http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-10

เด็กแต่งชุดนาซี..เพราะไม่รู้, +34ปี..การรอคอยประชาธิปไตยฯ(1)(2) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ขอเชิญพิจารณาเข้าร่วมรณรงค์ The World vs Wall Street
SIGN THE PETITION
To fellow citizens occupying Wall Street and peoples protesting across the world:
We stand with you in this struggle for real democracy. Together we can end the capture and corruption of our governments by corporate and wealthy elites, and hold our politicians accountable to serve the public interest. We are united - the time for change has come ! ......
http://www.avaaz.org/en/the_world_vs_wall_st/?sbc

. . . . . . . . . . .


เด็กแต่งชุดนาซี..เพราะไม่รู้ . ผู้ใหญ่ชูเผด็จการ..เพราะผลประโยชน์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 20


เห็นข่าวเด็กนักเรียนเดินพาเหรดกีฬาสีในชุดนาซี ธงสวัสดิกะบนพื้นแดงปลิวไสวอยู่ในโรงเรียนชื่อดังที่เชียงใหม่ จนมีตัวแทนกงสุลต่างประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ทำหนังสือประท้วงต่อโรงเรียน ครั้งแรกรู้สึกแปลกใจที่เด็กๆ ทำแบบนี้

แต่พอได้คิดก็ไม่กล้าจะตำหนิเด็ก และไม่กล้าตำหนิพ่อแม่ว่าไม่อบรมสั่งสอนลูก

ถ้าจะโทษโรงเรียนหรือครูบาอาจารย์ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเรื่องภัยร้ายของระบอบเผด็จการเป็นสิ่งที่สังคมไทยเราไม่เคยปลูกฝังให้อยู่ในจิตสำนึกของเยาวชน

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่โรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เห็นในวันนี้ จึงแสดงถึงความอ่อนด้อยในการให้ความรู้ทางสังคมและการอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม

แต่ที่น่าเสียใจกว่านั้นคือในช่วงเวลาเดียวกันไม่ได้มีเพียงแต่เด็กนักเรียนที่แต่งชุดนาซี แต่ยังได้เห็นสื่อมวลชนบางกลุ่ม อาจารย์ นักวิชาการ หรือแม้แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ได้แสดงทรรศนะที่บอกได้ว่ายังมองไม่เห็นภัยร้ายของระบอบเผด็จการ แถมยังคิดว่าเป็นเรื่องดี

เพราะกลุ่มและพวกตัวเองได้ประโยชน์

เป็นแบบนี้แล้วจะไปสอนเด็กๆ ได้อย่างไร

มีคนหลายกลุ่มแม้แต่นักการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้งที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร เพราะอำนาจเผด็จการสามารถสร้างระบบอุปถัมภ์ได้ สามารถให้ทรัพย์สินให้ยศตำแหน่ง แต่งตั้งกันเองในกลุ่มในพวก ไม่ต้องมีการเลือกตั้งจากประชาชน ระบบตรวจสอบก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะกลัวอำนาจปืน

บางคนได้ประโยชน์จากอำนาจเผด็จการมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นตา รุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่นตัวเอง จึงไม่แปลกที่จะสนับสนุนการรัฐประหาร

วันนี้ประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งจากประชาชน ได้แสดงออกมาให้เห็นแล้ว ในกรณีน้ำท่วมใหญ่ จะเห็นว่ามีหลายหน่วยงานไปร่วมให้ความช่วยเหลือ

ผู้รับผิดชอบต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพราะชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ดังนั้น ทั้งสมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. รัฐมนตรี แม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็ต้องมาออกโรงเอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และหน่วยงานของรัฐ ก็ถูกสั่งให้ทำงานอย่างเต็มที่ การแพร่ข่าวของสื่อทำให้ทุกคนหยุดนิ่งไม่ได้

นี่คือวังวนของอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่บีบบังคับให้ทุกคนต้องทำงานเพื่อประชาชน การที่ประชาชนมีอำนาจเลือกผู้ปกครองก็ดีตรงนี้แหละ



การปกครองโดยคณะรัฐประหาร
ยาวนานกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ในสภาพที่เป็นจริงจากวันนั้นมาจนจะครบ 80 ปีในปีหน้านี้ โอกาสเห็นประชาธิปไตย โอกาสที่จะได้เรียนรู้และได้ใช้จริง จากการเลือกตั้งของประชาชน หรือโอกาสได้เห็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาบริหารงานมีน้อยมาก

หลังจากตั้งไข่มา 15 ปี ในท่ามกลางความขัดแย้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจจากฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เจือจางไป แต่อิทธิพลมาเพิ่มที่ฝ่ายทหารปี 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจหลังจากให้ พลเอกผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร

นับแต่วันนั้น อำนาจเผด็จการทหารของ จอมพล ป. ก็ครอบคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน ฝ่ายตรงข้ามต้องหนีไปต่างประเทศ บางคนก็ถูกสังหาร

จอมพล ป. มีอำนาจมาจนถึงปี 2500 ก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารจนต้องหนีออกนอกประเทศเช่นกัน

จอมพลสฤษดิ์ครองอำนาจโดยการสนับสนุนของอเมริกาจนเสียชีวิตในปี 2508 และสามารถสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารไปยังจอมพลถนอม-ประภาส โดยข้ออ้างภัยจากคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศไทยถูกปกครองโดยไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายปี

ในที่สุด นักศึกษา ประชาชน ลุกขึ้นเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ประเทศของเราจมอยู่ในระบอบเผด็จการ 26 ปีเต็มๆ มีจอมพลครองอำนาจร่วมกันอยู่ 4 คน

ตลอดระยะเวลานี้ มีอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตกทอดมาถึงรุ่นเราซึ่งเติบโตมาในยุคจอมพลถนอม-ประภาส อำนาจของฝ่ายเผด็จการ ไม่เพียงทำให้พ่อแม่ไม่สั่งสอนเรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่พูดถึงอำนาจเผด็จการ ตำรับตำราก็ไม่มีใครกล้าเขียนถึงภัยร้ายเผด็จการ

หลัง 14 ตุลา 2516 ระบอบประชาธิปไตย เติบโตอยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี มีรัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งเพียง 2 ชุด มีนายกฯ 2 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่รัฐบาลที่ไม่มั่นคงก็อยู่ได้ไม่ถึงปี คึกฤทธิ์ยุบสภาต่อด้วยรัฐบาลเสนีย์ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าแต่ผู้อยู่เบื้องหลังคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งได้ขึ้นครองอำนาจเองในปี 2520 แต่พอถึงปี 2523 ก็ถูกบีบให้ออกกลางสภา

คนที่ขึ้นครองอำนาจต่อคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่มีสภา มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง

ยุคนี้เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อยู่มาได้ 8 ปีก็ลงจากตำแหน่ง ช่วงระยะเวลาที่เป็นทั้งเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบกินเวลา 12 ปี (2520-2531) อำนาจอยู่ในมือ พลเอกสองคน

ยุค พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ และรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งปี 2531 ประชาธิปไตยทำท่าจะเบ่งบาน แต่ก็ถูกรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช. แต่คนไม่ยอมรับ จึงถูกหลอกให้มอบตำแหน่งนายกฯ ให้คนอื่น ตอนหลังอยากเป็นเองจึงถูกโค่นล้มในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 โดยประชาชน



โอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย
และให้การศึกษาเรื่องภัยร้าย
ของการรัฐประหารและเผด็จการ

จะเห็นว่าช่วงเวลาของการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงใน 44 ปี (2490-2534) มีเพียงไม่ถึง 6 ปีที่ ประชาชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ได้เลือกตั้ง ได้มีรัฐบาลซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกอย่างอิสระ

หลังปี 2535 โอกาสจึงเปิดให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นช่วงยาว จนมีรัฐธรรมนูญที่คิดว่าดีที่สุดคือฉบับ 2540 มีการเลือกตั้ง ยุบสภา ลาออก ตามระบอบประชาธิปไตย หลายครั้ง ได้นายกฯ ซึ่งเป็นคนธรรมดา เป็นพ่อค้า เป็นทหารที่ลาออกแล้ว ทุกคนมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทั้งสิ้น

นับแต่ปี 2535 เราจึงมีนายกฯ ชวน หลีกภัย, นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา, นายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แล้วก็กลับเป็นนายกฯ ชวนอีกครั้ง, และมีนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 1 ในปี 2544 และก็ได้นายกฯ ทักษิณอีกครั้งในปี 2548 แต่ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในปี 2549

ความหวังที่ว่าประชาธิปไตยของไทยพัฒนาไปมากแล้ว และคงจะไม่มีการรัฐประหารอีกก็ถูกดับลง หลังจากพัฒนาการได้ 14 ปี

ที่จริง เรื่องแบบนี้มีความเป็นไปได้เสมอเพราะพื้นฐานของประเทศเราปกครองด้วยระบบอุปถัมภ์มาหลายร้อยปี แต่มีเวลาพัฒนาประชาธิปไตยเพียงไม่กี่ปี การต่อสู้หลังจากนั้นก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะการรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในและนอกประเทศเหมือนในอดีต แม้จะใช้อำนาจตุลาการภิวัตน์เข้ามาเป็นตัวช่วย การต่อสู้ก็ยังดำเนินต่อไปและจบลงด้วยความตาย 91 ราย บาดเจ็บ 2,000 คน

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 กรกฎาคม 2554 เปรียบเหมือนการเริ่มยุคประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง


เมื่อย้อนดูตัวเราในวัยเด็ก จะพบว่า ประวัติศาสตร์การเมืองที่เราเคยเรียนเท่าที่จำได้คือ พระนเรศวรกู้ชาติไทยจากพม่าในการเสียกรุงครั้งที่ 1 ส่วนพระเจ้าตากก็มากู้ชาติและตั้งกรุงธนบุรีได้ พอถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีการกล่าวถึงเพียงสั้นๆ และประวัติศาสตร์ก็ขาดหายไป

ประวัติศาสตร์การเมืองช่วงหลังไม่มีนักวิชาการคนไหนที่สามารถเขียนลงไว้ในตำราเรียนเพื่อสั่งสอนให้เยาวชนได้รับรู้ ถ้าเขียนลงไปก็เท่ากับเป็นการประจานผู้นำในอดีต

ในทางตรงข้าม กลับมีการทำให้ยอมรับอำนาจเผด็จการ โดยนักวิชาการด้านกฎหมายและผู้มีอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ สื่อบางคน ดังนั้น พ่อค้า ประชาชน ที่อยู่นอกวงจรอำนาจจึงต้องยอมรับไปโดยปริยาย

การก่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคม 2516 ถูกถ่วงเวลา และพยายามไม่ให้เกิดขึ้น กว่าจะสร้างได้ ต้องรอจนถึงยุคประชาธิปไตย สมัยนายกฯ ชาติชาย ใช้เวลาประมาณ 16 ปี อนุสาวรีย์การต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ก็มีการถ่วงเวลาไว้เช่นกันจึงยังไม่มีการสร้างจนปัจจุบันนี้

สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่จะมีผลให้ประชาชนกล้าต่อสู้จะถูกกีดกันและยกเลิกโครงการ แต่ในความเป็นจริงคนที่ร่วมต่อสู้ไม่เคยลืม


26 ปีในยุคอำนาจเผด็จการสมบูรณ์แบบ 10 ปีในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้สำนึกในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของคนทั่วไปยังมีไม่มาก 14 ปีหลังที่ประชาธิปไตยเติบโต สร้างพลังและพัฒนาความคิดให้ประชาชนได้พอควร แต่ขาดประสบการณ์

เมื่อมีการรัฐประหาร 2549 การต่อต้านทันทีจึงมีน้อย แต่ก็มีเสื้อแดงคนแรก นวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถัง แต่การสร้างความอยุติธรรมต่อหน้าแบบไม่สนใจความรู้สึกประชาชน ทำให้ประกายไฟการต่อสู้ลุกลามต่อจากผู้รักประชาธิปไตย

และเมื่อมีการเข้าร่วมของคนที่เคยสู้ในยุค 14 ตุลา - 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ผลของมันได้ขยายตัวผ่านสื่อไปอย่างรวดเร็วจนเกิดการต่อสู้ของกลุ่มแนวหน้าคนเสื้อแดง ในปี 2552-2553

การชนะเลือกตั้งในปี 2554 ได้รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือโอกาสอันดียิ่งที่จะขยายความคิดประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหาร เพียงใช้เวลาอีกไม่นานความเข้มแข็งของประชาธิปไตยก็จะขยายจนเป็นด้านหลักและเป็นความคิดชี้นำในสังคม

การชี้ให้เห็นถึงอันตรายและผลร้ายของการรัฐประหารซึ่งจะก่อให้เกิดอำนาจเผด็จการ จะต้องต่อด้วยมาตรการที่นำไปปฏิบัติได้จริง



ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์
แทงเข้ากลางใจเผด็จการ
จึงถูกต่อต้านอย่างหนัก

วันนี้เมื่อมีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เสนอวิธีการแก้ไขการรัฐประหารอย่างถาวรโดยตั้งเป้าหมายว่า คนที่ทำรัฐประหารจะต้องถูกลงโทษและผลพวงจากการรัฐประหารจะต้องถูกลบทิ้ง จึงมีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้าน บางคนอาจแปลกใจว่าทำไมถึงมีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร เป็นเรื่องใหญ่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้มากที่สุด คนลงมือทำก็เป็นเพียงลูกสมุน พวกที่ส่งเสียงเชียร์มี 2 กลุ่ม คือพวกที่หวังเก็บเศษอาหาร กับพวกที่ถูกหลอกใช้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ทุกกลุ่มจะต่อต้านข้อเสนอนิติราษฎร์ ถ้าสู้เหตุผลไม่ได้ ก็ปลุกผีทักษิณมาขู่ ...แต่คราวนี้คงไม่ได้ผล เรื่องนี้จะต้องถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่แน่นอน

มีผู้วิเคราะห์ว่า ถ้าจะให้สำเร็จ ประชาชนต้องรณรงค์จิตสำนึกประชาธิปไตยและทำความเข้าใจเรื่องอันตรายของเผด็จการอย่างต่อเนื่อง การออกมาต่อต้านของลูกสมุนสายวิชาการถือว่าเข้าทางตามแผนเพราะจะทำให้การถกเถียงขยายออกไปอีก (ขยันและฉลาดมากเลย) หวังว่างานนี้จะเป็นผลงานทางวิชาการที่ทำให้ได้ ร. ได้ ศ.กันทุกคน แต่มีหลายคนอยากให้กรรมการสิทธิฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง

ส่วนกรณีที่มีคนบอกว่าการโกงแย่กว่าการรัฐประหาร ก็เป็นการชี้นำเพื่อจะใช้กรณีทุจริตโจมตีฝ่ายตรงข้าม ผู้พูดอาจพูดไม่จบ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ทำการรัฐประหารก็จะเอาอำนาจที่ได้มาแบบคดโกง ไปโกงต่อเรื่องอื่นๆ เพราะไม่มีใครกล้าคัดค้าน ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ไม่ว่าจะซื้อของแปลกประหลาดขนาดไหน ก็ทำได้ แพงแค่ไหนก็ทำได้

แต่เชื่อว่ากรณีข่าวซื้อเรือดำน้ำที่มีอายุกว่า 30 ปีในยุคประชาธิปไตย ไม่น่าจะทำได้ ถึงน้ำจะท่วมสูงแค่ไหน ก็ไม่สามารถดำลงไปได้

ผู้วิเคราะห์คิดว่านับจากนี้ ประชาชนจะต้องตรวจสอบตัวแทนอย่างจริงจัง แม้แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ต้องเผชิญกับการตรวจสอบของประชาชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่เป็นแนวร่วม ถ้าใครมีปัญหา นายกฯ ต้องจัดการทันที

ส่วนแกนนำ นปช. ก็เหมือนผู้ประสานงาน พวกเขาทำงานกับกลุ่มก้าวหน้าต่างๆ ด้วยความเข้าใจและมีวัตถุประสงค์ร่วมกันแต่ไม่ใช่ว่าจะสั่งคนเสื้อแดงหรือกลุ่มอื่นได้ทุกเรื่อง

เช่นกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางความคิด ไม่ได้เป็นแขนขาอะไรของกลุ่ม นปช. และก็ไม่ได้เป็นแกนนำคนเสื้อแดง แต่ถ้าใครเห็นด้วย และจะนำความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ไปเคลื่อนไหว ก็ทำได้

ความเป็นอิสระต่อกันของกลุ่มต่างๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่นี่เป็นการยืนยันว่าพลังของมวลชนเกิดขึ้นมาอย่างอิสระ แต่ถ้ายิ่งถูกบีบบังคับและต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า ทุกกลุ่มก็จะยิ่งรวมตัวกัน ต่อสู้ได้มั่นคงและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น


ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นการทำลายล้างธรรมเนียมของอำนาจเผด็จการที่ใช้กันมาตลอด 60 ปี ให้สูญสิ้นไป ไม่เพียงแต่ทำลายผลประโยชน์ที่เคยได้แต่ยังจ้องจะลงโทษผู้ทำการรัฐประหาร การต่อต้านของผู้ที่สูญเสียประโยชน์จึงต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา

ถ้าสถานการณ์เป็นไปแบบนี้การต่อสู้ก็จะยืดเยื้อต่อไป แต่จะขยายกว้างไปเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและสมบูรณ์ขึ้น

จิตสำนึกของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยจะถูกพัฒนาให้ถูกต้องและมั่นคงขึ้น

การรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยากมาก การสถาปนาอำนาจเผด็จการ ถึงทำขึ้นมาได้ก็ต้องนับชั่วโมงตายเพราะจะถูกต่อต้านจนถึงตายได้เช่นกัน



เด็กนักเรียนแต่งชุดนาซีเพราะความไร้เดียงสา ใครๆ ก็ให้อภัย

แต่คนมีความรู้ทั้งทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แต่สนับสนุนการรัฐประหาร แม้จะเป็นทางอ้อม ก็เป็นการประกาศจุดยืนที่แจ่มชัดยิ่งกว่าเด็กๆ สวมชุดนาซี

สิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง จะมีปรากฏให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาไปอีกนาน

สุดท้ายคนเหล่านี้จะได้รู้ว่าการสนับสนุนเผด็จการ จะได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่

และสิ่งที่จะตามมาภายหลังคืออะไร ระวังสิ่งที่ได้มาจะเสียเปล่า



++

บทความปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )ในเดือนตุลา


6 ตุลา 2519 ถึงพฤษภา 2553 34 ปี...การรอคอยประชาธิปไตย...ที่ไร้กระสุนปืน (ตอน 1)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1573 หน้า 26


คําว่าชาติหน้าตอนบ่ายๆ ยังน้อยไปสำหรับการรอคอยระบอบประชาธิปไตย (แบบไม่แถมลูกปืน) การรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลา 2519 ทำให้ยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 สะดุดลงทันที

ถ้าผู้เสียชีวิตในวันนั้นอยากเห็นประชาธิปไตยในฝัน เราก็หวังว่าเขาคงมีโอกาสถ้ารีบไปเกิดใหม่ โตขึ้นมาอีกครั้งก็จะพบกับประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถึงวันนี้เขาจะมีอายุ 34 ปี

แต่การคาดหวังเช่นนี้ก็รู้สึกว่าจะผิดพลาดเพราะได้เกิดการรัฐประหารขึ้น ในเดือนกันยายน 2549 ถ้าเขาเกิดใหม่จริงๆ และรู้สึกผิดหวังก็คงไปร่วมเรียกร้องอธิปไตยคืนให้ประชาชนในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 และก็คงจะถูกยิงตายอีกครั้งหนึ่ง

ตายด้วยข้อหาเดิมๆ ตายด้วยแผนการร้ายแบบเดิมของผู้ปกครอง ตายเพราะความเกลียดชังอย่างฝังหัวของคนเก่าๆ ที่เปลี่ยนไปคือสถานที่จากที่เคยนอนตายอยู่ในธรรมศาสตร์ก็เปลี่ยนมาเป็นที่ราชดำเนินหรือราชประสงค์เท่านั้นเอง

คงพอสรุปได้ว่า ชาติหน้าตอนบ่ายๆ ก็ยังหาประชาธิปไตยไม่เจอ เพราะตอนอายุ 20 ในขณะที่มีความหวังต่อระบบประชาธิปไตยก็ต้องถูกฆ่าตายไปเสียก่อน ครั้งนี้พอเกิดชาติใหม่อายุ 34 ก็ต้องตายไปพร้อมกับความฝัน

ประชาธิปไตยมันได้มายากขนาดนั้นเชียวหรือ
ทำไมบ้านเมืองอื่นถึงทำได้?
บ้านเมืองเรามีอะไรเป็นอุปสรรค?
ปัญหาวันนี้คงจะซับซ้อนและรุนแรงกว่าสมัยก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นจะแก้ไขกันอย่างไร?



ความซับซ้อนของการต่อสู้ที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเปลี่ยนไปตามสภาพการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัย หลักการประชาธิปไตยไม่มีอะไรซับซ้อนแต่ความอยากเป็นผู้ปกครอง ทำให้เกิดปัญหาในการแก่งแย่งอำนาจ ใช้เล่ห์เหลี่ยมและกำลังเพื่อแสวงหาและรักษาอำนาจ กฎเกณฑ์กติกาจึงถูกละเมิดตลอดเวลา เพื่อให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ

ดังนั้น จึงมีการใช้กำลังอาวุธ อำนาจเงิน กระบวนการยุติธรรมมาแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่เกิดเสียที

การรัฐประหารโหด 6 ตุลา 2519 มีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงในกระแสสูงของลัทธิสังคมนิยม พวกนิยมขวาทุกกลุ่มจึงรวมหัวกันด้วยแรงสนับสนุนของอเมริกา ซึ่งอยากคงอิทธิพลเอาไว้ในภูมิภาคนี้

แผนรัฐประหารไม่มีความซับซ้อนใดๆ คือสร้างสถานการณ์ดึงให้นักศึกษาที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายซ้ายมารวมตัวกันในธรรมศาสตร์แล้วกวาดล้างในครั้งเดียว

ก่อนหน้า 6 ตุลาคือกลางเดือนสิงหาคม ในขณะที่นักศึกษาต่อต้านการเดินทางกลับของจอมพลประภาส ก็มีการเตรียมการรัฐประหารแต่ประภาสขอเดินทางออกนอกประเทศไปก่อน ความรุนแรงจึงยังไม่เกิดขึ้น

อีกทั้งกระแสการต่อต้านของประชาชนสูงมาก ฝ่ายต่อต้านก็ยังไม่มีจุดอ่อน การเตรียมการรัฐประหารครั้งนั้นจึงยุติลง

มาทำสำเร็จในอีกหนึ่งเดือนต่อมาโดยใช้แผนเดิมแต่เปลี่ยนเป็นนำจอมพลถนอมเข้ามา และก็ทำได้สำเร็จอย่างง่ายดายเพราะนักศึกษาเป็นแค่เด็กมือเปล่า ไม่อาจไปต่อสู้กับกำลังติดอาวุธได้ มีแต่ต้องใช้ความตายเป็นเครื่องเซ่นสังเวยการรัฐประหารครั้งนั้น

หลังรัฐประหารมีการตั้งรัฐบาลขวาจัดขึ้นมา โดยมีแผนปฏิรูปการปกครองแผ่นดินระยะยาวถึง 12 ปี แต่ความโหดร้ายในวันที่ 6 ตุลา ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงและทำให้ประชาชนยอมรับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับเผด็จการกลุ่มนี้ สงครามจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย

การรบเริ่มจากวันนั้นใช้เวลาถึงหกปีจึงจบลงด้วยการปรองดองในปี 2525 มีคนเสียชีวิตจำนวนมากและต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย 4 ถึง 5 ปี รวมเวลาที่เสียไปไม่น้อยกว่าสิบปี

ประชาธิปไตยเดินต่อมาได้อีกประมาณห้าปีก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในยุคของพลเอกชาติชายในปี 2534 แต่ครั้งนี้มีลักษณะคล้ายอุบัติเหตุและเป็นความขัดแย้งในกลุ่มทหาร แม้กลุ่มนี้คิดจะยึดอำนาจต่อก็ทำไม่ได้ เพียงปีเดียวก็ถูกประชาชนต่อต้านจนจบลงด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 มีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง

การรัฐประหารปี 2534 ต่างจากปี 2519 ตรงที่หลังการรัฐประหารผู้ก่อการไม่สามารถมีอำนาจปกครองได้โดยตรง เหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์, จอมพลถนอม-ประภาสและยุค 6 ตุลา ซึ่งตั้งใครก็ได้ จึงต้องมีการแปลงร่างแต่ถ้าร่างทรงนั้นไม่ได้รับการยอมรับก็จะถูกโค่นล้มทั้งร่างทรงร่างจริง


หลังปี 2535 ประชาธิปไตยดำเนินต่อพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลาถึงห้าปีได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งกล่าวกันว่าดีที่สุดฉบับหนึ่ง ประชาธิปไตยของไทยเดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรง มีการลดค่าเงินบาท ณ ช่วงเวลานั้นเองเราก็ได้นายกฯ ที่ชื่อทักษิณขึ้นมานำพาประเทศฝ่าวิกฤติออกมาได้ และยังเดินหน้าทำการเปลี่ยนแปลงระบบพื้นฐานหลายอย่าง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน

แต่ประชาธิปไตยก็เดินหน้าไปตามรัฐธรรมนูญปี 40 ได้เพียงสิบปีก็เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยา 2549 เป็นการรัฐประหารซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้วในโลกยุคใหม่



ทำไมต้องมีรัฐประหาร ก.ย. 2549

ถ้านับจาก 6 ตุลา 2519 ถึง 19 กันยา 2549 ระยะเวลายาวนานถึงสามสิบปี (ขาดไปเพียง 17 วัน) นานพอที่การพัฒนาทางวัตถุจะก้าวหน้าไปอย่างมากมาย จากยุครถจักรไอน้ำไปเป็นเครื่องบินไอพ่น ข้ามจากระบบโทรเลขไปเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่นั่นเป็นการต่อสู้ของมนุษย์เพื่อเอาชนะความจำกัดทางธรรมชาติ

แต่ถ้าเป็นการต่อสู้ของมนุษย์กับมนุษย์จะซับซ้อนกว่าเพราะมีเล่ห์เหลี่ยมและความเห็นแก่ตัวเป็นตัวแปรที่สำคัญ การพัฒนาทางจิตใจและการพัฒนาทางการเมืองจึงยังคงย่ำอยู่กับที่ แต่มีการปรับปรุงวิธีการและเทคนิคการชิงอำนาจให้ซับซ้อนกว่ายุคก่อน การรัฐประหารกันยา 49 ซับซ้อนกว่า 6 ตุลา 19 หลายชั้น

กรณีรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่ได้เป็นทางเลือกทางแรกของกลุ่มผู้ต้องการยึดอำนาจ พวกเขาต้องการขับทักษิณไปให้พ้น ต้องการได้อำนาจแต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการรัฐประหารเพราะยังรู้สึกอับอายต่อชาวโลก กระบวนการยึดอำนาจรูปแบบอื่นจึงถูกกำหนดขึ้นในช่วงต้นๆ



อำนาจและทรัพย์สินเป็นภัยต่อตนเอง

ณ เวลาที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจอย่างมากมาย เขามีอีกฐานะหนึ่งคือเป็นคนธรรมดาที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ภาวะที่เกิดความเข้มแข็งทั้งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สูงขนาดนี้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงให้กับฝ่ายต่างๆ ที่กลัวว่าอำนาจนี้จะมาเป็นภัยคุกคามต่อสถานะและผลประโยชน์ของฝ่ายตน

การเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของทักษิณในเดือนมกราคม 2548 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. ถึง 377 เสียงจาก 500 เสียงคิดเป็น 75% ถ้าดูจากตรงนี้ไม่มีทางที่ทักษิณจะต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณก็มั่นใจในอำนาจของตัวเองว่ามีความเข้มแข็งทางการเมืองเพียงพอที่จะบริหารประเทศต่อไปได้อีกสี่ปี

นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คู่แข่งหมดหวังที่จะต่อสู้กับพรรคไทยรักไทยในระบบเลือกตั้ง จึงได้คิดแผนอื่นขึ้นมาต่อสู้

จากวันนั้นเราจึงได้ยินคำว่า "ระบอบทักษิณ" ค่อยๆ ดังกระหึ่มขึ้น

ทักษิณในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีมีจุดอ่อนอยู่มากมาย เพราะต้องใช้อำนาจบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมาย ต้องสร้างคะแนนนิยมในหมู่ประชาชน มีธุรกิจของตนเองที่ต้องดูแล ในพรรคก็มีกลุ่มทุนผู้สนับสนุนอยู่หลายกลุ่ม ส.ส. มากมาย ผู้สนับสนุนมากมาย ทุกคนล้วนแล้วแต่ก็ต้องทำมาหากิน

จุดอ่อนเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายและได้เพาะสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ทอดนานออกไปได้เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรูไปหลายคน กระแสการโจมตีจากสื่อค่อยๆ แรงขึ้นตามลำดับ

เพียงแค่หนึ่งปี ทีวีจอเหลืองของพันธมิตรก็ประกาศตัวเป็นศัตรูเต็มตัว จากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มเสื้อเหลืองที่ร่วมกับบุคคลชั้นนำบางส่วนพุ่งเป้ากดดันโดยมีจุดมุ่งหมายให้ตัวนายกฯ ทักษิณลาออก สุดท้ายถึงขั้นยื่นถวายฎีกา ยื่นหนังสือถึงพลเอกเปรม องคมนตรี ยื่นหนังสือถึง ผบ.ทบ. พร้อมกันทั้งสามจุดในคืนวันที่ 3 กุมภา 2549 ในที่สุดทักษิณก็ต้องประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษา 2549

การยุบสภาของทักษิณไม่ใช่เป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามต้องการให้ลาออกแต่ถึงกระนั้นฝ่ายนั้นก็ยังไม่ยอมใช้แผนรัฐประหาร

การเลือกตั้งครั้งใหม่ดำเนินไป ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน

4 เมษา 2549 หลังการเลือกตั้งได้เพียงสองวัน จู่ๆ ทักษิณก็แถลงต่อผู้สื่อข่าวจำนวนมากว่าขอลาพักระยะยาวและแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชิดชัย รักษาการนายกฯ แทน โดยที่ไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุ ท่ามกลางความงุนงงของผู้คน ทักษิณได้แต่บอกว่า เขาเพิ่งรู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดที่คิดว่าประเทศนี้มีประชาธิปไตย

ภาพที่ประชาชนเห็นคือเนวินเข้าไปกอดทักษิณแล้วร้องไห้ ไม่มีใครรู้ว่าแรงกดดันที่ลงมาทับหัวนายกฯ ทักษิณนั้นหนักขนาดไหน แรงกดดันครั้งนี้ว่ากันว่าทักษิณควรจะลาออกแต่เขาก็ทำเพียงแค่ลาพัก เพราะสภาพการเมืองขณะนั้นไม่สามารถลาออกได้เนื่องจากสภาถูกยุบไปแล้ว สภาใหม่ก็ยังตั้งไม่ได้เพราะ กกต. ยังไม่ได้รับรอง ส.ส. ดังนั้น การเลือกนายกฯ ใหม่จึงไม่มีโอกาสทำได้ ตัวทักษิณเองก็เป็นแค่นายกรักษาการถ้าลาออกก็จะเกิดสุญญากาศของผู้บริหารอำนาจรัฐทันที

ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบถือโอกาสแทรกเข้ามาได้



แผนการตั้งนายกฯ แบบพิเศษจึงไม่สำเร็จ

การลาพักครั้งนั้นทำให้ทักษิณฝ่าวิกฤติมาได้ชั่วคราวแต่ก็มีกระแสข่าวลอบสังหารตามมาหลายระลอก เรียกว่าทั้งดันทั้งขู่ ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวของขบวนการตุลาการภิวัตน์ ที่เตรียมจะตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษาที่ผ่านมาเป็นโมฆะเพราะ กกต. จัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้ลงคะแนนหันหลังออกด้านนอก

คะแนนการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายแม้ไม่ได้ประกาศออกมาแต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคะแนนของพรรคไทยรักไทยไม่ได้ตกลงไปเลย วิธีการที่จะกำจัดทักษิณคงเหลือไม่กี่วิธีแล้ว

เดือนมิถุนา ทักษิณกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ในพระราชพิธีฉลองการครองราชย์ครบรอบ 60 ปีจากนั้นก็บริหารงานไปจนถึงเดือนกันยา

ในท่ามกลางกระแสรัฐประหารและข่าวลอบสังหาร แต่ทักษิณก็ยังกล้าไปประชุมที่ UN และการรัฐประหารก็เกิดขึ้นจริงในวันที่ 19 กันยา

2549 การทำรัฐประหารครั้งนี้ ผบ.ทบ. ได้ปฏิเสธมาตลอดว่าจะไม่ทำ แม้ภายหลังก็อ้างว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงจนถึงที่สุดแล้ว คณะรัฐประหารชุดนี้เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

พลเอกสุรยุทธซึ่งอยู่ในตำแหน่งองคมนตรีต้องลาออกเพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพราะถูกเลือกทั้งๆ ที่ไม่อยากเป็นและก็รู้ตัวล่วงหน้าว่า ชีวิตจากวันนี้ไปต้องยุ่งแน่



ความแตกต่างของสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังรัฐประหาร ทำให้รูปแบบการต่อสู้ต่างกัน

ในปี 2519 คณะรัฐประหารทำงานด้วยความมั่นใจในวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม การโต้ตอบของฝ่ายประชาชนคือการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ในปี 2549 ฝ่ายที่ทำรัฐประหารรู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ ในระยะยาวต้องถูกประณามทั้งในและต่างประเทศ จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำ (มีเพียงคนโง่ไม่กี่คนเท่านั้นที่เอาดอกไม้ไปให้)

แผนการแรกๆ ของฝ่ายยึดอำนาจจึงใช้วิธีบีบบังคับให้ลาออกเพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล เพราะเป้าหมายของการทำลาย คือนายกฯ ทักษิณที่ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าจะมานำการเปลี่ยนแปลงและแย่งผลประโยชน์จากกลุ่มเก่า ไม่มีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ เช่น กำจัดพวกความคิดสังคมนิยม หรือกำจัดฝ่ายซ้าย

เมื่อกำจัดทักษิณได้ก็เพียงต้องการรวบอำนาจไว้กับฝ่ายตนเท่านั้น จึงไม่ได้มีการกวาดล้างนักการเมืองและประชาชนฝ่ายตรงข้าม พรรคไทยรักไทยและมวลชนจึงยังมีโอกาสเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งในระยะเวลาไม่นานนัก พร้อมทั้งได้ขยายการจัดตั้งออกไปสู่มวลชนจำนวนมากในต่างจังหวัด

การรัฐประหารปี 2549 จึงมีผลเพียงสามารถขับทักษิณออกไปนอกประเทศได้เพียงคนเดียวแต่ก็ไม่สามารถหยุดบทบาททางการเมืองของทักษิณได้ เพราะระบบการสื่อสารสมัยใหม่ และไม่สามารถหยุดการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยได้

การรัฐประหารครั้งนี้ได้ทำลายความต่อเนื่องของระบบประชาธิปไตยให้สะดุดลงอีกครั้ง และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เป็นการกระทำของคนสิ้นคิด ที่ทำลายผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน เพียงเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการกำจัดนายกฯ ทักษิณให้พ้นทาง

แต่การต่อสู้มิได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ยังมีการต่อสู้ที่ดุเดือดในภาคสองซึ่งเป็นการต่อสู้กับกลไกการยึดอำนาจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์

ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นการยึดอำนาจที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ แต่ก็มีผลด้านกลับเพราะได้ไปกระตุ้นให้ประชาชนที่รักความยุติธรรมลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเดือนเมษา พฤษภา 2553 นับร้อยคน.



++

6 ตุลา 2519 ถึงพฤษภา 2553 34 ปี...การรอคอยประชาธิปไตย...ที่ไร้กระสุนปืน (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1574 หน้า 20


ตุลาการภิวัฒน์ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของการยึดอำนาจรัฐ

พม่าใช้ระบบเผด็จการทหารมาห้าสิบปีแล้วเริ่มต้นโดยนายพลเนวิน เผด็จการทหารพม่าใช้ปืนปกครองมาโดยตลอด เคยเผลอไปเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวแล้วพลาดท่าแพ้อองซาน ซูจีไปอย่างยับเยิน ก็เลยต้องจับตัวซูจีไปกักขังไว้ในบ้าน โทษฐานชนะเลือกตั้งมากเกินไป

ถึงวันนี้แรงกดดันจากภายนอกทำให้พม่าตัดสินใจจัดให้มีการแสดงการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเร็วๆ นี้เพื่อจะได้บอกกับชาวโลกว่า พม่าก็มีการเลือกตั้งนะ มีสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย เผื่อว่าอาจจะมีบางประเทศหลงชื่นชมกับการแสดงครั้งนี้

สำหรับพม่าสิ่งนี้ถือว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว เพราะพม่าไม่รู้จักตุลาการภิวัตน์


ประเทศไทยปี 2549 ก็ไม่รู้จักตุลาการภิวัตน์ แผนแรกของการยึดอำนาจคือบีบบังคับให้ทักษิณลาออกแต่ไม่สำเร็จ และต้องมาจบลงด้วยการรัฐประหาร คมช. รู้ว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของพลเอกสุรยุทธ์ไม่เป็นที่ยอมรับจึงให้บริหารขัดตาทัพเพียงปีเศษ

ซึ่งในช่วงเวลานั้นฝ่าย คมช. ต้องทำทุกอย่างที่จะกำจัดทักษิณ อิทธิพลของทักษิณและพรรคไทยรักไทยให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อจะได้เดินแผนสองของ คมช. คือการเอาชนะทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง (ที่เตรียมการไว้แล้ว) จะได้รัฐบาลที่ภาพพจน์ดีขึ้น

พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้ายได้เสียง ส.ส. ถึง 377 เสียง หลังจากนั้น จึงถูกรัฐประหารดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับฝ่าย คมช. จึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งด้วยวิธีพิเศษซึ่งต้องเตรียมการดังนี้

1. ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งร่างโดย คมช. และสามารถแต่งตั้งวุฒิสภาได้ส่วนหนึ่ง เรื่องนี้ฝ่ายพรรคการเมืองต่างๆ ก็พอรับได้ รัฐธรรมนูญปี 50 ก็ 50 ไม่ว่ากัน ขอให้มีเลือกตั้งก็แล้วกัน

2. คมช. จะตั้งพรรค คมช. เองก็น่าเกลียดและไม่มีความชำนาญทางการเมืองระบบสภา ต้องหาตัวแทนที่พอสู้กับพรรคไทยรักไทยไหว พรรค ปชป. จึงถูกเลือกมาเป็นตัวชน เพราะมีคะแนนเสียงดีที่สุดและให้กลุ่มพันธมิตรเป็นตัวช่วย เรื่องนี้ทุกพรรคก็คิดว่าพอสู้ได้

3. พรรคไทยรักไทยชื่อเสียงดีเกินไป จึงต้องใช้ระบบตุลาการภิวัฒน์ยุบพรรค เผื่อว่าคนในพรรคจะได้แตกกระจายชื่อเสียงตกลง ฝ่ายไทยรักไทยก็แก้เกมด้วยการตั้งพรรคใหม่ชื่อพลังประชาชน

4. ใช้ตุลาการภิวัฒน์ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการพรรคไทยรักไทยห้าปี ตัวเก่งหายไปทีเดียว 111 คน วิธีแก้ไขพรรคไทยรักไทยเอาตัวสำรองลงแทน เช่น ลูก, น้อง , น้องภรรยา หรือภรรยา บางคนจำเป็นต้องแบกเอาพ่อซึ่งแก่แล้วลงมาสู้

5. ตั้งกรรมการสอบแกนนำพรรคที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง

6. กรรมการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกระดับให้เลือกคนที่ฝ่ายคมช.มั่นใจมากที่สุด ทั้งข้าราชการ ทหารและพลเรือน งานนี้ข้าราชการทั้งเล็กและใหญ่ถึงขั้นผู้ว่าทำงานกันเหนื่อยมาก ว่ากันว่าผู้สมัครพรรคอื่นที่ชนะพรรคพลังประชาชนในบางจังหวัด ยังตกใจว่า คะแนนตัวเองทำไมได้มากขนาดนั้น

7. ใช้วิธีแจกใบแดงใบเหลืองเป็นกระบวนท่าสุดท้าย สำหรับสกัดพรรคไทยรักไทยให้มีส.ส.น้อยที่สุดแต่จะไม่แจกให้ฝ่ายตนเองเด็ดขาด

อันนี้ไม่ใช่สองมาตรฐานแต่เป็นมาตรฐานเดียวคือพวกเราทำอะไรก็ไม่ผิด

แผนงานตามขั้นตอนที่วางไว้ทำให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขันพอสมควร เมื่อเตรียมการเรียบร้อยคู่ต่อสู้ก็เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า

และกรรมการก็เป็นของเรา... คมช. (ราวนี้มั่นใจว่าชนะชัวร์)


23 ธันวาคม 2550 หลังรัฐประหาร การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ คมช. 2550 ก็เกิดขึ้น การปฏิบัติการได้ผลจริงๆ ไทยรักไทยที่แปลงร่างเป็นพลังประชาชน เสียงส.ส.หายไปกว่า 1ใน 3 จาก 377 เหลือเพียง 233 เสียง แต่ประชาธิปัตย์ก็ทำได้เพียง 165 เสียงยังห่างไกลกันมาก โดนคนที่ถูกมัดมือมัดเท้าเอาหัวโขกแพ้น็อคคาเวที

พรรคพลังประชาชนสร้างความตกตะลึงให้คู่ต่อสู้เพราะได้กระทำทุกอย่างแล้วก็ยังไม่สามารถเอาชนะในระบบเลือกตั้งได้

พรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาโดยมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร แผนเอาชนะด้วยการเลือกตั้งก็พังพินาศลง ไม่เพียงแต่ไม่เท่ อำนาจรัฐยังหลุดมือไปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่อุตส่าห์เหนื่อยยากเคลื่อนไหวมวลชนมาเป็นปีและทำรัฐประหารยอมให้คนด่าทั้งบ้านทั้งเมือง แต่ก็มาจบลงด้วยการแพ้เลือกตั้ง

เหตุการณ์ดูเหมือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คล้ายกับการเมืองในอดีตที่หลังการรัฐประหารระยะหนึ่งก็มีการเลือกตั้งแล้วทหารก็ถอยไป ในครั้งนี้หลังเลือกตั้งธันวา 50 ก็มองไม่เห็นบทบาททหารมากนัก หลังรัฐบาลสมัครเริ่มทำงานไม่นานทักษิณก็มั่นใจเช่นกัน เขาจึงเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย

ทุกคนจำภาพที่เขาก้มกราบแผ่นดินครั้งนั้นได้ ทักษิณมั่นใจว่าระบอบประชาธิปไตยจะกลับคืนมา เขาจะได้กลับมาอยู่เมืองไทยแต่เขาคิดง่ายเกินไป ศัตรูไม่ยอมแพ้และเตรียมแผนไว้แล้ว



แผนสาม ยึดอำนาจด้วยตุลาการภิวัตน์

ไม่รู้ว่าใครเป็นเสธ. วางแผนให้แต่เป็นแผนที่ใช้ได้ผล บางคนเรียกว่าแผนหมาป่ากับลูกแกะ บางคนก็เรียกว่าแผนแย่งขนมเด็ก

ข่าวลอบสังหารมีมาอีกครั้งเพื่อพยายามบีบให้ทักษิณหนีออกไปต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับคำตัดสินของศาล ในคดีที่ไปเซ็นรับรองให้ภรรยาประมูลที่ดินรัชดาสมัยเป็นนายก มีคนแนะนำให้ไปดูกีฬาโอลิมปิคที่จีนและอย่ากลับมา ทักษิณไปดูกีฬาโอลิมปิคและก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

แผนขั้นแรกของ ตุลาการภิวัฒน์ทำงานได้ผลอีกแล้ว วันนั้นถ้าทักษิณอยู่และยอมให้ถูกจับขังคุกก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เดือน พ.ค. 2551 รับตำแหน่งได้เพียงสามเดือนก็มีข่าวรัฐประหารแว่วเข้ามา แต่นายกสมัครรู้ก่อนและมีผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรัฐประหาร อีกทั้งทหารบางส่วนก็ไม่เล่นด้วยแผนการนี้จึงยุติลง สิ่งที่ติดตามมาคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ซึ่งยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากปิดถนนก็บุกไปยึดทำเนียบ แต่รัฐบาลสมัครไม่ยอมใช้กำลังเข้าปราบ เพราะรู้ทันว่าถ้าเกิดเหตุรุนแรง ทหารออกมาแน่

การนิ่งของสมัครทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องใช้อาวุธชนิดใหม่อีกครั้ง ตุลาการภิวัฒน์ขั้นสองจึงถูกงัดขึ้นมาแต่หาจุดอ่อนของสมัครไม่ง่ายนัก

เรื่องเซ็นให้เมียซื้อที่ดินก็ไม่มี

สุดท้ายหมาป่าก็พบว่าแกะเฒ่าตัวนี้ได้จัดรายการสอนทำกับข้าวทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงมากจึงถูกตัดสินให้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นี่คงเป็นเวรกรรมที่เคยทำไว้กับคนอื่น

พรรคพลังประชาชนเป็นกลุ่มลูกแกะที่ดื้อด้านจริงๆ ไม่ยอมแพ้หมาป่า ตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ต่อจากสมัคร ฝ่ายตรงข้ามก็เดินแต้มโต้ตอบอย่างฉับพลัน ใช้พันธมิตรเสื้อเหลืองส่งคนเข้าปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้แถลงนโยบาย ถ้าภายใน 15 วันทำไม่ได้นายกฯ สมชายก็พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ตุลา 2551 มีความพยายามที่จะเข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภาก็เลยเกิดปะทะกัน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาและรถยนต์ที่บรรทุกวัตถุระเบิดก็เกิดระเบิดขึ้นแต่ทหารก็ยังไม่ออกมาทำการรัฐประหาร พันธมิตรเสื้อเหลืองจะยั่วยุและด่าอย่างไร ผบ.ทบ. ก็ยังคงนิ่ง

เหตุการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องผลสุดท้ายกลุ่มพันธมิตรได้ตัดสินใจทำสิ่งที่นอกเหนือความคาดหมายของคนทั้งประเทศ คือบุกเข้ายึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทยถูกปิดแล้วใครจะเจ๊งก็ช่างมัน ในช่วงเวลานั้นศาลก็นัดพิจารณาคดียุบพรรค


ตุลาการภิวัตน์ขั้นที่สามกำลังจะแสดงบทบาทอีกครั้งหนึ่งแล้ว

เรื่องนี้เป็นที่รู้ล่วงหน้ากันมานานแล้ว ว่าวันที่ 2 ธ.ค. 2552 ศาลนัดพิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมกลุ่มพันธมิตรต้องรีบเข้าไปยึดสนามบิน ทั้งๆ ที่อาวุธพิฆาตของจริงคือตุลาการภิวัตน์ ไม่ใช่ม็อบอาหารดี ดนตรีไพเราะ พอถึงวันนั้นฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสสืบพยานแถลงปิดคดีก็ไม่ได้ ศาลอ่านคำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยในบ่ายวันนั้นเลย กรรมการพรรคทั้งสามพรรค 109 คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองห้าปี

สำหรับพรรคพลังประชาชนผู้ถูกตัดสิทธิ์ชุดที่สองมีจำนวน 37 คน นายกฯ สมชายก็หลุดจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ตุลาการภิวัตน์ใช้ได้ผลอีกแล้ว

กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองประกาศชัยชนะถอนตัวออกจากสนามบินทันที หลังจากที่ทุบประเทศไทยจนพังแล้วแต่ตัวเองก็ลืมไปว่า ตอนที่เข้าไปยึดสนามบินทั้งกลุ่มก็พังไปแล้วเช่นกัน ไม่รู้ว่างานนี้ใครหลอกให้เข้าไปกินอาหารดี ไปฟังดนตรีไพเราะ ไม่ทันเสร็จศึกก็ทำลายกองทัพของขุนพลเสียแล้ว (แม่ทัพอย่าเผลอก็แล้วกัน) ส่วนพรรคพลังประชาชนก็เปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย

ทันทีที่นายกสมชายหลุดจากตำแหน่ง ฝ่ายอำนาจลึกลับก็จู่โจมดึงเอากลุ่มของเนวินและฉุดลากเอาพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ย้ายมาอยู่กับปชป.งานนี้ว่ากันว่าทั้งขู่ทั้งปลอบให้รู้ว่าไผเป็นไผ จากนั้นก็มีรายการแจกแถมสมนาคุณ เพื่อ ปชป. ให้ได้เป็นรัฐบาล นางงามที่ได้มงกุฎคนนี้ยอมแลกทุกอย่างเพื่อชัยชนะจอมปลอม


เช้ามืดวันที่ 15 ธ.ค. 2551 รัฐบาลผสมพันธุ์ใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นณ.ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ประเทศไทยได้นายกฯ คนที่ห้าในรอบสามปีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ของรัฐบาลที่สื่อมวลชนตั้งฉายาว่ารัฐบาล "เทพประทาน"

ทักษิณไม่ได้ทิ้งม้าเมืองทรอยส์ไว้ให้รัฐบาลเทพประทานก่อนถอยไป แต่ฝ่ายนี้ไปแย่งม้าเมืองทรอยส์เนวินมาเอง อีกไม่นานคงจะรู้สึก

สำหรับประชาชนที่หย่อนบัตรเลือกตั้งเลือกพรรคพลังประชาชนในครั้งนั้น คงจะแปลกใจและไม่พอใจที่ ส.ส. ที่ตัวเองเลือกย้ายพรรคและไปเลือกฝ่ายตรงข้ามได้นายกฯ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าตาหล่อเหนือกว่าความคาดหมาย รัฐบาลชุดนี้กลัวจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันรัฐบาลสมชายจึงหนีไปแถลงนโยบายที่กระทรวงต่างประเทศแทนที่จะเป็นรัฐสภา (น่าจะเป็นครั้งแรกในระบบประชาธิปไตย)

จากนั้นการเมืองก็พลิกกลับเกิดกลุ่มเสื้อแดงและทีวีจอแดงขึ้นมา

เส้นทางเดินคล้ายกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองและทีวีจอเหลือง แต่การชุมนุมมีคนมากกว่าเยอะและได้เปิดโปงบทบาทพฤติกรรมของกลุ่มรัฐประหารที่ผ่านมา แผนตุลาการภิวัฒน์และข่าวเจาะลึกต่างๆ ถูกนำมาเปิดเผยชนิดไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น

หลังจากชุมนุมใหญ่มาสองครั้ง เดือนเมษายน 2552 กลุ่มเสื้อแดงก็เข้ามาเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

และก็ถึงเหตุการณ์ล่าสุดในเดือนเมษา-พฤกษภา 2553 ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายละเอียด ทุกคนคงจำได้ ที่คนเสื้อแดงนับแสนคนจากทั่ว

ประเทศเดินทางเข้ามาทวงอำนาจอธิปไตยคืนให้ประชาชน ต้องการให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยแสดงตัวสนับสนุน ทักษิณโฟนอินเข้ามา ตามกระแสบอกว่าไม่เกินสองสัปดาห์ต้องชนะแน่ ไม่ชนะไม่กลับบ้านแต่พวกเขาลืมคิดไปว่าฝ่ายรัฐประหารได้ลงทุนอะไรไว้บ้าง

จะยอมง่ายๆ หรือ

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นกระบวนการยึดอำนาจรัฐที่ยาวนานที่สุด เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2548 ปี 2549 ทำการรัฐประหาร ปี 2550 ตั้งรัฐบาลชั่วคราวและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่พอปี 2551 ฝ่ายรัฐประหารกลับแพ้เลือกตั้งต้องใช้ตุลาการภิวัฒน์เข้ายึดอำนาจอีกหลายรอบ ใช้ตุลาการภิวัฒน์ขับไล่ทักษิณ ยุบพรรคและตัดสิทธิ์นักการเมืองรอบที่หนึ่ง ปลดนายกฯ สมัครจากนั้น ยุบพรรค ตัดสิทธิ์รอบสอง ปลดนายกฯ สมชาย กว่าจะกวาดต้อนพรรคต่างๆ มารวมกันเพื่อให้สนับสนุนและตั้งรัฐบาลเทพประทานได้ก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด ใช้เวลาถึงสี่ปี

และถึงวันนี้รัฐบาลเทพประทานก็รู้แล้วว่าไม่มีทางชนะพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้ง ดังนั้น เขาจะไม่ยอมยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น การมาร้องขอให้ยุบสภาก็คือการขอให้ยอมแพ้ เมื่อเขาไม่ยอมแพ้ คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็เลยได้ลูกปืนเป็นของแถมไป

เหตุการณ์จึงลงเอยที่มีคนตายเป็นร้อยบาดเจ็บสองพัน สิ่งที่น่าวิตกก็คือถึงแม้รัฐบาลนี้จะอยู่จนครบวาระ ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ถ้าเขาคิดว่าเขาแพ้แน่ เวลานี้พวกเขาแอบเหลือบตามองไปยังประเทศพม่าและคิดอยู่ในใจว่าจะทำอย่างนั้นได้มั้ย



คราวนี้ก็คงเห็นกันแล้วว่าประชาธิปไตยตามระบบธรรมดามันเกิดยากแค่ไหน ตราบใดที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายยังไม่ยอมเคารพเสียงประชาชน

วันนี้เสียงระเบิด กับเสียงปรองดองดังจึงยังแข่งกันอยู่

มีคำถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาตุลาการภิวัตน์อย่างไร?
ความยุติธรรมทำให้คนเชื่อและเคารพ ถ้าปราศจากความยุติธรรม สิ่งนั้นก็จะเสื่อม
จะไม่มีคนเชื่อฟังและถูกทำลายไปเอง ทั้งระบบและตัวบุคคล

แต่การต่อสู้จะไม่หยุดนิ่ง พวกเขาจะหาวิธีใหม่ เพื่อกุมอำนาจรัฐต่อไปเรื่องนายกที่จะมาด้วยวิธีพิเศษไม่ใช่ข่าวลือที่ไม่มีมูล

หลังพฤษภา 2553 เมื่อเลือดนองท้องถนน มองเห็นซากศพของประชาชนนับร้อย ฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่บอกให้เรารู้แล้วว่า ฝ่ายเผด็จการได้ประกาศสงครามอย่างชัดเจนพร้อมกับบอกว่า อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั้นพวกเขายึดไว้แล้ว และจะยังไม่ยอมคืนให้ในปีที่34นี้ ประชาชนต้องคอยต่อไป

จะเป็นปีที่ 35-36 หรืออีกกี่ปีก็ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของการต่อสู้แย่งชิง เพราะเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมไม่เคยมีใครหยิบยื่นให้เฉยๆ ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น.

6 ตุลา 2553 เวลา 23.15 น. ครบ 34 ปีพอดี แต่ก็ยังจะรอคอยต่อไป



.