http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-31

100 ปีชาตกาล ศ.ฌอง บัวเซอลีเยร์ ..แห่งปลายบุรพทิศรุ่นสุดท้าย โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ "ฌอง บัวเซอลีเยร์" สายสัมพันธ์โบราณคดีไทย-สำนักฝรั่งเศส แห่งปลายบุรพทิศรุ่นสุดท้าย
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 76


26 เมษายนศกนี้ จะครบรอบ 100 ปีชาตกาลของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสนามอุโฆษ "ฌอง บัวเซอลีเยร์"
ท่านเกิดปี พ.ศ.2455 (ค.ศ.1912) และได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2539 ขณะที่มีอายุ 84 ปี
ความน่าสนใจของศาสตราจารย์ท่านนี้ก็คือ เป็นนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสรุ่นสุดท้าย ที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่าง "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ" กับวงการโบราณคดีสยามเข้าด้วยกัน ก่อนจะปิดฉากลงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เพราะหลังจากนั้นแล้ว แวดวงประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยก็ค่อยๆ แยกทางเดินเหินห่างออกจากเพื่อนบ้านอินโดจีนในยุคคอมมิวนิสต์ พร้อมกับโบกมือลามหาวิทยาลัยซอร์บอนน์อย่างเงียบๆ แล้วหันไปสมาทานวิชาโบราณคดีสายอเมริกัน-ออสเตรเลียนแทน


Jean Boisselier อ่านเป็นไทยว่าอย่างไร?

เมื่อต้องเขียนนาม Jean Boisselier ให้เป็นภาษาไทย แทนที่จะใช้ว่า "ช็อง บ๊วสเซอลีเย่" ตามเสียงอ่านที่เราเสพคุ้น กลับกลายเป็นว่า หากยึดถือหลักคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ตามที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ อาจต้องใช้ "ฌอง บัวเซอลีเยร์"

หรือดีไม่ดี ฌอง อาจถูกเปลี่ยนเป็น ชอง และเยร์ ไม่น่าจะมี ร์

จริงเท็จอย่างไร ใคร่รบกวน อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ แห่งคอลัมน์ "มองไทยใหม่" มาช่วยยืนยันให้ด้วย เนื่องจาก 2-3 เดือนก่อน ท่านเคยเปิดประเด็นชื่อนักของปรัชญาคนดัง Jean-Jacques Rousseau ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ นามที่เราคุ้นเคย ทว่า อาจารย์นิตยามีหลักเกณฑ์ให้เขียนใหม่ว่า "รูโซ" ไม่ใช่ "รุสโซ"

เหตุก็เพราะภาษาฝรั่งเศสนั้น หากดับเบิลเอส SS เจอกันเมื่อไหร่ เอสตัวแรกจะกลายเป็นใบ้ไม่ออกเสียง ด้วยถือว่าเป็นตัวสะกดที่คล้ายว่าใส่การันต์ของคำหน้า ส่วนเอสตัวหลังก็กลายเป็นตัวสะกดของสระถัดไป

เช่น Paris อ่านแบบฝรั่งเศสว่า ปารี ไม่มีเสียงเอสตบท้าย หรือจิตรกร Degas เดอกา ก็ไม่ออกเสียงเป็น เดอกาส

ในขณะที่หากมีเอสเพียงตัวเดียว ตั้งอยู่ระหว่างสระสองตัวประกบหน้า-หลัง เอสตัวนั้นกลับทำหน้าที่สองอย่าง คือเป็นทั้งตัวสะกดและพยัญชนะต้นของตัวหลัง

งงกันใช่ไหม ทีเอสสองตัวออกเสียงเหมือนมีเอสตัวเดียว แต่ครั้นพอเอสตัวเดียวกลับออกเสียงเหมือนเอสสองตัว นี่แหละความมหัศจรรย์ของภาษาฝรั่งเศส!

นักเรียนไทยไปอยู่ปารีสใหม่ๆ แกรมมาร์ยังไม่แข็งพอ มักเรียก poisson (พัวซง) แปลว่า ปลา กับ poison (พ็วสซง) แปลว่าน้ำหอม หรือยาพิษ สลับกันเสมอ

หรือคำว่า Renaissance เรอเนซอง ไม่เคยนึกแปลกใจกันบ้างหรือไร ว่าทำไมไม่เขียนว่า เรอแนสซองส์ อุ๊ย! ไม่เอาดีกว่า ชักจะลากยาวไปไกล ประเดี๋ยวอาจารย์นิตยาจะ "งานเข้า" มากเกินไป

เอาเป็นว่า เมื่อลูกศิษย์ลูกหาชาวศิลปากรเห็นคำว่า Boisselier สะกดด้วยเอสสองตัว จึงเรียก บ๊วสเซอลีเย่ และเรียกแบบย่อๆ ว่า "อาจารย์บ๊วส"



อาจารย์บ๊วสกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ

สํานักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ชื่อแปลเป็นไทยสุดเท่นี้มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า 'Ecole FranCaise d'Extre^me-Orient หรือชื่อย่อ EFEO เดิมเคยเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในแวดวงโบราณคดีเท่านั้น

จนกระทั่งเกิดชนวนปราสาทเขาพระวิหารขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้นักวิชาการสลิ่มเหลืองได้หยิบยกเอาชื่อสถาบันนี้มาโจมตีในเชิงลบ หาว่าก่อตั้งด้วยเจตจำนงอำพรางมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หน้าฉากใช้งานโบราณคดีศิลปวัฒนธรรมหลอกหากิน แต่หลังฉากนั้นเป็นเสมือนเครื่องมือรังแกอินโดจีนและสยามในยุคล่าอาณานิคม

อาจมีส่วนจริงตรงที่จุดเริ่มต้นของ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ก่อตั้งขึ้นในยุคจักรวรรดินิยม ประเทศฝรั่งเศสมีความตั้งใจส่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี ภาษาโบราณ ชาติพันธุ์วิทยา เข้ามาทำการสำรวจค้นคว้าแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และหลายพื้นที่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนผัง ภาพสเกตช์ วิเคราะห์ บันทึกรายงานไว้อย่างละเอียด นับแต่ปี พ.ศ.2443 เป็นต้นมา

หากมองในแง่ร้ายด้วยสายตาคนล้าหลังคลั่งชาติแบบสลิ่มเหลือง สำนักฝรั่งเศสฯ นี้ก็คือ "ระเบิดเวลา" ที่ฝรั่งเศสถอดสลักไว้ รอวันเขมือบขโมยเขาพระวิหารจากไทยไปให้เขมร

แต่หากมองอย่างสร้างสรรค์ ในยุคที่สยามยังไม่รู้จักกับงานโบราณคดีแม้แต่น้อย ถือว่าสำนักฝรั่งเศสฯ นี้มีคุณูปการต่อแนวทางการศึกษาและบริหารจัดการงานโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม แบบ Academy อย่างมีระบบระเบียบมากที่สุดในแถบอินโดจีน

ศ.ยอร์ช เซเดส์ ผู้มีส่วนช่วยถอดความศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัยนั้น ก็เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักนี้มาก่อนแล้ว ติดตามด้วยนักโบราณคดีหัวหอกยุคบุกเบิกที่เป็นผลผลิตจากสำนักนามเก๋ไก๋นี้อีกเป็นชุดๆ แต่ละท่านล้วนแต่มีส่วนเติมเต็มงานวิชาการให้แก่แวดวงโบราณคดีไทย อาทิ หลุยส์ ฟิโนต์ (ไม่ใช่ หลุยส์ ฟิโก้ นักฟุตบอลโปรตุเกสนะ), อองรี ปามังทิเยร์, ฟิลิป สแตร์น, ฟิลิป กลอสสิแยร์, ปิแยร์ ดูปองต์ ฯลฯ

ยอร์ช เซเดส์ นั้นเป็นสหายโบราณคดีรุ่นพ่อ คือรุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ส่วน ฌอง บัวเซอลีเยร์ เป็นสหายรุ่นลูก สนิทสนมยิ่งนักกับ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล นักประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อก้องที่ร่วมสมัยกัน


จากปารีสสู่นครวัด
จบลงที่สยามประเทศ

อาจารย์บ๊วสเกี่ยวข้องอะไรกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศหรือไม่

ท่านเคยปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก หากแต่ย้อนหลังกลับไปเมื่ออายุได้ 10 ขวบ ท่านมีความใฝ่ฝันอยากไปเดินทางไปนครวัด ก็เพราะได้อ่านผลงานที่ตีพิมพ์จากสำนักแห่งนี้เป็นแรงดาลใจ
เกิดที่ปารีสในครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากศิลปินหลายชั่วอายุ พ่อเป็นจิตรกร ปู่เป็นปราชญ์ด้านภาษากรีก-ละติน ส่วนทวดเป็นประติมากรหล่อโลหะ-แกะสลักไม้ อาจารย์บ๊วสจึงได้รับการบ่มเพาะสุนทรียวิสัยมาเต็มๆ โดยสายเลือด

หลังจากที่เข้าเรียนในสายออกแบบสถาปัตย์และวิจิตรศิลป์ระดับปริญญาตรีแล้ว ท่านตัดสินใจเบนเข็มศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะขอมอย่างเจาะลึก โดยขลุกตัวลงพื้นที่เก็บข้อมูลท่ามกลางซากปรักหักพังที่นครวัดนครธมอยู่นานหลายปี ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ซุ้มโคปุระของปราสาทบันทายกเด็ย
เมื่อเป็นมหาบัณฑิตแล้ว ได้ปวารณาตัวสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้แก่รัฐบาลกัมพูชา นั่นคือการจำแนก-วิเคราะห์-จัดทำคำบรรยาย โบราณวัตถุสมัยต่างๆ มากกว่า 6,000 ชิ้น เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ จวบจนปัจจุบันหนังสือนำชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็ยังคงใช้เวอร์ชั่นเดิมที่ท่านเรียบเรียงไว้

ภายหลังจากที่คร่ำหวอดด้านขอมศึกษาจนขึ้นแท่นมือหนึ่ง ท่านได้เขยิบความสนใจไปทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่องศิลปกรรมจามปา (รัฐโบราณในเวียดนาม) เพื่อขยายฐานองค์ความรู้

ในระหว่างที่อินโดจีนแปรผันไปเป็นคอมมิวนิสต์และปิดประเทศนานกว่าสามทศวรรษ ท่านจึงกลับฝรั่งเศส แต่ยังคงเป็นนักวิจัยมือทองของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ในขณะเดียวกันก็สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์

ตราบที่ยังเข้ากัมพูชาไม่ได้ อาจารย์บ๊วสหันมาให้ความสำคัญต่องานโบราณคดีสยามแทนที่ โดยเฉพาะระหว่างช่วงซัมเมอร์ของยุโรปตรงกับเดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นเวลาที่เราเปิดเทอม อาจารย์บ๊วส มักจะมาช่วยท่านสุภัทรดิศ กับ ศ.ไขศรี ศรีอรุณ (ขณะนั้นประจำอยู่ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี) สอนหนังสือที่ศิลปากร ท่านจึงมีความผูกพันกับเหล่าลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้งสองตามไปด้วย

โดยส่วนตัว ดิฉันชอบสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับอาจารย์บ๊วส เพราะท่านมักตั้งคำถามในนามของพุทธศาสนิกชนอย่างแหลมคม
กระทั่งปี 2535 อาจารย์บ๊วสได้กรุณาเขียนใบรับรอง (Recommendation) ถึงคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้แก่ดิฉัน ถือไปสมัครสอบเรียนต่อปริญญาเอก
ช่วงนั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ตอนเรียนปริญญาตรี แต่เรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกัน ก็ได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันแต่คนละประเทศ (ศักดิ์ชัยเรียนที่ฝรั่งเศส) เราถือว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านอาจารย์บ๊วสก็ว่าได้
เพราะหลังจากนั้น ท่านเสียชีวิตเมื่อปี 2539 ในระหว่างที่เรายังเรียนไม่จบดีนัก ทำให้พี่ศักดิ์ชัยต้องเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษากลางคัน ส่วนดิฉันก็ต้องเปลี่ยน Co-Adviser กับเขาด้วย (ล่อกรรมการอ่านวิทยานิพนธ์ซะข้ามประเทศเชียว)



คณะโบราณคดี-กรมศิลปากร
กับศาสตราจารย์ฌอง บัวเซอลีเยร์

ใครจะรังเกียจรังงอนนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ตามคำชวนเชื่อของนักวิชาการสมุนอำมาตย์ หาว่าเป็นพวกนักล่าเมืองขึ้น แอบวางยาจนทำให้ไทยต้องเสียเขาพระวิหารแก่เขมรก็ตามที
แต่สำหรับดิฉันแล้ว เห็นว่าในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล "ศาสตราจารย์ฌอง บัวเซอลีเยร์" ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 26 เมษายนนี้ คนในแวดวงวิชาการโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือแม้แต่นักโบราณคดี-ภัณฑารักษ์ชาวกรมศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ที่เคยเป็นศิษยานุศิษย์ของอาจารย์บ๊วสหลายต่อหลายรุ่น น่าจะจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการในวาระใดวาระหนึ่งของปีนี้ เพื่อรำลึกถึงท่านบ้าง

อย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการเปิดฉาก รื้อฟื้นสายสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ในด้านวิชาโบราณคดีที่ต่างคนต่างหันหลังแยกทางกันเดินมานาน
ต้อนรับศักราชใหม่แห่งการปรองดองเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน



.