียงเลือกตั้งของเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ ในปี 2554


แต่เหตุการณ์ก็อาจไม่รุนแรงอย่างนั้น ดังเช่นจุดยืนของเพจกลุ่ม "คนอีสานแค่ต้องการคำขอโทษจาก น.ส.น" ซึ่งประกาศว่า "เพียงแค่คุณออกมาขอโทษในบอร์ดของเพจนี้ ผมจะเปลี่ยนชื่อเพจภายใน 7 วันเลยครับ"

ส่งผลให้เมื่อ น.ส.น ประกาศขอโทษคนอีสานในหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง ก็มีการรณรงค์ให้สมาชิกในกลุ่มทยอยลบข้อความและภาพเสียบประจาน น.ส.น ออกจากเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์

เหมือนกันกับเพจ "รวมวาทกรรมสลิ่มอกหัก" ที่กำหนดให้สมาชิกทำการลบชื่อและปิดบังใบหน้าของเจ้าของข้อความซึ่งนำมาเผยแพร่ เพื่อป้องกันมิให้เพจกลุ่มของตนเองกลายเป็นกลุ่มล่าแม่มดออนไลน์

จึงเป็นอีกครั้งที่ "สังคมออนไลน์" เฟซบุ๊ก สามารถสะท้อนภาพความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยใน "โลกออฟไลน์" ออกมาได้อย่างแหลมคม และไม่ร้างไร้ความหวังจนเกินไป



++

"Post Election Depression" โรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้ง
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612 หน้า 96


ขณะนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นโรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้งที่ฝรั่งเรียก โพสต์ อิเล็กชั่น ดีเพรสชั่น (Post Election Depression)

นักจิตวิทยาบอกว่าคนที่ผิดหวังจากผลการเลือกตั้งเพราะพรรคที่ตัวเองเอาใจช่วย หรือคนที่ตัวเองออกแรงเชียร์แพ้การเลือกตั้งจะเกิดอาการผิดหวัง โมโห โกรธ แค้น กังวล เหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของโรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้งทั้งสิ้น

ใครดูข่าวโทรทัศน์ตอนที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงข่าวลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอนสายวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็คงเห็นภาพกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้หญิงวัย 20 ต้นๆ หลายคนร้องไห้ทันทีทั้งๆ ที่คุณอภิสิทธิ์ยังแถลงข่าวไม่จบ

มีอยู่คนหนึ่งน้ำตาไหลพรั่งพรูออกมาเป็นสายเหมือนน้ำทะลักจากตาน้ำ

เห็นแล้วทั้งสงสารทั้งอยากปลอบใจให้หายเศร้าโศก

กองเชียร์ประชาธิปัตย์เหล่านี้ตกอยู่ในอารมณ์เดียวกับคนเสื้อแดงสองสามพันคนที่อยู่ติดเวทีปราศรัยราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีกลายเมื่อได้รับคำสั่งจากแกนนำให้ยุติการชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้าน

ทุกคนตกใจ หลายคนร้องไห้ ยืนหยัดขอสู้ต่อ ในขณะที่แกนนำยอมมอบตัวกับตำรวจ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต

อารมณ์ของกองเชียร์ประชาธิปัตย์ กองเชียร์คนเสื้อแดงเวลานั้นไม่ต่างจากกองเชียร์แมนฯ ยู ลิเวอร์พูล หรือทีมชาติบราซิล แข่งแพ้แล้วทีมรักของตัวเองตกรอบ



โรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้งไม่ได้มีแต่ในเมืองไทย

ที่อเมริกาก็เกิดขึ้นบ่อยๆ

สมัยที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะ จอห์น แคร์รี่ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2004 หลังการเลือกตั้งคนอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

คนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตเป็นโรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้งกันมาก

เศร้าเพราะผู้สมัครที่ตัวเองเชียร์ไม่ได้รับเลือกตั้ง แล้วตามมาด้วยวิตกกังวลอนาคตของประเทศ

จิตแพทย์บอกว่าการเป็นโรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ เหมือนเวลาที่ทีมฟุตบอลในดวงใจแข่งแพ้บรรดาแฟนพันธุ์แท้ก็รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า โกรธแค้นทีมฝั่งตรงข้าม ซึ่งนักจิตวิทยาบอกว่าอารมณ์โกรธแค้นนั้นมีได้ แต่อย่าเคียดแค้นนาน เพราะที่สุดแล้วจะเป็นผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจของเราเอง

ข้อแนะนำในการแก้โรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้ง มีดังนี้

1. ออกกำลังกายคลายเครียด ไม่ให้จิตใจหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการเมือง

2. หลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อนร่วมงาน เพราะการคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ไม่มีประโยชน์อะไร บางทีพูดไปแล้วทำให้เกิดความโกรธเคือง กินใจกัน ทำให้เสียเพื่อน เพราะเวลาคนที่มีความเห็นทางการเมืองคนละขั้วคุยกันมักจะลงเอยเป็นการทะเลาะกันซะมากกว่า

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ประเด็นที่ไม่ควรพูดกับเพื่อนร่วมงานคือเรื่องศาสนา ปัญหาสุขภาพตัวเอง เรื่องเซ็กซ์ ปัญหาครอบครัว และแผนการทำงานในอนาคตว่าอยากเปลี่ยนงานหรืออยากได้เลื่อนขั้น

หัวข้อสนทนาที่ไม่เสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้งขัดใจกันคือเรื่องดินฟ้าอากาศ อาหารการกิน และการท่องเที่ยว



ไม่เพียงแต่คนที่เชียร์ฝ่ายแพ้การเลือกตั้งเท่านั้นที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังการเลือกตั้ง คนที่เชียร์ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากการเลือกตั้งได้เหมือนกัน

โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทุ่มแรงกายแรงใจในการช่วยหาเสียง หลังจากที่ดีใจฉลองชัยชนะที่คนที่ตัวเองเชียร์ได้รับการเลือกตั้งแล้ว

วันรุ่งขึ้นไม่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมาทำให้ชีวิตมีสีสัน ไม่มีข่าวการเลือกตั้งให้ติดตาม

เมื่อชีวิตกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ก็อาจรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างในชีวิตหายไป ชีวิตว่างเปล่า อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังการเลือกตั้ง

ที่ประเทศไต้หวัน สมัยการเลือกประธานาธิบดีเมื่อปี 2000 ช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งมีผู้ป่วยด้วยอาการเครียด ซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์

จิตแพทย์บอกว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคเครียดเพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการเลือกตั้ง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนที่ลงแรงช่วยหาเสียง จึงเกิดความเครียดเพราะกังวลผลการเลือกตั้งผสมกับนอนน้อย

คนกลุ่มนี้เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง แม้ผู้สมัครที่ตัวเองช่วยหาเสียงจะได้รับเลือกตั้ง แต่ก็ดีใจได้แป๊บเดียว หลังจากนั้น อาจมีอาการซึมเศร้าเพราะไม่มีอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจทำเมื่อการเลือกตั้งจบลง



สําหรับกองเชียร์ของพรรคที่แพ้หรือได้ ส.ส. น้อยกว่าที่คาดหวังที่ยังทำใจไม่ได้ ขอแนะนำให้ตัดใจยอมรับผลที่ออกมาเพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจากยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่

ขอให้นึกเสมอว่าหากเราซึมเศร้า หงุดหงิดกับผลการเลือกตั้ง ผู้ได้รับผลกระทบก็คือสมาชิกในครอบครัวเรา

สนใจการเมืองน่ะดีแล้ว แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติและกติกาของการเมืองด้วย เวลามีการเลือกตั้งก็มีแพ้มีชนะ

เวลาชนะเราดีใจ เวลาแพ้ต้องรับได้

ชนะให้เป็น แพ้ให้เป็น

ยิ่งถ้าเป็นการเลือกตั้งที่เสียงส่วนใหญ่บอกว่าค่อนข้างโปร่งใสและยุติธรรม ยิ่งต้องยอมรับ

เอาไว้เลือกตั้งครั้งต่อไปค่อยสู้กันใหม่


.