http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-07-20

300 และ แสงสว่าง, ( + 300-อีกที ) โดย ฐากูร บุนปาน

.

300
โดย ฐากูร บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


หลังจากโดนเสียงคัดค้านดังระงมขึ้นมา ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยก็ทำท่า "เป๋ๆ" ไปเหมือนกัน

กับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว นี่คือนโยบายที่แหลมคมที่สุด เป็นนโยบายที่จะพิสูจน์ "กึ๋น" ของพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

และเป็นนโยบายที่จะเป็นอีกก้าวในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบ "พลิกโฉม" ไปมากที่สุด

ถ้ายอมถอยนโยบายนี้ ทั้งที่โฆษณามาเต็มปากเต็มคำระหว่างช่วงหาเสียง

ก็อย่าหวังเลยว่านโยบายอื่นๆ จะเดินหน้าไปได้

เพราะคนคงไม่เชื่อน้ำยา

กองเชียร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะชาวรากหญ้าหรือขบวนการแรงงานที่ "จัดเต็ม" มาให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าไม่เสื่อมศรัทธาไปเลย ก็คงจะไม่เทใจให้เต็มร้อยเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

ถามว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/คน/วัน นั้นดีไหม

คำตอบคือดี

ลองนึกถึงความเป็นจริงว่า ต่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงานทั้งเดือนไม่มีวันหยุด รายได้เฉลี่ยของเขาก็คือ 9,000 บาท

น้อยกว่าค่าอาหารมื้อเดียวของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการทั้งหลายเสียอีก


ผลสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่จมปลักดักดานอย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

คือ 421 บาท/คน/วัน

คณะกรรมการค่าจ้างกลางสำรวจพบว่าแรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลรายรอบ มีรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายตามอัตภาพ วันละ 6.8 - 11 บาท และไม่พอต่อรายจ่ายตามคุณภาพชีวิต วันละ 24 - 25 บาท

ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของลูกจ้างต่อวัน อันประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าอาหาร ยารักษาโรค เฉลี่ย 198 บาท/วัน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งประกอบด้วยค่าเช่าบ้าน-ที่พัก ค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า ค่ากิจกรรมทางสังคม ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในการศึกษาเรียนรู้

เฉลี่ยขั้นต่ำ 7,800 บาท/คน/เดือน

แน่นอนว่าถ้าค่าแรงขึ้น จะมีธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบรุนแรงบ้าง เบาบางบ้าง ลดหลั่นกันไป

ถามว่าพรรคเพื่อไทยทำการบ้านตรงนี้ไว้หรือยัง

ว่าจะช่วยใครบ้างและอย่างไร

ถ้าทำแล้ว ทำไมไม่มีคนออกมาอธิบาย

หรือจะให้เข้าใจว่ายังไม่ได้ทำ-ที่ผ่านมาแค่หาเสียงไปก่อน?


ไม่มีใครออกมาพูดได้บ้างหรือว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 123

ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 27 หักลบกับเงินเฟ้อแล้วต้องถือว่าไม่ได้ปรับขึ้นด้วยซ้ำไป


ไม่มีใครออกมาพูดบ้างหรือว่า แม้แต่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่รายได้ต่อหัวของประชากรน้อยกว่าเราเกือบครึ่ง ค่าจ้างขั้นต่ำบ้านเขาก็สูงกว่าไทย คืออยู่ที่ 283 กับ 227 บาท

พูดไม่เป็นหรือพูดไม่ออก ?



++

แสงสว่าง
โดย ฐากูร บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ถูกใจหรือไม่ถูกใจอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ และคุณหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์

ที่ยื่นเรื่องให้องค์กรต่างๆ ตรวจสอบคำให้การในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ก็ตาม

และไม่ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะส่งผลทางการเมืองเป็นลบกับคนถูกร้อง

หรือมีผลในทางตรงกันข้ามกับที่ผู้ร้องตั้งใจก็ตามที

แต่ในแง่หลักการแล้วจะต้องสนับสนุนให้ 'พลเมือง' มีสิทธิตรวจสอบผู้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนายกรัฐมนตรี

เพราะถ้าคุณยิ่งลักษณ์สามารถตอบข้อสงสัยในเรื่องคำให้การในคดีดังกล่าวได้

ในฐานะ 'ว่าที่นายกรัฐมนตรี' การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งก็จะเป็นไปด้วยความสง่างามกับตัวเอง

อันเป็นผลดีกับสังคมโดยรวม


ในทำนองเดียวกัน คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ควรจะพร้อมและพึงตอบข้อซักถามหรือความสงสัยในกรณีการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมษายน-พฤษภาคม 2553

เพราะข้อเท็จจริงที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีผู้เสียชีวิตจริงไม่น้อยกว่า 91 ราย มีผู้บาดเจ็บพิการไม่น้อยกว่า 2,000 ราย

ใครฆ่า ใครยิง ใครสั่ง

ป่านนี้ยังเป็นปริศนา ป่านนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกันตรงไหนและเมื่อไหร่

ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไปเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว

เป็นคำถามที่จะหลอกหลอนสังคมไทยต่อไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความจริง

และไม่มีการมอบความยุติธรรมให้กับผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ

ในฐานะของมนุษย์ด้วยกัน ในฐานะของผู้ได้รับการอบรมให้เป็นสุภาพบุรุษและลูกผู้ชายของสถานศึกษาต้นแบบจากประเทศอังกฤษ

และในฐานะของนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องรับผิดชอบชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

คุณอภิสิทธิ์ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบ หรือแสดงความกราดเกรี้ยวกับผู้ตั้งคำถามเหล่านี้ได้

ถ้าเข้าใจคำว่า 'คนตายมีหน้า คนถูกฆ่ามีชื่อ' ไม่ว่าใครก็ตามที่มีสำนึกและความรับผิดชอบ ก็ต้องตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมา

ไม่ใช่ด้วยตอบโต้-แบบวิธีการบนเวทีโต้วาที-ด้วยการเอาชนะผู้ตั้งคำถามนั้น


Maurice Freehill นักเขียนชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเด็ก เคยเขียนคำคมที่คนจำนวนไม่น้อยเอาไปเผยแพร่ต่อกันว่า

Who is more foolish,

the child afraid of the dark,

or the man afraid of the light?

พากย์ไทยก็คือ

ใครกันแน่ที่เขลา

เด็กน้อยผู้พรั่นพรึงต่อความมืด

หรือผู้ใหญ่ที่หวาดกลัวแสงสว่าง - - - - -


คำถามมีอยู่ว่าผู้นำรัฐบาลของประเทศนี้ เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่

และกลัวอะไรมากกว่ากัน ระหว่างความมืดกับแสงสว่าง

พึงพิจารณา


+ + + +

โพสต์เพิ่มเมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2554

300-อีกที
โดย ฐากูร บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.


ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องเหตุผลในการสนับสนุนให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (หรือมากกว่า) และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15,000 บาท

เผลอๆ จะเขียนเป็นนิยายเรื่องยาวได้

แต่เพื่อมิให้ยืดเยื้อ ขออนุญาตนำเสนอเฉพาะข้อมูลล้วนๆ แล้วข้อสังเกตอีกเล็กน้อย ว่าทำไมต้อง 300 และ 15,000 อีกครั้ง

แล้วรอไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาแถลงนโยบาย ค่อยว่ากันอีกที


ข้อสังเกตและเหตุผลในการสนับสนุน 300 และ 15,000 ของวันนี้อยู่ที่ "ช่องว่าง" ระหว่างคนทำงานทั่วไป กับ "มนุษย์ทองคำ" อันได้แก่ซีอีโอหรือผู้บริหารกิจการทั้งหลาย

ยิ่งนานก็จะยิ่งถ่างออกไปทุกที

เมื่อปี 2549 เคยมีสำรวจเงินเดือนและค่าตอบแทนซีอีโอของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า

30 อันดับแรกนั้น ได้ค่าตอบแทนระหว่าง 27,641,667 ลงไปถึง 6,635,682 บาท/ปี หรือประมาณเดือนละ 2.3 ล้านบาท-550,000 บาท

ขณะที่ผลตอบแทนของพนักงานในกิจการที่สำรวจมานั้น อยู่ที่ 1,298,816-253,293 บาท/ปี

หรือประมาณ 100,000 ลงไปถึง 21,000 บาท/เดือน

ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์อีกเหมือนกันในปี 2552 ระบุว่า ปตท. จ่ายเงินผู้บริหาร 8 คน 88.779 ล้าน (ประมาณคนละ 11 ล้านบาท/ปี) ขณะที่ปี 2551 จ่าย 7 คน 74.338 ล้าน (ประมาณ 10.5 ล้าน/ปี)

2551 เอไอเอสจ่ายผู้บริหาร 7 คน 83.5 ล้านบาท เฉลี่ย 11.9 ล้าน/คน

และธนาคารกรุงเทพจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารสูงสุด 4 รายแรก 87.75 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วเกือบๆ 22 ล้าน/คน/ปี

ถามว่าผิดไหม-ถ้าตอบในเชิงการแข่งขันด้านธุรกิจ ที่คนเหล่านี้ต้องนำองค์กรออกไปสู้กับเสือสิงห์กระทิงแรด ทั้งไทยและเทศด้วยกัน

ไม่ผิด

ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้าจ่ายระดับหัวกะทิแพงระยับขนาดนั้นได้

ทำไมจะยกระดับชีวิตพนักงานทั่วไปขึ้นมาบ้างไม่ได้ ?


มีตัวอย่างของเรื่องนี้จากสหรัฐอเมริกา

เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ความแตกต่างระหว่างเงินเดือนพนักงานธรรมดากับผู้บริหารจะอยู่ที่ 20-30 เท่า

แต่ถึงปลายทศวรรษ 1990 นิตยสารฟอร์จูนสำรวจะพบว่าค่าตอบแทนซีอีโอ 100 คนแรก เฉลี่ยแล้วขึ้นไปเป็น 37.5 ล้านเหรียญ

สูงกว่าคนงานทั่วไป 1,000 เท่า

แม้ในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่พนักงานทั่วไปถูกลอยแพ ผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่ได้กระทบกระเทือน

เพราะมี "สต๊อก ออปชั่น" และโบนัสพิเศษ แม้แต่ในปีที่บริษัทขาดทุน

เท่านั้นยังไม่พอ ปี 1997 จอห์น สโนว์ ซึ่งต่อมาเป็น รมว.คลังของจอร์จ บุช แต่ขณะนั้นเป็นซีอีโอของซีเอสเอ็กซ์ บริษัทรถไฟที่ขาดทุนย่อยยับ

"หน้าด้าน" เป็นตัวแทนนักธุรกิจใหญ่ไป "ล็อบบี้ "ให้สภาสูงสหรัฐผ่านกฎหมายที่ไม่นับสต๊อก ออปชั่น หรือสัญญาจะให้หุ้นกับผู้บริหารเป็นรายจ่ายของบริษัท

นั่นคือไม่มีใครต้องเสียภาษี

แล้วก็ได้เสียด้วย

ที่รวยก็ยิ่งรวยขึ้นไปใหญ่

เงินที่เป็นใบเบิกทางไปสู่เงินก้อนใหญ่กว่า และอำนาจ-เส้นสาย ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

ไทยอยากจะเดินตามรอยนั้นหรือ?



.