.
บทเรียน 6 ตุลา 19 19 กันยา 49 และข้อเสนอนิติราษฎร์ กำจัดการรัฐประหารได้หรือไม่?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 20
ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และลงโทษผู้ที่ทำการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจและรู้สึกสะใจ ถ้าทำได้ เรื่องแบบนี้มีคนพูดถึงมานานแล้ว แต่ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยทำได้สักครั้ง ทั้งๆ ที่ความถูกความผิดเห็นกันอยู่ตรงหน้า แต่ก็มีการนิรโทษกรรมหรือยกโทษให้ผู้ทำผิดลอยนวลไปได้ทุกครั้ง
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้มีผู้อ้างว่านี่เป็นการพยายามช่วย ทักษิณ ชินวัตร แต่เบื้องหลังการคัดค้าน ก็คือความหวาดกลัวว่าเรื่องการทำรัฐประหารจะย้อนกลับมาเป็นภัยกับผู้ที่เป็นตัวการและผู้ที่สนับสนุน
แต่การลงโทษครั้งนี้ จะสำเร็จหรือเสียเปล่า? อีกไม่นานจะได้รู้กัน
ช่วงเวลานี้เมื่อเทียบกับในอดีต นับว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เพียงแต่ไม่สามารถทำได้ทันที แต่ถ้าให้เวลาบ้างก็จะเห็นโอกาสชัดเจนยิ่งขึ้น
เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่การต่อสู้ในแง่กฎหมายเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่มีชีวิตและอำนาจรัฐเป็นเดิมพัน
คนผิดจะดิ้นรนสู้สุดแรง อะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องเตรียมรับสถานการณ์ทุกระดับไว้ให้ได้
บทเรียนเก่าสอนอะไร
การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 มีการวางแผนฆ่านักศึกษาตอนเช้าวันที่ 6 เสียชีวิตไปเกือบ 50 คน ถูกยิงด้วยปืนกล ปืนยิงรถถัง ถูกจับแขวนคอ ถูกเผา ถูกจับขังคุก 3,000 คน
ตอนเย็นก็ทำการยึดอำนาจ ออกแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารที่เรียกว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยให้เหตุผลต่างๆ นานา ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำรัฐประหาร
จากนั้นก็ออกประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจบริหารตกเป็นของคณะปฏิรูป ให้ยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และห้ามตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ...ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 24.00 น. - 5.00 น. ห้ามชุมนุมเกินห้าคน ให้หนังสือพิมพ์รายวันหยุดการพิมพ์ จำหน่าย จ่าย แจก ให้สถานีวิทยุทุกแห่ง งดรายการประจำ และถ่ายทอดเสียงจากกรมประชาสัมพันธ์แห่งเดียว... ห้าม ฯลฯ
ผ่านไป 15 ปี การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของ รสช. ก็เกิดขึ้นอย่างไร้สาระ จะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าได้ แต่ก็เกิดการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีประชาชนเสียชีวิตไปเกือบ 50 คน
กระแสสูงของประชาธิปไตยในครั้งนั้น ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่คณะรัฐประหารก็ไม่ถูกลงโทษแต่อย่างใด
จาก 6 ตุลาคม 2519 เวลาผ่านไป 30 ปี แม้โลกจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ที่คิดว่าโลกแบนหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย พวกเขาทำการรัฐประหารอีกครั้ง ในวันที่ 19 กันยายน 2549 มีลีลาคล้ายกับรุ่นพ่อ ชื่อก็ตั้งคล้ายกัน
กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ดูเหมือนรุ่นพ่อจะใจถึงกว่า ไม่ต้องอ้างระบอบประชาธิปไตย การลากรถถังออกมาแล้วอ้างประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่หัวเราะไม่ออกจริงๆ
การรัฐประหารที่ทำแล้วไม่ต้องได้รับโทษ แถมผู้ที่ทำรัฐประหารทุกคนก็เป็นใหญ่เป็นโต ร่ำรวย มีเงินเป็นพันๆ ล้าน ทำให้ใครๆ ก็อยากทำ ไม่มีใครสนใจความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย หรือความรู้สึกของประชาชน ดังนั้น มันจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่คือบทเรียนที่ทุกฝ่ายเรียนรู้มาหลายสิบปี
ประชาชนกล้าสู้กับอำนาจของคณะรัฐประหารหรือไม่?
การยอมจำนนต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร และยอมรับกฎหมายของคณะรัฐประหารที่ใช้ผ่านองค์กรต่างๆ เป็นความเคยชินของประชาชนทั่วไป บางคนไปรู้สึกว่าเหมือนเปลี่ยนรัฐบาลตามปกติ เพราะเห็นรัฐประหารอยู่บ่อยๆ
สังคมของเราอยู่ในระบบอุปถัมภ์มาหลายร้อยปี การปกครองบ้านเมือง การชิงอำนาจรัฐ ถูกสอนว่าเป็นเรื่องของพวกเจ้าพวกนาย
และเมื่อมีทหารถืออาวุธแทรกเข้าชิงอำนาจรัฐ อย่าว่าแต่ประชาชนเลย แม้แต่นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิโดยตุลาการภิวัตน์ทั้ง 111 คน และ 109 คน ก็ยังไม่กล้าหือไม่กล้าต้าน
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คนชั้นสูงกลุ่มเล็กที่มีการศึกษาต้องการพัฒนาประเทศไทยและได้ดำเนินการโดยมีผู้สนับสนุนน้อยมากแต่ก็ทำสำเร็จ การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 เป็นการตื่นตัวของปัญญาชนในกระแสสูงของประชาธิปไตยและสังคมนิยม ซึ่งก็ยังเป็นคนส่วนน้อย
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 และตุลาการภิวัตน์ 2551 ประชาชนตั้งแต่ชั้นบนถึงชั้นล่างมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะคนเสื้อแดงซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ แม้แต่ในหมู่คนไทยในต่างแดน ระบบสื่อสารสมัยใหม่ที่อำนาจรัฐควบคุมได้ยาก ทำให้การปกปิดความจริง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไม่ได้
ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าและความจริงที่ประชาชนได้รับรู้ก็คือ คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถูกลงโทษด้วยข้อหาขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาอยู่กลางถนนในเวลาและสถานที่ที่ต้องห้าม ถูกจับและถูกขังคุก 1 ปี 3 เดือน
ส่วนคนที่ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรจะติดคุกตลอดชีวิต กลับลอยนวล มีชีวิตที่ร่ำรวยขึ้นทุกคน
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ สังคมจะไม่เปลี่ยน และจะไม่มีผู้ทำรัฐประหารคนไหนถูกลงโทษ
แต่ถ้าไม่ยอมรับ ก็ต้องกล้าต่อสู้ จริงๆ แล้วมีคนกล้าสู้ แต่เริ่มจากจำนวนน้อย
ท้าสู้เผด็จการ...
พัฒนาอย่างช้าๆ
จาก 2-3 คน เป็นหลายแสนคน
ในปี 2514 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหาร คุณอุทัย พิมพ์ใจชน และเพื่อน ส.ส. อีกสองคนได้ฟ้องศาล แต่กลายเป็นคนที่ถูกจับไปขังคุกเสียเอง แต่พอถึง14 ตุลาคม 2516 ก็มีคน 500,000 ออกมาโค่นจอมพลถนอม
การเคลื่อนไหวต่อสู้หลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นแนวทางการต่อสู้ที่ใช้อาวุธ ใช้ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปืนต่อปืน เริ่มขึ้นพร้อมกับการรัฐประหาร
นักศึกษาประชาชนที่ถูกฆ่าไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะขืนอยู่ในเมืองก็คงถูกฆ่าเพิ่มขึ้น พอหนีได้ก็เข้าป่าคว้าปืน ออกทำสงครามกองโจรสู้กับรัฐบาลเผด็จการ สู้กันนานถึง 5 ปี มีคนตายเพิ่มอีกไม่กว่า 5,000 คน บาดเจ็บเป็นหมื่น และสงบศึกลงประมาณปี 2525
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ไม่มีฝ่ายไหนชอบความรุนแรง แต่ถ้าจะใช้ความรุนแรง ใช้ปืน ฝึกไม่กี่วันก็ยิงกันได้แล้ว แต่การมีปืนมิได้หมายความว่าจะได้รับชัยชนะเสมอไป แต่ก็สามารถทำให้คู่ต่อสู้รู้ว่ามีคนที่พร้อมจะสู้ทุกรูปแบบ และทุกคนมีโอกาสตายในการต่อสู้เหมือนกัน
การต่อสู้กับคณะรัฐประหาร รสช. ในปี 2535 คือการตื่นตัวของชนชั้นกลางในเมืองและการสร้างกระแสสูงประชาธิปไตย เริ่มจากคนจำนวนน้อย และก็กลายเป็นแสนเช่นกัน บทบาทของสื่อสารมวลชน และเครื่องมือสื่อสาร คือโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอาวุธสำคัญ
19 กันยายน 2549 การรัฐประหารของ คปค. ประชาชนรู้จักต่อสู้และไม่พอใจ แต่เริ่มต้นจากคนกล้าสู้จำนวนน้อย ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้ไปแขวนคอตายประท้วงที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
จากนั้นก็มีการชุมนุมกันที่สนามหลวงของประชาชนกลุ่มต่างๆ และการต่อสู้ก็ขยายตัวมาเรื่อยๆ ตลอด 4 ปี จนถึงเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งมีการประท้วงให้ยุบสภา
นี่คือการทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างเปิดเผย เพราะประชาชนต้องการเลือกตัวแทนของตนเอง แต่ก็ถูกปราบด้วยอาวุธ จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บ 2,000 แต่การยืนหยัดต่อสู้ด้วยการประท้วงอย่างสันติยังมีต่อมาอีกหลายครั้ง ก็เป็นการบีบบังคับให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2554 ซึ่งฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ได้ผู้แทนถึง 265 คน มีเสียงสนับสนุนเกือบ 16 ล้าน
บางคนคิดว่านี่คือชัยชนะ
วันนี้ชัยชนะของประชาชน
มีอำนาจพอจะออกกฎหมาย
มากำจัดการรัฐประหารได้หรือยัง ?
265 เสียงในสภา นับว่าเป็นชัยชนะก็ได้ แต่เป็นชัยชนะเฉพาะส่วนที่เป็นนิติบัญญัติ ในส่วนของการบริหาร แม้ได้ตั้งรัฐบาล ก็ยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำงานให้ได้ตามนโยบายซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้ผลเป็นบวกหรือลบ
ส่วนอำนาจทางตุลาการ และอำนาจทางทหารนั้น ยังตกเป็นรองหลายชั้น แต่การคิดแก้ไขกฎหมายต่างๆ เป็นทิศทางที่ถูกต้อง
10 เมษายน 2553 เมื่อเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงมือเปล่าสู้กับการสลายการชุมนุมของกองทหารติดอาวุธ ทุกคนจึงรู้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่พอใจและกล้าสู้กับอำนาจเผด็จการทุกวิธี ไม่ว่าจะซ่อนรูปแฝงตัวอยู่ในรูปแบบไหน ประชาชนก็รู้ทัน
การแสดงออกครั้งที่สอง คือผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงว่าประชาชนต้องการเลือกผู้นำด้วยตนเอง และไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการอีกแล้ว
สรุปได้ว่า แม้ชัยชนะที่ผ่านมายังมีน้ำหนักไม่พอกับการปะทะโดยตรง แต่สามารถพัฒนาให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันก็อาจมีปัญหาและถูกลดความน่าเชื่อถือลงได้เช่นกัน
ถ้าจะเสนอการแก้ไขกฎหมายสำคัญที่จะไปลบล้างอำนาจหรือลงโทษคณะรัฐประหาร น่าจะสามารถผ่านสภาผู้แทนได้ แต่ไม่แน่ว่าจะผ่านทั้งสองสภา เพราะยังมีพวกที่เป็นผลิตผลของคณะรัฐประหารอยู่ในสภาอีกจำนวนมาก
ถ้าจะทำได้จริงก็ต้องมีกำลังหนุนหลังที่เข้มแข็ง กำลังในที่นี้ไม่ได้พูดถึงกำลังทหาร หรือเพียงแค่จำนวนคนที่มากกว่า แต่เป็นเรื่องของความคิดและจิตสำนึกประชาธิปไตย ที่จะต้องฝังอยู่ในคนส่วนใหญ่ และสื่อมวลชน การถกเถียงผ่านสื่อคงต้องสู้กันนาน เพราะอีกฝ่ายก็จะอ้างว่านี่เป็นการทำเพื่อทักษิณ และเป็นการไม่ปรองดอง
วันนี้ กลุ่มนิติราษฎร์ได้มีข้อเสนอทางวิชาการออกสู่สังคม ให้คนได้คิดว่าไม่ควรยอมรับกฎหมายที่ออกมาโดยพวกเผด็จการและจะต้องเอาคนพวกนี้มาลงโทษ
ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจดังอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และอาจลอยหายไปกับสายลม ถ้ากำลังของฝ่ายประชาชนไม่เข้มแข็งและจะต้องรุกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ยิ่งถกเถียงกันนานก็ยิ่งทำให้คนรู้เห็นสัจธรรมมากขึ้น
วันนี้ ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ในการเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหารและลบล้างผลพวงจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำรัฐประหารอีก พวกเขาจะต้องเลือกว่าจะเสี่ยงกับความตายหรือคุกตะราง ถูกยึดทรัพย์สิน เช่นเดียวกับมหาโจรที่ไปปล้นบ้านคนอื่น หรือผู้ค้ายาเสพติด การรัฐประหารจากนี้ไปจะยากกว่าเดิม จะไม่เหมือนยุคเก่าที่ทำแล้วได้ทั้งกล่องได้ทั้งเงิน ซ้ำยังอาจจะต้องสูญเสียทั้งเกียรติยศและชีวิต
มีผู้วิเคราะห์ว่า ..ช่วงเวลานี้คือสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย เป็นการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางการเมืองที่จะทำให้เกิดการต่อสู้ทั้งความคิดและอาจขยายไปถึงการใช้กำลัง แต่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ดำเนินมาถึงแล้ว ไม่มีทางหลีกเลี่ยง มีแต่ต้องเดินหน้าต่อสู้กันให้รู้ถูกรู้ผิด เดินเกมการเมืองให้ดี...ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ก็อาจเป็นจริงได้ ถ้า...
1. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย สามารถทำงานตามนโยบายเพื่อประชาชนให้ได้ผลพอสมควร ต้องสามารถนำประเทศฝ่าพายุเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติไปให้ได้ ป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน
2. กลุ่มคนเสื้อแดง ต้องขยายงานทั้งความคิดและกำลังคนเพิ่มขึ้น ไม่แตกแยกกัน สร้างบทบาทให้เป็นที่ยอมรับของคนกลางๆ
3. สามารถโฆษณาชี้แจงการปรับปรุงแก้ไขหลักการและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ และกล้าให้ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ จนถึงการลงประชามติในเรื่องสำคัญ
การต่อสู้แบบนี้ไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป ถ้ายืนอยู่บนความถูกต้อง และสามารถสร้างกระแสได้สูงเพียงพอ มีกำลังมวลชนยืนเป็นกำแพงป้องกันการล้มกระดาน พรรคการเมืองที่คัดค้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์ก็พูดได้ไม่เต็มปาก ว่าสนับสนุนการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารยังไงไม่มีคนยอมรับอยู่ดี คนที่ยังฝืนทำจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
ผู้วิเคราะห์เตือนว่า ผลการปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 3 ข้อ ต้องทำให้ได้ ถ้าการบริหารของรัฐบาลล้มเหลว หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดแตกแยก ถ้าฝ่ายตรงข้ามฉลาดพอ พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้การรัฐประหารหรือวิธีนอกระบบใดๆ แค่แข่งขันโดยการเลือกตั้งธรรมดาก็สามารถชนะได้แล้ว
ดังนั้น ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในวันข้างหน้า จึงขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของงานวันนี้ การจะกำจัดการรัฐประหารให้สูญสิ้นไปก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและฝีมือของตัวเอง
วันที่ 5-6 ตุลาคม นี้ มีนิทรรศการ การอภิปราย ดนตรี และการแสดงต่างๆ ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อรำลึกครบรอบ 35 ปี การรัฐประหารโหด 6 ตุลา 2519 ไปดูแล้วจะรู้ว่าโหดขนาดไหน คนเราทำทุกอย่างเพื่ออำนาจได้จริงๆ
++
บทความของปีที่แล้ว ( พ.ศ.2553 )
ถ้านำคดีก่อการร้ายเข้าสู่ศาลจะเกิดอะไรขึ้น? : ย้อนความหลัง คดี 6 ตุลาคม 2519
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1566 หน้า 20
มีข่าวเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือเร่งรัดให้มีการฟ้องผู้ต้องหาในคดีชุมนุมก่อความไม่สงบ เพราะกลัวไม่ทันเวลาทำให้ผู้ต้องหาถูกปล่อยตัว มีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายการเมืองหรือไม่?
ล่าสุด อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 26 คนในคดีก่อการร้ายและมั่วสุมกันเกินสิบคนใช้กำลังประทุษร้ายก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉิน ตามข้อเสนอของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ จากดีเอสไอ แต่ปัจจุบันควบคุมตัวไว้ได้เพียง 19 คนจับไม่ได้ 6 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 1 คนคือ เสธ. แดง ส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องอยู่ในกลุ่ม นปช. ทั้งสิ้น เช่น นายวีระ, จตุพร, หมอเหวง, ณัฐวุฒิ ฯลฯ
คนส่วนใหญ่อยากเห็นคดีก่อการร้ายยุค 2553 และคดีที่เกี่ยวข้องถูกนำเข้าสู่ขบวนการศาลโดยเร็ว เพราะขณะนี้ผู้ต้องสงสัยอีกหลายคนที่ไม่ใช่แกนนำสำคัญ ถูกนำไปขังไว้เป็นเวลานานแล้ว ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ บางคนก็ถูกนำมาปล่อยไว้ข้างถนน (ที่จับไปน่ะคนนะไม่ใช่แมว )
จากนี้เราจะได้เห็นการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นอีกแนวรบหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง พิสูจน์ถูกผิดเพื่อให้คนทั้งโลกได้รู้กัน
เกรงอยู่อย่างเดียวว่า พอเริ่มพิจารณาคดีไปได้ไม่เท่าไหร่ ฝ่ายโจทก์ที่กล่าวหาคนอื่น ก็จะโยนผ้ายอมแพ้ เสนอกฎหมายให้นิรโทษกรรมและขอร้องให้ลืมเรื่องในอดีต อ้างว่าประเทศต้องการความสามัคคี ใครผิดใครถูกอย่าไปพูดถึงอีกเลย
ที่กล้าพูดเพราะเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในการพิจารณาคดี "6 ตุลา 2519" ในครั้งนั้น พวกขวาจัดกับเจ้าหน้าที่รัฐล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีนักศึกษาอยู่ในนั้นประมาณสามพันกว่าคน หลังจากยิงถล่มด้วยอาวุธร้ายแรง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก (ประมาณครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553) ในครั้งนั้น มีผู้ถูกจับไปขังคุกสามพันเศษ แต่เมื่อไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาออกไปเกือบทั้งหมด ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ตามความเห็นของอธิบดีกรมอัยการซึ่งเห็นด้วยกับทางตำรวจ
แต่มีอยู่ 106 คนที่ตำรวจเห็นแย้งจึงต้องไปสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ ตำรวจได้คุมตัวไว้เพียง 23 คนเท่านั้น เพราะ 51คนได้ประกันตัวไปแล้ว ส่วนที่เหลือ 32 คนจับตัวไม่ได้เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ได้อยู่ในธรรมศาสตร์ เพียงแต่มีรายชื่อเป็นผู้ต้องสงสัยเพราะเป็นผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น หมอหงวน, หมอเหวง, เกรียงกมล, ชัชวาล, พิเชียร, พินิจ ฯลฯ
ส่วน 23 คน ภายหลังรัฐบาลก็ปล่อยตัวออกไป 5 คนเหลือ 18 คนซึ่งนำโดย นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตและกรรมการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สุชีรา, ธงชัย, มหินทร์, ประยูร ตอนที่ฟ้องจริงอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ได้รับการประกันตัวไปแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่ไม่ได้ตัวมากักขังไว้ อัยการศาลทหารได้สั่งจำหน่ายคดี 32 คน (เพื่อรอให้ได้ตัวมาดำเนินคดี) ขบวนการที่ใช้พิจารณาคดีคือศาลทหารไม่มีการอุทธรณ์และฎีกาเพราะอยู่ในระหว่างใช้กฎอัยการศึก
26 สิงหาคม 2520 อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุธรรมและพวกทั้ง 18 คนในข้อหา
1. ร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ กบฏ และก่อการจลาจล
2. ดูหมิ่นองค์รัชทายาท
3. บุกรุกในเวลากลางคืน
4. ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกำลังกระทำตามหน้าที่
5. มีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
อัยการศาลทหารกล่าวว่าคดีนี้อาจต้องใช้เวลาเพราะมีพยานโจทก์ 200 ปาก มีโทษหนักที่สุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
5 กันยายน 2520 เปิดศาลทหารเพื่อพิจารณาคดีนัดแรกบริเวณกระทรวงกลาโหม หลังบรรยายฟ้องจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา
ระยะเวลานั้น สถานการณ์การเมืองรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี 2520 ความขัดแย้งในกลุ่มของผู้กุมอำนาจรัฐทำให้เกิดการรัฐประหารในวันที่ 26 มีนาคม 2520 แต่ไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดหัวหน้าคณะปฏิวัติถูกประหารชีวิต ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาประชาชนจำนวนมากก็
ทยอยเข้าป่า จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล การสู้รบในเขตชนบทขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ต้นเดือนเมษายน 2520 ก็ต้องมีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตถึง 553 นาย ดูแล้วสถานการณ์ความรุนแรงน่าจะขยายตัวไปหนักกว่านั้นมาก เพราะนี่เป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น
สถานการณ์ภายในที่รุนแรง และการไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 พลเอกเกรียงศักดิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ด้วยตัวเอง สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถูกยุบเลิกไป มีสภาใหม่เรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ก็มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน
เมื่อการเมืองขยับ ฝ่ายนักศึกษาก็ขยับบ้าง 27 ตุลาคม 2520 นักศึกษาหกร้อยกว่าคนร่วมลงชื่อ และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ ขอนิรโทษกรรมผู้ต้องการคดีการเมืองเพื่อความสมานฉันท์ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา แต่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ประกาศว่าจะมีการนิรโทษกรรมแก่กบฏที่เข้ายึดอำนาจในวันที่ 26 มีนาคม 2520 ส่วนกรณี 6ตุลา พลเอกเกรียงศักดิ์อ้างว่าคดีกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลไม่สมควรก้าวก่ายอำนาจศาล ในวันรุ่งขึ้นมีคณาจารย์จากจุฬาและธรรมศาสตร์ 50 คนทำหนังสือถึงนายกเกรียงศักดิ์ มีใจความว่าสามารถนิรโทษกรรมได้แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แต่เจ้ากรมพระธรรมนูญกล่าวว่าผู้ต้องหาคดี 6 ตุลามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งปกติจะไม่มีการนิรโทษกรรม
ต่อมาไม่นาน นายปรีดี พนมยงค์ และนักศึกษาไทยในฝรั่งเศส60คน ทำหนังสือถึงนายกเกรียงศักดิ์เรื่องขอนิรโทษกรรมนักศึกษาประชาชนกรณี 6 ตุลา เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจะรักษาความสามัคคีของคนในชาติ และขอให้ทบทวนการนิรโทษกรรมเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2520
แม้การเคลื่อนไหวเพื่อขอนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ดูเหมือนจะไม่มีผล การฟ้องคงดำเนินต่อไปฝ่ายรัฐบาลมั่นใจว่าจะส่งนักศึกษาพวกนั้นเข้าคุกได้แน่นอน กำหนดการพิจารณาคดีครั้งต่อไปจะมีขึ้น ณ ศาลทหารบริเวณกรมพลาธิการทหารบก จังหวัดนนทบุรี เพราะมีผู้สนใจเข้าฟังนับพันคน ถึงตอนนั้น นายทองใบ ทองเปาด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทนายอาสาสู้คดีให้กับจำเลยได้คัดเลือกทนายไว้ 34 คน จำเลยแต่ละคนจะมีทนายแก้ต่างให้อย่างน้อยสองคน
การพิจารณาคดีในเดือนมกราคม 2521 มีผู้เข้าฟังเกือบสองพันคน ซึ่งมีตัวแทนของสถานทูตต่างๆ เช่น เยอรมันและอเมริกาเข้าร่วมรับฟังด้วย ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่า ได้รับการคุกคามหลายรูปแบบ เช่น มีการนำพวงหรีดไปมอบให้สมาคมทนาย ถูกตรวจค้นร่างกายและกระเป๋าเอกสารก่อนเข้าศาล แม้แต่ไปเข้าห้องน้ำกลับมาก็ต้องถูกตรวจค้น นอกเวลาราชการ เมื่อออกจากศาลยังมีคนสะกดรอยตาม
สมาคมทนายจึงได้ทำหนังสือขอความคุ้มครองจากนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจ ในการพิจารณาคดีวันที่ 16 มกราคม ก็ไม่สามารถพิจารณาได้เพราะได้รับการคุกคามจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมาคอยชูป้าย ข่มขู่ทนายที่หน้าศาล ว่าเป็น "ทนายทาสคอมมิวนิสต์" "ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นภัยต่อสถาบัน" ฯลฯ
การพิจารณาคดีประเมินกันว่าน่าจะใช้เวลานานพอสมควร คนส่วนใหญ่วิตกว่าแกนนำทั้ง 18 คนต้องแย่แน่ เพราะขนาดทนายยังถูกข่มขู่ หลังจากสืบพยานโจทย์ไปได้ 7 ปากซึ่งต้องใช้เวลาจนถึงเดือนกรกฎาคมก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติง่ายๆ แต่พอเข้าเดือนสิงหาและเดือนกันยามีการสืบพยานโจทก์เพิ่มอีกสามปาก เหตุการณ์ก็เกิดพลิกผัน ฝ่ายโจทก์ทำท่าจะโยนผ้ายอมแพ้เอาดื้อๆ ถึงตรงนี้ งิ้วที่แสดงอยู่ทำท่าจะเปลี่ยนฉากจากศาลไคฟงเป็นนิรโทษกรรม
การสืบพยานโจทก์ในคดี 6 ตุลา 2519ในเดือนสิงหา-กันยา 2521 ที่เป็นสาเหตุของการพลิกผัน คนแรกเป็นแค่พลตำรวจ คนที่สองเป็นสิบตำรวจโท คนที่สามเป็นร้อยตำรวจเอก ถึงตรงนี้ งิ้วการเมืองที่กำลังแสดงอยู่ก็ทำท่าว่าจะเลิกกลางคัน เพราะการสืบพยานเริ่มบานปลาย
มีการถามชื่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป เหตุการณ์ชักตื่นเต้น เพราะมีโอกาสจะลุกลามไปถึงคนสั่งการที่อยู่เบื้องหลัง
24 สิงหาคม 2521 มีการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นพลตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ มาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ได้ให้การว่าได้รับคำสั่งจากหัวหน้ายศร้อยตำรวจเอกเข้าไปถึงธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยกำลังตำรวจ 30 นาย ขณะปฏิบัติการ เห็นเพื่อนยศสิบตำรวจโทถูกยิงเฉียดศีรษะ มีเลือดไหล และตนเองได้ถูกยิงที่ชายโครงด้านหลังมาจากที่สูง เข้าใจว่านักศึกษาเป็นผู้ยิง
29 สิงหาคม 2521 มีการสืบพยานโจทก์คนต่อไป คือสิบตำรวจโทคนที่ถูกยิงเฉียดศีรษะ ซึ่งแจ้งว่าตัวเองเป็นตำรวจพลร่มมาจากหัวหิน ได้รับคำสั่งให้รวมพลเข้ากรุงเทพฯ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่ามาทำไม และให้ไปเบิกอาวุธปืนเอชเค 33 ออกเดินทางมาพร้อมกับพวกประมาณ 50-60 คน โดยมีนายตำรวจยศพันตำรวจตรีและร้อยตำรวจเอกเป็นหัวหน้า ระหว่างบุกเข้าไปได้ยิงปืนประมาณสิบนัด ตัวเองถูกยิงที่ศีรษะออกมารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 8 วัน เมื่อมีการชูภาพเจ้าหน้าที่แบกอาวุธปืนขนาดใหญ่ให้ดู พยานกล่าวว่าเป็นปืน ปรส. มีอานุภาพยิงรถถังได้
7 กันยายน 2521 (ครบ 1 ปีพอดีนับจากวันขึ้นศาลครั้งแรก) มีการสืบพยานปากที่ 10 คือร้อยตำรวจเอก ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย นปพ. ซึ่งลูกน้องที่บาดเจ็บอ้างถึง เขาให้การว่าตนสังกัดหน่วย SWAT ได้รับคำสั่งจากหัวหน้ายศพันตำรวจโทซึ่งเป็นผู้กำกับฯ ให้นำกำลัง 45 นายออกไประงับเหตุที่ธรรมศาสตร์ โดยมีอาวุธปืนเอชเค 33 เป็นอาวุธประจำกาย เห็นนักศึกษายิงสกัดฝูงชนที่พยายามบุกเข้าไป จึงยิงปืนเข้าไปในซอกตึกต่างๆ ทนายจำเลยซักค้านว่า จากคำบอกเล่าในชั้นแรก พยานได้รับมอบหมายให้ไปป้องกันเหตุร้าย ทำไมยกกำลังเข้าไปกวาดล้างนักศึกษา พยานให้การว่าได้รับคำสั่งใหม่ อ้างว่าได้รับคำสั่งใหม่มาจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยศพลตำรวจโท ให้เข้าเคลียร์พื้นที่ได้ แต่ยอมรับว่าเป็นคำบอกเล่าจากผู้อื่น ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งโดยตรง และการที่พยานนำกำลังบุกเข้าไปนั้น จึงเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่พยานก็ไม่ได้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
ถึงตรงนี้ มวยคู่เอกระหว่างมุมแดงกับมุมน้ำเงินเริ่มมีการพลิกผัน ฝ่ายแดงซึ่งเสียเปรียบมาตั้งแต่ต้นเพราะตัวเล็กกว่าและไม่มีกรรมการเป็นพวก กลับได้ต่อยเข้าเป้าถึงสามหมัดซ้อน ทันทีที่คำให้การในวันที่ 7 สิ้นสุดลง ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาก็ลามจากระดับตำรวจชั้นประทวนขึ้นไปถึงระดับผู้บังคับบัญชาชั้นนายพันและพลตำรวจโท แน่นอน ว่าผู้สนใจติดตามคดีย่อมอยากรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง การสังหารหมู่กลางเมืองหลวง
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไหวทัน มีการเปลี่ยนแผนใน 3 วัน วันที่ 11 กันยายน คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบให้เสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาเข้าสู่สภา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นมีกลุ่มต่างๆ ร้องขอเท่าไหร่ก็ไม่ยอม แต่พอถึงวันนี้ รีบลนลานเสนอเรื่องเข้าสู่สภาแต่งตั้งอย่างรวดเร็ว และในวันที่ 15 กันยายนเมื่อ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีการรับลูกต่อจากรัฐบาลมาชงจนเสร็จภายในวันเดียว โดยพลโทเฉลิมชัย ประธานในที่ประชุมขอมติรับรองในวาระที่หนึ่งมีเสียงรับรอง 208 ต่อ 1 ในวาระที่สองซึ่งเป็นการแปรญัตติ ก็ใช้เวลาเพียงสิบนาทีในการแก้ไขถ้อยคำและลงมติผ่านในวาระที่สาม ด้วยคะแนน 108 ต่อ 1 แผนการปองร้ายกลายเป็นแผนการปรองดองอย่างรวดเร็ว
พลเอกเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนี้มีผลรวมหมดทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวพันคดี ในระหว่าง 4-6 ตุลา 2519 รวมทั้งบุคคลที่หนีไปอยู่ในป่า พวกเขาจะไม่ได้รับการลงโทษหรือนำตัวไปฟ้องร้องต่อศาล สามารถกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ต่อไป และในวันนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์ก็บินไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
16 กันยายน พลเอกเกรียงศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันนี้ และได้กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่า
"ความผิดความถูกนั้นก็รู้กันว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่าเพราะยังก้ำกึ่งกัน ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสินแต่ทุกคนเห็นแล้วว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการกระทำต่อบ้านเมือง และการให้นิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่าทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง นิสัยคนไทยมีจิตใจให้อภัยกัน มีพรหมวิหาร 4 เหตุการณ์ที่ทำไปนั้น ก็เพื่อป้องกันสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บางคนอาจมีจิตใจเคียดแค้นอยู่บ้าง แต่เชื่อว่านิสัยคนไทยมักจะลืมและให้อภัย เวลานี้เราจะตั้งต้นกันใหม่ พยายามสร้างความมั่นคงให้ชาติและความเป็นธรรมในสังคม"
เป็นอันว่า การสืบค้นคดีก็ต้องยุติลงเพียงเท่านั้น จนป่านนี้ก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นคนยิงปล่อยให้เดากันไปเอง และในวันนั้นเอง เวลาห้าโมงเย็นก็มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดออกมา หลังจากติดคุกฟรีๆ อยู่เกือบสองปี และก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี สงครามจึงยุติลงตามนโยบาย 66/23 แต่ก็มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคน
วันเวลาผ่านไป 10 ปี- 20 ปี- 30 ปี ทุกช่วงเวลาไม่มีใครเคยบอกได้เลยว่า เด็กนักศึกษาพวกนั้นทำผิดอะไร ในทางตรงข้าม พวกที่เข้าไปปราบปรามและเข่นฆ่าก็พากันหลบลี้หนีหน้าไม่เคยมีใครกล้าประกาศว่า ตัวเองนี่แหละเป็นผู้นำคนบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ เป็นคนที่ยิงนักศึกษา เป็นคนที่วางแผน ผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนทั่วไปรู้ว่าตัวเองมีส่วนอยู่ด้วย บางคนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิตยังบ่นเสียใจต่อเรื่องนี้ วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก บางทีการให้อภัยแบบเก่าๆ อาจไม่เกิดขึ้น ดูตัวอย่างผู้นำเขมรแดง แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานหลายสิบปีก็ยังถูกตัดสินลงโทษ ซึ่งคงต้องติดคุกจนตาย
ถ้าเอาเรื่องการก่อการร้าย การชุมนุมโดยผิดกฎหมายในเดือนมีนาถึงเดือนพฤษภา 2553 เทียบกับสถานการณ์ของจำเลยในคดี 6 ตุลา 19 กับคดีพฤษภา 2553 จะพบว่าคดีพฤษภา 2553 มีข้อหาเบากว่า ข้อหา "ล้มเจ้า" รัฐบาลก็ไม่กล้าเอามาฟ้อง สถานการณ์ทางเสรีภาพในการสื่อสารของยุคนี้ก็ดีกว่ายุค 2519 ด้านพยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพนิ่ง ภาพถ่าย คลิปต่างๆ ก็ถูกบันทึกไว้เป็นจำนวนมากกว่าในยุคก่อน เชื่อว่าพยานซึ่งมีจำนวนนับพันนับหมื่น แถมวันนี้ยังมีทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศ หลักฐานจากภาพที่ปรากฏ รวมทั้งการให้ปากคำของคนในหน่วยงานของรัฐบาลเอง จะทำให้ความจริงปรากฏอย่างแน่นอน
ในการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ไม่ว่ายศต่ำยศสูงคงได้เห็นคนปากสั่นขาสั่นกันเป็นแถว ผลสุดท้าย เราก็จะได้รู้ว่าใครเป็นคนยิง อยู่หน่วยไหน ใครเป็นคนสั่ง และได้รับคำสั่งต่อจากใคร ถ้าพวกเขาคิดว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมจนป่านนี้เรายังไม่เคยเห็นใครที่แสดงตัวเป็นวีรบุรุษ ออกมาประกาศเลยว่า
"ผมนี่แหละมือปืนตัวจริง ผมยิงแม่นไหมครับ"
ขนาดชื่อหน่วยที่สังกัดข้างรถยังต้องเอากระดาษขาวมาแปะทับ กลัวประชาชนจะรู้ว่ามาจากหน่วยไหน เจ้าหน้าที่หลายคนใส่ทั้งหมวกทั้งแว่นดำ พรางตัวเหมือน "ชายชุดดำ" ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่เรื่องแบบนี้ปิดไม่มิด อำนาจเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน นี่เป็นสัจธรรม ในปีสองปีนี้อำนาจบางอย่างอาจคุ้มครองผู้ทำความผิดได้ แต่ปีที่สามปีที่สี่ ปีที่ห้าอาจทำไม่ได้ บางคนกำลังจะรุ่งโรจน์ก็จะถูกกรรมเก่านี้มาบดบังและอาจจะร้ายแรงถึงต้องเข้าไปอยู่ในคุก วันนี้จะทำอะไรต้องคิดถึงวันหน้าด้วย ถ้ายัดเยียดความอยุติธรรมให้แก่คนอื่น ถึงคราวตัวเองรับกรรมอย่ามาร้องก็แล้วกัน
โปรดติดตามการพิจารณาคดีผู้ก่อการร้าย 2553 ที่นี่ รับรองตื่นเต้นชนิดกะพริบตาไม่ลง!
++
รัฐบาลแห่งชาติ..หนังเก่าสร้างใหม่...ผู้กำกับคนเดิม
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1567 หน้า 27
จากความวุ่นวายทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีคนส่วนหนึ่งคิดว่า น่าจะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา เพื่อจะทำให้เกิดการปรองดองกับทุกฝ่าย บ้านเมืองจะสงบสุขพัฒนาก้าวหน้า ให้เจริญอย่างประเทศอื่นๆ บ้าง
ข่าวจากสื่อซุบซิบกันว่ามีคนวิ่งล็อบบี้จะเป็นนายกเพราะคิดว่ามีคุณสมบัติเหมาะกับรัฐบาลแบบนี้ คือนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ จะได้ไม่ต้องสังกัดพรรคที่ทะเลาะกัน การทำหน้าที่ประสานงานฝ่ายต่างๆ จะได้ราบรื่น
เพียงแต่ต้องเป็นบุคคลที่หลายฝ่ายยอมรับได้
ประเทศไทยมีการพัฒนาชูระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาเกือบ 80 ปีแล้ว แต่ก็สะดุดลงด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหารบางกลุ่มหลายครั้ง เมื่อยึดแล้วก็กลับไปมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วก็ยึดอำนาจอีกสลับกันไปอย่างนี้
ถ้าเปรียบช่วงเผด็จการเป็นช่วงที่มืดมิด ช่วงประชาธิปไตยเป็นช่วงที่ฟ้าสว่าง มันจะมีช่วงเวลาก่อนอรุณจะรุ่ง ซึ่งฟ้ายังไม่สว่างแต่ก็มีแสงสลัวส่องให้เห็นทุกสิ่งรอบตัว ให้เห็นความหวัง ในทางการเมืองอำนาจเผด็จการลดลง ฝ่ายประชาธิปไตยถือโอกาสเคลื่อนไหวได้บ้าง
บางคนเรียกบรรยากาศแบบนี้ว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงเวลา ณ ปัจจุบันนี้มีบรรยากาศเช่นนั้น สำหรับบางคนแม้มีโอกาสเพียงครึ่งหนึ่งก็ต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้
วันนี้มีคนอยากตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งควรจะเรียกว่ารัฐบาลในสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบมากกว่า ซึ่งผู้กุมอำนาจในปัจจุบันหลายคนมีความเชี่ยวชาญมาก เพราะทั้งมีบทเรียนของผู้อื่นและเคยทำมาแล้วด้วยตนเอง เคยเห็นทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จ
บทเรียนของความผิดพลาด
หลังเหตุการณ์รัฐประหารนองเลือด 6 ตุลา 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในครั้งนั้นกลุ่มเผด็จการคิดปกครองโดยอ้างการปฏิรูปประเทศไทยยาวนานถึง 12 ปี แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และจากต่างประเทศ มีการต่อสู้กับรัฐบาลด้วยกำลังอาวุธในขอบเขตทั่วประเทศ
อายุของรัฐบาลจากที่ตั้งความหวังไว้ 12 ปี ก็ลดลงเหลือ 12 เดือนเท่านั้นเพราะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลา 2520 คราวนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง แม้จะมียศทหารนำหน้าแต่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ได้คลายแรงบีบคั้นทางการเมือง ลดอำนาจเผด็จการลง มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ก็ยังเป็นรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนอำนาจเผด็จการสมบูรณ์แบบ
พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและประกาศใช้ในเดือนธันวา 2521 ในเดือนเมษา 2522 ก็มีการเลือกตั้ง ถึงตรงนี้ระบบได้เปลี่ยนเป็นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบแล้ว เพราะมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงประชาชนเลือก ส.ส. 301 คน จากทั่วประเทศเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้กุมอำนาจเดิมก็สามารถตั้งวุฒิสภาเข้ามาถ่วงดุลได้สามในสี่ของจำนวน ส.ส. คือ 225 คน ซึ่งก็ตั้งในวันเดียวกับการเลือกตั้งนั่นแหละ
ในกลุ่ม ส.ว. เป็นทหารจำนวนมาก การปรากฎตัวของนายทหารหนุ่มยังเติร์กบนเส้นทางการเมืองก็เกิดขึ้นณ.โอกาสนี้ เช่น พันโทจำลอง, พันเอกประจักษ์, พันเอกพัลลภ, พันโทสาคร, พันเอกปรีดี, พันโทมนูญ, พันเอกวีรยุทธ ฯลฯ ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แล้วแต่รัฐสภาจะเลือกใคร
เป็นเรื่องปกติของการคลายอำนาจ ผู้มีอำนาจจะต้องค่อยๆ คลายออกทีละขั้น ดังนั้น ในช่วงเวลานั้นจึงไม่มีใครไปโวยวายอะไรมาก ฝ่าย
นักการเมืองถือว่าได้มีโอกาสเลือกตั้ง ได้เข้ามามีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมบริหารบ้างก็ดีแล้ว
แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรจึงจะเหมาะกับสถานการณ์
ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคกิจสังคมได้ ส.ส. มากที่สุด 82 คน พรรคชาติไทยได้ 38 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 32 คน พรรคประชากรไทยได้ 32 คน แต่มีส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง 63 คน พรรคพลังใหม่ 8 คน พรรคฝ่ายซ้ายสังคมนิยมไม่มีแล้ว นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยพรรคละคนสองคน พลเอกเกรียงศักดิ์วางแผนจัดตั้งรัฐบาลทันทีที่รู้ผลการเลือกตั้ง
นี่คือยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ดูเหมือนพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่แคร์ แผนการตั้งรัฐบาลดูคล้ายยุคเผด็จการเต็มรูปแบบ อาจจะมั่นใจในเสียง ส.ว. ที่ตนเองตั้งมากับมือ 225 คน ทั้งยังมี ส.ส. อิสระอีก 63 คน พรรคเล็กพรรคน้อยอีกจำนวนหนึ่ง
10 พฤษภา 2522 พล.อ.อ หะริน หงสกุล เรียกประชุมสภาแบบสายฟ้าแลบ โดยประกาศผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่ง ให้สมาชิกรัฐสภามาประชุมในวันที่ 11 พฤษภาคม ท่ามกลางเสียงด่าของ ส.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งการประชุมตอนเช้าไม่สามารถทำได้ต้องเลื่อนไปบ่าย 2 มีสมาชิกสภาเข้าประชุม 349 คน จากสมาชิกทั้งหมด 301+ 225 = 526 การซาวเสียงเลือกนายกเกิดขึ้นแบบไม่ฟังคำคัดค้านของนักการเมือง ผลปรากฎว่า พลเอกเกรียงศักดิ์ได้เป็นนายกฯ ด้วยเสียง 311 เสียง งดออกเสียง 18 ที่เหลือ 20 คน ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม
ความไม่พอใจเกิดขึ้นกับนักการเมืองหลายกลุ่ม ณ เวลานั้นแล้ว แต่พลเอกเกรียงศักดิ์ยังเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยแต่งตั้งรัฐมนตรี 44 ตำแหน่งมาจาก ส.ส. เพียง 8 คนเท่านั้น มีผู้คัดค้านจำนวนมาก เช่น นายบรรหาร เลขาพรรคชาติไทยแถลงว่า ตั้งข้าราชการประจำมากไปควรให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีสักครึ่งหนึ่ง ถ้ามีเพียง 8 คนเท่านั้นจะได้รับการสนับสนุนจากสภาได้อย่างไร (ในจำนวนรัฐมนตรีหน้าใหม่มีชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในตำแหน่ง รมช.กระทรวงกลาโหมควบตำแหน่ง ผบ.ทบ.)
รัฐบาลชุดนั้นก็คงไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ แต่ตัวนายกฯ คิดว่าแบบนั้นดีที่สุด ผลก็คือเพียงแค่สามเดือนกว่ารัฐมนตรี 11 คน ก็ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะรอดมาได้แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นได้จุดประกายไฟให้บางคน บางกลุ่มคิดแผนการบางอย่างขึ้นมาได้
9 กุมภาพันธ์ 2523 กลุ่มโอเปคได้แผลงฤทธิ์ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงทั่วโลก ไฟฟ้า ประปาขึ้นราคาจนชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันทีเดียว 20% ทำให้เกิดการชุมนุมคัดค้านครั้งใหญ่ที่สนามหลวง มีทั้งนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานจากสหภาพต่างๆ นักการเมืองจากพรรคใหญ่ๆ ทุกพรรค
27 กุมภาพันธ์ 2523 มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองใหญ่ คือกิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ประชากรไทยและพรรคเล็กบางพรรค มีส.ส. ลงชื่อ 204 คน พลเอกเกรียงศักดิ์ซึ่งเดิมคิดว่าเสียง ส.ส. ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะมี ส.ว. อยู่ในมือไม่น้อยกว่า 200 คน แต่พอหันกลับมาสำรวจกำลังในนาทีสุดท้ายก็รู้ว่าพลาดไปแล้ว เพราะ ส.ว. ถูกล็อบบี้ให้ตีจากไปแล้วเช่นกัน ถ้าโหวตเสียงเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์จึงขอเปิดประชุมสภาเพื่อชี้แจงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์และการแถลงในวันนั้นก็เป็นการเปิดใจก่อนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ซึ่งจะเป็นแห่งชาติหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่มีโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยครึ่งใบก็สิ้นสุดลงในระยะเวลาเพียง 9 เดือน มีคนถามว่าตอนตั้งวุฒิสภาไปเอารายชื่อมาจากไหน เสธ. ทหารที่เชี่ยวชาญทั้งงานใต้ดิน บนดินแต่ประมาทนักการเมืองและไม่ทันเกมการเมืองในสภาจึงพ่ายแพ้อย่างหมดรูป
(มีผู้ให้ความเห็นว่า ท่านไว้ใจลูกน้องมากเกินไป)
เบื้องหลังความสำเร็จ
อํานาจรัฐว่างเว้นไม่ได้ต้องหาผู้นำประเทศทันที ถึงตอนแนะนำตัวเอกต่อประชาชน และในวันเดียวกันนั้นพรรคกิจสังคมมีมติส่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ แต่หม่อมคึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้นว่า ถ้าพลเอกเปรม ผบ.ทบ. ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและยอมรับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคกิจสังคมไปบริหารประเทศ จะยอมส่งคนของพรรคเข้าร่วมรัฐบาล
นายบัญญัติจากพรรคประชาธิปัตย์แถลงว่าพรรคมีมติสนับสนุนพลเอกเปรม โดยมีเหตุผล 5 ประการ พรรคชาติไทยและพรรคอื่นๆ ก็สนับสนุน
ทำไมใครๆ ก็สนับสนุนพลเอกเปรม สามปีที่แล้วยังไม่มีใครรู้จักพลเอกเปรม เพราะยังเป็นเพียงแค่แม่ทัพภาค 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน 20 กันยา 2520 โยกย้ายเข้ามาเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขณะนั้นมียศพลโท หลังจากนั้น หนึ่งปี ในเดือนกันยายน 2521 ก็ได้เป็น ผบ.ทบ. หลังการเลือกตั้งปี 2522 เดือนพฤษภาคมเข้าสู่วงการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม แต่ยังควบตำแหน่ง ผบ.ทบ. ด้วย เพียงไม่กี่เดือนก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี จึงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงวันนี้รวมเวลาสองปีครึ่งเขาได้ก้าวขึ้นไปสู่ จุดที่มีอำนาจมากที่สุดเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแล้ว
3 มีนาคม 2523 ผลการซาวเสียงหาตัวนายกรัฐมนตรี ปรากฎผลดังนี้
พลเอกเปรม ได้คะแนนจาก ส.ส. 195 ส.ว. 200 รวม 395
มรว.คึกฤทธิ์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 79 ส.ว. 1 รวม 80
พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 4 ส.ว. 1 รวม 5
นายสมัคร ได้คะแนนจากส.ส. - ส.ว. 1 รวม 1
กว่าจะถึงวันนี้ มีหลายคนต้องทำงานหนัก ต้องวิ่งล็อบบี้บุคคลสำคัญต่างๆ ต้องเคลื่อนไหวมวลชน ใช้เวลาร่วมเดือน แต่ทุกอย่างก็ได้ผลเป็นไปตามแผน
เวลานั้นต้องบอกว่า คนไทยโชคดีที่ได้พลเอกเปรมเป็นนายก ต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม แบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ส่วน ส.ส. และ ส.ว. ก็ชุดเดิม แต่พลเอกเปรมได้สรุปบทเรียนจากนายกคนเก่ามาแล้ว เมื่อเห็นพลเอกเกรียงศักดิ์พัดกอล์ฟแรงเกินไป เอียงออกไปทางขวาห่างหลุมไปเยอะแล้วไหลลงเนินไปไกลลิบ พลเอกเปรมเป็นคนฉลาดและเก่งพอตัว ย่อมสามารถปรับทิศทางและน้ำหนักให้พอดีได้ วันนี้พลเอกเปรมซึ่งเป็นคนฉลาดจึงมีทั้งอำนาจการเมือง และกำลังทหารอยู่ในมือ แต่เขามิได้ประมาท
ถึงเวลาตั้งรัฐบาล พลเอกเปรมรู้ว่าฐานของอำนาจในสถานการณ์การเมืองแบบนี้มาจากที่ใดบ้าง (ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย) จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ตำแหน่งรัฐมนตรี 37 คนพลเอกเปรมยกให้สายการเมือง 24 คน (กิจสังคมได้ไป 11 ตำแหน่งเพราะมี ส.ส. มากที่สุด ชาติไทยได้ 6 ประชาธิปัตย์ได้ 5 พรรคเล็กพรรคน้อยได้ 2 ตำแหน่ง) อีก 13 คน ก็ได้ดึงมือบริหารเข้ามาช่วย แบบนี้น่าจะเรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติตามที่ต้องการ เพราะสามารถจัดได้เหมาะสมตามโครงสร้างของอำนาจในเวลานั้นและบริหารได้ดีด้วย
พลเอกเปรมสะสมประสบการณ์ด้านการเมืองจนเชี่ยวชาญมากขึ้น ฝีมือพัฒนาจนถึงขั้นเซียนคนหนึ่ง สามารถโต้คลื่นแห่งอำนาจ ฝ่าคลื่นการเมืองมาได้ถึง 8 ปี เพราะหาผู้สนับสนุนด้านต่างๆ มาเป็นกำลังเพื่อช่วยบริหารงานและบริหารอำนาจ ยุคนั้นจึงมีคนเก่งจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ นายทุน นายธนาคารเข้าไปช่วยงานอยู่รอบข้างเต็มไปหมด ก่อนประชาธิปไตยจะถูกพัฒนาให้เป็นแบบเต็มใบ นายกเปรมก็บอกว่า "ผมพอแล้ว" และเดินเข้าไปหลังเวทีทันที
ปัจจุบันในวงการเมืองเราก็มีบุคคลที่มีประสบการณ์พอๆ กับพลเอกเปรมอยู่หลายคน เช่น คุณชวน คุณบัญญัติ คุณบรรหาร พลเอกชวลิต คุณวีระ พลตรีจำลอง ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็น "ลูกป๋า" ทั้งสิ้น พวกเขารู้ดีว่าการเมืองในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นอย่างไร วันนี้ทุกคนยังอยู่บนเวที กำลังศึกษาบทของตัวเองอย่างเคร่งเครียด พวกเขาเข้าใจดีว่าไม่มีวันเกิดขึ้นหรอกรัฐบาลแห่งชาติแบบสามัคคีกันหมด รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ก็จะเหมือนกับที่ตั้งกันมาแล้วนั่นแหละ เพียงแต่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับสภาพสังคมและการเมืองในปัจจุบัน
วันนี้เส้นทางการเมืองเดินมาถึงทางแยกแล้ว ผู้กุมอำนาจรัฐจะต้องเลือกเอาว่าจะเดินไปบนเส้นทางไหน ทางแรกคือเดินตามเส้นทางรัฐสภา ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อีกเส้นทางหนึ่งคือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ หาทางรวบอำนาจไว้ให้อยู่ในมือให้นานที่สุด คง พ.ร.บ. ฉุกเฉินไว้ให้นานที่สุด แต่การวิเคราะห์จากข่าวสารที่ปรากฏขึ้น โอกาสที่จะเลือกหนทางแรกมีสูงกว่า เพราะผู้กุมอำนาจรัฐทุกวันนี้ได้เปรียบอย่างมาก มีคนเขียนเปรียบเทียบไว้ในเว็บว่า เป็นระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์แบบบูรณาการ คือกุมไว้ได้หมดทุกองค์กร ทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ องค์กรอิสระ
หลายวันนี้จึงมีข่าวเรื่องการยุบพรรค การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้นายกมาจากคนนอก,พ่วงเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว และการนิรโทษกรรมผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและได้มีสิทธิลงเลือกตั้งกันอีกครั้ง ข่าวการนำหนังเรื่องเก่ามาสร้างใหม่โดยผู้กำกับฝีมือเยี่ยมคนเดิม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่การปกครองยุคนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะสื่อสารมวลชนกับประชาชนได้พัฒนาไปมากแล้ว ก่อนอรุณจะรุ่งแม้มีแสงสลัวแต่...เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำให้เห็นอะไรชัดมากขึ้น
ความคิดเรื่องเลือกตั้งย่อมดีกว่าคิดรวบอำนาจ ขอเตือนว่าทุกฝ่ายอย่าใจร้อน ต้องปล่อยให้มีการหาเสียงอย่างอิสระ อย่าใช้กำลังเข้าข่มขู่กัน
ยอมรับผลการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะคลี่คลายด้วยตัวของมันเอง อย่าคิดเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างความรุนแรงจากการแตกความสามัคคีของคนในชาติ แล้วตั้งรัฐบาลรักษาการ แม้จะเรียกรัฐบาลแบบนี้ว่ารัฐบาลแห่งชาติก็จะไม่มีใครยอมรับ และจะเป็นต้นเหตุของการต่อสู้แบบรุนแรงตามมา
วันนี้มีการเตรียมการหลายอย่าง เช่น การจัดวางตำแหน่งข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือน เตรียมดูด ส.ส. เข้าสังกัดของตน เตรียมสะสมเสบียงอาหารและกระสุน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นการต่อสู้ในเวทีรัฐสภาก็เป็นสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากที่สุด วันนี้คนดูจึงอยากดูหนังเรื่อง "การเลือกตั้งและรัฐบาลแห่งชาติ" แต่ขอให้เป็นชาตินี้อย่าให้รอถึงชาติเลย.
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย