http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-11

สงครามกองโจรในภาคใต้, วัฒนธรรมการอ่าน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ขอเชิญพิจารณาเข้าร่วมรณรงค์ The World vs Wall Street
SIGN THE PETITION
To fellow citizens occupying Wall Street and peoples protesting across the world:
We stand with you in this struggle for real democracy. Together we can end the capture and corruption of our governments by corporate and wealthy elites, and hold our politicians accountable to serve the public interest. We are united - the time for change has come! ......
http://www.avaaz.org/en/the_world_vs_wall_st/?sbc

. . . . . . . . . . .


สงครามกองโจรในภาคใต้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


รายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลเกี่ยวกับภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ แม้เป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทย แต่ที่จริงแล้วข้อสรุปนี้เห็นได้ชัดมาหลายปีแล้ว นั่นคือปฏิบัติการฝ่ายผู้ก่อการได้กลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปแล้ว เพราะมุ่งเป้าโจมตีประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องอย่างไม่แยกแยะ ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ในขณะเดียวกันปฏิบัติการฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เลวร้ายไม่แพ้กัน เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการใช้การทรมาน และละเมิดกระบวนการทางยุติธรรมอยู่บ่อยๆ

ในระยะแรกๆ ยังพอจะพูดได้บ้างว่าขบวนการมุ่งจะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงทำร้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ รวมทั้งครูซึ่งคือผู้นำเอาอุดมการณ์ของรัฐไปเผยแพร่ ในขณะเดียวกันปฏิบัติการของผู้ก่อการอย่างอุกอาจหลายครั้ง ก็เพื่อทำให้เห็นประจักษ์ว่าอำนาจของรัฐไทยในพื้นที่สั่นคลอน จนไม่สามารถทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐคือการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง

แต่ "การก่อการร้าย" ต้องมีเป้าหมายทางการเมือง เพราะ "การก่อการร้าย" ไม่อาจเป็นเป้าหมายในตัวเองได้

แต่ขบวนการไม่ได้ทำหรือไม่พยายามจะทำให้เป้าหมายทางการเมืองเด่นชัดออกมา เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง (ไม่เฉพาะแต่ประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมถึงพลเมืองไทยในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ) ได้แต่จัดองค์กรเพื่อก่อการร้ายอยู่อย่างเดียว

การใช้ระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง อาจแสดงสมรรถนะทางเทคนิคที่เพิ่มขึ้นของขบวนการ แต่ในขณะเดียวก็กลายเป็นภาระที่ชัดเจนของขบวนการที่ทำให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนยิ่งขึ้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ได้แต่แสดงซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็แสดงถึงความไม่อาทรต่อประชาชนของขบวนการเช่นเดียวกัน

ความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของขบวนการได้สูญสิ้นไปแล้ว ทั้งในทรรศนะของต่างชาติและองค์กรอิสลาม ที่อาจให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการ-ในทางการทูต, การเงิน, การฝึก, หรือกำลังคน-ในขณะที่นับวันขบวนการก็สูญเสียความชอบธรรมในหมู่ประชาชนในพื้นที่ไปด้วย

หลายปีมาแล้วที่ขบวนการพยายามจะยกการเคลื่อนไหวของตนให้เป็นประเด็นระหว่างชาติ อย่างน้อยก็ในหมู่ประเทศมุสลิม รัฐบาลไทยหลายชุดที่ผ่านมา ก็พยายามอย่างเดียวกันที่จะทำให้ความพยายามของขบวนการในเวทีระดับโลกล้มเหลว แต่ความล้มเหลวของขบวนการที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นสู่นานาชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลไทยเป็นหลัก ความล้มเหลวนั้นมาจากปฏิบัติการของขบวนการเอง

บัดนี้คงไม่มีประเทศหรือองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศที่ไหนซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือขบวนการอย่างเปิดเผยได้อีกแล้ว ปฏิบัติการเยี่ยงนี้ทำให้ยากที่เวทีระดับโลกของประเทศมุสลิมที่ไหน สามารถออกมติใดที่หนุนช่วยขบวนการในประเทศไทยได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครต้องการร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการที่ไม่อาจเรียกตัวเองเป็นอื่นได้ดีกว่าขบวนการ "ก่อการร้าย"

ขบวนการในประเทศไทยอาจได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายอยู่แล้ว แต่นั่นไม่น่าเป็นเป้าประสงค์ขั้นสูงสุดของขบวนการในประเทศไทย เพราะขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายเหล่านั้น ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เป้าหมายทางการเมืองของขบวนการในเมืองไทยเป็นประเด็นสำหรับการต่อรองกับรัฐไทยได้

บางคนในภาคใต้ลือกันมานานว่า บางส่วนของขบวนการได้หันไปร่วมมือกับขบวนการนอกกฎหมายต่างๆ (เช่น ค้ายาเสพติด, ค้าของเถื่อน และค้ามนุษย์) เพื่อหาเงินมาสนับสนุนปฏิบัติการของตน และก็ลือกันมานานแล้วเหมือนกันว่า อำนาจรัฐบางส่วนในภาคใต้ก็ทำอย่างเดียวกัน ส่วนหนึ่งของ "สงคราม" กลายเป็นการแย่งผลประโยชน์กันของมาเฟียสองกลุ่ม

ในด้านหนึ่ง ก็ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ซับซ้อนขึ้นไปอีก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ขบวนการของฝ่ายก่อการกำลังเดินมาสู่จุดจบอันเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้ว โดยไม่มีผลอย่างยั่งยืนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐไทยต่อประชาชนชาวมลายูมุสลิม

การค้ายาเสพติด และค้ามนุษย์ ไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำก็ตาม ย่อมระบาดหนักขึ้นได้จากสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นสถานการณ์นี้จึงยิ่งทิ่มตำประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก จนแม้แต่การใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนและสะสมกำลังในประเทศเพื่อนบ้านน่าจะทำได้ยากขึ้น

เพราะเขาก็อยากเห็นความสงบในภาคใต้ไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพฯ


ในทางตรงกันข้าม รัฐไทยไม่ได้ฉกฉวยโอกาสจากความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการ เพราะการขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของกองทัพหลังรัฐประหาร 2549 นับตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหาร สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา ได้กระจุกอำนาจการบริหารสูงสุดไว้ในมือ กอ.รมน.หรือกองทัพ จึงยิ่งทำให้การแก้ปัญหาทั้งหมดถูกมองจากมิติด้านการทหารเพียงอย่างเดียว

แม้แต่ปฏิบัติการของฝ่าย "กิจการพลเรือน" ก็กลับก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปอย่างหนัก เช่น หัวหน้าครอบครัวถูกนำไปเข้าค่าย เพื่อฝึกอบรมอุดมการณ์ของกองทัพเป็นเวลาแรมเดือน ต้องปล่อยให้ครอบครัวอดอยากขาดรายได้เป็นเวลานานๆ

ในขณะที่การเรียนรู้เพื่อปกป้องชีวิตของหน่วยปฏิบัติการ หรือชีวิตของประชาชน ก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เคยถูกลอบวางระเบิด หรือลอบยิงอย่างไร เมื่อห้าปีที่แล้ว ก็ยังถูกทำร้ายเหมือนเดิม แม้ว่ารัฐได้ทุ่มเทงบประมาณผ่าน กอ.รมน.ไปมากมายสักเพียงใดก็ตาม

แม้แต่การเรียนรู้ด้านการทหารเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ยังทำได้เพียงเท่านี้ จะเรียนรู้การบริหารจัดการด้านอื่นๆ ได้สักเพียงใด การกระจุกอำนาจจัดการทั้งหมดไว้ในมือกองทัพ โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล (นอกกระดาษ) เลยเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง...

กองทัพไม่ว่าที่ไหนในโลก หากปราศจากการกำกับควบคุมจากภายนอก โดยเฉพาะจาก "การเมือง" ก็ล้วนกลายเป็นกองโจรไปทั้งนั้น ไม่ต่างจากกองกำลังของฝ่ายขบวนการซึ่งขาดองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งพอในการชี้นำ

อันที่จริง การต่อสู้ทางการเมืองในภาคใต้ไม่ใช่ประเด็นหลักอีกแล้ว เพราะปฏิบัติการของขบวนการเอง ทำให้เป้าหมายทางการเมืองไร้ความหมาย การเคลื่อนไหวกลายเป็นการเคลื่อนไหวภายในประเทศ อย่างเดียวกับพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ประชาชนในพื้นที่ส่วนที่ไม่พอใจรัฐไทย ไม่อาจฝากความหวังไว้กับขบวนการได้ (แม้ไม่อาจฝากความหวังไว้กับรัฐไทยได้เช่นกันก็ตาม) ใครจะสามารถฝากความหวังไว้กับขบวนการ ที่เวลาผ่านไปถึง 7 ปี การต่อสู้ก็ยังไม่มีมิติอื่นมากไปกว่า "ก่อการร้าย" ซ้ำเป็นการ "ก่อการร้าย" ที่เลือกเป้าน้อยลงเสียอีก

แต่มาตรการทางการทหารที่รัฐไทยใช้เป็นเครื่องมือหลักในการปราบปราม ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยุติปฏิบัติการของขบวนการได้

อันที่จริงมาตรการนี้ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้ว เพราะได้ใช้มาด้วยเวลากว่าครึ่งหนึ่งของการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการ แต่ไม่นำไปสู่อะไรเลย ทั้งๆ ที่ฝ่ายขบวนการอ่อนแอทางการเมืองลงอย่างมาก จนรัฐไทยสามารถยุติการเคลื่อนไหวได้ในเวลาเร็ววัน หากรัฐไทยมีประสิทธิภาพดีกว่านี้

แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า กองทัพที่ไม่มีอำนาจภายนอกอื่นคอยกำกับควบคุม ก็จะกลายเป็นกองโจร ที่ปฏิบัติการด้วยเป้าประสงค์ที่เป็นอิสระของตนเอง สงครามกองโจรที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ทำโดยกองโจร แต่ทำโดยพรรคซึ่งสามารถกำกับควบคุมกองโจรได้ถึงระดับท้องถิ่นย่อยๆ

(ปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการในระยะ 2 ปีท้ายนี้ ชี้ให้เห็นว่า อำนาจภายนอกอื่นที่คอยประสานและกำกับกองโจรย่อย (ที่เรียกกันว่า RKK) ดูเหมือนจะอ่อนลงหรือถึงกับหายไป ขบวนการกำลังแตกสลายลงเป็นกองโจร อย่างเดียวกัน)


กล่าวโดยสรุป ในสถานการณ์ภาคใต้เวลานี้ ทั้งสองฝ่ายได้อ่อนแอลงพอๆ กัน เพราะเป็นการต่อสู้ที่ปราศจากเป้าหมายทางการเมืองทั้งคู่

หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ก็สามารถยุติปัญหาลงได้ในเวลาไม่นาน จะโดยการบีบบังคับให้อีกฝ่ายขึ้นนั่งโต๊ะเจรจาด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า หรือการเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ไว้ได้ด้วยประสิทธิภาพของการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินก็ตาม

แต่ทั้งสองฝ่ายก็อ่อนแอเกินกว่าจะนำความขัดแย้งไปสู่จุดจบเช่นนั้นได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนทั้งคู่

และทั้งสองฝ่ายต่างก็กลายเป็นอำนาจอิสระ ที่ไม่มีอำนาจอื่นคอยตรวจสอบควบคุม

การต่อสู้ทางการเมือง กลายเป็นการต่อสู้ทางการทหาร และการต่อสู้ทางการทหารที่ขาดการกำกับควบคุมจากภายนอก กลายเป็นการต่อสู้ของกองโจรเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า และอาจสู้กันไปได้เป็นหลายสิบปี ดังที่เกิดในบางประเทศของแอฟริกา, ละตินอเมริกา และอุษาคเนย์



++

วัฒนธรรมการอ่าน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 34


ทําไมคนไทยและเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จึงอ่านหนังสือกันน้อยอย่างน่าใจหาย จะยกเว้นก็แต่สิงคโปร์ที่อ่านกันเป็นบ้าเป็นหลัง ผมสงสัยว่าอาจมีสาเหตุมาจากอะไรที่คล้ายๆ กัน และสาเหตุที่ว่านั้นคงมากกว่าเพียงแค่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการอ่านมากหรือน้อยเพียงอย่างเดียว

เครื่องอำนวยความสะดวกในการอ่าน เช่น ห้องสมุด, สิ่งพิมพ์ราคาถูก, การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต, ฯลฯ ก็มีความสำคัญนะครับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

สิ่งที่อาจสำคัญกว่าคือวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งถูกการศึกษาแผนใหม่จรรโลงสืบมาถึงปัจจุบัน

ผมขอพูดถึงเฉพาะกรณีประเทศไทย เพราะผมรู้จักประเทศนี้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านแยะ



คนไทยไม่ใช่ชาตินักอ่านมาแต่โบราณแล้ว แม้เรามีอักษรใช้เขียนมาหลายร้อยปีแล้ว เราก็ไม่ค่อยได้อ่านกันนัก การบริหารบ้านเมือง ใช้เอกสารตัวเขียนน้อยมาก ปีหนึ่งๆ มีสารตราและใบบอกจากหัวเมืองเข้ากรุงไม่กี่ฉบับ วรรณกรรมส่วนใหญ่ก็มีไว้ฟังหรือสวดหรือขับหรือแสดง ไม่ได้มีไว้อ่าน แม้แต่การค้าซึ่งจะว่าไปก็เป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรทั้งโลก ก็กระทำผ่านตัวอักษรน้อยมาก มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายเพียงอย่างเดียวที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือกรมธรรม์ขายตัวเป็นทาส ที่เช่าเรือ, ยืมช้าง ม้า วัว ควาย, หรือแม้แต่เช่านา ก็หาได้ปรากฏสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไม่

เมื่อเขียนกันไม่มาก ก็ย่อมอ่านกันไม่มากเป็นธรรมดา

ในสังคมที่มีการเขียนและการอ่านน้อยเช่นนี้ เขาจะส่งต่อความคิด ความรู้ และความรู้สึกถึงความงามกันอย่างไร? คำตอบคือความจำ เช่นเดียวกับในสังคมที่ใช้ตัวหนังสือน้อยทั่วไป

ยิ่งไปกว่านี้ "ความจำย่อมทำงานได้ดี ท่ามกลางทฤษฎีแห่งความรู้ที่ว่า ความจริงที่ถูกต้องย่อมมีอยู่หนึ่งเดียว ความรู้ที่ถูกต้องคือรู้ความจริงหนึ่งเดียวในเรื่องต่างๆ ให้ถ้วนทั่ว คนที่มีความรู้มาก คือคนที่จำความจริงเหล่านั้นได้มาก "

ดังนั้น "ตำรา" ที่เหลือตกทอดมาแต่โบราณ จึงมักเขียนอย่างสั้นๆ เฉพาะแก่นสารของเรื่องราว และหลายเรื่องมักแต่งเป็นกลอน เพื่อให้ท่องจำได้ง่าย

ก็ไม่รู้จะอภิปรายอะไรกันให้มากความไปทำไม ถึงที่สุดแล้วก็ต้องสรุปลงที่ "ความจริง" เหมือนเดิมนั่นเอง

นักวิชาการบางคนบอกว่า คนไทยไม่นิยมเขียนงานประเภทโต้เถียงกัน (polemics) หรือเขียนอภิปรายความคิดอันสลับซับซ้อนของตนเอง ก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไมนะครับ ในเมื่อยึดถือทฤษฎีแห่งความรู้ดังกล่าวแล้ว จะเถียงกันไปทำไม คนที่รู้จริง ย่อมเห็นตรงกันหมด ไม่มีอะไรจะเถียงกัน

และถึงจะคิดอะไรสลับซับซ้อนแค่ไหน ก็ลงมาสู่ข้อสรุปที่เป็นความจริงอันถูกต้องตามเดิมนั่นแหละ !!



ท่ามกลางเงื่อนไขทางสังคมและการศึกษาอย่างนี้แหละครับ ที่เกิดวัฒนธรรมการอ่านแบบไทยขึ้น นั่นคืออ่านอย่างพิถีพิถัน พิจารณาทุกถ้อยทุกคำไปอย่างประณีต ทำความเข้าใจกับข้อความให้ละเอียด แล้วจดจำสิ่งสำคัญๆ เอาไว้

แม้การศึกษาแผนใหม่ของไทยจะเกิดขึ้นหลังการพิมพ์ แต่เราก็สอนการอ่านให้นักเรียน ตามวัฒนธรรมการอ่านของไทยก่อนการพิมพ์

ผมจำได้ว่า ครูของผมสอนว่า ต้องอ่านตั้งแต่คำนำของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาฯ เป็นต้นไปเลยทีเดียว และเมื่อลงมืออ่านเนื้อหา (ในชั้นเรียน) ท่านก็ให้นักเรียนเอาไม้บรรทัดมาขีดใต้ข้อความที่ท่านเห็นว่าสำคัญพร้อมกัน

ไม่เฉพาะวิชาอ่านไทยนะครับ แต่วิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์, ภูมิ-ประวัติศาสตร์, หน้าที่พลเมือง, หรือแม้แต่คณิตศาสตร์ ครูก็สอนให้ทำอย่างเดียวกัน

ท่าทีต่อการอ่านที่เคร่งเครียดอย่างนี้ ไม่ทำให้ใครอ่านอะไรได้สนุกสักเรื่องเดียว ดังนั้น หนังสือนิทานทั้งหลายที่เป็นแบบเรียน จึงต้องเอามาอ่านกันในชั้น เพราะไม่มีเด็กคนไหนนึกอยากรู้เรื่องให้จบ ด้วยการอ่านเอาเอง

อย่าลืมนะครับว่า การอ่านเป็นทักษะเหมือนกับภาษา ต้องใช้มากๆ ใช้บ่อยๆ จึงจะคล่องและรู้สึกผ่อนคลายในการใช้ทักษะนั้นๆ หากเด็กอ่านหนังสือเฉพาะในชั้นเรียนตามครูสั่งเท่านั้น ทักษะการอ่านของเขาย่อมไม่งอกงาม เหมือนทักษะภาษาอังกฤษแหละครับ



แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการอ่านของโลกปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว คนปัจจุบันอ่านหนังสือ แม้ไม่ใช่หนังสือที่เป็นอักษรภาพ ก็ทำเหมือนกับว่าคำที่ถูกสะกดนั้นเป็นสัญลักษณ์ของคำๆ หนึ่ง จำรูปได้มากกว่าจะมองเห็นตัวสะกด (ยกเว้นพนักงานตรวจปรู๊ฟกระมัง)

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ คนอ่านรับเอาความหมาย (หรือความรู้สึก) ที่ได้จากรูปสัญลักษณ์เข้าสู่สมองหรือจิตใจโดยตรง โดยไม่ผ่านเสียง (ไม่ว่าจะที่ริมฝีปากหรือที่หลังหัว) แต่อย่างใด

ผมจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็ก คนแก่ๆ ตามบ้านนอก เวลาอ่านหนังสือ แกจะต้องทำปากขมุบขมิบไปด้วย เพราะเคยชินกับการรับความหมายผ่านเสียง

การอ่านในลักษณะนี้ ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ตามข้อเขียนได้ หรือทำให้เกิดความสะเทือนอารมณ์โดยไม่ต้องผ่านการแสดง หรือการขับ ได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่าน ไม่รู้สึกเครียดเหมือนการอ่านในวัฒนธรรมการอ่านก่อนการพิมพ์

และความเพลิดเพลินจากการอ่านนี่แหละครับที่ผมคิดว่าหายไปในวัฒนธรรมการอ่านของไทย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังโฆษณาชักชวนให้คนอ่านหนังสือกันด้วย "ประโยชน์" นานัปการที่พึงได้จากการอ่าน แต่ไม่ค่อยพูดถึงความเพลิดเพลิน อย่างน้อยมันก็สนุกเหมือนดูหนังฟังเพลงนี่แหละครับ เป็นแต่สนุกคนละอย่างกันเท่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น หลังการพิมพ์มากว่าศตวรรษแล้ว สังคมไทยก็ยังเป็นสังคมที่ไม่อ่านหนังสืออยู่ดี ในสังคมที่ไม่ค่อยมีคนอ่านหนังสือนั้น เราจะส่งผ่านความคิดใหม่ๆ กันได้อย่างไร? ผมคิดว่ายากชิบเป๋ง



อย่างกลุ่มนิติราษฎร์เสนอความเห็นทางวิชาการ ที่มีความสำคัญและสังคมน่าจะรับไปใคร่ครวญให้ดี แต่คงมีคนลงมืออ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่สู้จะมากนัก ส่วนใหญ่ก็คงฟังเขาลือมา ซ้ำที่ลือให้ฟัง ก็อาจไม่ได้อ่านเอง แต่ฟังเขาลือมาอีกต่อหนึ่ง

ที่ผมสงสัยอย่างนี้ก็เพราะ เหล่าคนที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านต่อต้านข้อเสนอของนิติราษฎร์ ดูจากคำให้สัมภาษณ์แล้ว ก็ให้เชื่อว่า เขาต่างไม่ได้อ่านมาเป็นส่วนใหญ่ รวมแม้นักวิชาการบางคน

คนที่มีหน้าที่หรืออาชีพเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณชนด้วยการเขียนจะทำอย่างไร คนเก่งๆ เขาจะเขียนด้วยความเข้าใจอยู่แล้วว่า จะมีคนอ่านน้อยมาก แต่ทำอย่างไรให้เขาลือถึงสิ่งที่เขียนให้มากๆ อันนี้ก็ต้องอาศัยฝีมืออย่างเอกอุอย่างหนึ่ง

ลืออย่างเดียวยังไม่พอ เพราะอาจลือผิดเป้าก็ได้ ฉะนั้น คนเก่งๆ จะต้องสร้างคำหรือวลีที่จะทำให้คนติดปาก (เพราะตลกดี, คมคายดี, สะใจดี ฯลฯ) ซึ่งสรุปรวมเอาความคิดทั้งหมดของตัวไว้ในคำหรือวลีเดียวนั้น อิทธิพลของนักเขียนในสังคมที่คนไม่อ่านหนังสือจึงเกิดขึ้นได้

ผมจำได้ว่าสมัยหนึ่ง ผู้ว่าฯ กทม. สั่งให้ย้ายแผงขายหนังสือเก่าแถวสนามหลวงออกไปอยู่จตุจักรให้หมด ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายชีวิตอันหลากหลายของกรุงเทพฯ ไปเปล่าๆ จึงเขียนบทความแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น ก็ออกมาแบบจืดๆ อย่างผมนี่แหละครับ ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย

แต่หลังจากนั้น คุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีความคิดทำนองเดียวกับผม เขียนบทความแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่สรุปลงด้วยประโยคเดียวว่า "จะให้กรุงเทพฯ มีแต่วัดกับวังเท่านั้นหรือ" เท่านั้นแหละครับ ก็ลือกันให้แซ่ด จนกระทั่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ต้องออกมาอธิบายขโมงโฉงเฉง



กลับมาสู่การส่งเสริมการอ่านในปัจจุบัน ผมคิดว่าเรารณรงค์ให้น้อยลง แล้วเร่งลงมือจัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกในการอ่านให้แพร่หลายไม่ดีกว่าหรือครับ เห็นรณรงค์กันโครมๆ แต่ปล่อยให้ห้องสมุดเฉลิมบรมราชกุมารีบางแห่งทรุดโทรม และไม่มีใครใช้เลย ห้องสมุดต้องสร้างเพิ่มขึ้น แต่ห้องสมุดเก่าก็ต้องลงทุนจัดหาบรรณารักษ์เก่งๆ มาประจำ บรรณารักษ์เก่งๆ นี่อาจไม่ได้เรียนบรรณารักษศาสตร์มาก็ได้นะครับ แต่ต้องเป็นคนที่ทำให้ห้องสมุดมีชีวิตด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย เพื่อดึงให้คนโดยเฉพาะเด็กๆ เข้ามาใช้ห้องสมุดกันให้มากขึ้น

แจกแต่แทบเล็ตให้นักเรียน โดยไม่คิดลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ก็คงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร เช่นเดียวกับการลงทุนด้านหนังสือเด็ก ให้เขียนและพิมพ์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ผมเชื่อว่า คนไทยจะเป็นคนอ่านหนังสือเหมือนคนสมัยใหม่ ต้องปฏิรูปการศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงขยายโอกาสทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูปที่ฐานรากของการเรียนรู้ นั่นคือระบบความรู้ของไทยต้องก้าวเข้าสู่โลกยุคปัจจุบัน ที่ปฏิเสธว่าความจริงมิได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีวิธีการที่เราจะเข้าหาความจริงที่หลากหลาย แต่ละวิธีก็อาจนำเราไปสู่ความจริงในมิติที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีใครถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น โรงเรียนคือแหล่งสำหรับเรียนรู้วิธีคิดที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือทำให้มองเห็นหนทางเข้าหาความจริงได้หลายหนทาง ไม่จำเป็นต้องเลือกหนทางเดียวที่จะตอบคำถามของตนได้ดีที่สุดเท่านั้น และเพื่อจะมองเห็นอย่างนี้ได้ และเลือกได้ ก็ต้องสนุกสนานเพลิดเพลินกับการอ่าน ซึ่งมีเรื่องราวของ ความจริงในหลายมิติให้เราได้สัมผัส

ถึงจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการอ่านอย่างไร แต่วิธีเรียนรู้ของคนไทยยังเหมือนเดิม การอ่านก็เป็นเพียงส่วนเกินที่บังเอิญได้มาจากการเล่าเรียนเท่านั้น ดูทีวีสนุกกว่า



.