.
---------------------------------------------------------------------------------------------------
โลกที่เปลี่ยนไป
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
2-3 วันนี้ เมืองไทยมี "ข่าวใหญ่" 2 ข่าว
ข่าวแรก ข่าวน้ำท่วมใหญ่ เป็นข่าวในประเทศ
ส่วนข่าวที่สอง เป็นข่าวต่างประเทศ
ข่าวการเสียชีวิตของ "สตีฟ จ็อบส์"
ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวโทรทัศน์ ข่าวน้ำท่วมจะใหญ่กว่าเพราะผลกระทบสูง
แต่ในเฟซบุ๊ก "สตีฟ จ็อบส์" มาแรงมาก
แรงจนกลบข่าวการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งปีนี้มีแง่มุมทางการเมืองที่น่าสนใจหลายเรื่อง
โดยเฉพาะกรณี "นิติราษฎร์"
ความแรงของ "สตีฟ จ็อบส์" ทำให้หลายคนเชื่อว่าต่อไปวันที่ 6 ตุลาคม จะเป็นเส้นแบ่งระหว่างวัย
ต่อจากนี้หากมีใครถามว่าวันที่ 6 ตุลาคม เป็นวันสำคัญใดในประวัติศาสตร์
คนกลุ่มหนึ่ง จะตอบว่าเป็นวันล้อมฆ่าประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6 ตุลาคม 2519
แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งจะตอบว่า 6 ตุลาฯ คือวันเสียชีวิตของ "สตีฟ จ็อบส์"
คนแต่ละวัยจะ "อิน" กับวันนี้แตกต่างกัน
คนอายุ 50 ปีขึ้นไป จะรู้จักวันที่ 6 ตุลาคมเป็นอย่างดี
ทั้ง "รู้" และ "รู้สึก"
ส่วนคนอายุต่ำกว่า 50 ปี กลุ่มหนึ่งจะไม่รู้จักเลย
อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะ "รู้"
แต่ไม่ "รู้สึก"
ในทางตรงกันข้าม คนอายุ 50 ปีขึ้นไป จะไม่ "อิน" กับ "สตีฟ จ็อบส์"
คงรู้จัก แต่ไม่ "รู้สึก"
ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ยิ่งอายุน้อยเท่าไร จะคุ้นชินกับ ไอโฟน ไอพอด ไอแพด
เขาจะมอง "สตีฟ จ็อบส์" เหมือน "ฮีโร่"
คนกลุ่มนี้จะ "รู้สึก" อาลัยอาวรณ์ "สตีฟ จ็อบส์" มากเป็นพิเศษ
นี่คือ ความแตกต่างระหว่างวัย
6 ตุลาคม 2519 เคยยิ่งใหญ่ในใจคนกลุ่มหนึ่ง
แต่คงไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในปี 2535 สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง
และเป็นเพียงแค่ "ตำนาน" สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553
โลกวันนี้เป็นโลกแห่งความแตกต่าง และการเปลี่ยนแปลง
ถ้าเข้าใจและยอมรับ
เราก็สามารถอยู่กับความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ทุกข์
ต้องยอมรับความจริงว่า "ความคิด" หนึ่งที่เคยคงอยู่มายาวนาน
ไม่จำเป็นต้องคงอยู่ตลอดไป
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
ไม่แปลกที่ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ในการทำให้การรัฐประหาร "สูญเปล่า" จึงมีกระแสตอบรับสูงมากในวันนี้
ทั้งที่ถ้าเสนอเมื่อ 4-5 ปีก่อนคงมีเสียงค้านจากทุกสารทิศ
นี่คือ ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำความเข้าใจ
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะฝืนโลก
ทำให้โลกหยุดนิ่ง
ทั้งที่โลกหมุนและเคลื่อนที่ตลอดเวลา
พ.ร.บ.สภากลาโหมคือตัวอย่างหนึ่งของการฝืนโลก
เพราะไม่มีหลักการบริหารใดที่ "ผู้บังคับบัญชา" ไม่มีสิทธิให้คุณให้โทษ "ผู้ใต้บังคับบัญชา"
ยกเว้นคนที่บริหารงานไม่เป็น
กระแสของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้ว!!
++
ลัทธิคนดี
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
ในท่ามกลางการรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาคม ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่ลุกขึ้นโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะถูกกลุ่มอำนาจอนุรักษนิยม ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
หากนึกย้อนไปในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 เราจะพบว่า เป็นช่วงของการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์อันเข้มข้น
ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เรียกหาเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นกบฏต่อสังคมเก่า ซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายซ้าย
กับกลุ่มอำนาจล้าหลัง ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับความคิดใหม่ ต้องการสังคมที่มีระบบระเบียบเรียบร้อย ประชาชนเชื่อฟังผู้นำ
ซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายขวา
การต่อสู้ระหว่าง 2 แนวความคิดนี้ ได้ลุกลามรุนแรง ที่เรียกว่าขวาพิฆาตซ้าย จนกระทั่งในปี 2519 ฝ่ายซ้ายต้องเปลี่ยนเวทีไปอยู่ในป่าเขา
เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ใหม่ จนมาถึงจุดสลายในช่วงปี 2523-2524
จึงกล่าวได้ว่า ระหว่างปี 2516 จนถึง 2524
เป็นช่วงที่สังคมไทยอยู่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ระหว่างแนวคิดอุดมการณ์อันชัดเจน
สังคมไทยในช่วงนั้น จำแนกคนจากความคิดอุดมการณ์
ไม่มีคำว่าลัทธิคนดีและลัทธิคนเลวมากำหนด
มีอยู่เหมือนกัน บางกลุ่มสำนักที่ยึดถือตัวบุคคล ปั้นเป็นศาสดา แต่ก็ไม่สอดรับกับสถานการณ์โดยรวม เพราะสังคมไทยในห้วงนั้น จะนับถือใครขึ้นอยู่กับว่า ได้เข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นจริงหรือไม่
ไม่มีการยึดถือหรอกว่าคนนี้เป็นคนดี ก็ต้องเป็นฝ่ายเทพอย่างเดียว อีกคนเป็นคนเลว ก็ต้องเป็นฝ่ายมารไปตลอดกาล
ใครจะดีหรือเลวขึ้นกับการเข้าร่วมต่อสู้ในขณะนั้นว่า สังกัดความคิดอุดมการณ์แบบไหน
อุดมการณ์ที่กล้าแปรเปลี่ยนสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือไม่
จนกระทั่งเมื่อฝ่ายซ้ายหมดสิ้นบทบาทไป สังคมไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่
เป็นยุคยึดถือเอาคำว่า "คนดี" กับ "คนเลว" เป็นหลัก
ยึดมั่นในตัวบุคคล เชิดชูเป็นเทพแห่งความดี หรือเกลียดชังใครก็จัดเป็นปีศาจแห่งขุมนรก เลวไปทุกเรื่อง
ลัทธิเชิดชูคนดี ก็ดีไปทุกกระเบียดนิ้ว ต่อให้ทำผิดคิดร้าย ใช้อำนาจเข่นฆ่าคนตายไปเกือบร้อย ก็สามารถอธิบายได้ว่า เพราะคนตายมันไปหลงเชื่อปีศาจแห่งความเลวร้าย ดังนั้น คนดีจึงไม่ได้ทำผิดอะไร
เทพแห่งความดี ตัดสินความเลวร้ายในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในอดีต ด้วยการออกกฎกติกา ต่อไปนี้สังคมไทยห้ามใช้ทหารเข้ามาปราบม็อบอีก
แต่พอผ่านมาอีกหลายปี มีเหตุการณ์แบบเดียวกัน หลักการเดิมก็หายไป
คงเพราะประชาชนที่ถูกฆ่านั้นถูกตีตราว่าเป็นพวกหลงคนเลว
คนที่ขึ้นทำเนียบเทพเจ้าแห่งความดีไปแล้ว ต่อให้วันหนึ่งไปเขียนจดหมายเชิดชูการทุ่มเทรับใช้การเมือง ก็ไม่ถือว่าผิดปกติอะไร
นักการเมืองเกลียดรูปภาพกับพาดหัวข่าวก็จัดการให้ ละเมิดหลักเสรีภาพแท้ๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะคนดีรับใช้คนดีด้วยกัน
แต่เอาเข้าจริงๆ ลัทธิคนดีกับคนเลวที่เฟื่องฟูในช่วงนี้
ก็แค่ความหลงของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฝ่ายฉุดสังคมให้ถอยหลัง ไม่ต่างจากขวาโบราณในยุคเดิมเลย
++
91 ศพสู่ศาลโลก
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ เหล็กใน
ในข่าวสดรายวัน หน้า 6 วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7617
เคยมีคนเตือนไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม
คดีสลายม็อบแดง 91 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคนเป็นเครื่องยืนยันได้ดี
เพราะล่วงเลยมาเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว ยังไม่มีการจับกุมคนสั่งปราบปรามประชาชนมาลงโทษตามกฎหมายได้เลย
และหากเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดตลอด 1 เดือน เศษที่ผ่านมา มีการเสนอข่าวทวงความยุติธรรม 91 ศพมาอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นถึงความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังของผู้สูญเสีย
บางคนสูญเสียลูก สามี พ่อ ขาดเสาหลักครอบครัว กลายเป็นกำพร้า
หลายๆ ชีวิตล้วนเห็นตรงกันว่าไม่ได้รับความยุติธรรมมาตลอดเวลา 1 ปี 5 เดือน
การออกมาทวงถามความยุติธรรมของคนเหล่านี้ ก็เพราะหวังพึ่งรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข
ทำกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวในอดีต ให้กลับสู่ปกติ
หวังว่าคดีความที่อืดอาดล่าช้าจะได้รับการแก้ไข และดำเนินคดีกับผู้สั่งการสลายม็อบแดง
ถือว่าเป็นภาระสำคัญที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่อาจนิ่งดูดายได้เลย
แต่ไม่ใช่แค่สะสางคดี 91 ศพให้เกิดความยุติธรรมอย่างเดียว
การป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่คนที่มีความเห็นแตกต่าง ก็ต้องทำให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
และต้องเป็นที่ยอมรับจากสังคมโลกด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา องค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 2,500 องค์กร และหน่วยงานจาก 150 ประเทศทั่วโลกทำหนังสือถึง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศในเดือนต.ค.นี้
ต้องการให้รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกับประชาคมโลกในการต่อสู้ ต่อต้านระบบ "ลบล้างความผิด" ด้วยการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลอาญาถาวรระหว่างประเทศแห่งแรกและแห่งเดียวของโลกที่มุ่งจัดการกับคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ข้อเรียกร้องของสังคมโลกครั้งนี้ มีผลกับคดีการสังหารหมู่ 91 ศพใจกลางกรุงเทพฯ แน่นอน
เป็นอีก 1 ช่องทางสำคัญที่จะนำตัว "คนสั่ง" ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้
ที่สำคัญการเข้าร่วมภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ
ยังเป็นเครื่องเตือนสติอำนาจรัฐ
ไม่ให้ใช้อาวุธปราบปรามประชาชนในอนาคต
+ + + +
บทความ เดือนตุลา 2554
ล่าคนสั่งการ คอลัมน์ เหล็กใน
www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNVEUwTVRBMU5BPT0=§ionid=
จิตวิญญาณ 6 ตุลามาอยู่ที่เสื้อแดง
www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakEzTVRBMU5BPT0=§ionid=
หยั่งเสียงรื้อกฎหมายยุค คมช.
www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakV4TVRBMU5BPT0=§ionid=
"ทุจริต" เลวกว่า "รัฐประหาร"? โดย สรกล อดุลยานนท์
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317467226&grpid=&catid=02&subcatid=0207
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย