http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-12

เกษียร: วิพากษ์ "พธม.-สนธิ"/ สวมบท "หมอดูรัฐศาสตร์" แล้วแม่นยำ..ผมไม่ดีใจเลยแม้แต่น้อย..

.

"เกษียร" วิพากษ์ "พธม.-สนธิ" ชี้ปรับยุทธวิธีรับ "กระแสต่ำ" แต่ยังติดกับดักวิธีคิด "สุดโต่ง"
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:00 น.


นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับมติที่ประชุมสวนลุมพินีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และท่าทีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาดังนี้


พันธมิตรฯ ปรับตัวตั้งมั่นเชิงยุทธวิธีเพื่อรับกระแสต่ำ แต่ยังติดกับดักโวหาร-วิธีคิดสุดโต่งของตัวเอง


มติที่ประชุมสวนลุมพินีของพันธมิตรฯ เมื่อวานสะท้อนว่าพวกเขาเข้าใจและพยายามปรับตัวรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อน

ตอนนั้น พธม.เชื่อว่ากำลังปราบปรามของตำรวจฝ่ายเดียว พวกตน "เอาอยู่" ด้วย รปภ.ศรีวิชัยติดไม้กอล์ฟและอาวุธเบา จึงเดินหน้ายึดทำเนียบ-สนามบินเพื่อบีบให้ทหาร-ตุลาการ-หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย (ข้อคิดของอ.นิธิในมติชนสุดสัปดาห์ล่าสุด) ร่วมยุทธการรบแตกหักของตน จนสามารถเอารัฐบาลพลังประชาชนออกจากตำแหน่งต่อกัน 2 ชุดได้ดังหวัง

ทว่ามาครั้งนี้ พวกเขาตระหนักขึ้นว่ากำลังโดดเดี่ยว ทหาร-ตุลาการ-หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายไม่เอาด้วย เพราะกำลังอยู่ในโหมด "ปรองดอง" กับรัฐบาลเพื่อไทย เพื่อรับมือป้องกันวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ซ้ำสอง/การบริหารจัดการทุนนิยมไทยเชิงมหภาค ดังนั้นท่าทีเชิงปฏิบัติทางยุทธวิธีจึงตั้งมั่นตรึงกำลัง วางโครงการเคลื่อนไหวโฆษณาสัญจรเสริมความคิดกำลังใจกระชับกำลังคนทั่วประเทศก่อน รอจนกว่าทหาร-ตุลาการ-และสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายจะ "เอาด้วย"


มันสะท้อนขีดจำกัดของพลังและสถาบันที่ไม่ใช่เสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) ที่จะขัดขวางทัดทานเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภา ลำพังขบวนการอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมสุดโต่งเสียงข้างน้อยยังโดดเดี่ยวเกินไปเบื้องหน้าการปรองดองชั่วคราวระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งกับชนชั้นนำเดิม จนกว่าจะได้สถาบันที่ไม่ใช่เสียงข้างมากอื่น ๆ มาร่วมมือ จึงจะเปลี่ยนยุทธวิธีไปสู่การเคลื่อนกำลังโจมตีได้


เงื่อนไขสองข้อที่ประกาศ (ไม่ลดพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ-ไม่เอาทักษิณกลับ) ไม่ต้องประกาศก็ได้เพราะรู้ ๆ กันอยู่และก็เป็นกระบวนท่ารับล้วน ๆ คือขอประคองรักษา post-coup status quo (สถานะที่เป็นอยู่เดิมหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ เป็นต้นมา - มติชนออนไลน์) ไว้ ไม่ใช่การรุกเพื่อสร้างระบอบใหม่อย่างแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 แต่อย่างใด


ทว่าในแง่โวหารและวิธีคิดโดยเฉพาะของแกนนำอย่างสนธิ ลิ้มฯ ก็ยังคงสุดโต่งเหมือนเดิม มันสะท้อนว่าเขาไม่คิดขยายลูกค้าไปช่วงชิงหรือดึงคนกลาง ๆ มามากขึ้น (ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ต้องปรับโวหาร ขยายให้กว้างหรือเจือจางให้ไม่สุดโต่งเกินไปซึ่งเป้าการต่อสู้) และก็สะท้อนความอับจนทางภูมิปัญญาการเมืองของพวกเขา

รู้อยู่ทางเดียวในการต้านอำนาจการเมืองของทุนใหญ่ คือดึงสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งพูดตรง ๆ นะครับ ไม่มีอนาคตตามหลักความเป็นอนิจจังของโลก ของสังคม และของมนุษย์ปุถุชน

จะต้านทุน อย่าหวังพึ่งอำมาตย์ มันไม่มีอนาคต ต้องสามัคคีกับไพร่ ในความหมายหลังนี้พันธมิตรฯ ยังคิดไม่เป็น และติดกับดักระบบคิดอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมของตนเอง



++

เกษียร เตชะพีระ สวมบท "หมอดูรัฐศาสตร์" ความแม่นยำ...ไม่ได้ทำให้ผมดีใจเลยแม้แต่น้อย...
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:10:59 น.


ตั้งแต่เป็นนักรัฐศาสตร์มา ไม่บ่อยนักที่ผมจะทำนายการเมืองถูก

แรกเริ่มสุดไปร่วมการปฏิวัติในป่าก็ดันแพ้ จนต้องมานั่งทำวิทยานิพนธ์ค้นคว้าวิเคราะห์การเมืองวัฒนธรรมของขบวนการปฏิวัติและฝ่ายชนชั้นปกครองย้อนหลังเป็นวรรคเป็นเวร ถึงจะเฝ้าเก็บข่าวข้อมูล ตามสังเกตพฤติกรรมตัวละครในแวดวงการเมืองมาหลายสิบปี ผ่านการลุกฮือนองเลือดและรัฐประหารก็อย่างละสี่ซ้าห้าหกครั้ง รวมไฟล์ข่าวข้อมูลทั้งหมดในฮาร์ดดิสก์นับร้อยกิกะไบต์ แต่ก็ยังมักงงๆ อยู่ เพราะเหล่าปัจจัยตัวแปรทั้งเปิด, ปิด, และลักปิดลักเปิดมันเยอะเหลือเกิน

ดังนั้น นานๆ ทายถูกสักทีก็อดปลื้มไม่ได้


อาทิ 7 เดือนกับอีก 2 วันก่อนที่ป๋าเปรม กับนายกฯปู ยิ่งลักษณ์จะปรองดองฟังเพลง ซิมโฟนี ออเคสตรากันอย่างชื่นมื่นในงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" มูลค่า 10 ล้านบาท ที่ทำเนียบรัฐบาล ผมเคยไปกล่าวปาฐกถาทำนายแนวโน้มดังกล่าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไว้ในงานสัมมนา "ขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคมยุครัฐบาลใหม่" จัดโดยเครือธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ศกก่อน ตอนหนึ่งว่า : -

"หากทำได้ รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณคงต้องการทั้งรอมชอมกับชนชั้นนำเก่าและเอาใจมวลชนเสื้อแดงไปพร้อมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายอำนาจการเมืองและการทวงคืนความยุติธรรมของตน, แต่หากต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง คงง่ายกว่าที่รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณจะโน้มไปในทางเลือกรอมชอมกับชนชั้นนำเก่า แทนที่จะตอบสนองมวลชนเสื้อแดงอย่างเต็มที่ (ดังคำกล่าวของคุณทักษิณช่วงเลือกตั้งในทำนองว่า คนที่เจ็บกว่าใครเพื่อนต้องยอมลืมและให้อภัยก่อน) รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณ น่าจะหยิบยื่นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องหลักสำคัญที่สุดแก่มวลชนเสื้อแดงอย่างใจกว้าง ไม่ว่าให้ลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้นๆ หรือตำแหน่งฝ่ายบริหารกับแกนนำเสื้อแดง, ยกย่องสดุดีหรือชดเชยค่าเสียหายบาดเจ็บล้มตายแก่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์มีนา-พฤษภาอำมหิต 2553, เปิดโอกาสเพิ่มงบประมาณให้คณะกรรมการชุดต่างๆ ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนานออกไปเรื่อยๆ ฯลฯ

"ทางแพร่งนี้ย่อมแสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจนและแหลมคมที่สุดในปัญหาความจริง, ความยุติธรรม, และความรับผิดชอบต่อกรณี 92 ศพ มีนา-พฤษภาอำมหิต 2553 นั่นเอง....."

เมื่อแรกผมเสนอคำทำนายดังกล่าวนี้ ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ แม้แต่ลูกศิษย์ในที่ปรึกษาซึ่งค้นคว้าวิจัยการเคลื่อนไหว นปช. เพราะเขาเห็นว่ารอยแตกแยกระหว่างเครือข่ายทักษิณกับอำมาตย์นั้น ร้าวลึกมากแล้ว ยากประสาน มิพักต้องพูดถึงสื่อในเครือเอเอสทีวี/ผู้จัดการ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่แทบจะเอาคอเข้าไปเสี่ยงเพื่อต้านทักษิณให้อย่างยอมถวายหัว แต่ผมเชื่อว่าตัวเองดูแบบแผนพฤติกรรมของอีลีตไทยไม่ผิด

และแล้ว...แอ่นแอ๊น...มหาอำมาตย์ก็ลดกระจกเรียกน้องเลิฟอดีตนายกฯไปยิ้มแย้มต่อกระซิกกันข้างรถ ขณะที่คนอื่นๆ ยืนทำสีหน้าแววตาหัวร่อไม่ออกร้องไห้ไม่ได้ ชอบกล หรือไม่ก็ออกมาอาละวาดโวยวายที่เหมือนถูกแขวนให้ห้อยต่องแต่งแห้งเฉาตายอยู่นอกเวที ระหว่างที่เขาแก้รัฐธรรมนูญกัน


นี่ก็เหมือนกัน 25 วันก่อนที่สองฝาแฝด สุพจน์ กับ สุพัฒน์ ศิลารัตน์ รุมชกต่อย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ลานจอดรถคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วยความเข้าใจว่า "อย่างน้อยในซักครั้ง ที่ผมได้ทำเพื่อชาติ เพื่อสถาบัน ที่ผมรัก" (http://news.voicetv.co.th/thailand/32638.html ) ผมได้มีโอกาสตอบคำถามของ คุณสนิทสุดา เอกชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการ Bangkok Post เกี่ยวกับแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์ปัจจุบัน ("Kasian warns hatred could get out of hand", 4 February 2012, p.3) และคาดเล็งความเป็นไปได้ของกรณีทำร้ายกันทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งผมขออนุญาตแปลสู่ท่านผู้อ่าน ดังนี้ : -

สนิทสุดา : คุณคิดไหมคะว่า ความขัดแย้งอันดุเดือดเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกลัวกัน?

เกษียร : ถ้าเป็นความรุนแรงที่จัดตั้งโดยรัฐ ผมคิดว่าไม่, แต่ถ้าเป็นความรุนแรงที่เป็นไปเองหรือเกิดจากม็อบของพวกจงรักภักดีต่อสถาบันสุดโต่งที่ได้ข้อมูลผิดๆ ละก็ อาจเป็นได้ครับ


สนิทสุดา : ทำไมมันถึงไม่น่าจะนำไปสู่ความรุนแรงที่จัดตั้งโดยรัฐล่ะคะ?

เกษียร : เพราะเหตุปัจจัยหลัก 3 ประการครับ

ประการแรก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ค่อนข้างอ่อนแอเนื่องจากขาดพร่องทั้งความชอบธรรมและประสิทธิภาพอย่างแจ้งชัด กล่าวคือ โอนอ่อนผ่อนตามพี่ใหญ่ของเธอที่หนีคดีลี้ภัยอยู่โพ้นทะเลเกินไป และยังบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมแย่มากด้วย

รัฐบาลที่อ่อนแออย่างนั้นย่อมตัดสินใจยากว่าจะทำอย่างไรดี โดยเฉพาะเมื่อเจอเรื่องร้อน อย่างข้อเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเมื่อตัดสินใจว่าไม่สนับสนุนข้อเสนอนั้นแล้ว รัฐบาลก็ไม่สามารถจะตีกรอบล้อมวงผลกระทบข้างเคียงของการตัดสินใจดังกล่าวต่อผู้สนับสนุนรัฐบาลที่พากันผิดหวังได้

ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงหรือการบังคับของรัฐต่อบรรดาผู้เรียกร้องการปฏิรูป

ประการที่สอง ภารกิจใหญ่โตและเร่งร้อนที่สุดในมือของชนชั้นนำทุกๆ เครือข่ายไม่ว่าฝ่ายอำมาตย์หรือทักษิณก็ตาม คือ ต้องรีบรวมศูนย์อำนาจรัฐเพื่อปรับรื้อการบริหารจัดการเศรษฐกิจทุนนิยมมหภาคที่ถูกซัดพังทลายลงด้วยน้ำท่วมใหญ่ และยังส่อเค้าว่าจะต้องเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติในอนาคตอีก เนื่องจากปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

ภาวะสะดุดชะงักเสียกระบวนอย่างร้ายแรงซึ่งอุตสาหกรรมส่งออกที่ทุพพลภาพบางส่วน ของเราส่งผลกระทบต่อสายโซ่การผลิตระดับโลกนั้นหนักหน่วงมหาศาลและไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ถ้าหากจะให้เศรษฐกิจทุนนิยมไทยอยู่รอดและไม่ถูกบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายโดยเฉพาะของญี่ปุ่นตัดหางปล่อยวัด

ดังนั้นเองชนชั้นปกครองเครือข่ายต่างๆ จึงก่อรูปพันธมิตรทางการเมืองใหม่ขึ้นมาในรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เพื่อดำเนินการดังกล่าวให้ลุล่วงไปเบื้องหน้า งานหนักหนาสาหัสดังกล่าว การเผชิญหน้าทางการเมืองที่รุนแรงใดๆ รังแต่จะทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีกและบ่อนทำลายทุนทางการเมืองเท่าที่หลงเหลืออยู่ของรัฐไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติจนย่อยยับ

ฉะนั้น ชนชั้นนำที่ปกครองจึงไม่น่าจะต้องการให้เกิดเหตุวุ่นวายนองเลือดขึ้นอีกครั้ง

ประการที่สาม บริบทการเมืองระหว่างประเทศตอนนี้ก็แตกต่างจากย้อนหลังไปสมัยเมื่อปี พ.ศ.2519 มากทีเดียว

ตอนนั้นเรามีสงครามเย็นระดับโลก บวกกับสงครามร้อนระดับภูมิภาคในอินโดจีน สหรัฐอเมริกาอยู่ข้างไทยในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และดังนั้น จึงอดกลั้นอดออมยอมให้มีการฆ่าฟันนองเลือดตามท้องถนนในกรุงเทพฯบ้าง และให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งภัยแดงตอน 6 ตุลาฯ

แต่มาตอนนี้ กลับกลายเป็นว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติพากันออกมาคัดค้านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังที่เป็นอยู่อย่างเปิดเผย นี่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและย่อมทำให้ชนชั้นนำไทยต้องทบทวนยับยั้งชั่งใจบ้างก่อนจะปล่อยให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองที่จัดตั้งอย่างขนานใหญ่อันอุบาทว์อัปลักษณ์ใดๆ ในเรื่องนี้


สนิทสุดา : นั่นแปลว่าตอนนี้ไม่จำต้องห่วงใยเรื่องความรุนแรงใดๆ แล้วใช่ไหมคะ?

เกษียร : วิธีที่ฝ่ายผู้จงรักภักดีต่อสถาบันถกเถียงเรื่องนี้ออกจะน่าเป็นห่วงมากทีเดียว บรรดาโฆษก และผู้สนับสนุนฝ่ายนั้นพากันเผยแพร่คำโกหก ใส่ร้ายป้ายสี ยั่วยุให้ดูหมิ่นเกลียดชัง เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงและข่มขู่คุกคามตามสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตอย่างไม่รับผิดชอบ

บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าความเกลียดชังที่ถูกปลุกระดมขึ้นมาจนหน้ามืดตามัวนี้จะเตลิดเปิดเปิงจนคุมไม่อยู่หรือไม่และเมื่อใด และพวกจงรักภักดีสุดโต่งจนคลุ้มคลั่งขาดสติบางคนอาจตัดสินใจแปรความรักสถาบันให้กลายเป็นความรุนแรงต่อเพื่อนคนไทยด้วยกันที่คิดเห็นเรื่องนี้ต่างออกไป

นั่นคือ เรื่องที่เราควรรวมศูนย์สนใจและหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอย่างสุดความสามารถเท่าที่ทำได้

ความแม่นยำของคำทำนายในกรณีหลังนี้ไม่ได้ทำให้ผมดีใจเลยแม้แต่น้อย.....



.