.
วิกฤตน้ำท่วม จะทำลายการผลิตและวิถีชีวิตผู้คน ยิ่งลักษณ์ต้องปรับนโยบายด่วน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 20
อุทกภัยครั้งนี้บอกเราว่านับแต่นี้ไป อุทกภัยในบ้านเราจะไม่ใช่แค่น้ำท่วมธรรมดา ที่พอน้ำลดแล้วเราจะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
แต่มันจะมีลักษณะการทำลายสูงเหมือนไฟไหม้ คือจะทำลายสิ่งที่กีดขวางไม่ว่าจะเป็น ไร่นา ที่อยู่อาศัย ระบบไฟฟ้า ประปา โรงงาน ถนน สะพาน รถ ฯลฯ แม้แต่ชีวิตคน ความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งเดียว จะมากกว่าไฟไหม้ทุกครั้งรวมกันทั้งปี และจากนี้ไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นเกือบทุกปี
ถ้าเราไม่ต้องการกอดคอกันจมน้ำตาย ทั้งรัฐและประชาชนจะต้องเตรียมการตั้งรับและปรับตัวโดยด่วน
อุทกภัย
ภัยพิบัติที่คาดการณ์ได้
จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง
IPCC (Intergovernmental Panel Climate Change) ได้ประเมินว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1-6.4 องศาเซลเชียสในอีกร้อยปี นับจากปี 2544-2643 และจะเกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง (Extreme Weather)
ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในด้านพิบัติภัยธรรมชาติได้พยากรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปี 2550 ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนและพิบัติภัยธรรมชาติ
ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูกาลของบ้านเราเปลี่ยนแปลง ทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป คือจะตกก็ตกเยอะเลย บางทีตกมากกว่าทั้งปีในอดีตรวมกัน พอตกมาแล้วก็จะทิ้งช่วง โดยเฉพาะในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา
แต่ในอนาคตอีก 30 ปีถัดไปนี้ ฝนในบ้านเราจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม และน้ำท่วม
ไม่มีใครเตรียมรับมือ เพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติจากธรรมชาติ เพราะช่วงปี 2551-2553 มีแต่การต่อสู้ทางการเมืองของคนกับคน พอถึงช่วง 10 ตุลาคม - 14 ธันวาคม 2553 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ใน 39 จังหวัด 425 อำเภอ มีทั้งน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม คนสองล้านครอบครัวเดือดร้อน ความเสียหายกินพื้นที่กว้างเกือบ 8 ล้านไร่ หลายประเทศได้ส่งสารแสดงความเสียใจมาประเทศไทย
ครั้งนั้นคนไทยคิดว่าร้ายแรงมากแล้ว...แต่
อุทกภัยปี 2554
ธรรมชาติจัดหนัก...ไม่มีใครตั้งรับ
เริ่มปี 2554 น้ำท่วมก็ลดลงไป แต่ปัญหาการเมืองยังเป็นเรื่องร้อนที่สุด และมาจบลงที่การเลือกตั้ง รัฐบาลเก่าซึ่งไม่ได้เตรียมการอะไรเลย
...แพ้การเลือกตั้ง...รัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้เตรียมตั้งรับ
แต่อุทกภัยปีนี้เหมือนตั้งใจมาดับไฟการเมือง เพราะน้ำมาเร็วกว่าเดิมและมากกว่าเดิม เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเดือนๆ ทำให้ทั้งนักการเมือง ข้าราชการและประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน โดยเฉพาะเกษตรกร
และปีนี้ทุกอย่าง ถูกธรรมชาติจัดให้หนักกว่าทุกปี
พื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติมีมากกว่าเดิม... นอกจากท่วมพื้นที่เก่าแล้ว ยังขยายตัวไปยังพื้นที่ใหม่ซึ่งคาดไม่ถึงว่าน้ำจะท่วม
ความเดือดร้อนหนักกว่าเดิม...ระดับน้ำที่ท่วมสูงมาก ความเดือดร้อนที่ได้รับมีมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะหลายปีก่อนแม้เกิดอุทกภัยขึ้นทุกปีแต่ผู้คนยังพออาศัยอยู่ในบ้านได้ จะลำบากก็เรื่องอาหารการกิน การขับถ่าย การเดินทาง แต่พอน้ำลดใช้เวลาไม่นาน ก็กลับไปใช้ชีวิตได้แบบเดิม
แต่ในปีนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก เพราะน้ำท่วมบ้านสูงจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
หลายแห่งท่วมถึงหลังคาหรือชั้น 2 ของบ้าน ต้องอพยพออกจากบ้าน ซึ่งมีที่รองรับน้อยมาก ถนนก็ถูกตัดขาดหลายแห่ง การเดินทางมีปัญหา ความสูงของน้ำปีนี้ถึงขั้นทำความเสียหายให้รถจำนวนมาก
ความเสียหายมากกว่าเดิม...ครั้งนี้นอกจากเขตเกษตรกรรมแล้ว น้ำยังเข้าท่วมในเขตเมืองซึ่งเป็นย่านการค้าหลายแห่ง ที่สำคัญได้เข้าท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว 3 แห่ง เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่นี่มี 198 โรงงาน คนงานประมาณ 90,000 คน เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหลายถ้าถูกน้ำท่วมจะมีผลต่อกำลังการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านหรือเป็นแสนล้าน ถ้ามีความเสียหายจนการผลิตหยุดชะงักหลายเดือน จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานจำนวนมาก
การให้ความช่วยเหลือยากกว่าเดิม... ระดับความลึกและความแรงของน้ำในครั้งนี้มีมากกว่าปีก่อนๆ เยอะมาก ในหลายพื้นที่ไม่อาจใช้รถไปกู้ภัย มีแต่ต้องใช้เรือติดเครื่องยนต์จึงจะสามารถเข้าไปทำงานได้
ในอดีตเราเคยศึกษาประวัติศาสตร์บอกว่ากองทัพพม่าที่ยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาต้องยกทัพกลับเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ในวัยเด็กก็ยังนึกภาพไม่ออก เมื่อเห็นภัยพิบัติจากน้ำท่วมในวันนี้จึงเข้าใจได้ เมื่อมองออกไปไกลขึ้นจะพบว่าไม่ใช่เพียงประเทศไทยที่ประสบปัญหานี้ แต่ในภูมิภาคทั้งจีนและอาเซียนก็เจอเช่นเดียวกัน
โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ แต่คนจะรับมืออย่างไร?
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
กระบวนการจัดการเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วมโดยทั่วไปมีอยู่ 5 ขั้นตอนคือป้องกัน, เตรียมการ, แก้ปัญหาช่วงวิกฤติ, ประเมินความเสียหาย และแก้ปัญหาหลังน้ำท่วม
สภาพเป็นจริงวันนี้ ภัยพิบัติได้เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันและแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วนคือการช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่การป้องกันแต่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ภาพและข่าวที่ออกไปดูคล้ายกับว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยประชาชนเลย แต่ความจริงอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่รัฐออกไปช่วยอย่างเต็มกำลัง
แต่มีคนหลายแสนที่เดือดร้อนพร้อมกัน ในแต่ละช่วงเวลา ก็ช่วยได้ไม่กี่ร้อยคน ส่วนใหญ่จึงต้องช่วยตนเอง
ภาพข่าวที่ปรากฏทางโทรทัศน์จึงมีแต่คนรอรับความช่วยเหลือ ส่วนที่ออกไปช่วยก็ไม่มีใครนำมาออกข่าว แต่ว่าต่อให้รัฐส่งคนไปกับโทรทัศน์ทุกช่องไปช่วยต่อหน้ากล้องแบบรายการข่าวต่างๆ ก็ไม่สะท้อนความจริงที่รัฐไม่มีทางช่วยเหลือคนเป็นแสนๆ คนได้พร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ
ภาพในจอวันนี้จึงตรงกับความจริงอยู่แล้ว และประชาชนก็เข้าใจ ศักยภาพที่จำกัดของรัฐ ขอให้ทำเต็มที่เท่านั้น
แต่ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือได้ทั่วถึงและรวดเร็ว เรื่องนี้ทำได้ยากมากเพราะพื้นที่เกิดภัยพิบัติกว้างมาก ทั้งหน่วยงานของรัฐก็ไม่เคยเตรียมรับมือกับปัญหาหนักขนาดนี้ และปัญหายังไม่ยุติลงง่ายๆ คาดว่าจะยืดเยื้ออีกเป็นเดือน
เมื่อปัญหาในภาคกลางลดลง แนวฝนก็จะเลื่อนลงไปถล่มภาคใต้ ซึ่งก็อาจจะหนักที่สุดเช่นกัน
มีผู้วิเคราะห์ว่าการเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ครั้งนี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกหลายครั้งและจะเกิดขึ้นหนักกว่านี้อีก ต้องสรุปบทเรียนเรื่องการให้ความช่วยเหลือ คือ
ศูนย์อำนวยการต้องมี ทั้งระดับชาติและเฉพาะจุดที่เกิดปัญหา
บุคลากรที่จำเป็นด้านต่างๆ ต้องมาจากหน่วยไหนบ้าง ใครคือหัวหน้า
อุปกรณ์ที่จำเป็นคืออะไรบ้าง เช่นวันนี้เรือท้องแบนเล็กๆ จำเป็นกว่าเรือดำน้ำเสียอีก
สถานที่ที่จำเป็นต้องรักษาไว้คือที่ใดบ้าง เช่น โรงพยาบาล สถานที่ที่จะใช้เป็นศูนย์อพยพ
มีแต่วิธีการป้องกันระยะยาวเท่านั้น
จึงจะสามารถปกป้องคนเป็นแสนเป็นล้านได้
หลังการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจะต้องรีบกำหนดแผนและดำเนินการป้องกันระยะยาวโดยเร็ว ตลอดระยะเวลานับ 10 ปี สิ่งที่ทำส่วนใหญ่ยังเป็นการแก้ปัญหาขณะที่น้ำท่วมและบูรณะเยียวยาเมื่อน้ำลดไปแล้ว
มีแนวทางการป้องกันน้ำท่วม 3 วิธี
1. ก่อสร้างคันกั้นน้ำ โดยสร้างคันกั้นน้ำบนตลิ่งขนานไปกับลำน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าไปท่วมพื้นที่ด้านใน เช่น ริมแม่ปิง เชียงใหม่ ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. ใช้วิธีนี้โดยก่อสร้างติดต่อกันมาหลายปี
2. สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำเร็วเกินไป เช่น เขื่อนป่าสัก
3. ก่อสร้างทางผันน้ำเพื่อผันน้ำให้ออกไปโดยเร็วโดยการขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับที่มีน้ำท่วมเพื่อให้ไหลออกไปสู่ทะเล หรือปรับปรุงสภาพลำน้ำเดิม ขุดลอกให้น้ำไหลสะดวก ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำที่คดเคี้ยวให้ไหลได้เร็วขึ้น เส้นทางตรงขึ้น เช่น คลองลัดโพธิ์
แม้การป้องกันจะเป็นโครงการระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเดินนโยบายป้องกันทันทีและก็ต้องรีบทำโดยเร็ว เพราะเหตุการณ์ แบบปีนี้อาจจะเกิดซ้ำอีกหลายปี และความเสียหายจะมากกว่างบฯ ป้องกันหลายเท่า
เรานิยมสร้างที่อยู่อาศัยใกล้น้ำ ทั้งที่อยู่อาศัยและไร่นาก็อยู่ในที่ลุ่ม แถมกฎหมายปัจจุบันก็ไม่อนุญาตให้ไปอาศัยอยู่บนเนินหรือที่สูง
วันนี้ทุกคนจึงถูกบังคับให้อยู่ใกล้น้ำ ทุกอย่างรวมกันอยู่ในที่ลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นไร่นา บ้านพักอาศัย ตลาด หน่วยราชการ โรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่กองขยะ
การดิ้นรนเอาตัวรอดจากน้ำท่วมในบ้านเราที่ได้เห็นคือการสร้างคันกั้นน้ำ การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำ การขุดคลองระบายน้ำยังเป็นคลองขนาดเล็กและมีน้อย แต่ปัญหาในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าภัยพิบัติจากน้ำจะมีขนาดรุนแรงกว่าหลายสิบปีที่แล้ว
ในปีนี้คันกั้นน้ำที่สร้างด้วยดินหรือกระสอบทรายหวังว่าจะต้านน้ำได้ชั่วคราวจึงพังลงหลายแห่ง
เขื่อนซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งและช่วยรับน้ำในหน้าฝนในระดับปกติ แต่ปีนี้ต้องระบายน้ำทิ้งออกมาให้ลงไปท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนทุกแห่ง
ความสามารถที่จะป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนจึงไม่อาจทำได้ เมื่อพบกับอุทกภัยขนาดใหญ่
ทางเลือกใหม่
การสร้างทางผันน้ำขนาดใหญ่
สิ่งที่เรายังไม่เคยทดลองทำคือการสร้างทางผันน้ำขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ซึ่งมีคนเคยเสนอมานานแล้ว ประเทศเราสร้างถนนหนทางจำนวนมาก สร้างทางด่วน ทางรถไฟ สร้างมอเตอร์เวย์ให้รถยนต์วิ่ง สิ้นเปลืองงบประมาณไปหลายแสนล้าน เราน่าจะสร้างวอเตอร์เวย์เพื่อให้เป็นทางด่วนในการผันน้ำขนาดใหญ่หลายเส้นซึ่งจะสามารถรับน้ำจากแม่น้ำดั้งเดิม และระบายออกได้ในเส้นทางที่สั้นที่สุด ตามระดับทางภูมิศาสตร์
นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เก็บกักน้ำ และส่งน้ำเพื่อประโยชน์ด้านการชลประทานในฤดูแล้งตามแนวคูคลองย่อย หรืออาจใช้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำเพื่อขนส่งพืชผลทางเกษตร รวมประโยชน์ด้านต่างๆ แล้วน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ในสภาพที่ปัญหาอุทกภัยกำลังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเสนอแก้ปัญหาจะได้รับการยอมรับและการสนับสนุนมากกว่าช่วงเวลาอื่น
การเวนคืนที่ดินหรือการขอความร่วมมือจากชุมชน ถ้าจ่ายค่าตอบแทนให้คุ้มค่าน่าจะสามารถดำเนินการโครงการนี้ได้ไม่ยากนัก และด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ แม้จะต้องขุดคลองขนาดใหญ่ก็จะสามารถทำได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว
รัฐบาล ควรปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงการเดิม
เพื่อป้องกันภัยพิบัติโดยด่วน
หลังอุทกภัยใหญ่สองปีซ้อนรัฐบาลที่มีสายตายาวไกล ควรจะสรุปให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติแบบไหน หนักแค่ไหน รัฐมีแผนป้องกันแก้ไขอย่างไร การแก้ไขปรับเปลี่ยนนโยบายและงบประมาณ ยกเลิกโครงการที่สำคัญน้อยกว่า ทำสิ่งที่จำเป็นมากกว่า เป็นสิ่งที่ต้องกล้าตัดสินใจ อย่างรวดเร็ว
หลังน้ำลดเมื่อสรุปความเสียหาย จะรู้ว่าพื้นฐานทางการผลิต ทั้ง ระบบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ระบบขนส่ง และความเสียหายจากที่อยู่อาศัย จะมีมูลค่าเป็นแสนล้าน ที่เห็นชัดเจนคือมีโรงงานล่มประมาณ 400 โรงงาน ใน 5 วัน ถ้าไม่สร้างระบบป้องกันปัญหานี้ โครงการอื่นๆ ที่สร้างขึ้นก็จะถูกทำลายซ้ำอีก เหมือนสร้างบ้านในที่ดินอ่อนแต่ไม่ตอกเสาเข็ม สวยและใหญ่แค่ไหน ก็พังภายในไม่กี่ปี
ความเดือดร้อนของคนจำนวนมากเป็นปัญหาการเมืองทั้งสิ้น เป้าหมายของผู้นำรัฐบาลคือต้องแก้ปัญหาให้ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ คนก็ไม่ยอมรับให้เป็นผู้นำการบริหารประเทศ
การตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงการครั้งนี้ จะชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ และฝีมือการแก้ปัญหา
ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะมีผลทางการเมืองและการบริหารประเทศอย่างแน่นอน
++
"น้ำ" กับ "อุทกภัย" "คน" กับ "ธรรมชาติ"
คอลัมน์ เทศมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 102
ผมบอกเล่าเรื่องน้ำหลาก น้ำท่วม ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าจะก่อความเสียหายให้กับประเทศหลายหมื่นล้านบาท ผ่านไปสัปดาห์เดียว ยอดความเสียหายเพิ่มพรวดเป็นกว่าเท่าตัว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกเอาไว้เมื่อ 11 ตุลาคม ว่าค่าเสียหายอยู่ระหว่าง 6-8 หมื่นล้านบาท ผ่านไปวันเดียว มีรายงานข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า น้ำท่วมหนนี้ก่อความเสียหายทะลุเกิน 1 แสนล้านบาทไปแล้ว
กลายเป็นเหมือนหมัดชุด ชุดที่สองที่กระหน่ำเข้าใส่อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย
ที่เพิ่งฟื้นหมาดๆ จากปัญหาวินาศภัยสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา
ค่าเสียหายจำนวนนั้น ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูหลังอุทกภัยหนนี้ที่มากมายมหาศาลไม่แพ้กันแน่นอน แล้วก็ยังไม่นับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นถ้าหากน้ำหลากทะลักเข้าโจมตีกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีประชากรคร่าวๆ ราว 10 ล้านคน หรือพาลท่วมท้นเลยไปถึงภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลากชนิด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ
นั่นไม่ใช่ผมบอกเองนะครับ แต่เป็นคำบอกเล่าของ เฟรด กิบสัน นักเศรษฐศาสตร์ของ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่เตือนว่าระยองอย่าให้ท่วมก็แล้วกัน ไม่งั้นอุตสาหกรรมของไทยเห็นทีพิการไปชั่วขณะแน่นอน
นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ภาวะน้ำท่วมก่อให้เกิดความสูญเสียกับภาคธุรกิจนี้แล้ว ยังมีความเสียหายให้กับภาคเกษตรกรรมอีกมากมายมหาศาล ถึงตอนนี้ไทยเกือบทั้งประเทศ ผ่านความเสียหายจากน้ำท่วมมาแล้วมากบ้างน้อยบ้างรวมถึง 60 จาก 77 จังหวัด
เหลือเชื่อนะครับ ยังมีจังหวัดที่ "จมน้ำ" อยู่อีก 30 จังหวัด พร้อมไร่นาอีกมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งผลิตทั้งหมดที่เรามีอยู่
อุทกภัยหนนี้สะท้อนหลายสิ่งหลายอย่างออกมาให้เห็นกันกระจะ-กระจะ ใครจะไปคิดว่าประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอย่างเมืองไทย
จะเกิดภาพการยื้อแย่งข้าวของ อาหาร ที่ถูกโปรยลงทางอากาศเพื่อเอาชีวิตรอด
ใครจะคิดกันว่า คนไทยจะอดอยากขาดแคลนสาหัสและจนแต้มจนถึงกับต้องปล้นสะดม
ทั้งหมดเกิดขึ้นให้เห็นกันกับตาในน้ำท่วมครั้งนี้
ไม่มีใครผิด ไม่มีใครควรถูกต่อว่าต่อขาน ลงว่าถ้าหากอดอาหาร อดน้ำเป็นสัปดาห์ๆ ไม่ว่าใครก็ต้องดิ้นรนทุกหนทางเพื่อเอาชีวิตให้รอดอยู่ได้กันทั้งนั้น
ไม่ว่าใครก็ตาม หากพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง ทุกนาที ทุกชั่วโมง แล้วยังไม่สามารถรองรับความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมากมาย กว้างขวางได้ ก็ได้แต่พยายามคิดเอาว่าพวกเขาได้พยายามอย่างที่สุดแล้ว แม้จุดบกพร่องจะยังมีมากมายให้เห็นก็ตามที
น้ำท่วมหนนี้แสดงให้เห็นกันชัดเจนอีกทีว่า "น้ำ" เอื้อชีวิตได้ ก็คร่าชีวิตได้ น้ำแล้งได้ ท่วมท้นก็ได้
สิ่งที่เมืองไทยเผชิญอยู่ หลายประเทศก็พานพบเช่นเดียวกัน เพราะนี่คือภาวะอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 50 ปีของภูมิภาคอุษาคเนย์
เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เจอกันมาหนักหนาสาหัสด้วยกันทั้งสิ้น
หน้ามรสุมที่เคยถูกต้องตามฤดูกาล กลับมาเร็วกว่าปกติ แต่แทนที่จะสิ้นสุดลงเร็วกว่าปกติ กลับยืดเยื้อยาวนาน และเสริมส่งด้วยพลานุภาพของพายุรุนแรงระดับไต้ฝุ่นมากมายหลายต่อหลายลูก
ทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มนุษย์เรา ไม่ว่าจะทำอย่างไร พยายามเพียงใด รีดเค้นความสามารถออกมามากมายขนาดไหน ก็ยังไม่อาจเอาชนะธรรมชาติได้
ธรรมชาติ เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมีสมดุล มนุษย์ต่างหากที่อาจหาญ คิดเอาเองว่าข้าฯ แน่ พยายามดัดแปลง ปรับเปลี่ยนสมดุลแห่งธรรมชาติเพื่อให้เอื้อต่อความสะดวกง่ายดายในการดำรงชีวิตของตนเอง
แล้วก็เผลอไผล คิดไปว่า สามารถเอาชนะ ได้ชัยเหนือธรรมชาติได้
ธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องกลับคืนสู่ภาวะสมดุล ยิ่งมนุษย์เราปรับเปลี่ยน ดัดแปลง ธรรมชาติอย่างรุนแรงมากขึ้นเท่าใด การปรับตัวเพื่อคืนสมดุลให้กับธรรมชาติก็ยิ่งรุนแรง และเฉียบพลันมากขึ้นเท่านั้น
เราเรียกร้อง ฉกฉวย ตักตวง เอาจากธรรมชาติอย่างตะกรุมตะกราม ละโมบโลภมากมาตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาที่ธรรมชาติเรียกคืนสิ่งที่ควรจะเป็นของตัวเอง ปรับสร้างสมดุลให้กับตัวเอง มนุษย์เราจะทำอย่างไรได้?
ทำใจ ช่วยเหลือเฟือฟายกันไปตามประสา แล้วก็ซึมซับบทเรียนล้ำค่าว่า นับแต่นี้ต่อไป มนุษย์กระจ้อยร่อยอย่างเรา ควรใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างเข้าอกเข้าใจ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ไม่อย่างนั้นก็คงได้แต่สลด เศร้าใจ
เมื่อธรรมชาติเอาคืน!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย