http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-04

นิติรัฐ หรือ นิติราษฎร์, สุจริตธรรมบนอกเสื้อ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิติรัฐ หรือ นิติราษฎร์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


โฆษกพรรค ปชป.แถลงปฏิกิริยาต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์แทนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ตรงไหนเป็นการตอบโต้ของคุณอภิสิทธิ์ และตรงไหนเป็นการตอบโต้ของตัวโฆษกเอง ไม่สู้จะชัดนัก

อย่างไรก็ตาม คุณอภิสิทธิ์มิได้ปฏิเสธคำแถลงของโฆษก จึงต้องถือว่าทั้งหมดนั้นเป็นความเห็นของคุณอภิสิทธิ์ หรืออย่างน้อยก็มีความเห็นสอดคล้องตามคำแถลง

คุณอภิสิทธิ์เคยพูดเองมาก่อนว่า ตัวเขาเอาแต่นิติรัฐ ไม่เอานิติราษฎร์ ประหนึ่งว่าสองอย่างนี้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่เขาเคยเลือกการเป็นนายกฯ ด้วยอำนาจนอกระบบ เพื่อรับเสียงสนับสนุนให้พอในสภา แต่ไม่มุ่งมั่นที่จะสร้างคะแนนเสียงจากประชาชนด้วยตนเอง

อันที่จริง หากเคยอ่านเว็บไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์ ก็เห็นได้ในชื่อรองอยู่แล้วว่า นิติราษฎร์ในความหมายของกลุ่มก็คือ "นิติศาสตร์เพื่อราษฎร" เป็นคนละเรื่องกับนิติรัฐ เอามาแทนที่กันไม่ได้

แต่แน่นอนว่าคำนิติราษฎร์เลียนเสียงคำว่านิติรัฐ จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีนัยยะซ้อนมากไปกว่านั้น


นิติรัฐหมายถึงอะไร กล่าวโดยสรุปก็คือ พลเมืองของรัฐทุกคน (รวมผู้ปกครองด้วย) ย่อมสัมพันธ์กันภายใต้กฎหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ดังนั้น นิติรัฐจึงต้องให้ความสำคัญสูงสุดแก่ความเสมอภาค จะเห็นได้ว่าแม้ในคำว่านิติรัฐ จุดเน้นก็อยู่ที่ราษฎรนั่นเอง เพราะรัฐเฉยๆ โดยไม่มีราษฎรเป็นแกนหลักนั้นไม่มี

(ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดในแง่ภาษาว่า รัฐกับราษฎร์นั้น ที่จริงคือคำเดียวกันในภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น)

แต่ในเมืองไทย ชนชั้นปกครองมักพูดถึงรัฐประหนึ่งว่าเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแยกออกไปจากพลเมือง และอยู่เหนือพลเมืองทุกคน รัฐกลายเป็นวัตถุแห่งการบูชาและการสังเวย รัฐของชนชั้นปกครองไทยไม่ได้หมายถึงกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของรัฐร่วมกันซึ่งก็คือราษฎร

ตามทฤษฎีนี้ รัฐจึงเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากรูกระบอกไม้ไผ่ เมื่อแยกออกไปจากราษฎรได้เสียแล้ว จึงดำรงอำนาจและชีวิตของรัฐเพื่อตัวของรัฐเอง หากจำเป็นเพื่อดำรงอำนาจและชีวิตต่อไป รัฐอาจหันมากินราษฎรเป็นภักษาหารได้ ใครที่สามารถขึ้นไปขี่สัตว์ประหลาดที่ชื่อรัฐได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่นบนฐานของกฎหมาย และย่อมอยู่สูงกว่าราษฎรทั้งหลาย (ที่เรียกว่าสองมาตรฐาน) ไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง เพราะทำในนามของสัตว์ประหลาดที่ชื่อรัฐ สามารถออกคำสั่งในนามของรัฐได้ตามใจชอบ และบังคับให้ยึดถือคำสั่งนั้นเป็นกฎหมายด้วย

ผมไม่ทราบว่ากลุ่มนิติราษฎร์คิดอะไรในเรื่องชื่อของกลุ่ม แต่ผมได้รับความหมายถึงการย้อนความหมายของคำว่านิติรัฐที่นิยมใช้กันในหมู่ชนชั้นปกครองไทยด้วย และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่คุณอภิสิทธิ์รับคำ "นิติราษฎร์" ไม่ได้ รับได้แต่คำว่านิติรัฐ

เพราะรัฐในความคิดของคุณอภิสิทธิ์คือสัตว์ประหลาด ซึ่งแม้คุณอภิสิทธิ์ไม่มีกำลังกล้าแข็งพอจะขึ้นไปขี่เองได้ แต่คุณอภิสิทธิ์คงมั่นใจว่า กองทัพย่อมเลือกจะยืนอยู่ฝ่ายคุณอภิสิทธิ์ต่อไป ดังนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า กองทัพก็จะจัดให้คุณอภิสิทธิ์ขึ้นขี่สัตว์ประหลาดตัวนี้อีกจนได้

คุณอภิสิทธิ์แสดงความรังเกียจการใช้มหาวิทยาลัยเป็น "เวที" แสดงความเห็นส่วนตัวหรือส่วนกลุ่มของนิติราษฎร์ เพราะยังมีบุคลากรภายในอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ "ถ้าแน่จริง เลิกใช้หมวกมหาวิทยาลัยและหมวกนักวิชาการในการออกมาเคลื่อนไหว"

แต่กลุ่มนิติราษฎร์ไม่เคยบอกว่า ตนเป็นตัวแทนของ ม.ธรรมศาสตร์นี่ครับ ไม่ได้เป็นแม้แต่ตัวแทนของคณะนิติศาสตร์ด้วยซ้ำ กลุ่มของเขามีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏให้รู้ได้ชัดเจน ว่าประกอบด้วยใครบ้าง เขาก็เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้

หากจะแถลงความเห็นอะไรในมหาวิทยาลัย ต้องรอให้บุคลากรภายในเห็นชอบด้วยทุกคน นับตั้งแต่ภารโรงขึ้นไปถึงอธิการบดี อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องแถลงอะไรในชาตินี้ แม้แต่ค้นพบว่าโลกเบี้ยว ก็แถลงไม่ได้ เพราะคงมีอีกหลายคนที่ยังยืนยันว่าโลกกลมเด๊ะ

ส่วนการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการแถลงความเห็น ก็ถูกต้องตรงตามประเพณีของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่ประเพณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้นนะครับ แต่เป็นประเพณีของมหาวิทยาลัยทั้งโลกก็ว่าได้

คุณอภิสิทธิ์คิดว่ามีมหาวิทยาลัยไว้ทำอะไร? หากไม่ใช่เพื่อเสนอความจริง, ความงาม และความดี อย่างใหม่



ผมขอเน้นว่าอย่างใหม่ด้วยนะครับ เพราะหากย้ำกันแต่ความจริง, ความงาม, ความดีที่ตกทอดมาแต่โบราณอย่างเดียว ก็ไม่จำเป็นจะต้องตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น มีสถาบันทางสังคมปกตินับตั้งแต่ครอบครัว, วัด, โทรทัศน์, นิด้า, และพรรคประชาธิปัตย์ ก็พอแล้ว

อันที่จริงประเพณีของมหาวิทยาลัยตะวันตก ซึ่งเราลอกเลียนแบบมาใช้นั้นคือกบฏมาแต่ต้น มหาวิทยาลัยคือพื้นที่ของการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่โดยเปรียบเทียบแล้วค่อนข้างมีอิสรเสรีกว่าพื้นที่อื่นในสังคม ที่ต้องหนีไปตั้งให้ห่างจากศูนย์อำนาจต่างๆ ก็เพื่อจะสามารถเสนอความคิดความเห็นได้อย่างอิสรเสรี

มหาวิทยาลัย "ท่างัว" (Oxford แปลว่าทางงัวเดินข้ามน้ำ) ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของคุณอภิสิทธิ์ เลือกไปตั้งทำการเรียนการสอนกันที่นั่น ก็เพื่อให้ไกลจากอำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจใหญ่ในสมัยนั้น ที่คอยขัดขวางห้ามปรามความคิดใหม่ๆ ทั้งหลาย เพราะเกรงว่าจะกระทบอำนาจของตน

ถ้าใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อคิด, พูด หรือแสดงออกได้เฉพาะเนื้อหาที่ต้องไม่ขัดแย้งกับอาญาสิทธิ์ของสังคมเท่านั้น ยังจะมี "เสรีภาพทางวิชาการ" อะไรเหลืออยู่ในมหาวิทยาลัยอีก ก็น่าประหลาดที่ว่า คุณอภิสิทธิ์ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง


กลุ่มนิติราษฎร์ได้ทำข้อเสนอทางวิชาการเพื่อการดีเบตในทางวิชาการ ไม่ใช่ในเชิงท้าทายอย่างเดียว แต่ตามคำแถลงครั้งแรก เพื่อปรับปรุงให้ข้อเสนอนี้มีคุณภาพดีขึ้นไปอีก

ดีเบตไม่ได้แปลว่าโต้วาทีเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการโต้แย้งทางวิชาการกันด้วยเหตุผลและข้อมูลด้วย

ผมเดาเอาเองว่า กลุ่มนิติราษฎร์คงเข้าใจดีว่า คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการ คงไม่มีความถนัดหรือเวลาที่จะลงมือเขียนข้อโต้แย้งของตนอย่างเป็นเหตุเป็นผลพร้อมทั้งข้อมูลที่ค้นคว้ามาอย่างดี จึงได้จัดการแถลงครั้งใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้ใช้เวทีนี้สำหรับการแสดงความเห็นด้วยวาจาแทน

แต่สิ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้รับจากนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่หัวหน้าพรรคลงมาถึงลิ่วล้อต่างๆ คือการประณามหยามเหยียดตัวบุคคล หรือแรงจูงใจของผู้เสนอ (ซึ่งเป็นการคาดเดาเอาเอง) ไม่มีใครใน ปชป.ที่ "ดีเบต" ตัวประเด็นข้อเสนอของนิติราษฎร์ หากจะมีบ้างบางคนก็เห็นได้จากคำพูดของเขาเองว่าเขายังไม่ได้อ่าน

จึงไม่แปลกอะไรที่พรรค ปชป.ไม่พร้อมจะให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ของตน และระแวงสงสัยเสรีภาพทางวิชาการ

เช่นเดียวกับนักการเมืองในพรรค ปชป. จากคำให้สัมภาษณ์ก็ทำให้เห็นว่า ผบ.ทบ.ก็ไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์เช่นกัน หรือถึงอ่าน (บทคัดย่อที่เจ้าหน้าที่ทำส่งขึ้นไป) ก็คงไม่ได้พยายามทำความเข้าใจให้กระจ่างดี แต่ยังดีที่เขาไม่ได้เข้ามาร่วม "ดีเบต" แต่ประเมินไว้เลยว่า ข้อเสนอนี้จะทำให้บ้านเมืองแตกแยก

น่าประหลาดที่เขามองไม่เห็นว่า การรัฐประหาร และการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกจนยากจะสมานได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่กลับเห็นว่าความคิดเห็นที่ต่างจากเขานั้น ทำให้บ้านเมืองแตกแยก

บ้านเมืองใดก็ตาม ที่ไม่อาจทนต่อความแตกต่างทางความคิดได้ ถึงอย่างไรก็ย่อมอ่อนแอเกินกว่าจะรักษาความเป็นปึกแผ่นได้อยู่แล้ว

เพราะจะมีบ้านเมืองที่ไหนในโลกที่ไม่มีความแตกต่างทางความคิดเล่า

ตรงกันข้ามกับการประเมินของ ผบ.ทบ. ข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้นมีจุดมุ่งหมาย "ให้บ้านเมืองเป็นสุข ผ่านพ้นภัยพิบัติต่างๆ ไปได้ด้วยดี" โดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีจุดมุ่งหมายถึงอนาคตด้วยว่า บ้านเมืองจะไม่ต้องเผชิญภัยพิบัติจากการรัฐประหารอีกอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

นั่นคือทำให้คำสั่งของคณะรัฐประหารระหว่าง 19-30 ก.ย.2549 "เสียเปล่า" ลงทั้งหมด โดยไม่ยกเว้นความผิดให้ใครเลย (รวมทั้งผู้ก่อการรัฐประหารด้วย)


แต่ผลในส่วนอื่นที่เกิดหลังวันที่ 30 ก.ย. ได้มีผลต่อคนจำนวนมาก

การทำให้ "เสียเปล่า" ไปด้วย จะก่อให้เกิดความระส่ำระสายแก่คนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนการรัฐประหาร จึงจำเป็นต้องยอมรับความไม่เป็นประชาธิปไตยของระบบไปพลางก่อน และเริ่มกระบวนการที่จะนำเอาประชาธิปไตยแท้จริงกลับคืนสู่บ้านเมือง

เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เป็นต้น


. . . . . . . . . . .

บทความที่เกี่ยวข้อง

19 ก.ย.2549 เส้นแบ่งยุคสมัยฯ, แถลงการณ์คณะ"นิติราษฎร์"แหลมคม?, และ....
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/19-2549-222con.html


บทความอันเป็นที่มา

ข้อเสนอทางวิชาการ - 5 ปี-รัฐประหาร 1 ปี-นิติราษฎร์
20 September 2011
รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์ จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้...............................
www.enlightened-jurists.com/blog/44

นิติราษฎร์กับการล้างพิษปฏิวัติ "พวกเราไม่ได้ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแน่นอน"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316753604&grpid=01&catid=&subcatid=

คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกแขนง และบรรดาผู้วิพากษ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ทั้งหลายมาซักถาม และแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นทางการ
ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.
www.enlightened-jurists.com/blog/45


++

สุจริตธรรมบนอกเสื้อ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 19


น่ายินดีที่ภาคธุรกิจลุกขึ้นมาขมีขมันผลักดันการขจัดคอร์รัปชั่นอีกครั้งหนึ่ง อันที่จริง ภาคธุรกิจเป็นภาคที่เสียประโยชน์ (โดยตรง) จากการคอร์รัปชั่นสูงสุด แต่ก็เป็นภาคที่ได้ประโยชน์ (โดยตรง) จากการคอร์รัปชั่นสูงสุดไปพร้อมกัน

ผมได้เห็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรเครือข่ายต่อสู้คอร์รัปชั่นท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า ต้นกำเนิดของคอร์รัปชั่นเกิดที่ใจ พลางเอามือชี้อกตนเอง

พี่มหาพูดถูก อะไรๆ ไม่ว่าดีหรือชั่วก็เริ่มที่ใจทั้งนั้น แต่ในบรรดามนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ ใจมันไม่ได้อยู่ลอยๆ นะครับ มีสภาพแวดล้อมที่ไปมีอิทธิพลต่อใจอย่างมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีมิติด้าน "วัตถุ" เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดใจอยู่ด้วย

และหากเราไม่สนใจเงื่อนไขทาง "วัตถุ" เลย การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นก็คงทำได้แต่การเผยแพร่ปรมัตถธรรมเพียงอย่างเดียว ยังไม่ทันจะบรรลุดี ก็มาสิ้นอายุขัยเสียก่อน

ฉะนั้น ที่ผมจะคุยกับผู้อ่านต่อไปนี้ จึงขอพูดถึงสภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขทาง "วัตถุ" ที่จะทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นได้ผลดี โดยไม่พูดถึงใจเลย



ความพยายามขจัดคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนั้นดำเนินมานานมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เรื้อรังของเราอย่างไร ผมอยากจะรวมวิธีการที่เราเคยใช้มาตั้งแต่โบราณกาล และความล้มเหลวที่สืบเนื่องมาว่ามีวิธีอะไรบ้าง

การปราบคอร์รัปชั่นด้วยการสั่งสอนอบรมด้านจิตใจนั้นเป็นวิธีเก่าแก่ที่สุด หลักอินทภาษในกฎหมายตราสามดวง คือการอบรมสั่งสอนให้ตุลาการเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปตามอามิสสินจ้าง ถึงกับเอานรกโลกันต์มาขู่ ได้ผลอย่างไรก็ปรากฏในงานนิพนธ์ของสุนทรภู่ซึ่งเปรียบตุลาการเหมือนอีแร้งที่จ้องคอยกินซากศพอยู่นั่นเอง

คำพูดและวาทะต่างๆ ของผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทย ก็ล้วนเน้นย้ำด้านจิตใจเพื่อขจัดคอร์รัปชั่นสืบมาจนปัจจุบัน ถึงกับให้เอาไปสอนในโรงเรียนก็เคยมีผู้เสนอมาแล้ว

แต่ในเรื่องการศึกษานี้แปลก มีข้อน่าสังเกตอยู่สองอย่าง ในด้านแรกก็คือ ไม่เคยนำเรื่องคอร์รัปชั่นเข้าไปเป็นหัวข้อหนึ่งของการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียน ผมไม่ได้หมายถึงการสอนให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์เท่านั้น แต่หมายถึงการทำความเข้าใจกับการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุ และผลร้ายซึ่งตกแก่สังคมทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร จนถึงที่สุดก็คือ เราแต่ละคนจะช่วยยับยั้งหรือขจัดมันได้อย่างไรบ้าง

ทำไมเขาจึงเว้นคอร์รัปชั่นไว้ไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของ "ความรู้เรื่องเมืองไทย" ผมคิดว่าคงมีคำอธิบายได้หลายอย่าง

ข้อน่าสังเกตอย่างที่สองเกี่ยวกับการศึกษาก็คือ บรรทัดฐานทางศีลธรรมของการศึกษาไทยคือประโยชน์ส่วนตน เราให้ความสำคัญแก่สองสิ่งน้อยมาก คือความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย (non-practical knowledge) และสำนึกเกี่ยวกับสังคมวงกว้าง... ยังเป็นการศึกษามวลชนของระบอบอาณานิคมอย่างที่ลอกเลียนมา

คอร์รัปชั่นที่จะกระทบถึงประโยชน์ส่วนตนได้นั้น ต้องมีสำนึกถึงสังคมวงกว้างซึ่งเราและลูกหลานเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีสำนึกนี้ก็มองไม่เห็นตำรวจรีดไถคนอื่นไม่ใช่เรา และค่าน้ำชาย่อมถูกกว่าการขึ้นศาล หรือให้กำไรมากกว่า

คำพูดและวาทะของผู้หลักผู้ใหญ่ที่นำเอาไปสอนในโรงเรียนจึงเป็นแต่เรื่องที่ต้องท่องจำไว้สอบอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปจิตสำนึกอย่างไร

นอกโรงเรียน ก็มีความพยายามจะให้ความรู้ถึงผลร้ายของการคอร์รัปชั่น ทั้งลักษณะหยาบๆ ง่ายๆ เช่น หากไม่มีคอร์รัปชั่น ป่านนี้เมืองไทยก็เจริญก้าวหน้ากว่าสิงคโปร์ไปนานแล้ว ไปจนถึงละเอียดและถูกหลักวิชาการ (โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์)

แต่ความรู้ด้านนี้ไม่ค่อยแพร่หลายนัก ยกเว้นแต่ที่ใช้ปลุกระดมม็อบไปยึดทำเนียบ ซึ่งผู้ฟังก็ไม่สนใจตรวจสอบข้อมูล ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงความพยายามจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นซึ่งส่วนหนึ่งคือการค้นหาลึกลงไปในจิตใจตนเอง



ยังมีความพยายามขจัดคอร์รัปชั่นด้วยวิธีอื่นๆ อีก และมักจะมุ่งไปที่นักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เช่น ในระยะแรกบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะทางการเมือง แจ้งทรัพย์สินของตนไว้กับ ปปป. แต่การแจ้งนี้เป็นความลับ คือไม่มีใครรู้เลยแม้แต่ ปปป. เอง เพราะรับซองปิดผนึกไปเก็บไว้เฉยๆ จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันแล้ว จึงเรียกมาเปิดดูได้ว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือไม่ และได้มาอย่างไร

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินที่ไม่อาจบอกที่มาได้ ไม่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดี เพราะไม่มีใครรู้

มาในภายหลัง (รัฐธรรมนูญ 2540) ปปช. จึงมีหน้าที่ประกาศทรัพย์สินที่แจ้งไว้ให้สาธารณชนรับรู้ ทั้งก่อนและหลังรับตำแหน่ง รวมทั้งขยายไปยังตำแหน่งสาธารณะระดับสูงที่ไม่ได้มาจากการเมืองด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการ "ความโปร่งใส" ซึ่งหวังว่าจะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งบรรเทาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้

ไม่ว่าจะด้วยวิธีอย่างไร คอร์รัปชั่นในประเทศไทยก็ไม่เคยลดลง มีแต่จะแพร่หลายและกระจายไปทุกระดับมากขึ้น กลายเป็นเหตุให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อว่า วิธีขจัดคอร์รัปชั่นที่ได้ผลที่สุดคือรัฐประหาร

แต่คอร์รัปชั่นภายใต้รัฐประหารยิ่งเลวร้ายลง อย่างมากก็เพียงจัดการกับปรปักษ์ทางการเมือง และสังเวยเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ เท่านั้น ในชั่วระยะความจำของเราทุกคน คดีค้างเก่าที่รัฐประหารไม่ได้ชำระสะสางมีมากมาย กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ยังมีนักการเมืองที่หันไปร่วมมือกับคณะรัฐประหารก็ยังลอยนวลอยู่ในทุกวันนี้ เช่นเดียวกับกรณีซีทีเอกซ์ และสนามบินสุวรรณภูมิทั้งโครงการ นับตั้งแต่ถมทรายเป็นต้นมา ความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อของกองทัพทุกเรื่อง ไม่เคยมีการสืบสาวราวเรื่องให้ชัด ซ้ำยังจัดซื้อกันอย่างไม่โปร่งใสสืบมาจนทุกวันนี้

คนที่เชื่อว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือขจัดคอร์รัปชั่นก็คือคนที่เชื่อใน "อำนาจ" เห็นอำนาจเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทุกอย่างไปหมด คนเหล่านั้นจึงเชื่อว่าต้องออกกฎหมายลงโทษหรือป้องกันคอร์รัปชั่นนานาชนิด

อำนาจนั้นจำเป็นแน่ แต่อำนาจอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาอะไรได้สักเรื่องเดียว ถึงจะออกกฎหมายไปก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หรือถึงสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบจับผิดและส่งตัวขึ้นลงโทษ เช่น สตง. หรือ ปปช. ก็จะมีงานล้นมือเสียจนเหมือนแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะมีกรณีที่น่าสงสัยว่าโกงกันเป็นพัน แต่สามารถดำเนินคดีได้ไม่ถึง 100

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ อำนาจอาจนำไปสู่ความฉ้อฉลขององค์กรเองก็ได้ และการฉ้อฉลอำนาจขององค์กรจับผิดนั้นทำให้การขจัดคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องตลก ที่ไม่มีใครเชื่อถืออีกเลย นั่นเป็นอันตรายกว่า



อันที่จริง การให้ความสำคัญแก่ความโปร่งใส ในกระบวนการตัดสินใจ, กระบวนการดำเนินงาน, และกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน หนึ่งนั้น ถือได้ว่ามาถูกทางแล้ว เพราะหากกระบวนการเหล่านี้ใสพอที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ การทุจริตก็ทำได้ยากขึ้น

แต่สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ โปร่งใสเพื่อให้ใครดู ต้องชัดเจนแน่นอนนะครับว่า โปร่งใสไว้ให้ประชาชนดู (ผ่านองค์กรอิสระ และองค์กรทางสังคมชนิดต่างๆ นับตั้งแต่สื่อขึ้นไปถึงองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ) ไม่ใช่โปร่งใสไว้ให้ดูกันเอง

มีมาตรการหลายอย่างที่ทำกันขึ้นหลังรัฐบาลอานันท์ เช่นพ.ร.บ.ข่าวสารของทางราชการ ไปจนถึงการตั้งองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสโดยตรง และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

แต่ผลที่ได้ก็ไม่น่าประทับใจเท่าไรนัก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้ลดลง อันดับความเป็นประเทศขี้ฉ้อของโลก ไม่ขยับขึ้น ซ้ำบางปียังลดต่ำลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

กลไกเพื่อความโปร่งใสต่างๆ ที่สร้างไว้ ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก หรือบางกลไกก็ไม่ค่อยถูกใช้เท่าที่ควร เช่นพ.ร.บ.ข่าวสารฯ มีผู้ขอใช้สิทธิไม่สู้มากนัก ที่สำคัญสื่อซึ่งควรขอใช้มากที่สุด กลับไม่ค่อยได้ใช้เท่าที่ควร

ความพยายามในการขจัดคอร์รัปชั่นเหล่านี้ แม้ไม่ผิด แต่ที่จริงแล้วไม่สามารถทำงานอย่างได้ผลในโครงสร้างที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือความโปร่งใส

จะโปร่งใสให้ใครๆ มองเห็นได้จริง ย่อมขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ตัดสินใจและดำเนินการกันในภาครัฐและเอกชนนั้น มันใหญ่โตซับซ้อนเกินกว่าใครจะมองทะลุผ่านเข้าไปได้ หรือเป็นระบบที่มีขนาดเล็กลง พอที่ผู้ได้เสียสามารถมองทะลุเข้าไปได้ง่ายๆ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระบบที่รวมศูนย์อย่างมากเช่นประเทศไทย กฏเกณฑ์กติกาเพื่อความโปร่งใสทั้งหลาย ทำงานไม่ได้หรอกครับ

เพราะทุกเรื่องมันห่างไกลจากประชาชนผู้ได้เสียจนเกินกว่าใครจะเพ่งทะลุเข้าไปถึง

เขาโกงกันในอบต.ไกลลิบลับ จะให้เดินทางมาขอข้อมูลในกรุงเทพฯ ก็เกินไป


สรุปก็คือ กลไกความโปร่งใสจะทำงานได้ ก็ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้างอำนาจ กระจายการตัดสินใจ, การดำเนินงาน และการตรวจสอบลงไปถึงหน่วยเล็กๆ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมจริงของชีวิตประชาชน เหมือนกลุ่มออมทรัพย์, กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์, กลุ่มเหมืองฝาย, หรือกลุ่มสหกรณ์ชาวบ้าน มีการโกงกันน้อยมากเมื่อเทียบกับภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ เนื่องจากชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

วิธีการขจัดคอร์รัปชั่นหลายชนิดหลายอย่างที่เราเคยทำมา และไม่ค่อยได้ผลสืบมาจนถึงวันนี้ ล้วนเป็นมาตรการที่อยู่ลอยๆ ไม่ได้ แต่จะทำงานได้ผลก็ต่อเมื่อมีโครงสร้างที่เอื้อให้ทำงานได้ผลด้วย เช่นจะอบรมจิตใจที่สุจริตซื่อตรง ก็ต้องมีระบบการศึกษาที่ดีรองรับ ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนเนื้อหาของการสอนเท่านั้น พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลจะทำงานได้ผลดี ก็ต้องมีสื่อที่ต้องการเจาะข่าว เพื่อนำความจริงที่ซับซ้อนกว่าปรากฏการณ์มาบอกเล่าให้สาธารณชนรับรู้ จะโปร่งใสได้ก็ต้องไม่กระจุกอำนาจและทรัพยากรไว้ในมือคนส่วนน้อยที่ศูนย์กลาง แต่ต้องกระจายออกไปให้ถึงระดับหมู่บ้าน

ตราบเท่าที่เรายังพยายามขจัดคอร์รัปชั่น โดยไม่ใส่ใจจะปฏิรูประดับโครงสร้าง เราก็คงต้องสวมเสื้อขาวเดินรณรงค์ออกทีวีกันตลอดไป



.