http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-29

สังคมไทย"ขัดแย้ง"เกินเยียวยา, แนะฝ่ายค้านพลิกวิกฤตน้ำท่วม, ..+

.
มีโพสต์บทความเพิ่ม หลังบทเรียบเรียงและสัมภาษณ์หลัก
- สำลักทฤษฎี โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
- ชะตากรรม รัฐบาล มาด้วย "ไฟ" ไปด้วย "น้ำ" รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มุมมองนักวิชาการ เมื่อสถานการณ์ "น้ำท่วม" บ่งชี้ว่าสังคมไทย "ขัดแย้ง-แตกแยก" เกินเยียวยา?
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.

ท่ามกลางอุทกภัยในสภาวะวิกฤตหนักซึ่งไล่เรียงมาจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล ก่อนจะค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่กรุงเทพมหานคร แต่หลายคนยัง "จับได้" ถึงสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองอันดุเดือดร้อนแรง ซึ่งแฝงมากับภาวะเยียบเย็นของมวลน้ำ

มติชนออนไลน์ขออนุญาตประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ 2ท่าน ที่เชื่อมโยงประเด็นอุทกภัยเข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย มานำเสนอ ดังนี้


"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เขียนบทความชื่อ "Even this national disaster is being used as a political weapon." ลงในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ "แม้แต่หายนภัยของประเทศ ก็ไม่วายถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง" โดยมีประเด็นสำคัญว่า

ท่ามกลางบรรยากาศน้ำท่วมครั้งใหญ่ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "ความโง่" ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย พร้อมๆ กับข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งกล่นเกลื่อนเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ "การทำลายความเชื่อมั่นในรัฐบาล " "การทำลายความน่าเชื่อถือส่วนตัว " และ "ทำให้ความพยายามในการแก้ปัญหากลายเป็นเหมือนเรื่องเด็กเล่น "

การเมืองเรื่องน้ำตามความเห็นของปวินยังมีความเกี่ยวพันกับการทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อป้องกันกรุงเทพมหานครจากภาวะน้ำท่วม ในขณะที่อีกหลายจังหวัดต้องทนทุกข์อยู่ใต้น้ำมาอย่างยาวนาน จึงเป็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรุงเทพฯ กลายเป็น "สัญลักษณ์ของความขัดแย้งทางการเมือง" ที่บ่งชี้ถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างคนต่างจังหวัดกับเมืองหลวง

นอกจากนี้ การเมืองเรื่องน้ำยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่ปวินเห็นว่าเป็นความพยายามทำงานเพื่อ "แข่งขัน" (อย่างดุเดือด) มิใช่ "ร่วมมือ" กับรัฐบาลเพื่อไทย ของ "ฝ่ายตรงข้าม" หลายกลุ่ม เมื่อผนวกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้นายกฯ หญิง ลาออก ด้วยเหตุผลว่าเธอทำงานผิดพลาดในการบริหารจัดการสภาวะน้ำท่วม ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจึงตีความว่าบรรยากาศ "การแข่งขัน" แย่งชิงผลงาน และแรงกดดันให้ยิ่งลักษณ์ลงจากตำแหน่ง อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ "รัฐประหารด้วยน้ำ "


หลายคนอาจคล้อยตามหรือเห็นแย้งกับข้อสังเกตเหล่านี้ของปวิน ทว่าข้อสังเกตประการหนึ่งที่นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เขียนไว้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด ก็คือ

"การไม่หยุดปัดแข้งปัดขาแม้ในสภาวะวิกฤตที่สุดของชาติ แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อหนึ่งของประเทศไทย ที่ว่าความแตกแยกในสังคมไทยตอนนี้มันบาดลึกยากเยียวยาเสียจนทำให้ความเชื่อทางการเมืองอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความฉุกเฉินในการเยียวยาประเทศได้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ประชาชนยินดีที่จะทิ้งความแตกแยกไว้ข้างหลังแล้วจับมือฟันฝ่ามหันตภัยไปด้วยกันอีกต่อไปแล้ว การอาศัยภัยพิบัติของชาติเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองจึงกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในปัจจุบัน"



ด้าน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบันทึกข้อความขนาดสั้นๆ ติดต่อกัน 3 ชิ้น ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

น้ำท่วมระดับ "หายนะ" ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจางหายไป มิหนำซ้ำ ความขัดแย้งดังกล่าวยังแสดงออกมาอย่างรุนแรงมากท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะในสังคมระดับ "เมือง" และ "ออนไลน์" ทั้งหลาย

ยกตัวอย่างเช่น การที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดังออกมาพูดเรื่อง "ต้องใส่เสื้อแดงถึงเข้าไปที่ ศปภ. ได้ " แล้วมีคนเชื่อเยอะมาก แม้ต่อมาสื่อหลายสำนักจะนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม หรือการออกมาเชียร์ทหารพร้อมกับการด่านายกรัฐมนตรีไปด้วย เป็นต้น

สำหรับสมศักดิ์ ภาวะขัดแย้งท่ามกลางเหตุน้ำท่วม ก็ไม่ต่างจากวิวาทะเรื่อง "ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์" ที่มีลักษณะเหมือน "พูดกันคนละภาษา คนละเรื่อง (คนละประเทศ)"

ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึง "เส้นแบ่ง" ของ "ทวิอำนาจ" อันเป็น "สาเหตุ" พื้นฐานที่สุด ของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และวิกฤตการเมืองตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม การเมืองแบบ "ทวิอำนาจ" ในปัจจุบัน มีลักษณะ "มวลชน" สูงทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่ใช่เรื่องของบุคคลระดับ "แกนนำ" ที่จะไปตกลงอะไรกันเองได้เฉยๆ แต่มีคนระดับธรรมดาๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก

อาทิ คนเล่นเฟซบุ๊กจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน หรือ ผู้ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่ล้วนอยู่ในระดับสิบล้านคนเหมือนกัน

ถ้าในกรณีของประเทศตะวันตกจำนวนมาก การมีพรรคหรือ "ฟาก" การเมืองใหญ่ 2 ฟาก ซึ่งมีคนสนับสนุนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จะไม่นำไปสู่ปัญหาอะไร ใครชนะเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาล ส่วนคนอีก 10 ล้าน ซึ่งอยู่ในฟากที่แพ้ ก็ไม่มีปัญหากับเรื่องดังกล่าว

แต่ปัญหาของสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน ในทรรศนะของอาจารย์ประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีลักษณะต่างออกไป เพราะความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นมีลักษณะเป็น "มูลฐาน" (fundamental)

ระหว่างการจะยอมรับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจนำของประเทศ หรือจะยังคงยืนยันให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นอำนาจนำของประเทศ

โดยปราศจาก "จุดร่วม" ที่จะ "ยอมรับร่วมกันได้" ในเรื่อง "มูลฐาน" เชิงอำนาจดังกล่าว

ดังนั้น แม้จะจัดให้มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดภาวะ "ปกติ" ขึ้นได้ แม้แต่วิกฤตหายนะระดับน้ำท่วมใหญ่ ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดความรุนแรงแหลมคมลงไปแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น สมศักดิ์ยังชี้ให้เห็นถึง "ข่าวร้าย" หรือ "เรื่องน่าเศร้า" ก็คือ ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ เมื่อมีความขัดแย้งในลักษณะ "มูลฐาน" แบบนี้ เกิดขึ้น

ความขัดแย้งดังกล่าวจะลงเอยหรือ "ยุติ" ลงด้วยการที่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ต้อง "พัง" ลงไป

เช่น ความขัดแย้ง "มูลฐาน" ที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 10-20 ปี ระหว่างรัฐไทย กับ ขบวนการปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และแนวร่วมต่างๆ

ซึ่งสุดท้ายความขัดแย้งก็ยุติลงด้วยการที่ฝ่าย พคท. "พัง" ไป


"ไม่เคยมีการ 'ประนีประนอม' ที่ 'ลงตัว' ในลักษณะ 'แบ่งๆ กันไป ' ได้เลย เพราะความขัดแย้งมันมีลักษณะ "มูลฐาน" เกินกว่าจะ 'แบ่งๆ กันไป ' ได้ - อันนี้ ไม่ได้แปลว่า ต้อง 'รุนแรง' หรือ เปลี่ยนอย่างสันติ ไม่ได้นะครับ อย่างกรณีอัฟริกาใต้ ในที่สุด ระบอบ Apartheid (การปกครองด้วยนโยบายแบ่งแยกสีผิว - มติชนออนไลน์) ก็ 'พัง' ไป และ เปลี่ยนเป็น majority rule หรือ ระบอบปกครองโดยคนส่วนมาก ช่วง "เปลี่ยน" ก็เรียกว่า 'สันติ' แม้ว่า ก่อนหน้านั้น หลายสิบปี ก็เสียชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน"

คำถามสุดท้ายที่สมศักดิ์ทิ้งไว้กับสังคมไทย ที่กรุ่นไอความขัดแย้งยังคงปรากฏแม้ในช่วงน้ำท่วมหนัก ก็คือ

"ความขัดแย้งในปัจจุบัน จะ 'ยุติ' อย่างไร?"



++

แนะฝ่ายค้านพลิกวิกฤตน้ำท่วม
ในคอลัมน์ รายงานพิเศษ ข่าวสดรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7639 หน้า 3


ในสถานการณ์วิกฤตปัญหาน้ำท่วม นอกจากการรอคอย ตรวจสอบ จับตาการบริหารจัดการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การช่วยกันคนละไม้คนละมือถือเป็นหน้าของทุกภาคส่วนในการสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาให้ลุล่วง การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านยามนี้ ทั้งการโจมตีรัฐบาลโดยที่ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง การโจมตีนายกฯ เรื่องร้องไห้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์


โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทบาทของฝ่ายค้านไม่ว่ายุคใด สมัยใด หรือว่าพรรคใดเป็นฝ่ายค้าน หน้าที่หลักก็คือต้องค้านการทำงานของรัฐบาล หากเห็นว่าไม่ถูกไม่ต้องก็ต้องค้านเป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องส่วนตัวก็ไม่ควรนำมาโจมตีกัน นี่คือหลักการกว้างๆ ของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในภาวะเช่นนี้ ต้องมองว่าฝ่ายค้านมีสถานะใน 3 แบบ หนึ่งคือสถานะของส.ส.พื้นที่ ที่ต้องดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน หาสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นส.ส.

แบบที่ 2 คือการเป็นส.ส.ในสภาที่ต้องตั้งกระทู้ถามถึงการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล และแบบสุดท้ายก็คือการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในฐานะของนักการเมือง ที่จะค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนี้ ส่วนตัวยังมองว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่การค้านแบบไร้เหตุผล แต่การแถลงหรือให้สัมภาษณ์ของสมาชิกพรรคบางคนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้างตามสไตล์ของนักการเมือง ประชาชนก็จะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณตัดสินเอง

ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีในภาพรวม คือระมัดระวังคำพูด หรือการวิพากษ์วิจารณ์ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายค้านอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเมืองไทย

หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และกทม.ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำงานร่วมกันได้

แนวทางการทำงานของฝ่ายค้านในช่วงนี้อยากให้เน้นไปในด้านการค้านเชิงสร้างสรรค์ หรือการค้านด้วยการเสนอข้อมูลมากกว่า


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นช่วงวิกฤตที่ดูแล้วใครก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำได้เพียงเป็นแค่การป้องกันปัญหา รัฐบาลทำได้เพียงให้บรรเทาลง

การทำงานของรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์วิกฤต การช่วยเหลือของของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐย่อมเป็นที่สนใจของสื่อ ฝ่ายค้านอาจเห็นว่าบทบาทรัฐบาลจะได้รับการเสนอมากกว่า ก็ต้องหาวิธีช่วงชิงพื้นที่ทางหน้าสื่อบ้าง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจทำงาน

วิธีการโจมตีและสร้างข่าวจึงเกิดขึ้นทั้งที่อาจไม่เป็นความจริง ภาพนายกฯ ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่พรรคฝ่ายค้านก็พยายามโจมตีโดยไม่คำนึงถึงเหตุวิกฤต จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงาน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม

ส่วนตัวเห็นว่าการออกมาโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะแฟร์กับการทำงานของรัฐบาล เช่น โจมตีเรื่องของบริจาค ทั้งที่ข้อมูลยังไม่แน่ชัด ถือเป็นการมุ่งโจมตีกันมากกว่า

กระทั่งออกมาหาว่านายกฯ แก้ปัญหาไม่ตก เอาแต่ร้องไห้ ถือว่าไม่เป็นลูกผู้ชาย ช่วงวิกฤตเราต้องสามัคคีและให้กำลังในการทำงานที่หนักหนาสาหัสในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่ออยากเล่นการเมืองให้ได้เป็นข่าว

การทำงานของนายกฯ ในยามนี้เราต้องรับรู้ว่าเหนื่อยและหนัก ดังนั้นควรให้กำลังใจและช่วยกัน หากมีข้อเสนอแนะก็บอกกล่าว ไม่ใช่ออกมาตีโพยตีพายกันทุกวันเพื่อให้ได้หน้าทางสื่อ

โฆษกประชาธิปัตย์ที่ออกมาโจมตีการทำงานของรัฐบาลทุกวัน ผมว่าไม่น่าจะเป็นสุภาพบุรุษ

คำแนะนำให้พรรคฝ่ายค้านคงไม่มีอะไรดีกว่าจะช่วยกัน และร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อทำงานให้หนัก คิดให้รอบคอบเพื่อทำให้ปัญหาวิกฤตผ่านพ้นไป

สถานการณ์ตอนนี้ทุกฝ่ายถ้าร่วมกันทำงานก็จะช่วยให้กรุงเทพฯ เราผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว เราอย่ามาเล่นการเมืองในเวลานี้เลย


ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ

ช่วงวิกฤตที่บ้านเมืองกำลังเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงเช่นนี้ อย่ามัวแต่แบ่งข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่อีกเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทุกคนล้วนมีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ที่จะช่วยกันจัดการปัญหาได้

ถ้าพูดในมุมการเมือง ส.ส.หรือรัฐมนตรีไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ส.ส. หรือข้าราชการทางการเมืองทุกคนคือ ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ จึงควรจะออกมาหาทางออกให้กับประชาชนด้วยกัน หาข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หาคนที่เหมาะสมออกมาแก้ปัญหา

แม้วันนี้จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีนัก แต่ส.ส.ที่จะมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลก็ควรออกมาหาช่องทางในการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ไม่ใช่มัวแต่มานั่งทะเลาะกัน จนละเลยปัญหาที่เกิดกับประชาชนโดยตรง

สื่อมวลชนต่างประเทศเขามองว่าการเมืองบ้านเราเป็นการเมืองส่วนตัวไปแล้ว เราควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการช่วยกันสู้รบกับธรรมชาติ และหยุดพูดว่าใครเป็นฝ่ายไหน

ผมไม่ได้มองว่าใครผิดถูก แต่มองว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือของคนทุกฝ่ายมากกว่า แล้วก็ควรมีนิติบุคคลที่เชี่ยวชาญ บัญญัติกฎหมายออกมาชี้แนะช่องทางโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก


มนตรี สินทวิชัย
เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก อดีตส.ว.

การที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังแย่งชิงพื้นที่ข่าวกันนั้น เป็นการสร้างความสับสนและความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เรื่องแบบนี้อยู่ในสายตาประชาชน ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาใครเป็นผู้ที่จะแย่งซีน และแย่งอย่างไร

วิกฤตครั้งนี้ประเทศไทยต้องการสร้างความปรองดอง ขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามบี้กันทางการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ซึ่งออกมาใส่กันไม่ยั้งทั้งที่เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ซัดกันนัวเนีย ตรงนี้ถือว่าไม่เหมาะสม

จริงๆ แล้วน่าจะมีการแนะนำ พูดคุยและร่วมกันแก้ปัญหาให้เกิดความหวังเพื่อจะได้ฝ่าวิกฤตตรงนี้ คลายความวิตกกังวลของประชาชน ไม่ใช่ออกมาเพื่อให้ได้เพียงพื้นที่ข่าวและประชาชนไม่ได้รับอะไร เพราะประชาชนเป็นผู้เสพข่าวที่รอคอยความช่วยเหลือ

ตอนนี้ต้องยุติอย่าใส่ร้ายทำลายกัน อย่าทำสงครามน้ำลาย อย่าเล่นการเมือง ควรจะมาร่วมมือร่วมใจ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อยากเรียกร้องให้ปรองดองแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย

เรื่องแจกของหากเห็นว่ามีข้อเท็จจริง ทำจริง ก็ว่ากล่าวตักเตือนเลย วันนี้เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน ไม่ใช่ใช้เวทีสื่อมาอัด มาเล่นการเมืองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าว ประชาชนจะได้อะไร

เช่น การกั๊กสิ่งของบริจาคถ้าเป็นความจริงมันปิดกันไม่มิด หรือเห็นจริงก็เข้าไปตักเตือน เช่นเดียวกันกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านที่เดินทางไปเกาะมัลดีฟส์ ก็ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือโกหก

เมื่อบอกว่าไปดูงานเพื่อไปศึกษาเรื่องแก้ไขน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องพูดความจริงกับประชาชน เพราะคนที่ฟังข่าว ดูสื่อ ก็อยากจะรู้ว่าเมื่อไปพบผู้นำมัลดีฟส์และได้รับคำแนะนำเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว ได้รับคำแนะนำมาอย่างไร

ผมอยากให้รัฐบาล ภาคการเมือง ภาคเอกชน ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา ทำให้ประชาชนรู้สึกมีความหวังอย่างจริงจัง



+ + + +

สำลักทฤษฎี
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ความเครียดที่ปกคลุมไปทั่วสังคมไทยโดยเฉพาะต่อชาวกรุงเทพฯ ในวิกฤตน้ำท่วมร้ายแรง ส่วนหนึ่งมาจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรอง ด้วยท่วงทำนองเร่งรีบ เอาเร็ว กลายเป็นยิ่งช่วยกันขยายความแตกตื่นตกใจให้เตลิดไปกันใหญ่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเอง ไม่สามารถมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนยึดเป็นหลักได้ดีพอ

เลยเป็นจุดอ่อนให้กระบวนการข่าวลือเข้าโจมตีสังคมไทยได้ง่ายๆ ทั้งลือตามธรรมชาติ และทั้งลืออย่างเป็นขบวนการ


เมื่อปีที่แล้ว ครอบครัวไทยมีปัญหาภายในบ้าน อันเนื่องจากความคิดต่างสี

วันนี้หลายครอบครัวเบื่อหน่ายที่จะพูดคุยกัน คนหนึ่งกระต่ายตื่นตูม อีกคนใจเย็นเป็นน้ำแข็งเกินไป

นั่นก็เป็นตัวสะท้อนปัญหาความเครียดและการเสพข้อมูล

เช่นเดียวกับงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลและหน่วยราชการอย่าง กทม.

ตอนแรกๆ ก็เน้นปลอบโยน เชื่อว่าคงไม่ท่วมแน่ เชื่อว่าป้องกันได้แน่

ผลสุดท้ายความมากมายของปริมาณน้ำ จึงทำให้การสกัดกั้นป้องกันล้มเหลวโดยตลอด

ชาวบ้านจึงเริ่มไม่ไว้วางใจ

เดี๋ยวนี้มีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนิดหน่อย จะสั่งให้ประชาชนอพยพไว้ก่อนในทันที

สั่งแบบนี้ไม่พลาดแน่

กล่าวกันว่าประเทศไทย ไม่เคยเผชิญกับพิบัติภัยร้ายแรงขนาดนี้มาก่อน จึงไม่เคยมีแผนแม่บทรองรับอย่างชัดเจน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เลยไม่สามารถโชว์ศักยภาพให้ประชาชนสบายใจได้


ในสภาพเช่นนี้เอง จึงเกิดความคิดเห็นในการแก้ปัญหาน้ำอย่างหลากหลาย จากนักคิดนักวิชาการ ไปจนถึงกลุ่มองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อาจารย์หลายคนกลายเป็นดาวดวงใหม่ในสังคมไทยยุคน้ำท่วมท้น

แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลและ ศปภ.เอาแต่ปฏิเสธความคิดที่แปลกใหม่จากคนวงนอก ก็จะทำให้มืดแคบ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ดีพอ

ระบบราชการในกรม ในกระทรวงที่รับผิดชอบปัญหาน้ำ บางครั้งก็คร่ำครึเกินไป

แต่สำหรับประชาชนที่ทุกข์กับน้ำมากอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งสร้างความทุกข์ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการรีบร้อนไปเชื่อในข้อเสนอที่หลากหลาย

แล้วพลอยไม่พึงพอใจว่ารัฐบาลทำไมไม่ยอมทำตาม

ต้องไม่ลืมว่า บางครั้งทฤษฎีมากเกินไป ใช้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ก็ไม่สอดรับกับธรรมชาติที่เป็นจริง

ยิ่งในยุคที่สามารถสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้มากมาย ดึงภาพถ่ายดาวเทียมมาดูกันได้ทุกแง่มุม ก็มิได้หมายความว่า คนที่กวาดดูดข้อมูลได้มาก จะกลายเป็นคนเก่งกาจมากฝีมือ

เหมือนกับที่วงการตำรวจไทยเคยปั่นป่วนอยู่พักหนึ่ง เพราะจู่ๆ มีหมอดึงเอาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ดูดีน่าเชื่อถือกว่าตำราสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ

สังคมก็พลอยฮือฮายกเป็นฮีโร่ ก่นด่าตำรวจว่าล้าหลัง ทำงานไม่ตรงไปตรงมา มีประโยชน์แอบแฝง

จนมากระจ่างกันในภายหลังว่า ทฤษฎีสืบสวนแบบหมอ แบบนักนิติวิทยาศาสตร์นั้น ก็ลอกมาจากหนังสารคดี หนังชุดที่แต่งเติมเป็นนิยายทางเคเบิลทีวีนั่นเอง


จริงอยู่รัฐบาลและ ศปภ.ต้องรับฟังความคิดของนักวิชาการในการแก้น้ำท่วม

แต่สำหรับชาวบ้าน อย่าเพิ่งไปหลงใหลไม่ไตร่ตรอง

สำลักน้ำก็พอแล้ว อย่าสำลักทฤษฎีอันทะลักล้นบนคลื่นน้ำท่วมอีกเลย



+ + + +

ชะตากรรม รัฐบาล มาด้วย "ไฟ" ไปด้วย "น้ำ" รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 8


มีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เหมือนตรงที่ประสบ "วิกฤต" อันเนื่องแต่ความขัดแย้ง แตกแยก

ต่างก็เพียงแต่ว่ารัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สะสมความขัดแย้ง แตกแยก มาจากสงคราม

เป็นสงครามมหาอาเซียบูรพา เป็นสงครามโลกครั้งที่ 2

คู่ความขัดแย้ง 1 คือ ระหว่างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน

คู่ความขัดแย้ง 1 คือ ระหว่างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ ผู้ทรงอำนาจทางการทหารตั้งแต่ก่อนและระหว่างสงคราม อันมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ

ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือ คู่ความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ และคู่ความขัดแย้งกับขบวนการรัฐประหารที่เคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงนับแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

ความเหมือนอยู่ที่รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีขบวนการเสรีไทยเป็นสายล่อฟ้า

ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสายล่อฟ้าทางการเมือง


สถานการณ์หลังสงคราม ทำให้รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยากลำบากอย่างยิ่งในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศเพราะสงครามก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารการกิน

จุดอ่อนนอกเหนือจากการขึ้นสู่อำนาจของเสรีไทยอันเป็นที่เขม่นเป็นอย่างมาก ยังเป็นการผงาดขึ้นมาของรัฐมนตรี "บ้านนอก" จากภาคอีสาน

คนเหล่านี้เป็นพวก "ตีนหนา" เมื่อเทียบกับพวก "ตีนบาง" อย่างพรรคประชาธิปัตย์

การโจมตีรัฐมนตรีจากภาคอีสานเหมือนคางคกขึ้นวอจึงกระหึ่มขึ้น ประสานกับการโจมตีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น คำว่า "กินจอบกินเสียม" เป็นวาทกรรมในการบ่อนทำลายพวกรัฐมนตรีจากภาคอีสานและเหล่าเสรีไทยที่ได้ดิบได้ดีทางการเมือง

เหมือนกับกระหึ่มแห่งการโจมตีการโดดเด่นขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเป้าหมายใหญ่ แล้วก็โยงไปยังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

แม้กระทั่งภายในพรรคเพื่อไทยก็มีการกีดกันและใส่ร้าย "คนเสื้อแดง"



ปัญหาของรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ลงเอยด้วยการถูกรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490

จากการโจมตีกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

จากการโจมตีกล่าวหาในเรื่องกรณีสวรรคต และความพยายามเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

ปัญหาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทบไม่แตกต่างไปจากเมื่อปี 2490 มากนัก

เพียงแต่วิกฤตนอกจากจะมีพื้นฐานมาจากการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นชนวนนำไปสู่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แล้ว

ยังมีวิกฤตอันเนื่องจากปัญหาอุทกภัยใหญ่หลวงมหาศาลในเดือนตุลาคม 2554


มีการเสนอคำขวัญ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาด้วย "ไฟ" และ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไปด้วย "น้ำ"

เป็นจริงหรือไม่ อีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ



.