.
ชำนาญ จันทร์เรือง: ปฏิรูป กติกาใหม่ กับ ประชาธิปไตย 100%
ใน www.prachatai.com/journal/2012/03/39709 . . Sun, 2012-03-18 18:48
หมายเหตุ: ปาฐกถาพิเศษในการประชุมเสนอผลงานวิจัยการสำรวจประชาธิปไตยในหมู่บ้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จัดโดยโครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่น(SAPAN-CMU Project) มช. วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมคันทารีฮิลล์ เชียงใหม่
ผมคงมิใช่ผู้กล่าวปาฐกถาที่ดีนักครับ เพราะโดยหลักการแล้วผู้กล่าวปาฐกถาหรือผู้บรรยายไม่ควรออกตัวในสิ่งที่ตนเองจะกล่าวปาฐกถาหรือบรรยาย เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อผู้กล่าวปาฐกถาหรือผู้บรรยายลดน้อยลงหรืออาจไม่มีความเชื่อมั่นเลย แต่ในการกล่าวปาฐกถาของผมในวันนี้ผมมีความจำเป็นที่จะต้องบอกว่าผมไม่สามารถที่พูดให้ตรงกับหัวข้อที่ต้องการให้พูดในประเด็นที่ว่า “ประชาธิปไตย ๑๐๐%”ได้ เพราะประชาธิปไตย ๑๐๐% นั้นยังไม่มีเกิดขึ้นในโลกนี้ โดยข้อเสนอจากการวิจัยชุดนี้ ประชาธิปไตย ๑๐๐ % หมายถึง ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งหมด ทั้งทหาร ภาคประชาสังคม สื่อ องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง
ฉะนั้น คำว่าประชาธิปไตย ๑๐๐% ตามหัวข้อของการประชุมนี้ตามความเห็นของผมก็คือการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบให้ได้มากที่สุดนั่นเอง เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ๑๐๐% เลย เพราะยังต้องเลือกประธานาธิบดีผ่านคณะผู้เลือกตั้ง(electoral college)ทำให้หลายครั้งที่ popular vote แพ้ electoral vote ครั้งล่าสุดก็คือกรณีบุชกับกอร์
ซึ่งผมยังนึกภาพไม่ออกว่าหากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนจากบุชที่แพ้คะแนนpopular vote แต่ชนะ electoral vote ไปเป็นกอร์แล้วโลกเราจะเปลี่ยนโฉมหน้าจากปัจจุบันไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆโจ๊กของอเมริกันชนที่ติดอันดับยอดนิยมเมื่อบุชลงจากตำแหน่งใหม่ๆก็คือมีชาย คนหนึ่งไปที่ทำเนียบขาวเกือบทุกวันเพื่อถามหาบุชเพียงเพื่อได้ยินคำตอบจาก รปภ.ว่าบุชไม่ได้อยู่ที่ไวท์เฮาส์แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครไปถามหาคุณทักษิณ สุรยุทธ์ หรืออภิสิทธิ์เมื่อลงจากตำแหน่งที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกับบุชหรือเปล่า
การปาฐกถาในครั้งนี้คงต้องเริ่มจากความหมายของประชาธิปไตยที่หลายๆคนในที่นี้ได้เรียนมาแล้วในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น หรือ Gov101 หรือจะในชื่อรัฐศาสตร์ทั่วไปหรืออะไรก็แล้วแต่ว่าประชาธิปไตยนั้นมาจากคำว่า democracy ซึ่ง demos มาจากคำว่า people หรือ ประชาชน และคำว่า kratein มาจากคำว่า to rule หรือปกครอง ดังนั้น ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว democracy หรือประชาธิปไตย แปลว่า การปกครองโดยประชาชน(rule by people) หรือเรียกอีกประการหนึ่งได้ว่า popular sovereignty คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน นั่นเอง
ความหมายต่างๆของประชาธิปไตยอาจแบ่งได้เป็นสองแนวทาง คือ แบบแคบและแบบกว้าง สำหรับแนวทางแรกคือการให้ความหมายแบบแคบ คือ “เป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีสิทธิ มีอำนาจ และโอกาสในการเข้าควบคุมกิจการทางการเมืองของชาติ”
สำหรับความหมายแบบกว้างนั้นผมเห็นว่าเราไม่ควรตีความเพียงรูปแบบการปกครองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะประชาธิปไตยนั้นมีหลายมิติ คือ มิติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม
มิติทางการเมือง หมายความถึงการที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายในการปกครองบ้านเมือง
มิติทางเศรษฐกิจ หมายความถึงการที่ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจ หรือให้บุคคลได้รับหลักประกันในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ หรือได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตนได้ลงแรงไป
มิติทางสังคม หมายความถึงการที่ประชาชนได้รับความยุติธรรมทางสังคม ไม่มีการกีดกันระหว่างชนชั้น กลุ่มชน หรือความแตกต่างใดๆหรือเกิดระบบอภิสิทธิ์ชนหรือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก็หมายถึงการเป็นนิติรัฐที่มีนิติธรรมนั่นเอง ซึ่งคำว่านิติรัฐกับนิติธรรมนั้นเรามักจะใช้ปนเปกันหรือใช้แทนกัน โดยเข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกัน แต่ในทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนแล้ว
นิติรัฐ(legal state) หมายถึง
(๑)บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
(๒)บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
และ(๓)การควบคุมไม่ให้กระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
มิใช่แปลแต่เพียงว่านิติรัฐคือรัฐที่ใช้กฎหมายปกครองประเทศเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นคณะเผด็จการก็ออกกฎหมายมาใช้ปกครองเช่นกัน แต่เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ว่ามานี้
ส่วนนิติธรรม(rule of law) หมายถึง การที่บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law) หรือไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย(no one above the law) นั่นเอง
มิติทางวัฒนธรรม หมายความถึงการส่งเสริมค่านิยม แบบแผน หรือประเพณีที่ยึดมั่นในหลักการประนีประนอม การใช้เหตุผล การยอมรับนับถือคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อมนุษย์ มีความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ชอบธรรมและเหมาะสมกับกาลสมัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นความหมายแบบแคบหรือแบบกว้าง ผมชอบความหมายของเด็กชาวคิวบาที่ชนะเลิศการประกวดขององค์การสหประชาชาติหรือ UN ในการให้ความหมายของประชาธิปไตยเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ประชาธิปไตย คือ การที่บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลงโทษ” ซึ่งเมื่อหันมามองไทยเราในบางเรื่องแม้แต่จะคิดดังๆยังไม่ได้เลย เพราะจะกลายเป็นว่าไม่รู้จักสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งอาจจะเป็นผลทำให้ถูกดักชกหน้าหรือถูกทุบรถได้
ส่วนรูปแบบของประชาธิปไตยนั้นก็มีหลายรูปแบบให้เลือกเช่น ประชาธิปไตยทางตรง(direct democracy) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy)หรือล่าสุดที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงก็คือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy)ของ Jurgen Habermas ที่เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นพยายามนำมาใช้เพื่ออุดข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียงและการคอร์รัปชันอย่างมโหฬารเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ซึ่งหลักใหญ่ๆของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy) ก็คือ ฉันทามติ(consensus)นั่นเอง
การที่เราจะปฏิรูปหรือสร้างกติกาใหม่เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย ๑๐๐% หรือประชาธิปไตยเต็มใบตามหัวข้อของการปาฐกถาในครั้งนี้ ในความเห็นของผม เห็นว่าองค์ประกอบของการที่จะเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยรูปแบบไหนนั้นจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การตรวจสอบและการถอดถอน
๑)การเลือกตั้ง(election) หลายคนเข้าใจว่าการเลือกตั้งคือทั้งหมดประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะในประเทศเผด็จการก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่เป็นการบังคับเลือกหรือมีให้เลือกเพียงว่าจะเอาหรือไม่เอา แม้ว่าการเลือกตั้งจะมิใช่ทั้งหมดของการเป็นประชาธิปไตยแต่ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งที่ว่านั้นต้องประกอบไปด้วยหลักการที่ว่า
๑.๑ เป็นการทั่วไป(in general) หมายความว่า บุคคลมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นบุคคลทั่วไปที่อายุเข้าตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของทุกคนไม่เพียงเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น ในอดีตคนผิวดำ ผู้หญิงหรือทาสไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น
๑.๒ เป็นอิสระ(free voting) หมายความว่า ในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนตัวเองเข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ถูกขู่บังคับ กดดัน ชักจูง ตบเท้า หรือได้รับอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น เพื่อที่จะได้เจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนแต่ละคน
๑.๓ มีระยะเวลา(periodic election) การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะได้ผู้แทนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นระยะเวลากี่ปี บางประเทศอาจจะกำหนดให้เป็น ๔ ปี ๕ ปีหรือ ๖ ปี แล้วแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
๑.๔ การลงคะแนนลับ(secret voting) เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตน ได้อย่างมีอิสระ ไม่ต้องเกรงใจใครหรือไม่อยู่ใต้อิทธิพลของใคร ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้ครั้งละ ๑ คน(เว้นในบางประเทศที่อนุญาตให้ผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้สามารถนำผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือได้) และไม่จำเป็นจะต้องบอกให้คนอื่นทราบว่าตนเองเลือกใคร แม้แต่การขึ้นให้การต่อศาลก็ตาม
๑.๕ หนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) ผู้ที่เลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง ๑ เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างไร ก็มีสิทธิออกเสียงได้เพียง ๑ เสียงเท่านั้น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ professor doctor หลายคนรับไม่ได้ที่รากหญ้ามีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับตนเอง ทั้งที่ จิตสำนึกทางการเมืองนั้นไม่เกี่ยวกับการมีวุฒิการศึกษาสูงหรือไม่สูงแต่อย่างใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คืออินเดีย ที่มีอัตราผู้ไม่รู้หนังสือสูงกว่าไทยแต่ก็มีประชาธิปไตยถึงระดับในสถาบันการศึกษาและรากหญ้า ที่สำคัญก็คือยังไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเช่นพี่ไทยเรา
๑.๖ ความบริสุทธิ์ยุติธรรม(fair election) ต้องมีการดูแลการเลือกตั้งไม่ให้มีการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิทธิ ขายเสียง การติดสินบน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
๒)การออกเสียงประชามติ(referendum) คือการที่รัฐขอฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคือประชาธิปไตยทางตรงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางการเมืองที่รัฐไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ได้คืนสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงรับรองหรือคัดค้านในเรื่องใด เรื่องหนึ่งให้แก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าต้องการดำเนินการอย่างไร ในกรณีใดกรณีหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการออกกฎหมายหรือนโยบายธรรมดาๆ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๕ หรือ ๕๖ ที่จะมีขึ้น หรือการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ดังเช่น ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครที่จะเสนอโดยประชาชนกลางปี ๕๕ นี้ เป็นต้น
ซึ่งการออกเสียงประชามตินี้ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติเช่นในแต่ละเขตปกครอง(canton)ของสวิตเซอร์แลนด์ทำกันบ่อยมาก ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการลงประชามติทั้งประเทศที่จะเพิ่มวันลาพักผ่อนประจำปีจาก ๔ สัปดาห์เป็น ๖ สัปดาห์ต่อปี แต่ปรากฏว่าไม่ผ่าน ของไทยเราก็เคยทำมาครั้งหนึ่งเหมือนกันคือ การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ปี ๕๐ แต่เป็นการออกเสียงประชามติที่พิลึกเอาการเพราะบอกว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าไม่เอาอั๊วจะเอารัฐธรรมนูญอะไรไม่รู้มาให้ลื้อนะ(โว้ย)
เมื่อพูดถึงเรื่อง ร่าง.พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯแล้วผมในฐานะที่เป็นผู้ยกร่างอยากจะขอโอกาสแทรกสัก ๑ นาทีถึงความคืบหน้า โดยเมื่อวานนี้เรามีการวิจารณ์ร่าง พรบ.ฯซึ่งผ่านการแก้ไขมา ๔ ครั้ง โดยมีการระดมความเห็นจากผู้แทนที่เราไปออกเวทีมาทั้ง ๒๕ อำเภอ จำนวนประมาณ ๓๐๐ คน เพื่อปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้ายก่อตีพิมพ์ฉบับร่างฯนี้แจกจ่ายไปทุกภาคส่วนทั้งจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับฟังความเห็น แล้วนำมาเป็นร่างที่จะเสนอโดยประชาชนต่อรัฐสภาในกลางปีนี้
หลักการใหญ่ของร่าง พรบ.ฯฉบับนี้ก็คือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ซึ่งส่วนท้องถิ่นนี้ก็จะมี ๒ ระดับ ระดับบนคือเชียงใหม่มหานครซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายบริหารคือผู้ว่าฯซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ระดับล่างคือเทศบาล โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งมิได้หมายความว่าระดับบนจะเป็นผู้บังคับบัญชาของระดับล่าง
ในส่วนของโครงสร้างจะเป็น ๓ ส่วน คือ สภาเชียงใหม่มหานคร ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมืองซึ่งในต่างประเทศเรียก civil jury แต่เราไม่อยากให้สับสนจึงเรียกสภาพลเมือง
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอื่นก็คือ กิจการตำรวจจะขึ้นอยู่กับเชียงใหม่มหานคร ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่มหานครจะเก็บไว้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ส่งส่วนกลาง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รายละเอียดอื่นๆที่ตอบคำถามว่าเดี๋ยวก็ได้นักเลงมาครองเมืองหรอก หรือประชาชนยังไม่พร้อม หรือเขาคงไม่ยอมหรอก อะไรต่างๆเหล่านี้คงต้องไปหาเพิ่มเติมได้จากอาจารย์กูเกิลในบทความของผมในหัวข้อเชียงใหม่มหานครหรือข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเอา เพราะประเด็นนี้มิใช่หัวข้อหลักของการปาฐกถาครับ แต่ที่แน่ๆมีความคืบหน้าไปไกลมากแล้วและจะเห็นหน้าเห็นหลังกันภายในปีนี้แน่นอนครับ
๓)การตรวจสอบ(monitor) ประชาชนต้องมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของบุคคลที่ตนเลือกเข้าไปได้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การใช้สิทธิตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ การเข้าฟังการประชุมสภาหรือการประชุมสำคัญของฝ่ายบริหารทุกระดับทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น การใช้สิทธิทางศาล การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ เช่น สตง. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ
๔)การถอดถอน(recall) แน่นอนที่สุดเมื่อเลือกเข้าไปทำหน้าที่ได้ก็ต้องปลดออกจากตำแหน่งได้ มิใช่ว่าหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วเป็นอันว่าจบกันหรือที่เราเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย ๔ วินาที”นั่นเอง เมื่อเลือกแล้วหรือออกเสียงประชามติแล้ว เราก็ตรวจสอบ ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ชอบมาพากลก็ต้องเอาออกจากตำแหน่งได้ในที่สุด
กล่าวโดยสรุปก็คือ จากการที่เราสามารถดูว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนจากองค์ประกอบ 4 อย่างข้างต้นแล้ว การที่เราจะปฏิรูปกติกาเพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย ๑๐๐%หรือประชาธิปไตยเต็มใบให้มากที่สุดนั้น เราก็ต้องปฏิรูปกติกาซึ่งกติกาที่ว่านั้นก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยเราต้องศึกษาว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้มีข้อบกพร่องอย่างไร ยังขาดส่วนใดส่วนหนึ่งในสี่ส่วนนี้ซึ่งก็คือ การเลือกตั้ง การลงประชามติ การตรวจสอบและการถอดถอนนี้หรือไม่
ในเมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีแล้วจึงควรที่จะต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ว่าหมวดนั้นหมวดนี้แตะไม่ได้ เช่น หมวดสถาบัน หมวดศาลหรือองค์กร อิสสระ ฯลฯ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไข ม.291 ในวาระที่หนึ่งได้อย่างไร
ส่วนแก้ทั้งฉบับแล้วบางหมวดจะเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ว่ากันไป ซึ่งมันก็พิลึกๆอยู่ ถ้าหากจะแก้ให้ดีกว่าเดิมทำไมจะทำไม่ได้ และก็มีการแก้มาแล้วตั้งหลายครั้ง ในแต่ละครั้งก็ให้เหตุผลว่าดีกว่าเดิมทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นการแก้จากคณะรัฐประหารก็ตาม
รัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย กฎหมายก็คือเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบสังคม เมื่อมนุษย์สร้างกฎหมายขึ้นมาได้ก็ย่อมที่จะแก้กฎหมายนั้นได้ การแก้กฎหมายก็โดยอำนาจของประชาชนที่ผ่านทางสภานิติบัญญัติ หากสภานิติบัญญัติเห็นชอบหรือมอบหมายให้ สสร.ยกร่างขึ้นมาแล้วนำมาลงประชามติให้ประชาชนออกเสียง ผลเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น และในอีกช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีวิวัฒนาการ สิ่งใดที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ก็คือการถอยหลังหรือตายแล้ว
รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนชอบยกมาเป็นตัวอย่างนั้นจริงๆแล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งสิ้นถึง ๒๗ มาตราและอนุมาตรา ล่าสุดในปี ๑๙๙๒ ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนสมาชิกสภา คองเกรส และคงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกในอนาคต เพียงแต่ยังไม่มีการฉีกทิ้งเหมือนพี่ไทยเราเท่านั้นเอง
ขอบคุณครับ
+++
เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันดีไหม (อีกครั้ง) โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
จาก http://prachatai.com/journal/2012/01/38684 . . Wed, 2012-01-11 01:05
ในขณะที่กระแสของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี ๕๐ กำลังมาแรง และผมเชื่อว่าถึงอย่างไรฝ่ายที่ออกมาต้านการแก้รัฐธรรมนูญปี ๕๐ คงต้านทานกระแสไม่ไหวอย่างแน่นอน คงเพียงสามารถต้านทานได้บางประเด็นเท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือเริ่มมีการพูดถึงการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันบ้างแล้ว ผมจึงอยากเสนอการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงต่อผู้อ่าน เพื่อเป็นทางเลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยนำเสนอในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อเสนอต่อ สสร.ปี ๕๐ ไปแล้ว โดยจะขอเสนอต่อเนื่องไปจนถึง สสร.ปี ๕๕ และจะเสนอต่อไปเรื่อยๆหากยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครับ
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ในโลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ ของเราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒ ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบรัฐสภา (parliamentary system) และระบบประธานาธิบดี (presidential system) กับอีก ๑ ระบบเล็ก คือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary system)
ระบบรัฐสภา เป็นการปกครองที่เป็นวิวัฒนาการมาจากการช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาของอังกฤษ อาทิ ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฯลฯ มีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งบริหาร ในระบบรัฐสภานี้ ประมุขของประเทศซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีมีฐานะเป็นประมุขเพียงอย่างเดียว ไม่มีบทบาทหรืออำนาจในการบริหาร โดยประธานาธิบดีจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง แต่กษัตริย์จะไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ยกเว้นมาเลเซียที่กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชาธิบดี(Yang Di-Pertuan Agong)ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “อากง (Agong) ” จะได้รับเลือกจากที่ประชุมของสุลต่านของรัฐ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี
2) รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร เมื่อถึงเวลาที่รัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องออกจากตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลก็มีสิทธิที่จะยุบสภาได้
ระบบประธานาธิบดี เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นแห่งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ใครใช้อำนาจมากเกินไป อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศแถบลาตินอเมริกา ฯลฯ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) มีการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกมากจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตรงข้ามกับระบบรัฐสภาที่สมาชิกรัฐสภาเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาล
2) ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน ระบบนี้กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารได้แก่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียวเท่านั้น (ไม่มีนายกรัฐมนตรี)
3) รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นประมุขของฝ่ายบริหารแต่เพียงผู้เดียว จึงหมายความว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรีได้ รัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา
4) ใช้หลักการคานอำนาจ (balance of power) เนื่องจากทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน (check and balances)ทั้งสามอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไปนั่นเอง
ระบบกึ่งรัฐสภา หรือกึ่งประธานาธิบดี หรือรู้จักกันทั่วไปว่า"ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส " เพราะฝรั่งเศสนำสองระบบข้างต้นมาผสมกันและเริ่มต้นใช้ที่ฝรั่งเศสแล้วแพร่ไปยังประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม มีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) ประธานาธิบดีเป็นผู้ที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ด้านบริหาร แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ ลงนามในกฎหมาย ยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี
2) นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี โดยทั้ง ๒ องค์กรสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมในรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง
จากรูปแบบที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ผมเสนอจึงเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะไม่เหมือนใคร การที่ผมเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงนั้น เหตุก็เนื่องเพราะนายกฯได้รับฐานอำนาจจากประชาชนโดยตรง ย่อมที่จะทำให้กลุ่มทหารหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่จะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจต้องคิดหนักและคงไม่ทำรัฐประหารได้ง่ายๆเหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมา
ส่วนคำถามที่หรือข้อกังวลที่ว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะมีอำนาจวาสนาหรือมีบารมีมากถึงขนาดกระทบต่อสถาบันกษัตริย์นั้น เห็นว่าเป็นข้อกังวลที่ไกลเกินเหตุ เพราะ คนไทยสามารถแยกแยะออกว่าการเป็นหัวหน้ารัฐบาลกับการเป็นประมุขของประเทศนั้นมันคนละเรื่องกัน และถึงแม้ว่านายกฯจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ตามก็ย่อมต้องได้รับการโปรดเกล้าฯเพื่อรับรองความชอบธรรมเสียก่อนตามประเพณีการปกครองของไทยอยู่ดี
สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวทักษิณ(Thaksinophobia)เกรงว่าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกนั้น เพราะยังมีคดีที่ค้างคาอยู่ในโรงในศาลอีกมากมาย อีกไม่รู้กี่ปีจึงจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากไม่มีการนิรโทษกรรมเสียก่อน ซึ่งก็คงทำได้ไม่ง่ายนักหรอก
แน่นอนว่าผู้ที่เป็นนายกฯโดยตรงย่อมต้องผ่านกลไกการคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้นละเอียดยิบ ประเภทสร้างบ้านรุกเขตป่าสงวนหรือจดทะเบียนสมรสซ้อน แม้กระทั่งคนที่วิปริตผิดเพศผิดลูกผิดเมียเขา ตลอดจนคนที่ซุกหุ้นให้คนอื่นถือแทนเพื่อเลี่ยงกฎหมายนั้นคงยากที่จะผ่านด่านเข้ามา
ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่พูดเก่ง หน้าตาดี มีทุนหนา ก็มาเป็นผู้นำพรรค แล้วกวาดต้อน ส.ส.เข้าคอกเพื่อที่ตนเองจะได้เป็นนายกฯหรือต่อรองตำแหน่งต่างๆดังเช่นที่ผ่านๆมา ที่สำคัญคือเมื่อเลือกตั้งนายกฯแล้ว นายกก็ไปเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ไม่ต้องยุ่งยากต่อโควตาพรรคหรือมุ้งต่างๆ จะเอาขิงแก่ขิงอ่อนแค่ไหนก็ไม่มีใครว่าเพราะเป็นอำนาจของนายกฯและเชื่อว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพตามที่ต้องการด้วย
ส่วนสมาชิกรัฐสภาก็คานอำนาจด้วยการทำหน้าที่ออกกฎหมายและถอดถอนฝ่ายบริหารหากว่าเป็นความผิดร้ายแรง(impeachment) มิใช่เที่ยวยุ่งเขาไปทั่วเช่นในปัจจุบันนี้
แต่ก่อนเราเคยกังวลเรื่องหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องให้เลือกตั้งโดยอ้อมหรือแม้กระทั่งกำหนดให้ข้าราชการประจำไปเป็นเสียเองเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็น กทม. อบจ. อบต.เทศบาล ฯลฯ รวมทั้งเชียงใหม่มหานครที่กำลังจะเสนอร่าง พรบ.กลางปี ๕๕ นี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงทั้งนั้น
ในเมื่อฝรั่งเศสหรือมาเลเซียแหวกรูปแบบหลักแล้วเหมาะสมกับประเทศตนเอง เราก็น่าจะลองเลือกตั้งนายกฯโดยตรงกันดูสักครั้งจะดีไหม เผื่อจะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆตามที่เราแสวงหามากันกว่าค่อนศตวรรษ
เพราะผมเชื่อว่านอกจากจะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างชะงัดแล้ว ยังได้รัฐบาลที่เข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านๆมาอีกด้วย
--------------- หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 มกราคม 2554
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย