http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-13

' ปกป้องสถาบัน ', "คาถาเอกลักษณ์" โดย เกษียร เตชะพีระ

.

' ปกป้องสถาบัน '
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:30:00 น.

ระหว่างติดตามสดับตรับฟังวิวาทะสืบเนื่องจากข้อเสนอของเพื่อนอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ดังอื้ออึงอยู่นั้น ผมอดนึกเปรียบเทียบ ไม่ได้ว่า.....

สิ่งที่คณะรัฐประหาร คปค.กระทำเมื่อ 5 ปีก่อนคือการใช้อำนาจปืนลุกขึ้นฉีกกฎหมายสูงสุดของชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ ทิ้งโดยพลการ

ขณะสิ่งที่คณะนิติราษฎร์ทำตอนนี้คือนำเสนอหลักเหตุผลข้อถกเถียงทางวิชาการเพื่อให้สังคมไทยพิจารณาตัดสินใจลบล้างผลพวงของการละเมิดกฎหมายและอำนาจอธิปไตยของแผ่นดิน โดย คปค. ครั้งนั้น ผ่านกระบวนการและวิธีการโดยชอบในกรอบของกฎหมายปัจจุบัน

เนื้อแท้ที่แตกต่างตรงกันข้ามของสิ่งที่ทั้งสองคณะกระทำ, และปฏิกิริยาที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อกรณีทั้งสองโดยเฉพาะในหมู่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคน ช่างเป็นที่น่าแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจเสียนี่กระไร?!?!?

เราจะเข้าใจพวกเขาว่าอย่างไรดี?

มองในแง่ดีที่สุด ผมเข้าใจว่าสิ่งที่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคนพยายามทำ คือปกป้องสถาบันเก่าแก่สำคัญของชาติสถาบันหนึ่งไว้ นั่นคือ สถาบันรัฐประหาร!

สถาบันดังกล่าวอยู่คู่กับสถาบันหลักทั้งสามอันได้แก่ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์มาตลอดยุคการเมืองไทยสมัยใหม่

หน้าที่สำคัญของสถาบันหลักของชาติแห่งที่สี่นี้คือเป็นเครื่องมือหรือวิธีการ (instrument/means) ที่พลังการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายในสังคมการเมืองไทยเก็บไว้ใช้เพื่อปกป้อง สถาบันหลักทั้งสามในยามที่พวกเขาเห็นกันไปเองว่าคับขันจำเป็น

สถานะถูกผิดดีชั่วทางศีลธรรม (moral/immoral) ของสิ่งที่เป็นเครื่องมือย่อมไม่มีอยู่ในตัวมันเอง (ก็มันเป็นแค่เครื่องมืออ่ะ...) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันเป็นกลางทางศีลธรรม (amoral) ตราบเท่าที่มันสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มันก็ใช้ได้แล้ว

ในระเบียบวิธีคิดแบบ instrumentalism (อุปกรณ์นิยม), pragmatism (สัมฤทธิ์คตินิยม) หรือ consequentialism (ผลลัพธ์นิยม) นี้ เป้าหมายย่อมเป็นตัวให้ความชอบธรรมกับวิธีการ (The end justifies the means.)

หากเป้าหมาย (ปกป้องสถาบันหลักทั้งสาม, ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ) ถูกต้องชอบธรรมเสียอย่างแล้ว ไม่ว่าวิธีการใดๆ (รัฐประหาร, ใช้กำลังบังคับปราบปรามประชาชน, ก่อการร้าย ฯลฯ) ก็ใช้ได้ ต่อให้มันผิดทางศีลธรรมหรือการเมืองเพียงใดก็ตาม เพราะเป้าหมายที่ถูกต้องย่อมจะเสกบันดาลให้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นถูกต้องดีงามในสายตาของผู้ใช้ไปได้โดยปริยาย

ในโลกที่ "จะแมวดำหรือแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" หรือ "จะรัฐประหารหรือระบอบรัฐสภาก็ช่าง ขอให้ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันได้เป็นพอ" นี้

แนวคิดและหลักปฏิบัติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ, อำนาจอธิปไตยของประชาชน, หลักนิติธรรม ฯลฯ ย่อมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และฟุ่มเฟือยมีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะ

"เมืองไทยเสียอย่าง เรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครอื่นเขาในโลก", "ความเป็นไทยจะให้ไปเดินตามหลักสากลของฝรั่งมังค่าตะวันตกได้อย่างไร" ฯลฯ

เป็นเรื่องง่ายที่จะฟันธงว่าความคิดข้างต้นต่อต้านประชาธิปไตย ส่วนที่ยุ่งกว่าหน่อยคือ พยายามเข้าใจว่าลำดับเหตุผลตรรกะการคิดที่นำคนฉลาดๆ อย่างท่านไปสู่จุดนั้นมันเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่ามันเป็นอะไรบางอย่างทำนองนี้ครับ...


แก่นสารส่วนที่เป็นประชาธิปไตย (democratic components) ของระเบียบการเมืองเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) นั้นคือหลักของการปกครองโดยประชาชน (government by the people)

ผู้ตะขิดตะขวงใจหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประชาธิปไตยกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือปฏิเสธหลักการนี้แหละ

เพราะ "การปกครองโดยประชาชน" (ซึ่งฟังดูดี) แปลเป็นรูปธรรมในสังคมหนึ่งๆ ได้ความว่า (ขอประทานโทษ ใช้ภาษาตลาดเพื่อสื่อความเข้าใจ) "การปกครองโดยพวกมึง"!

พวกมึงน่ะน้า?!? เอื๊อกกกก.... ขืนให้พวกมึงขึ้นมาปกครองก็อิ๊บอ๋ายเท่านั้นเอง

ขึ้นชื่อว่า "ประชาชน" นั้นย่อมน่ารักในทางนามธรรม แต่พอกลายเป็น "พวกมึง" ในทางรูปธรรมแล้ว มันก็รักไม่ค่อยลง เพราะย่อมมีทั้งคนดีคนชั่ว คนฉลาดคนเขลาปะปนคละเคล้ากันไปเป็นธรรมดา

และที่แย่ก็ตรงพอปล่อยให้โหวตเสรีเลือกผู้ปกครองตามใจตัวเองทีไร ก็มักจะโหวตผิด เลือกคนโกงคนทุจริตมาทุกที

การที่ "ประชาชน" ผู้น่ารักดันโหวตเลือกคนไม่ดีมาสู่อำนาจ ย่อมฟ้องโทนโท่อยู่ว่า "พวกมึง" โง่ (ขาดการศึกษา) หรือชั่ว (ขายเสียงขายสิทธิเหมือนขายชีวิตขายชาติ) หรือยังเป็นเด็กอยู่ (ไม่บรรลุ วุฒิภาวะ ถูกจูงจมูกได้ง่ายด้วยนโยบายขายฝันสารพัด) ฉะนั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่ "พวกกู" (ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง) ผู้มีคุณธรรม สติปัญญาความสามารถและความเป็นไทย จะต้องเข้ามาแบกรับหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลบ้านเมืองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตคับขันแตกแยกนี้ไปก่อน,

อะแฮ่ม, โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย หากด้วยวิธีอื่นแทน.....

แต่มันจะเป็นไรไปในเมื่อเป้าหมาย (ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบัน) ย่อมสำคัญกว่าวิธีการ (รัฐประหาร),

จะแมวดำแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนู (ตัวใหญ่หนีไปอยู่ต่างประเทศอีกแล้วตอนนี้) ได้เป็นพอ แหะๆ

ปัญหาอยู่ตรงประสบการณ์รอบห้าปีที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่า เครื่องมือ/วิธีการรัฐประหารนั้น มันไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้เลย

ตรงกันข้าม ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังดำรงอยู่ในวงการรัฐบาลและราชการ, ปัญหาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติกลับหนักหน่วงร้ายแรงขึ้น, มิหนำซ้ำความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนในชาติกลับรุนแรงลุกลามออกไปถึงขั้นฆ่าฟันกันกลางเมืองล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเป็นพัน เสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

นี่คือราคาที่เราจ่ายให้การใช้วิธีการที่ผิดในนามของเป้าหมายที่ถูก แล้วมันคุ้มกันไหม? เรียกชีวิตของผู้ที่ตายไปเพราะผลพวงสืบเนื่องจากรัฐประหารกลับคืนมาได้แม้สักคนหนึ่งไหม? ใครต้องรับผิดชอบ?


ผมอยากเรียนว่าการที่ คปค.ยึดอำนาจโดยอ้างเหตุผลในการปกป้องสถาบันหลักของชาติ ด้วยความเชื่อว่ามีแต่วิธีการรัฐประหารเท่านั้นจะยังความมั่นคงแก่สถาบันหลักของชาติได้ เท่ากับเป็นการลากดึงเอาสถาบันหลักของชาติให้ออกห่างจากรัฐธรรมนูญ, หลักนิติธรรมและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่เอาเข้าจริง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ตั้งอันมั่นคงที่สุดของสถาบันหลักของชาติคืออยู่ที่เดียวกับรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรมและประชาธิปไตยเท่านั้น

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารโดยเนื้อแท้แล้วจะส่งผลช่วยฟื้นฟูและผดุงความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติเคียงข้างรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม และประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศในที่สุด



++

"คาถาเอกลักษณ์"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ซาอิฟ อัล-อิสลาม โมอามาณ์ อัล-กาดาฟี



เมื่อนักข่าวถามว่าเกรงม็อบเมืองไทยจะต่อต้านล้มล้างรัฐบาลเลียนแบบม็อบ ลิเบีย อียิปต์หรือไม่? พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตอบว่า: -

"ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเป็นคนไทย ตนว่าลึกๆ แล้วคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ขี้เห็นใจ ใจอ่อน เชื่อคนง่าย ดังนั้น สิ่งที่เราแตกต่างจากต่างชาติคือเรามีความผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของพวกเรา ....

...ดังนั้น แน่นอนมีคนที่จ้องจะทำลายสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร ถ้า 2 สถาบันนี้คือสถาบันกษัตริย์และสถาบันทหารอ่อนแอเมื่อไหร่ก็ตามก็จะถูกแทรกซ้อนโดยง่าย เหมือนกับสมัยก่อนก็เคยมีอยู่ ดังนั้นก็จะต้องไปหากันว่าใครที่ต้องการทำแบบนั้น"
(ประชาไทออนไลน์, 23 ก.พ. 2554)

คำตอบของพลเอกประยุทธ์ที่ผมได้ยินครั้งแรกทางทีวีช่อง 5 ข้างต้นสะดุดหูสะดุดใจชอบกล เพราะเผอิญคล้องจองกับทรรศนะต่อประเด็นคล้ายกันในกรณีลิเบียของ ซาอิฟ อัล-อิสลาม โมอามาร์ อัล-กาดาฟี (ผู้ได้สมญานามว่า "ท่านผู้ใหญ่") ลูกชายที่พันเอกโมอามาร์ กาดาฟี (ผู้ได้สมญานามว่า "ท่านผู้นำ") ผู้พ่อเตรียมให้สืบทอดอำนาจต่อจากตน ดังที่ซาอิฟกล่าวย้ำแล้วย้ำอีกในคำปราศรัยสดทางทีวีของรัฐลิเบียเมื่อตี หนึ่งคืนวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ.ศกนี้ว่า:

"ลิเบียไม่ใช่ตูนิเซียหรืออียิปต์ๆๆๆ...

"ลิเบียประกอบไปด้วยชนเผ่า, โคตรตระกูล, และความจงรักภักดี มันจะเกิดสงครามกลางเมือง...

"เราจะสู้จนชายคนสุดท้าย จนหญิงคนสุดท้าย จนกระสุดนัดสุดท้าย"

(NYTimes.com, 20 February 2011)


คำว่า "ไม่เหมือน" และ "ไม่ใช่" ในคำสัมภาษณ์และปราศรัยออกจะวิ่งสวนทางประวัติศาสตร์การลุกฮือของมวลชนในอดีต, เหตุการณ์รอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา, แนวโน้มสถานการณ์, และจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้ ขัดแย้งทางการเมืองทั้งในเมืองไทยและลิเบียอย่างผิดสังเกต เป็นที่เข้าใจได้ว่าในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ย่อมไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็นไปเช่นนั้น แต่โลกที่เป็นจริงก็มีความดื้อดึงของมัน

บางทีวิธีหนึ่งที่จะใช้ทำความเข้าใจคำกล่าวข้างต้นอาจเป็นดังที่ ฮิชัม มาทาร์ นักเขียนนิยายชาวลิเบียในกรุงลอนดอน-ลูกชายแกนนำฝ่ายค้านพลัดถิ่นผู้ถูกกาดา ฟีสั่ง "อุ้ม" จากอียิปต์กลับไปคุมขังทรมานในคุกลิเบียจนถึงทุกวันนี้-ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำปราศรัยของพันเอกกาดาฟีเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ศกนี้ มีลักษณะแปลกพิกลบางอย่างคล้ายๆ คำปราศรัยครั้งหลังๆ ของประธานาธิบดีเบน อาลี แห่งตูนิเซีย และประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ กล่าวคือ

จอมเผด็จการทั้งสามต่างสับสนปนเปประเทศของตนเข้ากับตัวเอง พูดเรื่องประเทศของตนราวกับกำลังพูดเกี่ยวกับตัวเอง พวกเขาต่างเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้งในตัวของเขาเอง เป็นเหยื่อของโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขานึกคิดขึ้นเอง ท่ามกลางพรรคพวกบริวารแวดล้อมที่คอยพร่ำบอกว่าเขาถูกเสมอ
(www.democracynow.org/2011/2/23/were_witnessing_the_violent_lashings_of#)


อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีผู้นำไทยที่พยายามใช้คาถาเอกลักษณ์มาเสกขจัดปัดเป่าความขัดแย้งต่อสู้เข่นฆ่า ทารุณอย่างดุเดือดนองเลือดกลางเมืองว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ไทยเอามากๆ และดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่วิสัยคนไทยทำ...

"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย

"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเอามาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวาง แล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง 4 ศพ

"ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้นก็สามารถจะปะติดปะต่อได้

"การที่มีการเผาคนตายไป 4 คนนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็กๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด

"เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้...หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตู เอาอ่างมีตะแกรง หมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว

"ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม

"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่า มีชาติอื่นคือชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอนเข้าไปเกี่ยวข้อง ในกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามเองที่ถูกฆ่าตาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง 4 เสีย

"เขาเรียกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่มิใช่วิสัยคนไทย ทำการเผาคนกลางถนนนั้น ไม่ใช่วิสัยของคนไทย..."

(รัฐมนตรีมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่ฝรั่งเศส, 4 มิ.ย. 2520 อ้างจากวีระ มุสิกพงศ์ และศิระ ตีระพัฒน์, โหงว นั้ง ปัง, สำนักพิมพ์สันติ์วนา, 2521, น.155-56)

สรุปตามตรรกะของคาถาเอกลักษณ์ไทยได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ = ญวนฆ่าญวน เพราะมันขัดกับความเป็นไทยฉันใด!

ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์มวลชนลุกฮือต่อต้าน/ล้มล้างรัฐบาลอย่าง 14 ตุลาฯ 2516, พฤษภาประชา-ธรรม 2535, 7 ตุลาเลือด 2551, สงกรานต์เลือด 2552, เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 รวมทั้งการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงขึ้นอีกรอบนับแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ฯลฯ ก็ไม่น่าเป็นไปได้หรือเกิดขึ้นได้กลางเมืองไทยแผ่นดินไทย เพราะมันขัดกับความเป็นไทยฉันนั้น!

ถ้าข้อสรุปดังกล่าวจะขัดขืนฝืนทวนความเป็นจริงบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะในเมืองไทย อุดมคติสำคัญกว่าความเป็นจริง และบ้านนี้เมืองนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้...

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความในมุมกลับว่าในหมู่คนไทย 60 กว่าล้านคน ล้วนเจียะป้าบ่อสื่อ วันๆ เอาแต่สุมหัวรวมตัวลุกฮือต่อต้านล้มล้างรัฐบาลท่าเดียว เปล่าครับ

เพราะแม้แต่ เบน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาดนตรีวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา ผู้มาสำรวจวิจัยการแสดงดนตรี/ร้องเพลงในการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของไทย ปัจจุบัน ก็ยังกล่าวทิ้งท้ายกับ นีล เทรวิธิค ผู้สื่อข่าวบีบีซีระหว่างไปร่วมงานชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อยุธยาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า : -

ชาวโลกคงประทับตาตรึงใจกับภาพข่าวการชุมนุมต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับทหารอย่างดุเดือดรุนแรงเมื่อกลางปีก่อน แต่ถ้าคุณอยู่ในที่เกิดเหตุจริงๆ คุณจะเห็นว่าลับตากล้องออกไป ผู้คนแสดงความเมตตาปรานีต่อกันอย่างเหลือเชื่อ มีการช่วยดึงฝ่ายตรงข้ามให้หลบพ้นภยันตราย พาคนไม่เลือกฝ่ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อได้รับบาดเจ็บ แจกน้ำแจกท่าให้กันไม่เว้นแม้แต่ทหาร ตำรวจ ฯลฯ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้
(รายการวิทยุ From Our Own Correspondent ของ BBC, 12 ก.พ. 2011 www.bbc.co.uk/iplayer/episode/p00df8cr/From_Our_Own_Correspondent_12_02_2011/)


โดยมิจำต้องวาดภาพให้โรแมนติคเกินจริง ข้อควรคำนึงก็คือสังคมไทยก็คงเป็นเฉกเช่นสังคมอื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งดีงามและเลวร้าย ทั้งสว่างและมืดมิด คนไทยสามารถเป็นได้ทั้งนักบุญและปีศาจ ผู้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือผู้อื่นและฆาตกรกระหายเลือด

ประเด็นคงไม่ใช่ว่าเอกลักษณ์ไทยคือ อะไรแน่? ด้านใดจริงแท้ ด้านใดเป็นเท็จ?

หากเป็นว่าคนไทยสังคมไทยอาจมีพลวัตโน้มเอียงไปด้านไหนได้บ้างในแต่ละช่วงจังหวะเวลา? ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์อย่างไร? และเราจะร่วมกันสร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้คนไทย สังคมไทยมีเสรีภาพที่จะทำดี (moral freedom) แทนที่จะทำร้ายทารุณต่อกัน-ได้ง่ายขึ้นเช่นใด ?



.