http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-31

น้ำเข้า กทม.ใครจะแพ้ฯ โดย มุกดา, มายาคติของน้ำท่วม, 5 ผู้ลุกฮือฯรางวัลสิทธิมนุษยชน

.

ถ้าน้ำเข้า กทม. ใครจะแพ้ ที่แน่ๆ มี...การเมืองใต้น้ำ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 20


แม้น้ำจะท่วมมิดหัวก็อย่าฝันว่าคู่แข่งทางการเมืองจะเลิกต่อสู้กัน

ผู้เขียนได้รับฟังการวิเคราะห์ว่า น้ำจะเข้า กทม. ปลายเดือนตุลาคมแน่นอน แต่เกมการเมืองก็ไม่หยุดเดิน ทุกฝ่ายรู้ดีว่าประชาชนไม่ชอบการฉวยโอกาสโจมตี จึงต้องทำแบบไม่เปิดเผย

ไม่ว่าน้ำจะท่วมแค่ตาตุ่มหรือท่วมปาก กลุ่มอำนาจและตัวแทนก็ยังคงชิงไหวชิงพริบต่อสู้กันต่อไป

เพียงแต่การต่อสู้ใต้น้ำมองเห็นไม่ชัดเจน เสียงก็ไม่ดังเท่าไร


มวลน้ำขนาดใหญ่ ใหญ่แค่ไหน?
จะไหลเข้า กทม. หรือไม่?

ในความเป็นจริง ไม่มีใครป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ได้ในระยะสั้น มวลน้ำขนาดหมื่นล้าน ลบ.ม.ผ่านเข้าไปที่ไหน น้ำก็จะต้องท่วมใหญ่หลายเมืองหลายวัน

ทุกคนสงสัยว่าทำไมน้ำถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนมากมายขนาดนี้ แต่จนถึงวันนี้ ผู้รับผิดชอบเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังใช้ยุทธวิธีไม่โต้ตอบ ไม่อธิบาย คงคิดว่าเดี๋ยวคนก็ลืมไปเอง

แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้คงไม่มีใครลืม มีบางคนคิดว่ารัฐบาลถูกโจมตีโดยใช้น้ำเป็นอาวุธ

แต่บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องความผิดพลาดเนื่องจากความต้องการเก็บกักน้ำไว้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้การเกษตรหน้าแล้ง ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความจุน้ำ 13,000 ล้าน ลบ.ม. และ 9,000 พันกว่าล้าน ลบ.ม. มีน้ำเต็มจนล้นในหน้าฝนก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาแบบเต็มกำลัง จนเกิดน้ำท่วมใหญ่

ยุทธศาสตร์สำคัญคือ เมื่อพบกับมวลน้ำขนาดใหญ่ ต้องไม่ตั้งแนวต้านตรงๆ แต่ต้องคิดเรื่อง ทำอย่างไรน้ำจึงจะผ่านไปเร็วที่สุด ต้องคิดเหมือนกับตอนที่เราเจอพายุ ยิ่งพายุผ่านไปเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี

ธรรมชาติของน้ำจะต้องไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ น้ำท่วมครั้งนี้ไหลจากเหนือลงใต้ ปริมาณที่ปล่อยมาประมาณวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณมหาศาลเทียบกับตึกสูงประมาณ 7 ชั้น (20 เมตร) เรียงเป็นแถวกว้างเท่ากับถนน 12 เลน (50 เมตร) และมีความยาว 100 กิโลเมตร

ขบวนน้ำที่สูงใหญ่และยาวเหยียดวิ่งออกจากเขื่อนผ่านโตรกธาร ผ่านลำน้ำ ลงสู่ที่ราบ กระจายตัวออก สมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้ว

จากฝนที่ตกหนักใต้เขื่อน สามารถทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่กว้างออกไปริมสองฝั่งแม่น้ำ

แม้ไม่สูงเท่าตึกเจ็ดชั้น แต่ที่นครสวรรค์ก็สามารถท่วมบ้านสองชั้นได้ และไหลลงไปท่วมจังหวัดที่อยู่ด้านล่างลงไปจนถึงอยุธยา ก็ยังท่วมบ้านจนมิดหลังคา และก็ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำสุดคือปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ก่อนจะลงอ่าวไทย

ขบวนน้ำขนาดใหญ่พุ่งออกจากเขื่อนต้นทางติดต่อกันไม่มีหยุดแม้แต่วินาทีเดียวเป็นเวลาหลายวันแล้ว วันนี้แม้ลดลงเหลือ 60 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันแต่ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี

เมื่อสมทบกับน้ำท่วมที่ตกค้างอยู่ มีผู้คาดว่า ยังมีน้ำที่จะต้องไหลลงสู่อ่าวไทยมีปริมาณมากถึง 12,000-15,000 ล้าน ลบ.ม. บอกไม่ได้ว่ามากขนาดไหน เพราะกว้างไกลสุดสายตา

และถ้ามีปริมาณมากขนาดนั้นจริงๆ น้ำจะท่วมในที่ราบลุ่มตอนล่างทั้งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ไปอีกนาน

ถ้าเราสามารถระบายน้ำลงทะเลได้วันละ 400 ล้าน ลบ.ม. ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 30-45 วันเป็นอย่างน้อย

การเพิ่มช่องทางระบายน้ำให้ผ่านประตูน้ำต่างๆ และทุกคูคลองให้มากที่สุด เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยทำให้น้ำลดเร็วขึ้น ประชาชนมีสิทธิ์ป้องกันบ้านตัวเอง แต่ไม่ควรขัดขวางการระบายน้ำ เพราะจะยิ่งทำให้น้ำท่วมนานเข้าไปอีก ทุกคนควรจะตรวจสอบว่าอะไรเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

คนเสื้อแดงซึ่งอยู่ในเขตน้ำท่วมควรเป็นกำลังสำคัญ เพราะเป็นการช่วยทั้งตัวเองและประเทศชาติ



ถ้าน้ำต้องไหลผ่าน กทม. ตามแผน
ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนที่อื่น ไม่มีใครแพ้

บทเรียนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่มีใครต้านมวลน้ำที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ นิคมอุตสาหกรรมที่มีทั้งเครื่องมือและวิศวกรได้สร้างคันดินและเขื่อนขึ้นมาป้องกัน หลายเมืองก็สร้างกำแพงขึ้นมาล้อมเมือง แต่ก็ไม่มีใครต้านอยู่ ทุกคนดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกันหมู่บ้านและบ้านของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถป้องกันน้ำได้ เพราะน้ำมีวิธีเล็ดลอดเข้าไปในทุกๆ แห่งซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่าเสมอ เข้าตรงๆ ไม่ได้ก็มุดดินมุดท่อเข้าไป

ถามว่า กทม. เก่งแค่ไหนถึงจะต้านน้ำไว้ได้ แม้จะเตรียมการณ์สู้กับน้ำท่วมมานับ 20 ปีและมีอุปกรณ์และกำลังคนพร้อม แต่ผู้เขียนคาดว่าน้ำต้องเข้า กทม. อย่างแน่นอน เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำจะต้องผ่านคูคลองเพื่อออกทะเล

แม้จะเสี่ยงต่อน้ำท่วมบ้าง ถ้ามีการจัดการที่ดี น้ำก็จะไม่ท่วมสูงมากนัก แต่จะช่วยให้น้ำออกทะเลเร็วขึ้น

แต่การที่น้ำจะผ่านกรุงเทพฯ กลายเป็นปัญหาการเมืองขึ้นมา เพราะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีคนอยู่อาศัย 6 ล้าน คนมีอำนาจ คนมีเงิน อาศัยอยู่ที่นี่ก็เลยเกิดความคิดว่าจะต้องปกป้องกรุงเทพฯ ไว้สุดชีวิต ถ้าน้ำเข้ามาได้ก็เหมือนกรุงแตก

แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าปล่อยให้น้ำเข้ามาบ้างก็ได้ แต่อย่าให้ถึงขั้นอพยพ เพราะคนหลายล้านไม่มีที่ให้ไป ถ้าน้ำผ่านคลองต่างๆ ใน กทม. แล้วช่วยให้ไหลลงทะเลเร็วขึ้นควรถือว่าได้ช่วยแบ่งทุกข์กับเพื่อนร่วมชาติแล้ว แบบนี้ถือว่าไม่แพ้

แต่ที่จะทำให้แพ้ก็คือน้ำขบวนใหญ่ที่วิ่งผ่ากลาง กทม. อยู่แล้ว คือแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าคันกั้นน้ำทั้งฝั่งธนฯ และกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ตลอดทั้งแนว ในระยะเวลา 2 เดือนน้ำจะผ่านเข้า กทม. จากทางเหนือ ตามแผนระบายน้ำซึ่งชาวบ้านพอรับกันได้ แต่ถ้าแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาแตก พื้นที่ริมฝั่งจะคล้ายนครสวรรค์ตอนคันดินพัง

แต่ประสบการณ์ของสำนักระบายน้ำ กทม. มีมายาวนาน วันนี้จะได้พิสูจน์ฝีมือ และจะได้เห็นประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์



การเมืองยังต้องเดินต่อ แม้อยู่ใต้น้ำ

ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรือดำน้ำ แต่ก็เปิดยุทธการการเมืองใต้น้ำไปพร้อมๆ กับแก้ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคกลาง จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส. ซึ่งต้องดูแลจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่ต่างจังหวัด 39 คนและกรุงเทพฯ 10 คน รวม 49 คน

ประชาธิปัตย์มี ส.ส. ที่ต้องดูแลต่างจังหวัด 6 คน ในกรุงเทพฯ 17 คน รวม 23 คน

พรรคชาติไทยพัฒนามี ส.ส. ที่ต้องดูแลจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่ 9 คน

ภาระหน้าที่เหล่านี้จะตกอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่นและ ส.ส.เขต ซึ่งความรู้สึกของประชาชนเมื่อได้รับความทุกข์ยากก็จะนึกถึงตัวแทนของพวกเขา ตั้งแต่ อบต. ส.ส. รัฐบาล จนถึงนายกรัฐมนตรี

เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ทางมนุษยธรรมและทางการเมือง แม้วันนี้ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ แต่ช่วยเหลือได้ และถ้าหลังน้ำลด สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ดี ประชาชนก็ยังยอมรับ

อุทกภัยครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผลทางการเมืองตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงการปฏิบัติ

คำถามทางการเมืองข้อแรก... น้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้คนอยู่ในเขตภัยพิบัติเปลี่ยนใจในการเลือก ส.ส.หรือไม่?

คำตอบที่พอประเมินได้ขณะนี้ คือ กองเชียร์ หรือคนทั่วไปไม่เคยกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยทำให้น้ำท่วม ซ้ำยังตั้งข้อสงสัยว่ามีคนแกล้งรัฐบาลโดยปล่อยน้ำมาท่วม (สงสัยจะอ่านสามก๊กมากไปหน่อย)

แต่เรื่องแบบนี้ คงไม่มีใครตั้งใจปล่อยน้ำมาท่วมชาวบ้านเป็นล้านๆ คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้าใจถึงสาเหตุและคงเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม พวกเขาจะสนใจการให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลด ถ้าทำได้ดีก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ถ้าทำได้ไม่ดีก็จะมีผลกระทบถึงคะแนนเสียง

เมื่อถึงฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2555 อาจต้องลุ้นระทึกอีกครั้งว่าฝนจะตกเหนือเขื่อนใต้เขื่อนมากน้อยแค่ไหน และเขื่อนจะปล่อยน้ำออกมามากเท่าใด

ถ้าเจอแบบวันละร้อยล้านลูกบาศก์เมตรก็คงจะจมบาดาลอีกเหมือนเดิม เพราะโครงการป้องกันต่างๆ จะต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะสำเร็จเรียบร้อย รัฐบาลคงต้องมีโครงการพิเศษขึ้นมารองรับปัญหา หลังจากอุทกภัย ปี 2554 สามารถรักษาความนิยมไว้ได้เท่าเดิม ก็ต้องถือว่าเป็นยอดฝีมือแล้ว

คำถามทางการเมืองข้อที่ 2 การที่ผู้ว่าฯ กทม. สังกัด ปชป. สกัดน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ แห้งหรือท่วมน้อยมาก จะได้คะแนนนิยม ของ ปชป. เพิ่มขึ้นหรือไม่?

คำตอบพอประเมินได้ดังนี้

ถ้ากรุงเทพฯ น้ำแห้ง ผู้ว่าฯ คงได้คะแนนเพิ่มบ้าง วันนี้คะแนนเสียงใน กทม. แม้ ปชป. จะชนะเพื่อไทย แต่เมื่อนับคะแนนออกมาแล้วก็ต่างกันไม่มากนักคือ 2.3 ล้านกับ 2.1 ล้าน คาดว่าคนทั้งสองกลุ่มคงไม่เปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น

แต่ถ้าจังหวัดรอบ กทม. และจังหวัดอื่นถูกน้ำท่วมพินาศย่อยยับ ผู้คนต้องแช่อยู่ในน้ำเป็นเดือนๆ คะแนนที่ผู้ว่าฯ ได้ไปจะคุ้มกับการเสียคะแนนของ ปชป. ในทุกเขตที่น้ำท่วมหรือไม่เพราะในแต่ละเขต ปชป. ก็ได้รับคะแนนมากพอสมควร ยิ่งลอยคออยู่ในน้ำนานเท่าไหร่ นักการเมืองทุกพรรคก็จะได้รับแรงกดดันมากขึ้น แต่ผู้ว่าฯ กับนายกฯ จะหนักกว่าคนอื่น

ประเมินว่าเสียงของ ปชป. ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกรณีอุทกภัย แต่ถ้าออกลุยโจมตีคู่แข่งแบบไม่ดูตาม้าตาเรืออาจมีผลลบได้

คำถาม ข้อสาม ความนิยมในตัวผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นอย่างไร?

ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะครบวาระสี่ปีในเดือนมกราคม 2556 หมายความว่าหลังน้ำลดตอนปีใหม่ 2555 ผู้ที่จะแข่งขัน จะมีเวลาเตรียมตัวกันอีก 1 ปี แต่การต่อสู้ทางการเมืองไม่รอเวลา ไม่เลือกสถานที่ แต้มการเมืองต้องรักษาและเตรียมล่วงหน้า

ตัวผู้ว่าฯ กทม. เองไม่ได้มีพื้นฐานคะแนนเสียงอยู่กับพรรค ปชป. ทั้งหมด แต่มีฐานความนิยมเฉพาะส่วนตัวของผู้ว่าฯ เองซึ่งจะมาจากผลงานหรือคุณสมบัติส่วนตัว ความคิด คำพูด ของผู้ว่าฯ จึงเป็นเรื่องที่จะกระทบต่อตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถ้าจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง คงต้องใจกว้าง และกล้าอาสามากกว่านี้

ปัจจุบัน กทม. เป็นหน่วยงานเดียวที่มีศักยภาพป้องกันน้ำท่วมสูงสุด ใช้เงินภาษีประชาชนลงทุนไปมากที่สุดหลายหมื่นล้าน มีสำนักระบายน้ำซึ่งมีบุคลากรจำนวนมาก สร้างทั้งเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มากที่สุด มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับน้ำท่วมมายาวนานตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง รวมเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี

ส่วนการประปานครหลวงมีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำสะอาดส่งไปตามท่อเพื่อให้คน กทม. ได้มีน้ำสะอาดบริโภค ทำมาหลายสิบปีเช่นกัน

การประปาผลิตน้ำให้คนใช้ทุกวัน แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการป้องกันน้ำท่วมมากนัก ผู้ว่าฯ กทม. สามารถแสดงความเก่งในการป้องกันน้ำท่วมได้เต็มที่ แต่จะให้การประปามาเก่งเรื่องนี้คงไม่ได้

สำหรับปัญหาในเขตต่อเนื่องถ้าจะบอกว่าอยู่นอกเขตรับผิดชอบแล้วไม่ช่วย ก็รู้อยู่แล้วว่า ผลสุดท้ายถ้าด่านต่างๆ ที่อยู่ข้างนอกแตก จะเกิดอะไรขึ้นกับ กทม. มีจิตอาสามากขึ้นคนก็รัก และในทางยุทธศาสตร์ศึกครั้งนี้ คือสงครามเก้าทัพ คงต้องแบ่งกำลังกันออกไปรับนอกกรุง



วันนี้น้ำไหลจนถึง กทม. แล้วและต้องการออกไปสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ถ้าน้ำจะท่วมกทม.บ้าง ก็ไม่มีใครกล่าวโทษผู้ว่าฯ กทม. เหมือนกับที่ทุกจังหวัดที่น้ำไหลผ่านและท่วมจนราบเรียบ

ผู้ว่าฯ ชัยนาทไม่เคยต่อว่าผู้ว่าฯ นครสวรรค์ ผู้ว่าฯ อยุธยาก็ไม่เคยบ่นว่าทำไมผู้ว่าฯ อ่างทองไม่กักน้ำไว้ ผู้ว่าฯ ปทุมฯ ก็รู้ว่าเมื่ออยุธยาแตก น้ำก็ต้องเข้าท่วมปทุมธานีแน่ ถ้าจะต้องกล่าวโทษย้อนกันไปเรื่อยๆ ก็จะต้องไปตั้งคำถามว่าทำไมเขื่อนต้องปล่อยน้ำมามากขนาดนี้ เขื่อนก็ต้องถามฝนว่าทำไมตกมาเยอะจัง สุดท้ายฝนก็บอกว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อน ไอน้ำในอากาศมีมากขึ้น ภูมิอากาศแปรปรวน ฝนก็ต้องตกหนักเป็นธรรมดา

สำหรับรัฐบาล ทุกเรื่องต้องรับผิดชอบกันเต็มที่ ก็ดีแล้วที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เคยปฏิเสธแม้แต่เรื่องเดียว หลังน้ำลดถ้าติดลบไม่มากถือว่าเป็นผลบุญของความพยายามทุ่มเททำงานอย่างสุดจิตสุดใจ แม้ผลงานจะไม่ดีนัก พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เวลานี้อาจปะทะกันใต้น้ำเพราะประชาชนไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในช่วงเวลานี้ การต่อสู้ใต้น้ำจึงดำเนินต่อไป

แต่พอน้ำลด การปะทะจะดุเดือดขึ้น เพื่อไทยจะต้องเสียเปรียบเพราะต้องบริหารการฟื้นฟูเยียวยาและบูรณะในทุกๆ เรื่องซึ่งจะต้องมีจุดอ่อนให้ ปชป. โจมตี คาดว่าการต่อสู้ทางการเมืองจะดุเดือดไปขึ้นหลังปีใหม่

แต่ที่ต้องทำด่วนวันนี้คือ...

ป้องกันทางด่วนลอยฟ้า บางนา-ชลบุรี ที่เหลือเพียงเส้นเดียวสำหรับเข้า-ออก กทม. เมื่อน้ำท่วม ป้องกันไม่ให้ผู้มีอภิสิทธิ์ใช้เป็นที่จอดรถ (เห็นคนรักรถหลายคนขับไปจอดที่ชลบุรี)

แก้ปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลในเขตน้ำท่วมโดยอาศัยความร่วมมือของประชาชน ระยะเวลา 1 เดือนถ้าไม่สร้างระบบรองรับจะก่อปัญหาใหญ่ตามมา ต้องรีบออกคำแนะนำโดยด่วน

ปรับโครงการต่างๆ เช่น ช่วยเหลือเรื่องซื้อรถ ซื้อบ้าน เป็นซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ฯลฯ

ถ้าน้ำเข้า กทม. แบบควบคุมได้ถือว่าไม่มีใครแพ้ แต่ถ้าคันกั้นน้ำพัง แล้วท่วมถึงหน้าอก ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ และรับชะตากรรมร่วมกัน



++

มายาคติของน้ำท่วม สิ่งที่อยากให้ลองกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง
ในเวบไซต์ www.siamintelligence.com/myths-flood/


ปัญหาต่างๆ ที่มาพร้อมกับม่านหมอกน้ำ อาจบังตาสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง ลองใช้เวลาสั้นเท่าที่ยังพอมีตั้งสตินิดหนึ่งและมองปัญหา หนทางแก้ไข และทางเลือกที่เกิดขึ้น มองข้ามวาทกรรมต่างๆทั้งหลาย บางทีพอเราฉุกคิด เราอาจพบว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญนั้นเป็นปัญหาแท้จริงส่วนหนึ่ง และปัญหาที่มากับมายาคติส่วนหนึ่ง


1. น้ำท่วมเป็นความผิดของรัฐบาลทั้งหมด

ต้องทำความเข้าใจว่าการบริหารที่ไม่สามารถจัดการกับน้ำอาจเป็นความผิดส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่ปริมาณน้ำที่มากกว่าเดิมถึง 30-40% จากน้ำท่วมในปีก่อนนั้น มันเกินจะรับมือเหมือนกัน ซึ่งอะไรที่มันเกินรับมือจากปรกติเช่นน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ภัยพิบัติ” และเมื่อเกิดภัยพิบัติย่อมแปลว่ากลไกของรัฐบาลและราชการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเกิด “ความไม่สะดวก” (inconvenience) ในการปฏิบัติงาน จากปัจจัยต่างๆ เช่น การร้องขอความช่วยเหลือจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดการได้พร้อมกันหมด หรือ การเกิดปัญหาในหลายๆพื้นที่พร้อมกัน ถ้าเข้าไปแก้สถานการณ์ที่หนึ่ง อีกที่ๆ ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ก็มักจะได้รับเสียงเรียกร้องที่ไม่พอใจ

ดังนั้นกลไกชุมชน เอกชน และภาคประชาสังคมต้องหนุนเสริม สิ่งสำคัญก็คือการสืบสวนและหาบทเรียนหลังจากที่สถานการณ์ผ่านไปแล้วและปรับแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดซ้ำๆ ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องเปิดโอกาสให้กับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานมากขึ้น เช่น สมมุติจะตั้งศูนย์อพยพหลายพันแห่ง แต่มีข้อจำกัดที่จะต้องเลือกสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งชัยภูมิในการตั้งนั้นไม่เหมาะ (แถวบ้านผมเลือกวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์พักพิง!!) อาจจะขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่เอกชน เป็นศูนย์อพยพ และดึงภาคประชาสังคมเข้าไปบริหารจัดการ เป็นต้น


2. สถานการณ์สร้างวีรบุรุษไม่มีจริง

จากข้อที่ผ่านมาทำให้เราเห็นขนาดของปัญหาที่แท้จริงว่ามันใหญ่โตเกินกลไกรัฐ ดังนั้นคำพูดประเภท “ถ้าเรื่องกรุงเทพฯให้ฟังผมคนเดียว” หรือ “ศปภ. มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่” นั้นสะท้อนว่าทัศนคติในการทำงานของฝ่ายรัฐยังคงต้องการ “รบ” กับสิ่งที่มีขนาดมหึมาอยู่ เพื่อหวังว่าการปราบศัตรูนั้นจะสร้างความเป็นวีรบุรุษให้กับตน แต่แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้มันใหญ่เกินกว่าที่จะทำได้โดยลำพัง

เดิมพันมันสูงมากกว่าตำแหน่งและอนาคตทางการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ เพราะมีเรื่องของประชาชนเป็นเดิมพัน ดังนั้นอย่าให้ภาพความร่วมมือทุกอย่างจบเพียงแค่วันที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ดอนเมือง แต่เรากลับพบว่าสิ่งที่เป็นกลไกให้แต่ละพื้นที่ผ่านวิกฤตไปได้ กลับเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนต่างๆ ที่บางครั้งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง (ในหลายกรณีผู้ใหญ่บ้านทิ้งหมู่บ้านไปแล้ว) แต่คนเหล่านี้เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆในการช่วยเหลือ


3. การมีชีวิตในช่วงภัยพิบัติคือการ “อยู่รอด” ไม่ใช่ “อยู่สบาย”

จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้ประสบภัยหลายๆท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องของการยึดติดกับรูปแบบชีวิตเดิมๆที่เคยชิน เช่น เวลาจะขับถ่ายต้องขอเป็นส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ แต่เวลาภัยพิบัติมามันไม่สามารถทำแบบนั้นได้แต่ละบ้านก็เรียกขอสุขาลอยน้ำกันทุกบ้าน ซึ่งถ้าหากคิดดูว่ามีผู้ประสบภัย 6 ล้านคนเท่ากับเราต้องผลิตสุขาลอยน้ำถึง 6 ล้านถัง แล้วเมื่อเวลาน้ำลดสิ่งเหล่านี้จะนำไปไว้ไหน? จากการพูดคุยสิ่งที่น่าคิดก็คือชาวบ้านที่ได้รับน้ำท่วมบ่อยๆจะมีประสบการณ์มากกว่าในเขตเทศบาลและเขตเมือง เขาจะปรับตัวได้ การถ่ายลงน้ำและดูแลคุณภาพน้ำไปด้วยก็สามารถดูแลจัดการได้ดีกว่าเราเพียงแต่จะหาความต้องการที่แท้จริงว่าเขาต้องการส้วม หรือ แค่ระบบขับถ่าย เพื่อจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด บางทีจากสุขาลอยน้ำอาจเป็นแค่เก้าอี้และถุงดำที่ประดิษฐ์เป็นส้วม พร้อมน้ำยา EM เพื่อปรับสภาพน้ำแทน จดจำว่าภัยพิบัตินั้นคือสภาวะไม่ปรกติ คุณไม่สามารถนอนกระดิกเท้ากินป๊อปคอร์นและดูละครหลังข่าวได้


4. น้ำมาค่อยอพยพดีกว่าไหม?

เรื่องนี้สำคัญมากและขอตอบว่าไม่จริง!! ถ้าหากว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งที่ควรทำก็คืออพยพออกมาแต่เนิ่นๆจะสามารถทำได้ง่ายกว่า หากรอถึงการประกาศอพยพรับรองว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายมาก ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่บ้านอยู่หลังคันกั้นน้ำหลายๆคนที่ไม่ยอมอพยพ ก็เพราะคิดว่าสามารถรับมือได้ไม่มีปัญหาและไม่ย้ายออก (คนที่คุยด้วยวันก่อนหน้านั้นยังดู ผีอีเม้ยอยู่เลย ตอนนี้หนีไปอยู่ชลบุรีแล้ว) ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคันกั้นน้ำแตก ทีนี้เรื่องร้องเรียนถูกส่งมายังหน่วยช่วยชีวิตและอพยพของทีมมูลนิธิกระจกเงาจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่เอาคนออกมายากเพราะน้ำสูง ทางที่ดีล็อกบ้าน สับสะพานไฟ และออกจากบ้านแต่เนิ่นๆจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

สาเหตุยอดนิยมของคนที่ไม่อพยพก็คือ ไม่มีญาติที่ไหน หรือมีภาระ เช่น ห่วงสัตว์เลี้ยงและทรัพย์สิน อยากให้ลองคิดว่าความปลอดภัยของชีวิตต้องมาก่อน และรัฐก็ควรจะทำให้รู้สึกว่าศูนย์อพยพนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ และผู้อพยพก็ต้องเข้าใจว่ามันไม่สะดวกสบายเหมือนที่บ้าน แต่นี่คือภาวะจำเป็น

5. ใครๆ ก็อยากทำความดี งั้นทุกคนมาทำงานอาสากัน

แน่นอน! การลงมือทำย่อมเป็นสิ่งที่ดีและจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆตามมา แต่การทำแบบต่างคนต่างทำนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่ง จากวงประชุมของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่าทุกคนอยากทำความดี แต่ทุกคนก็เต้นไปตามกระแสที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากสื่อนำเสนอความเดือดร้อนในอยุธยา ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลไปอยุธยาทั้งกำลังเงิน กำลังคน และกำลังทรัพย์ พอสื่อบอกว่าปทุมธานีเดือดร้อนทุกคนก็แห่ไปปทุมธานี และทิ้งชาวอยุธยาไว้ สิ่งสำคัญก็คือเราจะรักษาสมดุลได้อย่างไรให้ความช่วยเหลือไม่ไหลไปตามสายน้ำ ดังนั้นควรจะมีการวางแผนประสานงานกันและกัน ไม่ใช่ความช่วยเหลือไปกระจุกตัวเป็นที่เดียว ส่วนงานอาสาสมัครนั้นแท้จริงมีความหลากหลายลองค้นหาสิ่งที่จะเอาศักยภาพมาใช้ให้ได้มากที่สุด เช่น เด็กอาชีวะ ตอนเฟสฟื้นฟูต้องอาศัยทักษะในงานช่างเป็นอย่างมาก

มันน่าจะดีกว่าการขับรถฝืนไปกับน้ำร่วม 400 กิโลเมตรเพื่อบริจาคน้ำสองแพ็กและถ่ายรูปลง Facebook เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง แต่รถไปจมน้ำแล้วเสียหรือลำบากหน่วยงานที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้อาจจะส่งมอบของให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเข้าไปส่งมอบ เพราะเวลาที่เราจะช่วยเหลือกัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องการ"การที่คนอื่นจะต้องมายอมรับและสำนึกในสิ่งที่เราทำ" แต่เป็นการกระทำโดยมนุษยธรรมและไม่เลือกกรณี


6. ฉันเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลต้องช่วยฉันทุกเรื่อง

คำพระท่านบอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด (และรัฐเองก็ต้องให้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้) การรอความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว สุดท้ายย่อมกลายเป็นปัญหา ในยามวิกฤตเรามักจะเห็นแต่จุดอ่อนของตัวเอง จากการสอบถามข้อมูลในการทำงาน ศปภ.ตำบล บางทีเราค้นพบจุดเด่นที่น่าสนใจในแต่ละหมู่บ้านเช่น หมู่บ้านหนึ่งที่อยุธยามีนางพยาบาล อีกหมู่บ้านหนึ่งมีเรือแต่มีคนป่วย แทนที่เขาจะรอหมอจากภาครัฐเข้าไปช่วย พอเราให้ข้อมูลเขาไป เขาก็เอาเรือไปรับนางพยาบาลมาดูแลคนป่วยแทน แต่ถ้าหากขาดแคลนยาตรงนี้คือส่วนงานที่รัฐต้องเข้าไปหนุนเสริม


7. การประเมินตนเป็นเรื่องสำคัญ อย่าประมาณตนสูง และอย่าดูถูกตนเองต่ำไป

ศูนย์พักพิงหลายแห่งที่รับคนเกินจำนวนที่สามารถรองรับได้ และอยู่ในจุดเสี่ยงที่ใกล้น้ำท่วมอาจจะประเมินศักยภาพตัวเองสูงไป (ด้วยความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม หรือด้วยศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ) ปัญหาที่ตามมาก็คือสุดท้ายเมื่อรับมือไม่ไหว (และไม่ยอมอพยพตอนแรก) ก็จะต้องมาช่วยเหลือกันตอนที่ปัญหามันโคม่าแล้ว กลับกันผู้ประสบภัยบางคนประเมินศักยภาพตนเองต่ำไป พบเคสที่ผู้ประสบภัยพบน้ำในระดับข้อเท้า มีอาหารสำรองแล้ว แต่เรียกขอถุงยังชีพจากหลายๆ หน่วยงานเข้าไปเพิ่มอีกแทนที่จะได้กระจายไปให้ผู้อื่น

บางทีอาจต้องทำความเข้าใจว่าหน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนร้านพิซซ่าที่ต้องส่งเดลิเวรี่ให้ลูกค้าทุกรายตามต้องการ เราต้องการให้ทุกคนอยู่รอดไปด้วยกัน ดีกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งอยู่สบายและอีกกลุ่มลำบากเจียนตาย



8. น้ำแห้งแล้ว ทุกอย่างจบสิ้นลง

ตอนนี้หลายคนคงเริ่มฝันถึงว่าเมื่อไหร่น้ำจะแห้ง (มีรายงานว่าอาจจะต้องอยู่กับน้ำ 3-4 สัปดาห์) แต่หลังน้ำแห้งปัญหามากมายยังรอการแก้ไขอยู่มาก ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างทางผังเมืองและกลไกราชการ การเข้าสู่เฟสฟื้นฟูที่อาจกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี กระแสต่างๆ ทั้งความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และสื่อมวลชนต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกในการฟื้นฟูสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟื้นฟู เคล็ดลับความสำเร็จหลายๆครั้งมาจากการที่คนในชุมชนมาร่วมวางแผนกันเอง เช่น ที่นครสวรรค์ บางพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้วเริ่มวางแผนจะฟื้นฟู เพราะนอกจาก “แก้ไขไม่แก้แค้น” แล้ว รัฐบาลจะต้อง “แก้ไขอย่าแก้ขัด” เหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มาที่เวลาน้ำท่วมทีไรก็ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ขัด รอบนี้จะต้องแก้กันทั้งระบบทั้งการป้องกัน รับมือ และแก้ไขในอนาคตด้วย

สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ ในวาระแบบนี้การประสานความร่วมมือและการพึ่งพาตนเองให้เต็มศักยภาพจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่เราจะต้องทำให้ชินเป็นนิสัยและทัศนคติใหม่ๆของคนไทย เราจะต้องเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ประสบภัย” ให้กลายเป็น “ผู้ช่วยเหลือ”ให้ได้

ผมยังจำป้ายที่เขียนที่โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ที่วันนี้น้ำท่วมไปแล้ว) ตอนสึนามิได้ บนกระดานเขียนว่า “เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน” ขอให้คนไทยทุกคนผ่านไปให้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยสะดวกนัก

ป.ล. เขียนกลั่นกรองจากที่เป็นตัวแทน Siam Intelligence Unit เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ศปภ.ภาคประชาชน ที่นำโดยมูลนิธิกระจกเงา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา

www.siamintelligence.com/myths-flood/
Related Posts:
*-“อาสาสมัคร” มือที่จะช่วยพาชาติพ้นวิกฤตน้ำท่วมและร่วมสร้างประเทศไทยใหม่อีกครั้ง
*-สื่อนอกจับกระแส: คนนับหมื่นอพยพหนีน้ำท่วม งดเข้ากรุงเทพ
*-พักเรื่องการเมืองไว้ก่อน
*-ทักษิณมาแล้ว!! บริจาคเรือช่วยชาวบ้านน้ำท่วมฝากผ่านตัวแทน



++

5 นักกิจกรรมผู้ลุกฮือในอาหรับได้รางวัลสิทธิมนุษยชนซาคารอฟ
ในเวบไซต์ ประชาไท (www.prachatai.com/journal/2011/10/37649) . Fri, 2011-10-28 18:02


รางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป มอบแด่ 5 นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์อาหรับสปริง ประกอบด้วยชายขายผลไม้ผู้จุดไฟเผาตัวเองในตูนีเซีย อดีตนักโทษการเมืองในลิเบีย ทนายผู้นำการลุกฮือในซีเรีย นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนรัฐบาล และตัวแทนกลุ่มเยาวชนในอียิปต์ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยรณรงค์ชุมนุมต้านรัฐบาลเผด็จการ










การประท้วงในอียิปต์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ภาพจาก nebedaay (CC BY-NC-SA 2.0)

นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลาง (Arab Spring) 5 คนได้รับรางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป หนึ่งในรายนามผู้ได้รับรางวัลนั้นมีคนขายผลไม้ชาวตูนีเซียที่จุดไฟเผาตัวเองจนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ด้วย

โมฮาเมด บูวอาซีซี คนขายผลไม้ผู้เสียชีวิตจากการเผาตัวเอง ได้รับประกาศรางวัลนี้ ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ ได้แก่บล็อกเกอร์ชาวอียิปต์ อัสมา มาห์ฟูซ์, อดีตนักโทษลิเบีย อาห์เม็ด อัลซูแบร์ กับอาห์เม็ด อัลซานูซี, ชาวซีเรียอีกสองคนได้แก่ ทนายความ ราซาน เซโตเนห์ และนักเขียนการ์ตูน อาลี ฟาร์ซัท

โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาสภายุโรปประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลซาคารอฟที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้บุคคลผู้ที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของตน

"บุคคลเหล่านี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับ" เจอร์ซี บูเซ็ก ประธานสภายุโรปกล่าวและว่า รางวัลนี้ย้ำให้เห็นถึงการที่สภายุโรปสนับสนุนและเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการโค่นล้มระบอบเผด็จการ และการกระทำของผู้ได้รับรางวัลเหล่านี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ทำงานเพื่อศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานในโลกอาหรับและสถานที่อื่นๆ

บูวอาซีซีจุดไฟเผาตัวเองเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา (2553) ในเมือง ซิดิ บูวซิด และเสียชีวิตในอีกสองสัปดาห์ต่อมา ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความคับแค้นของคนจน การว่างงานในตูนีเซีย และเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่จนสามารถขับไล่อดีตผู้นำ ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี ไปได้

พี่ชายของเขา ซาเลม บูวอาซีซี บอกว่าเขาขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคน

"ผมมีความสุขมาก ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคนที่ทำให้การปฏิวัติของพวกเราสำเร็จ และได้แสดงความรู้สึกออกมาในการเลือกตั้งเหล่านี้" ซาเลมกล่าวและว่ารางวัลนี้แสดงให้เห็นว่านานาชาติต่างยอมรับว่า โมฮาเมด บูวอาซีซี มีบทบาทในการปฏิวัติตูนีเซีย

ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ คือมาห์ฟูซ์ เป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวเยาวชน 6 เมษาฯ ที่ใช้ยูทูป เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในการรณรงค์ให้ชาวอียิปต์ออกมาชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสทาห์เรีย ในกรุงไคโร จนกระทั่งสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้สำเร็จ

ส่วนซานูซี ชาวลิเบีย เคยต้องใช้เวลา 31 ปีอยู่ในห้องขังเนื่องจากต่อต้านรัฐบาลของมุมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากฝีมือของกลุ่มปฏิวัติ

ขณะที่ประชาชนในอียิปต์ ลิเบีย และตูนีเซีย สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่มีมายาวนานลงได้แล้ว ประชาชนที่ลุกฮือในซีเรียก็ยังคงถูกรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม

เซโตเนห์ ทนายความชาวซีเรียผู้ได้รับรางวัลนี้เป็นคนที่นำกลุ่มแนวร่วมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด สร้างบล็อกเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรีย เพื่อเผยแพร่ความโหดเหี้ยมที่กองกำลังของรัฐกระทำต่อผู้ประท้วง

ซึ่งตอนนี้เซโตเนห์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่

ส่วน ฟาร์ซัท นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนผู้ที่ถูกกลุ่มคนลอบทำร้ายจนนิ้วหักเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา บอกว่าขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่เหล่า "นักสละชีพเพื่อเสรีภาพ"

"ฉันขอแชร์รางวัลนี้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย" ฟารืซัทกล่าว โดยยังบอกอีกว่ารางวัลนี้ช่วยทำให้คนมีความหวังกับอนาคต

ประธานสภายุโรปจะจัดพิธีมอบรางวัลนี้ในวันที่ 14 ธ.ค. ที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส

โดยรางวัลซาคารอฟนี้ ตั้งชื่อตาม อังเดร ซาคารอฟ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์สมัยสหภาพโซเวียตผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นรางวัลรายปีจัดโดยสภายุโรป ก่อนหน้านี้มีผู้ได้รับรางวัลคือ เนลสัน แมนเดลา (2531) ผู้ต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้, อองซานซูจี (2533) นักสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, หู เจีย (2551) นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลจีน และปีก่อนหน้านี้คือ กุยเลอโม ฟารินาส (2552) ผู้อดอาหารประท้วงรัฐบาลคิวบา ซึ่งถูกรัฐบาลคิวบาห้ามไม่ให้ไปรับราลวัลที่ฝรั่งเศส

ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก็มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวเยเมน ทาวากุล คาร์มาน ได้รับรางวัลร่วมกันกับประธานาธิบดีของสาธารณรัฐลิเบอเรีย เอลเลน จอห์นสัน เซอรีฟ และ "นักสู้เพื่อสันติ" ที่เคียงข้างเธอ เลฟมาห์ จโบวี

ที่มา
Arab Spring activists win human rights award, Aljazeera, 27-10-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/10/20111027184244121504.html

ข้อมูลเพิ่มเติม
en.wikipedia.org/wiki/Sakharov_Prize_for_Freedom_of_Thought



.