http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-06

ย้อนรอย '6ตุลา19' ถึง 'เมษา-พฤษภา53', "ศิษย์เก่ามธ."นัดประท้วง "สมคิด"..แถลงการณ์นักวิชาการ หนุนนิติราษฎร์

.

ย้อนรอย '6ตุลา19' ถึง 'เมษา-พฤษภา53' "จากพ่อจารุพงษ์ถึงแม่น้องเกด" ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:00:17 น.


5 ต.ค.- เมื่อเวลา 16.30 น. ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการเสวนา "จากพ่อจารุพงษ์ ถึง แม่น้องเกด" โดยมีนายจินดา ทองสินธุ์ บิดาของนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาพูดคุยแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน พร้อมด้วยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ช่วยพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 โดยมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา



นายสมบัติกล่าวเริ่มต้นว่าการจัดเสวนาในวันนี้เป็นการเชื่อมโยงเอาสองเหตุการณ์ที่บางคนคิดว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันซึ่งก็คือเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้ามืดวันที่6ต.ค.2519กับเหตุการณ์เมษา-พฤษภาปี53แต่ตนและคณะผู้จัดงานมีความมั่นใจว่า แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะเป็นคนละเหตุการณ์กัน แต่ก็มีรากฐาน มีเรื่องราว มีพฤติกรรมของการกระทำเหมือนกัน นั่นก็คือการเอาประชาชนเป็นเครื่องสังเวยเพื่อรักษาอำนาจ


นายสมบัติ:อยากให้ช่วยเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้นเมื่อ35ปีที่แล้วแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อคุณและครอบครัวอย่างไร

นายจินดา:รัฐบาลในขณะนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารช่วงหลังเหตุการณ์14ตุลาได้ผ่านไปแล้วผมยังดีใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงได้ผ่านพ้นไปแล้วฝ่ายรัฐบาลก็ยอมลงจากอำนาจ มีการเลือกตั้งใหม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นมาอีก

"วันที่ 7 (ต.ค. 2519) เข้ามาดูให้เห็นกับตา พอเห็นแล้วมันน่ากลัว ผมมาเห็นสนามหลวงวันนั้นยังกรุ่นไปด้วยควันไฟอยู่ มีกลิ่นยางไหม้ กลิ่นคนถูกเผา มีคำถามว่า ทำไมเหตุการณ์มันถึงเกิดซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่เอามาเป็นบทเรียน นี่เป็นเหตุการณ์ที่ตอนนี้ยังมีข้อกังขากันอยู่ แต่จะไปโทษใครได้"

"ผมอยากให้ปี 2553 ที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์มันเหมือนกัน เพียงแต่ของผมมันเนิ่นนานมาแล้ว" นายจินดากล่าว


ทางด้านนางพะเยาว์กล่าวว่า "ตัวเราเองเป็นแม่ค้า เราไม่เคยสนใจการเมือง แต่พอผลกระทบมันเกิดขึ้นกับตัว กับลูกของเรา มันเป็นจุดเปลี่ยนให้เราหันมาตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น"

"วันนั้นตอนที่โทรหาลูกเสียงแรกที่ได้ยินก่อนเสียงลูกคือเสียงปืนถามว่าลูกอยู่ไหนลูกบอกอยู่หน้าวัด เราเลยบอกให้ลูกหลบเข้าไปอยู่ในวัด(วัดปทุมวนาราม)แล้ววันนี้ยังไม่ต้องกลับ เข้าไปหลบก่อน ลูกเคยบอกเราว่าลูกเป็นอาสาพยาบาลเขาจะไม่แตะแม่ไม่ต้องห่วง ต่อมาหน่วยกู้ภัยก็โทรมาบอกว่าน้องเกดถูกยิง"

นางพะเยาว์กล่าวต่อว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันมีความคล้ายกัน คือการฆ่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตนคิดอยู่อย่าง ว่าเวลาผ่านมาประเทศล้ำสมัยมากขึ้น อะไรๆก็ทันสมัยมากขึ้น แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ยอมไปกับความทันสมัยคือระบอบเผด็จการที่ยังมีอยู่ เหมือนมันฝังรากลึก "ที่ผ่านมาเราไม่มีหรอกคำว่าประชาธิปไตย เราถูกหลอก"

"35 ปีที่แล้ว ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ประชาชนกลับได้ยศได้ตำแหน่ง คุณได้รับการนิรโทษกรรม คุณไม่ติดคุก แต่นักศึกษาติดคุก หนีเข้าป่า แต่ทหารยังอยู่ดีมีสุข เวลานี้ปี 2553 มีคนตาย เวลานี้บ้านเมืองทันสมัยขนาดไหน ระบบดาวเทียมก็มีแล้ว แกนนำเสื้อแดงก็ติดคุกไปแล้ว ประชาชนก็ติดคุกไปแล้ว แต่ทหารกับรัฐบาลซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องยังไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว"

นางพะเยาว์กล่าวว่า"เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์นั้นแม้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกันแต่คำที่ใช้กล่าวอ้างในการสังหารประชาชนก็เหมือนกัน การกระทำก็เหมือนกัน"



นายสมบัติหันไปถามนายจินดาว่า ในตอนนั้น(ปี2519)มีการใช้สื่อของรัฐบาลประโคมข่าวว่าพวกที่อยู่ในม็อบเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกล้มเจ้า ในขณะที่ตอนนี้มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเข่นฆ่าประชาชนคำถามผมก็คือว่า 35 ปีที่แล้ว รัฐทำอย่างไรถึงได้ทำให้มีมวลชนกลุ่มหนึ่งมาล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเข้าไปลาก ทำร้ายนักศึกษา ตีจนตาย เอาไปแขวนคอ เอาไปเผายาง เอารองเท้ายัดปาก ทำไมความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังนักศึกษาในสมัยนั้นถึงได้กลายเป็นการใช้อาวุธสงคราม คุณจินดาคิดว่าความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง

นายจินดาตอบว่าตนเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยังไง แต่สิ่งที่ตนรู้คือเราเป็นผู้ถูกกระทำ


นายสมบัติ:เราจะให้อภัยได้ไหม

นางพะเยาว์:การให้อภัยต้องเกิดหลังจากที่ความจริงปรากฎแล้ว


ก่อนจบการเสวนานายสมบัติได้กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้เป็นการถอดบทเรียนของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นสองเหตุการณ์ดังกล่าวมีความละม้ายคล้ายกันอย่างยิ่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากอุดมการณ์และความคิดที่ขัดแย้งกันในสังคม ผู้กระทำก็เป็นตัวละครที่คล้ายๆกัน

"ผมไม่มั่นใจว่าการให้อภัยโดยที่ให้ทุกอย่างมัน"จบๆไป"มันจะแปลว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า แล้วก็ไม่มั่นใจว่าการที่เรายืนหยัดอย่างถึงที่สุดที่จะหาความจริง อีกฝ่ายจะลุกขึ้นมาต่อสู้และนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งที่สามหรือไม่ "



++

"ศิษย์เก่ามธ." นัดประท้วง "สมคิด" 5 ต.ค. ด้าน "คณาจารย์ต้านรปห." ออกแถลงการณ์หนุน "นิติราษฎร์"
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:54:33 น.


กลุ่มบุคคลที่ระบุว่าเป็น "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ออกประกาศชวนชาวธรรมศาสตร์ รวมตัวบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 10.00 – 11.00 น. เพื่อแสดงเจตนารมณ์พิทักษ์คุณูปการ ปรีดี พนมยงค์ และปกป้องอุดมการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า สาเหตุสืบเนื่องจากการตั้งคำถามของสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ต่อแถลงการณ์ของคณะ "นิติราษฎร์" ก่อนหน้านี้

ซึ่งตอนหนึ่งได้พาดพิงถึงการอภิวัฒน์ 2475 และปรีดี พนมยงค์ โดยจัดให้มีฐานะเดียวกันกับ สฤษดิ์ ถนอม-ประภาส และสุจินดา อันกระทบต่อฐานะทางประวัติศาสตร์ของปรีดี และทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่าปรีดีไม่ได้แตกต่างจากเผด็จการทหารในอดีตที่ผ่านมา


ทั้งนี้ "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ระบุด้วยว่าในวันดังกล่าวจะมีการแถลงต่อสื่อต่างๆ พร้อมแจกแถลงการณ์และล่ารายชื่อในหนังสือเรียกร้องต่อสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาบทบาทของ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะอธิการบดีอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ จะมีคณะศิษย์ยุคต่างๆ ร่วมวางหรีดและขึงผ้าดำล้อมรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการประท้วงต่อจิตสำนึก "อธรรมศาสตร์" ด้วย

----------

"คำประกาศเชิญชวนชาวธรรมศาสตร์"

สืบเนื่องจากกรณี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามต่อแถลงการณ์ของคณะ "นิติราษฎร์" ก่อนหน้านี้

หนึ่งในคำถามนั้นได้พาดพิงถึงการอภิวัฒน์ 2475 และอาจารย์ปรีดี โดยจัดให้อาจารย์ปรีดีมีฐานะเดียวกันกับ สฤษดิ์ ถนอม-ประภาส และสุจินดา คำถามดังกล่าวย่อมกระทบต่อฐานะทางประวัติศาสตร์ของอ.ปรีดี และทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่า อ.ปรีดีไม่ได้แตกต่างจากเผด็จการทหารในอดีตที่ผ่านมา

การบิดเบือนประวัติศาสตร์ครั้งนี้มิได้เกิดจากศัตรูทางการเมืองของ อ.ปรีดีในอดีต แต่เกิดจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีหน้าที่สืบทอดจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ และรักษาดอกผลการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย ในอดีตที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ยืดหยัดเป็นธงนำการ ต่อสู้กับเผด็จการทหารทุกยุคทุกสมัย และชาวธรรมศาสตร์ล้วนยกย่องเคารพต่อ อ.ปรีดีในฐานะผู้นำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ดังนั้นเราเหล่าลูกศิษย์ อ.ปรีดี และศิษย์เก่าทุกยุคทุกสมัยไม่อาจยอมรับพฤติกรรมและการกระทำของอธิการบดีผู้นี้ได้อีกต่อไป พวกเราใคร่ขอเรียกร้องต่อชาวธรรมศาสตร์ทุกท่าน ขอให้ไปร่วมกันแสดงเจตนารมณ์พิทักษ์คุณูปการ อ.ปรีดี และปกป้องอุดมการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มธ.(ท่าพระจันทร์) วันที่ 5 ตุลาคม เวลา 10.00 – 11.00 น. โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อแถลงการณ์ต่อสื่อต่างๆ พร้อมแจกแถลงการณ์และล่าลายชื่อในหนังสือเรียกร้องต่อสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้พิจารณาบทบาทของอธิการบดีผู้นี้อย่างเร่งด่วน

ในโอกาสนี้จะมีคณะศิษย์ยุคต่างๆ มาร่วมวางหรีดและขึงผ้าดำล้อมรอบมหาวิทยาลัย จากประตูท่าพระจันทร์ถึงประตูหอประชุมใหญ่ เพื่อเป็นการประท้วงต่อจิตสำนึก "อธรรมศาสตร์" ให้หมดสิ้นไปจากสถาบันแห่งนี้

คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์
4 ตุลาคม 2554

----------


ขณะเดียวกัน ได้มีกลุ่มนักวิชาการในนาม "กลุ่มคณาจารย์ต่อต้านรัฐประหาร" ออกแถลงการณ์ต่อข้อเสนอทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ ผ่านทางเว็บล็อกวิฬัจฉา (www.wiraja.com) ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้


แถลงการณ์กลุ่มคณาจารย์ต่อต้านรัฐประหาร ต่อกรณีข้อเสนอทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์


ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้เผยแพร่ข้อเสนอทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ ในวาระครบ 5 ปีรัฐประหาร ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 โดยมีสาระสำคัญใน 4 ประเด็น คือ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังประหาร 19 กันยายน 2549, และการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง มีทั้งที่เห็นด้วยและที่เห็นต่าง มีทั้งที่สร้างสรรค์และที่ทำลายล้าง มีทั้งที่อ้างอิงหลักฐานอันน่าเชื่อถือและที่อ้างอิงอาวุธยุทโธปกรณ์อันน่าหวาดหวั่น

ด้วยความเชื่อมั่นและเจตนาที่จะธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย เรา–ผู้มีรายนามดังปรากฏข้างท้ายแถลงการณ์นี้–ได้ศึกษาข้อเสนอทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์โดยละเอียดแล้ว จึงได้ร่วมกันแสดงจุดยืนของเราในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. เราสนับสนุนข้อเสนอทางวิชาการทั้ง 4 ประเด็นของคณะนิติราษฎร์ โดยเล็งเห็นว่าข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวนอกจากจะช่วยรักษาจุดด่างพร้อยจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว ยังช่วยสร้างกลไกการป้องกันการก่อรัฐประหารในอนาคตอีกด้วย ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวอุดมไปด้วยจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

2. เราเสนอให้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ไปพิจารณา ศึกษาความเป็นไปได้ และนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง อันจะเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมรากฐานประชาธิปไตยของประเทศให้แข็งแกร่งอีกคำรบหนึ่ง

3. เราขอเชิญชวนให้บรรดานักวิชาการและประชาชนทุกสาขาอาชีพ–ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงนิติศาสตร์หรือไม่ก็ตาม–อย่านิ่งเฉย โปรดออกมาร่วมเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ บนฐานความรู้ความเข้าใจของท่าน เพื่อให้ได้ความคิดที่รอบด้านอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

4. เราขอประณามการใส่ร้ายป้ายสี การบิดเบือนข้อเท็จจริง การขู่อาฆาตมาดร้าย และความพยายามใดๆ ก็ตามที่มุ่งทำลายเสรีภาพทางวิชาการและบรรยากาศประชาธิปไตยทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ซึ่งไม่เพียงไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่สังคมแล้วยังกัดกร่อนทำลายกลุ่มผู้กระทำการเช่นนั้นเองด้วย

ขอให้ประชาธิปไตยจงเบ่งบาน มวลหมู่เผด็จการจงสิ้นสูญ

3 ตุลาคม 2554


กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ (วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
อนุชา โสมาบุตร (นักวิชาการอิสระ)
อิศรา ก้านจักร (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม (วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ปิยบุตร บุรีคำ (ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ประสงค์ สีหานาม (ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
พงศาล มีคุณสมบัติ (นักวิชาการอิสระ)
สุดา รังกุพันธุ์ (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ชูธรรม สาวิกันย์ (ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร)
อาซีดีน นอจิ (ภาควิชากฎหมายอิสลาม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จังหวัดปัตตานี)
ศาสวัต บุญศรี (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ (คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
เอกพิชัย สอนศรี (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)
สรัลภัค หมอกเรืองใส (วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา)
เนติลักษณ์ นีระพล (นักวิชาการอิสระ)
วิระพงศ์ จันทร์สนาม (คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ)
เสนัชย์ ทองประดิษฐ์ (นักวิชาการอิสระ)
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (นักศึกษาปริญญาโท Aberystwyth University, UK)
ฉัตรชัย ช้างชัย (นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา)
สฤษดิ์ จันทราช (พ่อค้า ศรีสะเกษ)
ยุทธนา สูงสุมาลย์ (สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ)
สลักธรรม โตจิราการ (นายแพทย์ปฏิบัติการ โรงพยาบาลบ้านหมอ)
องอาจ บุญคง
วโรดม ตู้จินดา (คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

(ที่มา เว็บไซต์ประชาไท)



.