http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-15

น้ำท่วมฯแก้ไขไม่ใช่แก้ขัด, คำถามเรื่อง "น้ำท่วม", ฯเร่งบูรณาการ 'ยั่งยืน', น้ำต้องไหล และ 2 มุมมอง:

.

น้ำท่วม : เห็นทีต้องแก้ไขไม่ใช่แก้ขัด
โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ท่านผู้อ่านเคยฟังเพลงลูกทุ่งที่ว่า น้ำท่วมพี่ว่าดีกว่าฝนแล้ง ไหมคะ ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่เคยเข้าใจว่าเพลงนี้ใช้อะไรมาตัดสิน โดยปกติแล้วน้ำแล้งขั้นวิกฤต จะเสียหายน้อยกว่าน้ำท่วมขั้นวิกฤต เพราะน้ำแล้งเกษตรกรเสียผลตอบแทนจากที่ดินแต่ยังเอาแรงงานตนเองไปขายได้ ในช่วงน้ำแล้งทรัพย์สินมักไม่มีการเสียหาย แต่น้ำท่วมก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ อาจถึงเสียชีวิต เสียทรัพย์สิน เสียรายได้ เสียสุขภาพทั้งกายและใจ

โอกาสที่น้ำท่วมจะรุนแรงและยาวนานจะมีบ่อยขึ้นเพราะเหตุผล 2 ประการคือ มนุษย์ได้สร้างสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำมากขึ้น

หมู่บ้านจัดสรรเข้าไปอยู่ในพื้นที่แก้มลิงทำให้พื้นที่ที่เคยรับน้ำได้ดูดซึมน้ำได้ กลายเป็นคอนกรีต รวมทั้งการสร้างทำนบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเมืองหนึ่งป้องกันตัวเองได้แต่น้ำก็ยังมีอยู่เท่าเดิม ก็ต้องไหลไปท่วมบ้านเมืองคนอื่น

สาเหตุที่ 2 ก็จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดมรสุมและฝนตกรุนแรงหรือบ่อยครั้งขึ้น

วิวัฒนาการของการจัดการน้ำท่วมของไทยเกิดขึ้นก่อนในภาคเกษตร เมื่อเราสร้างเขื่อนภูมิพลช่วยให้ทำการเกษตรได้ปีละ 2 ครั้ง ก่อนหน้านั้นชาวนาปลูกข้าวนาปีที่สูงตามน้ำได้ถึง 2-3 เมตร เรียกว่า นาฟางลอย ซึ่งเป็นข้าวไวแสง ปีหนึ่งปลูกได้ครั้งเดียวและผลผลิตต่ำ

แต่พอเราเริ่มมีระบบชลประทานในฤดูแล้ง รัฐบาลก็ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง ซึ่งมีลักษณะต้นเตี้ย ผลผลิตเยอะกว่ามาก ที่เรารู้จักกันในนาม ข้าว กข ข้าวมหัศจรรย์นี้ปลูกแล้วจะติดดอกตามระยะเวลา สามารถออกดอกออกผลปีละหลายครั้ง ไม่ขึ้นกับฤดูและแสงอาทิตย์

เพื่อให้ข้าวพันธุ์ใหม่ปลูกได้ปีหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้ง กรมชลประทานจึงสร้างคันกั้นน้ำ 2 ข้างฝั่งเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำล้นฝั่งเข้าไปทำลายพืชผลและออกทะเลไปโดยเร็ว แต่คันกั้นเหล่านั้นรวมทั้งลำน้ำเจ้าพระยากลับกลายเป็นคลองส่งน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร

ทางกรุงเทพฯจึงป้องกันตัวเองโดยสร้างทำนบไว้รอบพระนคร เพราะกรุงเทพฯเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประเทศ บ้านจัดสรรทั้งหลาย เทศบาลอื่นๆ ก็เริ่มกระบวนการป้องกันตัวเองเหมือนกัน จนที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อนก็ท่วมเท่าเอว ที่เคยท่วมเท่าเอวก็สูงไปถึงชั้นสองของบ้าน ในเขตเจ้าพระยาตอนล่างเริ่มมีการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างเมืองกับชาวนา หากไม่แก้ไข นานไปประเทศไทยจะถูกปกครองโดยม็อบ

และตามที่โพลีบิอุสเคยทำนายไว้ หลังจากเป็น Mobocracy ก็จะไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ

ใครว่าปัญหาน้ำท่วมไม่สำคัญ


การจัดการน้ำท่วมทุกวันนี้มี กทม. ที่เรี่ยวแรงแข็งขันเพราะมีงบมาก มีทั้งคันกั้นมีสะดือน้ำดูดน้ำออกและสถานีสูบระบายน้ำเป็นเครือข่าย สามารถป้องกันพระนครได้ในกรณีฝนตก 80 มิลลิเมตร (ไม่เกิน 3 ชั่วโมง) ถ้ามากกว่านั้นน้ำก็จะท่วมถนนใหญ่ แต่ กทม.ก็จะไม่ยอมแพ้ มุ่งมั่นจะสร้างเสริมศักยภาพขึ้นไปเรื่อยๆ

แล้วเราจะอยู่อย่างนี้ แก้ขัดกันแบบตัวใครตัวมันไปปีต่อปีหรืออย่างไร?

น้ำท่วมเจ้าพระยาตอนล่างเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การบรรเทาหรือป้องกันปัญหาของคนในพื้นที่หนึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ เสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่จะมาชดเชยและเยียวยาผู้ที่ยอมรับผลกระทบตามสมควร และในขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็สมควรเป็นผู้จ่ายค่าชดเชย มิใช่ให้คนทั้งชาติมารับภาระร่วมกัน

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการจัดการน้ำท่วมอย่างบูรณาการ

ต้องมีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เทศบาลต่างๆ ต้องร่วมมือกัน ต้องมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำและสร้างกลไกชดเชยที่เหมาะสม ผู้ที่ได้อานิสงส์จากการป้องกันน้ำท่วมก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ต้องมีกลไกกองทุนหรืออาจจะผ่านระบบภาษี

ที่ประเทศออสเตรเลียมีการเก็บภาษีน้ำท่วมที่เรียกว่า Flood Levy เก็บพร้อมภาษีเงินได้ ผู้ที่เสียหายจากน้ำท่วมไม่ต้องจ่าย

เรื่องบริจาคก็ทำกันไปเถอะ ไม่ว่าอะไร จะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นที่แห้งๆ ในชาติหน้า

รัฐบาลควรตั้งเจ้าภาพในการจัดการขึ้นมาจัดระบบบรรเทาอุทกภัยที่ชัดเจน จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแจ้งเตือนภัย การส่งเสริมเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้มีอุปกรณ์ร่วมกัน เมื่อเกิดปัญหาก็จะมีแนวทางที่ระบุหน้าที่แต่ละส่วนราชการที่ประสานกัน การคำนวณค่าความเสียหายก็ควรเป็นระบบและเป็นไปตามความรุนแรงของผลกระทบ


ที่แย่มากก็คือรัฐมนตรีชอบไปดูงานตอนน้ำท่วม ทำให้การแก้ปัญหามีอุปสรรคมากขึ้นรวมทั้งนายกฯ ด้วย ที่จริงควรแค่ออกทีวีปลอบใจราษฎรและระบุความช่วยเหลือที่จะให้ นายกหญิงก็ไม่ต้องไปลุยน้ำหรอก มิฉะนั้นปีละ 3-4 เดือน นายกฯกับ รมต. แทบจะไม่มีผลงานอื่นเลยนอกจากแจกของแก่ราษฎรที่น้ำท่วม

อ้อ! เกือบลืมไป ถ้าคิดจะถมทะเลออกไปละก็ น้ำจะท่วมหนักและนานกว่านี้อีก!!



++

คำถามเรื่อง "น้ำท่วม"
โดย ปราปต์ บุนปาน
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

มีการขุด "คลองลัดบางกอกใหญ่"

เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป คลองลัดดังกล่าวค่อยๆ ขยายใหญ่กลายเป็นทางน้ำสายหลัก

เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงพยาบาลศิริราช-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมลดสถานะกลายเป็น "คลองบางกอกน้อย" และ "คลองบางกอกใหญ่" ในปัจจุบัน


"แม่น้ำเจ้าพระยา" ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดมีขึ้นเองโดย "ธรรมชาติ"

ทว่าถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยน้ำมือของ "มนุษย์"

กับสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณที่ราบภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน

แน่นอนว่าปัญหาหลักย่อมได้แก่ เราจะใช้ชีวิตอยู่กับ "น้ำ" หรือ "ธรรมชาติ" อย่างไร?

พร้อมเป้าหมายสำคัญคือ การระบาย "น้ำ" ลงทะเลตามวิถีทาง "ธรรมชาติ" ของมัน

โดยให้กระทบต่อความเดือดร้อนของผู้คนน้อยที่สุด

แต่การอยู่กับ "น้ำ" คงมิได้หมายถึงการยินยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อ "ธรรมชาติ" อย่างง่ายๆ เซื่องๆ เพียงแค่นั้น

หากควรหมายถึงการจะบริหารจัดการ หรือควบคุม "น้ำ" อย่างไรด้วย

แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็เกิดจากการบริหารจัดการ "น้ำ" สมัยอยุธยาดังได้กล่าวไปแล้ว

"คันกั้นน้ำ" ในหลายจังหวัดภาคกลาง ที่คน กทม.ได้ยิน ได้อ่าน ได้ดูกันบ่อยๆ จากข่าวสารช่วงไม่กี่วันนี้

ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ระบบชลประทาน" ที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน


คำถามของสังคมไทยร่วมสมัยก็คือ การจัดการน้ำในยุคปัจจุบันควรจะดำเนินไปเช่นไร?

การบริหารจัดการน้ำควรมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับ "ความเท่าเทียม" หรือ "ความเป็นธรรม" ระหว่างผู้คนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ในสังคมหรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้น

นอกจากภาพ "คนใจบุญ" ไปบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ "ผู้ประสบภัย" น้ำท่วมที่น่าสงสาร

ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีในเชิง "สังคมสงเคราะห์" แล้ว

หากกล่าวแบบอุดมคติ เราคงต้องถามต่อว่า

ต้องทำอย่างไร กระแสน้ำซึ่งไหลไปท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงและภูมิอากาศอันแปรผัน จึงจะท่วม/ไม่ท่วม ทุกพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันโดยทัดเทียมกัน?

หากกล่าวแบบสมจริงขึ้นมาอีกนิด เราคงต้องถามว่า

ถ้าเกิดเหตุน้ำท่วมกับบางพื้นที่ เพื่อบางพื้นที่จะได้ไม่ถูกน้ำท่วม

เราจะมีกลไกชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (หรือ ผู้เสียสละโดยไม่เจตนา) อย่างไร ?

และผู้ที่ไม่ประสบเหตุอุทกภัย (เพราะมีคนรับเคราะห์แทน) ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวในทางใดทางหนึ่งบ้างหรือไม่?

ดังข้อเสนอของ อ.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ทางมติชน รายวัน เมื่อ 2 วันก่อน

มิฉะนั้น แม้ทำนบกั้นน้ำของบางพื้นที่ในประเทศไทยจะไม่แตก

แต่ทำนบขวางกั้นความเท่าเทียมทางสังคม-การเมือง

อาจพังทลายลงได้ในสักวันหนึ่ง



++

ปัญหา'น้ำท่วม' ปัญหา'ยิ่งลักษณ์' เร่งบูรณาการ 'ยั่งยืน'
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:30:00 น.


การที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ที่สนามบินดอนเมือง ไม่รู้ว่า "ช้าไป" หรือไม่

เพราะตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็มๆ คงต้องบอกว่ารัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ วิ่งตามปัญหาไม่ทัน

กล่าวคือ ยังเกิดอาการลนๆ ในการแก้ไขปัญหา ปล่อยมือให้ข้าราชการประจำทำ ซึ่งก็สามารถแก้ได้เฉพาะบางจุดที่เป็น "ขอบเขตอำนาจ" เท่านั้น

ฉะนั้น การตั้ง ศปภ.ขึ้นมา นอกจากจะมีเป้าหมายในการระดมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน เป็นรูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ประกาศเป็น "วาระแห่งชาติ" เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

เพราะหากวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเมืองไทยที่กำลังประสบกันอยู่ก็จะพบว่า มาจากสาเหตุต่างๆ หลายประการ

ทั้งปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในช่วงฤดูฝน เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสลับกันพัดผ่านเกือบตลอดปี

อิทธิพลของลมมรสุมทั้งสองได้ก่อให้เกิดผลต่างกัน

นอกจากฝนที่เกิดจากลมมรสุมทั้งสองแล้ว ยังมีอิทธิพลอื่นๆ ที่เข้ามาข้องแวะในแต่ละปีอีก เช่น อิทธิพลร่องความกดอากาศ (Through) อิทธิพลพายุหมุน หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ (Depression) ซึ่งมักเกิดขึ้นช่วงฤดูฝน

เมื่อผสมรวมกันจึงทำให้ฝนตกต่อเนื่องโดยเฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และเป็นสาเหตุหรือที่มาของการเกิดน้ำหลาก น้ำท่วมอย่างรุนแรง

นอกจากนั้น ยังพบการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยขาดการวางแผนวางผังเมืองที่เป็นระบบ การถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศทางที่ต่ำหรือที่ลุ่ม

นี่คือ "ปัญหา" ที่นอกเหนือจากการตัดไม้ทำลายป่า

ปัญหาทั้งหมด หากปล่อยให้ดำรงอยู่และดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าความรุนแรงและความเสียหายก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

หรือหากจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงาน เช่น จังหวัด อบต. หรือเทศบาลที่ประสบปัญหาต่างไปดำเนินการกันเองก็คงไม่สำเร็จ

เพราะอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ อย่างคาดไม่ถึง

เนื่องจากปัญหาน้ำแตกต่างจากปัญหาอื่น ตรงที่ไม่สามารถแก้ไขแบบเฉพาะจุดได้ เพราะลำน้ำมีความยาวและไหลผ่านพื้นที่หรือชุมชนต่างๆ ต่อเนื่องกันไป

แน่นอนว่า ครั้งนี้คงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการเยียวยาผู้ประสบภัย


อนาคต นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องมองให้ออกว่าจะ "แก้เกม" น้ำท่วมในปีต่อๆ ไปอย่างไร

ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีการประสานกับประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เยอรมนี นำเทคโนโลยีและความรอบรู้ในการบริหารจัดการนำเข้ามาแก้ไขปัญหา แลกกับสินค้าเกษตร ในรูปแบบ จีทูจี

แต่ก็ไม่ถึงฝั่ง เพราะเกิดการปฏิวัติเสียก่อน

การป้องกันปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกร่างกฎหมายออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อกันเขตแม่น้ำสายสำคัญๆ ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 25 ลุ่มน้ำ เหมือนการเวนคืนที่เพื่อสร้างถนน

โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำหรือย่านชุมชนที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในอนาคต และมีโอกาสเกิดน้ำหลากล้นตลิ่งเข้าไปท่วมได้ ส่วนความกว้างวัดจากแม่น้ำออกไปสุดแนวเขตเป็นระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป

โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่ยอมให้น้ำหลากท่วมได้

หรือจะเรียกว่าพื้นที่ควบคุมน้ำท่วม

นอกจากนั้น ควรก่อสร้างแนวคันดินกั้นน้ำที่มีความสูงเหนือระดับน้ำหลากสูงสุดตามแนวเขตพื้นที่ควบคุมที่ประกาศเพื่อป้องกันน้ำมิให้น้ำหลากท่วมพื้นที่ภายนอก

ให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ควบคุม อาทิ หากใครจะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ริมน้ำ จะต้องยกพื้น มีใต้ถุนสูงพ้นระดับน้ำหลากสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ห้ามถมดินเพื่อก่อสร้างโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

นอกจากนั้น อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริม ได้แก่ การเร่งก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก การก่อสร้างฝายแบบขั้นบันไดเพื่อเป็นแก้มลิงชะลอการหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ฯลฯ

จริงอยู่ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จะให้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ คงยาก เพราะต้องยอมรับสภาพความจริงก่อนว่าการขยายตัวอย่างกระจัดกระจายและขาดการวางแผนของชุมชนเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้การตามแก้ปัญหายุ่งยาก ไม่แตกต่างจากการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ

แต่กระนั้นคงจะดีกว่าที่เราจะไม่ยอมลุกขึ้นมาหาทางป้องกันหรือทำอะไรเลย



++

น้ำต้องไหล
โดย ฐากูร บุนปาน
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


แล้วก็ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยอีกครั้ง ว่าพลังของธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าการรังสรรค์ของมนุษย์เสมอ

เมื่อปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ที่ทั้งรัฐและเอกชนพยายามป้องกันเอาไว้แล้วอย่างสุดฤทธิ์ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

และเมื่อไม่สามารถย้อนอดีตกลับไปได้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าในภาวะที่ความปรวนแปรของธรรมชาติกำลังจะกลายเป็นความปกติในโลก

จะป้องกันพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศ และอุตสาหกรรมที่มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนและเงินจำนวนมหาศาลมิให้ย่อยยับอย่างนี้ได้อีกอย่างไร

เฉพาะค่าชดเชยทางการเกษตรของน้ำท่วมเมื่อปี 2553 ก็ 20,000 ล้านบาท เข้าไปแล้ว

ค่าชดเชยของปีนี้ที่ท่วมหนักกว่า กว้างไกลกว่า และยาวนานกว่า ก็น่าจะเพิ่มสูงยิ่งกว่า

ยังไม่นับมูลค่าความเสียหายทางอุตสาหกรรมที่อาจจะมากกว่า

และที่ประเมินค่าไม่ได้เลยก็คือชีวิตและความรู้สึกที่สูญเสียไป

ถามว่าถ้าจะต้องลงทุนเฉพาะในส่วนที่สามารถทำได้ทันทีก่อน อย่างเช่น 'ก้างปลา' เพื่อขยายเครือข่ายสาขาแม่น้ำลำคลอง คลองลัด หรือแม้กระทั่งคลองใหญ่ (หรือแม่น้ำใหม่ก็แล้วแต่จะเรียก) อีก 50,000-100,000 ล้าน

จะทำหรือไม่?

ทำทันทีหรือไม่

ธรรมชาติของน้ำต้องไหล

แต่เมื่อเมืองใหญ่ทั้งหลายขยายตัว แม่น้ำก็แคบและตื้นเขิน คลองหายไป ห้วยหนองคลองบึงถูกบุกรุกจนไม่เหลือสภาพ จะใช้หลักวิศวกรรมประสานกับการฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อทุเลาเบาบางปัญหาอย่างไร

วันนี้รู้แล้วว่า ถ้าน้ำไหลผ่านเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพใกล้ 4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีเมื่อไหร่ก็วิกฤต

จะทำอย่างไรให้น้ำไหลผ่าน 2,000-2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเป็นระดับพอดีสำหรับกิจกรรมแทบทุกอย่างได้

ชัยนาทอยู่สูงกว่านครปฐมอยู่ 17 เมตร คลองที่ขุดผ่านด้านตะวันตกจะผันน้ำจากเจ้าพระยาออกไปได้สัก 1,000 ลูกบาศก์เมตร แล้วให้แรงดึงดูดของโลกลากน้ำผ่านไปตามที่ต่างๆ ที่ต้องการได้หรือไม่

จากภาคเหนือลงมาถึงภาคกลางตอนบน จะทำให้เครือข่ายสาขาของแม่น้ำกลับมามีชีวิตได้อย่างไร

ห้วยหนองคลองบึงจะได้รับการฟื้นฟูอย่างไร

การรุกล้ำพื้นที่สาธารณะจะได้รับการสะสางอย่างตรงไปตรงมา ไม่ไว้หน้าใคร-โดยเฉพาะอิทธิพลและทุนน้อยใหญ่ทั้งหลายหรือไม่


ถ้าต่างจังหวัดพยายามสร้างเครือข่ายกระจายน้ำแล้ว

กรุงเทพมหานครจะรับลูกด้วยหรือไม่

ไม่ต้องพูดถึงคลองใหม่ เอาแค่คลองที่มีอยู่ ซึ่งนับวันจะแคบและตื้นขึ้นทุกที จะได้รับความเอาใจใส่ดูแลแค่ไหน

ทั้งหมดแทบทุกพื้นที่ ข้อมูลก็มี แผนก็มี

แต่ที่ขาดมาตลอดคือความใส่ใจและความเอาจริง

หรือจะเหมือนทุกยุคที่ผ่านมา

พอน้ำลดแล้วก็ลืม



++

2 มุมมอง "น้ำท่วม กทม." จากเลขาฯ "มูลนิธิสืบฯ" ถึง "นักวิชาการ มช."
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 13


สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขตที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง ส่งผลเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินมากมายมหาศาล

สำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากจะห่วงใยเพื่อนมนุษย์ในจังหวัดอื่นๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัยครั้งใหญ่แล้ว

มวลน้ำขนาดมหึมาซึ่งกำลังจะต้องไหลลงทะเลผ่านจังหวัดที่พวกเขาอาศัยอยู่ ยังถือเป็น "ภัยคุกคาม" อันเย็นเยียบอย่างยิ่ง



ล่าสุด "ศศิน เฉลิมลาภ" เลขาธิการมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร ได้เผยแพร่วิดีโอคลิป อธิบายสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นกับ กทม. ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ

ศศิน ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ต้องรับน้ำไว้รวมกัน 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะเดียวกันบริเวณที่ราบเจ้าพระยา ซึ่งกำลังประสบอุทกภัย ก็มีน้ำท่วมขังอยู่อีกประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม น้ำเหล่านี้ต้องถูกปิดกั้นเอาไว้ เพราะระหว่างทางออกสู่ทะเลนั้น มีเขตเมืองต่างๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลตั้งขวางอยู่ จึงทำให้สามารถระบายน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นได้อย่างมากประมาณ 100-200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเพียงเท่านั้น

"ถ้าเราจะระบายน้ำ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถ้าไม่ต้องระบายหมด อยู่ในระดับควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างน้อยต้องมีเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง" เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวผ่านคลิปวิดีโอ

นอกจากนั้น การค่อยๆ ระบายน้ำลงทะเลของ กทม. ยังจะทำได้น้อยลง เมื่อมีน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงในช่วงวันที่ 12-14 และ 17 ตุลาคม

จึงขึ้นอยู่กับว่าคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ไหวหรือไม่ แค่ไหน?

จากการวิเคราะห์ของศศิน เขาเห็นว่าโอกาสที่ กทม. จะถูกน้ำท่วมในช่วงเวลาอีก 1-2 เดือนนับจากนี้ อยู่ที่ 50 : 50 หรือ 60 : 40

อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ควรตกใจ แต่ควรเตรียมตัวให้พร้อม อาทิ เก็บเอกสารหรือทรัพย์สินสำคัญขึ้นชั้นบนของที่พักอาศัย, ศึกษาระบบไฟฟ้าและวิธีการตัดไฟในชั้นล่างของอาคาร

และด้วยความเชื่อว่า กทม. คงจะไม่ประสบกับเหตุน้ำท่วมเหมือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีศักยภาพในการระบายน้ำออกนอกพื้นที่ได้ ดังนั้น คนกรุงเทพฯ จึงไม่ควรซื้อข้าวปลาอาหารมากักตุนมากมาย แต่ควรมีถุงยังชีพให้พออยู่อาศัยภายในบ้านได้ 1-2 วัน ติดตัวเอาไว้



ด้าน "มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด" แห่งสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความ "น้ำท่วม เห็นทีต้องแก้ไขไม่ใช่แก้ขัด" ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ก่อนจะถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ในวันเดียวกัน

มิ่งสรรพ์ เริ่มอธิบายถึงการจัดการระบบชลประทานในภาคเกษตรกรรมของภาคกลาง ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ 2 ข้างฝั่งเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำล้นเข้ามาทำลายพืชผลของเกษตรกร และสามารถออกทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น

แต่ในอีกทางหนึ่ง คันกั้นน้ำเหล่านั้นกลับกลายเป็นคลองส่งน้ำเข้ามายังกรุงเทพมหานคร นอกจากการมีลำน้ำเจ้าพระยาอยู่ก่อนแล้ว

ส่งผลให้ กทม. ตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันตนเองจากภัยน้ำท่วม ด้วยการสร้างทำนบล้อมรอบพระนคร ด้วยเหตุผลสำคัญว่า เพราะกรุงเทพฯ เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่หมู่บ้านจัดสรรและเทศบาลอื่นๆ ก็เลียนแบบวิธีการป้องกันตนเองจาก กทม. เช่นกัน

อันนำมาสู่สถานการณ์การผลักน้ำไปท่วมขังในหลายพื้นที่ ดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อ "เขตเมือง" ส่วนใหญ่ น้ำไม่ท่วม แต่ "เขตเกษตรกรรม" ส่วนมาก ต้องถูกน้ำท่วม นักวิชาการ มช. จึงวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ "คนเมือง" กับ "ชาวนา" จะทะเลาะเบาะแว้งและไม่พอใจซึ่งกันและกัน

หากไม่แก้ไข ก็จะเกิดม็อบต่างๆ ขึ้น ก่อนที่การปกครองโดยม็อบจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบเผด็จการในที่สุด

ปัญหาสำคัญในมุมมองของมิ่งสรรพ์จึงได้แก่ "แล้วเราจะอยู่อย่างนี้ แก้ขัดกันแบบตัวใครตัวมันไปปีต่อปีหรืออย่างไร?"

ในทรรศนะของนักวิชาการผู้นี้ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างต้องประกอบไปด้วย 2 กระบวนการสำคัญ

หนึ่ง ต้องมีกลไกชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

สอง ผู้ที่ได้ประโยชน์ (หรือรอดพ้นจากภัยน้ำท่วม เพราะน้ำถูกกั้นและระบายไปยังพื้นที่อื่นๆ) ควรเป็นฝ่ายจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว มิใช่ผลักภาระให้คนทั้งชาติต้องรับผิดชอบร่วมกัน

อาทิ การจัดเก็บภาษีน้ำท่วม (แต่ละเว้นให้ผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย) ตามแบบอย่างของประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น



แม้มวลน้ำจะยังไม่ได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครในวงกว้างดังที่หลายคนหวาดกลัวกัน ทว่าคำอธิบายของศศิน และข้อเสนอของมิ่งสรรพ์ ก็ถือเป็นสิ่งที่สมควรรับฟัง

คำอธิบายแรก บอกให้คนดูไม่ประมาท และตั้งรับกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินควร

ข้อเสนอหลัง เป็นการเน้นย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคกลางอย่างสัมพันธ์กับพื้นที่เขตเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น มิได้เกิดจากการที่น้ำไหลเอ่อไปตามธรรมชาติความลาดชันของผิวโลก

แต่น้ำเหล่านั้นถูกแนวกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำผลักดันให้ไปท่วมขังอยู่ในพื้นที่ของผู้คนซึ่งมีอำนาจต่อรองทางการเมือง "ลาดชันต่ำ" ต่างหาก



.