http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-03

อั้วมิ่งเวียงไชย - อุสาปายโค รักสองต้องห้ามของพระญามังราย โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

อั้วมิ่งเวียงไชย - อุสาปายโค รักสองต้องห้ามของพระญามังราย
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 76


ดูเหมือนว่าคนในสังคมนี้จะสนใจเรื่องชู้ๆ คาวๆ มากเป็นพิเศษ
อยากรู้กันเสียเหลือเกินว่าคนดังระดับผู้นำประเทศแอบไปเป็นกิ๊กกับลูกเขาผัวใคร
วัดเรตติ้งได้จากการที่ทีมโฆษกแมงสาปฝ่ายแค้นดาหน้าออกมาโจมตีนายกฯ นารี กรณี "ว. 5" ด้วยอาการคันหู ชนิดไม่เกรงใจประชาชนว่าจะรู้สึกสมเพชเวทนาต่อข่าวบ้าบอไร้สาระนี้แค่ไหน

อันที่จริงเรื่องทำนองเมียน้อยเมียหลวง สนมลับ โอรสนอกสมรส หรือปมด้านมืดของผู้นำประเทศระดับกษัตริย์ทั่วโลกในอดีตก็มีอยู่ไม่น้อย
ในสายตาของชาวโลกย่อมเห็นเป็นเรื่องปกติเพราะพวกเขาถือว่าทั้งไพร่และเจ้าต่างก็คือมนุษย์ปุถุชนเหมือนกัน โดยไม่หลงใหลในนิยายสมมติที่ยกกษัตริย์ให้เป็นเทพสูงส่งแต่ประการใด
ต่อให้เหล่าอำมาตย์พยายามออกขนบกฎเกณฑ์ อวดอ้างเอาจารีตประเพณีมากดข่มชี้นำมากเท่าใด ก็มิอาจบีบบังคับให้ชาวบ้านรากหญ้าตามืดบอดหรือหยุดเม้าธ์มอยค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองได้เลย

รักสองต้องห้ามของ "พระญามังราย" ก็เช่นกัน ไม่ได้เขียนเพื่อสนองตัณหาเหล่าปาปารัซซี่ เพียงอยากสะกิดผู้คนให้หันมามอง การเมืองเรื่องหลังบ้านของปฐมกษัตริย์ล้านนาผู้นี้ดูบ้าง ว่าต้องเผชิญศึกหนักไม่แพ้การเมืองหน้าฉากอย่างไร

แม้นลาจากโลกนี้ไปนานกว่า 700 ปีแล้ว แต่สังคมเมืองเหนือยังโจษขานกันไม่จบไม่สิ้น ถึงปริศนาการสวรรคตของพระองค์ ว่าเกี่ยวเนื่องมาจากการที่มีมเหสีสององค์หรือไม่?


อั้วมิ่งเวียงไชย - อุสาปายโค

มเหสีองค์แรกที่อภิเษกสมรสกับพระญามังรายมีนามว่า "นางพญาอั้วมิ่งเวียงไชย" เป็นชื่อที่ระบุถึงชาติกำเนิดว่ามาจากเวียงไชยนารายณ์ ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างเชียงรายกับพะเยา ในยุคนั้นเป็นเวียงหน้าด่านของพะเยา

ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า กษัตริย์สองราชวงศ์ต่างก็พระราชทานชายาแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างสายเชียงรายมอบนางอั้วเชียงแสนให้พระญางำเมือง กับทางพะเยาก็มอบนางอั้วมิ่งเวียงไชยแด่พระญามังราย

เข้าทำนอง สองคู่ชู้ชื่น สองเมืองมหามิตรที่ห้ามคิดทรยศต่อกันชั่วนิรันดร์

นางอั้วมิ่งเวียงไชยมีพระราชโอรสกับพระญามังรายสามองค์ คือขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ นัยว่านับแต่เหตุการณ์ที่พระญามังรายได้ประหารขุนเครื่องพระโอรสองค์โต ณ เวียงพร้าว ด้วยเหตุที่ระแวงว่าลูกชายจะก่อกบฏยึดบัลลังก์ของตนแล้วนั้น

หัวอกแม่ได้แต่คร่ำครวญหวนไห้ สายสัมพันธ์ความรู้สึกสวีตหวานที่เคยมีต่อพระสวามีก็เริ่มถดถอยลงจนเหลือศูนย์ ไปถามผู้หญิงดูทั้งโลกก็ได้ว่าคุณจะเลือกใคร ระหว่างสามีกับลูก ต่อให้คนทั้งโลกประณามว่าลูกคุณนั้นชั่วแสนชั่วก็ตาม

หลังจากพระญามังรายกล้าพิฆาตขุนเครื่อง ก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งอาการเลือดเข้าตา กระหายสงครามของพระองค์ได้อีก การยึดหริภุญไชยนครคือเป้าหมายหลัก โดยหวังจะข่มขวัญอาณาจักรอื่นๆ ให้ยอมศิโรราบ

ด้วยกำลังใจฮึกเหิมเกินร้อย พระญามังรายกล้ายาตราทัพไปถึงเมืองหงสาวดี ศูนย์กลางอาณาจักรมอญ พระเจ้าสุทธโสมตกใจกลัวในเดชานุภาพ จึงยอมถวายพระธิดานาม "อุสาปายโค" ให้เป็นชายา

ชื่อจริงคงมีแค่ "อุสา" ส่วน "ปายโค" นั้นมาจากคำว่า "พะโค" หรือ Pegu (ฝรั่งออกเสียง เปกู) อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของหงสาวดี แต่ชาวล้านนาและชาวมอญสมัยนั้นคงไม่ได้ออกเสียงว่าพะโคเหมือนสมัยนี้

สิ่งที่น่าขบคิดก็คือ ไฉนพระราชาทั่วแว่นแคว้นจึงกล้าเอาชีวิตลูกสาวเป็นเดิมพัน ยกให้ไปอยู่ในเงื้อมมืออริราชศัตรูกันดื้อๆ ทุกครั้งที่มีวิกฤติใกล้เสียเมือง

ยกตัวอย่างกรณีของพระญากาวิละ ตอนกอบกู้อิสรภาพจากพม่า ช่วงนั้นสยามยกกองทัพขึ้นมาช่วยรบ ด้วยความเกรงกลัวบารมี พระญากาวิละถึงกับถวายหลานสาวองค์หนึ่งแก่พระเจ้าตากสิน สตรีนางนี้ไม่มีใครทราบชื่อเรียกกันแต่ว่า "นัดดานารี" ครั้นเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์เป็นจักรี พระญากาวิละก็ได้ถวายน้องสาวนามเจ้าศรีอโนชา แด่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถหรือวังหน้าอีก

วัฒนธรรมอุษาคเนย์เป็นสังคมที่พิสดาร เมื่อคลอดได้ลูกหญิง พ่อแม่มักไม่ปลื้ม แต่แล้วยามสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานถูกศัตรูรังแกทีไร ลูกสาวกลับกลายเป็นของสูงค่า ถูกนำมาใช้เป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ


มังรายกับปายโค
พิศวาสหรือการเมือง?

ภายหลังจากที่พระญามังรายพานางปายโคสู่เชียงใหม่แล้ว นางอั้วเวียงไชยเกิดอาการน้อยอกน้อยใจไม่พูดไม่จา หนีไปบวชชีอยู่ที่เวียงกุมกาม โดยพกพารอยแค้นเก่าจากการสูญเสียลูกชายคนโตหนุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพิ่มดีกรีความขุ่นเคืองซ้ำด้วยโฉมงามธิดาหงสาวดี

มองในมุมของพระญามังราย ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกมากนัก ทางเลือกที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของความรัก บุคคลสาธารณะเช่นพระองค์ไม่อยู่ในฐานะที่จะเปิดเผยความลับของหัวใจ คนภายนอกอาจมองว่าพระองค์หลงใหลนางปายโคชนิดโงหัวไม่ขึ้น ประสาได้ใหม่ลืมเก่า

เมื่อพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การมาของนางปายโคพร้อมกลุ่มสล่าช่างฝีมือที่ติดตามมาด้วยไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิตนั้น คือสิ่งที่พระญามังรายปรารถนาเป็นล้นพ้น เหตุที่ต้องทนแบกรับคำสบประมาทของชาวหริภุญไชยมานานว่า

"มังรายชนะเราแค่กองทัพ แต่พ่ายแพ้ทางวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิง"

ในสายตาของชาวหริภุญไชยเห็นพระญามังรายเป็นเพียงชนป่าเถื่อนที่มีแต่พละกำลังดุดันคะนองศึก เมื่อตีลำพูนแตกแล้ว ในนามของผู้ชนะแทนที่จะนำเอาอารยธรรมที่สูงส่งกว่ามาสถาปนาให้แก่ผู้ปราชัยบ้าง กลับมีแต่ขโมยภูมิปัญญา อักขระ ศิลปกรรม ดนตรี พุทธศาสนา ความศิวิไลซ์ทั้งหมดที่ลำพูนเคยรุ่งโรจน์ เคลมเอาไปเป็นของตัวหน้าตาเฉย


ในเมื่อพระญามังรายเข้าตาจน มองไม่เห็นหนทางว่าจะพัฒนาฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาให้ทัดเทียมกับเมืองหริภุญไชยได้อย่างไร การมาของช่างศิลปกรรมชาวมอญหงสาวดีจึงเปรียบเสมือนเทพประทาน

พระญามังรายจำต้องเลื่อนฐานะนางปายโคมาเป็นมเหสีหมายเลขหนึ่งแทนที่องค์เดิม ที่แท้แล้วก็มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่เต็มๆ

เพราะหลังจากนั้นมาเมืองเชียงใหม่ก็อร้าอร่ามไปด้วยสถาปัตยกรรมวิจิตรบรรจงทัดเทียมกับเมืองพุกาม อังวะ หงสาวดี เป็นเครื่องตอกย้ำว่ามังรายคือผู้ที่มีชัยชนะเหนือหริภุญไชยอย่างแท้จริง

ในขณะที่มัวแต่เพลินอยู่กับการรังสรรค์เมืองนครพิงค์ให้อลังการอยู่นั้น นางอั้วมิ่งเวียงไชยกลับตรอมใจตายในเพศแม่ชีอย่างเงียบๆ แต่เป็นความเงียบที่เต็มไปด้วยเสียงกรีดร้องก้องสองหูให้พระญามังรายสดับยินความรวดร้าวนั้นแต่เพียงผู้เดียว

เพื่อประกาศถึงความรักอันยิ่งใหญ่ ปฐมกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์ "กู่คำ" (เจดีย์เหลี่ยม) ที่เวียงกุมกาม ไว้บรรจุอัฐิของนางพญาอั้วมิ่งเวียงไชย อนุสรณ์รักแห่งนี้ก่อเป็นเจดีย์ทรงปราสาทสูงใหญ่ประดับด้วยซุ้มพระพุทธรูป 60 องค์ เลียนแบบเจดีย์สุวรรณจังโกฏ วัดจามเทวี ลำพูน ซึ่งเชื่อว่าภายในบรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี

ดูทีรึ อุตส่าห์จำลองสถูปทรงปิรามิดของยอดขัตติยนารีจามเทวี มาสร้างให้แด่นางอันเป็นที่รัก ณ วัดกู่คำ อย่างตระหง่านสมเกียรติขนาดนี้แล้ว วิญญาณของนางยังจะใจแข็งไม่ยอมเชื่อว่าพระญามังรายรู้สึกถวิลหานางมากเพียงไหนอีกก็ให้มันรู้ไป



ปรัศนีอสุนีบาตของพระญามังราย

พระญามังรายสวรรคตเมื่อพระชนมายุย่าง 81 พรรษา ขณะที่กำลังทรงช้างตรวจดูสารทุกข์สุกดิบของพสกนิกรกลางเวียงเชียงใหม่ และกำลังเตรียมเดินทางไปยังเมืองเชียงดาว แต่แล้วเกิดอสุนีบาตฟาดลงกลางบั้นทรวงของพระองค์ ณ บริเวณจุดที่เคยเป็นวัดสะดือเมือง (ใกล้กับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์)

ชาวเชียงใหม่มองว่าการสิ้นพระชนม์อย่างฉับพลันทันด่วนครั้งนี้ เกิดจากปาฏิหาริย์แรงแค้นของนางอั้วมิ่งเวียงไชย ที่ตามมาหลอกหลอนจำแลงร่างขณะฝนฟ้าคะนอง ดลใจให้พระญามังรายหวนรำลึกถึงคำสาบานกับนางตอนที่แรกสยุมพรใหม่ๆ ว่าจะรักเดียวใจเดียว หากฝ่ายใดผิดวาจาขอให้ฟ้าดินลงโทษ

ทว่า ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองลำพูน "มหาสิงฆะ วรรณสัย" กลับเชื่อว่า เป็นเพราะพระญามังรายกระทำบาปมหันต์ต่อพระพุทธศาสนามากกว่า

กล่าวคือช่วงที่มังรายยึดลำพูนได้นั้น พระองค์สั่งให้ทหารจุดไฟเผาองค์พระบรมธาตุหริภุญไชยถึงสามครั้งสามครา จนถูกอสุนีบาตฟาดเปรี้ยงเฉี่ยวแฉลบพระเศียรมาแล้วอย่างหวุดหวิดถึงสามคำรบ เป็นการเตือนว่าอย่าเล่นกับของสูงของศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดต้องทรุดตัวลงก้มกราบขอขมา แล้วหันมาทำนุบำรุงพระบรมธาตุยิ่งชีวิต


ประเด็นการเผาพระธาตุกับการนอกใจมเหสีนี้ คงต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง ว่าข้อใดมีความสมเหตุสมผลกว่ากัน ในเมื่อกษัตริย์สมัยก่อนล้วนแต่มีชายา-นางสนมได้หลายคน ถึงขนาดเอกสารจีนได้ขนานนามแคว้นๆ หนึ่ง ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือหริภุญไชยขึ้นไปเล็กน้อยว่า เมือง "ปาไป่สีฟู่" แปลว่า "เมืองแห่งชายา-นางสนม 500 องค์" ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าหมายถึงเมืองนครพิงค์ของพระญามังรายหรือไม่

สิ่งที่น่าตกใจก็คือทุกวันนี้เกิดค่านิยมใหม่ที่หวังผลด้านการท่องเที่ยว โดยโปรโมตให้ผู้หญิงพาคู่รักไปสบถสาบานความรักอมตะกันที่เจดีย์กู่คำเวียงกุมกาม

ไม่สงสารดวงวิญญาณของนางพญาอั้วมิ่งเวียงไชยกันบ้างหรือไร ชักจะเริ่มเขยิบภาพลักษณ์กลายเป็น "เจ้าแม่แห่งความรัก" ไม่ต่างจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมากแห่งวัดพนัญเชิญเข้าไปทุกวันแล้ว



.