http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-26

ข้อเสนออำนาจพิเศษ, รัฐตำรวจ.., 2 เหตุการณ์เดือนตุลาฯ, ฮีโร่ฮิตเลอร์.. โดย วงค์ ตาวัน

.

ข้อเสนออำนาจพิเศษ
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 98


ใครจะนึกว่า มหันตภัยน้ำท่วมในไทยจะหนักหนาสาหัสขนาดนี้ ระบายน้ำจากเหนือลงทะเลเสร็จ นึกว่าจะโล่งอกสบายใจ ที่ไหนได้ยังมีน้ำทุ่ง ซึ่งมากมายมหาศาลไหลบ่ามาถล่มซ้ำเข้าให้อีก จนจมพินาศไปหลายจังหวัดรอบๆ เมืองกรุง ต้องทุ่มโถมกันปกป้องเมืองหลวงสุดขีดสุดชีวิต

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นาน ไม่ทันได้โชว์นโยบายอะไรสักเท่าไร

ต้องย้ายที่ทำงานจากทำเนียบรัฐบาล มาปักหลักอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศปภ. ที่สนามบินดอนเมืองแทน

แก้แต่เรื่องน้ำอย่างเดียวนับเดือน

แน่นอนว่า ปฏิบัติการของรัฐบาล ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้เพียงพอ เพราะไม่อาจป้องกันพื้นที่สำคัญๆ ได้สักเท่าไร

เดี๋ยวก็แตก เดี๋ยวก็แตก !?!

แต่สิ่งที่รัฐบาลได้คะแนน เป็นเรื่องของการทุ่มเท

นายกฯ หญิง บุกตะลุยไปหลายๆ พื้นที่ ต่างจากนายกฯ ชายบางคนที่ขาไม่กล้าแตะน้ำ อย่างเห็นได้ชัด

สำคัญสุดคือ ความสามารถในการดึงกองทัพทั้งกองทัพให้มาร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐบาลในการสู้วิกฤตน้ำอย่างเต็มกำลังความสามารถได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ผู้ดุดันห้าวหาญ และมีเรื่องราวที่ไม่ค่อยลงตัวกับรัฐบาลนี้มากมาย

กลับมายืนเคียงข้างนายกฯ หญิง ทั้งบนรถยีเอ็มซี ทั้งบนเฮลิคอปเตอร์ ร่วมกันตรวจสถานการณ์น้ำไปทั่วทุกพื้นที่

ได้เห็นผู้บัญชาการกองทัพไทย ระดมทั้งทัพเรือ ทัพฟ้า เข้าสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มกำลัง

นอกเหนือไปจากหน่วยตำรวจ ไปจนถึงทุกส่วนราชการของมหาดไทย ที่รับศึกหนักอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่แล้ว

นี่จะเป็นจุดเสริมภาพความเป็นผู้นำของนายกฯ หญิงมือใหม่ได้เป็นอย่างดี!


ที่น่าสนใจก็คือ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพลพรรค ได้ชูข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาประกาศใช้

โดยระบุว่า นี่เป็นสงครามน้ำสงครามธรรมชาติ

จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.นี้เข้าต่อสู้

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปฏิเสธการใช้ พ.ร.ก. นี้อย่างทันควัน และปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายรอบ

เพราะระหว่างการได้รับความร่วมมือด้วย "ใจ" โดยทุกฝ่ายร่วมกันทุ่มเททำงานตามภาระหน้าที่ที่มีอยู่

ต่างอย่างสิ้นเชิง กับการใช้อำนาจพิเศษไปบังคับให้เข้ามาทำ

ไม่เท่านั้น การร่วมมือร่วมใจ ยังรวมไปถึงภาคเอกชน ประชาชนทุกพื้นที่ ซึ่งเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล แล้วร่วมกันกู้วิกฤตครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถ

ย่อมดีกว่าการใช้กฎหมายไปกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลในภารกิจนี้

นี่จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยืนกรานไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอันขาด!

มีเสียงวิจารณ์ทันที หลังประชาธิปัตย์เรียกร้องให้รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้กับน้ำ โดยมองกันว่า ประชาธิปัตย์นั้นชาชินและชื่นชอบกับการใช้กฎหมายพิเศษนี้ ก็เคยคิดขึ้นมาในทันทีโดยอัตโนมัติ

พูดง่ายๆ ว่า เอะอะก็ใช้อำนาจพิเศษ พอเห็นเรื่องใหญ่ๆ ปุ๊บก็นึกถึงปั๊บ

เสพติดกับอำนาจพิเศษ จนอยู่ในความรู้สึกนึกคิดไปแล้ว


แต่บางเสียงก็วิจารณ์ว่า นี่คือ การขุดบ่อล่อเพื่อไทย

ประการแรก ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นชอบกับ พ.ร.ก. นี้ ก็จะทำให้เกิดภาพไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ใช้อำนาจพิเศษอยู่บ่อยๆ

ยิ่งระยะนี้ คดี 91 ศพ อันเนื่องจากการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลประชาธิปัตย์ กำลังเริ่มรื้อฟื้นเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง

จะทำให้ภาพของรัฐบาลทั้งสองดูไม่แตกต่างกัน

ประการต่อมา ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะถูกตีความได้ว่า ที่ทหารยอมยกทัพออกมาช่วย ก็เพราะถูกใช้อำนาจบังคับ

โดยเจตนาน่าจะมุ่งเจาะไปที่ปมความสัมพันธ์อันไม่ราบรื่น

เนื่องจากระยะนี้ พลพรรคเพื่อไทยกำลังเคลื่อนไหวการแก้ไข พ.ร.บ.สภากลาโหม เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกองทัพได้

แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมเสี่ยงกับการมีภาพเป็นพรรคที่ยึดติดกับทหาร!?

ด้วยการออกโรงค้านการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม อย่างสุดจิตสุดใจ โจมตีพรรคเพื่อไทยว่าต้องการขยายอำนาจเข้าแทรกแซงทหาร ต้องการฟื้นระบอบทักษิณที่กุมทุกอย่างไว้ในมือ โดยพร้อมๆ กันน่าจะหวังให้ช่องว่างระหว่างกองทัพกับรัฐบาลนี้ ยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก

ทั้งที่โดยจุดยืนของนักประชาธิปไตย จุดยืนของนักการเมืองที่มีจิตใจประชาธิปัตย์ มีแต่ต้องสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดูแลบริหารราชการได้ทุกองค์กร

ดังนั้น ข้อเสนอ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงมองกันว่า น่าจะมุ่งเจาะทะลวงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับกองทัพอย่างแน่นอน

แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็สามารถบังคับบัญชาทุกหน่วยราชการ เพื่อเข้าร่วมในภารกิจเพื่อกอบกู้ประเทศชาติและประชาชนให้พ้นจากหายนะครั้งใหญ่หลวง

แน่นอนว่า ทุกหน่วยราชการ โดยเฉพาะกองทัพ ย่อมยึดมั่นในหลักการทำงานเพื่อประเทศเป็นสำคัญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลนั้นๆ ก็ตามที

แต่ภาพที่ออกมา โดยการยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันระหว่างนายกฯ หญิงกับ ผบ.ทบ. ช่วยให้ภาพความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ มลายหายไปได้

ยิ่งส่งเสริมให้ภาพรัฐบาลดูมั่นคงขึ้น

ส่งเสริมให้ความเป็นผู้นำหญิงที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมพร้อมๆ กับความเข้มแข็ง ดูโดดเด่นขึ้น

เพราะสามารถบังคับบัญชากำลังทุกส่วนในวิกฤตใหญ่ได้!

แล้วถ้ายังผนึกแน่นต่อไป หลังแก้ไขสถานการณ์น้ำจนเหือดหายไปได้ ก็ยังต้องมีเรื่องการฟื้นฟู เยียวยาตามมาอีกมากมาย

ยังจะต้องกอดคอกันทำงานหนักต่อไปอีก


แม้รัฐบาลจะอ่อนด้อยประสบการณ์ในการสู้มหันตภัยน้ำ ดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพดีพอด้วยซ้ำ

แต่เพราะปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงทำให้หลายฝ่ายไม่ได้โทษความสามารถของรัฐบาล แต่กลับมองว่าต่อให้มี 10 รัฐบาลก็แก้ไม่ได้

อีกทั้งภาพความทุ่มเทจริงจัง

ภาพความสามารถในฐานะผู้นำ โดยมีทหารตำรวจมหาดไทยร่วมเคียงข้าง

วิกฤตนี้อาจจะกลายเป็นโอกาสที่ดีของนายกฯ หญิง!



++

รัฐตำรวจกับรัฐประหาร
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 98


ประเทศไทยคงจมกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ไปอีกหลายสัปดาห์ กว่าน้ำจะเริ่มลด แล้วเข้าสู่ช่วงการเก็บกวาดซ่อมแซมฟื้นฟูเยียวยา เพราะปริมาณน้ำในปีนี้มากมายมหาศาลจริงๆ หนักหนาที่สุดในรอบ 50 ปี ระหว่างนี้รัฐบาล ไปจนถึงทุกหน่วยราชการ คงทุ่มโถมสรรพกำลังทั้งหมด ลงไปซับน้ำตาประชาชน

สัปดาห์นี้ เป็นช่วงวันตำรวจแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม แล้วอันที่จริงยังมีวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่ยกระดับจากกรมตำรวจ ซึ่งตรงกับ 17 ตุลาคมอีก

แต่ก็ยังยึดถือเอาวัน 13 ตุลาคมเป็นหลัก

ปีนี้ มีเพียงแค่พิธีทำบุญและการจัดสวนสนามตามธรรมเนียม แต่งดงานเลี้ยงรื่นเริงทั้งหมด

เพราะเป็นช่วงที่คนทั้งประเทศยังทุกข์ระทม และตำรวจส่วนใหญ่ก็อยู่ในภารกิจช่วยเหลือประชาชน

ในภารกิจสู้มหันตภัยร้ายแรงครั้งนี้ พบว่าทั้งอดีตนายตำรวจและตำรวจในราชการปัจจุบัน เข้าร่วมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.

แน่นอนว่า พล.ต.อ.ประชาเข้ามารับภารกิจใหญ่ ในการต่อสู้กับอุทกภัย ย่อมไม่ใช่ฐานะเจ้ากระทรวงยุติธรรม

แต่เพราะประสบการณ์ในฐานะอดีต อ.ตร. และอดีต ผบ.ตร. นั่นเอง!

งานผู้นำตำรวจ จะต้องบังคับบัญชาหน่วยตำรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศ พะบู๊กับโจรผู้ร้ายเจ้าพ่อมาเฟีย ต้องเชี่ยวชาญการสืบสวนหาข่าว ต้องตัดสินใจในปฏิบัติการใหญ่ๆ

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ พล.ต.อ.ประชาต้องมารับหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปภ.

ควบคุมทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมในภารกิจนี้ ต้องกล้าตัดสินใจ ดึงน้ำดันน้ำไปในทิศทางไหน ใช้กำลังพลทั้งทหารและตำรวจ บุกเข้า
ทุกพื้นที่มีกลายเป็นท้องทะเลไปหมด



ก่อนหน้านี้ตอนเปิดโฉมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีนักวิเคราะห์หยิบเอาประเด็นที่ว่า ครม. ชุดนี้มีอดีตนายตำรวจเข้ามานั่งอยู่มากหน้าหลายนาย

แล้วรวบรัดว่า นี่คือการรื้อฟื้นรัฐตำรวจ

เพราะอดีตนายกฯ ทักษิณที่ชักใยรัฐบาลนี้อยู่ก็ตำรวจเก่า

เลยระดมตำรวจเข้ามาในรัฐบาลมากมาย นอกจาก พล.ต.อ.ประชาแล้ว ยังมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

พร้อมๆ กับการเข้าไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยราชการระดับอธิบดีต่างๆ ซึ่งมียศตำรวจนำหน้าอีกหลายราย

นี่จึงนำมาสู่บทสรุปของนักวิเคราะห์บางสำนักที่ว่า รัฐตำรวจกำลังคืนชีพ!?!

อันที่จริงประเทศไทยในยุค 20-30 ปีมานี้ ไม่เคยมีสภาพเป็นรัฐตำรวจ

ภาพพจน์ของตำรวจไทยนั้น ออกไปทางลู่ตามลมเสียมากกว่า

ไม่ได้มีลักษณะกล้าได้กล้าเสียในเรื่องอำนาจทางการเมือง

ดูง่ายๆ ในการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่เคยมีตำรวจเข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญ ไม่เคยมีตำรวจเข้าไปเป็นผู้นำคณะปฏิวัติ ถ้ามีก็แค่เขาเชิญให้มานั่งเพื่อดูครบถ้วนพร้อมหน้าหลังจากลากรถถังออกมายึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว

หรือถ้าเชิญให้ไปร่วม ผู้นำตำรวจก็มักไปถึงเป็นคนสุดท้ายทุกครั้ง เพราะต้องกลั่นกรองตรวจทิศทางลมก่อนว่า คณะนี้เขาชนะแน่นอนแล้วหรือยัง!

เวลาประชาชนชุมนุมประท้วงทางการเมือง พอถึงบทที่จะฆ่าแกงกัน ตำรวจก็จะเริ่มอิดออดเฉไฉ แล้วผู้มีอำนาจก็จะต้องสั่งถอนกำลัง

ตำรวจเปลี่ยนเป็นทหารเข้าไปแทน แล้วนั่นแหละจึงเริ่มนองเลือดจริงๆ

คำว่ารัฐตำรวจ จึงแทบจะนำมาใช้ในบ้านเมืองเราช่วงหลังๆ นี้ไม่ได้เลย ถ้ายุคสมัยอัศวินเผ่า อัศวินแหวนเพชร อะไรแบบนั้นว่าไปอย่าง

แต่กลไกตำรวจ อาจจะสามารถนำมาใช้สนองนโยบายรัฐบาลได้เป็นเรื่องๆ ซึ่งใช้แล้วถูกบ้างผิดบ้างตามแต่ภารกิจ

อย่างสมัยทักษิณเป็นนายกฯ ใช้อำนาจตำรวจลงไปจัดการปัญหา 3 จังหวัดใต้ ส่งผลให้ผิดพลาด ไฟลุกโชน

แต่ก็มีการใช้กลไกตำรวจ ที่เกือบจะเรียกได้ว่าได้ผลดี ในภารกิจสงครามยาเสพติด คือ สืบจับอย่างจริงจัง จนยาแทบหดหายไปหมดตลาดประเทศไทย แต่เกิดรอยด่างตรงที่ มีเหตุฆ่าตัดตอนมากเกินไป

ถ้าย้อนไปในยุครัฐบาลที่แล้ว เราจะพบว่า มีการใช้กลไกตำรวจในภารกิจลับทางการเมืองอยู่เช่นกัน

และตอกำลังผุดเมื่อน้ำลด!!



เมื่อเปลี่ยนอำนาจเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีการรื้อฟื้นคดีลอบฆ่าแกนนำเสื้อแดงในหลายต่อหลายคดีในช่วงหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553

คดีแรกคือสังหาร อ้วน บัวใหญ่ เสื้อแดงโคราช

เป็นที่รู้กันตั้งแต่หลังเกิดเหตุแล้วว่า เป็นฝีมือของตำรวจที่รับใช้อำนาจการเมืองในยุคนั้น

แต่คดีก็เงียบหาย จนกระทั่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ตำรวจภูธร 3 ที่เกิดเหตุฆ่าแกนนำเสื้อแดงโคราช ได้เข้าตรวจสอบคดีอย่างจริงจัง

จนกระทั่งมีตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยตัดสินใจเข้ามอบตัวสู้คดี ขณะเดียวกันนายตำรวจระดับสูงบางคนก็ถูกย้าย

มีคดีสังหาร แดง คชสาร ซึ่งเป็นเสื้อแดงเชียงใหม่ ก็เป็นอีกคดีที่ตำรวจในพื้นที่ภูธรภาค 5 เริ่มพลิกท่าที เตรียมจับกุมผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็คือตำรวจในกลุ่มของ พล.ต.ต. ชื่อดังรายหนึ่ง ซึ่งเป็นนายตำรวจที่เป็นมือไม้ของนักการเมืองใหญ่

คาดว่า พล.ต.ต. ตัวการที่รับใช้การเมืองในยุคที่แล้ว ก็คงจะต้องโดนลงโทษแน่นอน

เหล่านี้คือการใช้กลไกตำรวจในภารกิจลับเพื่อรับใช้อำนาจการเมืองในยุคที่แล้ว แต่ครั้นจะมองภาพว่าเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นเป็นรัฐตำรวจ คงเป็นไปไม่ได้

อีกทั้งเมื่อเทียบกันแล้ว กับการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อตรวจสอบอำนาจทหารในขณะนี้

ตรวจสอบอำนาจทหาร สกัดกั้นการรัฐประหาร น่าลงมือเสียยิ่งกว่าไปกังวลรัฐตำรวจ!


การเคลื่อนไหวของอาจารย์คณะนิติราษฎร์ ซึ่งชูประเด็นยิ่งใหญ่ คือ ลบล้างผลการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะและลงโทษกับคณะผู้ก่อการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นจุดยืนที่น่าสนใจ จนข้อกล่าวหาว่านิติราษฎร์ทำเพื่อทักษิณไร้สาระไปอย่างสิ้นเชิง

ไปจนถึงการเคลื่อนไหวในการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้ ซึ่งน่าชื่นชมว่า เป็นการผลักดันให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถเข้าไปตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกองทัพได้

การทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งสามารถแตะต้องกองทัพได้ ไม่ควรต่อต้าน

ต่อต้านแบบที่พรรคการเมือง กลุ่ม ส.ว. นักวิชาการ ที่ได้ดีจากการปฏิวัติ กำลังเปิดเผยธาตุแท้ตัวเองอยู่

รัฐตำรวจไม่มีแล้วในยุคนี้

และไม่น่ากลัวเท่ารัฐทหาร รัฐประหาร อย่างแน่นอน



++

2 เหตุการณ์เดือนตุลาฯ
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 98


เดือนนี้ เป็นเดือนแห่งการรำลึกวีรชนเดือนตุลาฯ หมายถึงนักเรียนนักศึกษาประชาชนที่เสียสละชีวิตเพื่อต่อต้านเผด็จการ เรียกหาประชาธิปไตย ใน 2 เหตุการณ์สำคัญ

เคยมีคนสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นองเลือดของนักศึกษาประชาชนไทยถึง 2 เหตุการณ์ จึงมาเกิดขึ้นในเดือนเดียวกัน นั่นคือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงเวลาที่ห่างกัน 3 ปี

แต่นั่นก็ทำให้เกิดคำว่า คนเดือนตุลาฯ ขึ้นมาในแวดวงนักเคลื่อนไหวทางสังคม

เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคมกับ 6 ตุลาคม มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นขบวนเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการต่อสู้ของประชาชนเดือนตุลาฯ พูดถึงวีรชนเดือนตุลาฯ ย่อมหมายถึง 2 เหตุการณ์นี้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

14 ตุลาคมปี 2516 เป็นวันที่นักศึกษาประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ฝ่ายรัฐไม่ยอมฟัง ส่งทหารเข้าปราบปรามประชาชนจนเลือดนองท้องถนน สุดท้ายรัฐบาลถนอม-ประภาส ต้องหลบหนีออกไปต่างประเทศ

เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาไทย ก้าวพ้นจากอำนาจรัฐบาลทหาร เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบหรือจะครึ่งใบก็ตามแต่จะเรียก!

ขณะเดียวกัน ได้นำมาสู่ความเข้มแข็งของขบวนการนักศึกษาประชาชน ซึ่งมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรนำ

กลายเป็นขบวนการที่มีบทบาทต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับกรรมกร ชาวนาชาวไร่ ต่อสู้ทุกปัญหาของประชาชน ทั้งข้าวยากหมากแพง ไปจนถึงเรื่องเสรีภาพประชาธิปไตย และก้าวไปไกลถึงระดับเอกราชอธิปไตยของชาติ นั่นคือ ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ไปจนถึงขับไล่ฐานทัพอเมริกาออกไปพ้นจากเมืองไทยได้สำเร็จ


การเติบโตของขบวนการนี้ นำมาซึ่งความไม่สบายอกไม่สบายใจอย่างยิ่งของกลุ่มอำนาจเก่า

แล้วก็ใช้ข้อกล่าวหาเป็นพวกคอมมิวนิสต์มาป้ายสี

โดยเฉพาะการขับไล่ฐานทัพอเมริกันออกไป ถึงกับโดนข้อหารับแผนญวน รับแผนคอมมิวนิสต์อินโดจีน

เนื่องจากในช่วงระยะนั้น สงครามระหว่างสหรัฐซึ่งหนุนหลังรัฐบาลในเวียดนาม ลาว เขมร กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ใน 3 ประเทศดังกล่าว กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

ทหารอเมริกันตั้งฐานทัพกว่า 10 แห่งอยู่เต็มประเทศไทย ใช้บ้านเราเป็นฐานนำฝูงบินเข้าไปถล่มสร้างความพินาศย่อยยับในดินแดนอินโดจีน

มองในแง่ขบวนการนักศึกษาประชาชนไทย เห็นว่า ไทยไม่ควรทำตัวเป็นลูกไล่ของสหรัฐ ในสงครามที่มหาอำนาจวางตัวเป็นพี่เบิ้มเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของทั้ง 3 ประเทศอินโดจีน ทั้งต้องสูญเสียอธิปไตยปล่อยให้ใช้เป็นแหล่งตั้งฐานกำลังราวกับไทยเป็นเพียงเมืองขึ้น

จึงลุกขึ้นขับไล่ฐานทัพออกไป

ฝ่ายอเมริกันและพวกอำนาจเก่า ย่อมมองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการ 14 ตุลาฯ เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน แถมกลัวว่าถ้าสหรัฐแพ้ในสงครามนี้ จะทำให้ไทยต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ตามทฤษฎีโดมิโน



คงคล้ายกับเหตุการณ์ในวันนี้ ที่อาจารย์คณะนิติราษฎร์ต่อต้านผลพวงปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 แล้วพวกหัวเก่าก็โจมตีว่า เป็นผลประโยชน์ที่เอื้ออำนวยให้ทักษิณ

ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร กลับกลายเป็นข้อหาทำเพื่อทักษิณ!!

นักศึกษาประชาชนหลัง 14 ตุลาฯ ขับไล่ฐานทัพอเมริกันเพื่ออธิปไตยของชาติ ไม่ปล่อยให้มหาอำนาจใช้บ้านเราไปแทรกแซงกิจการภายในชาติอื่น ก็กลายเป็นทำเพื่อคอมมิวนิสต์ญวน เขมร

ถ้าทำเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ แล้วถูกขยายโยงไปโจมตีว่าเป็นประโยชน์เข้าทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ก็ปล่อยให้โจมตีไปเถอะ!

เหตุการณ์ขับไล่ฐานทัพสหรัฐ ซึ่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เคลื่อนไหวหนักในช่วงปี 2517 และประสบความสำเร็จในปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐพ่ายแพ้สงครามในอินโดจีนอย่างราบคาบพอดี

ยิ่งนักศึกษาประชาชนเติบใหญ่ ฝ่ายอำนาจเก่ายิ่งผวา


สุดท้าย จึงต้องเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ 3 ปีหลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารพ่ายแพ้พลังประชาชน

หวังกวาดล้างขบวนการนักศึกษาให้หมดสิ้น!

มีการเตรียมแผนเป็นขั้นเป็นตอน ให้จอมพลถนอมบวชเณรกลับเข้ามา เพื่อให้นักศึกษาชุมนุมต่อต้าน สุดท้ายจึงเกิดการบิดเบือนภาพถ่ายการแสดงละครของนักศึกษา กลายเป็นกรณีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ปลุกมวลชนฝ่ายขวาเข้าล้อมธรรมศาสตร์และปราบปราม

มีการสังหารหมู่เกือบ 50 ศพ จับกุมไปอีกหลายพันคน

ลงเอยก็เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเย็นวันนั้น โดยคณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดกำเนิดของขบวนการนักศึกษาประชาชน และ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นวันกวาดล้างปราบปรามหวังให้หมดสิ้นไป

ส่งผลให้นักศึกษาประชาชนอีกหลายพันคนหลบหนีเข้าป่า

จากที่โดนกล่าวหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ รับแผนคอมมิวนิสต์ เลยต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ

ยิ่งทำให้พรรคอมมิวนิสต์เติบโต สงครามลุกลามไปทั่ว โชคดีที่ปี 2523 เกิดความระส่ำระสายในด้านแนวทางคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลกับกองทัพในขณะนั้นใช้สมองมากกว่ากำลัง เลยงัดแนวทางการเมืองนำการทหารออกมาใช้

สงครามในป่าเลยสงบ



แต่ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคมปี 2516 จนถึง 2519 ไม่เคยมีการบันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เพราะเป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่กลุ่มหัวเก่าในสังคมไทยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก

กระนั้นก็ตาม การลุกขึ้นสู้ของประชาชนขับไล่รัฐบาลทหารก็มาเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปี 2535 ซ้ำรอยกับ 14 ตุลาคม 2516

เพราะฝ่ายรัฐก็ส่งทหารออกมาสาดกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมจนล้มตายไปเกือบ 50 ศพ

แล้วสุดท้าย รัฐบาลทหารก็ต้องพ่ายแพ้ยอมลาออก


จากนั้นมาประวัติศาสตร์การส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธใช้กระสุนจริงปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมทางการเมืองก็มาเกิดขึ้นอีกในปี 2553

หนักกว่าทุกเหตุการณ์คือตายถึง 91 ศพ

เป็นยุครัฐบาลพลเรือนแท้ๆ แต่จัดหนักยิ่งกว่ารัฐบาลทหารของจอมพลถนอมและรัฐบาลทหาร รสช. เสียอีก!

แม้ว่าขบวนการเสื้อแดงจะมีเบื้องหลังซับซ้อน เชื่อมโยงถึงทักษิณ ไม่บริสุทธิ์เหมือนนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม - 6 ตุลาคม

แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ สมัย 14 ตุลาฯ 2516 อ้างเรื่องคอมมิวนิสต์ เข้าปราบปรามจนนองเลือด

ต่อมา 6 ตุลาฯ 2519 ก็อ้างหมิ่นสถาบันชั้นสูงและเป็นกบฏคอมมิวนิสต์ สะสมอาวุธในธรรมศาสตร์เข้าปราบปรามนองเลือดอีกเช่นกัน

พอมาถึงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็อ้างมีผู้ก่อการร้ายและมีเบื้องหลังล้มเจ้า มีระบอบทักษิณชักใย แล้วก็ยิงกันแหลก

แม้ว่าม็อบเสื้อแดงจะไม่ใช่ขบวนการประชาชนแท้ๆ มีความคลั่งไคล้ทักษิณ แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อเรียกร้องในการชุมนุมคือให้ยุบสภา ซึ่งอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย ที่รัฐบาลสามารถกระทำได้เพื่อลดความขัดแย้งจนนองเลือด

ถึงจะถูกมองว่าเป็นม็อบไม่บริสุทธิ์ แต่เรียกร้องในกติกาประชาธิปไตย

เช่นนี้แล้ว สามารถฆ่าให้ตายเกือบร้อยศพได้อย่างถูกต้องชอบธรรมหรือ!?

จึงช่วยไม่ได้ที่วาระรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาคม คือ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ

จะเชื่อมโยงมาสู่ข้อเรียกร้องทวงหนี้เลือดหนี้ชีวิตให้กับ 91 ศพในเดือนพฤษภาฯ 2553



++

ฮีโร่ฮิตเลอร์ในสังคมไทย
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 98


เหตุการณ์เด็กนักเรียนไทยในโรงเรียนที่เชียงใหม่ จัดขบวนพาเหรดกีฬาสี ด้วยการแต่งชุดเลียนแบบฮิตเลอร์ นาซี พร้อมธงทิวสัญลักษณ์สวัสดิกะ ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ในต่างประเทศ ทำให้ชาวโลกตกตะลึง นึกไม่ถึงว่าประเทศไทยจะขาดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติกันได้ขนาดนี้

เพราะฮิตเลอร์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นประวัติศาสตร์เลือดของโลกที่ต้องจดจำเรียนรู้เพื่ออย่าได้หวนกลับมาอีก

มีภาพยนตร์กี่เรื่องต่อกี่เรื่องที่บอกเล่าความเลวร้ายในเหตุการณ์ดังกล่าว

มีสารคดีกี่เรื่องต่อกี่เรื่องฉายไปทั่วจอโทรทัศน์และเคเบิ้ลต่างๆ

น่าแปลกที่เด็กนักเรียนไทยกลับไม่เข้าใจ อาจจะมองเป็นเรื่องความเท่ ความตลกขบขัน บางทีอาจมองฮิตเลอร์เป็นเสมือนบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกในเชิงวีรบุรุษก็เป็นได้

อาจไม่แค่เด็กในโรงรียนที่เกิดเหตุการณ์นี้เท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะสังคมไทยเรา มักไม่ค่อยเน้นย้ำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง แต่มักจะสอนประวัติศาสตร์ในเชิงฮีโร่ ประวัติศาสตร์คลั่งชาติมากกว่า

อย่าว่าแต่ประวัติศาสตร์การเข่นฆ่ามนุษย์ในระดับโลกเลย

ขนาดประวัติศาสตร์การเข่นฆ่าประชาชนในบ้านเราก็ปกปิด!?!


นี่กำลังเข้าสู่เดือนตุลาคมพอดี

จนป่านนี้ยังไม่เคยมีการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน ที่ยอมเสียเลือดเนื้อชีวิตเพื่อโค่นล้มเผด็จการทหาร นำสังคมไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ไม่เคยมีการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นปกครองวางแผนกวาดล้างขบวนการประชาธิปไตย ด้วยการล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

อันเป็นการใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยม จนผลักให้สังคมไทยก้าวสู่สงครามการเมือง เมื่อนักศึกษาประชาชนหนีกันเข้าป่าไปจับปืนร่วมสงครามประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์

จนกระทั่งในปี 2524 จึงแก้ไขดับไฟสงครามได้ด้วยแนวทางเปิดกว้างนอกกรอบคร่ำครึ การเมืองนำการทหาร



ประวัติศาสตร์เลือดเดือนตุลาฯ ทั้งสองเหตุการณ์ ไม่มีการบันทึกศึกษากันเลย

รวมทั้งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนโค่นล้มรัฐบาลทหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ไม่ต่างกับประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม

นั่นเป็นเพราะชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมืองด้วยกัน มักจะพยายามหลบเลี่ยงการเชิดชูวีรชนของประชาชนจากทั้ง 3 เหตุการณ์นี้

ชนชั้นปกครองไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ย่อมไม่อยากให้วีรชนตุลาคมและวีรชนพฤษภาคม กลายเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังกล้าลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ

จึงไม่เคยมีบันทึกเรียบเรียงเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้อ่านได้เรียนรู้

ไม่เคยมีอนุสาวรีย์ของวีรชนประชาชน

อนุสรณ์สถานวีรชน 14 ตุลาฯ ที่แยกคอกวัว กว่าจะสร้างได้ก็ด้วยการผลักดันของคนที่เกี่ยวข้องกับเดือนตุลาคมอย่างยาวนาน

เพราะไม่เรียนรู้ ไม่ให้เด็กๆ รุ่นหลังได้เข้าใจว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ว่าจะหน้าตาแบบไหน จะเหี้ยมเกรียมเช่นคนผ่านศึกสงคราม หรือจะหล่อเหลาเป็นพลเรือนความรู้สูงพูดเก่ง

หากใช้อำนาจรัฐผิดๆ เข่นฆ่าประชาชนที่ต่อสู้ทางการเมืองจะต้องถูกประณามต่อต้านและนำตัวมาลงโทษ!


เพราะไม่ได้เรียนรู้กันเช่นนี้

นับจากอำนาจรัฐฆ่าประชาชนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2535 ผ่านไปอีกแค่ 18 ปี ก็ยังเกิดเหตุการณ์นองเลือดกลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ขึ้นอีกจนได้ ตายไป 91 ศพ

ถ้าเด็กนักเรียนไทยและคนไทยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม ปี 16 และปี 19 ประวัติศาสตร์พฤษภาคม 2535 อย่างซาบซึ้ง

เหตุการณ์ 91 ศพปี 2553 จะต้องไม่เกิด

หรือเมื่อเกิดแล้วจะต้องลุกฮือกันขึ้นทวงหนี้เลือดหนี้ชีวิตให้คนตายยิ่งกว่านี้

แล้วถ้าเด็กไทยได้รับการเน้นย้ำถึงความเลวร้ายแห่งประวัติศาสตร์ผู้นำการเมืองฆ่าประชาชนในบ้านเรา

เด็กไทยก็จะเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ยุคฮิตเลอร์เป็นอย่างดี

จะไม่มาแต่งแฟนซีดูเท่ดูเก๋จัดขบวนพาเหรด จนทำให้ต่างชาติต่อพากันประท้วงอยู่ในขณะนี้


แต่จะว่าไปแล้ว เฉพาะเหตุการณ์ 91 ศพเมื่อปีที่แล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คนไทยเรียนรู้หรือเข้าใจกันในวงกว้าง บางส่วนยังหลงเชื่อคำโฆษณาชุดดำก่อการร้าย แต่อย่างน้อยญาติพี่น้องของคนไทย ขบวนการคนเสื้อแดงที่เป็นผู้สูญเสีย ก็สามารถผนึกกำลังกันเป็นพลังในการเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยที่เทคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศแทนประชาธิปัตย์

เพื่อให้รัฐบาลใหม่มากวาดล้างเหล่าคนที่เกี่ยวข้องกับความตายของ 91 ศพ ไปจนถึงสอบสวนดำเนินคดีเพื่อเอาผิดคนสั่งการที่นำมาสู่ความรุนแรงทั้งหมด

ซึ่งบัดนี้คดีเริ่มคืบหน้า เริ่มจาก 13 ศพที่มีพยานหลักฐานชี้ว่าน่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันจะนำไปสู่การไต่สวนในชั้นศาล เพื่อพิสูจน์หาคนสั่งการเป็นทอดๆ ไปจนถึงยอดบนสุด

แล้วเอาคนนั้นแหละมาดำเนินคดี !



คดีต้องไปสะสางกันในกระบวนการยุติธรรม เอาให้ชัดว่า ที่รัฐบาล และ ศอฉ. อ้างว่าชุดดำฆ่านั้น มันเป็นเรื่องจริงหรือแค่เอาคลิปแวบเดียวมาขยายความ เพื่อปกปิดความผิดพลาดของรัฐบาล

เอาให้ชัดว่าคนตายกว่า 80 ศพที่เป็นฝ่ายม็อบนั้น ถูกฆ่าโดยคนชุดดำหรือคนชุดเขียว ที่มีนักการเมืองใหญ่ใน ศอฉ. เป็นผู้ออกคำสั่ง

เพราะอันที่จริงเราสามารถตรวจสอบได้ชัดเจนในวันนี้แล้วว่า คนตายแทบทั้งหมดมีเพียงหนังสติ๊ก บั้งไฟ ขวดน้ำมันในมือ ไม่มีชายชุดดำ ไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่รายเดียวในกว่า 80 ศพ

จากคดี 13 ศพแรก จะปูทางไปสู่การสะสางคดีที่เหลือจนครบ 91 ศพ

เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สั่งสอนให้ผู้ปกครองบ้านเมืองรุ่นต่อๆ ไปได้ยับยั้งชั่งใจ

หากสั่งการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม จนมีประชาชนล้มตาย จะต้องรับผิดชอบ

ถ้าไม่รับผิดทางการเมือง ก็ต้องมารับผิดชอบทางคดีความ


ในประวัติศาสตร์โลกเด็กไทยจะได้ไม่หลงใหลฮิตเลอร์คิดว่าเป็นฮีโร่ติดหนวดตลกๆ ในประวัติศาสตร์ไทยก็ต้องไม่ปลาบปลื้มกับคนหน้าตาดี ท่ามกลางประชาชนที่ล้มตาย 91 ศพ

หรือถ้าวันหนึ่งมีนักวิชาการคณะราษฎร์ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยการผลักดันให้ลบล้างกฎหมายที่เป็นผลพวงจาก 19 กันยายน 2549

สังคมไทยก็จะต้องตระหนักว่า จุดยืนต่อต้านการปฏิวัตินั้น

เป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องที่นักประชาธิปไตยต้องช่วยกันทำให้เป็นจริง

เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวงจรอำนาจนอกระบบเสียที

ไม่ใช่ไปเชื่ออีกฝ่ายที่ทั้งชีวิตตั้งแต่ตื่นยันนอนได้ยินชื่อทักษิณเป็นขนลุกตาเหลือก

ถ้าแยกไม่ออกระหว่างแนวคิดไม่เอาปฏิวัติกับแนวคิดยอมสยบการปฏิวัติ

ก็จะเหมือนเด็กนักเรียนแต่งแฟนซีฮิตเลอร์อย่างสนุกสนานนั่นเอง!



.