http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-02

เมื่อ "ตึกไทยคู่ฟ้า"ฯ, +เมื่อ "ไมเคิล ไรท" ฟันธงฯ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

เมื่อ "ตึกไทยคู่ฟ้า" กลายเป็น "ตึกไทยคู่ไพร่"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 76


การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไพร่ราบพลเลวแถบชนบทใช้ประชามติโหวตตัวแทนจนชนะชนิด "ฟ้า" ถล่มทลาย พรรคการเมืองที่มีจุดยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับคนบ้านนอก เจ้าของฉายา "มีแต่หล่อ ก่อแต่หนี้ ดีแต่พูด" ก็ต้องกลับบ้านไปเป็นฝ่ายแค้นตามธรรมชาติ

แต่หลังจากรัฐบาลแก๊งไอติมย้ายข้าวของออกไปจากทำเนียบรัฐบาลได้เพียงไม่กี่วัน อดีตโฆษกสุดหล่อ "เทพไท" ได้สร้างปริศนาโดยการตั้งสมัญญาให้กับทำเนียบต้อนรับว่าการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดนี้ว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อของ White House เสียใหม่ให้สมฐานะเป็น "ตึกไทยคู่ไพร่" เสียเลยจะดีไหม ไหนๆ ก็เป็นพรรคการเมืองที่เชิดชูความเป็น "ไพร่" ออกนอกหน้า คงไม่คู่ควรกับคำว่า "ตึกไทยคู่ฟ้า" หรอกกระมัง

เรื่องนี้มองได้หลายมุม มุมแรกฟังแล้วก็ให้รู้สึกขำปนสะอึก-สะเอียน คิดได้ไงเนี่ย

คนกลุ่มนี้เคยเสกสรรปั้นแต่งเรื่องพิเรนทร์หลายร้อยพันเรื่องเพื่อทำลายและแบ่งแยกประเทศนี้มาอย่างยาวนาน

กรณี "ผังล้มเจ้า" ก็เป็นกรณีคลาสสิค เทียบเท่าวาทกรรมปั้นน้ำ "ปรีดีฆ่าในหลวง"

กุเรื่องได้ทุกอย่างเพราะมีใบอนุญาตฆ่าประชาชน เพื่อแลกกับพื้นที่ย่านการค้า เอาไปเอามา ก็มาสารภาพภายหลังที่ได้สังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว ว่า "ผังล้มเจ้า" นั้นไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงผังที่เขียนขึ้นเองเอาไว้ดูกันเล่นๆ แก้เหงา

อีกมุมหนึ่ง เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดของพรรคการเมืองเก่าแก่ (แต่ไม่เคยมีนโยบายของตนเองเพราะ "ดีแต่ลอก") ตอกย้ำจุดยืนแห่งความเป็นนักประชดประชันตัวพ่อ ถนัดการดูถูกหมิ่นแคลน แบ่งชนชั้น ตอกลิ่มความแตกแยก เอา "ฟ้า" มาเป็นเครื่องมือในการขึ้นสู่อำนาจทุกยุคทุกสมัย

รอยแยกของฟ้าดินจึงห่างไกลเกินกว่าจะโคจรมาพบกัน



จาก "บ้านนรสิงห์" ถึง "ตึกไทยคู่ฟ้า"

ก่อนที่ทำเนียบรัฐบาลจะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ตึกไทยคู่ฟ้า" นั้น ในอดีตตึกหลังนี้เคยเป็นสมบัติของขุนนาง และถูกเรียกขานว่า "บ้านนรสิงห์" หรือ "บ้านไกรสร"

ชื่อทั้งสองนี้มีปูมหลังอย่างไร ทำไมจึงฟังดูคล้ายกับว่าเพิ่งเดินออกมาจากป่าหิมพานต์?

แน่นอนทีเดียว เพราะบุคคลผู้พระราชทานนามให้บ้านหลังนี้ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงฝักใฝ่งานวรรณคดีไทย-เทศ จึงทำให้สถานที่ที่สร้างในยุคนั้นมักขอยืมนามมาจากตำนานหรือพุทธประวัติ เช่น สวนลุมพินีวัน พระตำหนักมฤคทายวัน บ้านมนังคศิลา ฯลฯ

ไม่เพียงแต่พระราชทานนามให้แก่คฤหาสน์หลังงามของพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เป็นสมุหราชองครักษ์คนสนิทเท่านั้น หากแต่ยังมอบหมายให้สถาปนิกชาวอิตาเลียนประจำราชสำนักสยามชื่อ "มาริโอ ตามานโญ" เป็นผู้ออกแบบอย่างอลังการงานสร้างอีกด้วย

ในขณะที่คฤหาสน์หินอ่อนอีกหลังที่มีความหรูหราไม่แพ้กัน ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลกสายเดียวกัน เจ้าของชื่อ ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ หรือพลตรีพระยาอนิรุทธเทวา ผู้เป็นน้องชายของเจ้าพระยารามราฆพ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างโดยกลุ่มคนชุดเดียวกัน

สรุปก็คือ ร.6 ทรงทุ่มเทพระราชทรัพย์จำนวนมหาศาล นฤมิตตึกหินอ่อนที่อิมพอร์ตวัสดุมาจากเมืองคาราร่าประเทศอิตาลี ทั้งสองหลังมอบเป็นของกำนัลให้แก่สองพี่น้องสกุล "พึ่งบุญ" ในฐานะที่ปรึกษาคนสนิท ในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ หลังจากฝุ่นควันของสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่ทันหายคละคลุ้ง

บ้านของเจ้าพระยารามราฆพผู้พี่ มีชื่อว่า "บ้านนรสิงห์" ส่วนบ้านของพระยาอนิรุทธเทวาผู้น้อง ชื่อ "บ้านบรรทมสินธุ์"

โปรดสังเกตให้ดีว่าทั้งสองชื่อนี้มีความเกี่ยวข้องกับ "พระนารายณ์" หรือ "พระวิษณุ" หนึ่งในสามของเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮินดู ซึ่งอาวุธหนึ่งในสี่ของพระนารายณ์คือ "จักร" ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ "จักรี"

คำว่า "นรสิงห์" มาจากปางหนึ่งที่พระนารายณ์อวตารมาปราบยุคเข็ญในร่างของครึ่งคนครึ่งสิงห์ ศัพท์ทางโบราณคดีเรียกว่าปางนรสิงหาวตาร

ส่วน "บรรทมสินธุ์" ก็เกี่ยวข้องกับพระนารายณ์อีกเช่นกัน เพราะว่าเป็นเทพเจ้าที่มีจุดกำเนิดมาจากบาดาลใต้มหาสมุทร ยามปกติหากแม้นโลกยังไม่ระส่ำระสาย จะนอนเอกเขนกอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราช หรือที่เรียกกันว่า "บรรทมสินธุ์" แต่ยามใดเมื่อโลกร้อนระอุเป็นไฟ พระนารายณ์จะต้องโผล่ขึ้นเหนือน้ำอวตารมาช่วยเหลือคนดี ภายใต้การจำแลงร่างต่างๆ มีทั้งหมดสิบปาง ปางที่โด่งดังที่สุดก็คือ "พระราม"

ฉะนั้น ชื่อ "นรสิงห์" กับ "บรรทมสินธุ์" เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่จะเห็นรหัสนัยที่ซ่อนอยู่ ถึงความเป็น "อภิสิทธิ์ชน" หรือ "คนโปรด" ของพระเจ้าอยู่หัว จึงมีสิทธิ์ใช้นามที่เกี่ยวข้องกับ Rama พระเอกของนิยายอมตะแห่งงราชวงศ์จักรีเรื่อง "รามเกียรติ์"

หลังจากที่ได้พระราชทานคฤหาสน์หลังงามสไตล์ "เวเนเชียนกอทิก" ตามอย่างบ้านคหบดีริมน้ำในเมืองเวนิสให้แก่สองพี่น้องตระกูลพึ่งบุญแล้ว รัชกาลที่ 6 ได้ใช้สถานที่สองแห่งนี้เป็น "โรงละครส่วนพระองค์" ฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์ โขน ละครนอก (ละครที่แสดงโดยชายล้วนๆ) ตลอดสิ้นรัชกาล

กระทั่งเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เช่นเดียวกับวังเจ้าและคฤหาสน์ขุนนางหลายหลัง หากอำมาตย์รายใดตั้งแง่ขัดขืนเป็นปรปักษ์ต่อการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ย่อมต้องถูกรัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรยึดวังมาเป็นทรัพย์ของแผ่นดินไว้ทั้งหมด

เว้นแต่เจ้านายที่ไหวตัวทันตัดสินใจยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาชน สมบัติพัสถานเหล่านั้นย่อมตกทอดเป็นมรดกสืบแก่ทายาท

บ้านบรรทมสินธุ์ ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเสมือนบ้านพักรับรองของนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ตามสะดวกว่า "บ้านพิษณุโลก" เหตุเพราะตั้งอยู่ที่หัวถนนพิษณุโลกใกล้ทางรถไฟยมราช

อดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนยืนยันว่าบรรยากาศภายในแต่ละห้องชวนให้ขนหัวลุก บ้างก็ว่ามีอาถรรพณ์ ทำให้ยุคหลังๆ คนส่วนใหญ่จงใจเรียกชื่อย่อให้เหลือแค่คำว่า "บ้านพิษ" เฉยๆ เพราะฟังแล้วเกิดอาการแสบๆ คันๆ ดี

ยิ่งยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ "บ้านพิษ" นี้ช่างมีสีสันเหลือกำลัง ทุกค่ำคืนใช้เป็นสถานที่สุมหัวระดมสมองที่ปรึกษา ครม. ของกลุ่มคนหนุ่มไฟแรง จนเป็นสาเหตุให้ รสช. ยึดอำนาจไปตามธรรมเนียมไทยๆ จนน้าชาติตั้งตัวแทบไม่ทัน นายกรัฐมนตรียุคต่อๆ มา ยังแขยงขยาดบ้านพิษนี้ไม่หาย และหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็แทบไม่มีนายกฯ คนไหนหอบผ้าหอบผ่อนเข้ามานอนเป็นอันขาด

ส่วนบ้านนรสิงห์นั้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกไกรสร" ซึ่งก็ไม่ใช่ชื่อใหม่ แต่เป็นการย้อนกลับไปเรียกตามพระนามเดิมของพระบิดาเจ้าพระยารามราฆพ ผู้มีนามว่าพระองค์เจ้าไกรสร ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา

กระทั่งปี พ.ศ.2484 ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ปรับบ้านนรสิงห์หรือตึกไกรสรให้กลายเป็นทำเนียบรัฐบาลอันสง่างาม มีชื่อใหม่ว่า "ตึกไทยคู่ฟ้า" เคียงคู่กับ "บ้านพิษณุโลก"

"บ้านพี่" เป็นที่ทำงานของนายกฯ ส่วน "บ้านน้อง" นายกฯ ใช้เป็นบ้านพัก

ผ่านมานานหลายสิบปีแม้จะเจอสารพันอาถรรพณ์สูสีกับบ้านบรรทมสินธุ์ แต่ก็ยังไม่เคยมีใครอุตริมาแผลงชื่อ "ตึกไทยคู่ฟ้า" ให้เป็นชื่ออื่น ผิดกับฉายาที่มอบให้ "บ้านพิษ"

ก็เพิ่งไม่กี่วันมานี้เอง ที่มีคนเกิดอาการคันปาก ทำให้บ้านนรสิงห์มีชื่อเรียกใหม่อีกครั้งว่า "ตึกไทยคู่ไพร่" ทั้งๆ ที่คำว่า "ฟ้า" ในความตั้งใจของจอมพล ป. นั้นไม่ได้หมายถึง Noble Class หากแต่หมายถึง "ชั่วกัลปาวสาน"



ระหว่าง "ไพร่" กับ "ทาส"
ระหว่าง "ฟ้า" กับ "ดิน"

ปีพ.ศ.2552 ตึกไทยคู่ฟ้าแห่งนี้ เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยปฏิบัติการยึดเอาไว้เป็นหัวหาดนานกว่าสามเดือน

กลายเป็นนิวาสสถานหลัก กินอยู่หลับนอนของม็อบเสื้อเหลือง นานวันเข้าก็จัดการเปลี่ยนสนามหญ้าให้กลายเป็นนาข้าวเขียวชอุ่ม

ซึ่งหากมองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนรากหญ้าได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสชื่นชมความงามของ "บ้านนรสิงห์" นั้นบ้าง ซึ่งมีอายุเกือบร้อยปี ที่ผู้สถาปนาตั้งใจเสกสร้างประหนึ่งวิมานสวรรค์ในบรรยากาศแบบเวนิสตะวันออก

ก่อนหน้านั้นทุกครั้งที่เดินผ่านไปมาหน้าประตูรั้ว ผู้คนต้องแขนขาสั่นไม่กล้าหยิบกล้องถ่ายรูปทั้งๆ ที่แสงทองแห่งยอดโดมส่องสะท้อนสวยบาดตา เพราะดันเหลือบไปเห็น รปภ. หน้าตาดุดันคอยวิ่งไล่แม่ค้าที่แอบเข้ามาขอใช้ห้องน้ำที่ป้อมยาม

ก็เห็นใจอยู่หรอกกับอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไม่ว่าจะโพกหัวสีใด

หากจิตวิญญาณของคุณนั้นอิงแอบแนบแน่นอยู่กับความเป็น "ไพร่" พลเมืองชั้นล่างของแผ่นดิน เข้าใจปัญหาของชาวไพร่ด้วยกันอย่างแท้จริง ปัญหาที่ชาวฟ้าทั้งหลายไม่เคยสนใจไยดีไม่เคยคิดแก้ไข

แต่น่าเศร้าใจยิ่งที่หลายเวทีแห่งการต่อสู้ นักรบ "ไพร่" จำนวนไม่น้อยเลย กลับสมัครใจลดตัวลงไปเป็น "ทาส" ยอมหมอบคลานกรานกราบ ให้อมาตย์ชี้นิ้วกดหัว กลายเป็นทาสทางจิตวิญญาณโดยไม่รู้ตัว มิหนำซ้ำยังมาดูถูก "ไพร่" (ที่ไม่ยอมเป็นทาส) เพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน โดยมองว่าคนกลุ่มนี้คือศัตรูตัวฉกาจ


คำนิยามของ "ตึกไทยคู่ไพร่" จึงเป็นการตั้งให้ โดยมุมมองที่เปรียบว่า "ฟ้า" คือของสูง ส่วน "ไพร่" คือของต่ำ เป็นความจงใจสบประมาทว่ารัฐบาลชุดนี้มีสถานะอันต้อยต่ำ ตามความหมายที่เข้าใจกันเองในหมู่ "ผู้ดี" เพราะคำว่า "ไพร่" ได้ถูกบิดเบือนไปแปลว่า "คนทรามชั่วสถุลสัตว์" ทั้งๆ ที่ "ไพร่" ในมิติดั้งเดิมนั้น หมายถึงประชาชนที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน

มองในแง่ดี "ตึกไทยคู่ไพร่" น่าจะยิ่งช่วยตอกย้ำปณิธานของ ครม. ชุดใหม่ให้ชัดเจนขึ้นว่า ควรมีอุดมการณ์ที่จะรับใช้ช่วยเหลือชาวบ้านให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง มิใช่วันๆ คิดแต่ถลุงเงินภาษีราษฎรเพื่อไปปรนเปรอต่อท่อน้ำเลี้ยงส่งส่วยขุนนางไม่กี่ตระกูลเฉกรัฐบาลที่นั่งคอเชิดใน "ตึกไทยคู่ฟ้า"

แต่ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลกับปวงประชาผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้จริงๆ ก็น่าจะเปลี่ยนเป็น "ตึกไพร่คู่หล้า" หรือ "ตึกไพร่คู่ดิน" ดูเหมาะแก่ใจขาโจ๋บ้างไรบ้างมากกว่า เพราะตราบใดที่ยังปรากฏคำว่า "ไทย" อยู่ในถ้อยวลีใดก็ตาม ย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการล้มล้างความคิดล้าหลังคลั่งชาติแบบไม่ลืมหูลืมตาอยู่อย่าง "คู่หล้าฟ้าสลาย" อีหรอบเดิม



++

บทความรำลึกเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2553)

เมื่อ "ไมเคิล ไรท" ฟันธง ทฤษฎี "เซาน่า" วัดพระยืน
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1575 หน้า 73


ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ "ไมเคิล ไรท" เป็นเวลาหนึ่งปีเศษ ผู้เป็นสหายทางงานเขียน ในฐานะนักตั้งประเด็นปริศนาแปลกใหม่ทายท้าแวดวงโบราณคดีให้เกิดแรงกระเพื่อมในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเฉพาะทฤษฎีสุดท้ายที่ ไมเคิล ไรท ได้ฝากไว้ให้นักวิชาการในพื้นที่ภาคเหนือขบคิดกันต่อ เมื่อ 4-5 ปีก่อนตอนเดินทางมาร่วมเป็นวิทยากรพร้อมกับ อ.ภูธร ภูมะธน งานเสวนาปริทัศน์ "มหพิพิธภัณฑ์เมืองลำพูน" หรือ "Lamphun Mega Museums" ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ของกรมศิลปากร

ก่อนงานเสวนาหนึ่งวัน ราวเดือนเมษายน 2549 ได้มีโอกาสเชิญ ไมเคิล ไรท ไปดูความคืบหน้าของโครงการขุดแต่งและปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดพระยืน (เป็นวัดเก่าแก่อายุนับพันปี ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน)



วัดพระยืนนี้ อันที่จริงเมื่อปี 2548 สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ มีเป้าหมายเพียงแค่จะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ประธานทรงมณฑปแบบพุกามซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม กับดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เท่านั้น

แต่ในระหว่างที่กำลังปรับแต่งพื้นผิวดินเพื่อกำหนดเขตลานจอดรถและที่ทำการศูนย์ข้อมูลของวัดพระยืนอยู่นั้น พลันได้พบหลักฐานแปลกใหม่โผล่ขึ้นมามากมายจากชั้นดิน นับแต่พระพิมพ์รุ่นพระลือหน้ายักษ์จำนวน 115 องค์ ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ชาวลำพูนไม่น้อย เนื่องจากตัวบล็อกแม่พิมพ์สำริดรุ่นนี้ถูกค้นพบมานานแล้วในบ่อศิลาแลงวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร แต่ไม่เคยมีใครพบตัวพระพิมพ์ดินเผา

พิสูจน์ไปพิสูจน์มาผู้รู้กำหนดอายุพระลือหน้ายักษ์ให้ไม่เกิน 100 ปี เพราะเป็นการนำแม่พิมพ์โบราณยุคหริภุญไชยมาอัดเศษอิฐเก่าๆ ที่ได้จากซากโบราณสถานร้างแถววัดดอนแก้วแล้วนำโปรยหว่านฝังไว้บริเวณฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

งานนี้เล่นเอาเซียนพระที่หวังจะเก็งกำไรและเตรียมทำพระลือหน้ายักษ์ปลอม พากันหน้าแตกหน้าแตนเป็นทิวแถว

อีกหลักฐานหนึ่งที่สร้างความฮือฮาคือ ทางเสด็จราชมรรคาที่พระญากือนา (**คำว่า "พระญา" ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ล้านนาลงความเห็นว่าเป็นคำที่ถูกต้องกว่าคำว่า "พญา" หรือ "พระเจ้า") หรือเจ้าท้าวสองแสนนาอันธรรมิกราชา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ทรงสร้างเพื่อต้อนรับการเดินทางมาของพระสุมนเถระจากสุโขทัย

ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกว่าพระญากือนาทรงจัดพิธีต้อนรับพระสุมนเถระอย่างมโหฬาร และได้นิมนต์ท่านไปสถิตพำนักอยู่ที่วัดพระยืน มีการถวายพระอารามเป็นที่อาศัยพร้อมด้วยกุฏิวิหารและพระเจดีย์

ทางเสด็จราชมรรคานี้มีลักษณะเป็นถนนก่ออิฐยาวเหยียดจากริมแม่น้ำกวง (ในอดีตคือแม่น้ำปิง) ทอดยาวมาสู่วัดพระยืน ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก จนเมื่อ ไมเคิล ไรท ได้มาพบก็ขนานนามเชิงเปรียบเปรยว่าสมกับเป็น Roman Road แห่งล้านนา

โดยระบุว่าเป็นถนนโบราณที่มีอายุเก่าเกิน 600 ปีเพียงไม่กี่สายที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทย



สิ่งที่ไมเคิล ไรทหลงใหลอย่างมาก ก็คือแนวอิฐก่อถี่ยิบเรียงตัวซอยแบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของซากฐานอาคารใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าวิหาร อุโบสถ เจดีย์ กุฏิ หอไตร ศาลาการเปรียญ กำแพงแก้ว

เพราะโดยปกติแล้วซากฐานของศาสนสถานเหล่านี้จะต้องก่อเป็นแผ่นอิฐปูตามแนวนอนแบนๆ แบบพื้นราบมิใช่แนวตั้งดังที่เห็น

พวกเราสบโอกาสเหมาะจึงถาม ไมเคิล ไรท ว่าซากกองอิฐนี้คืออะไร

ลุงไมค์ตอบหน้าตาเฉยว่า "เซาน่า" เรียกเสียงหัวร่อท่ามกลางหมู่ปราชญ์ท้องถิ่นลำพูนได้สักพัก

พอลุงไมค์เดินคล้อยหลังได้ 2-3 ก้าว แต่ละคนเริ่มหันมามองกันพลางพยักพเยิดหน้าหงึกๆ ว่า "เห็นจะจริงของแก"

ไมเคิล ไรท มีประสบการณ์ด้านศิลปะและโบราณคดีในประเทศศรีลังกานานกว่า 30 ปี จัดว่าเป็นเกจิด้านลังกาศึกษาแถวหน้าของเมืองไทยก็ว่าได้

ที่แกกล่าวว่า "เซาน่า" นั้นมิใช่เรื่องตลกอำเล่น หากแต่วัดในลังกาโดยเฉพาะวัดป่าสายอรัญวาสีแทบทุกแห่งนิยมทำโรงอบสมุนไพรสำหรับพระภิกษุไว้ในที่ค่อนข้างเด่นไม่ไกลจากวิหารและเจดีย์

เพื่อขับเหงื่อให้โลหิตหมุนเวียน อันจะมีผลต่อการทำวิปัสสนาและฝึกปราณยาม



วัดพระยืนในลำพูนก็มีฐานะเป็นวัดป่ามาตั้งแต่ในครั้งที่อาณาจักรหริภุญไชยรุ่งเรือง โดยมีชื่อว่า "วัดอรัญมิการาม" ความหมายคือวัดป่าเดือนห้า

ยิ่งพอถึงสมัยพระญากือนาแห่งล้านนาในปี พ.ศ.1912 รับเอาอิทธิพลสายลังกาวงศ์มาจากพระสุมนเถระแห่งวัดป่าม่วงเมืองสุโขทัยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองพัน (เมาะตะมะ อันเป็นเมืองของชาวรามัญ) ผู้เคยเดินทางไปจาริกแสวงบุญในลังกาทวีปมาก่อน จึงเป็นไปได้ที่ซากโบราณสถานก่ออิฐแบบประหลาดแห่งนี้จะเป็นการทำห้องอบเซาน่าในทำนองอโรคยศาลาให้แก่พระวิปัสสนาธุระตามอย่างคติลังกาวงศ์

ถ้าข้อสมมติฐานของ ไมเคิล ไรท เป็นจริง ชาวลำพูนก็น่าจะเกิดอาการขนหัวลุกไม่น้อยที่ วัดพระยืนเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังเหลือร่องรอยหลักฐานห้องอบสมุนไพรของพระป่าสายอรัญวาสี ตามอย่างนิกายลังกาวงศ์ ที่ยังไม่ถูกทำลาย!

อย่างไรก็ดี มีผู้รู้อีกหลายท่านคัดค้านความเห็นดังกล่าว บ้างสันนิษฐานว่า กองอิฐเหล่านี้น่าจะเป็นแค่เตาเผาอิฐที่นำมาใช้ในการสร้างเสนาสนะในวัดนี้มากกว่า

ทว่าก็มีผู้ย้อนถามกลับว่า ถ้าเป็นเตาเผาอิฐจริงไฉนไม่ไปแอบสร้างในจุดลับๆ ให้มันไกลๆ นอกเขตพุทธาวาสโน่น ไยจึงมาสร้างประชิดกับฐานพระวิหารเสียจนประเจิดประเจ้อเช่นนี้

ในขณะเดียวกันก็มีบางคนเสนอว่า หรืออาจจะเป็นรางระบายน้ำ ท่อน้ำอะไรสักอย่าง???



จวบจนปัจจุบัน ปี 2553 วัดพระยืนได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่องในการบูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงภูมิทัศน์ ในส่วนของกำแพงวัด วิหารพระเจ้าทันใจ รวมทั้ง "เซาน่า" ชิ้นนี้ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ ที่กำลังรอคอยการคลี่คลายข้อขัดแย้ง

ทุกครั้งที่พาคนไปทัศนศึกษาวัดพระยืนไม่รู้กี่ร้อยคณะ ดิฉันสามารถปิดตาอธิบายโบราณสถานทุกจุดในวัดได้อย่างละเอียดลออ

ยกเว้นซากกองอิฐจุดนี้จุดเดียว ที่ดิฉันอธิบายไปใบหน้าและน้ำเสียงของลุงไมค์ก็ล่องลอยมาในมโนสำนึกทุกครั้ง ได้แต่ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้ฟังขบคิดต่อ

ว่าคุณเชื่อหรือไม่ว่าซากอิฐเก่าๆ กองนี้คือเซาน่าเมื่อ 600 กว่าปีที่แล้ว ?

ถ้าเกิดมันใช่ก็ขอยกเครดิตหรือคุณูปการทั้งหมดให้แด่ ไมเคิล ไรท แต่ถ้ามันไม่ใช่ก็ลองมาเปิดประเด็นถกเถียงกันสักเวทีว่ามันควรจะเป็นอะไรกันแน่ แต่คงไม่ถึงกับต้องจุดธูปเชิญวิญญาณลุงไมค์มานั่งรับฟังด้วยหรอกนะคะ

เพราะท่านไปดีแล้ว


.