.
สัมพันธภาพเชิงอำนาจกับความรุนแรง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 28
ผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกาย อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บอกหน้าตาเฉยว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอาจารย์วรเจตน์ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 และยังกล่าวในเฟซบุ๊กของตนเองว่า อย่างน้อย สักครั้งก็ได้ทำเพื่อชาติ-เพื่อสถาบันที่รัก "ผลที่ตามมา ผมรับได้"
บิดาของผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า บุตรของตนเป็นคนหัวรุนแรง และสมควรแล้วที่อาจารย์วรเจตน์จะถูกบุตรของตนทำร้าย ฉะนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างไรที่หนึ่งในสองผู้ต้องหามีคดีทำร้ายร่างกายติดตัวอยู่แล้วอีกหลายคดี
ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสื่อออนไลน์แสดงความเห็นทำนองเดียวกับบิดาของผู้ต้องหา คือสะใจ แม้ออกตัวว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีรุนแรง แต่ก็ยังขอบคุณผู้ต้องหาที่สร้างความสะใจให้แก่ตน
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร ผมเชื่อว่าคงมีวิธีอธิบายได้หลายอย่าง เช่น สังคมไทยก็ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ความขัดแย้งตลอดมาไม่ใช่หรือ ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดซึ่งมีได้หลายสมมติฐาน ผมคงบอกไม่ได้ว่าคำอธิบายเหล่านี้ผิดหรือถูกอย่างไร แต่ผมคิดว่ามีคำอธิบายที่แตกต่างออกไปและขอนำมาคุยในครั้งนี้
ผู้ต้องหาและผู้สนับสนุนเชื่อว่า การทำร้ายร่างกายแกนนำของคณะนิติราษฎร์ คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของตน คำถามก็คือปกป้องจากอะไร?
ผมคิดว่าการกลับไปพลิกอ่านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และ ครก. อย่างถี่ถ้วน ไม่มีประโยชน์ และจำนวนมากของผู้ที่คิดว่ากำลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คงไม่ได้อ่าน เพราะตัวข้อเสนอไม่ใช่ประเด็น คณะนิติราษฎร์เสนออะไรก็ไม่สำคัญ แต่ท่าทีของคณะนิติราษฎร์ที่กล้าเสนอต่างหากที่สำคัญกว่า
ท่าทีนั้นคือท่าทีซึ่งกำลังประกาศว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับอำนาจทางการเมืองต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้ว และกำลังเกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย ต้องปรับเปลี่ยนเสียใหม่
อันที่จริง ท่าทีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีนักวิชาการทั้งขวาจัดซ้ายจัดเคยพูดมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่การเสนอของนักวิชาการดังกล่าวเป็นการเสนอความเห็นของแต่ละบุคคล ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายที่จะผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ให้สังคมวงกว้างได้พิจารณา แม้ว่าข้อเสนอของนักวิชาการบางท่านอาจถูกเผยแพร่ไปกว้างขวางไม่น้อยกว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และ ครก. ในครั้งนี้ แต่ก็เป็นข้อเสนอทางวิชาการของบุคคลอยู่นั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น ข้อเสนอที่ให้ไปแก้กฎหมายอาญา ย่อมหมายความว่า ผู้พิจารณาคือรัฐสภาหรือตัวแทนประชาชน ไม่ใช่การร้องขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับความสัมพันธ์ในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเอง ยังเป็นท่าทีซึ่งคนจำนวนมากในสังคมไทยเห็นว่าเป็นการล้มสถาบัน
ปัญหาก็คือ หากสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในโลกและในเมืองไทย ใครเป็นผู้กำหนดจังหวะและเนื้อหาของการปรับตัวนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์กำหนดเอง หรือประชาชนเป็นผู้กำหนด
หากประชาชนเป็นผู้กำหนด ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับอำนาจอื่นๆ ในสังคมย่อมไม่เหมือนเดิม ดังนั้น จึงเท่ากับ "ล้มสถาบัน" ตามความเข้าใจของพวกเขา
เรื่องนี้ก็ค่อนข้างแปลก ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เคยแสดงความเห็นซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นตัวแทนความเห็นของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมว่า สถาบันกษัตริย์ที่ยังคงมีอยู่ในโลกทุกแห่ง ล้วนสามารถปรับตัวเองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยและสังคมต่างๆ ได้ทั้งสิ้น
แต่เรื่องนี้ไม่จริงทางประวัติศาสตร์ ในทุกยุคสมัย และในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทยเองด้วย เพราะในบางเงื่อนไข สถาบันกษัตริย์ก็อาจปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้เอง ในบางเงื่อนไขการปรับตัวเกิดขึ้นจากการกดดันของสังคม ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงกรณีที่ปรับไม่ได้หรือปรับผิดจนต้องล่มสลายไป เช่น ในรัสเซีย, จีน, ฝรั่งเศส, กรีก, โปรตุเกส, เวียดนาม, พม่า, อิหร่าน, ฯลฯ
โดยสรุปก็คือ พอเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งต่อต้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และ ครก. ไม่ว่าจะได้อ่านข้อเสนอหรือไม่
จึงต่างเข้าใจว่าปฏิปักษ์ของตนกำลังจะ "ล้มสถาบัน" เพราะพวกนี้กำลังเปลี่ยนสัมพันธภาพเชิงอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ร้องขอให้สถาบันปรับสัมพันธภาพนั้นเอง
เป็นการต่อรองทางการเมืองธรรมดาๆ แต่ทำในสังคมที่ไม่มีกติกาที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อการต่อรองทางการเมืองโดยสงบ (ซึ่งเราเรียกว่าประชาธิปไตย)
และในการต่อรองทางการเมืองของสังคมประเภทนี้ ความรุนแรง (ชกหน้า, ด่ากราด, สาดสี, หรือถึงกับยึดอำนาจเพื่อใช้อำนาจพิเศษปราบปรามคนที่ถือว่าเป็น "ภัยสังคม" ก็ตาม) ย่อมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซ้ำเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มกษัตริย์นิยมด้วย
แต่คำว่า "กษัตริย์นิยม" ให้ความหมายที่เน้นไปด้านอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว ทำให้ไขว้เขวได้ง่าย เพราะคนที่อยากรักษาสัมพันธภาพทางอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจไม่ได้มีอุดมการณ์กษัตริย์นิยมอย่างจริงใจก็ได้
ผมจึงขอใช้คำว่า Network Monarchy ของศาสตราจารย์ Duncan McCargo แทน
" Network Monarchy " คํานี้มักแปลกันว่า "เครือข่ายพระมหากษัตริย์" แต่ผมขอแปลว่า "พระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย" แทน เพราะมุ่งจะหมายถึงสถาบันอันเป็นองค์กรทางการเมืองและสังคม ที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล ไม่ใช่การกระทำของพระองค์นั้นพระองค์นี้ หรือคนนั้นคนนี้
พระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย เผชิญแรงบีบบังคับด้วยความรุนแรงให้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเสียใหม่เป็นครั้งแรก ใน พ.ศ.2475 นั่นเป็นประสบการณ์ที่จดจำกันมาอย่างเจ็บปวด ไม่แต่เพียงแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ต่อมาอีก 15 ปี ที่สัมพันธภาพเชิงอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดไว้ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ในระหว่างนั้น มีความพยายามของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ที่จะปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเสียใหม่ ให้พ้นจากการถูกจำกัดสถานะและบทบาทจนเกินไป ด้วยวิธีต่อรองโดยสงบ จนทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นแทนฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แต่ก็ไม่ได้ผลตามต้องการ จึงหันไปใช้วิธีรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ "ปิดสภา" และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย คือกบฏบวรเดช แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลับทำให้เป็นโอกาสให้ปรปักษ์สามารถบ่อนทำลายเครือข่ายลงได้เป็นอันมาก
นับตั้งแต่นั้นมาสถาบันเชิงเครือข่าย ก็อาศัยความรุนแรงเป็นเครื่องมือสำคัญ แม้ว่าเบื้องหลังจะมีการเจรจาต่อรองกับพันธมิตรของตนอยู่บ้าง แต่เครื่องมือที่จะฟื้นฟูหรือปรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจให้เป็นที่น่าพอใจ ก็ยังต้องเป็นความรุนแรงอยู่นั่นเอง
นั่นคือการรัฐประหาร 2490, 2500, 2516, 2519, 2534, 2549 มักพูดกันเสมอว่าการรัฐประหารในเมืองไทยไร้การนองเลือด แต่ที่จริงแล้วมีเลือดไหลริน หรือทำลายสวัสดิภาพของผู้คนอยู่ไม่น้อยหลังการรัฐประหาร เพื่อทำลายปฏิปักษ์ และถึงจุดสุดยอดในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคมมหาโหด 2553
ความรุนแรงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่ผันแปรไปตามสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทำความรุนแรงเหล่านั้น แต่ "สถาบันเชิงเครือข่าย" ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายประเภท เช่น กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กองทัพ, นายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ฯลฯ ซึ่งต่างก็สอดรับผลประโยชน์นานาชนิดของตนเข้ากับสถาบันเชิงเครือข่าย จะเป็นผู้กระทำ (actor) ไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
เมื่อมองภาพในระยะยาวเช่นนี้ การใช้ความรุนแรงกับ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และ ครก. คือการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคม โดยให้ฝ่ายสังคมหรือตัวแทนของประชาชนเป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลงฝ่ายเดียว
น่าสนใจที่นักวิชาการท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้ความเห็นต่อกรณีการใช้ความรุนแรงครั้งนี้ว่า เป็นเพราะคณะนิติราษฎร์ไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับข้อเสนอของตน
เราอาจจะงง เพราะคณะนิติราษฎร์เชื้อเชิญอย่างชัดเจนให้มีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล และพร้อมจะเปลี่ยนความเห็นของตน หากได้รับรู้เหตุผลที่ดีกว่า
แต่การถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องเนื้อหาของข้อเสนอไม่ใช่ประเด็น การกำหนดสัมพันธภาพเชิงอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมโดยฝ่ายประชาชนฝ่ายเดียวต่างหากคือประเด็นที่รับไม่ได้ และเท่ากับไม่ยอมให้มีการแลกเปลี่ยน (หรือต่อรอง) ระหว่างสถาบันเชิงเครือข่าย กับฝ่ายประชาชนเลย
ในส่วนสองฝาแฝด เขาจะเป็นใครมาจากไหน และทำความรุนแรงนั้นด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่น่าสนใจเท่ากับการรับรองของบุคคลต่างๆ ในสถาบันเชิงเครือข่าย ความรุนแรงยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดสัมพันธภาพเชิงอำนาจอยู่เหมือนเดิม แต่สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ความรุนแรงมากไปกว่านี้ มีอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนจะย้อนกลับไปเหมือนเมื่อครั้ง 2518-2519 ก่อน 6 ตุลาคม
6 ตุลาคมครั้งใหม่จะมาถึงเมื่อไร และเมื่อมาถึงจะมีผลอย่างไร ไม่อาจเดาได้ถูก แต่ไม่ว่าจะมีผลอย่างไร ก็ล้วนเป็นเรื่องน่าสยดสยองทั้งสิ้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย