.
กรณีศึกษาน้ำท่วมกับอาการทางฮีสทีเรีย
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 12
"ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องไห้ น้ำท่วม ไม่กลัว กลัวอย่างเดียว ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด"
ข้อความข้างบนนี้มาจากเฟซบุ๊กของหญิงสาวที่สถาปนาตนเป็นผู้สร้างอัจฉริยะหรือบอกว่าอัจฉริยะสร้างได้อะไรทำนองนั้น
แต่ที่น่าขันสำหรับฉันคือ ตรรกะของคนสร้างอัจฉริยะ
ประการแรก ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิต - อื้อหือ ฟังแล้วหูผึ่ง ถึงขั้นสักครั้งในชีวิต แถมพูดแล้วจะร้องไห้อีก ไม่รู้ว่าผัวใครตาย แม่ยายใครป่วย
อ่านต่อไป "น้ำท่วม ไม่กลัว" - เออ กูก็ไม่กลัว เห็นคนอยุธยา นครสวรรค์ สิงห์บุรี จมน้ำไปนานนับเดือน สิ้นเนื้อประดาตัว กูก็ไม่มีสิทธิ์กลัวแล้วโว้ย
อ่านต่อไป "กลัวอย่างเดียว ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด"
ป๊าดโธ่ - ถ้าอัจฉริยะคิดได้แค่นี้ ก็ให้ประเทศไทยจมน้ำตายกันไปทั้งประเทศก็สาสมดี
ในบ้านเมืองที่มีความศิวิไลซ์ ปกครอง บริหารราชการกันด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตใคร ไม่มีใครอุตริจุติลงมาเป็นผู้นำของใครเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีอาญาสิทธิ์
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต่างๆ นานานั้น ล้วนแต่เป็นประชาชนเหมือนๆ กันกับเรา เพียงแต่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนประชาชน
จากนั้นก็ได้รับการคัดสรรให้มาเป็นทีมบริหารประเทศ คนเหล่านั้นเราเรียกว่า "ฝ่ายบริหาร" นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ย้ำให้อัจฉริยะฟังว่า - ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ผู้นำ" ไม่ใช่ยุคที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะศึกสงครามอย่างในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย"
คุณหนูอัจฉริยะคะ หากเรามีผู้นำที่ปราดเปรื่อง และนำพาประเทศชาติให้พ้นทุกข์เข็ญได้จริง ขอเชิญคุณหนูไปดูงานที่เกาหลีเหนือนะ ที่ประเทศนั้นมีจริงๆ มี "ผู้นำ"อะไรจริง เมื่อเรามีผู้นำแบบเกาหลีเหนือเท่านั้นแหละ ที่ชะตากรรมของประเทศชาติจะขึ้นอยู่กับความโง่หรือความฉลาดของผู้นำ
แล้วหากคุณหนูอัจฉริยะจะบริภาษใครว่าโง่ ในฐานะที่เป็น "ครู" ซึ่งพ่อแม่จำนวนมากฝากให้คุณหนูอัจฉริยะเอาลูกไปฝึกฝนให้ปราดเปรื่อง คุณหนูอัจฯ ควรจะสามารถแจกแจง ใช้หลักวิชาความรู้ที่อวดอ้างร่ำเรียนมาอย่างหรูหราหมาจูนั้น จำแนกออกมาให้เห็นหน่อยว่า ได้วัดความโง่และความฉลาดของ "ผู้นำ" ที่คุณหมายถึงนั้น ด้วยเครื่องมืออะไร?
มีหลักฐานทางคำพูด การกระทำ และอะไรอื่นที่สนับสนุนการตัดสินใครว่าโง่หรือฉลาดเสียจนจะทำให้คนตายทั้งประเทศ เพราะหากเที่ยวพูดพล่อยๆ เช่นนี้ จะเสียความเป็นครูบาอาจารย์และเสียสถานะที่อุตส่าห์ปั้นแต่งมาให้คนนับถือยกย่องในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา
เพราะการพูดโดยพล่อยนั้นสำแดงถึงความไร้การศึกษาอย่างเข้มข้น
นํ้าท่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีนี้ ทุกประเทศเสียหายอย่างหนักหน่วง กัมพูชามีคนตายไปแล้วประมาณ 250 คน ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ได้รับความเสียหายไม่น้อย
เราจะบอกว่าประเทศเหล่านี้มีผู้นำที่โง่หรือ ?
เหตุการณ์สึนามิ และโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่น สูญเสียมหาศาล คุณหนูอัจฉริยะจะบอกว่าระบบป้องกัน เตือนภัยผิดพลาด
เพราะผู้นำของญี่ปุ่นโง่อย่างนั้นหรือ ?
รัฐบาลนี้ดำเนินการผิดพลาดในหลายเรื่องและต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์
แต่การวิจารณ์นั้นต้องวิจารณ์ให้ถูกจุด จะวิจารณ์เรื่องการเฝ้ารักษา กทม. จนเกินกว่าเหตุ จะวิจารณ์เรื่องความล่าช้า จะวิจารณ์เรื่องบริหารจัดการบกพร่อง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนแต่ทำได้ทั้งสิ้น
เช่น นักเศรษฐศาสตร์ออกมาพูดเรื่องภาษีน้ำท่วม บางท่านออกมาพูดเรื่องระบบการประกันน้ำท่วมที่น่าจะดีกว่าภาษี บางท่านออกมาวิจารณ์บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม
นักรัฐศาสตร์อาจจะออกมาวิจารณ์เรื่องความไม่ราบรื่นของการทำงานของฝ่ายภูมิภาคกับฝ่ายท้องถิ่น
หรือเราในฐานะประชาชนที่รอฟังข่าวจากรัฐบาลอาจจะไม่พอใจการทำงานของทีมโฆษก ศปภ. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่โฆษกในเชิงคุณภาพ อันหมายถึงการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างสั้น แม่นยำ ชัดเจน เพราะในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือข้อมูล ข้อมูล และข้อมูล เพราะยิ่งมีข้อมูลที่แม่นยำเท่าไหร่ เราจะวางแผนล่วงหน้าได้ดีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยตนเองหรือช่วยผู้อื่น
เหล่านี้ จึงเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์ และคงจะดีกว่านี้หากบรรดาผู้มีการศึกษาและอ้างว่าอัจฉริยะสร้างได้ทั้งหลายจะได้ตระหนักว่าปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยนั้นสะท้อนความล้มเหลวในการจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติของสังคมไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ย้ำว่าหลายทศวรรษ
รัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นแค่ปลายน้ำของปัญหาที่สั่งสมมานานหลายรัฐบาลต่อเนื่องกัน
หายนะที่เกิดจากน้ำท่วมครั้งนี้ คือบทเรียนที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาประเทศอย่างชุ่ยๆ นั้นเข้าข่าย เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
สังคมไทยควรจะได้สำนึกผิดร่วมกันว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้สนใจว่านิคมอุตสาหรรมจะไปผุดขึ้นที่ไหน
ที่ผ่านมา เราไม่เคยสนใจว่าบริษัทใหญ่จะไปทำพื้นที่เพาะปลูกขนาดมหึมาในป่าผืนไหน
ที่ผ่านมา เราไม่สนใจว่าโครงการสร้างถนน บ้านจัดสรรได้ปิดทางระบายน้ำอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่แคร์เลยว่าคลองจะถูกถมไปกี่สาย
และจนบัดนี้ฉันก็ยังไม่แน่ใจว่า คนกรุงเทพฯ กล้าเผชิญหน้ากับความจริงได้ไหมว่า ชัยภูมิที่ตั้งของกรุงเทพฯ คือเมืองที่ถูกออกแบบมาให้อยู่บนบกหกเดือนและอยู่ในน้ำหกเดือน
วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องเดินทางด้วยเรือหกเดือน อยู่บ้านน้ำแห้งหกเดือนและอีกหกเดือนแปรสภาพเป็นเรือนแพ บ้านของคนไทยภาคกลางมีสภาพเป็นกึ่งบ้านกึ่งแพกึ่งเรือพร้อมจะลอยเท้งเต้งในน้ำได้ตลอดเวลา
เขียนมาแบบนี้ไม่ได้จะบอกว่าให้คนกรุงเทพฯ กลับไปพายเรือหรืออยู่เรือแพปลูกผักบุ้งผักกระเฉดขาย
แต่น้ำท่วมครานี้ไม่ใช่เรื่องของการที่ธรรมชาติมาเตือนให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน หันมารักกัน ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติกำลังเอาคืน เพราะธรรมชาติคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ปฏิกิริยาทางเคมี ชีววิทยา ไม่ใช่ภูตผี ที่มาหลอกมาหลอน มาเตือน มาสอน มาเอาคืน มาน้อยเนื้อต่ำใจ
น้ำท่วมครานี้คือการให้บทเรียนแก่สังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องดินฟ้าอากาศ รู้ว่าโลกร้อน ไม่ใช่จะไปหิ้วถุงผ้าหยุดโลกร้อนกันอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบเมือง การออกแบบบ้าน การออกแบบเมืองที่มีความพร้อมรับมือกับการอพยพคนอย่างฉุกเฉินหากเกิดทุพภิกขภัย
เขตภาคกลางของไทยทั้งหมดรวมทั้งกรุงเทพฯ ต้องการการออกแบบเมืองใหม่ในฐานะที่เป็นด่านสุดท้ายของการรับน้ำจากทั้งประเทศก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีทางเลือกสองทางว่าจะออกแบบเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคู คลอง หรือจะให้เป็นเมืองที่มีเขื่อนล้อมรอบ ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามา เป็นต้น
การรับมือกับธรรมชาติที่เราต้องยอมรับว่าเพราะธรรมชาติไม่ได้มีหัวจิตหัวใจเหมือนอย่างมนุษย์ ธรรมชาติจึงโหดร้าย สามารถหยิบยื่นหายนะและความตายให้กับสรรพสิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตไม่เคยละเว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม
ธรรมชาติไม่มียั้งคิดว่าคนนั้นน่าสงสารกว่าคนนี้ คนนี้น่าสงสารกว่าคนนั้น นี่คือเด็กทารก นี่คือผู้หญิงท้องแก่ ธรรมชาติ ไม่มีหัวใจ ไม่มีสมอง
เพราะฉะนั้น การเอาตัวรอดของมนุษย์จากภัยธรรมชาติมีทางเดียว คือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
เมื่อรู้ว่าฝนมากขึ้น พายุมากขึ้น ดินทรุดลง เราจะดันทุรังอยู่อย่างที่เคยอยู่ แล้วพอเกิดเภทภัยก็ต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะกันไปเป็นปีๆ
พอน้ำแห้งก็กลับมาอยู่กันเหมือนเดิม สร้างบ้านแบบเดิม ถมคลองแบบเดิม ถมหนองสร้างนิคมอุตสาหกรรมกันเหมือนเดิม สร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ศึกษาเรื่องดินถล่มหรือหาเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ป้องกันดินถล่มกันอย่างเดิม กลับไปเอาผืนป่าสร้างเขื่อนกันเช่นเดิม ปล่อยให้กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยาทำงานเช้าชามเย็นชาม ทำนายผิด คาดการณ์ผิดซ้ำซาก หายนะซ้ำซากกันอย่างเดิม
น้ำท่วมและหายนะคราวนี้ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลที่แล้ว แต่เป็นความผิดพลาดของสังคมไทยทั้งสังคมที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับการ "เอาชนะ" ธรรมชาติอย่างฉลาดเฉลียว
การเอาชนะธรรมชาติ ไม่อาจเอาชนะด้วยการร้องเพลงกล่อมให้คนไทยมีความรัก มีความสามัคคี มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมผนึกน้ำใจฝ่าฟันผองภัยไปด้วยกัน-โลกไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น
ความรักไม่ได้ช่วยให้น้ำแห้ง มีแต่ความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ความรู้เรื่องวิศวกรรมโยธา ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้เรามีรัฐบาลที่พัฒนาเมืองอย่างมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล ไม่ชุ่ย มักง่าย และเฝ้าแต่แก้ไขปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดกันไปวันๆ
ปัญหาน้ำท่วม และอีกหลายภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากสังคมไทยจะต้องเผชิญกับหายนะ หรือที่คุณหนูอัจฉริยะใช้คำว่า "ตายกันหมด" นั้นไม่ใช่เพราะเรามีผู้นำโง่ แต่เพราะในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเรามีชนชั้นนำที่ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้เป็นของปวงชนชาวไทย เราจึงไม่มีการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกแบบชะตาชีวิตของตนเอง ทิศทางการพัฒนาประเทศจึงไม่ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่แต่เพื่อความมั่งคั่งของชนชั้นนำหนึ่งหยิบมือที่มั่งคั่งบนการพร่าผลาญทรัพยากรที่ปล้นไปจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าหรือสายน้ำ
การพัฒนาประเทศไทยจึงไม่เคยอยู่บนฐานของการออกแบบเมืองเพื่อความสุขของประชาชนในระยะยาว เพราะไม่เคยมีประชาชนในฐานะที่เป็น "ประชาชน" ในความหมายของรัฐสมัยใหม่ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศเห็นประชาชนเป็นเพียงราษฎรที่รอรับการ "ยกระดับคุณภาพชีวิต" จากรัฐที่ถูกกุมอำนาจโดยชนชั้นนำที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อ
ป้องกันมิให้ราษฎรได้กลายมาเป็นประชาชนหรือพลเมือง
เมื่อประชาชนดิ้นรนต่อสู้จนได้อำนาจรัฐมาอยู่ในมือ แม้จะต้องใช้เวลาอีกนับทศวรรษกว่าประชาชนจะสามารถปลุกปั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ บรรดาเหล่าซากเดนของชนชั้นนำที่มักจะเกิดอาการหัวใจวายหรือฮีสทีเรียกำเริบขึ้นทุกครั้งที่เห็นว่าอำนาจทางการเมืองกำลังจะเป็นของปวงชนชาวไทยได้จริงๆ
อาการฮีสทีเรียที่ว่านี้จะไปทำลายศักยภาพในการใช้เหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์จนสิ้น เพราะเพียงเห็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากประชาชนร้องไห้ พวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลของประชาชนหัวเราะพวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากประชาชน แต่งตัวดีพวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลของประชาชนแต่งตัวแย่พวกเขาก็จะโกรธ
การวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาไม่ได้เกิดจากความพอใจหรือไม่พอใจในผลงานแต่เกิดจากความไม่พอใจที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน
ความท้าทายของรัฐบาลนี้คือ นอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว รัฐบาลจะพิสูจน์ตนเองในฐานะของรัฐบาลที่มาจากประชาชนว่าจะมาสามารถเสนอพิมพ์เขียวของการพัฒนาประเทศที่มี "ประชาชน" ซึ่งมิใช่ "ราษฎร" อยู่ในแผนหรือไม่ ???
++
บทความตอนต้นปี เกี่ยวกับโครงสร้างการรวบอำนาจหลายสิบปีที่ทำให้กลไกรัฐทำงานรับใช้มือที่มองไม่เห็น และไร้ประสิทธิภาพเมื่อต้องทำงานแบบครบวงจรให้ประชาชน
รับไม่ได้
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1589 หน้า 91
อันที่จริงมันเป็นเรื่องส่วนตัว และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหากจะมีนักข่าวสักคนโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหรือส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์บอกว่า "จะมาชุมนุมอะไรกันนักหนา พ่อ แม่ ลูก เมีย ไม่มีหรืออย่างไร ไม่รู้จักกลับบ้านกลับช่อง คนอื่นเขาจะไปกินข้าว ดูหนัง ช็อปปิ้ง ก็มาปิดถนนประท้วงให้ชาวบ้านเดือดร้อน"
ถ้าความจำไม่สั้นเกินไปนัก ในอดีต ชาวบ้านที่เดินทางมาม็อบในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นม็อบเขื่อนปากมูล ม็อบต้านท่อก๊าซ ม็อบของสมัชชาคนจน ก็ล้วนแล้วแต่โดนข้อหานี้จากชนชั้นกลางและมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ กันมาแล้วทั้งนั้น ว่าจะมานอนตากแดดตากฝนประท้วงกันในกรุงเทพฯ ให้มันได้อะไรขึ้นมานอกจากรถติดและวีชีวิตคนกรุงเดือดร้อน
ไม่นับข้อหารับเงินต่างชาติโดยอธิบายว่ากลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านล้วนแต่เป็นองค์กรที่รับเงินมาจากต่างชาติ
จำได้อีกว่าในยุคนั้น หากได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์น้ำดี มีความคิด ก็ล้วนแต่ต้องออกมาปกป้องชาวบ้านที่ออกมาประท้วง อย่างน้อยๆ ภาพชาวบ้าน ณ วันนั้น ในสายตาของสื่อไทย คือภาพของชาวชนบทที่ถูกรัฐและทุน เบียดเบียน คุกคาม
จากนั้นจึงเป็นการทำงานร่วมกันของเอ็นจีโอ นักวิชาการ และพลังของชาวบ้านที่พัฒนาตนเองมาเป็นนักเคลื่อนไหว และถูกเรียกกันในกาลต่อมาว่า "ปราชญ์ชาวบ้าน" ที่ได้ร่วมกันผลิตองค์ความรู้ชุดหนึ่งออกมาสู่สังคมไทย
นั่นคือชุดความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่รัฐกระทำกับประชาชน ผนวกเข้ากับอิทธิพลของสำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของไทยในยุคที่เห็นว่าการกลับสู่วิถีดั้งเดิมของหมู่บ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้นที่จะทำให้ชาวบ้านรอดพ้นจากโครงสร้างความรุนแรงที่รัฐและทุนได้ผนึกกำลังกันลงมาย่ำยีวิถีชีวิตและชุมชนในชนบท
อย่างไรก็ตาม ในนามของคำว่ารัฐและทุนที่กลายมาเป็นความรู้สาธารณะอันเผยแพร่กันในงานเขียนตามหน้าหนังสือพิมพ์ บทความ สารคดี บทสมภาษณ์นักกิจกรรม คำว่ารัฐและทุน ได้ถูกลดทอนความซับซ้อนลงไป ขณะเดียวกัน ก็เป็นคำที่ง่ายเสียจนเอาไปอธิบายได้ทุกเรื่อง
เช่น ไม่ได้ตอบคำถามอย่างแท้จริงว่า สิ่งที่เรียกกันว่า "รัฐ" นั่นหมายถึงอะไร?
ลักษณะของรัฐไทยเป็นอย่างไร?
มีปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบของรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร?
ใครเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ?
แต่เท่าที่อธิบายกันมาอย่างต่อเนื่องคือ รัฐไทยถูกขับเคลื่อนมาด้วยนักการเมืองเลว และที่เรามีนักการเมืองก็เพราะระบอบประชาธิปไตยที่ไปอิงอยู่กับการเลือกตั้ง จากนั้นจึงไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เนื่องจากประชาชนของเรายังไม่รู้เท่าทันนักการเมือง ประชาชนเลือกนักการเมืองเลว นักการเมืองเลวมาจัดตั้งรัฐบาลก็ใช้อำนาจรัฐนั้นกลับไปกดขี่ เอารัดเอาเปรียบประชาชน วนเวียนเป็นงูกินหางกันอยู่เช่นนี้
(ความหมายของนักการเมืองเลว คือเป็นเจ้าพ่อ เป็นนักเลง โกงกิน คอร์รัปชั่น ไม่จงรักภักดี ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็สามารถตัดสินคุณภาพของนักการเมืองโดยใช้ ชาติตระกูล การศึกษา ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ ระดับการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไป จนถึงระดับความสัมพันธ์กับเครือข่ายชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาวัดระดับความเป็นนักการเมืองที่ดี เพราะฉะนั้น ผลของมันก็คือ เมื่อถึงที่สุดแล้วคนชั้นกลางมีการศึกษาจำนวนมากไม่กล้าออกมาก่นด่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ทำเรื่องโง่เง่าหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชั่งไข่ขาย น้ำมันแพง ข้าวสารแพง น้ำมันพืชขาดตลาด หรือ แม้ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะมีเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลอื่น แต่ตัวนายอภิสิทธิ์ ที่ชนชั้นกลางไทยปักใจเชื่อเสียแล้วด้วยคุณสมบัติเช่นนี้คือนักการเมืองน้ำดีของเมืองไทย จึงไม่เคยต้องด่างพร้อยหรือถูกประณามสาดเสียเทเสียเท่ากับที่นักการเมืองคนอื่นๆ โดน)
วิธีคิดรวบยอดและไม่ได้เจาะจงลงไปว่า รัฐคืออะไร ทุนคืออะไร ใครใช้อำนาจรัฐ และใครคือเจ้าของทุน ก่อให้เกิดคำอธิบายครอบจักรวาล ดังที่ปรากฏในข่าวชิ้นหนึ่งที่อ้างถึงคำอธิบายของนักวิชาการที่มีต่อปัญหาความอยุติธรรมในสังคมว่า
"ตลอดชีวิตที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้พบกับความยุติธรรมที่แท้จริง ซึ่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีปัญหาสะสมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งในรูปแบบที่ดีขึ้น และถดถอยลง แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่า อยู่ในระดับเลวลงจนต่ำกว่าที่เคยจะเป็น เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง คนจนได้รับความทุกข์จากความไม่เป็นธรรมมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการครอบงำของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บริโภคนิยม ดังกรณีเรื่องที่ดินทำให้คนกลุ่มเล็กเพียง 10% ถือครองที่ดินกว่า 90% ของทั้งประเทศ
ความเป็นจริงประชาธิปไตยไม่ใช่ของเลว ไม่ใช่ของที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อมีการแอบแฝงรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบ การหวังผลประโยชน์ส่วนตนตามแนวคิดทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้เราเกลียดประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1295843069&grpid=01&catid=&subcatid=
ปัญหาของคำอธิบายแบบนี้คือ ถึงที่สุด ไม่มีใครถามว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคืออะไร และหากเราไม่ต้องการระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เรามีทางเลือกอะไรอีกบ้าง
ยังไม่ต้องถามต่อไปว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบไหน
คำว่าบริโภคนิยมคืออะไร? การบริโภคมีความจำเป็นต่อการระบบเศรษฐกิจหรือไม่?
แล้วทั้งคำว่า ทุนนิยม และบริโภคนิยม เกี่ยวข้องกับการผูกขาดที่ดินส่วนใหญ่ของคนส่วนน้อยอย่างไร?
มากไปกว่านั้น คนไทยจำนวนมาก นักวิชาการที่ออกมาพูดถึงความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็แทบจะไม่กล่าวถึงการผูกขาดการครอบครองที่ดินของกลุ่มตระกูลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดประเทศไทย และหากมองจากการถือครองที่ดินของตระกูลใหญ่ๆ ในเมืองไทยแล้ว เรายังจะเรียกระบบเศรษฐกิจของเราว่าเป็น "ทุนนิยม" ได้หรือไม่ ?
หรือเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระบบผูกขาดของตระกูลมหาอำนาจ สอง-สามตระกูล อันนำมาซึ่งความยากไร้ และเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนทั้งประเทศ ทว่า ความผิดบาปทั้งมวลได้ถูกโยนลงมาสู่ถ้อยคำที่กำกวมแค่ สอง-สามคำ คือ นักการเมืองเลว กับ ทุนสามานย์
ประเด็นของฉันคือ หากเราจริงใจต่อการประณาม "ทุนสามานย์" อย่างแท้จริง เราต้องระบุให้ได้ว่าที่มาของทุนสามานย์ในประเทศนี้คือทุนของใคร และทำงานอย่างไร
เมื่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงอย่างถูกจุด เริ่มตั้งแต่การไม่ยอมพูดถึงกลุ่มทุนสามานย์กลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ และไม่ยอมอภิปรายอย่างจริงจังเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง "รัฐ" และที่มาของอำนาจรัฐ ไม่พูดถึงการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องและปราศจากการทักท้วงจากสังคมด้วยอำนาจรัฐที่เป็นอำนาจเถื่อนหรือที่ช่วงหลังๆ ใช้คำว่า "อำนาจ(มือ)ที่มองไม่เห็น"
การพูดถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมไทยจึงถูกบิดผันไปอย่างน่างุนงง (งุนงงอย่างชนิดที่ตัวฉันเองก็นั่งเขียนถึงมันอย่างงง ๆ )
การเรียกร้องหาความยุติธรรมจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐไม่ว่าจะเป็น เขื่อน ท่อก๊าซ เครือข่ายชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกิน สมัชชาคนจน ถูกทำให้เป็นขบวนการประชาชนที่หวังชัยชนะระยะสั้นด้วยวิธีการล็อบบี้ และใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนักวิชาการ เอ็นจีโอ กับบรรดา "ผู้ใหญ่" ทั้งที่เป็นนักการเมืองและไม่ใช่นักการเมือง มากกว่าพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในระยะยาว
ตัวอย่างของโฉนดชุมชนของคลองยาวก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการเคลื่อนไหวโดยใช้วิธีการล็อบบี้มากกว่าหวังผลในการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นระบบ ผลของมันก็คือ ชุมชนคลองยาว มีโฉนดชุมชน แต่ปัญหาที่ดินในที่อื่นๆ ในประเทศยังคงดำรงอยู่ต่อไป ชาวบ้านในอำเภอหนึ่งอาจคัดค้านการสร้างเขื่อนสำเร็จ แต่เขื่อนก็ต้องไปโผล่ที่อำเภออื่นอยู่ดี เป็นต้น
ต้นทุนทางความรู้ที่ฝ่ายนักวิชาการสายชุมชนนิยม ต่อต้านทุนนิยม รังเกียจประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อต้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ (ตั้งแต่เรื่องแพทย์ทางเลือก การพูดถึงความรู้แบบองค์รวม (ที่ไม่รู้ว่ารวมเอาอะไรไว้บ้าง) การต่อต้านตะวันตก การพูดถึงหลักธรรมาธิปไตย การพึ่งตนเอง ไปจนถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง) ได้ร่วมกันทำงานร่วมกับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และนักพัฒนาเอกชน และครั้งหนึ่งเคยอยู่ในฝ่ายที่เป็นทำงานเพื่อต่อต้านและคานอำนาจรัฐ
เมื่อมาถึงในวันที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลอันเป็นร่างทรงของเผด็จการ องค์ความรู้เหล่านี้กลับเป็นวัตถุดิบชั้นดีของรัฐบาลเผด็จการในการปกปิดเจตนาที่ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้มแข็งและกดทับความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของประชาชนไว้ภายใต้แนวคิดว่าด้วยความพอเพียง
โดยการจงใจละเว้นที่จะพูดถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบันคือปัญหาที่ว่าด้วย ประชาชนถูกยึดอำนาจ ประเทศชาติที่ควรเป็นบ้านของประชาชนได้กลายเป็นบ้านของคนอื่น
อำนาจในการปกครอง บริหารบ้านที่ควรจะเป็นของเจ้าของบ้านคือประชาชน ถูกบิดเบือนไปสู่คอนเซ็ปต์ของการอาศัยใบบุญเจ้าของบ้านผู้เปี่ยมเมตตา เสียสละ และหากประชาชนไม่รักเจ้าของบ้าน เราจะถูกไล่ออกจากบ้าน !
ในเวลาเดียวกัน ด้วยองค์ความรู้ที่ว่าด้วยความสูงส่งของวัฒนธรรมตะวันออก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน (ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นองค์ความรู้ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ) พวกเขาได้สร้างภาพชาวบ้านอีกภาพหนึ่งขึ้นมาเชิดชู เพื่อบอกว่า นี่คือเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไทยที่เราใฝ่ฝันถึง นั่นคือการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ความเรียบง่าย สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นไม่จำเป็นเลยสำหรับสังคมไทยเพราะเรามีผู้นำตามธรรมชาติ และผู้นำตามวัฒนธรรมที่ถูกตรวจสอบจากชาวบ้านด้วยกันเอง
พร้อมกันนั้นก็สวมทับศีลธรรมแบบพุทธ เช่น ศีลห้าเข้าไปในคุณสมบัติของผู้นำตามธรรมชาติของชุมชนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ต่อด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์ที่พูดถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนของชุมชนเล็กๆ ในชนบทที่พึ่งตนเองได้ ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่เป็นเหยื่อของทุนนิยม บริโภคนิยม
จากนั้นในการเสวนาว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย พวกเขาต้องเชิญตัวแทนชาวบ้านมาร่วมประชุมด้วยเสมอเพื่อเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า - เราฟังเสียงชาวบ้าน
ด้วยการระบายสีที่สวยงามว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความอยุติธรรมด้วยการปรับโครงสร้าง เสริมอำนาจให้ชนบท เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน ขจัดทุนสามานย์ ทำโฉนดชุมชน กระตุ้นศีลธรรม ลด ละ เลิก อบายมุข ผลิตข้าวอินทรีย์ ทำสวนสมุนไพร ทอผ้า ฯลฯ
สีสันสวยงามเหล่านี้ได้ช่วยปกปิดสีสันเน่าเฟะของที่มาของอำนาจรัฐอันฉ้อฉลและทุนสามานย์ตัวจริงที่ผูกขาดความตะกรามไว้ที่ตนเองแต่เพียงผู้เดียว
แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อประชาชนลุกขึ้นบอกว่า ไอ้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านและชุมชนในอุดมคติอันสวยงามนั้นมันโกหกทั้งเพ รวมไปถึงเรื่องทุนนิยม และบริโภคนิยมอะไรนั่นด้วย . ชาวบ้านอาจจะไม่ต้องการเขื่อนหรือเหมืองถ่านหินในชุมชนของเขา แต่เขารู้แล้วว่าเขาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิถีทางการเมืองมิใช่ด้วยการไปหวังพึ่งพิงการล็อบบี้ผ่านเครือข่ายของเอ็นจีโอหรือนักวิชาการกลุ่มหรือคณะใดคณะหนึ่ง
มันก็แค่ถึงเวลาที่พวกเขาตระหนักว่าเขาต้องช่วงชิงเอาสิทธิของการเป็นเจ้าของบ้านกลับคืนมา และนั่นหมายถึงที่มาของอำนาจรัฐต้องมาจากพวกเขาเองโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง
การออกมาประท้วงของประชาชนที่ไม่ใช่แค่ม็อบต้านเขื่อนหรือสมัชชาคนจนจึงคุกคามความมั่นคงทั้งทางจิตใจและสติปัญญาของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาที่พึงใจจะเห็นชาวบ้านเป็นเพียง "ปราชญ์ท้องถิ่น" "ผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน" หรือ "เกษตรกรพื้นบ้านผู้อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"
ฉันไม่คิดว่า นักข่าวคนที่เขียนข้อความประณามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความประชาธิปไตยจะไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เธอเข้าใจ แต่เธอแค่รับไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และอำนาจในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐในวิถีทางที่เธอไม่เคยตระหนักมาก่อนต่างหาก
เธอแค่รู้สึกว่าเธอกำลังถูกทิ้งไว้ให้ยืนอยู่ข้างหลังที่นับวันจะโดดเดี่ยวขึ้นทุกที
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย