http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-24

หลัง2012 เราจะรักษาเมืองไว้ได้นานเท่าใด? โดย มุกดา, รัฐบาลกู้แสนล้าน ระวัง..

.
มีโพสต์เพิ่มเติม หลังบทความหลัก :
- นาข้าว เอเชีย 9.37 ล้านไร่ จมน้ำ ผลสะเทือน คือ ราคาข้าวพุ่งสูง
- จุลินทรีย์อาสา ฝ่าวิกฤติภัยน้ำ โดย มูลนิธิสุขภาพไทย

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .


หลัง 2012 เราจะรักษาเมืองไว้ได้นานเท่าใด? เราจะอยู่กับน้ำอย่างไร?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 20


คงต้องเขียนเรื่อง มหาอุทกภัย อีกตอนเพราะเป็นเรื่องชี้อนาคตว่าคนหลายล้านจะยังมีวิถีชีวิตแบบเดิมได้หรือไม่ แม้แต่สหประชาชาติก็ยังวิตกเรื่องนี้ ทั้งเป็นห่วงประเทศในภูมิภาค และเป็นห่วงแหล่งอาหารที่จะกระทบคนทั้งโลก สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในวันนี้มีคำถามมากมาย

ทำไมเกิดน้ำท่วมหนักอย่างนี้? อะไรคือสาเหตุ? แก้ไขได้หรือไม่?

จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่? บ่อยแค่ไหน?

ถ้าเกิดขึ้นอีกจะป้องกันเมืองต่างๆ อย่างไร? และจะรักษาได้นานกี่ปี?



รัฐบาลมีงานล้นมือ
แต่ต้องหาสาเหตุของ มหาอุทกภัย ให้ได้

อย่ากังวลว่าการค้นหาสาเหตุน้ำท่วมเป็นปัญหาการเมือง เพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่เคยสนใจ หรือคิดแก้ปัญหาอุทกภัย ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การช่วยเหลือจากต่างประเทศน่าสนใจกว่า

วันนี้อเมริกาแสดงความเป็นพี่ใหญ่ เสนอส่ง ฮ. มาช่วย 28 ลำ แต่ขณะนี้ประเทศจีนได้ส่งความช่วยเหลือมาถึงไทยมากที่สุด และจะได้เห็นอีกหลายประเทศตามมา รัฐบาลต้องรู้ว่าควรจะให้เขาช่วยด้านไหน เช่น ข้อมูลระดับน้ำผ่านดาวเทียม เทคโนโลยี ด้านอุตุนิยม

การต่อสู้ทางการเมืองในเดือนนี้น้อยๆ หน่อยก็ได้ มีเพียงเรื่องเดียวที่ต้องติดตามคือเรื่องนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุก เรื่อง พ.ร.บ. กลาโหมควรเอาไว้ทีหลัง

วันนี้คนที่น่าสงสารที่สุด คือ คนที่ติดอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมมา 2 เดือนและ คนที่ต้องอพยพหนีน้ำมาอาศัยตามศูนย์อพยพ ยังมีคนนับล้านยอมเฝ้าบ้านที่จมอยู่ในน้ำ ยอมอยู่อย่างยากลำบาก พวกเขาต้องการน้ำ อาหาร ส้วม เรือ คนอยุธยา ปทุมธานี จะต้องอยู่ในน้ำอีกไม่น้อยกว่า 2 เดือน

ส่วนคนงานหลายแสนที่โรงงานต้องปิด ควรจัดรถส่งกลับภูมิลำเนา เพราะคงต้องรออีกหลายเดือน กว่าโรงงานจะเปิด การกระจายคนออกจากเขตอุทกภัย จะลดความลำบากของทุกฝ่าย เงินประกันสังคมจะต้องถูกนำมาใช้ในช่วงเวลานี้

ปัญหาหลังน้ำลดยังมีอีกมากมาย เริ่มจากการระบายน้ำที่ท่วมขังจนเน่าอยู่ในแอ่งต่างๆ การฟื้นฟู บูรณะ เยียวยา ทั้งชีวิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผู้คนที่ทนทุกข์มา 2 เดือนต้องการทางออก แต่พวกเขาจะยืนได้อีกครั้ง ก็ด้วยกำลังของเขาเอง รัฐต้องให้เครื่องมือ ให้เงินพอเป็นทุน เปิดโอกาสใหม่ๆ

โครงการประชานิยมต่างๆ อาจต้องปรับมาลงที่เขตภัยพิบัติก่อนที่อื่นๆ

แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารประเทศ จะต้องหาสาเหตุต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดครั้งนี้เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์, สรุป, หาวิธีป้องกัน ผู้บริหารต้องตัดสินใจเลือกแนวทางป้องกันระยะยาวให้ถูกต้อง

บุคคลากรที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลใดๆ เพราะทุกคนเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำให้น้ำท่วม แต่จะต้องช่วยกันหาข้อมูลที่ถูกต้องให้มากที่สุดเพื่อมาประกอบการตัดสินใจ

เพราะนี่คือ ความเป็นความตายของประเทศ และเป็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน

มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่านับล้านล้านบาท

คนจำนวนมากทำงานสร้างฐานะมานับ 10 ปี ถูกอุทกภัยทำลายในเดือนเดียว



สาเหตุจากสภาพทางภูมิศาสตร์

อุทกภัยในที่ราบลุ่มภาคกลางมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมากเนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของ ภาคกลางเป็นพื้นที่ราบต่ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก ที่กรุงเทพฯ สูงประมาณ 2 เมตร ที่อยุธยาสูงประมาณ 4 เมตร ไล่ขึ้นไปถึงชัยนาท สูงประมาณ 18 เมตร พื้นที่โดยทั่วไปมีความราบเรียบ

สภาพทางภูมิศาสตร์มีลักษณะเป็นรางน้ำขนาดใหญ่ ท้องรางน้ำคือลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนบนอยู่ที่ นครสวรรค์และบริเวณจังหวัดชัยนาท ลาดเอียงเล็กน้อย ลงมาสู่ สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณ ลพบุรีตอนล่าง และกระจายออกในที่ราบลุ่มต่ำผืนใหญ่ใกล้ปากอ่าวไทย คือ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม

ระยะทางจากนครสวรรค์ถึงปากอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการมีความยาวประมาณ 270 ก.ม. อยุธยาถึงปากอ่าวไทย 100 ก.ม. กรุงเทพฯห่างจากทะเลไม่ถึง 20 ก.ม. แต่พื้นราบลุ่มทั้งผืนที่กว้างประมาณ 50-80 ก.ม. ยาวเกือบ 300 ก.ม. ที่มีลักษณะราบแต่มีความลาดเอียงลงสู่ทะเลน้อยมาก ทำให้การไหลของน้ำที่จะออกสู่ทะเลเคลื่อนที่ได้ช้า

ดังนั้น เมื่อมีปริมาณน้ำจากฝนบนฟ้าหรือน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนมาพร้อมๆ กันในช่วงเวลาสั้นๆ น้ำจะล้นออกจากทางน้ำตามธรรมชาติคือแม่น้ำลำคลองและไหลท่วมสองข้างริมตลิ่งเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและ เมือง ที่อยู่อาศัยทุกชุมชน แม้แต่พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่การค้า เมื่อน้ำระบายได้ช้าก็ต้องท่วมนาน เป็นเดือนๆ

สรุปได้ว่า เราเปลี่ยนสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะอยู่ที่ไหน



สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติตามฤดูกาล

กรมชลประทานประเมินว่าประเทศเราจะมีปริมาณน้ำฝนตามปกติ 750,000-800,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่จะเหลือน้ำบนผิวดิน เพียง 200,000 ล้าน ลบม. เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ สามารถเก็บน้ำได้เพียง 76,000 ล้าน ลบม. (ซึ่งไม่พอใช้ตลอดปี)

แต่เราก็ต้องปล่อยน้ำไหลลงทะเล มากกว่าปีละ 100,000 ล้าน ลบม.

น้ำท่วมก็คือน้ำส่วนนี้

คาดว่าสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนในปีนี้เพราะพายุใหญ่ที่พัดเขาสู่เมืองไทยหลายลูกติดต่อกัน (กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปีนี้จะมีพายุในภูมิภาคนี้ถึง 20 ลูก แต่จะพัดเข้ามาถึงไทยกี่ลูกไม่รู้) นับตั้งแต่เดือน มิถุนายน แต่พายุนกเต็นทำให้มีปริมาณน้ำฝน ภาคเหนือและอีสานตอนบนมากกว่าปกติ เกิดน้ำท่วม ถึง 20 จังหวัดในปลายเดือนกรกฎาถึงต้นเดือนสิงหาที่ผ่านมา ถ้าวิเคราะห์จากความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศของโลก ก็ถือว่าเราพอรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

แต่ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำฝนในแต่ละปีที่ตกเหนือเขื่อนและตกในพื้นที่ภาคกลางจะเป็นตัวเลขสำคัญที่ช่วยให้มองเห็นว่าในอนาคต ถ้าปริมาณน้ำขนาดนี้ เราจะสามารถรับได้หรือไม่



สาเหตุเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน

เขื่อนที่มีผลเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมครั้งนี้มี 3 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีความจุในการเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิตติ์ เก็บน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนป่าสักไม่ได้ใช้ ผลิตไฟฟ้า มีความจุเพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี การปล่อยน้ำหรือเก็บน้ำของทั้ง 3 เขื่อนนี้ จะมีผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

เขื่อนขนาดใหญ่ในบ้านเราที่จริงมีหน้าที่เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 18 แห่ง ถ้าเขื่อนสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้อย่างเหมาะสมก็จะมีประโยชน์ต่อการผลิตไฟฟ้าและการชลประทานในพื้นที่เกษตรใต้เขื่อน

แต่ถ้าเก็บน้ำไว้มากเกินไปและมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทุกเขื่อนก็จำเป็นต้องระบายน้ำทิ้งออกมาซึ่งจะมีผลทำให้น้ำล้นตลิ่งและท่วมสองฝั่งของแม่น้ำในพื้นที่ใต้เขื่อน



วิเคราะห์แต่ละปัจจัย...หาสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วม และแนวทางแก้ปัญหา

อุทกภัยในปี 2011 เป็นปรากฏการณ์ที่น้ำท่วมสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พูดได้ว่าในรอบร้อยปีก็ไม่เคยมีอย่างนี้ จึงมีผู้สงสัยว่าน่าจะมีปัญหามาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติและการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ทั้งสองปัจจัยน่าจะมีส่วนร่วมกัน หรืออาจมีปัญหาอื่นร่วมอยู่ด้วย

เรื่องนี้จำเป็นต้องค้นคว้าให้กระจ่างชัดเพราะสาเหตุของน้ำท่วมจะเป็นตัวกำหนดแนวทางแก้ปัญหา เหมือนการค้นหาสาเหตุของโรคก่อนการรักษา

1. ถ้าผลการค้นคว้าออกมาว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ความผิดพลาดจากการเก็บน้ำและปล่อยน้ำออกจากเขื่อน มีไม่ถึง 20% แสดงว่าธรรมชาติทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ และมีโอกาสเกิดอย่างนี้ในปีต่อๆไป ถ้าเป็นแบบนี้หมายความว่า เป็นปัจจัยที่เราแก้ไม่ได้ ต้องคิดว่าจะป้องกันและหลีกเลี่ยงอย่างไร

2. ถ้าผลการค้นคว้าออกมาว่าเป็นความผิดพลาดของการควบคุมน้ำจากเขื่อนเกินกว่า 50% และถ้าสามารถควบคุมน้ำจากเขื่อนได้ดี ระดับน้ำที่ท่วมจะท่วมน้อยกว่านี้ ซึ่งผลแบบนี้ก็ต้องถือว่ามีโอกาสแก้ไขง่ายกว่าแต่ต้องรีบกำหนดแนวทางป้องกัน

แม้น้ำลดไปแล้ว ผลสรุปอาจไม่แน่นอน แต่เหตุการณ์ ในปี 2012 จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะจะเป็นการทดสอบสมมุติฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเชื่อข้อมูลมากน้อยแค่ไหนในปีหน้า (2012) ทุกคนก็ต้องเตรียมตัวตั้งรับเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐบาล แต่จะเป็นการป้องกันแบบเฉพาะหน้า ดังนั้น ฤดูแล้งที่จะมาถึงเขื่อนต่างๆ คงปล่อยน้ำออกมาอย่างเต็มที่

เมื่อรู้สาเหตุ รัฐบาลก็ต้องตัดสินใจว่า ระดับของปัญหาร้ายแรงแค่ไหนจะแก้ไขอย่างไร

ถ้าเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป ต้องประเมินว่า จะอยู่ได้อีกยาวนานเท่าไหร่ 20 ปีหรือ 30 ปี เคยมีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น คาดว่ากรุงเทพฯ น่าจะอยู่ได้อีกไม่ถึง 20 ปี การลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางด่วน รถไฟ ฯลฯ ที่มีมูลค่านับแสนล้านจะต้องประเมินให้คุ้มด้วย ผู้ที่จะมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมหรือที่อยู่อาศัยก็จะต้องคิดถึงความคุ้มค่าเช่นกัน

แน่นอนว่ามีทางเลือกอีกแบบคือการย้ายทั้งเขตอุตสาหกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยให้พ้นจากเขตน้ำท่วมซึ่งก็จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอีกเช่นกันแต่อาจจะอยู่ได้อีกเป็นร้อยปี ถ้ากำหนดว่าจะย้ายเขตนิคมอุตสาหกรรมออกไปในอีก 5-10 ปี จะให้เป็นพื้นที่การเกษตรเท่านั้น จะแก้ปัญหาอย่างไร

เช่น ถ้าสร้างทางผันน้ำขนาดใหญ่จะลดปัญหาได้เท่าไร



การตั้งเป้าหมาย ตามแนวทางแก้ไขปัญหา
เพื่อความอยู่รอด

ผู้วิเคราะห์สามคนได้แนะนำว่า เรื่องนี้ เป็นอนาคตของประเทศ เป็นอนาคตของวิถีชีวิตของเราและลูกหลาน เป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลต้องคิดทั้งหลักการใหญ่ และรายละเอียดในทางปฏิบัติ ต้องคำนึงถึงทรัพยากรเงินทุนและเวลา ซึ่งเราอาจไม่ได้เป็นผู้กำหนด อีกทั้งในการปฏิบัติจริง จะไม่มีเส้นแบ่งเส้นเดียวที่กำหนดว่าทำได้หรือไม่ได้ จึงต้องมีหลายเป้าหมายซึ่งจะมีความละเอียดเป็นตัวเลขว่าในแต่ละเป้าหมายทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเท่าไร ทุนเท่าไร

เป้าหมายแรกคือต้องรักษาเมืองที่อยู่อาศัยเดิมในเขตน้ำท่วมไว้ให้มากที่สุด คาดการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าในแต่ละเมือง แต่ละพื้นที่ย่อยจะอยู่ได้นานเท่าไร 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือ 30-50 ปี

เป้าหมายที่สองถ้าจำเป็นต้องย้ายให้เรียงลำดับความจำเป็น ความสำคัญ ความพร้อม เช่นนิคมอุตสาหกรรมย้ายก่อนตามกำหนดเวลา หรือเขตพื้นที่อันตรายจำเป็นต้องย้ายก่อน การย้ายคือการกระจายคนออกตามช่วงเวลาอาจจะไม่ทั้งหมด เพราะบางคนอาจอยู่ได้และเหมาะกับอาชีพ

เป้าหมายที่สาม การรักษาเขตอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศ เช่น โบราณสถาน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

เป้าหมายที่สี่แนวทางการป้องกันแต่ละเมือง ในช่วงที่คนยังอาศัยอยู่มาก และช่วงที่คนอาศัยอยู่น้อย 1-5 ปี, 5-10 ปี คนอาจไม่ย้ายไปทั้งหมด และในบางจุดอาจอยู่ได้ ต้องมีแผนป้องกันตามช่วงเวลาต่างๆ

เป้าหมายที่ห้ากำหนดพื้นที่ใหม่ ทั้งเมืองอยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ชัดเจน และแยกออกไปในหลายพื้นที่เพื่อเป็นการกระจายความเจริญ

แต่ไม่ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร การปกป้องถิ่นเก่า หรือกระจายคนบางส่วน กระจายแหล่งอุตสาหกรรมออกไป การโยกย้ายวิถีชีวิตของคนหลาย ล้านคน ไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา 5-10 ปี

แม้มีแผนการว่าจะย้ายคนบางส่วนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ต้องมีแผนต่อสู้กับอุทกภัยในช่วงระยะเวลา 1-10 ปีเช่นกัน จะต้องมีการวางนโยบายและแบ่งงบประมาณเพื่อป้องกันปัญหาในเขตเก่าและสร้างพื้นที่รองรับในเขตใหม่ นี่เป็นงานใหญ่จริงๆ หนักมาก แต่ไม่ทำก็ไม่ได้

ทีมวิเคราะห์กล่าวว่า ประเทศของเรามีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นแบบนี้ เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนไป วิถีชีวิตและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การปรับตัวก็ต้องเป็นไปตามยุคสมัยและต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนของโลก

ต้องรีบสรุปในหนึ่งปีนี้ เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลต้องแจ้งกับประชาชนว่า นับแต่ปี 2012 เราจะรักษาเมืองไว้ได้อย่างไร?

อยู่ได้นานเท่าใด?

เราจะอยู่กับน้ำได้อย่างไร?



++

รัฐบาลกู้แสนล้าน ฮึดแก้น้ำท่วมถาวร ระวัง...ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ !!
ในคอลัมน์ เศรษฐกิจ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 22


"ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงทุนเพื่อสร้างประเทศขึ้นใหม่อย่างจริงจัง เพราะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบรุนแรง ถ้าเราไม่ลงทุนปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหามันก็จะเกิดขึ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด "

"เราต้องยอมรับกันว่าประเทศนี้ใช้งบประมาณกันปีละ 2 ล้านล้านบาท มันก็เดินหน้าแบบถูๆ ไถๆ กันไปได้ แต่ถามว่ามันเพียงพอหรือไม่สำหรับการป้องกัน ไม่ให้มีปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก มันควรจะพอกันได้แล้ว ถ้าปล่อยให้ท่วมทุกปี ประเทศชาติมีหวังพินาศกันพอดี "

นี่คือคำกล่าวของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงที่มาของแนวคิดการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินจำนวนหลายแสนล้านบาท นำมาใช้ในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในอนาคต

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยในขณะนี้ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตเต็มที่ เบื้องต้นความเสียหายภาคอุตสาหกรรม พบว่า มีโรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 1,300 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 29 จังหวัด เงินลงทุนรวม 221,000 ล้านบาท แรงงาน 246,000 คน

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ นิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการในจังหวัดอยุธยา ที่มีเงินลงทุน 5 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่ แลนด์ รวมทั้งสิ้น 202,000 ล้านบาท ประเมินความเสียหายทางตรง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท


ส่วนความเสียหายในภาพรวมของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ด้านอุทกภัยด้านเศรษฐกิจ ล่าสุดจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554 หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมใจประเทศ (จีดีพี) ลดลง 1.7% จากเป้าหมายเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3.8% ลงมาเหลือที่ 2.1% ส่วนจีดีพีในไตรมาส 4 เดิมคาดว่าขยายตัว 5% แต่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมรุนแรงทำให้จีดีพีติดลบ 1.1%

สศช. ยังระบุด้วยว่า จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2554 มีผลกระทบต่อการจ้างงาน 252,716 คน จากสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย 6,281 แห่ง โดยผลกระทบที่มีต่อรายได้ของภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งค้าปลีก สาธารณูปโภค และท่องเที่ยว หายไป 315,318 ล้านบาท ซึ่งจากทั้งหมดนี้คิดเป็นผลกระทบต่อจีดีพี ณ ราคาประจำปี ลดลง 182,308 ล้านบาท หรือ 1.7% โดยแยกย่อยได้ว่าผลกระทบต่อรายได้ของภาคการเกษตร 43,224 ล้านบาท แบ่งเป็นพืช 40,228 ล้านบาท ปศุสัตว์ 1,240 ล้านบาท ประมง 1,756 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 213,354 ล้านบาท ภาคค้าส่งค้าปลีก 38,805 ล้านบาท สาธารณูปโภค 2,935 ล้านบาท การท่องเที่ยวรายได้ลดลง 17,000 ล้านบาท

แต่สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดในขณะนี้ คือ สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังไม่คลี่คลายหรือยุติลงแต่อย่างใด จำนวนของความเสียหายจะยังเพิ่มมากขึ้นไปอีก และล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมนวนคร ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.8 แสนล้านบาท ก็เพิ่งถูกน้ำท่วมไป ขณะที่สวนอุตสหกรรมบางกะดี ที่มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ก็กำลังจ่อคิวเป็นรายต่อไป

ส่วนความมั่นใจของนักลงทุนของต่างชาติ นับวันก็จะยิ่งลดถอยลงไปเรื่อยๆ ถึงขั้นเริ่มพิจารณาเรื่องการปรับย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย หากภาครัฐไม่มีมาตรการหรือการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบที่รวดเร็วชัดเจน



ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ในช่วงเวลานี้ นายกิตติรัตน์ และรัฐมนตรีหลายคน จะเริ่มออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า นอกเหนือจากการเข็นมาตรการออกมาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การช่วยติดตามค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยให้สั่งจ่ายเร็วขึ้น

รวมถึงการระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งการทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านบาท จากที่ทำไว้แล้ว ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 3.5 แสนล้านบาท และการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ ลง 10% เป็นวงเงินจำนวน 8 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินทั้งสองก้อน ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท

นอกเหนือจากนั้น รัฐบาลจะลงทุนปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นที่ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาน้ำท่วมกลับมาซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกเพราะต้องยอมรับความจริงกันว่า ความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ เพราะต่อให้รัฐบาลเข็นมาตรการสารพัดเรื่องออกมาแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการ ระดมเงินเป็นแสนล้าน มาฟื้นฟูและเยียวยา พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม

แต่ถ้าในปีหน้าหรือปีต่อไป ตราบใดที่ภาคอุตสาหกรรมยังหวั่นเกรงว่าปัญหาจะยังคงหวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำอีก สิ่งที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงไปจำนวนมาก ก็จะไม่เกิดผลอะไร และคงไม่มีอะไรมาฉุดยั้งหรือดึงดูดไม่ให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทย ความเสียหายจะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ


อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดการลงทุนสร้างเมืองใหม่ หลังน้ำลด จะเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ก็คือ โครงการที่จะมีการลงทุนเกิดขึ้น จะต้องมีความคุ้มค่ามากที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่ถูกนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง มุ่งหวังผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มากกว่าประโยชน์ส่วนรวมเหมือนในอดีต

เพราะต้องไม่ลืมว่า แหล่งที่มาของงบประมาณจำนวนหลายแสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดำเนินงาน มาจากการกู้เงิน หากโครงการที่จะลงทุนไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง การลงทุนครั้งนี้ก็จะมีแต่ความสูญเปล่า ไม่ต่างอะไรกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

หากรัฐบาลจะลงทุนปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างประเทศใหม่ ตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างสวยหรูจริงๆ การลงทุนจะต้องมีทิศทางและแผนงานที่ชัดเจน

ควรจะมีการนำแผนที่ประเทศไทย ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ มากางดูกันเลยว่า พื้นที่ไหน ที่มีปัญหามาก จะเสริมเขื่อนหรือคันกั้นน้ำบริเวณไหน เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ

แม่น้ำหรือคูคลองสายไหน ที่จะต้องขุดลอกเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้น้ำไหลผ่านลงทะเลได้เร็ว การบำรุงซ่อมแซมงานที่มีอยู่ รวมไปถึงเรื่องเขื่อน ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำให้มีความพร้อมรับมือกับปัญหาได้ตลอดเวลา

และที่สำคัญที่สุด หากมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นอีก จะมีแผนการรองรับปัญหาอย่างไร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้เบาบางมากที่สุด ขณะที่งานทุกอย่างที่ดำเนินไป ควรจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยทุกปี ไม่แพ้น้ำท่วมเช่นกัน

ขณะที่หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ก็ต้องทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ไม่ชิงดีชิงเด่น หรือทำงานเพื่อเอาหน้าไปวันๆ ซึ่งเท่าที่ฟังความเห็นและแนวคิดเกี่ยวกับการนำงบประมาณจำนวนหลายแสนล้านบาทมาลงทุน ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของนายกิตติรัตน์ ที่ระบุว่า "จะทำงานอย่างจริงจัง มุ่งหวังเรื่องผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด และขั้นตอนการดำเนินงานจะมีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้จากภายนอกเข้ามาช่วย หากจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างจากต่างประเทศก็จะทำ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด" ก็พอที่รับฟังได้

แต่ คำพูดก็คือคำพูด ไม่สามารถพิสูจน์ได้ดีไปกว่าการลงมือกระทำให้เห็นจริง เหมือนดั่งคำที่ว่าไว้ "เมื่อท่านพูด คนจะฟัง แต่เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อถือ"

เพราะมันจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย ว่าจะได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า หรือจะย่อยยับพินาศลงไปทุกวันๆ

โดยที่เหล่านักการเมืองไม่ดูดำดูดี !!



+ + + +

โพสต์เพิ่มเติม

นาข้าว เอเชีย 9.37 ล้านไร่ จมน้ำ ผลสะเทือน คือ ราคาข้าวพุ่งสูง
ในคอลัมน์ แนวโน้ม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 101


ประเมินว่าอุทกภัยในเอเชียครั้งนี้ส่งผลให้นาข้าวเกือบ 9.37 ล้านไร่ ครอบคลุมทั้งไทยเวียดนาม กัมพูชา ลาว กำลังได้รับความเสียหาย

โดยเฉพาะไทยผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก

ปรากฏว่า มีนาข้าวจมอยู่ใต้กระแสน้ำประมาณ 6.25 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ

ฝนตกหนักทำให้นาข้าวกว่า 2 ล้าน 6 หมื่นไร่ในกัมพูชาจมอยู่ในน้ำเช่นกัน ในจำนวนนี้กว่า 625,000 ไร่พังเสียหายทั้งหมด ข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติกัมพูชาเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมในกัมพูชาเพิ่มเป็น 207 ราย

มีเมืองและจังหวัดรวม 15 แห่งถูกน้ำท่วม ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 215,662 ครอบครัว ทางหลวงถูกน้ำท่วมกว่า 200 กิโลเมตร

ลาวมีนาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 375,000 ไร่ พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ได้รับความเสียหาย หลังจากเขื่อนตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงปล่อยน้ำออกมามาเกินปริมาณปกติ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมลาวรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมทั้งหมด 23 ราย

เวียดนาม นาข้าวเกือบ 620,000 ไร่เสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้บาดาล มีผู้เสียชีวิตแล้ว 24 ราย

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวของเวียดนามระบุว่า สาเหตุของอุทกภัยในปีนี้เกิดจากฝนที่ตกหนักมากผิดปกติในพื้นที่ประเทศไทยและลาวซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง ประกอบกับปัญหาระบบแนวพนังกั้นน้ำบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

นาข้าวและพื้นที่เกษตรของปากีสถานได้รับความเสียมากถึงเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 60,000 ล้านบาท

ความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับหลายฝ่ายที่กำลังวิตกเกี่ยวกับผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลก

การขาดแคลนสินค้าข้าวจะส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น

ที่มา : สกู๊ปพิเศษ "วิกฤตน้ำท่วมเอเชีย นาข้าว จม 9.37 ล้านไร่", ข่าวสด, 11 ตุลาคม 2554


+ + + +

จุลินทรีย์อาสา ฝ่าวิกฤติภัยน้ำ
โดย โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
ในคอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 93


เหมือนอยู่ในภาวะสงคราม ที่ต้องขับเคี่ยวรับมือกับภัยที่จู่โจมมาทุกทิศทาง คู่ต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นธาตุน้ำ ที่มีคุณสมบัติตามหลักทฤษฎีภูมิปัญญาไทย ซึ่งเรียกว่า อาโปธาตุ มีสภาวะเอิบอาบ ดูดซึม แผ่ซ่านออกไปเสมอ พูดด้วยภาษาใหม่คือ ของเหลวไหลลื่นไปด้วยพลังที่ค่อยๆ กัดเซาะทะลุทะลวงทุกทิศทาง

แม้บทเพลงในอดีตยังเคยเอื้อนเอ่ยว่า "น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน" แล้วตอนนี้มวลน้ำมหาศาลจึงไหลโจมตีแนวกั้นน้ำให้แตกพ่ายไปหลายจุด ความทุกข์ยากเฉพาะหน้ากำลังช่วยกันบรรเทา แต่ความทุกข์ของชุมชนที่น้ำไหลบ่าผ่านไปแล้ว เหลือแต่น้ำขังนองนิ่ง และกำลังเน่าหรือเน่าไปแล้วนั้นคือปัญหาใหญ่ตามมา

ดังที่กล่าวว่าสถานการณ์เวลานี้คล้ายสงครามรับมือน้ำ แนวหน้าต้านน้ำไม่ให้ท่วมล้น แนวหลังหุงหาอาหาร บริจาคข้าวของเครื่องใช้ หาเรือ ชูชีพ ส้วมโมบาย ไปบรรเทาทุกข์

แต่ที่แนวหลังซึ่งไม่ได้หมายถึงหลังภาคกลางลงไป แต่หมายถึงเพื่อนจังหวัดอื่นภาคอื่น ที่พื้นดินยังพอแห้งจะเป็นจุดยุทธศาสตร์แนวหลังที่ช่วยกันทำ จุลินทรีย์หรือ EM (Effective Micro-organisms) เพื่อช่วยบำบัดน้ำที่กำลังเน่าได้อย่างดี

เพื่อนเครือข่ายหลายหน่วยงานใน กทม. ได้ริเริ่มช่วยกันทำไปบ้างแล้วแต่ได้น้อยมาก เพราะต้องบอกว่าเวลานี้วัสดุที่หาได้ใน กทม. เริ่มขาดแคลน คือ รำข้าว

อย่างไรก็ตามเครือข่ายได้ช่วยกันทำในลักษณะก้อนจุลินทรีย์ หรือ EM ball แล้วเพียง 7,500 ลูก ซึ่งคิดว่าจะต้องใช้นับแสนลูกหรืออาจถึงล้านลูกกับพื้นที่น้ำกำลังท่วมขัง ประมาณการกันว่าประสิทธิภาพที่ดีเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่ที่ 1 ลูก (ขนาดลูกเทนนิส) น้ำท่วมสูง 1 เมตร ใช้ได้ในพื้นที่ผิวน้ำ 4-5 ตารางเมตร หรือ 4-5 ลูกบาศก์เมตร ถ้าน้ำลึกกว่านั้น เช่นลึก 2 เมตร พื้นที่ผิวน้ำก็ได้ 2-3 ตารางเมตรเท่านั้น ลองช่วยกันคำนวณว่าน้ำท่วมขังนี้จะใช้มากเท่าใด?

วิธีทำไม่ยาก จึงอยากเชิญชวนเพื่อนชาวไทยรอบนอกน้ำท่วม มาเป็นชาวอาสาทำ EM ball ซึ่งหัวใจสำคัญของจุลินทรีย์ก้อน คือ "หัวเชื้อ"

บางท่านจะซื้อจากโรงงานก็ได้ แต่อยากแนะนำให้ทำการเตรียมหัวเชื้อใช้เองดีกว่า


เริ่มจาก

1) เดินออกไปในป่าชุมชน ที่รกร้างข้างหมู่บ้าน นำดินธรรมชาติเรียกว่าเป็นดินบริสุทธิ์ มีลักษณะของเส้นใยของเชื้อราสีขาวๆ ซึ่งพบได้ในบริเวณที่มีใบไม้แห้ง ใบไม้ผุกองทับถมกัน จุลินทรีย์ตามธรรมชาติแบบนี้ดีเยี่ยม หากหาไม่ได้ให้ใช้เปลือกผลไม้สุก เช่น เปลือกสับปะรด ซึ่งเป็นแหล่งของจุลินทรีย์ได้ดีเช่นกัน

2) นำวัสดุข้างต้นใส่ถังหมัก เติมน้ำให้พอท่วมวัสดุ จากนั้นให้เติมน้ำตาลทรายหรือกากน้ำตาล ในปริมาณหรืออัตราส่วน 1 : 1 หมายความว่าใส่วัสดุดินธรรมชาติหรือเปลือกผลไม้น้ำหนักเท่าใด ก็เติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลน้ำหนักเท่ากัน แต่ถ้าไม่มีตาชั่งก็ไม่ต้องกังวล ใช้ประมาณเอาก็ได้

3) ให้ผสมคลุกเคล้าให้น้ำตาลหรือกากน้ำตาลละลายดี ปิดปากถังหมักด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ จะช่วยให้มีอากาศเข้าออกได้ เพราะจุลินทรีย์ต้องการใช้อากาศในการเพิ่มจำนวน ปล่อยทิ้งไว้หรือหมักไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จุลินทรีย์มีจำนวนสูงที่สุด

(หมักน้อยไป นานไปก็ไม่ดี)

จากนั้นให้กรองเอาน้ำหมักซึ่งคือส่วนที่เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ไปใช้งาน

แล้วเป็นขั้นตอนการทำก้อนจุลินทรีย์ หรือ EM ball ใช้วัตถุดิบ 4 อย่าง คือ 1) ดินธรรมชาติ ดินเลน หรือขี้เถ้าแกลบ 2) รำข้าว 3) หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ที่เตรียมไว้แล้ว) 4)น้ำตาลหรือกากน้ำตาล

ต่อไปก็ระดมอาสาสมัครนั่งลงช่วยกันทำ ดังนี้

1) นำเอาดินธรรมชาติหรือขี้เถ้าแกลบ มาผสมให้เข้ากันกับรำข้าว ในอัตราส่วน 1 : 1 (ใช้ปริมาณเท่ากัน)

2) นำเอาหัวเชื้อจุลินทรีย์มาผสมกับน้ำตาลหรือกากน้ำตาล และผสมน้ำด้วย ในอัตราส่วน 1 : 1 : 10 ตัวอย่างเช่นใช้หัวเชื้อ 1 ลิตร ต่อน้ำตาล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร

3) ทีนี้ก็นำวัสดุที่เตรียมได้ในข้อ 1 มาผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมได้ในข้อ 2 เทคนิคสำคัญคือค่อยๆ เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมในวัสดุ แล้วค่อยคลุกให้เข้ากันดีจนเป็นเนื้อที่สามารถปั้นเป็นก้อนได้ วิธีทดสอบง่ายๆ ลองปั้นเนื้อดินที่ผสมให้กำหลวมๆ แล้วปล่อยมือออก ถ้าวัสดุยังจับตัวเป็นก้อนอยู่ก็ใช้ได้ จากนั้นก็สวมหัวใจอาสาช่วยกันปั้นเป็นก้อนกลมขนาดลูกเทนนิส

4) ก้อนจุลินทรีย์ที่ปั้นยังใช้งานไม่ได้ ต้องนำไปบ่มเสียก่อน โดยวางเรียงไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดดหรือฝนโดยตรง แต่เป็นที่มีอากาศถ่ายเท เอากระสอบป่านหรือผ้าคลุมไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิ บ่มแบบนี้ 10-14 วัน หรือสังเกตเส้นใยต่างๆ ของก้อนยุบตัว และจับดูอุณหภูมิไม่ร้อน ขณะที่บ่มหรือหมักจะมีความร้อนเกิดขึ้น บางครั้งอาจสูงถึง 70 องศาเซลเซียส จึงไม่ควรวางเรียงซ้อนกันเป็นกองสูงมากนัก

และบ่มในที่มีอากาศถ่ายเทได้

จากนี้ไปก็นำลูกจุลินทรีย์ไปโยนในที่ที่มีน้ำขังและเน่าเสีย


แต่ก็มีคนสงสัยว่า จุลินทรีย์แบบน้ำใช้ได้ไหม เพราะมีบางคนทำไว้ใส่ในท่อน้ำทิ้งและในโถส้วมอยู่แล้ว

คำตอบคือใช้แก้ขัดไปได้แต่ไม่ดีนัก เพราะจุลินทรีย์เหลวจะช่วยได้เฉพาะผิวๆ น้ำ และกระจายหายไปหมด เพราะน้ำระดับลึกไม่เหมือนท่อน้ำในโรงเรียนในสำนักงาน และจุดที่น้ำเน่าจะเกิดที่ก้นบ่อหรือแอ่งน้ำขังนั่นเอง จึงต้องอาศัยก้อนจุลินทรีย์ดำดิ่งลงไปปฏิบัติงาน

เคล็ดลับอีกประการหนึ่งสำหรับสถานการณ์คับขัน และไม่อยากรอเวลาทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ จึงไปซื้อจากบริษัทนั้น ขอบอกว่าเชื้อในขวดที่มาจากโรงงานต้องนำมากระตุ้นเสียก่อน จึงออกฤทธิ์ได้ดี โดยการใช้จุลินทรีย์สำเร็จรูป 1 ลิตร ผสมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ แล้วต้องหมัก 2-7 วัน เพื่อกระตุ้นจุลินทรีย์ก่อนนำมาใช้เป็นหัวเชื้อ ซึ่งก็ต้องใช้เวลารอเช่นกัน

ยังพอมีเวลาและพื้นที่ให้อาสาสมัครนอกเขตน้ำท่วม มาช่วยกันผลิตก้อนจุลินทรีย์ เพื่อเยียวยาน้ำไม่ให้เน่าเสีย ลงมือเลย!



.