http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-12

..(4 อาชญากรรมรัฐ) โดย ชาญวิทย์, "ศิโรตม์" แนะอย่าเลือกจดจำความรุนแรง

.

จาก 14 ถึง 6 ตุลา และ สอง พฤษภา (4 อาชญากรรมรัฐ)
โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัวของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:35:00 น.










ภาพถ่ายจากงานศิลปะชุด "พิงค์แมน" ของมานิต ศรีวานิชภูมิ


การต่อสู้และการเดินทางเพื่อ "ประชาธิปไตย": 2516-2519-2535-2553

(1) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516

(2) วันมหามหาวิปโยค 6 ตุลา 2519

(3) พฤษภาเลือด 2535 (ไม่ใช่ "พฤษภาทมิฬ" ชาวทมิฬอยู่อินเดียใต้ ไม่เกี่ยว ไม่ได้อยู่เมืองไทย)

(4) พฤษภาอำมหิต 2553

(5) ????


(หนึ่ง) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516

--นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชน ลุกขึ้นมาประท้วงระบอบ "คณาธิปไตยถนอม-ประภาส"

--ผู้คนจำนวนเป็นแสนเข้าร่วมประท้วงกลางถนนราชดำเนิน เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" และ "รัฐธรรมนูญ"

--คณาธิปไตยทหารกระทำ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ประชาชนขัดขืน สถาบันฯ เข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตยล้มครืน

--มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 800

--(ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมือง กทม. และต่าง จว. กับสื่อมวลชน)


(สอง) วันมหามหาวิปโยค 6 ตุลา 2519 3 ปีต่อมา

--จอมพลถนอม บวชเป็นเณรจากสิงคโปร์ กลับเข้ามาประจำวัดบวรนิเวศ บางลำพู

--นักศึกษาและประชาชน ชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ (เรียกร้องให้รัฐบาล นรม. เสนีย์ ปราโมช ขับไล่ถนอมออกจากประเทศ)

--กลุ่มการเมืองจัดตั้งฝ่ายขวา นวพล กระทิงแดง และวิทยุเครือข่ายทหาร (อ้างและอิงชาติ-ศาสน์-กษัตริย์) โจมตีและกล่าวหาว่านักศึกษา "หมิ่นพระบรมเดชาฯ" และเป็น "คอมมิวนิสต์"

--ผู้กุมอำนาจรัฐ-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง-ตำรวจตระเวนชายแดน กระทำ "อาชญากรรมรัฐ" ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ทหารกระทำ "รัฐประหาร" แล้วเสนอตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นรม.

--มีผู้เสียชีวิต 40 (?) ราย, บาดเจ็บ 3,000 (?) คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ รวมทั้งสื่อมวลชน "กระแสหลัก" ของทั้งรัฐและเอกชน วิทยุ/ทีวี


(สาม) พฤษภาเลือด 2535 (ไม่ใช่ "ทมิฬ") อีก 16 ปีต่อมา

--ประชาชน คนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงเป็นระยะๆ ณ บริเวณถนนราชดำเนิน เรียกร้องให้รัฐบาลของ นรม. พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก

--รัฐบาลประกอบ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ประชาชนขัดขืน สถาบันฯ เข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตย/รัฐบาลล้มครืน

--มีผู้เสียชีวิต44 (?) ราย, บาดเจ็บ 600 (?)

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ ชนชั้นกลางในเมือง กับชาวกรุง รวมทั้งสื่อมวลชนเอกชน นสพ. และไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมมากนัก


(สี่) พฤษภาอำมหิต 2553 อีก 18 ปีต่อมา

--ประชาชน คนเสื้อแดง ชาวบ้านจากภาคอีสาน/ภาคเหนือ กับคนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงต่อเนื่องบนถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ เรียกร้องให้ นรม.อภิสิทธิ์ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

--รัฐบาลใช้กำลังทหารประกอบ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม พร้อมข้อกล่าวหา "ก่อการร้าย" และการอ้างและอิงสถาบันฯ

--มีผู้เสียชีวิต 90 (?) กว่าราย, บาดเจ็บ 2,000 (?)

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม มีทั้งชาวบ้าน จากชนบทอีสาน/เหนือ ร่วมกับชาวกรุง คนชั้นกลาง พร้อมด้วยสื่อมวลชนภาครัฐ และภาคเอกชน ที่บางส่วนแตกแยก ขัดแย้ง ผู้หญิงวัยกลางคน เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวมากนัก


--" สยามประเทศไทย เรากำลังจะไปทางไหนกัน ? "



++

บทความปีที่แล้ว


วาระ 34 ปี 6 ตุลา: "ศิโรตม์" แนะอย่าเลือกจดจำความรุนแรง
http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31404
Thu, 2010-10-07 14:51


เสวนา 34 ปี 6 ตุลา ที่ มธ. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์แนะอย่าเลือกจดจำความรุนแรง ชี้ประเด็นของความรุนแรงไม่ใช่อยู่แค่ว่าใครก่อความรุนแรง แต่เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือสังคมมองการใช้ความรุนแรงอย่างไร

( 6 ต.ค. 53 ) ในโอกาสครบรอบ 34 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงเช้า โดยมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ ต่อด้วยการแสดงนาฏลีลาจำลองเหตุการณ์ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกราดยิงนักศึกษา รวมถึงมีการวางพวงมาลา โดยมีนายสุรพล นิติไกรพจน์ ในฐานะอธิการบดี มธ. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ! แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียนนักศึกษาและประชาชนร่วมรำลึก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยประมาณ 10 นาย

ขณะที่ช่วงสายมีการจัดกิจกรรมรำลึก โดยนักศึกษากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ ณ บริเวณสนามฟุตบอล ฝั่งตึกโดม (คลิปวิดีโอ)
www.youtube.com/watch?v=u1sCFt0PpyQ&feature=player_embedded

วันเดียวกัน เวลา 10.00น. ที่ห้องจิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ความรุนแรงและอำนาจรัฐ" โดยเริ่มจากนิยามของความรุนแรงว่า ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงเชิงกายภาพอย่างการทำร้ายร่างกายและชีวิตผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้หมดโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์

บุคคลหมดโอกาสในการบรรลุความ เป็นคนอย่างสมบูรณ์ ผ่านความรุนแรงแบบต่างๆ เช่น ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการทหาร ทางภาษา ทางกฎหมาย ทางวาทกรรม โดยยกตัวอย่างความรุนแรงทางกฎหมาย เช่น การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หลายคนเข้าใจว่า เหมือนกฎหมายปกติ แต่จริงๆ แล้วมีลักษณะพิเศษคือทำให้การกระทำที่ปกติแล้วไม่ผิดกลายเป็นการกระทำที่ผิดและถูกลงโทษได้ อาทิ กรณีแม่ค้าขนข้าวกล่องจากตลาดไทมาให้ผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ปัจจุบันยังติดคุกอยู่ กรณีนี้โดยตัวการกระทำไม่ผิด แต่เมื่อกฎหมายบอกว่าผิด จึงผิด หรือการที่คนจำนวนมากถูกยิงบาดเจ็บล้มตายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทั้งที่โดยการกระทำคือการใช้สิทธิชุมนุมนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ถูกลงโทษว่าผิด เนื่องจากอยู่ผิดที่ผิดเวลา ทำให้คนจำนวนมากติดคุก ตาย บาดเจ็บ โดยไม่มีคนรับผิดชอบเลย

เขาเล่าถึงงานวิจัยของนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่พูดถึงความรุนแรงของไทยผ่านการศึกษา ปรากฏการณ์ในไทย 3 ช่วง คือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เหตุการณ์ 6 ตุลา และการปราบปรามการค้ายาเสพติดสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ โดยระบุว่า ความรุนแรงทั้งสามช่วงคล้ายกันตรงที่คนจำนวนมากถูกกักขังโดยพลการก่อนที่จะมีการตัดสินความผิด โดยในยุคสฤษดิ์ มีการรัฐประหารที่นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึกเกือบ 17 ปี คนจำนวนมากถูกจับกุมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย-คอมมิวนิสต์ ให้จับกุมผู้ต้องสงสัย และควบคุมตัวได้โดยไม่มีกำหนดเวลา คล้ายกับที่คนเสื้อแดงเจอ แต่กรณีของคนเสื้อแดงซับซ้อนกว่าเพราะเป็นการจับกุมผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อ 14 ตุลา โดยมีการให้เหตุผลในคำสั่งยกเลิกกฎหมายนี้ว่า คำสั่งนี้ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า แม้รู้ว่าที่ผ่านมากฎหมายผิดแล้ว แต่คนที่ถูกจับฟรีเป็นร้อยๆ คนก็ไม่มีใครชดเชยความยุติธรรมหรือความเสียหายให้

นอกจากนี้ ความรุนแรงยังทำให้คนหวาดกลัวว่าอาจถูกทำร้าย แม้ไม่ถูกทำร้ายทางร่างกาย แต่เป็นการคุกคามทางอุดมการณ์ ให้เปลี่ยนเป็น "พลเมืองดี" โดยงานวิจัย ระบุว่า จากการสอบถามผู้ที่ถูกจับหลังเหตุการณ์หกตุลาที่เชียงใหม่ พวกเขาบอกว่าไม่ได้ถูกซ้อมหรือทรมาน หรือหากมีก็ไม่เป็นปัญหาที่คุกคามพวกเขาเท่ากับการถูกอบรมด้วยเรื่องซ้ำๆ ซากๆ อย่างเอกลักษณ์แห่งชาติ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นไทย โดยคนที่ถูกจับจำนวนหนึ่งเป็นเพียงครูสังคม ถูกจับเพราะมีหนังสือบางเล่มที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่ปัจจุบัน ใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็กรณีคล้ายกัน คือจับคนเข้ารับการอบรมเรื่องพลเมืองดี ศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง จนเมื่อทหารมองว่าพร้อมกลับไปเป็นพลเมืองดีของไทยแล้วจึงปล่อยตัว

ขณะที่ความรุนแรงจากอำนาจรัฐโดยตรงผ่านการกดขี่ปราบปรามนั้น ศิโรตม์ระบุว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง ทำให้คนคิดมากขึ้นเมื่อจะเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจตัดสินใจเงียบในเรื่องบางเรื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับตัวเอง แม้จะรู้ว่าสิ่งที่รัฐกระทำนั้นผิด อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายิ่งรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนมากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งพัฒนาวิธีตอบโต้รัฐแบบต่างๆ ออกมา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์หลังหกตุลาว่า เมื่อเกิดการฆ่าซึ่งรัฐคิดว่าจะหยุดความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ปรากฏว่า พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวขึ้น สงครามในเขตป่าเขามีมากขึ้น มวลชนของพรรคในเขตเมืองก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับหลังการปราบที่ราชประสงค์ ที่ต่อมา ประชาชนฝ่ายที่ถูกปราบก็พัฒนาการต่อต้านออกมาหลายรูปแบบ เช่นกรณีของ บก.ลายจุดที่ชวนคนออกมาใส่เสื้อแดงทุกวันอาทิตย์

ศิโรตม์แนะว่า ในสังคมที่เผชิญปัญหาแบบนี้ คนที่เห็นต่างจากรัฐจะต้องประเมินให้ได้ว่า รัฐแต่ละช่วงมีการควบคุมอย่างไร เพื่อกำหนดการต่อต้านให้อยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และไม่ก่อให้ผู้ชุมนุมเผชิญปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่หวาดกลัวรัฐจนไม่ออกมาทำอะไรเลย

ต่อประเด็นเรื่องการทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงและอำนาจรัฐ ศิโรตม์ระบุว่า นอกจากคำถามว่าเราจะจดจำความรุนแรงกันอย่างไรแล้ว อีกปัญหาที่น่าสนใจคือวิธีการที่สังคมเลือกจดจำความรุนแรงที่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามีแนวโน้มจะเลือกจดจำเฉพาะความรุนแรงที่สอดคล้องกับอคติทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือสอดคล้องกับความต้องการทางการเมือง เหตุผลทางการเมืองที่ต้องการพูด

ในปัจจุบัน การจดจำรายละเอียดความรุนแรงไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่าความรุนแรงเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ซึ่งเขามองว่านี่เป็นเรื่องที่อันตราย

"โดยความทรงจำที่เรามีต่อหกตุลาในแง่หนึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เราใช้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อวิจารณ์อะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยในปัจจุบัน แต่ความทรงจำถึงคนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นตัวเขาจริงๆ ถูกทำให้หายไป" ศิโรตม์กล่าวพร้อมฉายให้ผู้ฟังในห้องดูภาพของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ โดยระบุว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความรุนแรงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ความรุนแรงทุกรูปแบบที่เราจดจำ อาทิ ภาพของมนัส เศียรสิงห์ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์หกตุลา เขาถูกพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของความตายหกตุลา มากกว่าว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร มีความสำคัญต่อพ่อแม่พี่น้องของเขาอย่างไร หรือหากเขายังอยู่จะประกอบอาชีพอะไร







อารมณ์ พงศ์พงัน

หรือภาพของอารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำกรรมกรซึ่งถูกจับพร้อมนักศึกษาในช่วงหกตุลา หรือพ่อหลวงอินถา สีบุญเรือง ผู้นำชาวนา แทบไม่มีใครจำชื่อพวกเขาได้แล้ว เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่ปัญญาชนรุ่นหลังมองแล้วจะยึดโยงกับเหตุการณ์ได้ว่าเป็นยุคที่ปัญญาชนเคยมีบทบาทอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือภาพของเตียง ศิริขันธ์ และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สองในสี่รัฐมนตรีที่ถูกฆ่าทิ้ง ที่ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว เพราะคนรุ่นหลังไม่เห็นประโยชน์ในการพูดถึงเขาอีก คนอย่างอมเรศ ไชยสะอาด หรือนิสิต จิรโสภณ ก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง แต่ชื่อของเขาก็ไม่ถูกพูดถึงมากนักเวลาคนรุ่นหลังพูดถึงหกตุลา







เตียง ศิริขันธ์ - ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

"เราจดจำความตายโดยเน้นเป็นพิเศษไปที่กรณีซึ่งเป็นประโยชน์กับการต่อสู้ของคนในยุคปัจจุบัน" ศิโรตม์กล่าวและยกตัวอย่างภาพของความรุนแรงที่ตากใบ ว่าเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่ปีมานี้และมีความรุนแรงไม่น้อยกว่าเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ ซึ่งที่ผ่านมา เขามองว่า ฝ่ายผู้ที่สะเทือนใจกับความรุนแรงที่ราชประสงค์ยังไม่มีการพูดถึงความรุนแรงในกรณีตากใบเท่าใดนัก อาจเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยที่ทักษิณเป็นนายกฯ และคนจำนวนมากที่สะเทือนใจกับความรุนแรงที่ราชประสงค์ยังไม่พร้อมจะพูดถึงกรณีนี้









ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ



"ประเด็นของความรุนแรงไม่ใช่อยู่แค่ว่าใครก่อความรุนแรง แต่เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือสังคมมองการใช้ความรุนแรงอย่างไร"

ศิโรตม์กล่าวและตั้งคำถามว่า เราจะมีความกล้าที่จะพูดถึงความรุนแรงที่ราชประสงค์ควบคู่ไปกับกรณีตากใบที่มีคนตายไป 85 ศพได้หรือไม่ ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงทั้งหมดจากจุดยืนว่าความรุนแรงทางการเมืองเป็นเรื่องผิดจริงๆ เราจะจัดการกับความรุนแรงแบบนี้อย่างไร

ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่าเรายอมรับความรุนแรงได้ในกรณีที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นพวกเดียวกับเรา

ศิโรตม์ระบุว่า ขณะที่เราพูดถึงความรุนแรงทางการเมืองจำนวนมาก เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนจำนวนมากพูดถึงความรุนแรงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือพูดบางเรื่องที่เราพูดไม่ได้ในปัจจุบัน และนี่เป็นปัญหาที่ท้าทายทางจริยธรรม และตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่เราจะเห็นว่า ความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ความรุนแรงที่ตากใบรวมถึงความรุนแรงในกรณีอื่นๆ ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดโดยรัฐบาลใดก็ตาม

รวมถึงตั้งคำถามด้วยว่าที่สุดแล้ว เราสามารถพูดเรื่องความรุนแรงโดยหลุดจากกรอบทางการเมือง เหตุผลทางการเมือง หรืออคติรอบตัวได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้น เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยอมรับความรุนแรงทางการเมืองไปเรื่อยๆ และจากโจทย์ว่า ความรุนแรงทางการเมืองผิดหรือถูก จะกลายเป็นว่า ความรุนแรงถูกใช้โดยใคร ถ้าโดยฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องผิด ฝ่ายที่เราเห็นด้วยเป็นเรื่องถูก


......................................................................

เรื่องที่เกี่ยวข้องของปี 2553 :

นศ.จัดกิจกรรม 6 ตุลา 34 ปี ใครฆ่าพี่ "เราไม่ลืม"
http://prachatai3.info/journal/2010/10/31388 มีคลิปวิดีโอ
Wed, 2010-10-06 . . 18:17


วันที่ 6 ต.ค. 53 เวลาประมาณ 11.00น. ที่สนามฟุตบอล ฝั่งตึกโดม มธ. ท่าพระจันทร์ นักศึกษากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ จัดกิจกรรม 6 ตุลา 34 ปี ใครฆ่าพี่ "เราไม่ลืม" เพื่อรำลึกการจากไปครบ 34 ปีของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ การอ่านวรรณกรรม บทกวี ร้องเพลง โปรยดอกกุหลาบและยืนไว้อาลัย



.