.
ต๊อบ story
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 24
หนัง "Top secret วัยรุ่นพันล้าน" ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้นักตอนที่ฉายในโรง
เพราะเจออภิมหาอุทกภัย "น้ำท่วม" เข้า
แต่กลับประสบความสำเร็จในเรื่อง "คนดู" มาก
ใครที่ดูหนังเรื่องนี้ต่างชื่นชม และ "บอกต่อ"
ตอนที่ GTH นำหนังเรื่องนี้มาขายเป็นแผ่นดีวีดี ถึงกล้าเขียนคำว่า "หนังที่คนเรียกร้องอยากให้กลับมาฉายมากที่สุด"
และปรากฏว่ายอดขาย "ดีวีดี" ดีมาก
ดีกว่า "ลัดดาแลนด์" แต่สู้ "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ" ไม่ได้
ที่สำคัญ หนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวมากมาย
เคยดูข่าวเช้าช่อง 7 มีคนไปเปิดร้านซูชิ เพราะหนังเรื่องนี้
ล่าสุดวันที่ไปนั่งคุยกับ "โน้ส" อุดม แต้พานิช
เขาเล่าเรื่องลูกน้องคนสนิทชื่อ "เติม"
"เติม" ไปดูหนัง "วัยรุ่นพันล้าน" แล้วเกิดแรงบันดาลใจ
อยากทำธุรกิจที่เคยฝันไว้
รู้ไหมครับว่า "ความฝัน" ของ "เติม" คืออะไร
เขาอยากเปิดร้านอาหารอีสาน
"เติม" ควักกระเป๋าเปิดร้านอีสานของตัวเอง
และขอให้ "โน้ส" ช่วยตั้งชื่อร้านให้
ครีเอทีฟฉับพลันของ "โน้ส" ทำงานทันที
ได้แรงบันดาลใจจาก "วัยรุ่นพันล้าน" ใช่ไหม
ชื่อนี้เลย...
"วัยรุ่นพันลาบ"
คิดเล่นๆ ว่า ถ้า "เติม" เดินไปบอก "โน้ส" ว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากหนัง "กวน มึน โฮ"
ชื่อร้านอาจจะเป็น "ก้อย มึน โฮ"
"เติม" เปิดร้านได้ 1 เดือนก็เดินมาบอก "โน้ส" ด้วยคำสั้นๆ คำเดียว
"เจ๊ง"
ถามว่าร้านตั้งอยู่ที่ไหน
"เติม" บอกว่าหน้า "อาร์แบค" หรือมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต
ทำเลหน้าสถาบันการศึกษาก็ดี แล้วทำไมขายไม่ได้
"โน้ส" พาเพื่อนซี้ต่างวัย "ตัน ภาสกรนที" ไปดูทำเลร้านให้
ทำเลก็ดี
ดีทุกอย่าง
เสียอย่างเดียว คือ "จังหวะเวลา"
"เติม" เปิดร้าน "วัยรุ่นพันลาบ" ตอนปิดเทอมครับ
อยู่หน้าสถาบันการศึกษา แต่เปิดร้านตอนปิดเทอม
เรียบร้อย...
"โน้ส" บอก "เติม" ให้ยุบร้านและมาเปิดที่หน้าบริษัทของเขาดีกว่า
อย่างน้อยก็มีลูกค้าแน่นอน
และให้ใช้ชื่อเดิม "วัยรุ่นพันลาบ สาขา 2"
เป็นร้านอาหารร้านเดียวในเมืองไทย
ที่มีแต่ "สาขา 2"
ไม่มี "สาขา 1"
นอกจาก "แรงบันดาลใจ" แล้ว หนังเรื่องนี้ได้สร้างคำถามมากมายให้กับ "ต๊อบ" อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิช เจ้าของประวัติชีวิต
"พี่เก้ง" จิระ มะลิกุล เคยเตือนเขาไว้แล้วว่าถ้าหนังเสร็จเมื่อไร ให้ "ต๊อบ" จำเรื่องในหนังให้ดี
เพราะคนจะเชื่อว่าทุกเรื่องราวในหนังเป็นเรื่องจริง
วันนี้ "คำเตือน" ของ "พี่เก้ง" เป็นจริงแล้ว
"ต๊อบ" บอกว่ามีคนถามถึง "ลุงเทือง" มากเลย
อยากเห็น "ตัวจริง"
ถามเรื่องต่างๆ มากมาย
แม้แต่พ่อของ "ต๊อบ" ก็เจอคำถามของเพื่อนๆ
"เอ็งไปเมืองจีนตอนไหน"
และนั่นคือ ที่มาของหนังสือเล่มนี้
"เถ้าแก่น้อย ต๊อบ Story"
ตอนนี้อยู่ในโรงพิมพ์แล้วครับ คาดว่าช่วงกลางเดือนน่าจะเห็นในร้านหนังสือ
หนังสือเล่มนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้า "พี่เก้ง" ไม่หย่อนเบ็ดลงมา
"พี่เก้ง" บอกว่าบทสัมภาษณ์ "ต๊อบ" ของผมที่เป็นโครงในการเขียนบทภาพยนตร์ "วัยรุ่นพันล้าน"
น่าทำเป็นหนังสือ
แต่ผมปฏิเสธไปเพราะการเขียนประวัติชีวิตคนคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก
ที่สำคัญยังมีงานเขียนประวัติ "ตัน ภาสกรนที ภาค 2" ค้างคาอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อ "ต๊อบ" กระตุ้นในวงสนทนาอีกครั้ง และ "พี่เก้ง" พยายามหย่อนเบ็ดต่อว่าไม่ต้องเขียนใหม่ เพราะแค่บทสัมภาษณ์ก็สนุกแล้ว
แบบนี้ค่อยยังชั่ว เพราะไม่ต้องเขียนใหม่ทั้งหมด
ผมตัดสินใจรับปาก แต่ยังเปิดประตูแง้มไว้
ขอเป็นแค่บรรณาธิการช่วยวางกรอบและโครงเรื่อง
กะเป็น "บันไดหนีไฟ"
พอรับปาก GTH ก็สั่งซื้อหนังสือ "เถ้าแก่น้อย ต๊อบ Story" ทันทีทั้งที่ยังไม่เห็นหนังสือ
เขานำไปขายคู่กับแผ่นดีวีดีตอนช่วงตรุษจีน
"เส้นตาย" การส่งต้นฉบับ คือ ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
พอเห็นเส้นตาย แรงบันดาลใจก็เกิดขึ้นทันที
และเมื่อถึงเวลาทำงานจริง ผมรู้สึกเสียดายหากหนังสือเล่มนี้จะเป็นเพียงแค่การตัดต่อบทสัมภาษณ์
แม้จะสนุกแต่ไม่สมบูรณ์
ผมจึงตัดสินใจสัมภาษณ์ "ต๊อบ" อีกครั้งหนึ่งเพื่อเจาะลึกบางเรื่องที่ยังขาดหายไป
และลงมือเขียนใหม่ทั้งหมดร่วมกับ "เช" เชตวัน เตือประโคน นักเขียนฝีมือดีของ "มติชน"
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาผมไม่ได้ไปไหนเลยครับ
นั่งเขียนเรื่องแล้วส่งไปให้ "ต๊อบ" ที่พาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น
เขียนที่เมืองไทย ตรวจทานที่ญี่ปุ่น
งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานระดับ "อินเตอร์" อย่างแท้จริง
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเด็กหนุ่มคนหนึ่งสามารถคุมพนักงานที่อายุน้อยกว่าเขา การศึกษาก็มากกว่าเขา
ตั้งแต่ "ต๊อบ" อายุไม่ถึง 20 ปี
ทุกเรื่องราวมี "ที่มา" ครับ
ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่ธรรมดาเลย
ความโดดเด่นของ "ต๊อบ" อยู่ที่การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ
เขามี "อาจารย์" ชื่อ "ประสบการณ์"
"ความรู้" ของเขาเกิดจากการสังเกตและตั้งคำถาม
"ต๊อบ" มีเพื่อนสนิทชื่อ "ปัญหา"
ยิ่งแก้ปัญหาบ่อย ยิ่งทำให้เขามีความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น
ความสำเร็จของ "เถ้าแก่น้อย" จึงไม่ธรรมดา
"ความมหัศจรรย์" ของ "ต๊อบ" ไม่ได้เกิดจาก "โชค" ที่ลอยมาจากท้องฟ้า
แต่เป็นการเอื้อมมือไขว่คว้าจากวัยรุ่นคนหนึ่งที่รู้ "ใจ" ตัวเอง
และใช้บทเรียนของชีวิตไม่ว่าผิดหรือถูก
เป็น "บันได" เพื่อก้าวให้ถึง "ฝัน"
หนังสือ "เถ้าแก่น้อย ต๊อบ Story" เสร็จเมื่อไร คนแรกที่ผมตั้งใจส่งหนังสือไปให้
ชื่อ "เติม" ครับ
เผื่อเขาจะเปิด "วัยรุ่นพันลาบ" สาขา 3
++
สรกล อดุลยานนท์ : เยียวยา
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
ใครเห็นข่าวญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาแล้ว
ถ้าหัวใจไม่ด้านเกินไป คงต้องรู้สึกสะเทือนใจ
พ่อแม่ทุกคนที่ลูกเสียชีวิต พูดเหมือนกันหมดว่าเงินจำนวนเท่าไรก็ไม่สามารถแลกกับชีวิตของลูกได้
ถ้าเลือกได้ ทุกคนเลือก "ลมหายใจ" ของลูกมากกว่า "เงิน"
คนที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทุกคน ไม่ว่า "เสื้อเหลือง" หรือ "เสื้อแดง"
ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปมาก
ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย แต่หมายถึงวิถีชีวิตของเขาและครอบครัว
แต่ละคนไม่ใช่ "ผู้นำ" ที่อยู่บนเวที
หากเป็น "มวลชน" ที่อยู่บนท้องถนน
บางคนก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่เจอ "ลูกหลง" เข้าไป
ต้องยอมรับว่าทั้ง "คนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง" ต่างชุมนุมด้วยความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน
"ความเชื่อ" ที่แตกต่างกันไม่ควรจบลงด้วยการทำร้ายกัน
ไม่ว่า "อำนาจรัฐ" จะถูกหรือผิด
ไม่ว่า "มวลชน" จะผิดหรือถูก
แต่ในสังคมที่แตกแยกกันอย่างหนัก บางทีคำพิพากษาว่าใครผิดหรือถูกก็อาจไม่ได้แก้ปัญหา
การดูแลความรู้สึกของคนที่สูญเสียต่างหากที่สำคัญกว่า
และอย่าคิดว่าการจ่ายเงินให้กับผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนกล้าเสี่ยงตายในการชุมนุมบนท้องถนนมากขึ้น
ไม่มีใครอยากแลก "ดวงตา" กับ "เงิน"
แลก "แขน-ขา" กับ "เงิน"
หรืออยากแลก "ชีวิต" กับ "เงิน" หรอกครับ
ใครๆ ก็อยากมีลมหายใจและอวัยวะครบ 32 ทั้งนั้น
"การเยียวยา" เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการปรองดอง
ลดความเจ็บปวดในใจของผู้ที่สูญเสีย
ความเห็นต่อเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจึงน่าจะสะท้อนถึง "จริยธรรม" ในใจ "นักการเมือง"
มากกว่าการแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี
คนเป็น "นักการเมือง" ที่ไม่รู้สึกรู้สากับความสูญเสียของคนไทยด้วยกัน
ทั้งที่เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียครั้งนั้น เพราะเปิด "พื้นที่การฆ่า" โดยใช้กระสุนจริง
เลือกการล้อมปราบ แทนการเจรจาตามข้อเสนอของ "วุฒิสมาชิก"
คัดค้านการเยียวยาช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต ฯลฯ
ถามว่านักการเมืองกลุ่มนี้มี "จริยธรรม" หรือเปล่า
ไม่ต้องถึงขั้น "จริยธรรมอย่างลึก" หรอกครับ
แค่ "จริยธรรมอย่างตื้น" ก็ไม่ผ่านแล้ว
น่าตั้งคำถามเรื่อง "จริยธรรม" กับ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" กลุ่มนี้จริงๆ
"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" สนใจบ้างไหม???
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย