http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-18

#OWSและความฝัน, จารีตของสังคมช่วงชั้น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ขอเชิญพิจารณาเข้าร่วมรณรงค์  The World vs Wall Street
SIGN THE PETITION
To fellow citizens occupying Wall Street and peoples protesting across the world:
We stand with you in this struggle for real democracy. Together we can end the capture and corruption of our governments by corporate and wealthy elites, and hold our politicians accountable to serve the public interest. We are united - the time for change has come! ......
http://www.avaaz.org/en/the_world_vs_wall_st/?sbc

. . . . . . . . . . .


#OWS และความฝัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ภาพของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้มลงวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมบนแผนที่แผ่นเดียวกัน ทำความพอใจแก่ชาวเน็ตเป็นแสน ตัดกับอีกภาพหนึ่งในวันรุ่งขึ้น เมื่อคุณจินตนา แก้วขาว ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน ในข้อหาซึ่งตัวเธอเองก็ยังยืนยันจนถึงนาทีนี้ว่า เธอไม่ได้สั่งการหรือเข้าไปในที่เกิดเหตุ วันล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งจัดงานเลี้ยงเพื่อหาเสียงสนับสนุนโครงการจากชาวบ้าน

ภาพที่ตัดกันสองภาพนี้ เตือนให้เรารู้ว่า ไม่มีหรือยังไม่มีทางเลือกอื่นในการเมืองไทย

จะว่าไป "ทางเลือกอื่น" (alternatives) คือเป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวที่ระบาดไปแพร่หลายตามเมืองต่างๆ ในสหรัฐกว่า 70 เมือง และข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิกไปสู่เมืองใหญ่ๆ อื่นๆ อีกหลายสิบเมือง ความเคลื่อนไหวนี้รู้จักกันในนาม "ยึดวอลล์สตรีท" (Occupy Wall Street หรือ #ows ในภาษาเน็ต)

#ows เริ่มในการสื่อสารของผู้อ่านนิตยสาร Adbusters ของแคนาดา ซึ่งเสนอให้ยึดตำบลการเงินการคลังใหญ่ของสหรัฐในนิวยอร์ก คือย่านถนนวอลล์สตรีท มีผู้เห็นพ้องและเข้ามาช่วยกันคิดออนไลน์มากขึ้น และอีกสอง-สามเดือนก่อนหน้าที่การยึดจะเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 17 กันยายน การคิดร่วมกันออนไลน์ก็ยังดำเนินต่อไป จึงทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้คล้ายกับการเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวชาวอียิปต์ ในการเคลื่อนไหวที่มักเรียกกันว่า "ฤดูใบไม้ผลิอาหรับ"

หมายความว่า ความเคลื่อนไหวนี้ คิดและกระทำกันอย่างเปิดเผย หาช่องเล็กช่องน้อยในกฎหมายที่พอจะเป็นไปได้ ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ครอบงำสังคมอยู่อย่างหนาแน่น ช่องเล็กช่องน้อยนั้นอาจมีอยู่มากสักหน่อยในระบบกฎหมายของอเมริกัน เพราะทุนนิยมอเมริกันยังอ้างประชาธิปไตยเป็นฐานความชอบธรรมทางการเมือง จึงไม่มีกฎหมายประเภท "พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน"


#ows เข้าไปอยู่ในสวนสาธารณะกลางวอลล์สตรีท ชื่อสวน Zuccotti อันเป็นสวนสาธารณะเอกชน ตำรวจไม่มีอำนาจขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากสวนนี้ได้ แม้มีอำนาจในการควบคุมการชุมนุมเพื่อรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ และตำรวจนิวยอร์กก็พยายามจะใช้อำนาจนี้เพื่อทำให้การชุมนุมสลายลง

เช่นมีกฎหมายห้ามใช้เต็นท์ในสวนสาธารณะ ตำรวจก็ตีความว่า ผ้าใบอาบน้ำมันที่เอามาคลุมเป็นเพิงคือเต็นท์อย่างหนึ่ง แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนหยัดที่จะหลับนอนต่อไปกลางแจ้งหรือในกล่องกระดาษเท่าที่จะหาได้ กฎหมายห้ามใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต ตำรวจตีความว่าโทรโข่งที่ใช้ถ่านไฟฉายเป็นพลังนั้น คือเครื่องขยายเสียงชนิดหนึ่ง ผู้ชุมนุมซึ่งมักมีคนสำคัญมาร่วมสนับสนุนและกล่าวสุนทรพจน์เสมอ จึงหันไปใช้ "ไมค์ประชาชน" คือคนที่อยู่ใกล้ๆ ผู้ปราศรัยพอได้ยินเสียง ก็จะพร้อมกันตะโกนคำปราศรัยไปทีละประโยคหรือทีละวลี เพื่อให้ได้ยินทั่วๆ กัน

จะว่าพยายามทำเฉพาะที่กฎหมายทิ้งช่องโหว่ไว้อย่างเดียวก็ไม่เชิงทีเดียวนัก เมื่อมีคนมาเข้าร่วมชุมนุมกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ #ows พยายามเดินขบวนไปประกอบกิจกรรมในสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ กฎหมายอนุญาตให้เดินขบวนได้โดยไม่กีดขวางทางจราจร คือบนทางเท้าเท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมมีจำนวนมากเกินกว่าจะใช้แต่ทางเท้าได้ จึงล้นลงมายังผิวจราจรบนพื้นถนน ตำรวจจับตัวไปปรับทีหนึ่งเป็นร้อยๆ

แต่ยิ่งเป็นสัญลักษณ์ของความจนตรอกของผู้ชุมนุมมากขึ้นไปอีก


เพราะผู้ชุมนุมซึ่งมักเรียกตัวเองว่า พวก 99% อ้างว่ากำลังต่อสู้กับพวก 1% ซึ่งคือธุรกิจขนาดยักษ์ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินใหญ่ๆ ซึ่งตลอดเวลาที่เศรษฐกิจอเมริกันเผชิญวิกฤตในทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา รัฐได้นำเงินภาษีของประชาชนมาอัดฉีดไม่รู้จะกี่ล้านล้านเหรียญ แถมไม่มีผู้บริหารของสถาบันการเงินเหล่านี้สักคนเดียวที่ต้องคดีอาญา ทั้งๆ ที่การพังทลายของเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากความโลภของสถาบันเหล่านี้เอง

ผู้คนจำนวนมากถูกยึดบ้านต้องออกมานอนข้างถนน แต่ธนาคารที่ให้เงินกู้สร้างบ้าน (แล้วก็ออกตราสารไปจำนองไว้กับประเทศอื่นทั่วโลก) กลับรวยเอารวยเอา คนตกงานหรือไม่พอกินกับงานเดียวต้องทำงานสองงานสามงานจนไม่ได้พักผ่อน ประกันสังคมต่างๆ กำลังถูกลดหรือเลิก มีคนหิว, คนเจ็บ และเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนมากมาย

ดังนั้น อำนาจที่ล้นเหลือเช่นนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากนักการเมือง การเรียกร้องของ #ows ระยะแรกๆ จึงเป็นข้อเสนอให้ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อลดอิทธิพลของเงินเหนือผู้แทนของประชาชน (ใครที่เคยดูหนังสารคดีของไมค์ มัวร์ เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจยาและการแพทย์ของอเมริกัน -Sicko -- คงจำประเด็นนี้ได้ดี)



กล่าวโดยสรุป #ows กำลังต่อสู้กับทุนนิยมสหรัฐ และเพราะเป็นองค์กรแกนนอน จึงมีความคิดเห็นต่อทุนนิยมสหรัฐต่างกันไป ส่วนใหญ่คือ 46% ของผู้ร่วมชุมนุมเห็นว่า ทุนนิยมไม่ได้เลวในตัวของมันเอง แต่ต้องมีการกำกับควบคุม 37% เห็นว่าไม่มีทางรักษาทุนนิยมไว้ได้อีกต่อไป เพราะมัน "สามานย์" คือผิดศีลธรรมในตัวของมันเองเลยทีเดียว อีก 17% ไม่ตอบคำถาม

การชุมนุมเรียกร้องอะไร? คำตอบคืออะไรหลายๆ อย่างที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมเห็นว่าสำคัญ "สมัชชาใหญ่" ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องที่ตนเห็นว่าสำคัญที่สุดหนึ่งข้อ อะไรก็ได้ ผลที่ออกมาคือลดอิทธิพลของเงินเหนือการเมือง, เก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น, เก็บภาษีบรรษัทเพิ่มขึ้น, สนับสนุนสหภาพกรรมกร, รักษาโครงการสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคมเอาไว้ตามจุดประสงค์เดิม, รักษาสิ่งแวดล้อม...

จะเห็นได้ว่าก็อยู่ในแนวเดียวกัน เพราะคนที่ไม่เห็นอย่างนี้ก็คงไม่เข้าร่วมชุมนุมมาแต่ต้นแล้ว

จะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผู้ชุมนุมเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ดำรงอยู่ ไม่ยุติธรรม เอาชีวิตและความมั่นคงของคนเล็กคนน้อย 99% ไปสังเวยผลประโยชน์ของพวก 1% ที่รวยมั่งคั่งอยู่แล้ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้เข้าร่วมชุมนุมเห็นว่าทุนนิยมสหรัฐนั้นมีทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ได้ บางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกว่า สิทธิหรืออำนาจในการฝันถึงสิ่งอื่น


สิทธิในการฝันถึงทางเลือกอื่น ไม่ว่าใครจะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ผิดหรือถูกก็ตาม จะว่าไปคือพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพทั้งหมด
ประชาธิปไตยที่ทุนนิยมอเมริกันกำกับอยู่เบื้องหลังนั้น ส่งเสริมให้คนฝันและใฝ่ฝัน
แต่ต้องฝันและใฝ่ฝันตามท้องเรื่องที่ผลประโยชน์ของคน 1% กำหนดไว้ให้แล้ว

หากฝันนอกท้องเรื่องนี้ก็กลายเป็นการเพ้อฝัน, เพ้อเจ้อ, ไร้เหตุผล, ล่องลอย ฯลฯ เขาจะถูกลิดรอนอำนาจ โดยไม่รับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยดังๆ, ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ได้ตัดสินใจ, จนถึงที่สุดไม่มีใครพิมพ์งานที่เขาเขียนขึ้นเลย (ก็มีตัวอย่างจริงมาแล้ว เช่นเกือบทั้งหมดของงานเขียนของโนม ชอมสกี้ ไม่ได้ตีพิมพ์ในสหรัฐ)


เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน ความฝันของทุนนิยมคือมีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง และราคาไม่แพง จินตนา แก้วขาว และชาวบ้านกรูดไม่ได้ฝันอย่างนั้น เพราะยังมีทางเลือกอื่นที่คนเล็กคนน้อยในบ้านกรูดสามารถเจริญงอกงาม และมีความสุขต่อไปได้กับการประมง, การทำสวนมะพร้าว, การค้าขายของชำ, การท่องเที่ยว และการผลิตที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว จึงพากันลุกขึ้นต่อต้านอำนาจทุนอันมหึมา ที่พยายามจะใช้ที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นทรัพย์ของคน 99% ไปสร้างพลังงานขาย สมเหตุสมผลกับความต้องการพลังงานของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม

และเพื่อปราบปรามมิให้คนเล็กคนน้อยมีสิทธิฝันอย่างอิสระ จึงมีกลไกแห่งอำนาจอันสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ที่จะทั้งปลอบและขู่ให้ชาวบ้านกรูดฝันให้ถูกเรื่อง ตรงกับความฝันของคน 1% ให้ได้ นับตั้งแต่โรงเรียนประจำตำบล ที่ลูกของจินตนาถูกกระแหนะกระแหนโดยครูของเธอเอง

นักวิชาการมหาวิทยาลัยมีชื่อทำการศึกษาประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนผู้จ้างคือโรงไฟฟ้าให้ดำเนินโครงการได้

สื่อที่คอยเตือนประชาชนทั่วประเทศว่า ชาวบ้านกรูดกำลังทำให้ความฝันของเขาพังสลายลง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วหาใช่ความฝันของเขาเอง แต่เป็นความฝันที่คน 1% ฝากให้เขาฝัน จนถึงที่สุดระบบยุติธรรมทั้งระบบก็ทำให้ความฝันนอกกรอบของจินตนาต้องเป็นฝันร้ายตลอดไป


Slavoj Zizek นักปราชญ์ชาวเช็ก ซึ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ในการชุมนุมของ #ows ชี้ให้เห็นว่า "ระบบปกครองปราบปราม ความสามารถในการฝัน [อย่างอิสระ] ของเรา" เขาพยายามย้ำเตือนผู้ร่วมชุมนุมว่า ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ "จงจำไว้ว่า สาระขั้นพื้นฐานของพวกเราก็คือ เราได้รับอนุญาตให้คิดถึงทางเลือกอื่น กฎเหล็กที่ห้ามฝันถึงทางเลือกอื่นได้ถูกทำลายลงแล้ว"

คำสนทนาสุดท้ายทางโทรศัพท์ที่ผมได้พูดกับคุณจินตนา แก้วขาว ก็คือ เธอพร้อมรับชะตากรรมนี้อยู่แล้ว และได้เตรียมการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ สำหรับส่วนตัวและส่วนรวมไว้หมดแล้ว จินตนาและชาวบ้านกรูดจะบอกลูกหลานได้ตลอดไปว่า เขาได้กล้าฝันถึงทางเลือกอื่น

เพื่อโลกที่จะมีความเป็นธรรมแก่คนเล็กคนน้อย 99% ใช่แต่เท่านั้น เขาจะปลูกฝังความกล้าหาญนี้ให้แก่ลูกหลานของเขาสืบไป เรื่องราวของพวกเขาจะหล่อเลี้ยงความกล้าฝันอย่างอิสระของคนไทยอย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วย

ตราบใดที่คนไทยยังกล้าฝันนอกกำกับของคน 1% ได้ ประชาธิปไตยไทยก็จะอยู่รอดจากทุนนิยมตราบนั้น เพราะจะมีความฝันถึงทางเลือกอื่นสำหรับคน 99% ให้เราไขว่คว้าได้เสมอ



++

จารีตของสังคมช่วงชั้น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 51


จักรวรรดิยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ล้วนปกครองในระบอบ "ประชาธิปไตย" ทั้งสิ้น ต่างยึดอุดมคติของเสรีภาพและเสมอภาพกับพลเมืองของตน แต่ในฐานะจักรวรรดิ จะใช้หลักการนี้กับประชาชนในอาณานิคมได้อย่างไร

จักรวรรดิในช่วงนั้น จึงเป็นจักรวรรดิที่มีความแย้งกันภายในสูงมาก ในด้านหนึ่งก็ยืนยันสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในเมืองแม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องกีดกันมิให้อาณานิคมแสวงหาสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกับตน

และเพราะ "สองมาตรฐาน" เช่นนี้ จักรวรรดิจึงไม่พยายามผนวกอาณานิคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ เพราะเท่ากับการยอมรับให้ประชาชนชาวอาณานิคมกลายเป็นพลเมืองของจักรวรรดิ ซึ่งย่อมมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเหมือนกับพลเมืองในเมืองแม่

แตกต่างจากจักรวรรดิโรมันหรือจักรวรรดิโซเวียต เพราะอย่างน้อยทั้งสองจักรวรรดินี้ก็ยอมรับให้ประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองของจักรวรรดิ ประชาชนที่ไม่ใช่โรมันหรือรัสเซียมีความเสมอภาคกับชาวโรมันและรัสเซีย ถึงไม่ใช่ประชาชนทั่วไป อย่างน้อยก็ในกลุ่มชนชั้นนำของแว่นแคว้นต่างๆ

จักรวรรดิในช่วงนั้นจึงแก้ความแย้งกันดังกล่าวด้วยการหันไปเป็นพันธมิตรหรือส่งเสริม "จารีต" และ "อำนาจตามจารีต" เพราะ "จารีต" ของอาณานิคม ล้วนขึ้นอยู่กับความเป็นช่วงชั้นของสังคม ความเป็นช่วงชั้น, ความรู้จักที่สูงที่ต่ำ, การปฏิบัติหน้าที่ของตนตามช่วงชั้น, ฯลฯ ล้วนทำให้เกิด "ข้าราษฎร" ที่ดีในอาณานิคมของจักรวรรดิที่ศูนย์กลางเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมสักเรื่องนะครับ ตลอดเวลาที่อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ "บริติชราช" ออกกฎหมายล้มล้างทำลายจารีตเก่าที่ไม่เสมอภาคของสังคมอินเดียเพียงเรื่องเดียว คือห้ามทำ "สตี" (โยนแม่หม้ายเข้ากองฟอนให้ตายตามสามี) แต่ผลในทางปฏิบัติก็ไม่สู้จะมีมากนัก

ในขณะที่ในหมู่บ้านของอินเดีย การเข้าถึงทรัพยากรกลางเช่นบ่อน้ำสาธารณะ, ที่ดิน, และอาชีพบางอย่าง มิได้เปิดเสรีอย่างเสมอภาคแก่ทุกคน แต่ถูกจัดสรรตาม "จารีต" ของความสูงต่ำแห่ง "ชาติ" ในหมู่บ้านนั้นๆ

"พลเมือง" ของจักรวรรดิในอินเดีย ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับคนอังกฤษบนเกาะอังกฤษ เหตุผลที่มักใช้เพื่อกีดกันคนในอาณานิคมมิให้ได้สิทธิเสมอภาค ก็คือจักรวรรดิต้องเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละแว่นแคว้น

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ที่เรียก "จารีต" นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นจารีตที่ปฏิบัติมาจริงๆ ในสังคมเหล่านั้น เพราะจารีตเช่นนั้นอาจมีอันตรายต่อจักรวรรดิได้ เช่น จารีตหลายอย่างโดยเฉพาะทางการเมืองของครูสอนศาสนาอิสลาม ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ไม่สอดคล้องนักกับอำนาจควบคุมพลเมืองของจักรวรรดิในหมู่เกาะแห่งนั้น

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้าง "จารีต" ขึ้นใหม่ ในรูปของงานศึกษาประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม แต่ไม่ได้สร้างขึ้นจากอากาศธาตุนะครับ มีหลักฐานข้อมูลสนับสนุนเพียบ เพียงแต่การตีความนี่แหละที่จะทำให้หลักฐานข้อมูลเหล่านั้นบอกอะไรให้ตรงกับเป้าประสงค์ของผู้ปกครองจักรวรรดิ

และนี่คือเหตุผลที่ข้าราชการอาณานิคมในยุคนั้น กลายเป็นนักวิชาการที่ค้นพบความยิ่งใหญ่ของเมืองพระนคร, อาณาจักรมะตะรัม, อาณาจักรศรีวิชัย, อาณาจักรพุกาม, อาณาจักรเมารยะ, อาณาจักรอนุราธปุระ หรือแม้แต่พุทธศาสนา และปรัชญาอุปนิษัท ฯลฯ



ผมคิดว่า ความเข้าใจดังนี้ ช่วยอธิบายความเป็นมาและความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้พอสมควรทีเดียว

ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิใดๆ ก็จริง แต่มิได้หมายความว่าประเทศไทยจะมิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยม น่าประหลาดที่ทางรอดอย่างหนึ่งของสยามคือการลอกเลียนระบบจักรวรรดิมาใช้ในประเทศของตนเอง

นั่นคือการสถาปนาอำนาจปกครองโดยตรงของตนขึ้นในดินแดนที่เคยมีอิสระในการปกครองตนเองทั้งหมด (เท่าที่จะแย่งกับฝรั่งมาได้)

เช่นเดียวกับจักรวรรดิของตะวันตก แม้สยามมิได้เป็นประชาธิปไตย แต่สยามก็มีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายหรือให้ความชอบธรรมแก่ความไม่เท่าเทียม ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่ออำนาจในทุกทาง - การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม - ล้วนกระจุกอยู่ในมือของชนชั้นนำจำนวนน้อยในกรุงเทพฯ เท่านั้น

และเช่นเดียวกับจักรวรรดิชาวยุโรป ชนชั้นนำไทยเลือกที่จะหันไปหา "จารีต" ทั้งฟื้นฟูและสร้างขึ้นใหม่ และผูกสัมพันธ์กับอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นอำนาจที่ยอมรับหรือได้ประโยชน์จาก "จารีต"

โดยเนื้อแท้แล้ว ความสัมพันธ์ทางสังคมของชนชั้นนำไทยนับแต่โบราณมาคือความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น "จารีต" ที่ถูกรื้อฟื้นหรือสร้างขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องที่เน้นย้ำความเป็นช่วงชั้นของสังคม ด้วยวิธีเปิดเผยตรงไปตรงมาบ้าง ด้วยวิธีแยบคายที่อาจซึมซับไปได้โดยไม่รู้สึกตัวบ้าง (เช่น ประวัติศาสตร์หรือความเปลี่ยนแปลงของไทยคือความเปลี่ยนแปลงของรัชสมัย)

อำนาจใหม่ที่ชนชั้นนำเข้าไปผูกสัมพันธ์ด้วย ก็คืออำนาจที่ยอมรับและได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น



ไทยคดีศึกษาซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วรรณนา, วรรณคดีศึกษา, ราชประเพณี, มานุษยวิทยาภูมิศาสตร์ ฯลฯ ล้วนสร้างขึ้นเพื่อให้มองเห็นและยอมรับว่า ความเป็นช่วงชั้นนั่นแหละคือพลังสำคัญสุดของความมั่นคงและความก้าวหน้าของรัฐ เมื่อใดที่ผู้คนละทิ้งหน้าที่ตนตามสถานะแห่งช่วงชั้น เมื่อนั้นสังคมก็ล่มสลายลง

ความรู้ที่สร้างกันขึ้นในช่วงนั้น ก็ยังเป็นรากฐานสำคัญของไทยคดีศึกษามาถึงปัจจุบัน (เป็นรากฐานในแง่ข้อมูลคงไม่เป็นไรนัก แต่เป็นรากฐานในแง่หลักคิดวิเคราะห์ด้วยนี่สิครับ ที่อาจทำให้ไทยคดีศึกษาชะงักงันอยู่เท่าเดิม)

การสร้างความรู้ขึ้นใหม่เพื่อเน้นเรื่องช่วงชั้นนั้นเข้าใจได้ง่าย แต่ที่ผมรู้สึกว่าจะซับซ้อนกว่านั้น คือการสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ให้ยอมรับความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นกับชนชั้นนำสยาม กลุ่มสำคัญๆ เหล่านี้ ได้แก่

ชนชั้นนำในท้องถิ่น แม้ว่าจักรวรรดิสยามรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้ไม่ยาก เพราะอำนาจโดยเปรียบเทียบที่สูงกว่ากันมาก แต่ที่จริงแล้วปรากฏอาการกระด้างกระเดื่องของชนชั้นนำในท้องถิ่นอยู่ไม่น้อย แต่ในที่สุดแล้ว ก็สามารถผนวกชนชั้นนำท้องถิ่นเหล่านี้เข้ามาในจักรวรรดิได้สิ้นเชิง ในขณะที่มีคนในตระกูล "ณ อยุธยา" ก็มีพื้นที่เหลือในอำนาจนำให้แก่คนในตระกูล "ณ" อื่นๆ อีกมาก เพียงแต่ต้องยอมรับสถานะที่เป็นรองในระบบราชการเท่านั้น

อันที่จริง อำนาจของชนชั้นนำท้องถิ่น ก็มาจากความเป็นช่วงชั้นของสังคมท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเกลี้ยกล่อมให้ชนชั้นนำท้องถิ่นยอมรับระบบของจักรวรรดิ ที่ตั้งอยู่บนโครงสร้างของช่วงชั้นเช่นกัน



กลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเกิดขึ้นใหม่จากระบบราชการแบบใหม่ และการค้าที่เปิดเสรีแก่เอกชน ก็เป็นอำนาจใหม่ที่ถูกจักรวรรดิสยามผนวกเข้ามาในความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นเช่นกัน ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา อยู่ในระบบราชการ ซึ่งโดยตัวของมันเองก็เป็นระบบที่เน้นช่วงชั้นมาแต่ต้นแล้ว และยิ่งเน้นมากขึ้นในเวลาต่อมา ระบบราชการไทยปฏิเสธการจัดสรรอำนาจตามความสามารถ (meritocracy) ตลอดมา

นอกจากนี้ การศึกษาที่ได้รับมา ส่วนหนึ่งก็มาจากฐานโภคทรัพย์ของครอบครัวด้วย ฉะนั้น อย่างไรเสียคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากช่วงชั้นล่างๆ นัก

ในส่วนพ่อค้าหรือฝ่ายทุน ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นจีน และการไต่เต้าทางสังคมของเขามีอยู่ทางเดียว คือกลืนเข้าไปในช่วงชั้นที่จักรวรรดิสยามวางไว้ให้ ยิ่งกว่านี้ พ่อค้าจีนหรือไทย-จีนยังร่วมมือทางธุรกิจกับชนชั้นนำของจักรวรรดิอยู่ไม่น้อย อำนาจรัฐภายในมือของชนชั้นนำจักรวรรดิมีความสำคัญในการประกอบการ นับตั้งแต่ช่วยปราบปรามการกระด้างกระเดื่องของกรรมกร (กุลี) ไปจนถึงเปิดให้แรงงานข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามาได้ (โดยถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม)

อำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตกเอง ก็เป็นอำนาจที่เชื่อมโยงกับสังคมช่วงชั้นทั้งในอาณานิคมและในจักรวรรดิสยาม เพราะสังคมช่วงชั้นช่วยรักษา "ความสงบและระเบียบ" ซึ่งจำเป็นแก่การขูดรีดทรัพยากรในอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม

แม้แต่ที่ปรึกษาชาวตะวันตกที่สยามจ้างมารับราชการ ก็มีความเห็นไม่ต่างจากข้าราชการอาณานิคม (หลายคนหมดสัญญาแล้วก็ไปรับราชการในอาณานิคม หรือลาออกจากราชการอาณานิคมมารับราชการกับสยาม) คนเหล่านี้มีส่วนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะสร้างความรู้เกี่ยวกับไทยคดีศึกษา ที่ตั้งอยู่บนฐานของการวิเคราะห์ด้วยสังคมช่วงชั้น และส่งมรดกแก่นักวิชาการฝรั่งรุ่นหลังสืบมาอีกนาน



กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือกองทัพ เป็นสถาบันที่ชนชั้นนำของจักรวรรดิสร้างขึ้นเอง และได้ปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับช่วงชั้นทางสังคมไว้หนาแน่นในระบบการศึกษา ที่สำคัญอีกอย่างหนี่งก็คือ กองทัพ (ประจำการ) เป็นองค์กรของสมัยใหม่ที่รับมรดกสืบทอดมาจากยุคโบราณค่อนข้างมาก จะหาองค์กรสมัยใหม่ใดที่เน้นความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นยิ่งไปกว่ากองทัพได้ยาก ไม่แต่เพียงการทำงานตามหน้าที่เท่านั้น แต่รวมไปถึงการดำเนินชีวิตทั้งหมดของทหาร นับตั้งแต่แต่งกายตามช่วงชั้น, การทำความเคารพ, ภาษาและศัพท์ที่พึงใช้ระหว่างช่วงชั้น, สโมสรสำหรับ "วรรณะ" ที่ต่างกัน, ฯลฯ

กองทัพจึงเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของชนชั้นนำจักรวรรดิสยาม ถึงจะจับอาวุธขึ้นมาบังคับให้ชนชั้นนำลดอำนาจของตนลง แต่ในเวลาไม่นานก็กลับกลายเป็นเครื่องมือทางอำนาจอันมีประสิทธิภาพของชนชั้นนำไป

เพราะในทางอุดมการณ์แล้ว มีความสอดคล้องกันอย่างยิ่ง

ความเป็นมาของ "จารีต" ในจักรวรรดิสยามดังที่กล่าวนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นอยู่ และความเป็นไปในอนาคตมากขึ้นหรือไม่?



. . . . . . . . . . . . . .
บทความเกี่ยวกับอุทกภัยของ อ.นิธิ

ฯลฯ, ความอ่อนแอของสังคม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/blog-post_31.html



.