http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-22

มาร์คสบช่องกู้ชื่อ"ดีแต่พูด", ฯเกม"ตัวอิจฉา", น้ำกรุง-ไฟใต้, ปชป.ให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พร้อม"พลี"เพื่อ"กทม."

.


"ปชป." ไหลตามน้ำ "นารี" พลาดท่า "มาร์ค" ควบม้าขาว สบช่องกู้ชื่อ "ดีแต่พูด"?
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 12


เป็นความคาดหวังอย่างแรงกล้าว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะสามารถรักษาเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยจากน้ำเหนือทะลักเข้าท่วมได้

แต่ในที่สุด รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่พนังกั้นน้ำพังทลายลง ทำให้บ้านเรือนประชาชนและนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ของชาติกลายเป็นเมืองบาดาลนั้น ได้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อประชาชนในเรื่อง "ความเชื่อมั่น" ที่มีต่อรัฐบาลด้วย

ข้อเท็จจริงที่ว่ามวลน้ำก้อนมหึมาที่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคกลางนั้น ขณะนี้ไม่สามารถผลักดันให้ไหลลงสู่ทะเลได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับน้ำเพื่อป้องกันไม่ท่วมขังในพื้นที่สำคัญๆ ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จนอดนึกถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้พูดถึงนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า "ดีแต่โม้" เพราะไม่ได้จริงตามที่ออกแบบมา

การแก้ปัญหาวิกฤมหาอุกทกภัยครั้งนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลไม่สามารถรับมือได้ตามคำพูดที่ว่า "เอาอยู่"


ปัญหาน้ำจ่อถล่มเมืองกรุงไม่ได้อยู่เฉพาะ "ปริมาณ" ของน้ำเท่านั้น แต่พูดกันว่ามาจาก "คุณภาพ" ของคนในสังคมด้วย

ขณะที่มีการเรียกร้องให้ "กระจายทุกข์" นั้น ระดับภาวะจิตใจผู้คนในสังคมที่ยังไม่ได้ระดับของ "จิตสาธารณะ" ที่เพียงพอแพร่หลายของผู้คนในสังคม ความขัดแย้งที่เกิดจากความรู้สึก "รับไม่ได้" ที่อีกฟากฝั่งถนนยังแห้งอยู่ ในขณะที่ชุมชนของตนเองจมน้ำมาหลายสัปดาห์ ย่อมเกิดความรู้สึกรับไม่ได้ กระทั่งขัดแย้งกันขึ้น

นั่นเป็นภาพมุมแคบของปัญหา แต่หากขยับออกมามองมุมกว้างจะเห็น "การชิงมวลชน" ของฝ่ายการเมืองว่าด้วยเรื่องการแก้วิกฤติมหาอุทกภัยครั้งนี้ ทั้งในบริบทของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ ติดสติ๊กเกอร์ให้ว่า "ดีแต่พูด" นั้น ได้นำทีมลูกพรรค และ ส.ส. ในพื้นที่บุกพื้นที่น้ำท่วม ออกแจกถุงยังชีพและให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ก่อนหน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว

เนื่องจากในห้วงเดียวกันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐบาล กำลังมะงุมมะงาหราประกาศมาตรการแล้วก็รื้อมาตรการตามนโยบายเร่งด่วนที่เคยหาเสียงเอาไว้ โดยมอบภารกิจการรับมือน้ำท่วมให้กับ ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน



หลังการปรับโฉมการทำงานใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ มีการตั้่งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้นมาเกาะติดการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มออกสตาร์ตจากการวิพากษ์การ "บริหารจัดการน้ำ" ของรัฐบาลว่าล้มเหลว แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดและส่งผ่านความช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง

กระทั่งตั้งข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือในระดับต้นๆ แก่พื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของรัฐบาล

หนักๆ เข้าก็เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใช้กฎหมายพิเศษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะสามารถระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาช่วยกันรับมือกับวิกฤตน้ำหลากได้อย่างเต็มที่ จะแข็งขืน ต่อต้าน ถือกุญแจเปิด-ปิดประตูน้ำไว้กับตัวเองไม่ได้อีกต่อไป

แน่นอนว่าไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายบริหาร เพราะตั้งการ์ดสูงมองข้อเรียกร้องนี้เป็น "ประเด็นการเมือง" แถมข้อเสนอยังออกเชิง "โวหาร" มากกว่าเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ในมุมที่อดีตพรรคแกนนำรัฐบาลที่ดำรงสถานะได้ด้วย "กฎหมายพิเศษ" ชินชาและเสพติดอำนาจ จึงต้องการเปิดทางให้อำนาจพิเศษมาควบคุม กับฝ่ายที่มีมวลชนซึ่งได้ชื่อว่า "ถูกกระทำ" จากกฎหมายพิเศษ ย่อมเกิดความเข็ดขยาด ไม่อยากกลับไปอยู่ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน อีกแล้ว

แต่ประเด็นสำคัญการปฏิเสธข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์คือไม่อยากถูกตีกินว่าล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นต่างหาก



สภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ตั้งศูนย์รับมือน้ำท่วมแห่งใหม่ขึ้นใหม่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองภายใต้ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) โดยที่ไม่ได้ยกเลิกศูนย์ต่างๆ ที่เคยตั้งมาในอดีต

ความล้มเหลวในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เป็นบทพิสูจน์ที่ว่าครั้งนี้มนุษย์คงไม่สามารถต้านทานหรือเอาชนะธรรมชาติได้ ซึ่งตอกย้ำความเชื่อว่าของพรรคฝ่ายค้านที่มองการบริหารจัดการของรัฐบาลว่าไร้ประสิทธิภาพอีกคำรบหนึ่ง

ยิ่งกระแสน้ำรุกคืบเข้ามาใกล้เมืองกรุงเทพมหานครเท่าไหร่ กระแสเสียงการโจมตีการแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น เพราะความไม่เชื่อมั่น เกรงว่าจะเหมือนกับสัญญาปากเปล่าของรัฐบาล และ ศปภ. ที่บอกว่าจะรักษานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เอาไว้ได้อย่างแน่นอน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บิรพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ขยับตัวประกาศให้ชาว กทม. ฟังแถลงการณ์รื่องน้ำท่วมจากตัวเขาเพียงคนเดียว ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลแถลงการณ์ของ ศปภ. พร้อมกับแอ่นอกรับหน้าที่ในการปกป้องเมืองหลวงของประเทศไทยเอง ส่วน ศปภ. จัดหากระสอบสำหรับกรอกทรายแก่ กทม. ให้ได้ตามที่สัญญาไว้ก็พอ

ความกระฉับกระเฉงในการเตรียมการรับมือ การสร้างเสริมคันกั้นน้ำด้วยการราดยางแอสฟัลต์แทนกระสอบทรายเพื่อปกป้องคลองรังสิตของทีมผู้ว่าฯ กทม. นั้น แม้ลึกๆ ในจิตใจของผู้คนจะไม่มั่นใจว่าจะป้องกันได้สำเร็จ

แต่เชื่อมั่นว่ามาตรการที่บอกว่าจะ "พูดความจริง" กับประชาชนเพื่อให้เตรียมรับสภาพการถูกน้ำท่วม ได้ทำให้คะแนนนิยมของ "อภิสิทธิ์" และคณะเริ่มตีตื้นขึ้นบ้างแล้ว



++


กลเกม การเมือง ต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกม "ตัวอิจฉา"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.


หากไม่เหลืออดจริงๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่ใช้ประโยค

"ต้องเอาเกมการเมืองออกไป"

ระหว่างการแถลง เพราะตามปกติแล้วบุคลิกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคลิกที่หลีกเลี่ยงการปะทะ

แม้เมื่อขอร้อง "ต้องเอาเกมการเมืองออกไป"

ก็เป็นการขอร้องบนพื้นฐานที่ 1 ครั้งนี้เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ 1 ลำพังคนเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยการรวมพลังทุกภาคส่วน

ข้อเรียกร้องนี้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นข้อเรียกร้องอันแจ่มชัดยิ่ง

เพราะ "เราไม่ได้ต่อสู้กับอย่างอื่น แต่เราต่อสู้กับอุทกภัยที่มากกว่าทุกปีและเป็นในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ต้องใช้ความพยายามร่วมกัน ดิฉันเองเป็นเพียงกลไกหนึ่ง แต่ก็ต้องทำหน้าที่นี้ในการเชื่อมโยงกับทุกกลไก"

ลำพังสู้กับ "น้ำ" ก็หนักหนาสาหัสอย่างยิ่งแล้ว

แต่ที่หนักหนาสาหัสมากยิ่งกว่า คือ การต้องต่อสู้กับ "คน" ซึ่งมากด้วยความหลากหลาย มากด้วยความเห็นต่าง และมากด้วยกลและเกมในทางการเมือง


เป็นความจริงหรือที่มีการเอาความยากลำบากของประชาชนมาเป็น "เกม" ทางการเมือง

ถามว่าเป้าหมายใหญ่ของแต่ละเกมที่ปล่อยออกมาสาดใส่รัฐบาล สาดใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คืออะไร

คำตอบ 1 คือ การดิสเครดิต

คำตอบ 1 คือ การทำลายสถานะและเกียรติภูมิของรัฐบาล สถานะและเกียรติภูมิของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ไม่สามารถนำพาประเทศชาติและประชาชนให้ก้าวพ้นไปจากมหาอุทกภัยที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างน่ากลัว

สายน้ำน่ากลัวอย่างยิ่งอยู่แล้ว "น้ำลาย" จากคนด้วยกันยิ่งมีความน่ากลัวมากกว่า

อยู่ๆ ก็ปล่อยข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีจากความทุกข์ยากของประชาชนไปเสพสุขอยู่กับคอนเสิร์ตของนักดนตรีต่างประเทศ

อยู่ๆ ก็ละเลงข่าวกระสอบทรายที่รัฐบาลแจกให้ก็กลายเป็นกระสอบ "กระดาษ"

อยู่ๆ ก็ละเลงข่าวเกิดความขัดแย้ง แตกแยกอย่างรุนแรง ไม่เพียงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากแม้กระทั่งมีความพยายามกีดกันความปรารถนาดีอันมาจากสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ด้วยเกรงว่าจะเด่นเกิน

เหล่านี้แหละคือเกมการเมือง เหล่านี้แหละคือการเนรมิตเสกปั้นเรื่องไม่จริงให้เสมือนกับเป็นเรื่องจริง

เป้าหมายคือถล่มให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จมหายไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก

ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะแถลงข่าวด้วยเสียงอันสั่นเครือและด้วยน้ำตาคลอเบ้า แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เธอคือผู้รับผิดชอบต่อภัยพิบัติที่ดาหน้าเข้ามาโถมใส่ประเทศไทย


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเพิ่งบริหารประเทศได้ไม่เต็ม 2 เดือน

กระนั้น ถามว่าความรับผิดชอบต่อความทุกข์แค้นลำเค็ญอันประชาชนประสบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัดปฏิเสธเหมือนไม่ไยดีหรือไม่

มิได้เป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้าม นอกเหนือจากปฏิเสธการเดินทางไปเยือนมิตรประเทศในอาเซียนเพื่ออุทิศทุกวินาทีที่มีอยู่ให้กับภารกิจอันหนักหน่วงที่คระครืนอยู่เบื้องหน้า

ทั้งเป็นการทำงานอย่างชนิดไม่มีเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีการพักผ่อน

"ชีวิตนอกจากที่บ้านพักแล้วก็มาที่ ศปภ.ดอนเมืองและกลับไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลตามภารกิจ ไม่ได้ไปงานบันเทิงใดๆ แม้แต่ออกไปกินข้าวนอกบ้านก็ไม่ได้ไป"

ความเป็นจริงนี้อยู่ในสายตาและในความรับรู้ของประชาชน

หากเปรียบไปสภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนี้คือสภาพของคนที่ทำงานตรากตรำ เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน

เป็นการทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน กระนั้นก็ยังถูกฝ่ายตรงกันข้ามเล่น "เกม" ให้ร้ายป้ายสีและดิสเครดิตอยู่ตลอดเวลา


ถามว่าใครกำลังเล่นบท "นางเอก" ถามว่าใครกำลังเล่นบท "ตัวอิจฉา"

ความหวังในการดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือ อาจสามารถทำได้ แต่ถามว่าทำเพื่ออะไร

ทำแล้วสามารถช่วยให้น้ำลดได้หรือไม่ ทำแล้วสามารถทำให้ความทุกข์ลำเค็ญของประชาชนเหือดหายไปหรือไม่ ทำแล้วสามารถทำให้ปัญหาทุกปัญหาปลาสนาการหมดสิ้นหรือไม่

หากมิได้เป็นไปเช่นนั้น ถามว่าแล้วเล่น "เกม" การเมืองไปทำไม



++

น้ำกรุง-ไฟใต้
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


แม้ว่าในช่วงวิกฤตน้ำท่วม จะส่งผลให้รัฐบาลไม่อาจขยับปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องรับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ โดยตรง

อีกทั้งสถานการณ์ดูจะไม่คลี่คลายลงไปในเร็ววัน

หมดจากน้ำเหนือ ยังมีน้ำทุ่งอ้อมตลบหลัง

ระยะนี้ปริมาณน้ำมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปี กำลังโถมถล่มไปทั่วหลายจังหวัดของภาคกลาง

ปฏิบัติการปกป้องกรุงเทพมหานคร ไม่ให้กลายเป็นเมืองน้ำ กำลังเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งยวด


แต่ในขณะที่การแก้ปัญหาน้ำอันหนักหน่วงก็ต้องดำเนินไป พร้อมๆ กันปัญหาในส่วนอื่นๆ ก็ใช่จะหยุดนิ่ง

ในท่ามกลางโกลาหลของกรุงเทพฯและปริมณฑลกับมหันตภัยน้ำ แต่ลงไปที่ 3 จังหวัดใต้ไฟยังลุกโชนทุกวัน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.ซึ่งต้องย้ายมาประชุมกันที่ดอนเมือง ได้มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

แทนนายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่ย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายการเมือง

เป็นเรื่องที่ตระเตรียมกันมานาน แต่ติดขั้นตอนการโอนย้ายข้าราชการ จึงทำให้เพิ่งได้ฤกษ์โยกย้ายเสียที


แน่นอนว่าภาระหน้าที่ของเลขาฯ ศอ.บต.นั้นไม่ธรรมดา พ.ต.อ.ทวีจะต้องลงไปดับไฟใต้โดยตรง และจะต้องทำแบบแตกต่างจากนโยบายเดิมๆ ด้วย

มีเสียงวิจารณ์เชิงลบจากพรรคประชาธิปัตย์ทันที

บ้างก็ว่านี่คือการตกรางวัลตอบแทนของระบอบทักษิณ ซึ่งฟังแล้วไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดี ถ้าจะตอบแทนกัน คงไม่ส่งมารับงานหินเหล็กไฟขนาดนี้

งานแบบนี้เดิมพันอนาคตของ พ.ต.อ.ทวีมากกว่าจะเป็นการได้รับของขวัญยิ้มหวานเสพสุข

อีกเสียงวิจารณ์ลบๆ ก็คือ นี่คือการฟื้นรัฐตำรวจ ฟังแล้วก็แทบจะนึกไม่ออกถึงตำแหน่งสุดท้ายในวงการตำรวจของ พ.ต.อ.ทวีเพราะโอนย้ายจากตำรวจมาอยู่กระทรวงยุติธรรมนานแล้ว มาอยู่ดีเอสไอ เป็นรองอธิบดี แล้วเป็นอธิบดี ย้ายไปอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ส.ก็มี ก่อนจะเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

อีกอย่างคุณสมบัติโดดเด่นของ พ.ต.อ.ทวีนั้น เป็นมือกฎหมาย เป็นมือทำสำนวนคดี ไม่ใช่มือปราบบู๊ล้างผลาญแต่อย่างใด

ภาพของ พ.ต.อ.ทวีจึงเป็นข้าราชการที่ผ่านประสบการณ์งานหลายด้าน ดูจะครบเครื่องด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะงานช่วงหลัง ลงไปรับผิดชอบด้านการอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อไฟใต้โดยตรงอีกด้วย


เหนืออื่นใด ต้องนับเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย

เป็นการเข้าไปทลายอาณาจักรที่อยู่ภายใต้มือคนคนเดียวมายาวนาน

มือนั้นมองเห็นหรือมองไม่เห็นเดากันเอาเอง

อาณาจักรนี้แหละ ทำให้นโยบายการดับไฟใต้ ติดอยู่ในกรอบเดิมๆ มาตลอดหลายปี

ที่พูดกันว่าใช้การเมืองนำการทหาร ใช้การพัฒนานำการปราบปราม ไม่ค่อยจริงนัก

นโยบายภาคใต้หลายปีมานี้ ใช้ความมั่นคงนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า และคำว่าความมั่นคงจึงทำให้หน่วยงานที่มีกำลังบางหน่วยเท่านั้น กุมอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด และนั่นจึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกทางนัก

การเปลี่ยนแปลงเลขาฯ ศอ.บต.น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฉีกกรอบเดิมๆ ที่น่าจับตามอง



++

ปชป.ชี้ รบ.ประกาศ พ.ร.บ.บรรเทาไม่เกิดประโยชน์ ย้ำต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหน็บ"แม้ว"ไม่ช่วย ปชช.
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:32:00 น.

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. แถลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ตามที่ต้องการทำให้รัฐบาลเลือกวิธีสุดท้ายด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงใส่ร้ายโยนความผิดให้พรรค ปชป.และผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะการที่รัฐบาลเลือกประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยนายกฯพูดชัดจำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้ เพราะต้องการความร่วมมือทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกฯดื้อดึงไม่ประกาศกฎหมายพิเศษ สุดท้ายจึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ แม้การประกาศ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่เหมือนกับการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจพิเศษในการบริหารประชาชนภาคส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภาครัฐ แต่การประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นายกฯเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ซึ่งการที่นายกฯเรียกร้องให้ฝ่ายค้าน และ กทม.เลิกละการเมือง พรรคเห็นว่ามีแต่พวกท่านที่เอาน้ำมาเล่นการเมือง ดังนั้น การประกาศ พ.ร.บ.ดังกล่าวคงไม่เกิดประโยชน์มากนัก


เมื่อถามว่า พรรค ปชป.ยังยืนยันให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่หรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ยกพวกไปทำลายคันกั้นน้ำ ขอถามว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก้ปัญหาได้หรือไม่ สิ่งที่เราต้องการให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะต้องการให้มีการแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่ให้ใครออกมาทำอะไรตามใจได้แต่ต้องการให้ทหารเข้ามาควบคุมดูแลการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะแก้เกี้ยวด้วยการประกาศ พ.ร.บ.แทน

"ที่นายกฯพูดว่าหากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วต่างชาติจะรู้สึกว่าเราช่วยตัวเองไม่ได้ ผมไม่เข้าใจตรรกะนี้ เพียงแต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขณะนี้ต่างชาติรู้หมดแล้วว่าอะไรเกิดกับประเทศไทย และต่างชาติอาจงงด้วยซ้ำไปทำไมถึงไม่ประกาศ พ.ร.ก.มาช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น การประกาศ พ.ร.ก.ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับต่างชาติ เพราะท่วมทั้งบ้านเมืองแล้ว หรือการไม่ประกาศ พ.ร.ก.เพราะไม่ต้องการให้ทหารได้หน้าเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะทำให้ทหารมาปฏิวัติ" นายชวนนท์กล่าว


นายชวนนท์กล่าวว่า กรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย บอก กทม.ไม่ให้ความร่วมมือนั้นถือเป็นการโกหกคำโตที่สุด เพราะการเปิดประตูระบายน้ำภายใต้การรับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งเป็นของรัฐบาล มิใช่ กทม. อีกทั้ง กปน.ยืนยันว่าประตูน้ำเสียจึงทำให้น้ำล้นคลองประปา นอกจากนี้ พรรค ปชป.ได้ไปพบกปน.ก็ได้ทราบความจริงรัฐบาลปล่อยให้การระบายน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองประปา ทางเจ้าหน้าที่ กปน.ระบุหากน้ำสูงเกิน 80 เซนติเมตร อาจทำให้ต้องหยุดผลิตน้ำที่มีถึง 70% ทั่วกทม.ได้ ดังนั้น ที่รัฐบาลเคยยืนยันว่าคุมน้ำได้ จึงน่าห่วงว่าถ้ายิ่งปล่อยให้น้ำประปาล้นเกิน 80% อาจทำให้ กทม.เกิดมิคสัญญีเกิดความโกลาหลในกลางมหานครได้

"ผู้บริหาร กปน.เล่าว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจทอดทิ้งให้ กปน.เป็นแพะรับบาป ทำให้ขณะนี้วิธีการที่รัฐบาลทำคือเมื่อแก้ไขไม่ได้ก็หาแพะโดยให้ข้อมูลบิดเบือนให้ประชาชนหลงทิศเพียงเพื่อเอาตัวเองรอดจากสถานการณ์เท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมา ศปภ.ก็ไม่บอกความจริงกับประชาชน แต่โยนความรับผิดชอบมาให้ปลายน้ำแก้ไขกันเองและยังโกหกว่าไม่ได้รับความร่วมมือจาก กทม. ยืนยันกับประชาชนว่าผู้บริหาร กทม.ทุกคนจะแก้ปัญหาให้ประชาชนให้หลุดพ้นวิกฤต โดยสิ่งที่ กทม.ยืนยันต้องการให้นำน้ำออกทะเลเร็วที่สุด ไม่ใช่โทษไปมาชี้หน้าคนอื่นอย่างหน้าละอาย" นายชวนนท์กล่าว


นายชวนนท์กล่าวว่า นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ที่ถูกเว้นวรรคทางการเมืองกำลังสร้างเรื่องเล่นละครให้สับสนโยนความผิดให้ กทม.ในเรื่องประตูระบายน้ำ จึงขอฝากไปยังคุณหญิงสุดารัตน์หากพูดอะไรระวังถึงศักดิ์ศรีของรัฐบาลที่จะถูกทำลายลงเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จะถูกตอกย้ำว่าไม่ใช่นายกฯ ตัวจริงเป็นเพียงแถว 3 แถว 4 แถว 5 ของประเทศ และขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วยเพราะยังไม่เห็น พ.ต.ท.ทักษิณออกมาพูดอะไรหรือช่วยเหลือประชาชนเหมือนที่เคยโฟนอินและวิดีโอลิงก์มาในช่วงการชุมนุม ซึ่งเพียงแต่รอให้หลังน้ำลดก็ให้กู้เงินมาละเลงเท่านั้น จึงอยากให้ดูคำพูดของรัฐบาลด้วยว่าจริงใจและดูแลทุกข์สุขหรือ ซึ่งพรรคไม่ได้ต้องการเรียกร้องมาเลือกพรรค ปชป. แต่ให้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง



++

พร้อม "พลี" เพื่อ "กทม."
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 9


แล้วที่สุด สมรภูมิสุดท้ายของ "สงครามน้ำ" ก็มาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ระทึกใจยิ่งว่า จะเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี

คือ "พ่ายแพ้" ยับเยิน หรือไม่

ถือเป็นมหาสงคราม ที่ทั้งรัฐบาล และ กทม. จะพ่ายแพ้ไม่ได้

จะต้อง "พลี" ทุกอย่าง เพื่อรักษา "กทม."!


อย่างที่รับรู้ และเป็นข้ออ้างสำคัญมาโดยตลอดว่า กทม. จะจมน้ำไม่ได้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

หากรักษาเอาไว้ไม่ได้ ก็จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มหาศาล

ในทางยุทธศาสตร์ จึงสูญเสียที่มั่นนี้ไม่ได้

และนี่จะเป็นการพิสูจน์ครั้งสำคัญ ว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปเพื่อวางระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตลอดหลายสิบปี ทำให้มี

ความเป็นระบบ และดีที่สุดของประเทศ จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

ถ้ารักษาเอาไว้ไม่ได้

ก็ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวอันใหญ่หลวงของชาติ

คงจะต้องมีการปรับรื้อกันยกใหญ่

เพราะเท่ากับว่า ประเทศ "พัง" ไปทุกส่วนแล้ว


ปี 2540 ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัง

ปี 2552-2553 ระบบการเมืองของประเทศพัง

ปี 2554 ประเทศพังเพราะภัยธรรมชาติ

และกำลังลุ้นสมรภูมิสุดท้าย คือ กทม. ว่าจะรอดหรือไม่

ถ้าไม่รอด ก็ต้องนับว่าเป็นกรรมของประเทศแห่งนี้ ที่เพียงไม่ถึง 20 ปี เราก็จมลงสู่วิกฤตในทุกด้าน

ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะต้องใช้เวลา เงิน และทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อฟื้นประเทศขึ้นมาได้อีกเมื่อใด

และเพื่อไม่ให้สิ่งที่เลวร้าย กลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อไม่ให้ กทม. แตก!



แต่กระนั้น ในท่ามกลางการดิ้นรนต่อสู้

ก็อาจเป็นโชคไม่ดีของประเทศ เนื่องจาก "ฝ่ายนำ" ที่ควรจะมีเอกภาพสูงสุดในการ "กำกับ" การต่อสู้ ไม่อาจสลัดผลประโยชน์ในพวก ในฝ่ายของตนออกไปได้

เราจึงได้เห็นการช่วงชิงเพื่อหาประโยชน์ในทางการเมือง พร้อมกันไปด้วย

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมรภูมิ กทม. ถือเป็นสมรภูมิที่จะชี้อนาคตทางการเมือง ทั้งระดับชาติ และทั้งระดับท้องถิ่น

ระดับชาติ ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโอกาสที่จะเรียกกระแสนิยมน้อยลงทุกที

น้อยลง เนื่องจากพ่ายแพ้ในการปกป้องพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลาง มาโดยตลอด

ทำให้เกิดกระแสลบ ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งขึ้นทุกที

ทั้งฝีมือบริหารจัดการ

ทั้งภาวะการเป็นผู้นำ

เสียงต่อว่า มือไม่ถึง คุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งถ้าหากต้องพ่ายแพ้ที่สมรภูมิกรุงเทพฯ

เชื่อว่า "วิกฤตศรัทธา" จะเกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนอาจนำไปสู่ความผลิกผันทางการเมืองในอนาคตอันใกล้อย่างคาดไม่ถึงได้


ขณะเดียวกัน ในส่วนท้องถิ่น คือ กทม. อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งก็ต้องสู้สุดฤทธิ์เช่นกัน

เพราะความอยู่รอดของ กทม. คืออนาคตทางการเมืองของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่าจะกลับมาเป็นผู้ว่าราชการ กทม. ได้อีกครั้งหรือไม่

ขณะเดียวกัน ความอยู่รอดของ กทม. จะช่วยลบล้างข้อกล่าวหาที่ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป นั่นก็คือ

"ดีแต่พูด" ลงได้

พร้อมๆ กับที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ "ดูดี" ขึ้น

ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายอภิสิทธิ์ ที่ดูจะไม่แนบเป็นเนื้อเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา กลับมาผนึกกำลัง เพื่อโชว์ให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีดี

และยิ่งหากรักษา กทม. เอาไว้ได้

พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะยกระดับไปสู่ภาวะ "มีดีกว่า" อย่างไม่ยาก



ด้วยความรู้สึกว่า จะต้อง "ดูดีกว่า" นี้เอง ทำให้การปกป้อง กทม. ที่ถือเป็นการชี้เป็นชี้ตาย ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย เหมือนกัน แต่กลับแฝงไปด้วยการแข่งขันทางการเมืองอย่างเข้มข้น

เข้มข้นจนทำให้ "ความเป็นเอกภาพ" ในการสู้วิกฤตด้อยลง

คนไทยได้เห็นภาพ นายอภิสิทธิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หารือเพื่อแก้ไขน้ำท่วมร่วมกันเพียง "ครั้งเดียว"

จากนั้นต่างคนก็ต่างเดิน และบางจังหวะก็มีท่าทีที่ขัดแย้งกันด้วย

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางให้กองทัพเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์

แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า กลไกที่มีอยู่ สามารถบริหารจัดการได้ จึงปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว

ซึ่งก็นำไปสู่ประเด็นแห่งความขัดแย้ง โดยฝ่ายประชาธิปัตย์ก็โจมตีว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประเมินสถานการณ์ผิด ดื้อรั้น หวาดระแวงทหารมากจนเกินไป จนไม่กล้าใช้

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็สวนคืนว่าพรรคประชาธิปัตย์คุ้นเคยกับการใช้อำนาจพิเศษ และมีเป้าหมายที่จะดิสเครดิตรัฐบาล เพราะหากประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน อำนาจบริหารจัดการก็จะไปอยู่ในมือของกองทัพ สะท้อนให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพในการบริหาร

ท่าทีอันแตกต่างเช่นนี้ ทำให้ ความร่วมไม้ร่วมมือ ที่คนไทยอยากเห็น กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ตรงกันข้าม นับวันจะขยายวงขึ้น

เพราะแม้แต่เรื่อง "ถุงทราย" ก็ยังเป็นประเด็นเชือดเฉือนกัน

นี่ไม่นับรวมถึงการให้ข้อมูลแก่สังคม การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ ซึ่งพบว่าในระยะๆ หลัง ขัดแย้งกันโดยตลอด

และคาดหมายกันว่า หากศึกครั้งนี้ "เอาไม่อยู่" กรุงเทพฯ ต้องแตก

เชื่อเลยว่า การชี้หน้ากล่าวโทษกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลจะเป็นไปอย่างดุเดือด เลือดพล่าน



อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี หรือเชิงบวก

นั่นคือ การพลี เพื่อ กทม. กระทำสำเร็จ

สามารถปกป้องเมืองหลวงเอาไว้ได้

แต่ก็คงไม่มีใครเฉลิมฉลองได้ เพราะหายนะจากน้ำท่วมครั้งนี้ร้ายแรงนัก

ทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ไม่รวมบ้านเรือนประชาชนอีก

รวมความเสียหายแล้ว อาจจะพอๆ กับการที่ กทม. จมน้ำ

ซึ่งต้องยอมรับว่า การป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม. ก็คือการผลักภาระไปให้พื้นที่อื่น

ก่อให้เกิดความเสียหาย และทุกข์ยากแสนสาหัส ต่อคนจำนวนมาก

ทำให้ต้องเกิดคำถามอย่างหนักหน่วงติดตามมาว่านอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินที่ทุ่มเทรักษา กทม. จำนวนมากแล้ว ยังผลักภาระให้คนอื่นอีก

เป็นธรรมหรือไม่

และจะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้คนได้รับการปกป้อง ต้อง "จ่าย" เพื่อดูแลคนที่เดือดร้อนแทนบ้าง

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้น


เพราะเชื่อว่าต่อไปแต่ละจังหวัดก็คงใช้ข้ออ้างเช่น กทม. บ้าง

เหล่านี้จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกของสังคม

หากแก้ไม่ดี บทเรียนอันเจ็บลึกที่คนนอก กทม. เผชิญจากน้ำท่วมคราวนี้ จะทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านขัดขวาง

ไม่ยอมให้มีการพลี เพื่อ กทม. อยู่สบายๆ เช่นนี้อีกแล้ว !



__________________________________________________________________________________

ข่าวสารช่วงน้ำท่วม

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพชั้นใน
www.youtube.com/watch?v=bmI5WnecYdA&sns=fb


แนวทางป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
www.youtube.com/watch?v=JKCNcnK1JbI&feature=player_embedded


สนับสนุน "โมเดลน้ำดันน้ำ" แก้วิกฤติน้ำท่วม
www.petitiononline.com/Tum0406/petition.html

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

นายกฯ เตือนคนกรุงอย่าประมาท วอนทุกฝ่ายเร่งระบายน้ำ
www.thairath.co.th/content/pol/211188

"สุขุมพันธุ์" เผยเมื่อก่อนเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่ เพราะดูแลกทม. ไม่ใช่รับผิดชอบคนทั้งชาติ
www.prachatai.com/journal/2011/10/37539

ทำไมคลองแสนแสบจึงมีระดับน้ำลดลงจนเรือโดยสารไม่สามารถให้บริการได้
www.thairath.co.th/people/view/pol/5998

วรางคณา วณิชาชีวะ: รวมศูนย์ร่วมใจ...แก้ภัยน้ำท่วม
www.prachatai.com/journal/2011/10/37535

มูลนิธิสืบฯ เสนอทำคันสองชั้นตาม "มธ.โมเดล" ป้องกันกทม.ชั้นใน ชี้เป็น "ทางรอด" เดียวที่เหลืออยู่!
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319186011&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่ได้ขู่! นึกสนุกโพสต์รูป-ข้อความป่วนน้ำท่วม เจอคุก 20 ปี
www.thairath.co.th/content/tech/211019



.