.
วันสุดท้าย
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 80
ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งคนให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวางในระดับโลก คือการเสียชีวิตของ สตีฟ จอบส์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลผู้ผลิตบรรดาสารพัดเครื่องมือทันสมัยไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และระบบปฏิบัติการต่างๆ
เรียกอุปกรณ์ของพี่เขาว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ เป็นคอมพิวเตอร์ เกลื่อนกลาดอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าบรรดาสาวกจะพาลโกรธฉันเอาหรือเปล่า
เพราะใครๆ ก็บอกกันว่าสิ่งที่พี่จอบส์เขาทำเพื่อโลกนี้มันไม่ธรรมดา แต่มันเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไปอย่างมากมาย
เรื่องนี้ฉันไม่เถียง เพราะนอกจากจะได้เห็นปรากฏการณ์คนแห่จองโทรศัพท์ไอโฟนกันมากมายมืดฟ้ามัวดิน จนแทบจะฆ่ากันตายแล้ว ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดูดสู่โลกของพี่เขาเช่นกัน
และมันก็เปลี่ยนวิถีชีวิตและความเคยชินหลายๆ อย่างของฉันจริงๆ
มันคงเป็นคำพูดที่ฟังดูเกร่ออย่างหาอะไรเปรียบมิได้ ว่าคนเรานั้นจะเป็นอะไรไม่สำคัญเท่ากับตอนที่เราตายเราทิ้งอะไรไว้ให้กับโลกบ้าง
เราพอใจ ภูมิใจกับวันที่ผ่านมาของเราแค่ไหนก่อนที่เราจะลาจากโลกนี้ไป
ในกรณีของ สตีฟ จ๊อบส์, ผู้รู้ตัวว่าป่วยและกำลังจะตาย เขาอาจมีเวลาเตรียมตัวมากกว่าคนที่ตายก่อนวัยอันควร หรือตายจากไปกะทันหันด้วยอุบัติเหตุเภทภัยต่างๆ
แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ข้อแก้ตัวทั้งหมด
เพราะเราทุกคนต่างรู้ดีว่า, ถึงอย่างไร วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องตาย
ความตายอยู่คู่กับเราทันทีในวินาทีที่เราเกิด
เรามีชีวิตแล้ว นั่นหมายความว่านาฬิกาแห่งชีพเราเริ่มเดิน
และไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่มันจะหยุด และหยุดด้วยสาเหตุใด แต่มันจะต้องหยุดแน่
ดังนั้น, การตาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดนั้น จึงไม่อาจทำให้ใครอ้างได้ว่าเขายังไม่พอใจกับชีวิต เขายังไม่ได้ทำอะไร เขายังไม่อยากไป เขายังไม่อยากตาย
จะรู้ล่วงหน้าหรือไม่ เราก็ได้ตายกันทุกคน
"วาระสุดท้าย" พูดถึงช่วงเดียวกับชื่อหนังสือของชีวิตใครหลายๆ คน
นักร้อง, นักวิทยาศาสตร์, กวี, นักเขียน
บ้างตายด้วยโรคภัย บ้างจากไปตามเวลา บ้างก็เลือกจบชีวิตด้วยมือของตัวเอง
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้และฉันว่าน่าสนใจไม่แพ้เรื่องราววาระสุดท้ายของผู้จากไปคือ วิธีรับมือของผู้ที่ยังอยู่
บางคนอาจนึกว่าการตายนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด
ในฐานะผู้ที่เสียพ่อไปแล้ว ฉันอยากจะบอกว่า ความตายนั้นไม่ได้หนักหนาอะไร
ความทรงจำนั้นต่างหากที่บั่นทอนจิตใจให้เราร้าวรานได้ถึงขีดสุด
ความตายนำใครคนหนึ่งจากไป พร้อมกับถมเราด้วยความรู้สึกว่าเราจะไม่มีเขาแล้วจริงๆ
ไม่มีวัน ไม่มีทาง
ภาพและเสียงทุกภาพที่เคยมี ล้วนเป็นความทรงจำที่จับต้องไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้
ในวันแรกๆ นั้นเราอาจวุ่นวายอยู่กับพิธีกรรมและความเหน็ดเหนื่อยใจจากพฤติกรรมแปลกๆ ของใครต่อใครที่พุ่งเข้ามาหาเราเหมือนฉลามได้กลิ่นเลือด
สิ่งที่เขาไม่กล้าทำขณะใครบางคนยังมีลมหายใจอยู่ ก็ได้แสดงออกมาจนสิ้น เนื่องด้วยเชื่อว่าไม่มีใครจะมาจับผิดอะไรได้อีก
เรื่องราวเหล่านั้นล้วนแต่ทำให้ความทรงจำถึงผู้ตายซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่ต้องแปดเปื้อน
ภาพอันชัดเจนถึงผู้ตายกลับฟุ้งไปด้วยฝุ่นตะกอนอันน่าขยะแขยงของการสอบถาม การโกหก โต้เถียง แย่งชิง และการแสดงความเสียใจจอมปลอม
นี่เป็นกระบวนการอันเลวร้าย
จนเมื่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นมลพิษเหล่านั้นได้ทำร้ายเราจนสาแก่ใจแล้วนั่นแหละ มันถึงยอมวางมือผละจากเรา เพื่อจะไปก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นต่อ
ทิ้งไว้เพียงเศษซากความเสียหายไว้เป็นทางเหมือนที่พายุอันรุนแรงจะทิ้งไว้กับผู้ประสบภัย
ในกรณีของ สตีฟ จอบส์, New York Times รายงานออกมาว่า ก่อนสตีฟจะจากไป เขารู้ตัวล่วงหน้าจากหมอว่าเหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น,
สองสามเดือนสุดท้ายของชีวิต สตีฟให้เวลาตัวเองได้พบกับเพื่อนฝูงทางธุรกิจและบุคคลใกล้ชิดที่ทยอยเข้าพบเขาเพื่อกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้าย เขาใช้เวลากับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดมากๆ หมอผู้ให้การรักษาเขามาตลอด เพื่อนสนิททั้งในและนอกวงการ เขาไปกินอาหารมื้อสุดท้ายเพื่อเป็นการอำลาที่ร้านโปรดของเขา
เขาเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังถึงวันที่เขาพบกับลอเร็น -ผู้ที่จะมาเป็นภรรยาคู่ชีวิต- ว่ากำลังจะไปประชุม เห็นผู้หญิงคนนี้กำลังเดินอยู่ไม่ไกลจากที่จอดรถ
การตัดสินใจเข้าไปขอคุยด้วยในวันนั้นมาจากคำถามที่เขาถามตัวเองว่า "จะเลือกทำอะไรถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต, ประชุม? หรือเดินเข้าไปทำความรู้จักและขอเดตกับเธอ ? "
เขาได้ทำในสิ่งที่คิดจนวันตาย, นั่นคือใช้ชีวิตทุกวันเหมือนกับว่ามันเป็นวันสุดท้าย
จะมีสักกี่คนในโลกที่คิดแบบนี้ได้ทุกวัน
เราต่างหลงระเริงอยู่ในความหนุ่มสาว ความสนุกและความแข็งแรงจนหลงลืมไป
แต่ฉันก็ยังคงมีความเชื่อหนึ่งในใจว่าการใช้ชีวิตทุกวันให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายนั้นแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด
มีหลายคนกินชีวจิต ขับรถอย่างระวัง ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ด้วยว่าถนอมชีวิตไว้เพื่อให้อยู่ได้ยืนยาวที่สุด
ในขณะที่มนุษย์อย่างฉันใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง ลองทุกอย่าง และยังอยากลองอยู่ตลอดเวลา
ฉันว่าฉันคุ้มแล้วหากฉันต้องตาย ก็ในเมื่อเราทุกคนต่างต้องตาย
ใช่, ฉันอาจจะตายก่อนคนแบบแรกด้วยแนวทางการใช้ชีวิตของฉัน
แต่ความสนุกนั้น ไม่มีใครรับประกันกับฉันว่าจะหาได้ในนรกนี่นา
"วาระสุดท้าย " เขียนโดย โตมร สุขปรีชา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุกส์, ตุลาคม 2554
++
ใคร
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 80
เคยนั่งนึกย้อนกลับไปบ้างไหม ว่าก่อนหน้านี้เรามีความเชื่อในอะไรบ้าง และมาถึงวันนี้ ความเชื่อนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปหรือยัง?
วันหนึ่งเราอาจชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสุดจิตสุดใจ เชื่อว่าสิ่งนี้คือความจริงของชีวิต พร้อมจะเป็นปากเสียงให้ และหงุดหงิดเวลาใครกล้ามาเห็นต่าง
แล้วอีกวันหนึ่งความเชื่อความรักความศรัทธานั้นก็เลือนหายไปเฉยๆ
เกิดอะไรขึ้นกับเราระหว่างทาง?
เราค้นหาคำตอบได้หรือเราคิดว่าเราได้เห็นความเป็นจริง?
มันเป็นที่เรา หรือเป็นที่สิ่งรอบตัว?
เราโดนเคาะกะโหลกให้ตื่นมาแล้วหันกลับไปมองอีกด้าน หรือเราแค่โตขึ้นและโรแมนติกน้อยลง ?
แต่เชื่อเถอะ, เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
__"พวกคุณเข้าใจหรือยัง หากผู้คนถูกโกงไปเฉยๆ
ก็มีความเป็นไปได้เสมอว่าสักวันหนึ่งพวกเขาอาจตื่นขึ้นมาและแข็งข้อต่อต้านอาชญากรรมนั้น
เราไม่ได้เปลี่ยนความคิดของพวกเขา เราเปลี่ยนความจริงต่างหาก
คนส่วนใหญ่แค่ไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย พวกเขาจะเออออไปกับทุกเรื่อง
ตราบเท่าที่เราทำให้พวกเขาเกิดภาพลวงตาเรื่องอิสรภาพไปเรื่อยๆ
เราต่อเติมความหวัง และหล่อเลี้ยงความหวาดกลัวของพวกเขา และทันทีที่พวกเขาเชื่อ
พวกเขาก็อยู่ในกำมือเราตลอดกาล" * ___
The Overton Window อาจแปลกแปร่งด้วยสำนวนแปล
เนื้อเรื่องอาจไม่คุ้นเคยจนเหมือนจะเข้าใจยาก แต่ประเด็นหลักนั้นน่าสนใจ
- เราเชื่อเพราะเราเชื่อ หรือเพราะเราถูกทำให้เชื่อกันแน่ -
ทฤษฎีหน้าต่างโอเวอร์ตันในหนังสือเล่มนี้คือการอธิบายสิ่งที่สาธารณชนพร้อมจะยอมรับในเวลาใดเวลาหนึ่งและการขยับการยอมรับไปสู่จุดใดจุดหนึ่งที่เราต้องการ
ดังนั้น ปลายสุดด้านหนึ่งคือความเป็นไปได้อย่างสุดโต่ง
และอีกด้านหนึ่งคือสิ่งที่คุณคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันจะมีวันเกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น การรักษาความปลอดภัยในสนามบิน
มันเกิดขึ้นในช่วงชีวิตเรานี่เอง ที่เราเคยเลี้ยวรถเข้าไปในสนามบินและวิ่งเข้าไปเช็กอินก่อนเวลาเครื่องออกแค่ไม่กี่นาทีได้สบายๆ เราพกน้ำ พกข้าวของหรืออะไรก็ได้ที่เป็นอุปกรณ์ในการเดินทางไว้ในกระเป๋าไม่ว่าจะ เป็นกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋าเดินทาง เราสูบบุหรี่บนเครื่องได้
เรากินเหล้าได้เรื่อยๆ โดยไม่ถูกมองอย่างสงสัย
เราเดินไปพูดคุยกับกัปตันได้โดยไม่ถูกจับจ้องระแวดระวังเป็นพิเศษ
แล้วถัดมาอีกไม่กี่สิบปี, การเดินทางไปขึ้นเครื่องบินก็กลายมาเป็นอย่างที่เราโดนกันอยู่ทุกวันนี้
จากเหตุการณ์ในอดีตมาจนถึงการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขนาดต้องตรวจเช็กขวดนมเด็กในปัจจุบันคือการขยับตัวของหน้าต่างโอเวอร์ตัน
นั่นคือการเคลื่อนย้ายความจริง
เราเริ่มรู้สึกว่าการโดนตรวจเป็นสิ่งจำเป็น การที่เราพกน้ำขึ้นเครื่องบินไม่ได้มีเหตุผลมากพอ การไปรอขึ้นเครื่องไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมงเป็นเรื่องธรรมดา
เราคนเดียว คนเดิมกับที่เดินขึ้นเครื่องสบายๆ ในยุคก่อนหน้านี้นั่นแหละ
แล้วมันมีไว้ทำอะไร ไอ้กรอบหน้าต่างโอเวอร์ตันบ้าๆ นี่
อย่างแรกก็คือทำให้รัฐมาพัวพันกับชีวิตเราได้ง่ายขึ้น
มันคือข้ออ้างในการสั่งซื้อเครื่องตรวจเช็กเอกซ์เรย์ คือการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมที่มากขึ้น อนุญาตให้มีกฎระเบียบที่เราต้องจำยอมมากขึ้น สร้างช่องทางให้ฉ้อฉลได้มากขึ้น
และเมื่อรัฐฉ้อฉลมากขึ้น ก็เป็นการสร้างแรงหนุนต่อการปฏิวัติที่ดูจะชอบธรรมได้มากขึ้นเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องของกระสุนนัดแรก
กระสุนนัดแรกที่เปิดฉากสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา
ว่ากระสุนที่แท้จริงนั้นไม่ใช่กระสุนจากทหาร
แต่มาจากคำพูดคำสอนของนักเทศน์ที่หยิบยกสถานการณ์ในประเทศมาพูด
การยุยง ส่อเสียด หวาดระแวง
และการปลุกปั่นอย่างลับๆ โดยมือที่มองไม่เห็นนั่นเองคือกระสุนนัดแรก
แต่ไม่ว่าใครจะเริ่มยิงก่อน
ความตายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
ถ้าคุณเชื่อในทฤษฎีเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
หลายเหตุการณ์ก็มีอะไรหลายอย่างชวนให้คิดต่อ
ฉันไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่เป็นเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้
แต่หมายถึงทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา
เรื่องราวมันเป็นเท่าที่เราเห็น หรือมีอะไรซ่อนไว้มากกว่านั้น
นี่อาจเป็นเพียงหนังสือซึ่งนำเสนอทฤษฎีสมคบคิดที่มีอยู่ดาษดื่น อะไรที่อาจใหญ่เกินตัวของเรา
อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกันกับเรา
แต่ฉันก็เริ่มไม่แน่ใจว่าที่ฉันรู้สึกว่ามันดื่นมันดาษนั้นฉันคิดของฉันเอง
หรือใครทำให้ฉันคิดเช่นนั้นกันแน่
* ข้อความจากในหนังสือ
"The Overton Window" (โอเวอร์ตัน แผนลับลวงโลก) เขียนโดย เกลนน์ เบ็ก แปลโดย ปัทมา อินทรรักษา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยแพรวสำนักพิมพ์, มีนาคม 2554
++
"โรคมรณะ"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1575 หน้า 79
1.
"โรค"แดงมรณะ" ได้คุกคามประเทศนี้มานานแล้ว ไม่เคยมีโรคระบาดใดที่ร้ายแรงและน่ากลัวเท่านี้มาก่อน สีแดงคือตัวแทนและสัญลักษณ์ของความน่าเกลียดน่ากลัวของเลือด ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการเจ็บอย่างรุนแรงและเวียนหัวอย่างกะทันหัน แล้วเลือดก็จะไหลโชกออกมาทางรูขุมขนจนขาดใจตายไปในที่สุด เลือดสีแดงฉานเปื้อนร่างโดยเฉพาะบนใบหน้าของผู้ป่วยนั้น เป็นเหมือนการสาปแช่งของโรคร้ายที่ทำให้เขาไม่ได้รับการช่วยเหลือและความสงสารจากเพื่อนรอบข้าง " *
ขณะนี้เป็นเดือนตุลาคม
หลังจากการลุกฮือของประชาชนที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516แล้ว อีก 3 ปีต่อมากลับเกิดความแตกแยกทั้งในพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนบทบาทของนิสิตนักศึกษา และ กลุ่มที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา
ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่พระถนอม ทวีความรุนแรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนักศึกษา สภาแรงงาน และผู้ต่อต้าน ได้รวมตัวกันประท้วงที่สนามหลวง จากนั้นจึงย้ายเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทางด้านกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำของนิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันแถลงการณ์กล่าวหาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาแรงงาน และนักการเมืองบางคนว่า ได้ถือเอากรณีพระถนอมเป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบในประเทศ ต่อมากลุ่มเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาชุมนุมบ้าง
เพื่อต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา โดยกลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุม และปลดรัฐมนตรีบางคนที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษา แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สั่งการประการใด สถานการณ์รอบด้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519
เวลาเช้ามืดราว 2 นาฬิกา กลุ่มกระทิงแดงทุกจุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบและมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิตนักศึกษา กลุ่มนวพลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิตนักศึกษา เวลาราว 5 นาฬิกา เริ่มมีการยิงจากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้ เวลา 7 นาฬิกา กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัยและใช้อาวุธหนักระดมยิง ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษและตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่างๆ เข้าถึงที่เกิดเหตุ
เวลา 8 นาฬิกา ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2.
"โลกภายนอกสามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว และในระหว่างนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งเสียอกเสียใจหรือคิดอะไรทั้งนั้น เจ้าชายได้เตรียมเครื่องสร้างความบันเทิงเริงรมย์ไว้ทุกอย่าง...มีทั้งสิ่งของสวยงามและไวน์พร้อมสรรพ และมีมาตรการความปลอดภัยแน่นหนา แต่สิ่งเดียวที่ไม่มีในนั้นคือ "โรคแดงมรณะ" " *
ปี 1962 เหมา เจ๋อ ตง ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคว่ายังคงมีชนชั้นในสังคมนิยมจีน จึงต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้น (ปฏิวัติ) อยู่ต่อไปแต่ปัญหาก็คือคนสนับสนุนแนวความคิดนี้ของท่านประธานเหมามีน้อยเกินไป กลไกจัดตั้งของพรรคมีความเป็นระบบมาก จนเหมาไม่สามารถสอดแทรกความคิดนี้ในที่ประชุมได้ ประธานเหมาจึงไปดำเนินงานปฏิวัติในเซี่ยงไฮ้โดยเริ่มจากให้มีการตอบโต้จากหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ ว่ามีผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้ และต่อด้วยความพยายามผลักดันนโยบายศึกษาสังคมนิยมและปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อมา กระบวนการ นั้นเริ่มจากการติดป้ายประกาศตามมหาวิทยาลัยเพื่อเรียกร้องให้นักศึกษาออกมาปฏิวัติสังคมจีนเก่า อีกกระบวนการที่เริ่มขึ้นควบคู่กันไปก็คือการก่อตั้งเรดการ์ด โดยอ้างเอาจากอุปมาว่า
ประธานเหมาต้องการ "เห้งเจีย" ตัวเล็กๆ จำนวนมากเพื่อกำราบสวรรค์ (พรรค) เห้งเจียตัวเล็กๆ ในที่นี้ก็คือกำลังเยาวชน เด็กนักศึกษามหาวิทยาลัย และต่อมาก็ลุกลามไปถึงนักเรียนมัธยมปลายอีกด้วย กองทัพเรดการ์ดนั้นมีสัญลักษณ์คือ นักศึกษาสวมปลอกแขนแดง ถือหนังสือปกแดง ออกอาละวาดจับกุมผู้ที่ (ถูกหาว่า) มีแนวความคิดเป็นทุนนิยม-ผู้นิยมต่างชาติ หรือเป็นสายลับ-พวกนิยมลัทธิแก้ หรือข้อหาอะไรก็ได้ที่สามารถคิดขึ้นมาได้เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่ถูกจับที่มีทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด และเพื่อนร่วมงานจะถูกสอบสวน ตั้งข้อหา ทำทารุณกรรม และถูกลงโทษโดยไม่ใช้กระบวนการทางศาล อาจารย์อาวุโสถูกนักศึกษาจับกุม สอบสวน เป้าหมายลำดับต่อไปก็คือผู้มีอำนาจในพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรม และรวมไปถึงสมาชิกคณะรัฐบาล ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันและองค์กรต่างๆ
เหมา เจ๋อ ตง สนับสนุนเรดการ์ดอย่างเต็มที่
มีการเดินขบวนสวนสนามตลอดปลายปีนั้น เด็กหนุ่มสาวสวมปลอกแขนสีแดง ในมือถือหนังสือปกแดงเดินผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินโดยมี เหมา เจ๋อ ตง คอยโบกมือต้อนรับ ที่น่าขนลุกก็คือคำพูดที่เปล่งออกมาจากปากคนหนุ่มสาวเหล่านั้นว่า "ขอให้ประธานเหมาอายุยืนหมื่นปี " ช่างเหมือนกับที่เหล่าเสนาบดีกล่าวกับฮ่องเต้ในยุคศักดินาไม่มีผิด
หลังจากนั้น ทั่วประเทศจีนก็เข้าสู่กลียุคเมื่อพวกเรดการ์ดกระจายไปทั่วสารทิศแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย บางส่วนก็บุกเข้าไปในวัดโบถส์ พิพิธภัณฑสถาน ทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ ตอนหลังก็มีการบุกค้นบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ดีเก่า ปัญญาชน ศิลปินหัวอนุรักษนิยม จะถูกจับแห่ประจาน ทรมาน ตอนหลังแม้แต่พระสงค์ แม่ชีและนักบวชก็ไม่เว้น พวกที่มีญาติอยู่ต่างประเทศก็โดนข้อหา "มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ" หลายคนทนรับเหตุการณ์ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย เฉพาะในเเวลานั้น ทั่วประเทศจีนมีคนฆ่าตัวตายกว่า 2 แสนคน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนต้องถูกทำลาย เช่น หนังสือ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะต่างๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎ
ประเทศจีนในช่วงเวลาดังกล่าวตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่า "แดงสยอง"
3.
"คนหลายคนในกลุ่มเริ่มสังเกตเห็นคนสวมหน้ากากคนหนึ่ง...เสียงร่ำลือถึงผู้ที่มา เยือนใหม่นี้ได้แผ่วงขยายออกไปมากขึ้น....เสียงพูดที่แสดงความไม่เห็นชอบและ ประหลาดใจพึมพำดังไปโดยรอบ และแล้วในที่สุด เสียงนั้นก็กลายเป็นเสียงแห่งความกลัว ความสยดสยอง และความขยะแขยง " *
การชี้นำ การโฆษณา การปิดหูปิดตาไม่รับรู้ การยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล การเห็นว่าปัญหาของตนเท่านั้นจึงจะเป็นความจริง ล้วนแล้วแต่ทำให้เราไม่รู้
เมื่อไม่รู้เสียแล้ว การกระทำที่จะแสดงออกมาก็มีเพียงสองทางคือ, ปฏิเสธสิ่งที่ไม่รู้อย่างเด็ดขาด กับทางที่สองคือ หลงงมงายบูชาความไม่รู้นั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา
เพราะคิดไปว่าเมื่อเราไม่รู้ก็หมายความว่าสิ่งนั้นช่างยากเย็นและสูงส่งเกินกว่าจะตั้งคำถาม
แนวคิดนี้ พาเรากลับไปสู่ยุคที่มนุษย์เพิ่งค้นพบไฟและตื่นตกใจในพลังของปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกครั้ง บรรพบุรุษของเราในยุคนั้น เชื่อว่าทางที่จะทำให้ปรากฏการณ์รุนแรงนั้นสงบลงได้ก็จำต้องสังเวยด้วยสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เขาพอจะหาได้นั่นก็คือ, เลือดเนื้อของมนุษย์ด้วยกัน
ใครก็ได้, ที่ไม่ใช่ตัวเรา
4.
"เขามีรูปร่างสูง ผอมกะหร่อง และเอาผ้าพันตัวเหมือนซากศพ หน้ากากที่เขาสวมมานั้นปกปิดดวงตาจนดูเหมือนใบหน้าของศพที่แข็งแล้ว และปิดไว้มิดชิดจนคนจ้องมองหน้าเขาแทบไม่เห็นเลย เจ้ามัมมี่นั่นแต่งตัวบ้ามาก เหมือนว่าเขาแต่งตัวเลียนแบบโรคแดงมรณะ " *
ทุกวันนี้ชีวิตลำบากซับซ้อนและต้องใช้มันในหลายมิติมากขึ้น จะดุ่มๆ ดุ่ยๆ ลุยไปข้างหน้าตามใจตัวเองนั้นอาจทำให้ถูกตามล้างตามล่าจนไร้ที่ ยืนในสังคมไปได้ง่ายๆ เพราะชั้นแค่จะเข้ากลุ่มก้อนอะไรซักอย่างยังมีการแบ่งชนชั้นกันยุ่บยั่บ ว่าไอ้นั่นเชื่อมาก ไอ้นี่เชื่อน้อย กูต่างหากตัวจริง อีคนนั้นมันอิงกระแสมวลชน
เฮ่อ
สีมันยังมีเฉดที่แตกต่างกัน แต่เราทุกคนก็ล้วนเข้าใจได้ว่ามันรวมอยู่ในโทนสีไหน สีต่างกันใช่ว่าจะวัดความจริงแท้ใดได้ เพราะความจริงนั้นเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ความเข้าใจในความจริงนั้นๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การยอมรับนั่นยิ่งกลายเป็นอีกเรื่องโดยสิ้นเชิง
หากจะเปรียบไปก็ เหมือนความรักของแม่กับลูก แม่ย่อมรักลูกทุกๆ คนเหมือนกัน วิธีการดูแลและปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนนั้นต่างหากที่แปลกแตกต่างออกไป แล้วลูกแต่ละคนก็ต้องการความรักและการโอบเอื้อในระดับที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
เพราะถ้ายังมานั่งคิดว่ากูดีกว่าเพราะกูคิดจริงกว่า ไม่ก้ำกึ่งครึ่งควบลูกเหมือนอย่างมึงแล้วไซร้ เราก็จงอย่าคิดแบ่งพรรคแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งค่ายแบ่งสีอันใดเลย จงหันเอาเวลามาผลิตหุ่นยนต์แล้วตั้งระบบปฏิบัติการให้ได้ความเสถียรในระดับเดียวกันจะดีกว่า รับรองว่าคราวนี้จริงเท่ากันหมด
แม้จะเป็นความจริงที่ไร้หัวใจก็ตาม
"ด้วยความกล้าที่เกิดมาจากความสิ้นหวัง แขกในงานเลี้ยงกลุ่มใหญ่ก็วิ่งถลาเข้าไปจับตัวชายมัมมี่นั้นไว้ เสียงร้องดังเฮือกด้วยความกลัวที่ได้เห็นผ้าพันศพและหน้ากากของศพซึ่งพวกเขาได้ฉีกมันออกด้วยความรุนแรงป่าเถื่อนแต่, ไม่มีร่างใดภายใต้ผ้านั้น " *
* ข้อความจากเรื่องสั้น "โรคมรณะ" ( The Masque of The Red Death) ในหนังสือรวมเรื่องสั้น "แมวผี" ของ Edgar Allan Poe โดย สำนักพิมพ์ freeform
++
เปิดตำนาน การเมืองเรื่องสนุก
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1574 หน้า 79
น้องสาวฉันที่แต่งงานไปได้หนึ่งปีเข้าแล้วกำลังเตรียมตัวพร้อมที่จะมีลูก
ตอนนี้ทั้งบ้านก็เลยพร้อมใจกันมานั่งลุ้นกันเรื่องหลาน เพราะทุกคนอยากจะเป็นคุณยาย คุณลุง คุณป้ากันทั้งนั้น
นอกเหนือจากการวางแผนเลี้ยงหลานให้โตขึ้นมาอย่างมีสไตล์ในแบบของครอบครัวฉันแล้ว ฉันยังต้องเตรียมตัวศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ฉันเป็นคนไม่ชอบเด็ก
แต่เคราะห์ดีเหลือหลายที่ฉันเกิดเป็นคนไทย เลยได้ดูประชุมสภาเพื่อเป็นการศึกษาธรรมชาติของเด็กไปพลางๆ โดยไม่ต้องกล้ำกลืนไปพบเด็กจริงๆ ในโรงเรียนอนุบาล
เพราะดูๆ ไปก็ไม่เห็นจะต่างกับเด็กทะเลาะกันเท่าไหร่เลย
ทั้งงอแง และตั้งแง่ใส่กันแบบไม่เกี่ยงว่าเรื่องนั้นสมควรหรือไม่
อ้างเหตุรอบตัวแบบไม่ใส่ใจถึงความเกี่ยวข้องกันของเหตุการณ์ ไม่มีเหตุผล
เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ
ไม่รู้จะมาเกี่ยงอะไรกันนัก
เพราะที่เห็นนั่งเรียงกันหน้าสลอนอยู่นั้น บางคนเคยเป็นมาแล้วทั้งสองฟากฝั่ง ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล, บางคนก็มีวัยหนุ่มที่เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลยุคนั้นๆ มาก่อน, เคยหนีเข้าป่า, เคยกินอุดมการณ์, เคยทำเพื่อประชาชน
แต่ไปๆ มาๆ อาจเพิ่งนึกขึ้นได้, ว่าตัวเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันนี่หว่า
เลยหันมาทำอะไรเพื่อตัวเองอย่างเดียวดีกว่า เพราะได้ทั้งผลประโยชน์แบบเต็มๆ แล้วก็ยังกล่อมตัวเองให้นับถือในตัวเองได้อีกด้วย ว่าฉันไม่ได้แตกแถว หรือเปลี่ยนแนวอะไรให้เสียอุดมการณ์ "เพื่อประชาชน" ที่ยึดถือมาแต่ดั้งเดิมเสียด้วย
ใครที่ชอบบอกว่าละครหรือเกมทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบไปในทางก้าวร้าว รุนแรงควรมาศึกษาพฤติกรรมเลียนแบบที่เด็กอาจได้รับจากการประชุมสภาบ้าง
เพราะฉันว่าถ้าจะมีเด็กสักคนตั้งอกตั้งใจดูจริงๆ ก็ออกจะเป็นอันตรายต่อจิตใจและพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากอยู่
ฉันจึงอยากจะเสนอแนะว่า, ช่องที่สมควรจะทำการถ่ายทอดการประชุมสภาที่สุดนั้น น่าจะเป็นช่อง Animal Planet เพราะคนซึ่งสนใจติดตามชมสารคดีชีวิตสัตว์โลกมาเรื่อยๆ นั้น น่าจะสามารถดูเรื่องราวของสัตว์กับการประชุมสภาได้เลยอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกสะดุดอารมณ์แต่อย่างไร
แต่หากท่านไม่ชอบการทะเลาะเบาะแว้งแบบงอแงโง่ๆ ท่านก็ยังสามารถติดตามข่าวที่น่าสนใจสุดขีดในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้อีกข่าวหนึ่ง
ไม่ใช่ข่าวความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย (และตำรวจที่ "ปฏิเสธตำแหน่งเพื่อชาติ" ก็ได้รับการชื่นชมแบบเกรียวกราว)
ไม่ใช่ข่าวที่ว่าเราจะยังไม่มีระบบ 3G ใช้ (ถ้าอยากใช้ให้ท่านไปใช้ได้ที่ประเทศซึ่งก้าวหน้ากว่าเราเช่น ลาว และเวียดนาม...)
ไม่ใช่ข่าว DSI ลงพื้นที่บ่อนไก่-ราชประสงค์ เพื่อสำรวจตรวจหาหลักฐานและวิถีกระสุนจากเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงเดือนพฤษภาคม (ไม่ใช่พฤษภาคมปี"35 นะคะ ของปีนี้นี่แหละ ไม่รู้เพิ่งนึกได้หรือไม่มีอะไรทำกันแน่เลยเพิ่งไปดู)
ไม่ใช่ข่าวพรรคแรงงานเกาหลีเหนือจัดประชุมผู้นำเพื่อส่งต่ออำนาจเบ็ดเสร็จ ให้กับตะกูลคิม คนต่อไป (นักฟุตบอลชุดแข่งบอลโลกคงลุ้นเป็นพิเศษ ว่าจะได้รับอภัยโทษไหม)
ไม่ใช่ข่าวคุณหญิงจารุวรรณที่รักการทำงานจนไม่อยากพรากจาก สตง. ไป (ประมาณว่าเสียสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของทุกๆ คนด้วยการขอยึดทั้งเก้าอี้และรถประจำตำแหน่งไปจนตัวตาย...)
ไม่ใช่ข่าวการวางระเบิดที่เกิดขึ้นรายวัน ประหนึ่งว่าอาวุธสงครามนั้นหาใช้ได้ง่ายพอๆกับเงาะ และเมื่อไม่ใช่ข่าวทั้งหมดทั้งมวลที่ฉันว่ามานั้นแล้วมันจะเป็นข่าวอะไรไปได้ถ้าไม่ใช่...
เก่งมากค่ะทุกท่าน!! ข่าวซึ่งสำคัญกว่าเรื่องราวของประเทศทั้งในชาตินี้และชาติหน้าคือข่าวความสัมพันธ์ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนระหว่างฟิล์มกับแอนนี่นั่นเอง!
ฉันว่าควรมีผู้แทนจากฝ่ายรัฐและอีกหลายๆ องค์กรรวมเงินกันซื้อเหล้าไห ไก่ตัว พร้อมดอกไม้ ธูปเทียนไปกราบขอบคุณฟิล์มและแอนนี่ รวมถึงให้เบี้ยบำนาญแก่ทั้งสองไปจนตลอดชีวิต เพราะหากไม่มีข่าวของทั้งสองออกมาในช่วงนี้ พวกน้าๆ ลุงๆ ท่านๆ ทั้งหลายนั้นคงต้องโดนซักฟอก ตั้งข้อสงสัย และให้สัมภาษณ์กันปากเปียกปากแฉะกว่าที่เป็นอยู่
แต่นี่เรื่องทุกเรื่องกลับเลือนหายและหมดความสำคัญไปอย่างง่ายดายเพราะพิษรักของคู่นี้นั่นเอง
ไม่ขอบคุณนาทีนี้จะไปขอบคุณกันตอนไหน
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในช่วงเดือนนี้มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลต่ออนาคตของชาติมากมายหลายเรื่องอยู่ แต่ก็ถูกลืมเลือนกันไป หรือถึงจะรับรู้ก็รู้กันอย่างแกนๆ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ คนยังให้ความสำคัญต่อเรื่องความสัมพันธ์ของฟิล์มกับแอนนี่มากกว่าเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองเสียอีก
แต่ลองมองย้อนกลับไป เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเวลามีใครที่คิดจะเข้าสู่วงการเมืองการปกครองนั้น เขาใช้ศัพท์กันว่า "เล่น" เล่น, ซึ่งแปลว่ากิจกรรมยามว่าง ไม่ต้องรับผิดชอบจริงจัง กฎกติกามีไว้หลวมๆ เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างก็ยังได้ และถึงทำอะไรผิดไปบ้างก็ไม่เป็นไร
แหม, ก็มันเป็นเรื่องเล่นนี่นา
จะไปจริงจังอะไรกันนักหนาล่ะ
ซึ่งเรื่องเล่นนี่สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปที่โตๆ แล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ด้วยว่าพอมนุษย์เราโตขึ้นก็ย่อมต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จะมาทีเล่นทีจริงกับชีวิต เห็นทีจะไปไม่ถึงไหน
ก็อาจเพราะเหตุนี้ก็ได้ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่บางคนถึงโดดลงมาคลุกวงในกับวงการเมือง
สงสัยจะเหงา เพราะตอนเด็กๆ ไม่มีใครเล่นด้วยนี่เอง
โถ โถ โถ
ช่างน่าเห็นใจ
แถมยังมีการแบ่งพวกเธอ พวกฉัน พวกเขา พวกใครเหมือนเด็กๆ จับกลุ่มเล่นตี่จับหรือกระโดดยาง ที่ต้องคัดพวกเพื่อนที่ชำนาญการเล่นมาเข้าพวกเสียก่อน ไอ้เศษๆ ที่เหลือๆ นั้นเดี๋ยวค่อยว่ากันทีหลัง แต่ก็มักจะเป็นไอ้พวกเศษๆ นั่นเสียทุกทีสิน่าที่ทำให้ฝ่ายของเราต้องถึงแก่การเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้อย่างไม่น่าให้อภัย
แล้วถึงแม้จะโกรธแสนโกรธพวกที่มาทำเสียคะแนนชนิดโกรธร้อยปีอย่ามาดีร้อยชาติมาก แค่ไหนนั้น ในนาทีต่อไปก็อาจหวนกลับมาคืนดีและพร้อมที่จะเล่นตี่จับกันต่อไปอีกครั้งและอีกครั้ง
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าลักษณาการเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อครั้งกระนู้น
"การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นการทำกันแบบไทยๆ ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ และใช้วิธีประนีประนอม
เพราะเมื่อยึดอำนาจได้แล้วแทนที่จะครองอำนาจเพื่อจัดการให้การเปลี่ยนแปลงนั้น มีทิศทางที่มั่นคงยืนยาวต่อไป กลับเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกันหนัก จึงใช้วิธีพบกันครึ่งทางไปเชิญเอา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเห็นว่าเป็นนักเรียนอังกฤษมีความคิดทันสมัย และเป็นคนที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ผู้เป็นต้นคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองดึงมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนกฎหมายที่ตั้งขึ้น พระยามโนปกรณ์ฯ ท่านเป็นขุนนางของอำนาจเก่าที่ถูกยึดอำนาจไป เลยกลายเป็นว่า เอาฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจกลับมาครองอำนาจอีก ทำเอากลุ่มอำนาจเก่าที่คิดว่าตัวเองนั้นหมดวาสนาไปแล้ว กลับมามีอิทธิฤทธิ์อีกอย่างไม่น่าเชื่อ...
พอคุมอำนาจทั้ง ครม. และกองทัพ ก็เหลิงอำนาจกันเต็มที่ ไม่ต้องคิดถึงกฎหมายใดๆ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรที่ล้วนแต่เป็นฝ่ายนิยมอำนาจใหม่ ไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะมี ส.ส. ขึ้นมาใหม่ กลายเป็นว่าพระราชฎีกาฉบับนี้เหนือกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก ทั้งๆ ที่พระยามโนปกรณ์ฯ จบกฎหมายมาจากอังกฤษแบบนี้ก็ยังทำกันได้..." *
เมื่อเริ่มมาเป็นเสียเช่นนี้แล้ว เส้นทางต่อมาของการเมืองบ้านเราจึงออกแนวผจญภัยฝ่าฟันแบบกึ่งจริงกึ่งเล่น กันอยู่เรื่อยๆ ทำเอาคนปรับตัวตามกันแทบไม่ทัน หรือต่อให้ทัน, ฉันก็เชื่อว่ามันยากจะเข้าใจ
เพราะมีทั้งการทำรัฐประหารแบบลิเก คณะรัฐมนตรีมีกิจการส่วนตัวและบริหารประเทศไปพร้อมๆ กัน, นายกฯ เผด็จการงอนคนรอบข้าง จนออกคำสั่งอย่าง แต่ทำอีกอย่าง, นายกฯ ตกเก้าอี้เพราะทำกับข้าว, นายกฯ ที่ใช้เงินจากกองสลาก 3 ล้านไปใช้รักษาอาการป่วยของตัวเอง, รัฐธรรมนูญที่ร่างๆ ลบๆ จนใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าจะคลอดออกมา, แป๊ะซะปลาช่อนซึ่งสามารถสั่นสะเทือนกระทรวงมหาดไทยได้
และอีกร้อยแปดเรื่องแสนสนุกที่เราจะต้องพลาดโอกาสประสบหากเกิดเป็นคนชาติอื่น
แต่ฉันว่าท่านๆ ทั้งหลายที่ได้ผ่านเข้ามาเล่นการเมืองจนลาโลกไปหลายๆ คนแล้วนั้น ถ้ายังเห็นเหตุการณ์ในทุกวันนี้คงตบอกผลุงว่ามันช่างเล่นกันหนักเสียเหลือเกิน
แถมเป็นการเล่นที่พอพวกท่านสนุกกันแล้ว คนที่กลายเป็นฝ่ายรับผลการ-เล่นจริง เจ็บจริง-ของพวกท่านก็เป็นประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ
Thailand Only มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
* ข้อความจากในหนังสือ
"เปิดตำนาน การเมืองเรื่องสนุก" เขียนโดย โรม บุนนาค ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์สยามบันทึก, สิงหาคม 2553
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย