.
วิวาทะ "เกษียร-ไพวรินทร์" (featuring สุวินัย) เมื่อ "กวีคิดนามธรรมไม่เป็น?" กรณีเงินเยียวยา 7 ล้านบาท
จากมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:30:00 น.
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) โดยกรณีที่เสียชีวิตจะได้รับ 1.เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต 4,500,000 บาทต่อราย ซึ่งคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบการจ่าย 2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ อัตรา 250,000 บาท และ 3.เงินช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียด้านจิตใจ จำนวน 3,000,000 บาท
นอกจากนี้ในกรณีที่เสียชีวิต โดยได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต ยังมีสิทธิได้เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท รวมกรณีเสียชีวิตนั้นอาจจะได้เงินช่วยเหลือสูงถึงประมาณ 7.95 ล้านบาท
มติครม.ดังกล่าวถูกวิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมทั้งนักเขียน นักกวี
"ไพวรินทร์ ขาวงาม" เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2538 จากหนังสือรวมบทกวี "ม้าก้านกล้วย" ได้เขียนบทกวีแสดงถึงความรู้สึกต่อมติครม.ครั้งนั้นออกมาผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ว่า
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 "เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์บทกวีของไพวรินทร์ว่า
ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น
ประเด็นของไพวรินทร์ไม่ต่างจากวสันต์ สิทธิเขตต์ ที่เขียนสเตตัสเขาในเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ กล่าวคือมองไม่เห็น ไม่สามารถเข้าใจ ว่ารัฐเอาชีวิต พลเมืองของรัฐโดยมิชอบ ไม่ได้, ว่าอำนาจรัฐต้องถูกจำกัดโดยสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง, เมื่อไหร่รัฐไปละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ฆ่า ทำร้าย โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือไปละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยมิชอบ) เมื่อนั้นรัฐใช้อำนาจเกินเลย (รัฐที่เป็นตัวแทนไพวรินทร์และวสันต์ด้วยนั่นแหละ) และต้องรับผิดชอบชดใช้
มันคนละเรื่องเลย กับทหารที่ไปรบกับข้าศึกแล้วตายที่ชายแดน ในกรณีหลังนั้น เขาทำงานให้รัฐตามกฎหมาย รัฐสั่งให้เขาไปรบไปเสี่ยงสละชีวิตตามกฎหมาย รัฐไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือใช้อำนาจเกินเลยต่อทหารเหล่านั้นแต่อย่างไร ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมันคนละแบบ คนละเรื่อง และเพราะคนละแบบ จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือครอบครัวผู้อยู่หลังของทหารเหล่านั้นผู้ประกอบคุณงามความดีและเสียสละเพื่อชาติก็ย่อมทำได้ อย่าว่าแต่เจ็ดล้านเจ็ดเลย สิบล้านก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นค่าชดเชยที่รัฐละเมิดสิทธิของทหารเหล่านั้น เพราะรัฐไม่ได้ละเมิด
กวีคิดนามธรรมไม่เป็น เป็นเรื่องน่าเศร้า คือมีอิทธิพลมาก แต่น่าเสียดายที่ใช้ความสามารถทางภาษาสูงของตัวแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไป
จากนั้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ไพวรินทร์ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึงเกษียร ผ่านทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ "บันทึกถึง Kasian Tejapira" มีเนื้อหาดังนี้
มันก็แค่คิดต่าง หรือมองเห็นต่างกัน มิใช่หรือครับ Kasian Tejapira ไม่เห็นจะคิดนามธรรมเป็น-ไม่เป็นตรงไหน? เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงไหน? น่าเสียดายตรงไหน? หรือแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไปตรงไหน? เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่เห็น Kasian Tejapira แพร่ความคิดที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือลึกล้ำอะไรมากมาย เฉพาะจากข้อเขียนนี้
เราต่างมีสิทธิ์ตั้งข้อคำถามในข้อกังขาเรื่องการชดใช้-เยียวยามิใช่หรือครับ? ว่าเป็นเกมการเมือง หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่ายแล้ว? จริงอยู่ เรื่องที่ผมถามเปรียบเทียบ มันคนละเรื่องกัน แต่คนละเรื่องนั่นแหละที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อถามใจกันดู ว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือ? คนเขาถามกันมากมาย มิใช่เพียงผมคนเดียว ถึงกับมีการทำตารางสถิติเปรียบเทียบให้ดูก็ไม่น้อย ใช่-มันไม่เกี่ยวกัน แต่เรามีสิทธิ์คิดและสะเทือนใจหลายกรณี ผู้ถูกรัฐละเมิด มิได้มีแค่ที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 เท่านั้นหรอกครับ และเรื่องนี้คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด ความจริงก็ยังไม่ปรากฏรอบด้าน เหตุใดรัฐรีบชิงทำเรื่องนี้?
ผมว่าผมกังขานโยบายรัฐวันนี้ หรือกังขาผู้พูดคำว่า "อย่ากลับบ้านมือเปล่า" มากกว่า มิได้หมิ่นแคลนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้บาดเจ็บล้มตาย เพราะถ้าจะต้องมีการชดใช้-เยียวยา ผมก็มิได้คัดค้านอะไรเลย แต่ถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกระบวนการของมัน ถึงวันนี้ผมก็ยังได้ยินคนถามเรื่องนี้กันอยู่เลย ด้วยถ้อยคำแรงๆ และกล่าวหาร้ายๆ มากกว่าผมด้วยซ้ำ
อย่างเรื่องการปรองดองนี่อีก เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามมิใช่หรือครับ? นี่เป็นแค่เกมการเมือง หรือเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ผมก็เห็น Kasian Tejapira ตั้งคำถามเรื่องเรื่อง "จำ" เรื่อง "ลืม" อยู่มิใช่หรือครับ? ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว ถึงวันนี้คดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงก็ยังสับสน แต่เหตุใดการรีบชิงทำอะไรต่างๆ จึงปรากฏชัดอย่างผิดสังเกต
ผมมิใช่คนฉลาดรอบรู้สูงส่งลึกล้ำหรอกครับ มิใช่อาจารย์ มิใช่นักวิชาการ มิใช่นักทฤษฎี มิใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ผมก็เชื่อว่าตัวเองมีสามัญสำนึกในการรู้สึกนึกคิด กับเหตุการณ์ที่สัมผัสรับรู้ด้วยหัวใจ ไม่ต้องเสียเวลาน่าเศร้าน่าเสียดายอะไรกับผมหรอกครับ ถ้าจะกรุณาก็ลองไปอ่าน "ฟ้าเดียวกัน" ที่เขานำกลอนของผมไปเทียบเคียงกับคำสำรากไร้วัฒนธรรมนั้นบ้างเถอะครับ
ขอยืนยัน ผมไม่ได้คิดจะแพร่ความคิดผิดๆ ใดๆ แต่ผมอาจคิดผิดจากคุณ คิดไม่เหมือนคุณ แค่ตั้งคำถามจากความข้องใจ มิได้ไปคัดค้านหัวชนฝาอะไร ถ้าจะเยียวยาก็เยียวยา ถ้าจะปรองดองก็ปรองดอง แต่ความเป็นจริง ความเป็นธรรม เราก็ต้องพิสูจน์กัน
การหลับตาเยียวยา ปรองดอง โดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้า หนักหนากว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" เสียอีก!
ด้วยความเคารพ ที่ผมเคยเข้าไปขอสัมภาษณ์ Kasian Tejapira สมัยทำ "ปาจารยสาร"
ไพวรินทร์ ขาวงาม
ศุกร์ 23 มีนาคม 2555
ทั้งนี้ คำชี้แจงดังกล่าวของไพวรินทร์ได้ถูกเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์นำไปเสนอข่าว โดยพาดหัวว่า "เกษียร" เนื้อเต้น อัดนักเขียนซีไรต์ร่ายกลอนเหน็บเงินเยียวยาแดง 7.7 ล. และโปรยประเด็นข่าวว่า นักวิชาการแดง "เกษียร" โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีนักเขียนซีไรท์ แต่งกลอนเปรียบทหารชายแดนกับเสื้อแดงได้เงินล้านคิดนามธรรมไม่เป็น อ้างทหารทำงานให้รัฐตามกฎหมาย เหน็บใช้ภาษาสูงคิดตื้น เจ้าตัวโต้กลับทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม แม้คนละเรื่องแต่มีคนเปรียบเทียบ กังขายุติธรรมดีแล้วหรือ เหตุใดรัฐชิงเรื่องนี้ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ยันไม่ได้ค้านหัวชนฝา เชื่อมีสามัญสำนึก
หลังจากนั้น เกษียรได้เขียนบทความในเฟซบุ๊กตอบโต้ไพวรินทร์อีกสองชิ้นในวันที่ 24 มีนาคม ได้แก่
เรื่องไม่ลึกซึ้งที่คุณไพวรินทร์ในที่สุดก็ยังไม่อาจเข้าใจ
มีประเด็นหลักประเด็นเดียวที่ผมอ่านคำตอบของคุณไพวรินทร์จนหมดแล้ว ก็ยังไม่พบข้อที่ชี้ว่าคุณไพวรินทร์เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ แต่แน่นอนคุณไพวรินทร์อาจไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้
คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับ พลเมืองเจ้าของรัฐผู้บาดเจ็บล้มตายในการชุมนุมจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ
ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องนามธรรม มีพันธะหน้าที่ต่อกันระหว่างอำนาจรัฐกับพลเมืองเจ้าของรัฐในลักษณะสัญญาประชาคม เมื่อมีการล่วงละเมิดสัญญา ใช้อำนาจเกินเลยโดยมิชอบ ทำร้ายสิทธิเหนือร่างกายชีวิตทรัพย์สินของพลเมืองแล้ว รัฐต้องรับผิดชอบ แค่นี้เองครับ
จริง ๆ มันก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรอย่างที่คุณไพวรินทร์ว่านั่นแหละ ผมก็เลยแปลกใจไงครับ ว่าไม่ลึกซึ้งอย่างนี้ ทำไมคุณไพวรินทร์จนแล้วจนรอด ไม่เข้าใจ?
ส่วนกระบวนการที่รัฐชดเชยชดใช้แก่การละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองเจ้าของรัฐในการชุมนุมครั้งต่าง ๆ นั้น มันยุติธรรม สะอาด โปร่งใสหรือไม่? อันนี้ก็น่าคิด น่าสนใจ และควรที่เราจะมาพิจารณาตรวจสอบกัน แต่มันเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับความชอบธรรมหรือไม่ในการชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางนามธรรมข้างต้นดังกล่าว - และผมคิดว่าคุณไพวรินทร์แสดงความไม่เข้าใจไว้ในกลอนชัดเจน โดยเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีทหารไทยเสียชีวิตชายแดน (กรุณากลับไปอ่านกลอนตอนต้นของคุณไพวรินทร์เองอีกครั้งหนึ่งนะครับ)
ส่วนเรื่องผมเป็นนักวิชาการ "แดง" หรือไม่นั้น? ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เอเอสทีวี/ผู้จัดการเขา "เนื้อเต้น" พร่ำเพ้อไปเถิดนะครับ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เราเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสี แต่เกี่ยวกับวิธีมองโลก เข้าใจโลก ทางสังคมการเมือง ในฐานะเพื่อนพลเมืองเจ้าของรัฐด้วยกัน
และ
รูปธรรมกับนามธรรม
เที่ยงวันหนึ่งหลายปีก่อน ผมไปนั่งทานข้าวอยู่ที่ร้านสั่งทำอาหารเป็นจาน ๆ ริมคลองภาษีเจริญ ตรงข้ามวัดนิมมานรดี ระหว่างรอข้าวราดกระเพราอยู่นั้น ก็มีซากสุนัขสีดำขาวตัวหนึ่งลอยตามน้ำโผล่แต่ขาผ่านมาบริเวณหน้าวัด จากจุดนั้น ก็เริ่มมีการส่งเสียงวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ของแม่ค้าทำกับข้าวและแขกที่มานั่งกินบางคนนานราว 10 นาที จนซากนั้นลอยผ่านไป ในทำนองว่า....
"สงสัยหมามันตกน้ำตายนะ"
"หรือป่วยตายแล้วเขาโยนลงคลองมากกว่า"
"น่าสงสาร ทำไมเจ้าของไม่มาตามเก็บ"
"บาปกรรม...."
"พันธุ์อะไรน่ะ? หมาไทยหรือหมาเทศ?"
"กทม.ควรจะดูแล ทิ้งแบบนี้น้ำเน่าหมด"
ฯลฯลฯลฯลฯลฯ
เสียงสนทนา 10 นาทีนั้นพูดให้ถึงที่สุดไม่เปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีหมาตายลอยน้ำมาเลย มันตายแล้ว มันลอยน้ำมาแล้ว และจะลอยน้ำต่อไปตามคลอง แต่ก็มีแต่มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ ที่อยู่ในโลกของความหมาย ทรรศนะ แนวคิด ซึ่งเป็นนามธรรมกำกับความสัมพันธ์ของคนเรากับสิ่งรอบข้าง ไม่ว่า กทม. กระทรวงสาธารณสุข ศาสนา วัดวาอาราม สุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ฯลฯ ที่แคร์และเดือดร้อนมากพอที่จะต้องเอาตัวไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงนั้น และบรรยาย/วิเคราะห์/วิจารณ์เพื่อจัดความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นวรรคเป็นเวร
การมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความหมายที่เป็นนามธรรมเป็นปกติวิสัยมนุษย์ (human condition) แบบหนึ่ง มันกำกับบงการความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมนุษย์คนอื่นในสังคม และระหว่างเรากับธรรมชาติโดยพื้นฐาน ไม่ว่าเราจะตระหนักรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ในทางแนวคิดทรรศนะ ผมเข้าใจเรื่องนี้จากบทสัมภาษณ์ยาวของ Hilary Putnam อาจารย์ปรัชญาชาวอเมริกัน เกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์โดยอาศัยแนวคิดของ Immanuel Kant นักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันในอดีต ในรายการ BBC ที่รวมพิมพ์เป็นหนังสือ Men of Ideas ต้้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ว่าในการอยู่กับโลก เรียนรู้เข้าใจโลกนั้น มนุษย์ไม่ได้ทำด้วยตาเปล่าหูเปล่าหรือใจเปล่า หากทำผ่าน "โครงสร้างความคิด" หรือ "กลไกแนวคิด" บางอย่างเสมอ ที่เป็นนามธรรมและเป็นตัวให้ความหมาย จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวมนุษย์กับสิ่งนั้น ๆ
ฉะนั้นเมื่อเราสังเกตเห็นปรากฏการณ์รูปธรรมหนึ่ง ๆ ที่ดูผิวเผินเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยที่ต่างกันมากไปคนละเรื่องเลยทีเดียว เนื่องจาก "โครงสร้างความคิด" นามธรรมของมนุษย์ที่กำกับและจัดความสัมพันธ์ของมันกับมนุษย์ด้วยกันอยู่ ยกตัวอย่างอาทิ
กวีมองเห็นคนยื่นเงินเจ็ดล้านเจ็ดให้คนอีกคนหนึ่ง.....
เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยต่าง ๆ ได้แตกต่างหลากหลายกันไปมาก แล้วแต่นามธรรมที่กำกับ เช่น
-ลูกค้าจ่ายเงินค่าซื้อบ้านจัดสรร/รถยนต์ส่วนบุคคลให้เซลส์ขายรถยนต์
-นายทุนรับเหมาก่อสร้างจ่ายเงินติดสินบนนักการเมือง
-ผอ.กองสลากจ่ายเงินรางวัลที่หนึ่งให้ผู้ถูกล็อตเตอรี่
-เอเย่นต์ยาเสพติดจ่ายเงินค่ายาให้ผู้ผลิตยาบ้า
-พ่อฝ่ายเจ้าบ่าวจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นให้พ่อฝ่ายเจ้าสาว
-เศรษฐีบริจาคเงินให้มูลนิธินำไปพัฒนาวัดวาอาราม
-ผบ.ทบ.จ่ายค่าทำขวัญบำเหน็จความดีความชอบให้ญาติทหารหาญผู้สละชีวิตชายแดน
-รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเนื่องจากรัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุไปละเมิดสิทธิของคนผู้นั้น
ฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯ
เพราะกวีแต่งกวีเก่ง แต่เผอิญกวีไม่เข้าใจนามธรรม กวีจึงไม่สามารถแยกแยะความต่างระหว่างความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ได้ เห็นแต่เงินเปลี่ยนมือ ก็ตีขลุมว่าเหมือนกันหมด
ไม่ทราบว่าทีนี้กวีเข้าใจหรือยัง?
ขณะเดียวกัน "สุวินัย ภรณวลัย" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้แสดงความเห็นกรณีวิวาทะเกษียร-ไพวรินทร์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
วิวาทะเกษียร-ไพวรินทร์) ตรรกะเหตุผลที่คุณไพวรินทร์ใช้อธิบายวิธีมองโลกของเขาโดยเฉพาะข้อเขียนที่เขาเขียนว่า "การหลับตาเยียวยา ปรองดองโดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้าหนักกว่าปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติที่คิดนามธรรมไม่เป็นเสียอีก" นั้น ผมเห็นด้วยในระดับเดียวกับที่ผมเห็นด้วยกับตรรกะเหตุผลของอาจารย์เกษียรที่อธิบายว่า "รัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบมิได้" แม้ว่าทั้งคู่จะพูดถึงเรื่องเดียวกันจากมุมมองและจุดยืนที่ต่างกันก็ตาม พูดด้วยใจที่เป็นธรรมนะครับ ความเห็นต่างในเรื่องนี้คุณไพวรินทร์ไม่ควรถูกโจมตีด้วยข้อหา "คิดนามธรรมไม่เป็น" แต่อย่างใดเลย คนที่แต่งกลอนและใช้ตรระกเหตุผลวิวาทะกันได้แบบนี้ไม่มีทางคิดนามธรรมไม่เป็นตามมาตรฐานทางจิตวิทยาหรอกครับ เพียงแต่อาจจะขาดแง่มุมและภาษาแบบนักวิชาการไปบ้างเท่านั้น หรืออาจะไม่ได้ใช้วิธีคิดเชิงนามธรรมระดับสูงแบบ vision logic ที่อาจารย์เกษียรใช้อยู่ก็ตาม แต่การกล่าวหาคนอื่นด้วยข้อหาแบบนี้ มันค่อนข้างผิดจรรยาและไม่ถ่อมตนเลยนะครับ เหมือนอย่างเช่น เวลาเราไปคุยกับคนเก็บขยะ แล้วเราไปบอกเขาว่า "คุณคิดนามธรรมไม่เป็น" ผมว่านี่เป็นคำพูดที่ไม่สมควรพูดออกมานะครับ ถ้าหากเราเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคม อาชีพ การศึกษาระดับใด การบอกว่า "คุณคิดนามธรรมไม่เป็น" ไม่ต่างไปจากนักเปียโนมืออาชีพที่ไปดูแคลนพ่อครัวทำอาหารว่าเขาเล่นเปียโนไม่เป็นแต่ประการใดเลย ก็คุณเป็นนักวิชาการระดับศาสตราจารย์นี่นา คุณก็ต้องคิดแบบนามธรรมชั้นสูงได้อยู่แล้วเพราะการฝึกฝนทางวิชาการของคุณ แต่นี่มิใช่เรื่องที่จะเอาไปยกตนข่มท่านแต่อย่างใดเลย อาจารย์เกษียรที่ผมรู้จักเป็นคนอ่อนโยน เขียนกวีเก่ง และเห็นอกเห็นใจผู้คนมากกว่านี้ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะเหตุการณ์นี้ ผมเห็นแต่ปัญญาชนหัวดื้อคนหนึ่งที่กร้าวร้าว ไม่ยอมแพ้ และดูแคลนคนอื่นที่คิดต่างไปจากตนเอง
ส่วนเกษียรได้ตอบสุวินัยว่า
ผมยินดีมากที่ อ.สุวินัยแห่งกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เห็นด้วยกับหลักการอันเป็นนามธรรมที่ว่า "รัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบมิได้" ทั้งหมดที่ผมต้องการบอกกับคุณไพวรินทร์ มีแค่นี้เท่านั้นเอง
ส่วนประเด็นหลัง คงจะจริงที่ผมหัวดื้อและก้าวร้าว ไม่ยอมแพ้เกินไปในการถกเถียงครั้งนี้ ถ้อยคำที่ใช้ก็อาจถูกตีความไปในเชิงว่าผมดูแคลนผู้ที่ผมถกเถียงอยู่ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ต้องขออภัย
แต่ผมอยากเรียนว่าท่าทีดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาต่อพลังของบทกวีที่แรงของคุณไพวรินทร์ ที่กระทบต่อบรรดาผู้สูญเสียทุกเสื้อสีจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา คนเหล่านั้นเมื่ออ่านบทกวีที่เขียนอย่างมีพลังของคุณไพวรินทร์แล้ว แรงกระแทกใจจะเจ็บปวดอย่างไร ผมก็อยากให้อ.สุวินัยลองจินตนาการดูอย่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย นั่นคือเหตุที่ผมแสดงท่าทีเช่นนั้นไป ไม่ใช่ความยโสอหังการส่วนตัวแต่อย่างใด
ผมจึงอยากย้ำว่ากวีมีพลังของบทกวีที่แรงและทรงพลังมาก ทำอย่างไรจะใช้อย่างรัดกุมรอบคอบ และกำกับมันด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างเท่าทัน เพื่อไม่ให้มันทำร้ายจิตใจคนอื่นอย่างผิดพลาดและดูดาย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย