http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-19

น้ำท่วมฯ..ละลายแม่น้ำ, สื่อตปท.ชี้ฯ, นปช.ปูดขบวนการจ้องล้มรัฐบาล, สำนักพระราชวังปฏิเสธ..

.


น้ำท่วม - ภัยจากการจัดการแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ (ท่วม)
โดย เพจเฟซบุ๊ก "A Journey through Science and Art"
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้ หลายคนบอกเป็นภัยธรรมชาติ แต่ทางศูนย์นิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ขอมองอย่างแตกต่างว่า ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นภัยจากการจัดการที่ผิดพลาด อย่างไรก็ดีเราไม่ควรมุ่งหาผู้ผิดชอบเพราะไม่มีประโยชน์อันใดและไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ควรมุ่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไข ด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมนี้จะเกิดอีกแน่นอน

งบประมาณมากมายที่ลงไปแบบผิดทิศผิดทาง บริหารจัดการแบบคลาสสิก ด้วยความไม่รู้ของนักวิชาการ (อาจจะคิดว่าตนรู้ แต่ความรู้นั้นไม่ทันสมัย ไม่ทันกาละ) กับปี 2554 ที่น้ำท่วมรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา (และไม่ได้พยากรณ์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยนักวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัยที่รับงบประมาณไปดูแลศึกษาเรื่องนี้)


เริ่มต้นที่ฤดูร้อน ที่ภาคใต้บริเวณเทือกเขาหลวง กรุงชิง รับปริมาณฝนแบบไม่คาดถึง โดยที่ไม่ได้มีไต้ฝุ่นเข้าประเทศไทย และน้ำท่วมในภาคเหนือ และภาคกลาง ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ (ตุลาคม 2554) นักวิชาการภาครัฐและดูแลเรื่องนี้หาได้ตระหนักและค้นหาถึงสาเหตุอันแปลกประหลาดไม่ ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์ต่างๆ ที่อุปโลกขึ้นเพื่อดึงงบประมาณจากกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนนักวิจัยที่ดำเนินการเรื่องนี้จริงๆ งุนงง


[20111012 (12 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) มีนักวิชาการของไทย ออกมาบอกสื่อว่ามีนักวิชาการของเนเธอร์แลนด์ มาดูระบบจัดการน้ำของไทย แล้วบอกว่าไทยมีหน่วยจัดการน้ำที่ไม่บูรณาการ นักวิชาการไม่ชำนาญ ต่างจากต่างประเทศที่ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางเรื่องนี้ ไม่ต้องบอกว่านักวิชาการท่านนั้นเป็นใคร จริงๆ พอมีเรื่องภัยพิบัติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศท่านต้องออกสื่อตลอด ยกเว้น เที่ยวนี้ ท่านนั้นเป็นหนึ่ง (ในเรื่องได้งบประมาณสนับสนุนวิจัย) ที่ตั้งหน่วยงานในลักษณะหน่วยกลางของประเทศ ดูแลเรื่องการ
จัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นตัวแทนประเทศตลอดในเรื่องนี้ แต่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ท่านและหน่วยงานของท่านน่าจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย]

ทางศูนย์ฯ ไม่เห็นด้วยในเรื่องตั้งองค์กรกลางที่จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมดเวลาที่จะทุ่มงบประมาณลงส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่ว่าแล้ว งบประมาณน่าจะทุ่มลงไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจัดการเรื่องน้ำของตนเอง ถึงเวลากระจายอำนาจ เรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในแง่พื้นที่ เวลา และพลังงาน ชุมชนต้องมีองค์ความรู้ ต้องสร้างคน สร้างความเข้มแข็ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ต้องพึ่งตนเอง ดังประสบการณ์ที่คนจำนวนมากประสบอยู่ในเวลานี้


[20111009 (9 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) ก๊วนข่าว ช่อง 3 รายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมตอนนนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง บอกว่าเอาไม่อยู่แล้ว พื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม จมหาย โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนดา โรจนะ เห็นแต่หลังคารถโผล่ เคลื่อนย้ายไม่ทัน ความเสียหายมหาศาล ด้วยคันดินที่กั้นน้ำไว้พังทลายลง]

สาเหตุที่ทำให้การทำนายหรือพยากรณ์ไม่มีทางถูกต้องและทันกาล เนื่องจาก ปัญหาที่เป็น Open Boundary Flow (การไหลท่วมอย่างไม่จำกัดขอบเขต - มติชนออนไลน์) และเป็น Dynamic Flow (การไหลท่วมอย่างมีพลวัต - มติชนออนไลน์) กล่าวคือ น้ำนั้นไม่ได้ไหลเฉพาะในคูคลอง น้ำสามารถเอ่อบ่าเข้าไปในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ น้ำสามารถไหลใต้ดินได้ ระดับน้ำไม่ได้คงที่ ขณะไหลสามารถหนุนกันได้สูงกว่าปกติมาก ในหลายกรณี สามารถไหลบ่ากันสูงกว่าความลึกของคูคลองอีก นอกจากนั้นคันกั้นน้ำเองก็พังทะลาย และถูกสร้างใหม่ได้

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การคำนวณปริมาณน้ำและความเร็วในการไหลทำได้ไม่ถูกต้องแน่นอน ความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ สำคัญมากในระบบซับซ้อน

แผนที่น้ำท่วม มีคนสงสัยมาก เพราะเป็นความจำเป็นที่ต้องรู้ แต่พอถึงเวลาก็ไม่สามารถบอกได้ เหตุเพราะแผนที่น้ำท่วมที่ทำๆ กัน ทำผิด ทำโดยการใช้ระดับความสูงเพียงอย่างเดียว แผนที่น้ำท่วมที่ดี ต้องเป็นแผนที่แบบไดนามิก มีพลวัต ต้องมีการจำลองน้ำที่ไหลบ่า ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะระดับน้ำนั้น ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะเป็นปริมาณที่แปรผันกับเวลาอย่างมาก ความเร็วของการไหลที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำก็เปลี่ยนไป บางจุดนั้นน้ำอาจจะท่วม แต่ท่วมนานเท่าใด ท่วมในช่วงเวลาเล็กน้อย เช่น 10 นาที เราจะถือว่าน้ำท่วมหรือไม่ 5 นาทีล่ะ 1 นาทีล่ะ ให้ไปสังเกตแอ่งน้ำต่างๆ ของน้ำตก โดยเฉพาะน้ำตกที่มีระดับการไหลไม่คงที่

นักวิชาการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ มักคิดแต่เพียงมิติการบูรณาการ คิดว่าเมื่อบูรณาการข้อมูลมาทั้งหมด อย่างทันกาล (Real Time) แล้ว ก็จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้ วิธีคิดแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับการจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน เรียนรู้ (ด้วยราคาแสนแพง) แล้วว่า ระบบจราจรในเมืองใหญ่เป็นระบบซับซ้อน (Complex System) ซึ่งไม่มีทางที่จะพยากรณ์เพื่อจัดการได้แม้ว่าได้ข้อมูลทั้งหมด (Initial Conditions) แล้ว ผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ จะเห็นการปรับตัวในเรื่อง จากการพยากรณ์ ไปเป็นการจัดการ ให้รถวิ่งทางโน้น ทางนี้แทน ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะจัดการอย่างไรล่ะ จึงจะดีที่สุด แน่นอน คำตอบในเรื่องน่าจะใช้ได้กับการจัดการน้ำ (ท่วม) ที่ความซับซ้อนมีมากกว่า โดยเฉพาะสเกลของพื้นที่


ทิศทางการบริหารจัดการที่ป้องกันเขตเศรษฐกิจ โดยการกั้นเขื่อน คือสาเหตุหลักของการจัดการที่ผิดพลาด แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปกระจายตัวบนพื้นที่ แต่กลับปิดกั้นไว้ ไม่ให้ลงกรุงเทพฯ เสมือนกับการอั้นไว้ด้านล่าง บีบทางน้ำไว้ ทำให้พื้นที่นครสวรรค์และอยุธยารับน้ำเต็มๆ หากมีการจัดการที่ดี ให้น้ำท่วมกระจายตัว พูดง่ายๆ คือ ให้น้ำหลากไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ก็จะลดพละกำลังของมวลน้ำ (ศัพท์ใหม่) กระจายพลังอำนาจให้เป็นเพียงน้ำหลาก แต่ไม่ใช่น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ ก็จะช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะ อย่างไรก็ดี การจัดการแบบใหม่นี้ต้องอาศัยพลังกำลังของชุมชมที่เข้มแข็ง และองค์ความรู้ใหม่ในการบริหารลุ่มน้ำ ที่มอง "ฮวงจุ้ย" และ "เห็น" เส้นทางน้ำใหม่ที่ชัดเจนกว่า

ปัญหาที่ตามมาก็คือ น้ำท่วมทำให้น้ำเข้าขังอยู่ที่ลุ่มเฉพาะจุด (Local Minima) น้ำจะนิ่ง ค่อยๆ ซึมเข้าน้ำใต้ดิน และระเหย มักจะเน่าและก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขตามมา

ท้ายๆ แล้ว น้ำก็จะเคลื่อนตัวลงมายังกรุงเทพฯ ซึ่งมาตรการการดันน้ำของกทม. ก็จะส่งผลให้น้ำไหลออกทางตะวันออก และตะวันตก กทม. ก็จะถูกน้ำล้อมไว้ทุกด้าน และ แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งน้ำละทะเล แต่เป็นแม่น้ำบางปะกง (ฝั่งตะวันออก) และแม่น้ำท่าจีน (ฝั่งตะวันตก) กทม. กังวลกับน้ำจากแหล่ง 3 แหล่ง แหล่งน้ำจากด้านบน (นครสวรรค์ อยุธยา) น้ำฝน และ น้ำทะเลหนุน แต่มวลน้ำก้อนหนึ่งที่มักถูกละเลยคือน้ำใต้ดิน จากอัตราเคลื่อนตัวของพื้นที่น้ำท่วมจะเห็นว่าเป็นระดับสัปดาห์ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของมวลน้ำก้อนนี้

ผลของมวลน้ำก้อนนี้จะส่งผลแบบประหลาด กล่าวคือ จะส่งผลให้แนวป้องกันต่างๆอ่อนตัวลง เขื่อนและกำแพงน้ำเปราะบางต่อการพังทะลาย และส่งผลต่อให้น้ำผิวดินเอ่อสูงกว่าควร เมื่อเขื่อนพังทลายด้วยน้ำใต้ดิน ผสมกับ กระแสน้ำของน้ำที่ไหลบ่า จะซ่อมแซมได้ยากมากๆ มีความพยายามใช้เฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์เหนือทางน้ำเพื่ออุดรอยรั่ว (นวนคร 17 ต.ค. 2545) ซึ่งไม่มีทางทำได้ เพราะ 1. เฮลิคอปเตอร์ยกของที่มีน้ำหนักมากไม่ได้อยู่แล้ว 2. กระแสน้ำสามารถยกเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่ๆ ได้อย่างสบาย 3. แรงน้ำผลักตู้บวกกับหล่อลื่น ทำให้ตู้สามารถไหลพ้นเขื่อนไปได้อย่างสบาย วิธีการนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ จะทำให้กระสอบทรายพังมากขึ้น แล้วจะอุดรูรั่วอย่างไร ทางศูนย์ฯ แนะนำให้ใช้วิธีเดียวกับที่ร่างกายเราหยุดเลือดเมื่อเราเกิดแผล กล่าวคือ ให้ใช้ระบบตาข่ายกางขึ้นเหนือน้ำก่อน จากนั้นค่อยปล่อยถุงทรายให้ไหลไปติดตาข่าย ค่อยๆ ทำเพื่อช่วยกันหยุดยึด จนน้ำไหลน้อยลง


การบริหารจัดการเรื่องนี้ต้องคิดในลักษณะนิเวศ กรุงเทพฯ อยุธยา อยู่บน Delta หรือดินแดนปากแม่น้ำ ซึ่งปกติจะประกอบด้วยสายน้ำคดเคี้ยวเลี้ยวไปมาเพราะ น้ำไม่ได้ไหลตามแรงโน้มถ่วง แต่ไหลบ่าเป็นหลัก เนื่องจากระดับความสูงไม่แตกต่างกันมาก เป็นดินแดนแบนราบ การพัฒนา Landuse หรือการใช้พื้นที่ในกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาได้ทำลายความสามารถในการระบายน้ำของระบบนิเวศนี้ การถมดินอย่างมากมายทำลายทางน้ำ ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำไปจนเกือบหมด เมื่อมีปริมาณน้ำมากมายที่ตกในปีนี้ (ซึ่งธรรมชาติได้เตือนแล้วด้วยน้ำท่วมในฤดูร้อนของภาคใต้ที่ผ่านมา แต่ผู้รับผิดชอบก็เพิกเฉย) ภัยน้ำนี้จึงมาจากการจัดการที่ผิดพลาดของน้ำมือมนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้น จนไปถึงการบริหารจัดการน้ำต่อมา ดังที่เจอกันอยู่ในขณะนี้


[20111018 (18 ตุลาคม 2554 - มติชนออนไลน์) ในที่สุดก็เริ่มมีนักวิชาการมาบอกแนวทางที่เหมาะสมแล้วคือ ต้องยอมให้ "น้ำ" ผ่าน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทันหรือเปล่า การยอมให้น้ำผ่านนั้นสำคัญอย่างไร ปรัชญานิเวศบอกเราว่า ทุกองค์ประกอบในระบบนิเวศมีฟังก์ชั่นหรือหน้าที่ของมัน ทางน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหลายมีหน้าที่ให้น้ำเข้า การยอมให้น้ำผ่านเป็นการคืนหน้าที่ของมันให้ทำงาน]

(กรุณาติดตามตอนต่อไป)

หมายเหตุ Note (บันทึก - มติชนออนไลน์) นี้เป็นสะท้อนความเห็นหนึ่งของศูนย์นิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ซึ่งดำเนินการทำงานในแนวปรัชญานิเวศวิทยา เพื่อสะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากแนวคิดกระแสหลัก



++

สื่อตปท.ชี้"วิกฤตน้ำท่วมฉุดถ่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์"ตั้งคำถามชลประทานปล่อยน้ำช้าก่อนหน้าพายุฝน
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:45:17 น.


"วอลล์สตรีท เจอร์นัล"รายงานบทความเกี่ยวกับวิกฤตน้ำท่วมของไทย ชื่อว่า"น้ำท่วมฉุดถ่วงนายกรัฐมนตรีใหม่ของไทย"โดยระบุว่า

สถานการณ์ย้อนกลับของการบริหารจัดการเรื่องวิกฤตน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษของเมืองไทย กำลังสร้างความเสียหายล่าสุดให้แก่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลยังคงยึดมั่นกับแผนประชานิยมอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อหวังฟื้นเศรษฐกิจที่สะดุดตัว

รายงานระบุว่า ในทางทฤษฎี ความพยายามต่อสู้กับน้ำท่วมของรัฐบาลมาจาก"ศูนย์ปฎิบัติการ"หรือ"ห้องวอร์รูม"ที่สนามบินดอนเมือง แต่ในทางปฎิบัติ นักวิเคราะห์ว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ กำลังพยายามจะต่อสู้เพื่อเอาชนะสถานการณ์ที่เป็นบททดสอบแรกของรัฐบาลเพื่อไทยอายุ 2 เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า รัฐบาลดังกล่าวถูกควบคุมโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขณะที่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสิงคโปร์ บอกว่า เมื่อพิจารณาแล้ว ควรให้เครดิตแก่นายกฯยิ่งลักษณ์ที่สามารถทำงานได้ดี โดยเธอปรากฎตัวไปทั่วทุกแห่ง แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลรู้เรื่องสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 เดือนและไม่ได้ทำอะไรมากมายเพื่อป้องกัน และนี่ถือเป็นวิกฤตแห่งความเป็นผู้นำ

รายงานระบุว่า ถึงขณะนี้ มีการโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางจัดการกับวิกฤตน้ำท่วมเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น โดยอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้นายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเลื่อนโครงการประชานิยมออกไป ซึ่งการประกาศดังกล่าวจะเพิ่มอำนาจให้ทหารเข้าจัดการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วม ขณะที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ถึงขณะนี้ได้ปฎิเสธที่จะทำตามเสียงเรียกร้องดังกล่าว ชี้ว่าคำประกาศดังกล่าวจะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุน ในขณะที่เมืองไทยกำลังเตรียมพร้อมเข้าช่วงฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยว


อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์หลายคนตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่ชลประทานจึงไม่ได้ปล่อยน้ำที่เกินปริมาณออกจากเขื่อนแต่เนิ่นๆ จนกระทั่งเกิดสถานการณ์พายุฝนที่รุนแรงกว่าปกติ โดยในช่วงปีก่อนๆ ฝ่ายจัดการด้านชลประทานของเมืองไทยมักจะเริ่มปล่อยน้ำออกจากเขื่อนและฝายต่างๆ ในช่วงต้นเดือนก.ค.


นอกจากนี้ กลุ่มการค้าญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า พวกเขาไม่เคยรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และอะไรเป็นสิ่งที่แม่นยำ โดยนายไซยะ ซูเกกาวะ นักเศรษฐศาสตร์แห่งหน่วยงานการค้านอกประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า กลุ่มการค้าเหล่านี้ได้รับคำเตือนที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่มีเวลาพอที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการรับมือกับภาวะน้ำท่วมนี้อย่างไร



++

นปช.ปูดขบวนการจ้องล้มรัฐบาล ใช้วิกฤตน้ำท่วมเป็นการเมือง เดินเกมหวังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:28:12 น.

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เชื่อมีกลุ่มคนพยายามใช้สถานการณ์น้ำท่วม เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยในการแถลงข่าวที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า เรื่องน้ำท่วมก็เป็นการเมืองได้ ก่อนหน้านี้เรื่องเงิน ทำให้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกขับไล่ ดังนั้นน้ำท่วมครั้งนี้ ประชาชนต้องร่วมมือกับรัฐบาล ถ้าแก้วิกฤตน้ำท่วมไม่ดี ก็จะเป็นวิกฤตทางการเมืองด้วย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ นปช.ที่จะต้องตรวจสอบทุกฝ่าย ตรวจสอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กองทัพ กรมชลประทาน คนดูแลเขื่อน เป็นต้น


ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า สถานการณ์ทางธรรมชาติในครั้งนี้ ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ เชื่อว่ารัฐบาลและคนเสื้อแดงคงจะรับมือไม่ยาก แต่ในอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้มีกลเกมทางการเมืองอยู่หลายประการที่จะเป็นโรคแทรกซ้อน มีคนบางพวกบอกจะเอาวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

"ผมติดตามสถานการณ์ พยายามมองมองโลกในแง่ดี ในการวางแผนจัดการระบบน้ำ ก่อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศ มีเรื่องที่น่าสงสัยอยู่หลายประการ เพราะในทางวิชาการ ผมยกตัวอย่างว่า บริเวณท่าเรือทุกแห่งสามารถคาดการณ์น้ำขึ้นน้ำลงล่วงหน้าถึง 3 เดือน และในแต่ละชั่วโมงขึ้นเท่าไร มีอัตรากันอย่างไร ในทางวิชาการไม่ว่า กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา หรือว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเก็บกักน้ำ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทุกคนย่อมจะรู้เช่นกัน และคาดการณ์ที่จะเก็บกักน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกลงมาจะมีปริมาณที่พอดี แต่ทั้งหมดนั้น 1.ถ้าเป็นความบังเอิญหรือเป็นความเจตนาดี กลัวฝนจะไม่ตกก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ว่าไม่รู้ 2.ถ้าจะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาและคิดว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมขอประณามเลยว่า เป็นการกระทำที่เลวทรามต่ำช้าที่สุด" นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวว่า การที่จะช่วยเหลือประชาชนไม่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายนี้เจตนาของผู้ร่างเพื่อใช้แก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การนำมาใช้กับคนใน กทม.ผิดวัตถุประสงค์ไปครั้งหนึ่งแล้ว สถานการณ์วิกฤตของธรรมชาติครั้งนี้หลายประเทศในอาเซียนโดนหนักเหมือนกัน แต่เขาไม่เอาวิกฤตมาเล่นการเมืองเหมือนประเทศไทย



++

สำนักพระราชวังปฏิเสธในหลวงรับสั่งฯให้น้ำผ่านวังสวนจิตร
โดย สุวิภา บุษยบัณฑูร ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ
ในเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 19:28 น.
www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=89125&catid=176&Itemid=524


นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่มีการแชร์ข้อความในเฟซบุค ว่า ในหลวงทรงรับสั่ง "ถ้าน้ำเข้าพระนคร ให้น้ำผ่านวังสวนจิตรไปเลย อย่ากั้นให้ผ่านไปเลย" ว่า เป็นการพูดไปเรื่อย ไม่น่าเป็นไปได้ และโดยส่วนตัวไม่เคยรู้เรื่องนี้ น้ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระนครอยู่แล้ว และถ้าน้ำเข้ามาถึงเขตวังได้ จนท่วม ก็แสดงว่า กทม.ไม่สามารถเอาน้ำไว้อยู่ ซึ่งมันไม่สามารถเป็นไปได้อยู่แล้ว และจากการติดตามสถานการณ์ข่าวในขณะนี้ ทั้ง กทม. และรัฐบาลต่างร่วมมือกันอย่างแข็งขันไม่ให้น้ำเข้าท่วมได้ ตั้งแต่กทม.รอบนอก และ ตอนนี้พื้นที่รอบวังสวนจิตรลดาในรัศมี 1 ตร.กม. ก็ยังไม่มีกระสอบทราบซักใบ เพราะเราเชื่อว่ากทม. จะสามารถกั้นน้ำไว้ได้ ในส่วนของวังหลวงและวัดพระแก้ว ก็เป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว ว่า น้ำที่ท่าราชวรดิษฐ์สูงกว่าเขตวัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อมั่นว่ากำแพงวังสามารถเอาอยู่

ส่วนข้อความที่มีการแชร์ในเฟซบุคนั้น คือ การตีข่าว ดึงเอาเจ้านายลงมา เพราะน้ำที่ท่วมทุกวันนี้มาไม่ถึงสวนจิตรลดา เพราะน้ำที่ท่วมทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากน้ำทะเลหนุน แต่เกิดจากคันดินพัง และ ไม่มีทางที่ถนนราชวิถีจะท่วม เพราะถ้า ถ.ราชวิถีท่วม วังสวนจิตรก็ต้องท่วมแน่นอน


. . . . . . . . . . .

กระทู้เรื่องการบริหารแก้ไขอุทกภัย


แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพชั้นใน
www.youtube.com/watch?v=bmI5WnecYdA&sns=fb

สนับสนุน "โมเดลน้ำดันน้ำ" แก้วิกฤติน้ำท่วม
www.petitiononline.com/Tum0406/petition.html

ฟิสิกส์พื้นฐานที่ผู้นำเรือไปช่วยผลักดันน้ำต้องทราบ
www.bloggang.com/mainblog.php?id=sompop&month=18-10-2011&group=5&gblog=64

ขอเชิญมาช่วยกันพิจารณาข้อมูลกราฟระดับน้ำในเขื่อนกัน เพราะน้ำท่วมปีนี้ ไม่ธรรมดา
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11169046/P11169046.html

สรุปว่าที่มาของน้ำท่วมครั้งนี้ ความผิด/ความประมาทของใครกันแน่
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11209665/P11209665.html

นี่คือสาเหตุของวิกฤติน้ำท่วมรุนแรง !! ความจริงที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบมากกว่าคำว่า ประเมินสถานการณ์ผิด
www.oknation.net/blog/anonym/2011/10/14/entry-1

ข้อสังเกตุว่า ทำใม รบ.ยิ่งลักษณ์ ถึงการแก้ปัญหาอุทกภัย ที่ยากเข็ญ ในขณะนี้
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11183437/P11183437.html

ภัยน้ำท่วม!!! ท่วมอะไรไปแล้วบ้าง?
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11144476/P11144476.html



.