.
ขอเชิญพิจารณาเข้าร่วมรณรงค์ The World vs Wall Street
SIGN THE PETITION
To fellow citizens occupying Wall Street and peoples protesting across the world:
We stand with you in this struggle for real democracy. Together we can end the capture and corruption of our governments by corporate and wealthy elites, and hold our politicians accountable to serve the public interest. We are united - the time for change has come! ......
http://www.avaaz.org/en/the_world_vs_wall_st/?sbc
. . . . . . . . . . .
สืบชะตา
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 89
ทีแรกจะเขียนถึงข้อโต้แย้งและบทความที่ไม่อาจเรียกได้ว่าคัดค้านแต่มีน้ำหนักไปทางเสียดสีเย้ยหยันจากกลุ่มนักกฎหมาย นักวิชาการทางนิติศาสตร์ที่มีต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์
แต่หลังจากที่อ่านวิวาทะทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมาก็คิดไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปวิวาทะเพิ่มอีกเพราะฝ่ายที่คัดค้านนั้นได้แสดงตัวตนและอุดมการณ์ของตนเองมาชัดเจนว่าขอยืนอยู่ข้างรัฐประหาร ทั้งนี้ เพราะไม่เชื่อว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของ "เสียงข้างมาก"
พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า กลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านข้อเสนอของนิติราษฎร์คือกลุ่มคนที่รังเกียจเสียงข้างมากและการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
ส่วนจะชื่นชมการปกครองในระบอบใดก็คงต้องให้ท่านเหล่านั้นกล้าๆ จะเสนอออกมาให้ประชาชนได้เห็นกันอีกหน่อย
เรื่องที่อยากจะเขียนถึงมากกว่าคือข่าวเล็กๆ ในเว็บไวต์ประชาไทเรื่อง "ขอคืน "พิพิธภัณฑ์" เปลี่ยนเป็น "บ้านพัก" ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ฯ" www.prachatai3.info/journal/2011/10/37216
เรื่องของเรื่องคือ "มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง" ได้ปรับปรุง บ้านพักศึกษาธิการจังหวัดมาเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น "ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่" มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
ทว่า หลังจากแปรสภาพบ้านพักของศึกษาธิการจังหวัดไปเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยงบประมาณหลายล้านบาท (ข่าวไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน - ซึ่งผู้อ่านอยากทราบ และคำว่า "หลายล้านบาท" ทำให้เนื้อหาของจดหมายจากฝ่ายมูลนิธิดูไม่เป็น "มืออาชีพ" เท่าที่ควร)
แต่ล่าสุด "ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1" ซึ่งจะเดินทางมารับตำแหน่งในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ได้ทำหนังสือ ขอบ้านที่ตอนนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์คืนมาเพื่อใช้เป็นบ้านพัก ทั้งนี้ อ้างสิทธิในการเข้าพักอาศัยตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ
อ่านข่าวนี้แล้วได้แต่ครวญครางว่ามันช่างเป็นเรื่องโอละพ่อโดยแท้ และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยที่กระทรวงวัฒนธรรมพึงเข้ามาทำวิจัย ศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่าลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไทยๆ อันน่าพิศวงนี้บ่มเพาะเติบใหญ่เข้มแข็งอยู่ในชั้นบรรยากาศแห่งสังคมไทยนี้ได้อย่างไร
เริ่มตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ได้อนุญาตให้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองได้ใช้บ้านพักศึกษาธิการมาทำพิพิธภัณฑ์
คำถามคือ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ต้องรู้ว่าพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ใช่เต๊นท์แสดงงานชั่วคราวที่ข่วงประตูท่าแพ และต้องรู้ว่าการดัดแปลงบ้านให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น ย่อมไม่อาจคาดหวังว่าจะไปทวงคืนแล้วสั่งรื้อให้กลับมาเป็นบ้านได้ใหม่ในทันทีที่มีข้าราชการสักคนถูกย้ายมาแล้วชี้นิ้วว่า "ผมมีสิทธิ์อยู่บ้านหลังนี้ตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมต้องการให้บ้านหลังนี้กลับมาเป็นบ้านพักข้าราชการดังเดิม"
เรื่องแบบนี้จะโทษใคร สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ได้อนุญาตให้มูลนิธิเข้าไปใช้ตัวอาคารโดยชุ่ยและไม่รับผิดชอบ?
ทางมูลนิธิ และสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ได้มีการทำสัญญาของยืมสถานที่ "ราชการ" มาเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่?
และหากมีการทำสัญญา สัญญานี้มีอายุกี่ปี ที่น่าเวียนหัวกว่านั้นคือในทางกฎหมาย เราทำสัญญาเช่นนี้ได้หรือไม่?
การอนุญาตของ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 นั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
และหากชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีที่มีใครสักคนมาเต้นเร่าๆ จะเอาบ้านพักคืน ใครจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายของทางมูลนิธิที่ได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว?
และในการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ให้กลับไปเป็นบ้านดังเดิมต้องมี "ค่าใช้จ่าย" ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกใครเป็นผู้รับผิดชอบ "งบประมาณ" หากผู้อำนวยการเขตฯ คนใหม่ เกิดอยากเข้าไปอยู่ในบ้านดินที่มูลนิธิสร้างขึ้นมาภายหลังเพราะเห็นว่าน่ารักน่าอยู่จะถือเป็นการลักทรัพย์หรือบุกรุกบ้านของผู้อื่นหรือไม่ หรือ หากผู้อำนวยการเขตรังเกียจบ้านดินหลังนี้สั่งให้ทุบทิ้ง ท่านต้องใช้ภาษีของประชาชนอย่างเราไปจ้างคนมาทุบอีกหรือไม่?
นี่เป็นปัญหาโอละพ่อในเชิงหลักการ กฎข้อบังคับ ที่ประชาชนอย่างฉันซึ่งไม่รู้เรื่องตัวบทกฎหมายได้แต่ตั้งคำถามขึ้นมาอย่างงงว่า ตกลง กฎระเบียบของทางราชการที่ว่าเถรตรงจนเกือบจะงี่เง่านั้น มันเถรตรงและรัดกุมจริงหรือไม่?
ความโอละพ่อประการต่อมา คือ พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นแก้วตาดวงใจของ "การศึกษา" แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญในการเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษากลับมาขอร้องให้ปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อให้กลับมาเป็นบ้านพักของข้าราชการเพียงเพราะตัวกระผมจำต้องใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย อ่านแล้วต้องอุทานเป็นภาษาล้านนาว่า "เป็นดีใค่หุย"
กฎหมายและสิทธิพึงมีตามกฎหมายเป็นอย่างไรฉันไม่รู้ แต่ที่รู้กันแน่ชัดในวันนี้คือ บุคลากรที่อยู่ในแวดวงการศึกษาอย่างน้อย ผอ.คนใหม่ไม่ได้มีความใส่ใจไยดีในเรื่อง "การศึกษา" เลยแม้แต่น้อยนิด ไม่ต้องพูดถึง ความปรารถนาดีของมนุษย์ที่ศิวิไลซ์แล้วพึงมีนั่นคือ ความปรารถนาที่อยากจะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ทุกวันนี้กิจกรรมเกี่ยวกับห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้มีเศียรพระพุทธรูปน่ากลัวๆ แท่งหินเสมาหลอนๆ กับประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับคลั่งชาติที่ชวนให้หลอนเสียยิ่งกว่าพระพุทธรูปที่เหลือแต่เศียรอันประทับอยู่ในห้องที่ทั้งมืด เงียบ และเย็นยะเยือกในอาคารที่เรียกกันว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ล้วนแต่ดำเนินการโดยเอกชน เช่น ห้องสมุดของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน หรือ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกับกลุ่มพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นที่อยากจะนำพาสังคมไทยออกจากซากอุดมการณ์ไดโนเสาร์ จึงดิ้นรนหาพื้นที่สำหรับการศึกษาที่กว้างขวางกว่าการศึกษาที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น กิจกรรมของกลุ่มมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ที่พยายามจะทำพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับ ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ลำพังคำว่า "พัฒนาเมือง" นั้นมีความที่ท้าทายองค์ความรู้เก่าแก่ของสังคมไทยด้วยตัวของมันเอง เพราะสามัญสำนึกที่ถูกปลูกและ "ฝัง" ไม่ให้ตั้งคำถาม ไม่ให้หาคำตอบ ไม่ไห้คิด ที่ระบบการศึกษาไทยสร้างบาปกรรมไว้กับเยาวชนไทยมากลายเจเนอเรชั่นติดต่อกันนั้น ทำให้คนไทยเกือบทั้งหมดเชื่อว่า มีแต่ "ชนบท" เท่านั้นที่ต้องได้รับการ "พัฒนา" มิใช่ "เมือง"
สังคมไทยจึงขาดความรู้เกี่ยวกับเมืองอย่างมหาศาล ทั้งประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองที่หมายถึง Urban สังคมไทยจึงไม่เคยแยแสกับแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการวางผังเมือง และการออกแบบเมือง สังคมไทยจึงขาดความรู้เกี่ยวกับประชากรศาสตร์ของเมืองทั้งหมด
เราจึงไม่รู้เรื่องการอพยพ โยกย้าย อายุ อาชีพ ลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง
เราไม่สนใจอยากรู้ว่า มีผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน นักเรียนกี่คน นักศึกษากี่คน ผู้สูงอายุกี่คน ที่อาศัยอยู่ในเมือง คนเหล่านั้นรายได้เท่าไหร่
การกระจายตัวเป็นอย่างไร จะขยายตัวอย่างไร การใช้ที่ดิน พฤติกรรมการหาที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ฯลฯ
ขาดเสียซึ่งองค์ความรู้เชิงสังคมวิทยา - การเมือง - เศรษฐกิจ ของ "เมือง" สังคมไทยจึงไม่เคยแยแส ใส่ใจเรื่องการสร้างเมือง ออกแบบเมืองมาให้เหมาะสมกับชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ผลที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากการที่ไปเชื่อว่ามีแต่ชนบทเท่านั้นที่ล้าหลังและต้องได้รับการพัฒนา ปัญหาของ "เมือง" ในประเทศไทยมีทั้งเรื่องรถติดวินาศสันตะโร โครงการขนส่งมวลชนที่เละตุ้มเป๊ะ ไม่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระบบถนน เข้ากับระบบราง ไม่สามารถเชื่อมต่อจุดเดินทางทั้งสถานีรถไฟ รถบัส สนามบินเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่นับต้นทุนของ Logistic ที่แพงกว่าประเทศที่ใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในอนาคตอันใกล้ หรือเห็นไปแล้ว ก็คือปัญหาน้ำท่วมที่ไม่อาจจะเยียวยานอกจากให้นักการเมืองไปแจกมาม่า ข้าวสาร ปลากระป๋องกันไปวันๆ
สิ่งที่ทำให้ปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าที่มันควรจะเป็นก็เนื่องมาจากปัญหาของการไม่มีผังเมืองที่เกิดจากการศึกษาอย่างรอบคอบและมองให้ไกล
ผังเมืองของ "เมือง" ในประเทศไทยเหมือนทำกันไปวันๆ แก้ปัญหาเฉพาะกันเป็นเรื่องๆ และไม่สามารถเชื่อมโยงเมืองทั้งเมืองเข้าด้วยกันไม่นับว่าไม่เคยเชื่อม อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของเมืองไว้ในผังเมืองได้เลยแม้แต่น้อย
"เมือง" ในประเทศไทยจึงมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ หมู่บ้านทางซ้ายถมคลอง หมู่บ้านทางขวาขุดคลอง ฝั่งนู้นกั้นน้ำ ฝั่งนี้ปล่อยน้ำ อีกฝั่งทำประตูน้ำ และทุกฝั่งต่างมุ่งแก้ปัญหาฝั่งของตัวเอง ทั้งนี้ ก็เพราะไม่มี "พิมพ์เขียว" ของเมืองที่จะทำให้ทุกฝ่ายวางแผนแก้ไขปัญหาหรือวางแผนเพื่ออนาคตร่วมกันได้
จะให้พูดถึงปัญหาอะไรของ "เมือง" อีก ปัญหาทางเท้า ปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมือง ปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาทัศนอุจาดอันเกิดจากการสั่งสมรสนิยมเลวๆ มาอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นสันดานและขาดกระบวนการศึกษาทางวัฒนธรรมที่เปิดกว้างพอที่จะทำให้เราค่อยขัดเกลาตัวเองให้หลุดพ้นจากรสนิยมสามานย์ให้เข้าสู่การมีชีวิตที่มีสุนทรียะบ้างตามอัตภาพ
รสนิยมที่ดี และสุนทรียสากลที่พึงมีกันตามอัตภาพ จะบ่มเพาะขัดเกลาได้ก็ด้วยการจัดการการศึกษาที่ไม่ได้มีแต่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาจริยธรรม ศีลธรรม หรือการเรียนประวัติศาสตร์คลั่งวีรบุรุษและมหาบุรุษที่มาพร้อมกับความมัวเมาในแผ่นดินมาตุภูมิ
ทว่า เกิดจากการศึกษาที่อยู่นอกพื้นที่ของโรงเรียนและอำนาจของ "ครู" เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หอแสดงงานศิลปะ โรงละคร โรงจัดแสดงนาฏศิลป์ โรงคอนเสิร์ต มหรสพ ที่ไม่พึงจำกัดไว้เฉพาะวัฒนธรรมหรือการแสดงที่เป็น "ไทย" เท่านั้น แต่หลากหลาย และมีอิสระในการออกแบบโปรแกรมการแสดงหรือนิทรรศการของตนเอง
พิพิธภัณฑ์ "ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่" เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่อย่างน้อยเป็นการเริ่มต้นปลูกฝังรสนิยมที่ดีแก่พลเมืองในท่ามกลางการครอบงำของรสนิยมสามานย์อันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประเทศแห่งนี้
และน่าตกใจที่มันจะต้องเผชิญน่ากับชะตากรรมที่น่าเย้ยหยัน จนเกือบจะเป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า absurd
นั่นคือมันถูกของคืน "พื้นที่" จากผู้ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายที่หล่อเลี้ยงรสนิยมสามานย์ของสังคมไทยตัวเอ้ นั่นคือกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคู่แข่งอันตามมาติดๆ คือกระทรวงวัฒนธรรม
ชะตากรรมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางและชะตากรรมของสังคมไทยด้วยเช่นกัน
++
บทความช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ( พ.ศ.2553 )
แง้มกะลา หาประชาชน
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1573 หน้า 83
"กลุ่มนักเขียนเสนอ ปฎิรูปวัฒนธรรมการอ่านการเขียน ตั้งองค์กรมหาชนอิสระรองรับกิจกรรมขับเคลื่อนปฏิรูปจิตสำนึกพลเมือง ให้เกิดโครงสร้างประเทศใหม่
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 มีเวทีระดมความคิดเห็นนักเขียนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย จัดโดย สำนักงานร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
ความคิดเห็นทั้งหมดจะรวมกับสาขาอื่นกว่า 14 เวที เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ประกาศพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ ต้อนรับปีใหม่ 1 มกราคม 2554 ขณะที่ข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ชุด นายอานันท์ ปันยารชุน จากการระดมความคิดเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ชุด นายแพทย์ประเวศ วะสี จะเสนอต่อรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า"
www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/education/20100916/353310
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดีรับการแต่งตั้งมาก็คงทำงานของพวกท่านเพื่อสนองเงินงบประมาณที่ได้รับมา เพราะได้เห็นข่าวการประชุม ระดมความคิด มันสมอง การเชิญตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนนักพัฒนา ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ตัวแทนจากแต่ละสาขาอาชีพมานำเสนอความคิดเพื่อจะได้นำมาสรุปเพื่อเสนอต่อรัฐบาลอย่าง "เบ็ดเสร็จ" และจะออกมาเป็น "พิมพ์เขียว" ปฏิรูปประเทศ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันนึกถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งว่าไม่มีครั้งไหนในชีวิตที่เรารู้สึกแปลกแยกกับบ้านเมือง ประเทศชาติของตัวเองมากเท่ากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปีนี้ ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นเหมือน "คนต่างด้าว" ในแผ่นดินเกิดของเราเอง
ไม่เฉพาะการรัฐประหาร แต่ผลของการรัฐประหาร หลังจากนั้น อันนำมาสู่การลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนที่ต้องการปกป้องเสียงทางการเมือง พรรคการเมืองที่พวกเขาเลือก ถูกผนวกเข้ากับความอยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่าที่ "เสียงข้างมาก" ของประเทศถูกต้อนให้จนตรอกและจำนน จนกระทั่งวลี "สองมาตรฐาน" ดังกระหึ่ม ทว่าฟ้าไม่สะดุ้ง แผ่นดินไม่สะเทือน เพราะมันเป็นเสียงของประชาชนที่ถูกพรากเอาความเป็นประชาชนออกไปจากพวกเขาทันทีที่พวกเขาหันหลังให้อำนาจรัฐด้วยถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ "คนไทยหรือเปล่า?" และ "ผู้ก่อการร้าย" "เป็นภัยต่อความมั่นคง"
โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ไม่เพียงแต่ 91 ศพที่ถูกฆ่า ไม่เพียงแต่การไล่ล่า จับกุม ไม่เพียงแต่การปรับ ย้าย ตำแหน่งในมหาดไทย การแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ ที่แสดงออกมาชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังประกาศศึกกับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้ง
แต่โศกนาฎกรรมที่ทำให้คนอย่างฉันซึ่งนับตัวเองเป็นนักเขียนและเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมบังเกิดความโศกาอาดูรกับสังคมไทยอย่างลึกซึ้งคือ ความรุนแรงทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่โบยตีลงมาในจิตสำนึกของคนไทยอย่างไม่ขาดสายและทวีความรุนแรงขึ้นทุกนาที
และที่ชวนให้โศกศัลย์กว่านั้นก็คือ กลุ่มปัญญาชน นักคิด นักเขียน ที่เลี้ยงชีพด้วย "วรรณกรรม" เหมือนกันกับฉัน นอกจากพวกเขาจะไม่เคยลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน การนิ่งเงียบของพวกเขาที่เราคิดว่ามันน่าอดสู น่าละอายอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่การกระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเหลาแส้ทางอุดมการณ์อันใหม่ที่จะโบยตีได้เจ็บกว่าเดิม หนักกว่าเดิมอย่างปรีดาปราโมทย์นั้น
มันยิ่งชวนให้อดสูและตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า วงการวรรณกรรมไทยนั้นเต็มไปด้วยความล้าหลัง ความอับจนทางปัญญา คือกลุ่มที่หล่อเลี้ยงอีโก้ ตัวตนกันด้วยลูบหลัง ตบไหล่ เอออวย และอย่าสะเออะมาวิจารณ์ หากจะวิจารณ์ต้องบริกรรมคาถาว่า "ด้วยความเคารพรัก และซาบซึ้งในคุณูปการอีกทั้งความปรารถนาดีทั้งมวล
กระนั้นผู้น้อยขอความเมตตาที่จะบังอาจวิจารณ์งานของท่านพี่ ผิดถูกอย่างไรโปรดให้อภัยในความไร้เดียงสา" เสียก่อน
อันที่จริงควรจะเป็นคนในวงการวรรณกรรมที่ออกมาเปิดโปง double speak ของรัฐไทยในปัจจุบันว่าได้กระทำการเล่นกลทางภาษากับประชาชนเช่นไรบ้าง เช่น
"กระชับพื้นที่" แปลว่า "สลายการชุมนุม"
"ไม่ใช้กระสุนจริง" แปลว่า "กูเอามึงแน่ ถ้ามึงไม่กลับบ้าน"
"ปรองดอง" แปลว่า "ปราบปราม"
"มีความสุขกับชีวิตเรียบง่าย" แปลว่า "จงมีความสุขกับความยากจนของตนและยินดีในอภิสิทธิ์และความร่ำรวยของผู้อื่นโดปราศจากความริษยา คนเราสะสมบุญมาจากชาติที่แล้วไม่เท่ากัน"
"ทุกภาคส่วน" แปลว่า "พวกมึงทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกู อย่าได้หือเชียว"
และแม้แต่คำว่า "ปฏิรูป" นั้นน่าจะแปลว่า
"ล้างสมอง ล้างไพ่ ล้างบางทางความคิด ปรับปรุงโครงสร้างประเทศมิให้ประชาชนตระหนักในสิทธิแห่งความเป็นพลเมือง ทว่า สยบยอม หวาดกลัว และจำนนต่ออำนาจรัฐอย่างปราศจากการขัดขืน แต่ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินไปอย่างแนบเนียน มิให้ราษฎรรู้ตัวว่าตนเองถูกล้างสมอง แต่ให้เชื่อว่าทุกอย่างต้องเป็นเช่นนี้ เป็นกฎธรรมชาติ ราษฎรคือสิ่งมีชีวิตที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย ภายใต้เมตตาธรรมของผู้ปกครอง ถ้าเราทำดี นอบน้อม เชื่อฟังผู้ปกครองมากเท่าไร ชีวิตเราจะมั่นคง ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น อย่าคิด อย่าเถียง เชื่อมั่นในคุณธรรม ความดีของผู้ใหญ่ ผู้รู้ ของปราชญ์ ของผู้มีอำนาจ แล้วชีวิตจะดีเอง
วิธีแนบเนียนที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการปฏิรูปนี้เกิดจากเจตจำนงของประชาชน และรัฐบาลมิได้เป็นเผด็จการทำพิมพ์เขียวออกมาบังคับใช้คือ การสร้างกระบวนการคัดสรร ประมวลแนวคิด ระดมมันสมองจาก "ทุกภาคส่วน" เพื่อ perform ว่า นี่คือความใจกว้าง นี่คือการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลาย นี่คือกระบวนการประชาธิปไตยโดย "แต่งตั้ง" นักวิชาการที่มีภาพพจน์ดี มีภาพพจน์และประวัติของการต่อสู้เพื่อมวลชน (ทว่ามันกลายเป็นอดีต) เข้าไปเป็นคณะปฏิรูป
จากนั้นไปควานหาตัวเอ็นจีโอที่ปากอ้างว่าสู้เพื่อชาวบ้านแต่ดวงตาขยิบหาอำนาจทั้งกระหาย "ทุน" ชื่นชมเผด็จการ มาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป แล้วก็ไปคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านสมุนเอ็นจีโออำมาตย์ มาร่วมแสดงทัศนะ
แค่นี้ก็ดูดี เป็นประชาธิปไตยทางตรง ไม่ง้อการเลือกตั้ง เปี่ยมคุณธรรม
เท่านี้ก็จะได้พิมพ์เขียวการตัดตอนทางปัญญาของพลเมือง ช่วยเสริมอำนาจรัฐให้มั่นคง แข็งแกร่ง โดยไม่กระเทือน "จริต" จริยธรรมของชนชั้นกลาง ปัญญาชนที่ยังพึงใจจะห่อหุ้มจิตสำนึกเผด็จการของพวกเขาด้วยเสื้อผ้ายี่ห้อประชาธิปไตย "
นอกจาก "แกนนำ" ในวงการวรรณกรรมจะไม่ได้ลุกขึ้นมา "วิพากษ์" ภาษา ถ้อยคำ double speak ที่ต้องนับให้เป็นวรรณกรรมการเมืองร่วมสมัย "แกนนำ" วงการวรรณกรรมยังสนองรับการสังวาสกับอุดมการณ์เผด็จการอย่างซี้ดซาดเกษมสันต์ ด้วยการนำเสนอโครงการ "ปฏิรูปจิตสำนึกพลเมือง" ! ขอใส่เครื่องหมายตกใจไว้ ณ ที่นี้สักร้อยอัน
เพราะมันชี้ชัดว่า นักเขียนได้สถาปนาตนเองเป็นผู้มี "จิตสำนึก" ที่ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ส่วนคนอื่นๆ มีจิตสำนึกที่ผิดพลาด และบิดเบี้ยว นักเขียนจึงมีพันธกิจอออกมา จัดระเบียบจิตสำนึกที่ผิดพลาด บิดเบี้ยวนั้นให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ ถูกต้อง อยู่ในร่องในรอย
ประทานโทษ ท่านนักเขียนทั้งหลาย-ชาติที่แล้วเกิดเป็นหัวแม่ตีนขวาฮิตเลอร์เหรอฮะ ถึงได้คิดอะไรแบบนี้ออกมาได้ คิดปฏิรูปจิตสำนึกเนี่ยะนะ !!!!!!!!!
อาการเสี้ยนอยากปฏิรูปจิตสำนึกของผู้อื่นนั้น บ่งบอกว่า พวกท่านแอบมีพิมพ์เขียวอยู่ในใจ ซ่อนไว้ในซอกลับของกลีบสมองว่า สิ่งใดคือจิตสำนึกที่ถูกต้อง สิ่งใดคือจิตสำนึกที่ผิดพลาด ท่านเคยถามตนเองบ้างไหมว่า ท่านมีไม้เท้ากายสิทธิ์ใดมาชี้ ถูก และ ผิด กระทั่งเหิมเกริมอยากจะมาทำหน้าที่ "เผด็จการทางปัญญา"
นักเขียนควรทบทวนตัวเองว่า การวิจารณ์งานวรรณกรรม เป็นคนละเรื่องกับการเที่ยวไปบอกคนในสังคมว่า หนังสือเล่มนั้นควรอ่าน เล่มนั้นไม่ควรอ่าน เด็กควรอ่านเรื่องนี้ไม่ควรอ่านเรื่องนั้น ร้อยเล่มนี้ถ้าไม่ได้อ่าน สอบไม่ผ่านการเป็นคนไทย (ก็เค้าว่า ร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน)
ควรหยุดป้ายโทษคนไทยว่า อ่านแต่วรรณกรรมขยะ วรรณกรรมแผ่นเสียงทองคำของพวกท่านเลยขายไม่ออก-งานของท่านคนไม่ซื้อ คนไม่อ่าน ควรโทษตนเองเป็นเบื้องต้นว่าสื่อสารกับคนจำนวนมากไม่ได้ หรือหากจงใจเขียนเรื่องซับซ้อน มากด้วยปัญญา ปรัชญา ก็พึงยอมรับความจริงที่ว่า วรรณกรรมบางประเภทมีสินค้าที่บริโภคกันเฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ไม่ได้แปลว่านี่คือหายนะทางปัญญาของสังคมทั้งสังคม ทั้งการอ่านเป็นรสนิยม วิจารณ์ได้ แต่ดูถูกกันไม่ได้ ตัดสิน ผิด ชอบ ชั่ว ดีกันไม่ได้
ทว่านักเขียนไทยมีสันดานดูถูกรสนิยมของผู้อ่านอยู่เป็นนิจ และเมื่องานของตนไม่ถูกนำไปบริโภคอย่างกว้างขวางก็มักอ้างว่า "ปัญญาของมหาชนยังต่ำเตี้ยนัก อย่ากระนั้นเลย เรามาส่งเสริมการอ่าน และมาสอนพวกเขากันเถอะว่า คนฉลาด คนลึกซึ้งต้องอ่านอะไร ไม่อ่านอะไร"
นักเขียนไทยคงหมกมุ่นเรื่องเหล่านี้กันมากเกินไปจนลืมไปว่าการส่งเสริมการอ่านที่ดีที่สุดคือ การเขียนงานออกมาสู่ตลาด และปล่อยให้นักเขียนเกิดอย่างหลากหลาย ตลาดมีทางเลือก ปล่อยให้มีการวิจารณ์ วรรณกรรม ถกเถียง ด่าทอ โดยไม่มานั่งฟูมฟายว่าใครประจานใคร ใครไม่เห็นแก่เพื่อนพ้องน้องพี่ แยกการวิจารณ์ออกจากความขัดแย้งหรือความรัก ความชัง อันเป็นส่วนตัว ไม่พอใจบทวิจารณ์ไหนก็ตอบโต้ด้วยบทวิจารณ์ เลิกก่นด่า ฟูมฟาย ตัดพ้อ สงสารตัวเอง หรือพร่ำบนเรื่องการกัดกินอุดมการณ์แทนข้าว
เพราะถ้าทุกข์ท้อกับมันมากนักก็ไปทำมาหากินอย่างอื่น จิตวิญญาณคงไม่ได้แหว่งวิ่นไปสักเท่าไหร่
"นายกสมาคมนักกลอนฯ สนับสนุนอย่างแข็งขันให้ตั้งสถาบันการอ่าน การเขียน และเสนอว่าการศึกษาของไทยขาดยุทธศาสตร์ ขาดนโยบาย ขาดกลยุทธ์การบริหารจัดการ เพราะขาดบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจโดยตรงด้านหนังสือการอ่าน การเขียน ซึ่งจะให้บรรลุจุดประสงค์ก็ควรให้นักเขียนเป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง และเป็นอธิบดีด้วยเพื่อมาบริหารทรัพยากรต้นทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางปัญญา พร้อมกับส่งเสริมรายได้ของนักเขียน นักกวี"
อ่านข้อความนี้แล้วยิ่งขำ นักเขียนเสนออย่างตั้งองค์กรมหาชนอิสระส่งเสริมการอ่าน การเขียน บอกว่า รัฐอย่ามายุ่ง ราชการอย่ามาเกี่ยว
นักเขียนขอเป็นรัฐมนตรีเอง ปลัดกระทรวงเอง
โห นอกจากจะเป็นเผด็จการทางปัญญาแล้วยังหลงตนเองอย่างแรงว่าในจักรวาลนี้ ไม่มีใครมารู้เรื่องการอ่านและเขียนดีเท่านักเขียน
ถ้าเช่นนั้นเราคงต้องเอาชาวนาไปเป็น รมต. เกษตร เอาครูไปเป็น รมต. ศึกษาฯ เอานักวิทยาศาสตร์มาเป็น รมต. กระทรวงวิทย์ฯ ทั้งหมดนี้แต่งตั้ง คัดเลือก
เอ๊ะ...แล้ว ส.ส. มีไว้ทำอะไร เอ่อ...แล้วจะไปเป็นปลัดกระทรวงนี่ สอบเข้าไปเป็นข้าราชหรือยัง?
แล้วไหนว่า รัฐอย่ายุ่ง ข้าราชการอย่าเสือก เพราะเห็นลงท้าย ตัดพ้อ (อีกแล้ว) ว่าที่ผ่านมารัฐไม่สนับสนุน ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง - ตกลงจะเอายังไง?
กล่าวโดยสรุป ฉันคิดว่าคนที่สมควรได้รับการปฏิรูปก่อนใครอื่นคือพวกที่คิดว่า กูจะไปปฏิรูปนู่น นี่ นั่น ควรกลับไปปฏิรูปตนเองก่อนไหม?
ควรกลับไปถามตนเองว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชุดใดในสังคม ควรถาม ควรใคร่ครวญ ควรละวางตัวตน อีโก้ ควรตระหนักว่านักเขียนก็คือมนุษย์ธรรมสามัญ หาได้มีปัญญาญาณพิเศษเหนือมนุษย์คนอื่น นักเขียนมิใช่มนุษย์สปีชี่พิเศษ มีออร่าครอบศรีษะมลังเมลือง
(ถ้าจะมีอะไรครอบก็คงเป็นกะลา)
นักเขียนคือประชาชนที่ควรกลับไปหาประชาชน มิใช่ผู้ที่จะมาปฏิรูปจิตสำนึกประชาชน อ้อ...ก่อนจะกลับไปหาประชาชน ต้องเปิดกะลาก่อนนะ ถึงจะเดินออกมาได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย