http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-05

บทเรียนจากกรณี 6 ตุลาคม โดย สุชีลา, 35 ปีข้ออ้างรัฐประหาร ตามไปดูฯ

.

บทเรียนจากกรณี 6 ตุลาคม
โดย สุชีลา ตันชัยนันท์
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:15:00 น.

ผู้เขียนขอกล่าวย้ำความรู้สึกของตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า จนถึงขณะนี้ผู้เขียนยังทำใจไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพราะบาดแผลฉกรรจ์ในหัวใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงยังไม่ได้รับการเยียวยา หรือยากอย่างยิ่งแก่การเยียวยา

นั่นเพราะความ "กลัว" ในกลุ่มผู้มีอำนาจได้นำไปสู่ความเกลียดชัง และความโกรธต่อฝ่ายที่คิดแตกต่างจากตน โดยการอ้างความชอบธรรมที่ได้ทำการเข่นฆ่าฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตน


พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ว่าเมื่อความโกรธเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และเมื่อเป็นความชอบธรรมที่เราโกรธ เราก็สามารถทำร้ายคนอื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด 
เพราะว่าฉันถูก แกเป็นฝ่ายผิด
ดังเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการรุมฆ่านักศึกษาขนาดเผาทั้งเป็น คนที่ทำเช่นนั้นด้วยความโกรธ เพราะปักใจเชื่อว่านักศึกษาเป็นตัวเลวร้าย ส่วนฉันเป็นฝ่ายถูก


สังคมไทยก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีกระบวนการสร้างให้รู้สึกเกลียดชังคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจคิดไม่เหมือนตัวเอง 
ได้มีการเตรียมการสังคมไทยจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามเพื่อรับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ทั้งในเรื่องของการทำลายความจริง และในเรื่องของการใช้ความรุนแรง

จุดนี้เองที่ทำให้เราเห็นว่าสติปัญญาของคนมีอำนาจในสังคมไทยเขามีปัญญาคิดเพียงแค่นั้น 
การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเขาทำได้แค่ต้องฆ่าคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างให้ตายเท่านั้นเอง 
และยิ่งเป็นความเลวร้าย และน่าละอายเกินกว่าที่จะกล่าวถึง
เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นการสังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจเพียงเพื่อหาแพะรับบาปสำหรับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายเผด็จการ


ทั้งนี้จากการศึกษาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (2544) ได้เปิดเผยถึงหนังสือบันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า ของบุญชนะ อัตถากร (2525) เกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างเขากับ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ที่แสดงให้เห็นว่าทางทหารได้มีการเตรียมการรัฐประหารไว้นานแล้ว 
"...คุณสงัดบอกต่อไปว่า ได้รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีจังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2519..."

จนกระทั่งต่อมาได้เกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคมขึ้น
สมศักดิ์วิเคราะห์ต่อไปว่า
"...สงัดได้บอกทั้งธานินทร์ (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) และเสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าสองหรือสี่ทุ่มของคืนวันนั้นจะมี 'อีกฝ่ายหนึ่ง' 'ทำรัฐประหาร' จึงต้องชิงลงมือทำเสียเองก่อนตอนหกโมงเย็น"

ใครที่บอกว่าเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม เป็นอุบัติเหตุทางการเมืองนั้นเป็นการกล่าวเพื่ออำพรางความเลวร้ายของตนและพวกพ้องมากกว่า



20 ปีที่ผ่านมา มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อเรียกร้องความสันติสุขให้กลับคืนมา  
แล้วสังคมไทยจะจัดการกับความจริงและความสูญเสียอย่างไร 

จากรายงานของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (2544) ได้สรุปความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงไว้ว่า 
เหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลาคมได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่ของสังคมไทยโดยส่วนรวม

ประการแรก ความสูญเสียในแง่ส่วนตัวนั้น ได้แก่ 
การกระทำของฝ่ายรัฐไทยร่วมกับองค์กรอันธพาลนอกระบบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน ญาติพี่น้องและเพื่อนของผู้เสียชีวิตได้สูญเสียคนในครอบครัว คนที่เขารักใคร่และคนใกล้ชิด ส่วนผู้ที่บาดเจ็บก็มีทั้งผู้ที่บาดเจ็บทางกายโดยตรง และผู้ที่บาดเจ็บทางจิตใจเนื่องจากผ่านเหตุการณ์อันโหดร้ายมา

ในส่วนนี้แม้แต่ฝ่ายผู้กระทำเอง เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อยบางคน หรือผู้ที่ถูกชักชวนมาร่วมในองค์กรนอกระบบบางคน เมื่อสำนึกผิดแล้วก็มีบาดแผลทางจิตใจเหมือนกัน

กลุ่มผู้สูญเสียกลุ่มที่สอง คือ นักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งจำนวนหลายพันคนต่างพากันเข้าป่าร่วมต่อสู้ในกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งต้องหนีออกนอกประเทศ  
ในกรณีของคนที่เข้าป่า หรือต้องเดินทางออกนอกประเทศเพราะไม่มีความปลอดภัยในสังคมเมือง 
คนเหล่านี้จะสูญเสียโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบอาชีพหลายปี ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตในเวลานั้นและในชีวิตภายหลังด้วย 
นอกจากนี้แล้วคนเหล่านี้ยังสูญเสียโอกาสที่จะอยู่กับญาติพี่น้องและครอบครัว

กลุ่มผู้สูญเสียอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตำรวจจับในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต้องขึ้นศาลทหาร และต้องติดคุกเป็นเวลาถึงสองปีก่อนจะได้รับการปล่อยเป็นอิสระโดยปราศจากความผิดใดๆ ต้องถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกเกลียดชัง ถูกเข้าใจผิดๆ และถูกตราหน้าว่าเป็นพวกทำลายชาติ
พวกเขาต้องสูญเสียเวลาช่วงหนึ่งของชีวิต และโอกาสที่จะเล่าเรียน หรือประกอบอาชีพการงานเช่นกัน


ประการที่สอง ความสูญเสียในแง่ของสังคมไทยโดยรวมนั้น คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีข้อสรุปว่า
ความสูญเสียทางสังคมหรือความสูญเสียในลักษณะส่วนรวมมีอยู่หลายประการ อาทิ การบุกทำลายธรรมศาสตร์นอกจากได้ก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและต่อมหาวิทยาลัยในการผลิตผู้นำทางสังคมแล้ว ยังเป็นการจงใจทำลายจิตวิญญาณการต่อสู้ในหมู่นักศึกษาปัญญาชน

เรื่องต่อมาคือความสูญเสียทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย เนื่องจากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519
สิ่งที่ควรพิจารณาคือเราจะ "จัดการ" กับบรรดาผู้นำประเทศที่ต้องรับผิดชอบกับการฆ่าฟันประชาชนในอดีตอย่างไร เป็นต้น
คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีข้อเสนอเรื่องการจัดการกับบาดแผล 6 ตุลาคม 2519 ในสังคมไทยนั่นคือ ต้องมีการทำความเข้าใจ อย่างทั่วถึงในสังคมเราว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐไทยกระทำความผิดอย่างไร รวมทั้งการจัดตั้ง "กรรมการแสวงหาความจริง" (Truth Commission) ซึ่งจะมีอำนาจทางกฎหมายในการเรียกพยานและสืบหาเอกสาร


อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้ว่าผู้เขียนจะเห็นด้วยกับความเห็นของพระไพศาล วิสาโลที่ว่า "แท้ที่จริงมนุษย์หาใช่ศัตรูของเราไม่ ความโกรธเกลียดต่างหาก คือศัตรูที่แท้จริง "

ผู้เขียนก็ยังมีความเห็นว่าสังคมไทยต้องดำเนินการทั้งในแง่ของการเปิดเผยข้อเท็จจริง และการ "จัดการ" กับผู้ก่ออาชญากรรมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อภาคประชาชน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ดังที่มีการดำเนินการในนานาอารยะประเทศ




++

35 ปีข้ออ้างรัฐประหาร ตามไปดู “ละครแขวนคอ: ชนวนเหตุอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19”
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:30:00 น.


เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 13.00น. ได้มีการแสดง "ละครแขวนคอ: ชนวนเหตุอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19" โดยกลุ่มละครประกายไฟ ณ ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในสัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา

โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นโดย โครงการกำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับเครือข่ายเดือนตุลา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน(CCP) กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ(TCAD) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์(LKS) และกลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย (FMCD)











( ภาพ - การแสดง "ละครแขวนคอ ชนวนเหตุอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19" )


วิภา ดาวมณี ผู้ประสานงานคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กล่าวถึงการแสดงละครแขวนคอเมื่อเช้าวันที่ 4 ต.ค. 2519 หรือเมื่อ 35 ปีที่ผ่านมาว่า การแสดงละครของนักศึกษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฝ่ายที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษานำมาอ้างเพื่อใช้โจมตีนักศึกษา ซึ่งในตอนนั้นขบวนการนักศึกษาได้มีการต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อมา พนักงานการไฟฟ้านครปฐม ซึ่งไปติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอมได้ถูกฆ่าแขวนคอที่โรงงานร้างแห่งหนึ่ง ชมรมละครของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดแสดงละครแขวนคอขึ้นมา เพื่อจะบอกให้นักศึกษารู้ว่า ตอนนี้เหตุการณ์มาถึงขั้นนี้แล้ว คือมีฆาตกรจับคนที่ไปปิดโปสเตอร์ไปแขวนคอ ก็เลยมาจัดแสดงที่ลานโพธิ์ ในวันที่ 4 ต.ค. 2519 ซึ่งตรงกับวันนี้ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังสือพิมพ์ "ดาวสยาม" ในสมัยนั้นเอาไปตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น และมีการอ้างว่าการแสดงละครดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และใช้ข้ออ้างนี้ปลุกระดมผ่านวิทยุยานเกราะและสถานีในเครืออีก 300 สถานีเพื่อมาจัดการกับนักศึกษา


"การกระทำครั้งนั้น จริงๆแล้วเป็นข้ออ้างของการทำรัฐประหารในตอนเย็นของวันที่ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งแสดงว่ากลุ่มที่ต้องการก่อการรัฐประหารได้วางแผนเอาไว้แล้ว และใช้ช่องทางการแสดงละครดังกล่าวเป็นชนวนของการปลุกระดม ที่ทำให้กลุ่มต่างๆไม่ว่าจะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดงมาเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "


วิภากล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 35 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา ตนและคณะผู้จัดงานอยากชี้ให้สังคมเห็นว่า สื่อมวลชนในยุคนั้นซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่มีสังกัด คือเป็นสื่อของยานเกราะและเครือข่ายนั้นได้ทำการบิดเบือนข้อเท็จจริง โทรทัศน์กระแสหลักในขณะนั้นก็เสนอข่าวเช่นเดียวกัน 

เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องตระหนักว่าอะไรคือข้อเท็จจริง และอย่าใช้การใส่ร้ายป้ายสีมาทำกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
"เราเรียกมันว่า 'อาชญากรรมของรัฐ' คือเมื่อรัฐก่ออาชญากรรม ส่งตำรวจตระเวนชายแดน ส่งอาวุธสงครามมาฆ่าประชาชน ปรากฎว่าหลังจากนั้นได้มีการนิรโทษกรรม และไม่มีการจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เมื่อผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษเหตุการณ์มันก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภา 35 หรือเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53 ที่ผ่านมา นี่คือบทเรียนที่สำคัญ ประวัติศาสตร์ของเรายังไม่ถูกชำระ ญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการชดเชย กลายเป็นว่าเหตุการณ์มันจะซ้ำแล้วซ้ำอีก" วิภากล่าว










ภาพจากนิทรรศการภาพจิตรกรรมการเมือง ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์


ทั้งนี้ งาน "สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน" จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1-14 ต.ค. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในวันพรุ่งนี้ (5 ต.ค.) จะมีการเสวนาในหัวข้อ "จากพ่อจารุพงษ์ถึงแม่น้องเกด" ดำเนินรายการโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ ส่วนในวันพฤหัสที่ 6 ต.ค. จะมีการปาฐกถาพิเศษโดย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ การเสวนา "มุมมองของนักศึกษากับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ" ฯลฯ อ่านรายละเอียดกำหนดการได้ด้านล่าง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนิทรรศการภาพจิตรกรรมการเมือง ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ นิทรรศการหนังสือต้องห้ามและการออกบูธจำหน่ายหนังสือการเมือง บริเวณลานโพธิ์


กำหนดการ สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน
ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันอังคารที่ 4 ตุลา ณ ลานโพธิ์
13.00 น. “ละครแขวนคอ” ชนวนเหตุอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19
โดย ประกายไฟการละคร

วันพุธที่ 5 ตุลา ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์
14.00 น. - 16.30 น. ละครเวที “แค้น” โดย กลุ่มละครกุหลาบแดง
16.30 น. - 18.00 น. เสวนา “จากพ่อจารุพงษ์ ถึง แม่น้องเกด”
ดำเนินรายการโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)
18.00 น. - 22.00 น. คอนเสิร์ตรำลึกวีรชนเดือนตุลา
21.00 น. – 22.00 น. ละคร “อุโมงค์ตึกโดม” โดย ประกายไฟการละคร

วันพฤหัสที่ 6 ตุลา ณ สวนประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่
05.00 น. - 06.00 น. ละครสะท้อนความจริงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลา 2519 “ก่อนอรุณจะร่วง” โดยประกายไฟการละคร
07.00 น.- 07.30 น. พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 36 รูป
07.30 น.– 09.00 น. พิธีวางพวงมาลา ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม และ กล่าวสดุดี โดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ
- กรรมการญาติวีรชน
- ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา
- องค์กรประชาธิปไตย
- อมธ. สภานักศึกษา
- ตัวแทนองค์กรร่วมจัดงาน ฯลฯ
09.00 น. - 10.00 น. กวี และนาฏลีลา รำลึกวีรชน 6 ตุลา
10.00 น. - 11.30 น. ปาฐกถาพิเศษ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ณ ห้องจี๊ด คณะนิติศาสตร์















11.30 น. - 12.30 น. การแสดง ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ละครเรื่อง "เก้าอี้"จากกลุ่มประกายไฟ และAction ของนักศึกษาจากกลุ่มต่างๆ อ่านบทกวี ร้องเพลง และโปรยดอกกุหลาบ
13.00-14.30 เสวนา มุมมองของนักศึกษากับเหตุการณ์6ตุลาฯ ห้อง จี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- เสกสรร อานันทศิริเกียรติ - นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาอังกฤษอเมริกันศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14.30-17.00 เสวนาจากนักวิชาการ "จาก19-54 เส้นทางความยุติธรรมของสังคมไทย" (วิทยากรอยู่ในระหว่างติดต่อ)

1-14 ตุลา นิทรรศการภาพจิตรกรรมการเมือง
ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์

2 -9 ตุลา สัปดาห์ “ ตุลารำลึก” หนังสือการเมือง และนิทรรศการหนังสือต้องห้าม
ณ บริเวณ ลานโพธิ์ ติดประตูท่าพระจันทร์


ละคร รำลึก6ตุลา.flv
www.youtube.com/watch?v=YnmehTBbxac




.