http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-08

ทหารเมื่อวันวาน : 14ตุลา-6ตุลาฯ, 5 ปีแห่งการล้มลุกคลุกคลานฯ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.


ทหารเมื่อวันวาน : 14 ตุลาฯ - 6 ตุลาฯ
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 36


"ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปัจจุบัน
และมีผลอย่างมากต่อความคาดหวังในอนาคต
...แต่เรื่องราวเกี่ยวกับอดีตมักจะถูกหลงลืมได้ง่าย
ยกเว้นก็แต่เรื่องราวของสงครามเท่านั้น"
Bernard Brodie
War & Politics (1973)


ในทุกวาระการครบรอบประจำปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 นั้น จะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเรื่องราวต่างๆ กันเป็นประจำทุกปี ผู้คนที่เข้าร่วมมีความหลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญพวกเขาหลายๆ คนอาจจะไม่เคยผ่านเหตุการณ์ทั้งสองเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็คิดว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีค่าควรแก่การรำลึกถึงในฐานะหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของการเมืองไทย

เราคงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ทหารกับการเมืองไทยในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 นั้นอยู่ในรูปแบบของการปกครองโดยตรงของรัฐบาลทหาร

ถ้าเราตัดตอนจากความสำเร็จของรัฐประหาร 2501 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว จะเห็นได้ว่าการยึดอำนาจในปีดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารอย่างเต็มรูป และสืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร

แม้จะมีความพยายามช่วงสั้นๆ ในสมัยของจอมพลถนอมที่เปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2511 แต่แล้วในที่สุดเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกในปี 2514 อันเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถควบคุมรัฐสภาได้ดังที่ต้องการ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของจอมพลถนอมเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองของไทยต่อไปได้ในอนาคต

ดังนั้น จอมพลถนอมในฐานะ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" (คำที่ใช้ในแถลงการณ์ของการยึดอำนาจ) ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนปลายปี 2514

ผลของการรัฐประหารในปีดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารครั้งที่ 2 ของจอมพลถนอม และอาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516



รัฐบาลทหาร 2 ของจอมพลถนอมเกิดขึ้นในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ที่ผู้คนเป็นจำนวนมากเริ่มรู้สึก "ไม่รับ" ความเป็นรัฐบาลทหารในการเมืองไทย

และขณะเดียวกันปัญญาชนหลายๆ ส่วนในสังคมไทยก็เริ่มเรียกร้องหาประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยพวกเขาเชื่อว่าทางออกของสังคมไทย คือ การเดินไปสู่แนวทางเสรีนิยมมากกว่าจะอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่เป็นอำนาจนิยมของรัฐบาลทหาร

ในที่สุดการต่อต้านรัฐประหารเช่นนี้ได้นำไปสู่การประท้วงใหญ่และขยายตัวเป็นการปะทะระหว่างประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกำลังทหารที่ถูกส่งออกมาบนท้องถนนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

ซึ่งดูเหมือนว่า ผู้นำรัฐบาลทหารดูจะคิดแบบง่ายๆ ว่า ถ้ากำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเคลื่อนเข้าควบคุมพื้นที่บนถนนแล้ว ประชาชนผู้ร่วมการชุมนุมจะเกิดอาการกลัวและตัดสินใจถอนตัวออกจากการร่วมชุมนุม ซึ่งจะทำให้กองกำลังของรัฐสามารถเข้าคุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และก็อาจทำให้เหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลสิ้นสุดลงได้โดยง่าย

แน่นอนว่า ถ้าทุกอย่างง่ายอย่างที่รัฐบาลในขณะนั้นคิด ก็คงไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การเมืองไทยอาจจะโชคดีในครั้งนั้น ผลของการปะทะบนถนนราชดำเนินจบลงด้วยชัยชนะของประชาชน และรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมก็เป็นอันสิ้นสุดลง

แม้จะมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการสังหารในเดือนพฤษภาคม 2553 บนถนนราชประสงค์ก็ตาม แต่รัฐบาลทหารก็ถูกกดดันจนต้องยุติบทบาทของตัวเองลง

โดยผู้นำของรัฐบาลต้องลี้ภัยออกไปอยู่ในต่างประเทศ สถานการณ์การเมืองจึงคลี่คลายและกลับคืนสู่ภาวะปกติ

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมการเมืองไทยจะสร้างกรอบของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพอย่างไร เพราะสถานการณ์หลังการล้มลงของรัฐบาลทหารในเดือนตุลาคม 2516 เป็นการเมืองใหม่

ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลทหารของไทยในช่วงตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมานั้น จะเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลได้ก็โดยกระบวนการของการรัฐประหารมาโดยตลอด แต่ในปี 2516 รัฐบาลทหารกลับถูกโค่นโดย "พลังประชาชน" ซึ่งก็เท่ากับบ่งบอกว่า ทหารกับการเมืองไทยเดินมาถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงผลที่ตามมาอย่างสำคัญก็คือ กองทัพจำเป็นต้องถอนตัวออกจากการเมือง

การถอนตัวเช่นนี้เป็นสภาวะของการถูกบังคับ ซึ่งย่อมหมายถึงว่า อำนาจการต่อรองในการเมืองของผู้นำกองทัพน้อยลง

แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่ามิได้หมายถึงการหมดอำนาจของกองทัพในการเมืองไทย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว แม้กองทัพจะถูกบังคับให้ต้องถอนตัวออกจากการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่อำนาจของสถาบันทหารในเชิงโครงสร้างไม่ได้ถูกทำลายลงแต่อย่างใด

กล่าวคือในบริบทด้านความมั่นคงแล้ว ชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่เผชิญกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ยังคงต้องพึ่งพาสถาบันทหารในฐานะ "ผู้ค้ำประกันความมั่นคง" ของประเทศ



การสูญเสียสถานะทางการเมืองหลังปี 2516 ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวโดยอาศัย "ความกลัว" ของชนชั้นนำและชนชั้นกลาง และอาจกล่าวได้ว่าสถานะเช่นนี้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในปี 2518 อันเป็นผลจากการล้มลงของรัฐบาลนิยมตะวันตกในเวียดนามและในกัมพูชา (เดือนเมษายน) และการสิ้นสุดของรัฐบาลผสมและระบบกษัตริย์ในลาว (เดือนธันวาคม)

ประกอบกับการขยายตัวของขบวนการเมืองปีกซ้าย ซึ่งมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทน พร้อมๆ กับบทบาทของขบวนการของชนชั้นล่างไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือกรรมกรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ตอกย้ำ "ความกลัว" ให้เกิดแก่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การตัดสินใจนำพาการเมืองไทยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมด้วยการรัฐประหารเป็นทางเลือกที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้ระบบการเมืองเกิดเสถียรภาพ

และที่สำคัญก็คือจะทำให้สถาบันทหารกลับสู่วงจรแห่งอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จึงเกิดจากการผสมผสานความกลัวคอมมิวนิสต์ของชนชั้นนำและชนชั้นกลาง ที่ถูกหลอมรวมกับความพยายามในการฟื้นอำนาจของสถาบันทหารในการเมืองไทย หลังจากที่ถูกกดดันจนต้องถอยออกไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516



รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ยังเป็นเสมือนการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ด้วยการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะแต่เดิมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผยก็เป็นเรื่องของกลุ่มอำนาจดังปรากฏในกรณี "กบฏแมนฮัตตัน" อันเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทหารเรือที่ก่อการกับกลุ่มทหารบก

แต่การ "ฆ่า" ในวันที่ 6 ตุลาคม นั้นแตกต่างออกไป

ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามด้วยอาวุธกลับเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เป็นนิสิต-นักศึกษาและประชาชน

การฆ่าในวันดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ชนชั้นนำไทยไม่อดทนอีกต่อไปกับสถานการณ์การเมืองยุคหลัง 14 ตุลาคม

และยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า พวกเขาพร้อมที่จะ "ฆ่า" ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างออกไป และหวังว่าการปฏิบัติการ "สังหารกลางเมือง" จะเป็นเครื่องมือที่หยุดยั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีทิศทางแบบสังคมนิยมมากขึ้น

แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นการยืนยันว่าชนชั้นนำต้องการอยู่กับระบอบอำนาจนิยม มากกว่าจะปล่อยให้ระบบการเมืองเป็นเสรีนิยม

ซึ่งก็ดูจะเป็นระบบคิดของยุคสงครามเย็นที่เชื่อว่า การเมืองแบบเสรีนิยมคือความอ่อนแอและไม่สามารถต่อสู้ได้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้รัฐบาลหลังการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคมจะไม่ใช่รัฐบาลทหารโดยตรง เพราะผู้นำรัฐบาลเป็นพลเรือน ที่เติบโตมากับสถาบันตุลาการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันทหารยังคงดำรงสถานะของการเป็น "แกนกลาง" ของอำนาจในรัฐบาล

ดังคำกล่าวเปรียบเทียบว่า รัฐบาลเป็นเสมือน "หอย" และกองทัพเป็นเสมือน "เปลือกหอย" ที่คอยปกป้องรัฐบาล

และคำเปรียบเปรยดังกล่าวทำให้เกิดชื่อเรียกรัฐบาลหลัง 6 ตุลาคมว่าเป็น "รัฐบาลหอย" ซึ่งก็คือภาพสะท้อนที่เป็นจริงถึงสถานะของรัฐบาลที่ยังจำเป็นต้องอาศัยการคุ้มครองจากสถาบันทหาร



อย่างไรก็ตาม การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม เกิดขึ้นในที่สาธารณะท่ามกลางการถ่ายภาพจากผู้สื่อข่าวทั้งภายในและภายนอก แม้ภาพถ่ายเหล่านี้จะถูกเผยแพร่อย่างไม่เปิดเผยในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากการตรวจสอบและเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดของรัฐบาล ทำให้การเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะมีความจำกัดเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในต่างประเทศ ภาพของการสังหารกลางเมืองของกรุงเทพฯ ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง จนเกิดการรณรงค์ขนาดใหญ่ในเวทีสากล ซึ่งก็สอดรับกับการปรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ที่หันมาให้น้ำหนักกับประเด็นด้าน "สิทธิมนุษยชน" (Human Rights) มากกว่าจะเน้นอยู่กับพันธกรณีด้านความมั่นคงแบบเก่า

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้รัฐบาลไทยตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสังหารหมู่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่เป็นไปในลักษณะเข้มงวดและอำนาจนิยม ตลอดรวมถึงการขยายตัวของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบทอันเป็นผลพวงจากนโยบายอำนาจนิยมของรัฐบาล อันทำให้นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศมองด้วยความกังวลว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยเช่นนี้กำลังนำพาประเทศไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง

และถ้าเกิดสงครามกลางเมืองแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็น "โดมิโนตัวที่ 4" หลังจากการล้อมวงของรัฐบาลนิยมตะวันตกทั้ง 3 ประเทศในอินโดจีนอย่างแน่นอน

และแนวโน้มสถานการณ์สงครามกลางเมืองชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผู้คนจากกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ทยอยเดินทางเข้าสู่ชนบท พร้อมกับประกาศเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ถ้าแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินต่อไป พรรคคอมมิวนิสต์คงชนะสงครามกลางเมืองในไทยในช่วงประมาณปี 2520 กว่าๆ และหากเป็นเช่นนี้จริง การเมืองไทยปัจจุบันคงไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งชุดปัจจุบัน (เหลือง vs. แดง หรือ อำมาตย์ vs. ไพร่)

กลุ่มการเมืองที่ดูจะกังวลอย่างมากกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างมากก็คือสถาบันทหาร เพราะถ้าสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจริง สถาบันทหารจะต้องแบกรับภาระอย่างมาก และถ้าสงครามจบลงด้วยชัยชนะของ พคท. แล้ว สถาบันทหารจะต้องถูกยุบเลิกไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น ผู้นำทหารส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจแหวกกระแสอนุรักษนิยมด้วยการทำรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520



ผลของการยึดอำนาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่ทิศทางที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น พร้อมๆ กับความพยายามในการ "ถอดชนวน" ความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อหันสังคมไทยออกจากสงครามกลางเมือง

จนในที่สุดก็สามารถปรับตัวไปสู่ชัยชนะได้ในปี 2525/2526...

ไม่น่าเชื่อว่าความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวคลายตัวออกได้ด้วยการที่สถาบันกองทัพเดินแนวทางเสรีนิยม เพราะตระหนักดีว่านโยบายเสรีนิยมเป็นทางออกในการลดความขัดแย้ง มากกว่าจะใช้แนวคิดแบบอำนาจนิยมที่ทหารเป็นใหญ่และเป็นผู้ตัดสินทุกอย่างในการเมืองไทย

แต่ในปัจจุบันไม่มีความชัดเจนว่าบทเรียนเช่นนี้ยังคงมีอยู่ในกองทัพไทยหรือไม่

หรือผู้นำทหารรุ่นปัจจุบันเชื่อแต่เพียงว่าทหารสามารถเอาชนะประชาชนได้ด้วยการปราบปราม!



++

5 ปีแห่งการล้มลุกคลุกคลาน... แล้วก็จะล้มลุกคลุกคลานต่อไป !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 36


"ประวัติศาสตร์สอนเราว่า มนุษย์และชาติจะฉลาดขึ้นทันที
ที่พวกเขาใช้ทางเลือกอื่นๆ จนหมดแล้ว"
Abba Eban
นักการทูตอิสราเอล


รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านไป 5 ปีแล้ว แต่มรดกและผลพวงเชิงลบจากการรัฐประหารดังกล่าวยังคงอยู่กับสังคมไทย และอาจจะไม่หายไปโดยง่าย

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า รัฐประหารดังกล่าวก็เปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน

แม้การเปลี่ยนเช่นนี้จะมีราคาแพงสำหรับสังคมไทย แต่ก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อชนชั้นนำและกลุ่มผู้นำปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมเลือกที่จะเดินบนเส้นทางของการยึดอำนาจโดยกองทัพแล้ว พวกเขาเองก็ต้องจ่ายต้นทุนราคาแพงเพื่อการนี้ด้วย

และจนถึงวันนี้ก็ยังมีรายจ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นไม่จบ

การเลือกเดินบนเส้นทางรัฐประหารของกลุ่มชนชั้นนำนั้น ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของการต่อต้านอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน

และขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง "ขบวนประชาธิปไตยร่วมสมัย" ที่มีคนกลุ่มต่างๆ และจากชนชั้นต่างๆ เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง

แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

และพร้อมกันนั้นพวกเขาก็แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความต้องการทางการเมืองที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นแบบแผนหลัก มากกว่าจะเรียกร้องหาการแต่งตั้งจากบุคคลหรือจากองค์กรใดก็ตาม

แม้นว่าเรื่องราวของการต่อสู้เช่นนี้จะทับซ้อนอยู่กับการต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้มลงจากรัฐประหาร 2549 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของ "เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ" อย่างที่บรรดาชนชั้นนำและผู้นำปีกอนุรักษนิยมเข้าใจ

การสร้างวาทกรรมโดยการ "ปลุกผีทักษิณ" อาจจะใช้ได้ในการปลุกระดมในบางช่วงบางเวลา แต่ก็เป็นการนำเสนอวาทกรรมซึ่งในที่สุดแล้วไม่ได้มีพลังมากจนทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้

อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดว่า หลังจากรัฐประหาร 2549 แล้ว พรรคการเมืองที่อยู่ในปีกอนุรักษนิยมนั้น ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย

การขึ้นสู่อำนาจของพวกเขากระทำผ่านการใช้อำนาจของกลุ่มทหารในการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง มากกว่าจะเป็นชัยชนะในกระบวนการทางรัฐสภา



ดูเหมือนชนชั้นนำและผู้นำในกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมปฏิเสธที่จะรับรู้ว่า การก่อตัวของขบวนประชาธิปไตยไทยร่วมสมัยได้เกิดขึ้นจริงๆ

ซึ่งแน่นอนว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญมีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่ก็มิได้หมายความว่า ขบวนการเช่นนี้ถูกครอบงำอย่างสิ้นเชิงโดย พ.ต.ท.ทักษิณ

และบางทีอาจจะต้องยอมรับในอีกด้านหนึ่งว่า ขบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้ถือเอา พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจุดหมายปลายทางของการต่อสู้เสียทั้งหมด

หากแต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องเป็นเรื่องของประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง ความเป็นธรรมทางกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ หลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 แล้ว ผู้นำทหารและชนชั้นนำล้วนแต่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากขบวนการเช่นนี้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

แม้ขบวนที่เกิดขึ้นจะเดิน "เอียงซ้าย" บ้าง เดิน "เอียงขวา" บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นพลังการเมืองชุดใหม่ที่บ่งบอกถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ลงสู่กลุ่มต่างๆ และชนชั้นต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

และที่สำคัญก็คือ ขบวนการทางการเมืองชุดนี้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปฏิเสธระบอบอำนาจนิยม-ทหารนิยม และไม่ผูกโยงตัวเองเข้ากับอุดมการณ์เก่า หากแต่ถือเอาการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นแนวทางหลัก

แน่นอนว่าในการต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น การล้อมปราบและจับกุมเป็นทิศทางหลักที่ชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมนำมาใช้

แต่ก็สะท้อนให้เห็นในอีกด้านหนึ่งว่า รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ทรงพลังในการควบคุมระบบการเมืองได้เช่นในอดีต

เพราะหากเปรียบเทียบย้อนไปสู่วันเก่าๆ ของการเมืองไทยแล้ว สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้หลังจากรัฐประหาร 2549 น่าจะทำให้มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง และอาจจะนำไปสู่การกวาดล้างจับกุมขนาดใหญ่

หากแต่ในความเป็นจริง กลไกของชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมก็ไม่อาจจะดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ทางออกจึงได้แก่ การแสวงหากลไกชุดใหม่ที่สามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้มากกว่าการใช้พลังอำนาจของกองทัพ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่หลังจากการยึดอำนาจ 2549 จะมีการใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ดำเนินการคู่ขนานกับบทบาทขององค์กรอิสระ ตลอดรวมถึงการโหมโฆษณาของสื่อกระแสหลักที่ยืนอย่างแนบแน่นกับอุดมการณ์อนุรักษนิยม-จารีตนิยม ด้วยการโจมตีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ก็ขับเคลื่อน "การไล่ล่า" ในเวทีโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนดูไม่แตกต่างจากการ "ล่าแม่มด" ในยุคสงครามเย็นช่วงต้นในสังคมอเมริกัน หรือการ "ล่าฝ่ายซ้าย" ในยุค 6 ตุลาคม 2519 ของสังคมไทย

เรื่องราวเช่นนี้แตกต่างอย่างมากกับความเป็นไปในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะในโลกร่วมสมัย ตุลาการภิวัฒน์คือการใช้กลไกของสถาบันตุลาการเพื่อค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่การใช้เพื่อลิดรอนสิทธิดังกล่าว

หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กในตะวันออกกลางเป็นกลไกใช้เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเสรีนิยม และต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม

แต่ในไทยกลับถูกใช้โดยกลุ่มอนุรักษนิยมเพื่อไล่ล่าผู้ที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มตน



ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ทางการเมืองทวีความแหลมคมและขยายวงกว้างออกไปอย่างมาก

การยุบพรรคไทยรักไทย การโค่นล้มรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยคำตัดสินของสถาบันตุลาการทำให้เกิดข้อกังขา จนถูกสร้างเป็นวาทกรรมเรื่อง "สองมาตรฐาน" ของการบังคับใช้กฎหมาย

หรือการชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาลสมัครนั้นนำไปสู่การยึดทำเนียบรัฐบาล และการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง แต่กลับไม่ถูกกระบวนการทางกฎหมายลงโทษ อีกทั้งมีการเสนอว่า ผู้กระทำการเหล่านี้เป็น "ผู้ก่อการดี" ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายที่บุกยึดสนามบินระหว่างประเทศ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการบังคับใช้กฎหมายกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง

ในสถานการณ์ปัจจุบันเราคงต้องยอมรับว่า การต่อสู้เช่นนี้ขยายไปสู่ส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในวงการศาสนา วงวิชาการ วงข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) และแม้กระทั่งข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นภายในหลายครอบครัว เพราะความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสามีกับภรรยา หรือระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนชัดเจนถึงความแตกแยกครั้งใหญ่ของสังคมไทย และบางทีอาจจะต้องยอมรับว่ารุนแรงกว่าการแบ่งขั้วในปี 2519 เสียอีก

และผลอย่างสำคัญในทางการเมืองก็คือ การไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งว่าที่จริงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย เพราะหากย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นได้ว่าความไร้เสถียรภาพไม่เคยเกิดขึ้นยาวนานเช่นในสถานการณ์ปัจจุบัน และหากจะเกิดขึ้นก็เกิดเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และในที่สุดก็สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการใช้พลังอำนาจของทหารในเวทีการเมือง

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า แล้วสังคมไทยจะกลับสู่ความมีเสถียรภาพได้เมื่อไรและอย่างไร



หลายคนเชื่อว่า การเลือกตั้งน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดของการนำพาการเมืองไทยกลับสู่เสถียรภาพ โดยถือเอาคำตัดสินของประชาชนจากผลการเลือกตั้งเป็น "ตัวชี้ขาด"

แต่บทเรียนจากชัยชนะในการเลือกตั้งของรัฐบาลสมัครก็ต้องจบลงด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยข้อหา "ทำกับข้าว" ในรายการโทรทัศน์

รัฐบาลสมชายชนะการจัดตั้งรัฐบาลในรัฐสภา แต่ก็ไม่แตกต่างกันแล้วก็จบลงด้วยการถูกยุบพรรคในเวลาต่อมา

ฉะนั้น เมื่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็ไม่ได้ตอบคำถามว่า การสร้างเสถียรภาพซึ่งเป็นความหวังของผู้คนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจริงได้ในการเมืองไทย

เพราะในด้านหนึ่งไม่ได้มีสัญญาณเชิงบวกที่บ่งบอกถึงความต้องการของชนชั้นนำและบรรดาผู้นำปีกอนุรักษนิยมทั้งหลายที่แสดงออกถึงการยอมรับผลดังกล่าว

และที่สำคัญก็ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความต้องการให้เกิดเสถียรภาพเท่าใดนัก

ในทางตรงข้ามสัญญาณต่างๆ กลับชี้ให้เห็นถึง "ความแค้น" ที่ยังจะต้องตามล้างกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการชำระแค้นในเวทีรัฐสภาจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล

การไม่ผ่อนปรนต่อบรรดาผู้ถูกจับกุมจากการล้อมปราบที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553

การแสวงหาโอกาสที่อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคครั้งใหม่

และที่สำคัญก็คือ พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีการโยกย้ายข้าราชการโดยเฉพาะในระดับสูง ตลอดรวมถึงในหน่วยงานความมั่นคง (กรณีสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หรือในกรณีของการโยกย้ายทหารก็จะต้องไม่เปิดช่องว่างให้รัฐบาลเข้ามา "จัดโผ" ทหารได้ เป็นต้น

เรื่องราวเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ฐานที่มั่นของชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมยังแข็งแกร่งอยู่ในระบบราชการทั้งพลเรือนและทหาร

แม้รัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีขีดความสามารถที่แท้จริงในการบริหารระบบราชการเท่าใดนัก

และในขณะเดียวกัน กองทัพยังคงดำรงสถานะของความเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแรงต้านทานรัฐบาลใหม่ภายในผู้นำทหารปัจจุบันยังคงมีอยู่มาก ซึ่งปัญหานี้จะสะท้อนชัดเจนอีกครั้งจากการโยกย้ายทหาร หากรัฐบาลยังไม่สามารถจัด "โผทหาร" ได้อย่างจริงจังแล้ว ก็อาจจะเป็นดัชนีบ่งบอกถึงอายุรัฐบาลได้ไม่ยากนัก เช่นเดียวกันกับปัญหาการโยกย้ายในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยรัฐบาลยังไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทได้เท่าที่ควร เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนตัวรองเลขาฯ ซึ่งก็เท่ากับว่ารัฐบาลยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมระบบงานด้านความมั่นคงได้ เพราะ สมช. เป็นองค์กรที่เป็น "ข้อต่อ" ของนโยบาย และเป็นผู้ที่จะต้องขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ได้ แต่ตัวบุคคลกลับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

เช่นนี้แล้วนโยบายจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร



ความเป็นไปเช่นนี้จึงเท่ากับแสดงให้เห็นว่าความปรองดองและความสมานฉันท์ที่เรียกร้องหายังคงเป็นเรื่องราวที่ห่างไกลจากความเป็นจริง

เพราะหากไม่ยอมรับต่อผลการเลือกตั้งแล้ว โอกาสที่จะยอมรับต่อความปรองดองและความสมานฉันท์ตามแบบของข้อเรียกร้องของชนชั้นกลางในเมืองก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

และในทางกลับกันสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดยั้งของกลุ่มอนุรักษนิยมในรูปแบบต่างๆ จนถึงกับมีการทำนายกันว่า รัฐบาลจะมีอายุยืนยาวเพียง 6 เดือน และผู้นำรัฐบาลเก่าก็จะหวนกลับสู่อำนาจอีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็เห็นได้ชัดในอีกด้านว่า รัฐบาลใหม่กลับไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่มีปัญหาได้เท่าใดนัก

ตลอดรวมถึงสื่อกระแสหลักต่างๆ ยังแสดงออกเหมือนกับว่า รัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน และฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล เป็นต้น


สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า การต่อสู้ในเวทีการเมืองหลัง 19 กันยายน 2549 ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

และการเมืองก็ยังจะต้องล้มลุกคลุกคลานต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะเด็ดขาด (แม้จะไม่เบ็ดเสร็จ) จนสามารถบริหารประเทศได้ พร้อมๆ กับบริหารระบบราชการพลเรือนและกองทัพได้

อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ !



.