.
"สุธาชัย" ถอดบทเรียน6ตุลา มรดกตกทอดสู่ "คนเสื้อแดง" โยนผลพวง "รัฐประหาร" ตราบาปติดตัว "อภิสิทธิ์"
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.
เมื่อวันที่ 6ต.ค. จากงานสัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โครงการกำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายเดือนตุลา ร่วมกับ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP), กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ (TCAD), กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD), กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ (LKS), กลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย (FMCD) ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายถึง เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในโอกาสครบรอบ 35 ปี 16 ตุลา โดยได้ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมีการเข่นฆ่าประชาชน หรือมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. 6 ตุลา เกิดจากความคับแคบของความคิดของชนชั้นนำ ที่คิดอะไรไม่เป็น และมักจะใช้วิธีการที่เรามักจะคุ้นเคยกันเมื่อ 19 กันยา 2549 แม้ 6 ตุลา 2519 เราอาจจะไม่คุ้นก็ตาม ลักษณะที่น่าสนใจคือ การเข่นฆ่าประชาชนมาจากกระบวนการที่เรียกว่า "การมีอำนาจเหนือรัฐ" หรือที่เราเรียกว่า "กลุ่มอำมาตยาธิปไตย" ซึ่งลักษณะนี้ รัฐบาลทุกชุดก่อน 6 ตุลา ไม่ได้มีการสั่งการหรือดำเนินการ แต่กลไกของรัฐทำงานเอง ทำให้มีการเข่นฆ่านักศึกษา ฆ่าผู้นำชาวนา
จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่เคยมีการจับคนร้ายแม้แต่คนเดียว มากกว่านั้นคือ ไม่มีใครทราบว่าใครสั่งฆ่า ใครเป็นคนลงมือ ใครเป็นคนแขวนคอ ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังไม่มีการดำเนินคดี ถามว่าทำไมถึงดำเนินการไม่ได้ เพราะกลไกของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ และทำไมถึงต้องมีการรัฐประหาร ก็เพราะรัฐบาลไม่ตอบสนองกลุ่มอำมาตย์
2. เหตุใด 6 ตุลา 2519 ถึงมีความสำคัญ วันนี้ผ่านมา 35 ปี เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป รัฐบาลก็เปลี่ยนหลายชุด แทบไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับคณะบุคคลที่เป็นฝ่ายกระทำ ตัวละครหลายคนก็เสียไปแล้ว แม้จะมีเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา กลายเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่โหดเหี้ยม และยังเหลือสิ่งตกค้างอยู่บ้าง เช่น คำถามที่ว่าใครเป็นคนก่อเหตุ ซึ่งตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการ แม้จะรู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ไม่มีใครตอบ เพราะเป็นคดีลึกลับที่ไม่สามารถตอบได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ตอบไม่ได้นั้น ก็ได้ส่งผลต่อผู้ก่อเหตุ ที่ทำให้ลบไม่ออก เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ตามหลอกหลอนผู้ก่อเหตุ โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังติดตัวเขาหรือเป็นตราบาปไปตลอด เช่นเดียวกับกรณี 91 ศพ ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็กลายเป็นตราบาปติดตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตลอดไป
3. เมื่อย้อนประเด็น 6 ตุลา สามารถสรุปได้ว่า เป็นความพ่ายแพ้ทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่ก่อเหตุนั้น เขาคิดว่าเมื่อฆ่านักศึกษา และทำการรัฐประหารแล้ว จะสามารถสร้างหลักประกันให้กับสถาบันหลักที่ยึดมั่นได้ และเขาก็มั่นใจอย่างนั้น จนเราอาจจะคิดไม่ถึงว่า รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่บอกว่าภาพไม่ดี บริหารไม่ได้เรื่องนั้น กลายเป็นรัฐบาลในอุดมคติของฝ่ายอำมาตย์ ในภาวะที่ต้องการจัดการกับกลุ่มที่เขาเรียกว่า "คอมมิวนิสต์" ไม่ต้องการประชาธิปไตย ไม่สนใจว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ พอขึ้นมาก็เสียภาพลักษณ์ ต้องแก้ต่างในทางสากล ขณะเดียวกันรัฐบาลของนายธานินทร์ก็ไม่มีใครชอบ ไม่ได้เป็นที่นิยม เพราะสถานการณ์บ้านเมืองแย่ นักศึกษาหนีเข้าป่า สงครามกลางเมืองขยายตัว และถูกต้านจากกลุ่มเดียวกัน ก่อนถูกโค่นภายในปีเดียวกัน
ครั้งเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการนิรโทษกรรมฝ่ายเหยื่อ แต่เขาก็เชื่อว่าฝ่ายผู้กระทำไม่ผิด ทำไมถึงคิดว่าสิ่งที่พวกเขานั้นไม่ผิด คำตอบคือ เพราะเขาคิดว่าที่ทำไปเพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงคิดว่าไม่ผิด
ทั้งนี้ สรุปได้ว่า ที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้น ไม่มีใครกล่าวว่า การปราบปราบนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา เป็นที่น่าชื่นชม หรือมาบอกว่าเรามีส่วนร่วมแล้วชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เท่าที่สำรวจมา ก็ไม่มีวรรณกรรมหรือนวนิยายไหน ที่กล่าวถึงนักศึกษาช่วง 6 ตุลา ในทางลบ แต่ 6 ตุลา ได้ถูกเปลี่ยนฐานะ กลายเป็นตราบาปที่ทำให้คนที่เกี่ยวข้องไม่อยากพูดถึง แม้หลายคนถูกขุดคุ้ยมาพูด ว่ามีความเกี่ยวข้องก็ตาม
4. จาก 6 ตุลา ถึงปัจจุบัน คิดว่า 6 ตุลา ให้บทเรียนสังคมไทยที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่ไม่เปลี่ยน อย่างน้อยใน 35 ปี เป็นที่น่าแปลกใจว่า สิ่งที่ชอบอ้างว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ไม่มี "อหิงสาธรรม" ชนชั้นปกครองจึงพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเสมอ การเข่นฆ่าจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลา ก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ เพราะสังคมไทยต่างจากประเทศอื่น คือชนชั้นนำโหดเหี้ยม ซึ่งมั่นใจว่าประเทศอื่นส่วนใหญ่ไม่มีแบบนี้ ชนชั้นกลางไทยไร้สติปัญญา พร้อมที่จะสนับสนุนการฆ่าประชาชนเสมอ การฆ่านำมาซึ่งเสถียรภาพ ชนชั้นกลางมักจะวางเฉย และชนชั้นนำไทยจนถึงวันนี้ยังเหมือนเดิม คือไม่มีวิธีการแก้ปัญหากับการคิดต่าง นอกเหนือจากการฆ่า คุมขัง เหมือนกับที่กลุ่มคนเสื้อแดงเผชิญ
มีประชาชนได้เรียกร้องขอให้การรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. เป็นครั้งสุดท้าย และขอให้สรุปบทเรียนว่าอย่าฆ่าประชาชนอีก แต่สังคมไทยก็สรุปบทเรียนสวนทาง มีการฆ่าเพิ่มมากขึ้น จนสรุปบทเรียนได้ว่า ฆ่าประชาชนไม่ผิดแล้วนิรโทษกรรมตัวเอง จนมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ได้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนั้น ก็รับบทเรียนมาว่า ไม่ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ต้องหนีไปต่างประเทศ มากกว่านั้นไม่ต้องนิรโทษกรรมตัวเองด้วย เพราะคิดว่าที่ทำนั้นไม่ผิด ซึ่งตรงนี้เห็นชัดว่ามันสวนทางกัน จะเห็นได้ว่าการฆ่ามีมากขึ้น และครั้งหนึ่งที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แม้จะรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ก็ไม่ใช่เพราะเขาคิดว่าฆ่าประชาชน แต่คิดว่าเขาไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของชนชั้นนำได้ต่างหาก
"6 ตุลา" เป็นความพ่ายแพ้ทางประวัติศาสตร์ของ "อำมาตย์"
อ.สุธาชัย กล่าวว่า จนถึงวันนี้ ผ่านมา 35 ปี สรุปได้อีกว่า คนที่ก่อเหตุ 6 ตุลานั้น เป็นผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ แพ้ในที่นี้คือไม่มีความชอบธรรม ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในฐานะผู้ก่อเหตุได้อีก ไม่สามารถอ้างว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นต้องจารึกเกียรติไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าเรามีส่วนฆ่านักศึกษา เพราะนักศึกษาเป็นภัยต่อบ้านเมือง เช่นเดียวกับในหนังสืองานศพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ก็ไม่ได้ถูกบันทึกเรื่องดังกล่าวเข้าไปด้วยว่าเป็นวีรชน หรือเป็นคุณงามความดี
ในทางตรงกัน ผู้ก่อเหตุต้องแก้ต่าง ต้องซ่อนตัว ลืมไปให้มากที่สุดว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ต้องพยายามบอกว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ควรมีกรณีแบบนี้ในประวัติศาสตร์ ไม่มีการฉลองชัยชนะ มีแต่ผู้แพ้เท่านั้นที่ฉลอง สิ่งที่ไม่หายก็คือว่า มีประชาชน มีนักศึกษา มีใครต่อหลายคนยังฉลองอยู่ทุกปี โดยเฉพาะเมื่อครบรอบ 20 ปี 6ตุลา ในปี พ.ศ.2539 กลายเป็นงานสำคัญ เป็นหมายฟื้นตัวของขบวนการ มีการประกาศตัวของคนเดือนตุลา และในปีพ.ศ. 2544 เอง ก็มีการสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นด้วย
กระบวนการเหล่านี้กลายเป็นว่าผู้แพ้มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนว่าเป็นคนเดือนตุลา ไม่ต้องหลบซ่อน ขณะที่ฝ่ายที่กระทำแล้วชนะต้องหลบซ่อน มันสวนทางกัน และเรื่องน่าตื่นเต้นก็คือ ในบทบาทใหม่นั้น ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้สืบทอด เพราะมีจิตวิญญาณที่สืบเนื่องจาก 6 ตุลาได้ ส่วนหนึ่งอาจจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ถูกติดคุกเหมือนกัน ถ้าจิตวิญญาณเหล่านี้ยังอยู่ ก็ฟันธงได้ว่า ได้คงอยู่ในขบวนการของคนเสื้อแดง ดังนั้นจิตวิญญาณการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงจะสืบต่อคน 6 ตุลาหรือไม่นั้น คนเสื้อแดงก็รับจิตวิญญาณดังกล่าวไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
บทเรียน 6 ตุลา ที่มีการเข่นฆ่าของกลุ่มอำนาจเหนือรัฐนั้น อำนาจเหล่านั้นยังอยู่ และก่อตัวอย่างเข้มแข็ง พอมีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คำถามที่ถูกถามคือ รัฐบาลนี้จะอยู่ได้กี่ปี ซึ่งคำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีอำนาจเหนือรัฐ ถ้าประเทศไทยประชาธิปไตยมั่นคง รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งต้องอยู่ได้ 4 ปี และถ้าเราไม่อธิบายแบบนี้ แสดงว่าเรายังให้ค่าอำนาจเหนือรัฐ แม้จะสะท้อนความเป็นจริงว่าอำนาจเหล่านั้นยังมั่นคง และยังเห็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อทำผิดกฎหมายจะไม่โดนปลด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ชนชั้นนำไม่เคยยอมรับอำนาจประชาชน ชนชั้นนำไม่เคยรังเกียจการรัฐประหาร ทำไมประเทศอื่นไม่เกิด เพราะเขาคิดว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ว่าประเทศเหล่านั้นไม่มีวิกฤติทางการเมืองแต่ชนชั้นนำไทยไม่เคยเคารพกติกา แม้กระทั่งกติกาที่ตัวเองสร้างขึ้น ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ชนชั้นปกครองไทยมักจะคุ้นเคยกับการใช้กฎหมายกับประชาชนด้านเดียวเสมอ นี่คือ สองมาตรฐานในการใช้กฎหมายในสังคมไทย เขาบอกว่าประชาชนต้องเคารพกฎหมาย แต่เขาไม่เคารพเสียเอง
เสื้อแดงคือจุดเปลี่ยนของการทำรัฐประหาร
อ.สุธาชัย กล่าวว่า การทำรัฐประหารครั้งล่าสุดกลายเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเจอเสื้อแดงต่อต้าน และการต่อต้านนั้นยังอยู่ ซึ่งเขาอาจจะคิดไม่ถึงมาก่อนว่าจะเกิดการต่อต้าน ทั้งนี้ กลุ่มเสื้อแดงใหญ่กว่าคนเดือนตุลา ที่มีอุดมการณ์ชัดเจนกว่า มาถึงวันนี้ ประชาชนเห็นประชาธิปไตยเป็นเนื้อหา แต่ชนชั้นปกครองเห็นเป็นประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบ เมื่อคนเสื้อแดงไม่ยอม จึงทำให้การรัฐประหารในปี 49 ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา การต่อต้านเริ่มขยายตัว แม้ชนชั้นนำมองว่าทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นเหตุ แต่ผ่านมา 5 ปี ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ 6 ตุลา ยังมีปัญหาที่ต้องพูดถึงอีกนั่นก็คือ การหมิ่นสถาบัน นักศึกษาครั้งนั้นถูกสร้างว่าหมิ่นสถาบัน ผ่านมา 35 ปี เรื่องนี้ยังถูกนำมาใช้ และยังสะท้อนความล้าหลังได้อยู่ ยังเป็นเครื่องมือทำร้ายคน ทำให้คนถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นฯจำนวนมาก และกระแสนี้ก็ยังไม่หยุดจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันและไปไกลจนถึงการไล่ล่าทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ถือว่าล้าหลังกว่า 14 ตุลา 2516 เสียอีก ทำร้ายคนมากกว่าเดิม ถูกใช้เป็นเครื่องมือเข่นฆ่าสังหาร และใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องแก้ไขหรือยกเลิก
มากกว่านั้น สังคมไทยยังไม่เป็นประเทศที่มีเสรีภาพได้ ตราบเท่าที่กฎหมายมาตรา 112 ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยุู่ หลายคนถูกจับอย่างไร้เหตุผล และกฎหมายนี้ก็เป็นมรดกตกค้าง ทำให้เหตุการณ์คล้าย 6 ตุลา ยังอยู่ และเชื่อว่าจะรุนแรงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม 6 ตุลา 19 กลายเป็นประวัติศาตร์ที่ขัดกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพราะประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่เรียนกันมาเป็นการสร้างชาติโดยชนชั้นนำ ป้องชาติบ้านเมือง มีบุญบารมี แผ่ปกคลุมไพร่ บ้านเมืองขึ้นอยู่กับบารมีของผู้นำ ในการป้องกันเหตุร้ายที่มาจากมาร จากภายนอกประเทศ ที่ไม่ใช่การกดขี่จากชนชั้นนำ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
www.youtube.com/watch?v=wKPtk8KWlXY
นักศึกษาทำกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 19 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อ วันที่ 6 ต.ค. ทีผ่านมา กลุ่มแนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา นักศึกษา ม.เชียงใหม่ และศิษย์เก่าได้จัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ บริเวณลานหน้าอาคารสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อมช.)
นายปรีชาพล โชคชัยมงคล ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมา นักศึกษาก็จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และกลุ่ม นปช.แดง เชียงใหม่ มาร่วมกิจกรรม ส่วนปีนี้ มีการเปลี่ยนสถานที่มาจัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคาดหวังว่านักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมกันมากขึ้น
ในช่วงเย็นมีการจัดวงเสวนา โดยนักศึกษาได้ร่วมอภิปรายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และพูดคุยกับนายศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ หรือนามปากกา "แสงดาว ศรัทธามั่น" เป็นอดีตนักศึกษาสมัยปี 2519 จากนั้น "แสงดาว ศรัทธามั่น" และนักศึกษาได้ร่วมกันอ่านบทกวี รำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
++
6 ตุลาฯ รำลึก: เด็กๆ หายไปไหน ?
จากเวบไซต์ ประชาไท ( www.prachatai3.info/journal/2011/10/37258 )
Thu, 2011-10-06 14:05
เรื่อง “เด็กๆ หายไปไหน??” ปรากฏเป็นตอนหนึ่งในหนังสือที่ระลึกงานศพ คุณพ่อเจ็งฮี้ แซ่โค้ว (4 ตุลาคม 2471 – 28 พฤษภาคม 2554)
ถ้อยคำเรียบง่ายบรรยายถึงความรู้สึกและบรรยากาศของผู้ร่วมอยู่ในห้วงเวลาเลวร้าย ซึ่งกลายมาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยจนทุกวันนี้ ‘ประชาไท’ ขอขอบคุณเจ้าของผลงานที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่อีกครั้งในวาระ 35 ปี 6 ตุลาฯ
สายวันนั้นเด็กหนุ่มสาวเป็นร้อยคนทะลักเข้ามาที่บ้านท่าพระจันทร์ ทั้งจากประตูหน้าบ้านและหน้าต่างชั้นสองหลังบ้าน เสียงระเบิดสนั่นแก้วหู คนหนึ่งอุจจาระราดแม่ต้องเอากางเกงให้เปลี่ยน ชุดของเธอยังแช่อยู่ในกาละมังหลังบ้าน ในตอนที่กลุ่มทหาร - ตำรวจพร้อมอาวุธสงครามในมือแบบถือปืนยาวสิบกว่าคนเข้ามาสำรวจบ้านจนครบทุกชั้น พ่อเดินนำทางพร้อมกับพูดเสียงสั่นซ้ำๆ ไปมาว่าอย่ายิงใครนะครับ
น้ำเสียงคุ้นหูแบบเดียวกับเสียงไกลๆ ที่ปลุกเราเมื่อฟ้าสางวันนั้นว่า “พี่ๆ ทหารครับ อย่ายิงเลยครับ พวกเราไม่มีอาวุธอะไรเลยนะครับ” ซ้ำไปซ้ำมาจนเราง่วงนอน แล้วมาตื่นอีกทีก็ตอนสายอันอึกทึกนั้นเอง
พี่ๆ ทหารเอาเด็กหนุ่มสาวออกไปจากบ้านจนหมด พร้อมๆ กับกลับมาลากพี่ชายลำดับสี่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรของพวกเราไปด้วย พี่สาวบอกว่าเขาเอาปืนฟาดจนทรุดต่อหน้า เราอยู่ชั้นบน สิ่งที่จำได้แม่นยำคือเสียงหวีดร้องโหยหวนยาวๆ ของพี่สาวและแม่ แบบที่เคยได้ยินเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวในชีวิต จึงวิ่งลงมาดู ...เห็นพ่อและแม่หัวใจสลาย
ช่วงนั้นบ้านเป็นสีทึมๆ เพราะเวลาปิดร้านชั้นล่างจะมีแสงลอดเข้ามาจากช่องแสงเหนือประตูหน้าบ้านเท่านั้น ได้ยินพี่สาวปรึกษากันว่าจะเอาพี่ชายคนนั้นกลับบ้านมาได้ยังไง รอข่าวว่าพี่ชายอีกสองคนในที่ชุมนุมไปอยู่ที่ไหน เสียชีวิตหรือไม่ ภาพถ่ายขาวดำที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างข้างนอกเมื่อเช้าวันนั้นถูกส่งมาให้ที่บ้านดู เด็กหนุ่มสาวหลายคนถูกฆ่าตายกลางเมืองในสภาพพิศดารจนไม่น่าเชื่อ รอบๆ บ้านเราห่างออกไปไม่ถึงกิโลนี่เอง
พี่ชายสามคนติดคุก พี่ชายลำดับสี่ถูกปล่อยออกมาก่อน เพราะไม่เคยแม้แต่ไปร่วมชุมนุมใดๆ แต่ได้รอยแผลเป็นที่ถูกบุหรี่จี้ตามร่างกายอยู่หลายแผลกลับมา
พี่สาวในวัยมัธยมตัดสินใจจากบ้านเข้าป่าไปกับเพื่อน เธออยู่ในแบล็คลิสต์ของทางการเนื่องจากเคยถูกจับไปหนึ่งคืนก่อนตุลานั้นไม่นาน
ไม่มีความเชื่อมั่นใดๆ เหลือสำหรับครอบครัวเราอีก ว่าจะมีใครมาลากตัวเธอไปจากพ่อแม่ในวันพรุ่งนี้อีกหรือไม่
พี่ชายลำดับห้าเป็นหนึ่งในสามสิบหกผู้ต้องหาอยู่เกือบปีจึงถูกปล่อยตามมา และตามหนุ่มสาวคนอื่นๆ หนีการคุกคามจากรัฐเถื่อนเข้าป่าไปอีกคน
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เสียงของคุณทมยันตีเร่าร้อนอยู่ในวิทยุเมื่อใกล้ตุลาปี19 ได้ยินพาดพิงมาถึงชื่อพี่ชายลำดับหก ในจังหวะที่พ่อกำลังเก็บร้านอยู่ตอนหัวค่ำ พ่อดุพี่ชายตอนแกกลับมาหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ประมาณว่าเขาโยนข้อหาคอมมิวนิสต์มาให้กลายๆแล้ว
พ่อคงไม่ชักแน่ใจว่าความใฝ่รู้ สงสัยหาคำตอบ อยากทำความเข้าใจสังคมที่เรามีชีวิตอยู่สำหรับมนุษย์หนึ่งคน แบบที่พ่อเลือกทำอย่างตรงไปตรงมา ปลูกไว้ให้ลูกๆเห็นอย่างง่ายๆไปเรื่อยๆมาหลายปี ไหงกลายเป็นภัยสังคมไปในวันนั้นได้?
ร้านเปิดอีกครั้ง วันนี้แม่สับหมูแดงชุดใหญ่จัดเป็นชุดๆ ใส่ตะกร้า พาเราและพี่ชายสิบขวบนั่งรถเมล์ไปคุกบางเขนเพราะลูกชายสองคนอยู่ที่นั่น สองข้างทางยังเป็นที่โล่งมีบิลบอร์ดโฆษณาเป็นระยะ นั่งกันจนง่วงนั่นแหละ ลงจากรถแล้วก็ต้องเดินเท้าตากแดดไปอีกเกือบกิโลจึงจะถึง
เสียงดังจ๊อกแจ๊กและเห็นแม่อีกหลายแม่ทักทายแม่เรา รอยยิ้มเหนื่อยๆ กังวลแต่ก็ดีใจเวลาลูกของแม่แต่ละคนโผล่หน้าออกมานั้นเป็นรอยยิ้มเดียวกัน มีลูกกรงกั้นพี่ชายอยู่ในห้องที่เรียงแถวไว้เป็นช่องๆ ต้องคุยห่างกันประมาณหนึ่งเมตร อยากกอดแค่ไหนก็ได้แต่ยิ้มให้เห็น เราวิ่งเล่นไปมาแถวนั้นจำได้ว่าไม่เคยเห็นพี่ชายร้องไห้หรือทำท่ากังวลให้เห็นเลย แกยิ้มทักทายผู้คุมไปเรื่อย ข้าวหมูแดงแสนอร่อยแม่หิ้วมาให้ทุกคนไม่เว้นตำรวจและผู้คุม แม่เหลือแค่พลังเมตตาให้เชื่อมั่นเพราะทางเลือกอื่นไม่มี ว่าถ้าเราดีกับใครเขาแล้ว เขาคงปรานีกับลูกแม่เช่นกัน
พ่อไปเยี่ยมพี่ชายที่คุกเพียงครั้งเดียว เพราะทนเห็นลูกที่อยู่หลังลูกกรงไม่ได้ เปิดร้านขายของอีกครั้งก็มุ่งมั่นเก็บตังค์เพื่อไปปลูกบ้านใหม่ให้ไกลจากเรื่องใจร้ายที่พรากลูกไปรวดเดียวถึงสี่คนในช่วงเวลาไม่ถึงปีนั้น บ้านใหม่ของพ่อมีเจ็ดห้องนอน นอนห้องละสองคนน่าจะสบายกว่าห้องละสิบเอ็ดคน อย่างมากก็ซื้อทีวีใหม่อีกเครื่องที่ไม่มีเสียงวิทยุยานเกราะมารบกวนเราอีก
ทุกวันแม่จะตื่นเช้าประมาณตีสี่ จัดการเตรียมต้มไก่และจัดของหน้าร้านที่เปิดขายตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เราตื่นมาก็ไปชี้หมูแดงในตู้ว่าจะกินส่วนไหน (หมูแดงที่ร้านไม่ค่อยสวยเพราะลูกๆ จะมักชี้ตรงส่วนงอกที่แสนอร่อยทำให้ดูกระดำกระด่าง) ส่วนไก่เนื้อหน้าอกไม่มีมันแม่เก็บไว้ให้อยู่แล้วไม่ต้องบอก เที่ยงเป็นเวลาวุ่นวายเพราะลูกค้ามาเต็มร้าน เรามาช่วยเสริฟอย่างเดียว แต่ละหน้าที่เก็บเงินไว้ให้คนอื่นเพราะกลัวว่าคิดผิดเดี๋ยวพ่อดุเอา บางวันยืนล้างจานเป็นร้อยอยู่หลังบ้านได้ถึงสองชั่วโมง พอลูกค้าซาแล้วแม่พบว่าเราปฏิบัติภารกิจอยู่เบื้องหลัง ก็ชมจนเรายิ้มแก้มปริ สี่ทุ่มแล้วนั่นแหละแม่ถึงล้างข้าวของเก็บร้านเสร็จ ขึ้นมาชั้นสองเปิดทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กเพื่อฟังวิทยุคลื่นสั้น “เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย”
พ่อกับแม่นั่งฟังเสียงขลุกขลิกที่ขาดตอนเป็นช่วงๆ ได้เป็นชั่วโมงจนกว่าจะง่วงหลับไป ประมาณว่าเมื่อฟ้าสีทองประชาชนก็จะชนะและเป็นใหญ่ เสียงผู้ประกาศก็มักจะเป็นเสียงผู้หญิงเจื้อยแจ้ว แค่หวังว่าประชาชนชนะเมื่อไหร่ พ่อกับแม่จะได้ลูกสาวคนนั้นกลับมา ไม่ว่าท่านประธานพรรคจะพูดภาษาฟังเข้าใจยากอยู่คืนแล้วคืนเล่าก็ตาม
อีกนัยหนึ่งพ่อกับแม่คงคิดว่าเสียงนี้ลอยมาจากที่ที่ลูกสาวอยู่ เสียงหญิงสาวในนั้นอาจเป็นเพื่อนของลูก หรือเป็นเด็กสาวที่อยากพูดอะไรมากมายเหมือนลูกของแม่ ก็เหลือทางสื่อสารอยู่ทางเดียวนี่นะ ที่จะทำให้รู้ว่าลูกไปอยู่กับใคร และคอยฟังว่ามีชีวิตประจำวันทำอะไรกันอยู่บ้าง แม้มีการสื่อสารทางตรงอีกทางคือจดหมายที่พี่สาวเขียนมาจากป่า มันก็ใช้เวลาสามหรือสี่เดือนจึงจะมาถึง และหลายเดือนจึงจะมีมาสักครั้ง เราและพี่ชายคนเล็กมีหน้าที่ผลัดกันอ่านจดหมายออกเสียงมาให้พ่อและแม่ฟัง ภาษาก็แปลกๆ ไม่น้อยกว่าเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย คือเชื่อมั่นในพรรคเป็นระยะๆ ตลอดจดหมาย น้ำเสียงไม่ใสแบบพี่สาวคนนี้ที่เรารู้จักเท่าไหร่นัก แต่ลายมือก็ใช่อยู่
บ่ายวันหนึ่งพี่สาวคนโตนั่งเขียนจดหมายด้วยน้ำมะนาวโดยมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองเขียน เราเข้าไปถามด้วยความสงสัย เธอเลยแสดงให้เห็นว่าพอเอาเตารีดนาบเข้าไปข้อความก็จะปรากฏออกมา เสร็จแล้วก็พับจดหมายชุดที่ยังไม่รีดนี้ซ่อนไว้ใต้ก้นถุงกระดาษ เอากระดาษแข็งปิดกาวไว้ทับอีกที เป็นถุงใส่อาหารหรือผลไม้และข้าวของที่จะเอาไปเยี่ยมพี่ชายในคุก เพราะว่าถ้าส่งจดหมายปกติให้พี่ชายในคุก ผู้คุมจะเปิดอ่านเซ็นเซอร์ก่อน แล้วขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแกว่าจะให้ส่งเข้าไปไหม และดีไม่ดีผู้ส่งอาจโดนข้อหาคอมมิวนิสต์เอาได้ง่ายๆ ไปอีกคน เลยใช้วิธีแบบนี้ดีกว่า ส่วนใหญ่เป็นการลอกจดหมายจากพี่ชาย พี่สาว และเพื่อนๆ ในป่านี่แหละ จะเป็นการนัดแนะปฏิบัติการเคลื่อนไหวทำลายล้างสถาบันหรือไม่ เราก็ไม่เห็นวิกฤตทางการเมืองใดๆ หลังจากนั้นอันเนื่องมาจากฝ่ายซ้ายอีก นอกจากกบฎทหารแย่งอำนาจกันเองเมื่อเดือนมีนาคม 2520 ที่ท้ายสุดคุณฉลาดก็มาอยู่ร่วมคุกเดียวกับพี่ชายเราพักหนึ่ง ก่อนถูกประหารสังเวยความหวาดกลัวของผู้มีอำนาจในยุคนั้น
จะคุยกับพี่ชายในคุกก็ถูกฝ่ายขวาเซ็นเซอร์ เอาเข้าจริงภาษาแปลกๆ ในจดหมายจากป่าของพี่สาวก็อาจเนื่องมาจากถูกฝ่ายซ้ายเซ็นเซอร์ก่อนมาถึงมือแม่ของลูกทุกคนในนั้นเช่นกัน
พ่อกับแม่ฟังเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยอยู่หลายปี จนเจ็ดร้อยวันผ่านไป พวกเราก็ได้กอดพี่ชายที่ถูกปล่อยออกมาที่หน้าคุกนั่นเอง
เราไม่ได้ไปรอรับด้วย แต่เห็นแม่ในข่าวผ่านดาวเทียม ยุคแรกของข่าวต่างประเทศในเมืองไทย แม่หลับตากอดพี่ชายท่ามกลางคนวุ่นวายรอบตัวแล้วภาพก็ตัดหายไป
เป็นชัยชนะของพ่อกับแม่คู่หนึ่งที่เอาลูกชายกลับบ้านมาได้อีกหนึ่งคน.... ท่ามกลางพ่อแม่มากมาย ที่ได้แต่ตั้งคำถามซึ่งตอบไม่ได้ว่า เด็กๆ หายไปไหน ….
++
6 ตุลาคม 2554
โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
วาระรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หวนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง
และดูคล้ายจะมีเนื้อหา "แหลมคม" กว่างานรำลึกหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน
เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ น่าจะได้รับการรำลึกครั้งสำคัญ ในวาระครบรอบ 30 ปี
น่าเสียดายและเสียใจ ที่วาระดังกล่าวดันเกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 เดือน หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พอดี
จึงทำอะไรกันมากไม่ได้
จากนั้น การเมืองไทยก็ลุ่มๆ ดอนๆ
รัฐบาลของคณะรัฐประหารไร้ความสามารถจะแก้ไขปัญหาใดๆ
รัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งก็ถูกล้มลงติดๆ กัน ด้วยวิธีการ "นอกระบบ"
ต่อมา มีการจัดตั้งรัฐบาลใน "ค่ายทหาร"
กระทั่งประชาชน "ฝ่ายประชาธิปไตย" (บางคนอาจดูแคลนว่าเป็น "หางแดง" รับเงิน "แม้ว") ได้รับชัยชนะเด็ดขาดในสนามเลือกตั้งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
นี่อาจเป็นสาเหตุทำให้งานรำลึก 6 ตุลาฯ ในปี 2554 สามารถมีเนื้อหาเข้มข้นได้มากกว่า "ปกติ"
แต่ปัจจัยหลักอีกประการหนึ่ง ก็คือ งานรำลึก 6 ตุลาฯ ปีนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองเมื่อปี 2553
เงื่อนไขความไม่เป็นธรรมในสังคม และปัญหาหลักของระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งดำรงอยู่ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 กับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
จึงส่องสะท้อนซึ่งกันและกันพอดี
ด้วยเหตุนี้ วาระรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรืองานรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นับแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
จึงกลับมาทรงพลังขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันที่ 4 ตุลาคม 2554
มีการจัดแสดง "ละครแขวนคอ" เพื่อรำลึกถึงชนวนของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่บริเวณลานโพธิ์
แม้ผู้จัดงาน คือ "กลุ่มประกายไฟ" จะได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ให้ยกเลิกการแสดง
และช่วงท้ายของการแสดงได้เกิดปัญหาขลุกขลักเรื่องการใช้ "พื้นที่" บ้างเล็กน้อย
ทว่า การแสดงละครโดยรวมก็ผ่านพ้นไปด้วยดี
วันที่ 5 ตุลาคม 2554
มีกลุ่มบุคคลในนาม "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" รวมตัวอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยุติการสนับสนุนระบอบเผด็จการ
สืบเนื่องมาจากท่าทีทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาฯ เป็นต้นมา
เรื่อยมาถึงวิวาทะล่าสุด อันเกิดขึ้นจากข้อเสนอของนักวิชาการ "คณะนิติราษฎร์"
ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการฯ ธรรมศาสตร์ คนปัจจุบัน เข้าไปมีส่วนร่วมถกเถียง
ด้วยจุดยืน "ตรงกันข้าม" กับข้อเสนอดังกล่าว
นี่เป็นสองเหตุการณ์ที่มีนัยน่าสนใจ
อันเกิดขึ้นก่อนหน้างานรำลึก 6 ตุลาฯ ประจำปี 2554
ในวาระที่สังคมไทยคล้ายกำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะ "สุกงอม" ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย