http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-30

น้ำ โดย คำ ผกา

.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รู้สู้ flood ep.3 :เตรียมให้ชัวร์ ไม่ต้องกลัวน้ำ (Full)
http://www.youtube.com/watch?v=pPhKlLQyD6s



รู้สู้ flood ep.4 : เตรียมใจสู้ พร้อมอยู่กับน้ำ
http://www.youtube.com/watch?v=9BmDfRqFnNQ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


น้ำ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 89


ในฐานะของผู้ไม่ประสบภัยน้ำท่วมโดยตรง และในฐานะของผู้ไม่มีทั้งพลังใจ น้ำใจ กำลังกาย กำลังใจในการออกจากบ้านไปช่วยทำงาน "อาสา" ต่างๆ อย่างที่ผู้ไม่ประสบภัยทั้งหลายพึงทำ ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเองมีความชอบธรรมแค่ไหนที่จะเขียนถึงเรื่องน้ำท่วม

ทว่า ในฐานะของผู้ที่ชอบเสือกในรายละเอียดของพฤติกรรมมนุษย์ขี้เหม็น น้ำท่วมเมืองไทย (?) ครานี้มีอะไรน่าจับตามองมากกว่าที่คิด

ทั้งสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยหลังรัฐประหารที่ทำให้ "น้ำท่วม" เป็นมากกว่า ภัยธรรมชาติ



ต้องไม่ลืมว่าหลังจากเกิดกลุ่มการเมืองที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรกลุ่มเสื้อเหลือง เกิดการรัฐประหาร เกิดกลุ่มเสื้อแดง เกิดการนองเลือดกลางเมืองหลวง ประชาชนไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ด้วยเชื่อมั่นในชาติวุฒิและคุณวุฒิของมนุษย์ ว่ามนุษย์ที่คุณวุฒิ ชาติวุฒิ สูงกว่าย่อมมีคุณภาพมากกว่ามนุษย์อื่นๆ

2. กลุ่มที่ยืนยันในประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ปฏิเสธรัฐประหาร เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนพึงมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่เกี่ยวกับคุณวุฒิหรือชาติวุฒิ

3. กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็น "กลาง" ซึ่งในความเป็น "กลาง" นี้มีหลายเฉด ตั้งแต่กลางค่อนไปทางกลุ่มที่ 1 และกลางที่ค่อนมาทางกลุ่มที่ 2

สามกลุ่มใหญ่ๆ ในหมู่คนไทยแปรเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค นั่นคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนสื่อมวลชนทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ มีกลุ่มที่อยู่ข้างประชาธิปไตย กับกลุ่มที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย ออกมาให้เห็นชัดเจน

กับอีกประเภทหนึ่งที่มาในแนวทางของการสวมเสื้อภาคประชาชนในกระแสนิวเอจ แต่สำแดงความรังเกียจประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างโจ่งแจ้งอยู่เสมอมา

แต่ที่สื่อแตกต่างไปจากประชาชนนั้นอยู่ตรงที่ สื่อที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอนและยังทำงานวิจารณ์รัฐบาลอย่างเข้มข้น

ในขณะที่สื่อซึ่งอยู่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยสามารถทำลาย "ความชอบธรรม" ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลได้อย่างมีพลัง



เราต้องไม่ลืมว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่ได้มาจาก merit ในตัวบุคลากรของคนในพรรค ไม่ได้มาจากนโยบายอันดึงดูดใจของพรรคล้วนๆ ไม่ต้องพูดถึงคะแนนของรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ต้องถือว่าสอบตกเกือบติดลบ

แต่ชัยชนะอันถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยมาจากเสียงของคนที่อยากจะสื่อสารกับใครก็ได้ในประเทศนี้ว่า พอกันทีกับการรัฐประหาร และเราต้องการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพในเสียงข้างมาก

เรายินดีที่อดทนกับนักการเมืองที่ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ และจะประคับประคองระบบไปจนกว่าประชาชนจะปั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาจนได้ในอนาคต

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเพราะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะเข้ามาสะสาง แก้ไข และเขียนกฎหมายเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน คืนความยุติธรรมให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในอดีต

เพราะฉะนั้น ความท้าทายของพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นรัฐบาลคือจะต้องถูกฐานเสียงของตนเอง ตรวจสอบ ทวงถามในเรื่องเหล่านี้อย่างไม่ลดราวาศอก และพร้อมจะหันหลังให้หากพบว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เคารพต่อสัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของตนเอง

ในแง่นี้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก เพราะในขณะที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเป็นประชาชนที่พร้อมจะตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของพรรคอย่างไม่เกรงใจในมิตรภาพและสามารถด่าพรรคได้อย่างสาดเสียเทเสียยามที่พรรคทำงานไม่เข้าเป้า

แต่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นฐานเสียงที่ "ภักดี" ต่อ แบรนด์ หรือ ยี่ห้อ โดยไม่สนใจว่าคุณภาพของ "ยี่ห้อ" จะตกต่ำ ไร้คุณภาพ จะเลือดเย็น จะโกหก หลอกลวง ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์คือกลุ่มคนที่เมื่อรักแล้วแม้ตดก็ยังหอม ทำอะไรก็ดีไปหมด ถูกไปหมด และพร้อมจะออกมาแก้ตัว ปกป้องแบบสู้ตาย

น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของการออกศึกของการเมืองสองขั้วในประเทศไทยที่ออกมา "รบ" กันอย่างแหลมคม โดยเฉพาะในฝ่ายของฐานเสียงหรือผู้สนับสนุนฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่งัดเอากลยุทธ์ทางวัฒนธรรมออกรบอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย



เริ่มตั้งแต่การบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นความผิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ทำงานห่วย ทำงานไม่เป็น

ซึ่งอาจจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะข้อกล่าวหานี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำท่วมเกิดจากการจัดการน้ำทั้งระบบตลอดปีที่ผ่านมา เกิดจากความผิดพลาดของกรมชลประทานในการวางแผนปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เกิดจากปริมาณน้ำฝน และถึงที่สุด ดังที่เขียนไว้ในบทความอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามันสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายผังเมืองของประเทศไทย และไม่ใช่เป็นความล้มเหลวที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ล้มเหลวมาตั้งแต่แต่กำเนิด นั่นคือ นับตั้งแต่ประเทศไทยถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้ในฐานะรัฐสมัยใหม่ เราไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องของผังเมือง

นอกจากโจมตีประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและโยนบาปน้ำท่วมนี้ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรับไปอย่างเละตุ้มเป๊ะไปตามลำพังแล้ว

ฝ่ายรังเกียจประชาธิปไตยยังสามารถใช้ข้ออ้างเชิงคติ พิธีกรรม ความเชื่อ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ล้วนอ้างตัวเป็นผู้มีการศึกษา ไม่พึงเชื่อในคติ ความเชื่ออันคร่ำครึ งมงาย หรือไสยศาสตร์ นั่นคือ การปล่อยข่าวว่า บ้านเมืองถึงกาลวิบัติเพราะปล่อยให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ

เมื่อมุขไสยศาสตร์แบบนี้ใช้ไม่ได้ผล แถมยังถูกเยาะเย้ยไยไพ อาวุธทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการดิสเครดิตก็ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งพระราชดำรัสปลอม

การอ้างเอาภาพเก่ามาอ้างเป็นภาพปัจจุบัน

การปล่อยข่าวนายกฯ ไปดูคอนเสิร์ต

การเอาภาพหญิงสาวฟิลิปปินส์ในงานปาร์ตี้มาปล่อยข่าวว่านายกฯ เมาแอ๋ไม่ทำงาน

และจนกระทั่งประเด็นเรื่องรองเท้าบู๊ตอันลือลั่น ที่ล่าสุด มาดามอดีตภริยารัฐมนตรีท่านหนึ่งยังเอามาเป็นประเด็นอย่างเปิดเผยให้เห็นระดับความประณีตในจิตสำนึกของมาดามท่านนั้น

นอกจากอาวุธทางวัฒนธรรมจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและได้ผลในเชิงเสริมสร้างความแข็งแกร่งเชิงดราม่าฟูมฟายอันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของทุกสังคมในโลกนี้ล้วนเสพติด

อีกกระแสหนึ่งที่ตีขึ้นอย่างมีพลังคือ กระแสชื่นชมทหารในฐานะ "ฮีโร่"



ไม่เพียงแต่ในฐานะที่เป็นฮีโร่ คนจำนวนไม่น้อยยังถากถางอย่างเปิดเผยว่า "สำหรับคนที่เกลียดทหาร ด่าทหาร ออกมารับความช่วยเหลือจากทหารทำไม?"

คนเหล่านี้แกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าทหารคือข้าราชการ กินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ รถ รา ทุกอย่างที่เป็นสมบัติของกองทัพซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทหารที่จะลำเลียงทรัพยากรที่ตนเองมีมาทำงานในยามที่บ้านเมืองประสบทุพภิกขภัย

ทหารชั้นผู้น้อยเหนื่อยสายตัวแทบขาด เสี่ยงต่อการโดนไฟดูด ไฟช็อร์ต ตาย เราชื่นชม แต่นั่นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการที่เราวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทหารต้องไม่ข้องแวะกับการเมืองโดยสิ้นเชิง ทหารต้องไม่ออกมาทำรัฐประหาร ทหารต้องไม่เอาอาวุธมาฆ่าประชาชน เหล่านี้

เป็นคนละประเด็นกับการที่ทหารต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้รับใช้ประชาชนเหตุเพราะกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

กลุ่มคนที่รังเกียจประชาธิปไตยยังฉวยใช้โอกาสนี้ตีฆ้องร้องป่าว เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจในทำนองว่า "ดูสิ ในยามคับขัน เราพึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ สู้ให้ทหารออกมายึดอำนาจเสียยังจะดีกว่า "

เป็นอาการมั่วนิ่มทางตรรกะกลบเกลื่อนอาการรังเกียจประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โชว์ความล้าหลังป่าเถื่อนทางอุดมการณ์การเมืองอย่างไร้ความละอาย เพราะในสากลโลกไม่มีใครแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลด้วยการไปอ้อนวอนให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร



ยังไม่นับการสร้าง "ภาพ" น้ำท่วมให้เท่ากับการเผชิญกับ "สงคราม" โดยมีกรุงเทพมหานครเป็น "หัวใจ" ของราชอาณาจักร

นักข่าวบางคนถึงกับบอกว่านี่เป็นการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 3 (ทั้งที่การเสียงกรุงครั้งที่ 1 และ 2 ที่เชื่อมโยงร้อยรัดหัวใจของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบันสมัยเข้าด้วยกัน อันจะโยงไปที่การพร่ำเพรียกหา "คนดีของกรุงศรีอยุธยา" นั้นเป็นเพียง "ประวัติศาสตร์นิพนธ์" หนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น)

การออกมาประกาศ "เราจะปกป้องกรุงเทพฯ" ของผู้ว่าฯ กทม. นั้น มีผลในเชิงการละคร บิดเบือนปัญหาเรื่อง "น้ำ" ในฐานะที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กลายเป็นประเด็นของการปกป้องมาตุภูมิ ปิตุภูมิ ปลุกเร้าสำนึกรักบ้านเกิด ท้องถิ่นนิยม เพื่อมุ่งหวังผลทางการเมืองแทนที่จะโฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาในเชิงกายภาพตามที่เป็นจริง

ผลของการ "ปกป้อง" กรุงเทพฯ อันเป็นทางผ่านของน้ำไปสู่ทางทางหนึ่งในหลายๆ ทางตามลักษณะภูมิศาสตร์ได้สร้างความระส่ำระสาย เพราะคนเริ่มมองไม่เห็นกรุงเทพฯ ที่อยู่ในฐานะ "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นพื้นที่ทางการเมือง คำว่า "น้ำก้อนใหญ่" ทะลักเข้ากรุงเทพฯ หรือ "มวลน้ำขนาดใหญ่จะเข้ากรุงเทพฯ" ทำให้คนแยกแยะไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ ที่ว่าคือ รังสิต บางพลัด สุขุมวิท หรือ ดอนเมือง

เมื่อเป็นดังนั้น คนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในเขตน้ำไม่ท่วมกลับต้องกักตุนมาม่า อพยพไปต่างจังหวัด

ส่วนคนกรุงเทพฯ ในเขตจมน้ำหาซื้อมาม่า น้ำดื่มไม่ได้ แถมยังอพยพไม่ทัน

และอีกจำนวนหนึ่งก็นั่งติดตามข่าวน้ำท่วมในทุกช่องทางของสื่อราวกับเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่มาพร้อมกับอาการเครียด ประสาท แพนิก และหัวใจที่สั่นระรัวตลอดเวลา



ปัญหาหลังน้ำท่วมยังคงท้าทายรัฐบาล และสงครามของประชาชนสองฝ่ายในการช่วงชิงความชอบธรรมในเชิงวัฒนธรรมการเมืองจะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพง การขาดแคลน อาหาร วัตถุดิบ

จำนวนคนที่ตกงานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของนิคมอุตสาหกรรม

ปัญหาอาชญากรรมที่จะเพิ่มขึ้น

เงื่อนไขการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงอำนาจที่จะผลักให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยออกมาตรวจสอบ ทวงถามถึงสัญญาประชาคมว่าด้วยความยุติธรรม

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องเผชิญกับศึกทั้งสองด้านคือทั้งจากฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเองที่จะไม่ยอมให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของพวกเขาต้องสูญเปล่าไปกับความตายกลางถนนและถูกทำให้เลือนลับไปกับกาลเวลา

"น้ำ" นั้นสำคัญไฉน วันนี้เราก็ได้รู้แล้ว



.