http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-11

มืดมิด โดย คำ ผกา

.

บทความของปีที่แล้ว 2554

มืดมิด
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 89


"ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะกำหนดให้นักศึกษา ต้องเรียนวิชา TU100 หรือวิชาความเป็นพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 3 หน่วยกิต เป็นเวลา 48 ชั่วโมง/เทอม
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่เปิดวิชาดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่ต่อตนเองเท่านั้น และให้มีจิตสำนึกในการรักประเทศชาติ โดยจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2554 นี้

วิชาดังกล่าว จะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่จะเน้นให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การป้องกันยาเสพติด การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนอยากให้นักศึกษาได้ออกมาทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อจะได้มี ประสบการณ์ชีวิต ไม่อยากให้นักศึกษาเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น" http://news.mthai.com/general-news/104127.html


เป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงในการทำความเข้าใจว่าทำไมในหลักสูตรการศึกษา ยิ่งในระยะเริ่มต้นของการมีการศึกษามวลชนในยุคแรกจำเป็นต้องมีวิชา "ศีลธรรม" และ "หน้าที่พลเมือง"

การศึกษามวลชนของไทยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2464 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการขยายการศึกษาออกสู่ประชาชนในช่วงแรกด้วยสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่ความขัดแย้งกันทางนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของผู้นำ ความลักลั่นทางอุดมการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาให้แก่ "คนไทย" ทั้งนี้ ในสมัยนั้นยังไม่แน่ใจว่าใครคือ "คนไทย" และพวกเขาสมควรที่จะมีการศึกษาต่ำสุดแค่ไหนและสูงสุดแค่ไหนจึงจะไม่คุกคามเสถียรภาพของชนชั้นนำ

อีกทั้ง รัฐสยามในยุคนั้นเริ่มเผชิญกับการท้าทายอำนาจจาก "คนรุ่นใหม่" เช่น กบฏในปี ร.ศ.130 ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องการบรรจุตำราเรียนในยุคนั้นก็มีตำราที่ว่าด้วย "หน้าที่พลเมือง" เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "คน" กับ "รัฐ" ว่าพึงสัมพันธ์กันแบบไหนอย่างไร

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เพื่อสอนให้คนในบังคับของรัฐสยามมีความภักดีและไม่เป็นกบฏต่ออำนาจรัฐอันจะเป็นอันตรายต่อชนชั้นนำที่กุมอำนาจเอาไว้และแน่นอนว่าไม่มีใครในโลกนี้อยากสูญเสียอำนาจที่ตนถือครองอยู่

วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ทั้งนี้ เนื่องจาก ความหมายของ "รัฐ", ใครคือ "เจ้าของอำนาจรัฐ", ใครคือ "คนไทย?" อะไรคือ "รัฐธรรมนูญ", อะไรคือ "ชาติ"

หลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยน "ระบอบ" รัฐ และ "อำนาจใหม่" มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจไวยากรณ์ทางอำนาจใหม่ ภูมิศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่ และแม้กระทั่งการทำความเข้าใจ รัฐ, ชาติ และ ประเทศ โดยผ่าน แผนที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า หน่วยทางการเมืองอันใหม่ที่เกิดขึ้นนี้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน และสิ้นสุดอาณาเขตกันที่ไหน ณ เส้นพรมแดนไหนที่ความเป็น "คนไทย" จะสิ้นสุดลง

ไม่เพียงแต่วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม ก็เป็นหนึ่งในพรมแดนความรู้ที่รัฐต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะ "ศีลธรรม" ของสังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับ ศีลธรรม ของสังคมที่ตั้งความหวังเอาไว้ให้เป็นสังคมของรัฐชาติแบบใหม่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ย่อมมีความแตกต่างกัน

ศีลธรรมของรัฐใหม่ ต้องการสถาปนา "ศีลธรรม" ของพลเมืองที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐ เริ่มตั้งแต่การกำหนดบทบาทของพลเมือง หญิง - ชาย, การกำหนดความหมายของคำว่าครอบครัว, ความหมายของความรัก การแต่งงาน ชีวิตคู่ บทบาทและหน้าที่ของ สามี, ภรรยา, พ่อ,แม่ และลูก ที่พึงมีต่อกัน

รวมไปถึงการใช้รูปแบบของครอบครัวในฐานะที่เป็นตัวแบบ (model) ของรัฐ โดยมีผู้ปกครองเปรียบเสมือนพ่อและประชาชนเปรียบเสมือนลูก ส่วนแผ่นดินนั้นเปรียบเสมือนแม่



ความแตกต่างของศีลธรรมและจริยธรรมของครอบครัวในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับรัฐ-ชาติใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นอันจำต้องจับประชาชนเข้า "เบ้าหลอม" กันใหม่ (ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า อันที่จริงแล้ว รัฐก่อนสมัยใหม่หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทบจะไม่จำเป็นต้อง "หลอม" คนในบังคับของตนด้วยความรู้หรือระบบการศึกษา แต่สามารถปกครองด้วยการใช้อำนาจ, อาวุธ และความตายที่ผู้ปกครอง-ในทางทฤษฎีแล้ว-มีความชอบธรรมในการหยิบยื่นให้กับคนในบังคับของตนได้ทุกเมื่อ) เริ่มตั้งแต่ การเปลี่ยนบรรทัดฐานจากระบบผัวเดียวหลายเมียไปสู่ครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว ความสัมพันธ์ระหว่าง "พ่อ" กับ "ลูก" ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเกรงกลัวในอำนาจอันไม่มีที่สุดของผู้เป็นพ่ออีกต่อไป แต่พึงสัมพันธ์กันด้วย "ความรัก" และ "ความผูกพัน"

อย่างไรก็ดี แม้จะสัมพันธ์กันด้วยความรักมากกว่าความกลัว บทบาทของพ่อและแม่ที่มีต่อลูก ยังเป็นบทบาทของผู้ที่ต้อง "สั่งสอน" "ควบคุม" และ "ดูแล" ให้ลูกๆ อยู่ในโอวาท ประพฤติตัวดี

ทั้งนี้ "รัฐ" เป็นผู้กำหนดว่า อะไรคือ "ความดี" ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงภาษา วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง เช่น การมีเมียหลายคนถือเป็นเรื่องปกติ และต่อมา การมีเมียหลายคนถูกถือว่าเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ทำลายสถาบันครอบครัว ดูถูกผู้หญิง เป็นผู้ชายที่ไม่มีความซื่อสัตย์

หรือการเข้ามาจัดการร่างกายของพลเมืองโดยรัฐ ผ่านการออกระเบียบ รัฐนิยมว่าด้วยการแต่งกาย การกำหนดมาตรฐานมารยาท การนั่ง ยืน เดิน นอน กิน อากัปกิริยาการพูด การเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องเหมาะสม

ทั้งหมดนี้รัฐกระทำผ่านครอบครัว, เด็ก, โรงเรียน, ครู, แบบเรียน โดยที่โรงเรียน, หลักสูตรการศึกษา, ครู ทำหน้าที่เป็นเอเย่นต์หรือตัวแทนของอำนาจรัฐ ส่งผ่านองค์ความรู้ที่รัฐออกแบบเอาไว้ผ่าน เด็กหรือนักเรียน

จากนั้น นักเรียน ใช้ความรู้นี้ไปกำกับพ่อและแม่อีกชั้นหนึ่ง เช่น ถ้าพ่อแม่ กินข้าวมูมมาม อาจจะถูกลูกตำหนิว่า "ที่โรงเรียนครูบอกว่าก่อนกินข้าวต้องล้างมือ ไม่พูดขณะรับประทานอาหาร และไม่เคี้ยวข้าวเสียงดัง"

หรือที่เราพบเห็นกันบ่อยมากคือ ลูกตำหนิพ่อแม่ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการที่รัฐรณรงค์มิให้ พ่อแม่ ดื่มเหล้า หรือ สูบบุหรี่ให้ลูกเห็น บนข้อสมมุติฐานที่ว่า "จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชนของชาติ"

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการ "หล่อหลอม" ของรัฐนั้น รัฐไม่อาจหวังผลว่าจะได้ "พลเมือง" ที่ได้ดั่งใจไปทุกประการ (และในกระบวนการสร้างรัฐ-ชาติ หรือ state formation นั้นยังประสบความสำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การสร้างระบบบริหารราชการแบบใหม่ ฯลฯ นอกเหนือไปจากการกล่อมเกลาเชิงอุดมการณ์)

ทั้งนี้ เนื่องจาก "พลเมือง" เป็น "มนุษย์" ที่ไม่อาจเอามา "ฝึก" กันได้ง่ายๆ เหมือนการฝึกลิงให้ขึ้นต้นมะพร้าวหรือฝึกหมา ฝึกแมวให้ทำตามคำสั่งของเจ้าของอย่างไม่บิดพลิ้ว



ผลของการบ่มเพาะ "ศีลธรรม" ชุดใหม่ให้แก่พลเมือง อีกด้านหนึ่งหนึ่งคือการกระตุ้นในพลเมืองมีสำนึกใหม่ว่าต่อไปนี้ตนมิใช่ "คนในบังคับ" ของรัฐ แต่เป็นพลเมืองที่นอกจากมี "หน้าที่" ต่อรัฐแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกับหน้าที่คือ "สิทธิ"

นอกจากนี้ การศึกษาแม้จะเป็นเครื่องมือในการครอบงำ แต่ขณะเดียวกันมันย่อมเป็นเครื่องมือของการปลอดปล่อย เมื่อประชาชน อ่านออกเขียนได้ ประชาชนย่อมได้อ่านในสิ่งรัฐไม่ได้สั่งให้อ่าน หรือกำหนดให้อ่าน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้อ่านในสิ่งที่รัฐ มิปรารถนาจะให้อ่าน หรืออ่านในสิ่งที่รัฐเองอาจจะไม่เคยอานมาก่อนจึงห้ามหรือเซ็นเซอร์ไม่ทัน

การแหกวงล้อมของการเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามคือหนทางของพลเมืองในการปลดปล่อยตนเองออกจากการหล่อหลอมครอบงำโดยรัฐ และในสังคมที่บรรยากาศของประชาธิปไตยเติบโตไปอย่างไร้การขัดจังหวะ ทีละเล็กทีละน้อย ประชาชน และพลเมืองจะค่อยๆ เข็มแข็งขึ้นจนยากที่รัฐจะเข้ามาควบคุมจัดการ มีแต่รัฐเท่านั้นที่จะถูก ประชาชน สอดส่อง ควบคุมมิให้เหิมเกริม มาคุกคามพื้นที่ส่วนตัวของพลเมือง

และพื้นที่สำคัญที่สุดในการเสริมความแข็งแกร่งให้แกประชาชนคือ พื้นที่ของงานศิลปะ วรรณกรรม บทวี ดนตรี หนัง ควบคู่ไปกับการกดดันให้รัฐคายอำนาจในการควบคุม ผูกขาดระบบการศึกษา และอาจไปไกลจนรัฐไม่อาจผูกขาดการเขียนตำราเรียนแต่เพียงผู้เดียว

ท่ามกลางการปลดปล่อยตนเองออกจากอุดมการณ์ของรัฐนี้ กระบวนการสร้างรัฐและชาติในช่วงแรกที่จะถูกตีแผ่ เปิดโปง ตำราเรียน แบบเรียนประวัติศาสตร์ที่รัฐ "แต่ง" ขึ้นมาจะถูกแฉโพยว่าโกหก บิดเบือนอย่างไรบ้าง

"ชนกลุ่มน้อย" หรือกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสรองจะสามารถเข้ามาต่อรงขอพื้นที่ทางเลือกในการใช้ชีวิตโดยมิต้องถูกดูถูกดูหมิ่น และมีโอกาสที่จะสร้าง "เรื่องเล่า" ของตนเองขึ้นมาแข่งขันกับเรื่องเล่าเดิมๆ ที่เคยผูกขาดการรับรู้ของผู้คนแต่เพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้น มันจึงเป็นสังคมที่ผู้คนแข่งกันส่ง "เสียง" ขณะเดียวก็ไม่มีใครมีสิทธิที่จะมาสั่งให้ใคร "หุบปาก" และหยุดเปล่งเสียงออกมา แม้มันจะเป็นเสียงที่ไม่น่าฟังอย่างที่สุดก็ตาม



และทั้งหมดนี้ทำให้วิชาว่าด้วย "ศีลธรรม" และ "หน้าที่พลเมือง" เป็นวิชาที่ตกยุค หมดสมัย หมดหน้าที่ไปในสังคมที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไร้รอยสะดุด

ไม่ต้องพูดถึงว่าแม้ในแต่ในยุเริ่มแรกของการ "สร้างชาติ" ที่หลายๆ นโยบายเกือบจะคล้ายกับระบอบของสตาลินในการ "ล้าง" สมอง พลเมือง ก็ยังไม่มีความคิดที่จะบรรจุวิชาว่าด้วย หน้าที่พลเมือง" เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เทียบกันไม่ได้แม้แต่การตั้งใจตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมาเพื่อให้เป็น "ตลาด" วิชาสำหรับคนไทยทุกผู้ทุกคนไม่เลือกผู้ลากมากดี จนหรือรวย ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

และคงปฎิเสธไม่ได้ว่าลูกไพร่หลายต่อหลายคนมีโอกาสได้ "อัพคลาส" หรือเลื่อนสถานะชนชั้นของตนขึ้นมาจากกำพืดไพร่มาเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยผ่านตลาดวิชาอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และคงไม่ต้องมาสอนหนังสือสังฆราชว่ามหาวิทยาลัยนั้นควรจะเป็นพื้นที่ของการ "แสวงหาปัญญา" มิใช่พื้นที่ของการ "ล้างสมอง" หรือรื้อฟื้นลัทธินาซีหรือระบอบสตาลินขึ้นมาใหม่ ในนามของความปรารถนาที่จะ "ปลูกสำนึกของความรักชาติ"

เพราะหากเมื่อไหร่ที่มหาวิทยาลัยคิดถึงการล้างสมองมากกว่าการทำหน้าที่แสวงหาปัญญาแล้วเมื่อนั้น อนาคตของเมืองไทยคงมืดมิดแตกดับ และพวกเราคงต้องทำใจที่จะอยู่กับความมืดมิดทางปัญญาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สุดท้ายนี้ขอไว้อาลัยให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ร่วมบรรจุความมืดมิดนี้ไว้แด่สังคมไทยผ่านหลักสูตรวิชาความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม



.